ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Thailand SDGs Forum 2018#1: เวิร์คชอปตรวจสุขภาพองค์กรเทียบมาตรฐาน จากSEP สู่ SDGs

Thailand SDGs Forum 2018#1: เวิร์คชอปตรวจสุขภาพองค์กรเทียบมาตรฐาน จากSEP สู่ SDGs

22 พฤษภาคม 2018


เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า ร่วมกับ มูลนิธิมั่นพัฒนา จัดงานสัมมนา Thailand SDGs Forum 2018: Localizing the SDGs (Thailand’s Sustainable Business Guide) โดยมีการเสวนาเชิงปฏิบัติการ(Workshop) ในหัวข้อ SEP &Sustainable Business Practice

ตีโจทย์ให้ตอบบริบทธุรกิจ

ผู้แทนองค์กรธุรกิจและผู้แทน NGO ที่เข้าร่วมทำ Workshop นั้นได้ทดลองตอบแบบประเมินองค์กรที่วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้พัฒนาขึ้น รวมทั้งได้ตั้งคำถามและแสดงความเห็นที่หลากหลาย โดยคำถามแรกคือ แนวทางปฏิบัติหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงตามแบบทดสอบนี้สอดคล้องหรือเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน(Sustainble Devlopment Goals:SDGs)ทั้ง 17 ข้อได้อย่างไร

รศ.ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร รองคณะบดีงานวิจัย วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า แบบทดสอบที่พัฒนาขึ้นนี้ยังบอกไม่ได้ว่า กรณีที่คะแนนไม่ผ่านแนวปฏิบัติข้อไหน จะไม่บรรลุเป้าหมาย SDG ข้อไหน แต่หากองค์กรธุรกิจรู้คำจำกัดความของแต่ละเป้าหมาย เช่น SDG ข้อ 1 No Poverty หากองค์กรมีเป้าหมายช่วยชุมชน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหรือ stakeholder ที่หลากหลายขององค์กรธุรกิจ ก็นับว่าได้คำตอบแล้ว รวมไปถึงอาจจะมีสวัสดิการอาหารกลางวันสำหรับพนักงาน รวมไปถึงมุ่งเน้นการจ้างงาน ซึ่ง องค์กรธุรกิจสามารถดูได้ด้วยตัวเองว่า จริงแล้วตอบโจทย์ SDG อะไรบ้าง องค์กรธุรกิจนั้นรู้ตัวเองดีที่สุด

กรณีองค์กรต้นแบบ Plantoy ที่ได้รับรางวัลนั้น ได้ประเมินตนเองว่าสามารถบรรลุเป้าหมาย SDG ได้ทั้งหมด 17 ข้อ ไม่ได้หมายความว่าทำได้ครบทุกเป้าหมายย่อยในแต่ละเป้าหมายใหญ่ แต่สิ่งที่ทำแตะ SDG ทุกข้อ

ผู้เข้าร่วมเสวนายังได้ตั้งคำถามต่ออีกว่า การที่ประเมินตนเองว่าบรรลุทุกเป้าหมาย SDGs นั้นเป็นการประเมินตนเองสูงเกินไปหรือไม่ ซึ่งได้มีการชี้แจงกลับว่า สำหรับองค์กรธุรกิจที่แม้จะทำไม่ได้ครบทุกเป้าหมายย่อยของเป้าหมายใหญ่ แต่สิ่งที่ทำนั้นแตะทุก SDG ก็อาจจะต้องทำเพิ่มอีก เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมาย SDG อย่างไรก็ตามวิทยาการจัดการอาจจะต้องปรับปรุงแบบทดสอบให้ครอบคลุมถึงเป้าหมายย่อยๆและแสดงผลที่ชัดเจนขึ้นว่าเป็นการทำตามแนวปฏิบัติย่อยซึ่งนับว่าทำได้ส่วนหนึ่งของเป้าหมาย SDG ใหญ่

องค์กรธุรกิจเองก็ต้องใส่ข้อมูลของสิ่งที่ทำลงในคำถามย่อย เพราะหากไม่ตอบเลย ก็อาจจะถือว่าไม่ได้ทำตาม SDG ข้อใหญ่เลย หรืออาจะลงมือไปส่วนหนึ่งหรือครึ่งหนึ่งของเป้าหมาย แล้วบอกว่ากำลังเริ่มทำ เพื่อเป็นแนวทางที่จะพัฒนาต่อไป

