ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Thailand SDGs Forum 2018 #1 : Localizing the SDGs 5 เทรนด์ความยั่งยืนจากปี 2560 สู่ 2561 กับความท้าทายที่ธุรกิจต้องเผชิญ

Thailand SDGs Forum 2018 #1 : Localizing the SDGs 5 เทรนด์ความยั่งยืนจากปี 2560 สู่ 2561 กับความท้าทายที่ธุรกิจต้องเผชิญ

20 พฤษภาคม 2018


เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 มูลนิธิมั่นพัฒนา ร่วมกับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดงานสัมมนา Thailand SDGs Forum 2018: Localizing the SDGs (Thailand’s Sustainable Business Guide) จัดเสวนากรณีศึกษาองค์กรธรุรกิจชั้นนำของโลกกับ “วิธีการของธุรกิจโดยนำรอยแนวคิดตามกรอบความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติมาปรับใช้ในบริบทสังคมไทย”

เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม 2561 มูลนิธิมั่นพัฒนา ร่วมกับสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดงานสัมมนา Thailand SDGs Forum 2018: Localizing the SDGs (Thailand’s Sustainable Business Guide) โดยในช่วงบ่ายได้มีประเด็นเสวนาย่อยในเรื่องของเทรนด์แนวโน้มด้านความยั่งยืนปี 2561 และกรณีศึกษาองค์กรธุรกิจชั้นนำของโลกกับ “วิธีการของธุรกิจโดยนำกรอบแนวคิดตามกรอบความยั่งยืนแห่งสหประชาชาติมาปรับใช้ในบริบทสังคมไทย”

นับจากอดีตจนถึงปัจจุบันทำให้เห็นแล้วว่าความยั่งยืนไม่ใช่เรื่องไกลตัว ไม่ใช่แค่การลดโลกร้อน แต่เป็นเรื่องที่จะสามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนทั่วโลกได้ ซึ่งหากธุรกิจเพิกเฉยไม่ปรับตัว สิ่งเหล่านี้อาจเป็นปัญหาที่ก้าวมาเคาะประตูบ้านได้โดยไม่รู้ตัว ในประเด็นเหล่านี้ นางสาวภัทราพร แย้มละออ กรรมการผู้จัดการ ด้านการเผยแพร่ความรู้ บริษัท ป่าสาละ จำกัด ได้สรุปเทรนด์ธุรกิจที่น่าสนใจ และความท้าทายที่บริษัทต่างๆ ต้องเผชิญจากปี 2560-2561 ไว้ใน 5 ประเด็น ดังต่อไปนี้

พลังงานทดแทน

เรื่องของพลังงานทดแทนไม่ใช่เรื่องใหม่อีกต่อไป น่าสนใจมากว่าในปีที่ผ่านมาบริษัทที่ซื้อพลังงานทดแทนมากที่สุดนั้นล้วนเป็นบริษัทด้านไอที โดยเฉพาะ Google ที่ซื้อพลังงานทดแทนถึง 3  ล้านกิกะวัตต์ต่อปี และมีเป้าหมายที่พยายามจะทำใช้พลังงานทางเลือกให้ได้ 100%

ขณะที่บริษัทเทสลามอเตอร์ ได้สร้างระบบแบตเตอรี่ที่ใหญ่ที่สุดในโลกในพื้นที่ห่างไกลของประเทศออสเตรเลียทางใต้ ใช้เวลาเก็บตลอดวันและระบบซัพพลายสามารถดูแลปริมาณบ้านได้ประมาณ 30,000 หลังในกรณีที่ไฟฟ้าขัดข้อง และอาจนำไปใช้ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงหรือประสบภัยพิบัติในอนาคต

และในหลายประเทศที่อยู่ระดับฐานะปานกลาง พลังงานแสงอาทิตย์กลายเป็นพลังงานที่ราคาถูกที่สุดไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นที่จีนหรือบราซิล เพราะหากดูเทรนด์ตั้งแต่ปี 2556 ราคาของโซลาร์เซลล์ลดลงถึง 73% เช่นเดียวกับพลังงานลม (บนฝั่ง) และแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน ทำให้การลงทุนในภาคของพลังงานทางเลือกหรือพลังงานทดแทนสามารถดำเนินไปได้เร็วขึ้นมากๆ

“บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่หลายแหล่งได้เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในพลังงานทางเลือกมากขึ้น เช่น บริษัทบีพี ซึ่งเป็นบริษัทด้านพลังงานขาดใหญ่ของโลก ได้เข้าซื้อธุรกิจของบริษัทพลังงานแสงอาทิตย์ นี่เป็นส่วนหนึ่งที่บ่งบอกว่า ธุรกิจพลังงานทดแทนไม่ใช่เวลาที่เราจะมาเถียงกันแล้วว่าจำเป็นหรือไม่จำเป็น ราคาเป็นอย่างไร เพราะโอกาสในตลาดค่อนข้างเปิดมากแล้ว เรื่องเหล่านี้จึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย” ภัทราพร กล่าว

เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)

เศรษฐกิจหมุนเวียน หรือที่รู้จักกันคือ zero waste เป็นระบบอุตสาหกรรมที่ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้สามารถเก็บกลับมาคืนชีวิตใหม่ให้ได้ เนื่องจากของชิ้นหนึ่งหากไม่ได้ออกแบบให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทุกอย่างก็จะกลายไปเป็นขยะ ซึ่งตัวผลักดันของเศรษฐกิจหมุนเวียนคือ “ขยะพลาสติก” ที่จำนวนมากไหลลงสู่ทะเลและก่อให้เกิดปัญหามากมาย

เมื่อดูสัดส่วนแล้วจะพบว่า ขยะพลาสติกเพียง 5% จากทั้งหมดเท่านั้นที่ถูกนำไปรีไซเคิลต่อ รวมไปถึงมาตรการต่างๆ จากภาครัฐ เช่น จีนที่เคยเป็นตลาดที่รองรับขยะจากประเทศอื่นได้ปฏิเสธการรับขยะแล้ว ด้านสหภาพยุโรป (อียู) เองได้ประกาศว่า ภายในปี 2030 บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดที่ใช้ในอียูจะต้องสามารถรีไซเคิลได้ทั้งหมด กลายเป็นว่าตอนนี้จะต้องกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของซัพพลายเชน

“เทรนด์ในสมัยก่อนจะบอกว่าเรื่องนี้ดูยากและไกลตัว แต่ในปีที่ผ่านเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเข้ามาเรื่อยๆ หลายบริษัทเริ่มเปลี่ยนบทบาทเมื่อต้องการขายของให้ผู้บริโภค ไม่ได้มองว่าเขาเป็นผู้บริโภคอีกแล้ว แต่เขาคือคนใช้ของนั้นๆ คือเน้นที่การใช้ประโยชน์มากกว่าการเป็นเจ้าของ เพราะเมื่อเป็นเจ้าของ หากไม่อยากใช้แล้ว ไม่รู้จะหาประโยชน์จากสิ่งนั้นอย่างไรก็จะโยนทิ้ง เกิดเป็นปัญหาขยะ หลายธุรกิจจึงเปลี่ยนโมเดลเป็นการขาย ‘คุณค่า’ แทนการขายของ เช่น ฟิลลิปส์ ที่เราอาจคุ้นเคยในธุรกิจหลอดไฟ ได้เปลี่ยนโมเดลจากการขายหลอดไฟมาเป็นการให้บริการแสงสว่าง ลูกค้าไม่จำเป็นต้องเป็นเจ้าของหลอดไฟอีกต่อไปแต่ซื้อบริการไปแทน” ภัทราพร กล่าว

นางสาวภัทราพร แย้มละออ

#MeToo

แฮชแท็กดังกล่าวเป็นกระแสในโลกโซเชียลในช่วงที่ผ่านมา ถือเป็นพลังเงียบที่จากเดิมผู้คนไม่คอยกล้าแสดงความคิดเห็น แต่ภายในองค์กรกลับกลายเป็นคลื่นลูกใหญ่ขึ้นมา ซึ่งส่งผลในระดับธุรกิจเป็นอย่างมาก ไม่ว่าธุรกิจบันเทิง ไอที หรือการเงิน เช่น กรณีของแบรนด์ผู้นำความยั่งยืนอย่างไนกี้ ที่เมื่อเดือนที่ผ่านมาไนกี้ต้องไล่ผู้บริหารระดับสูงออกถึง 6 ราย จากการสำรวจลับๆ ของพนักงานหญิงว่า วัฒนธรรมการทำงานของไนกี้ไม่เหมาะกับผู้หญิงเลย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการล่วงละเมิดทางเพศ (sexual harassment) หรือการกระทำที่ไม่เท่าเทียม หรือกรณีซีอีโอของอูเบอร์ซึ่งกำลังเป็นธุรกิจดาวรุ่งต้องลาออกเพราะการล่วงละเมิดทางเพศเช่นกัน