นอกจากนี้รศ.ดร.สุขสรรค์ ได้ยกตัวอย่างองค์กรที่ทำได้ครบทุก SDG ว่า ได้แก่ เครือซิเมนต์ไทย(SCG) ที่ระบุไว้ในรายงาน Sustainability Development Report ว่าทำได้ครบทุกเป้าหมายและ แต่ละเป้าหมายได้ทำอะไรบ้าง ซึ่งองค์กรธุรกิจอื่นสามารถไปศึกษาได้

อีกตัวอย่างหนึ่งเช่นความเท่าเทียมทางเพศ องค์กรอาจจะใส่ไว้ในนโยบายด้านทรัพยากรบุคคลได้ เช่น จำนวนผู้บริหาร หรือ การคัดเลือกคนเข้าทำงาน สิ่งสำคัญก็คือปรับเป้าหมายเหล่านี้ ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมไทย ดังนั้นการนำ SDG มาปรับใช้ (Localize) ต้องนิยามใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับบริบทเศรษฐกิจและสังคมไทย เพราะ UN ได้เปิดกว้างสำหรับการนำเป้าหมาย SDG ไปใช้ในแต่ละประเทศ เพียงแค่กำหนด SDG 17 เป้าหมายเท่านั้น ส่วนวิธีการแต่ละประเทศสามารถพัฒนาขึ้นเอง

รัฐบาลไทยเองได้เสนอแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงว่า น่าจะเป็นแนวทางที่นำไปสู่ SDG ทั้ง 17 ข้อ แต่ไม่ได้หมายความทุกธุรกิจจะต้องทำครบทั้ง 17 ข้อ แต่หากทุกธุรกิจในประเทศช่วยกันก็น่าจะได้ครบทั้ง 17 ข้อ

องค์กรธุรกิจอาจจะต้องดูคำจำกัดความและเป้าหมายย่อย เนื่องจากองค์กรธุรกิจสามารถเลือกได้ว่า เป้าหมายย่อยหรือ SDG ข้อไหนตรงกับแนวทางหรือปรัชญาการดำเนินธุรกิจขององค์กร และสามารถระบุในรายงาน Sustainability Development Report ได้ ถึงสิ่งที่ทำว่าสอดคล้องกับบริบทของธุรกิจขององค์กร

รศ.ดร.สุขสรรค์ กันตะบุตร รองคณะบดีงานวิจัย วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล(ซ้ายสุด)

ผู้ร่วมเสวนาอีกรายเสนอแนะให้มีการพัฒนาคะแนนของเป้าหมายย่อย ซึ่งได้รับการชี้แจงว่า SDG ยังเป็นเรื่องใหม่ และวิทยาการจัดการเองพยายามทำความเข้าใจเรื่อง SDG อีกมาก

นอกจากนี้ยังมีคำถามจากวงเสวนาอีกว่า แนวทางปฏิบัติตามหลักปรัชญาเศรษฐพอเพียงจะนำไปสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน แต่บอกได้หรือไม่ว่าเป้าหมายข้อไหนเหมาะสำหรับธุรกิจ หรือเลือกทำในบางเป้าหมาย และข้อไหนที่ชัดเจนแล้วสำหรับการปฏิบัติหรือต้องตีโจทย์ด้วยตัวเอง

รศ.ดร.สุขสรรค์ตอบว่า ธุรกิจต้องตีโจทย์เป้าหมาย SDG ด้วยตัวเอง เพราะแต่ละองค์กรธุรกิจแตกต่างกัน การำตามเป้าหมายอาจจะไม่ใช้แบบเดียวกัน เพราะ UN เปิดกว้างมากให้ประเทศตีความเอง ไม่มีกฎชัดเจน แม้จะมีเป้าหมายย่อยก็ยังตีความได้กว้าง แต่องค์กรธุรกิจสามารถทำให้ชัดเจนได้ในรายงาน SDG Report ได้ว่า สิ่งที่ทำหมายถึงอะไร

องค์กรธุรกิจเศรษฐกิจพอเพียง คือ องค์กรที่ไม่ได้นึกถึงแค่ตัวเอง แต่จะคำนึงถึง stakeholder ทั้งหมด ทั้งพนักงาน ลูกค้า เช่น ในภาคการผลิต พนักงานในสายการผลิตสามารถให้ข้อคิดเห็นต่อการปรับปรุงสินค้า การพัฒนาสินค้าใหม่ การออกแบบสินค้า บางครั้งองค์กรจะไม่ได้ความเห็นจากฝ่ายงานออกแบบเพียงอย่างเดียว รวมทั้งพนักงานในสายการผลิตสามารถเสนอแนะการปรับปรุงกระบวนการผลิตได้อีกด้วย และให้ความสำคัญกับความคิดเห็นของลูกค้า ตลอดจนมีการพัฒนาสิ่งใหม่ มีการสร้างนวัตกรรม เช่น กระบวนการผลิตแบบใหม่

นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับสังคมและสิ่งแวดล้อม เช่น เลือกใช้วัตถุดิบที่ไม่เป็นอันตรายต่อเด็ก ต่อสิ่งแวดล้อม มีกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไม่ปล่อยน้ำเสีย หรืออะไรอื่นที่ทำให้สังคมเกิดปัญหา

ตรวจสุขภาพองค์กรเทียบมาตรฐาน

สำหรับแบบประเมินองค์กรที่ วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล จัดทำขึ้นนั้นได้บรรจุไว้ในเว็บไซต์ www.seb.cm.mahidol.ac.th ที่มูลนิธิมั่นพัฒนา และวิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ร่วมกันพัฒนา เพื่อรวมรวมข้อมูลออนไลน์เกี่ยวกับองค์ความรู้ในการบริหารองค์กรธุรกิจตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงที่ทันสมัยและเข้าถึงได้ง่าย ตามแนวทางของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร

โดยแนวแบบประเมินนี้พัฒนาจากประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงจากผู้บริหารองค์กรธุรกิจที่ประสบความสำเร็จทั้งบริษัทขนาดเล็กและขนาดใหญ่ เพื่อให้ผู้สนใจได้เรียนรู้ และประเมินการบริหารงานองค์กรของตนเองว่ามีความแตกต่างหรือคล้ายคลึงกับแนวปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงหรือไม่ สำหรับนำไปปรับใช้กับองค์กรของตนเองให้ประสบความสำเร็จในอนาคตได้อย่างยั่งยืน ประกอบด้วยรายละเอียดของแนวทางการบริหารธุรกิจตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง แบ่งออกเป็น 7 สายงาน ได้แก่

    1.การจัดการวัฒนธรรมองค์กร ต้องมีค่านิยมร่วมความดี ซึ่งก็คือความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และนวัตกรรม
    2.การจัดการทรัพยากรมนุษย์ มีการกำหนดสมรรถนะหลักตามค่านิยมร่วมแห่งปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นส่วนหนึ่งในการคัดเลือกพนักงานใหม่ การพัฒนา การประเมินผล การทำงาน และการเลื่อนตำแหน่ง ฯลฯ
    3.การจัดการการตลาด มีนโยบายและกลยุทธ์ในการพัฒนาสินค้าใหม่ที่ชัดเจน โดยนำความต้องการของลูกค้า คู่ค้า และบริบทของสังคม มาใช้พัฒนาสินค้าและบริการอย่างต่อเนื่อง ควบคู่กับมีระบบประเมินความพึงพอใจและการรับข้อร้องเรียนของลูกค้า มีการนำวัตถุดิบท้องถิ่นมาใช้พัฒนาสินค้า ที่สำคัญต้องตั้งราคาอย่างยุติธรรมตามกลไกการตลาด และรักษาความเป็นผู้นำทางการตลาดด้วยภาพลักษณ์และลักษณะของสินค้าที่เป็นประโยชน์ และปลอดภัย
    4.การจัดการการผลิตและบริการ คำนึงถึงผู้อื่นรวมถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เช่น ลูกค้า พนักงาน ผู้จัดหาวัตถุดิบ สิ่งแวดล้อม สังคม ชุมชน เพื่อให้มีการจัดการห่วงโซ่อุปทานที่ดี พร้อมให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสังคมรอบโรงงาน หรือแหล่งผลิตสินค้า โดยลดของเสีย มลพิษ การสร้างเครือข่าย
    5.การจัดการนวัตกรรมและเทคโนโลยี กำหนดแนวทางในการบริหารจัดการให้เกิดนวัตกรรมและเทคโนโลยี โดยมีแหล่งข้อมูลและคนรับผิดชอบอย่างชัดเจน
    6.การจัดการการเงินการลงทุน ไม่ใช้กลยุทธตัดราคาเพื่อโจมตีตลาดของคู่แข่ง แต่ใช้ยุทธศาสตร์การลงทุนที่เข้าใจในแนวโน้มระยะยาว และต้องมีนโยบายปันผลกำไรเพื่อนำไปใช้ในโครงการพัฒนาสังคมและสิ่งแวดล้อม
    7.การจัดการความเสี่ยง มีวางแผนกำลังคน ประเมินศักยภาพ และพัฒนาพนักงาน รวมทั้งส่งเสริมความรู้อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และมีคณะทำงานประเมินความเสี่ยงในองค์กรอยู่ตลอดเวลา

การประเมินองค์กรตาม 7 สายงานเปรียบเสมือนการตรวจสุขภาพขององค์กรด้านการดำเนินธุรกิจตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อเทียบกับมาตรฐานที่พัฒนาจากบริษัทขนาดเล็กและขนาดใหญ่ที่เป็นองค์กรธุรกิจต้นแบบ 7 องค์กร ที่ได้รับรางวัลธุรกิจพอเพียงของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.)

แบบทดสอบประเมินองค์กรใน 7 สายงาน นั้นแต่ละสายงานจะมีคำถาม 6-8 ข้อย่อยซึ่งเป็นแนวทางปฏิบัติ ซึ่งมีคะแนนในตั้งแต่ 0 ถึง 3 คะแนน โดยการให้คะแนนแต่ละข้อย่อยนั้นจะใช้วิธีเปรียบเทียบแนวปฏิบัติขององค์กรที่ทำแบบทดสอบกับแนวปฏิบัติองค์กรต้นแบบ

ตัวอย่างเช่น ด้านการจัดการวัฒนธรรมองค์กร มีคำถามย่อยแรกประเมินแนวทางปฏิบัติเรื่อง ความดีงาม ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมและนวัตกรรม เป็นค่านิยมร่วมพื้นฐานที่เป็นรูปธรรม หากองค์กรที่ทำแบบประเมิน ตระหนักถึงความสำคัญของความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคมโดยลงทุนทำเกินกว่ากฎเกณฑ์ทั่วไป ขณะที่ในส่วนของนวัตกรรมก็มีนวัตกรรมทั่วไปหมดทั้งในผลิตภัณฑ์และกระบวนการทำงานทั้งหมด ความคิดใหม่ ๆ ส่วนใหญ่มากจากพนักงาน รวมทั้งพนักงานจะต้องมีความดีงามเป็นที่ตั้ง เช่น ซื่อสัตย์สุจริต ขยันหมั่นเพียร โอบออมอารี เป็นต้น จะได้ 3 คะแนน

จากนั้นจะนำคะแนนข้อย่อยของทั้ง 7 สายงานที่ได้มาประมวลผลรวมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งมีคะแนนเต็ม 100 หากคะแนนรวมที่ได้สูงเกิน 80 คะแนนขององค์กรต้นแบบก็นับว่ามีองค์กรที่เข้ารับการประเมินมีสุขภาพค่อนข้างดีมาก เป็นองค์กรที่ได้มาตรฐานองค์กรธุรกิจตามปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง

การแสดงผลคะแนนจะสะท้อนออกมาด้วยสีคือ สีแดงกับสีเขียว เพื่อบ่งชี้ว่าสุขภาพองค์กรเป็นอย่างไร บางองค์กรอาจจะได้คะแนนในบางหมวดดีมาก บางหมวดได้คะแนนน้อย แต่คะแนนรวมอาจจะเป็นสีเขียวหมายถึงสุขภาพองค์กรในการดำเนินธุรกิจแบบองค์กรธุรกิจพอเพียงนั้นดี กรณีที่ได้สีแดงแสดงว่าสุขภาพยังไม่ดี ผลคะแนนที่ได้เป็นแนวทางให้องค์กรนำไปปรับปรุงในแต่ละด้านได้

สำหรับผู้สนใจที่จะทำแบบทดสอบประเมินองค์กรนั้น ต้องลงทะเบียนกับเว็บไซต์ก่อน และหากทำการประเมินแล้ว ต้องที่จะปรับปรุงแนวปฏิบัติบางด้านให้ดีขึ้นก็สามารถเข้าไปที่เว็บไซต์ได้ เพราะจะมีแนวปฏิบัติไว้ให้