นอกจากนี้ กฎเกณฑ์ต่างๆ ในอียูเองเริ่มพิจารณาให้บริษัทแต่ละแห่งต้องมี 40% ของบอร์ดเป็นผู้หญิง รวมไปถึงรัฐมนตรีอังกฤษได้ผ่านกฎหมายกรณีมีการจ้างพนักงานเกิน 250 คน จะต้องเปิดเผยข้อมูลทางเงินเดือนว่าพนักงานเพศหญิงและ ชายมีช่องว่างห่างกันเท่าไรให้สาธารณชนรับรู้

ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI

การคาดการณ์ว่าแรงงานในหลายๆ เซกเตอร์ 30-60% จะถูกแทนที่ด้วยเอไอ แต่ในขณะเดียวกัน ในเรื่องของความยั่งยืน เอไออาจเป็นผู้ช่วยปลดล็อกในหลายๆ ประเด็นด้วยกัน โดยเฉพาะงานที่เราต้องการการคำนวณ ต้องการบิ๊กเดตา ต้องการการคาดการณ์ที่แม่นยำ เช่น Google ที่ปัจจุบันใช้เอไอในการตัดสินใจเรื่องการใช้พลังงานกับตัวเซิร์ฟเวอร์หรืออุปกรณ์อื่นๆ บริษัทที่ทำเรื่องถ่านหินก็ใช้เช่นกันในการที่จะควบคุมคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศ รวมไปถึงอีกข้อหนึ่งของ SDGs คือ Urban Development ที่เริ่มนำเอไอเข้ามาใช้เช่นกันในการวางผังเมือง หรือว่าแก้ปัญหามลพิษ หรือแก้ปัญหาจราจร

แต่ก็มีคำเตือนจากสถาบันวิจัยหลายๆ แห่งว่า การที่บริษัทจะขยายจากแรงงานคนไปสู่เอไออาจจะเป็นอีกหนึ่งแรงต้านจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียเช่นกัน ส่วนนี้เป็นอีกข้อที่ควรระมัดระวัง

การแสดงจุดยืนของผู้บริหารระดับสูงต่อประเด็นความไม่ยั่งยืน

เรื่องนี้เป็นความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นมากในฝั่งของอเมริกา ซึ่งในอดีตอาจต้องเขียน press release หรือแสดงความคิดเห็นผ่านแผนกพีอาร์ แต่เดี๋ยวนี้ผู้บริหารสามารถออกตัวได้เอง โดยโซเชียลมีเดียสามารถทำให้ผู้บริหารมีตัวตนมากขึ้นต่อการแสดงความคิดเห็น เช่น เรื่องเชื้อชาติ หรือผู้อพยพ กรณีของ Starbucks ก็เป็นส่วนหนึ่งที่เมื่อมีประเด็นปัญหาของผู้อพยพก็ออกมาประกาศว่าจะจ้างงานผู้อพยพเพิ่ม 10,000 ตำแหน่งทั่วโลก

ทั้งนี้เรื่องของการออกจาก COP 21 ก็เป็นประเด็นใหญ่ของสหรัฐที่ทำให้บริษัทใหญ่ๆ ต้องออกมาประกาศว่า แม้ว่ารัฐบาลจะไม่ได้อยู่ใน COP 21 อีกต่อไป แต่บริษัทจะเดินหน้าเพื่อลดก๊าซเรือนกระจก รวมไปถึงข่าวที่ใหญ่ที่พาทาโกเนีย แบรนด์ผู้นำด้านความยั่งยืนเรื่องสิ่งแวดล้อมได้ประกาศฟ้องประธานาธิบดีโดนัล ทรัมป์ ที่จะเอาที่ดินที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ไปทำเหมือง สิ่งเหล่านี้ทำให้บริษัทเปลี่ยนบทบาทจากผู้ดำเนินธุรกิจมาเป็น activist

นอกจากการแสดงจุดยืน งานวิจัยชิ้นหนึ่งระบุว่า 65% ของผู้บริโภคทั่วโลกยืนยันจะไม่ซื้อของจากแบรนด์ที่เพิกเฉย หากแบรนด์นั้นมีส่วนร่วมกับประเด็นเหล่าปัญหาที่เกิดขึ้น รวมไปถึงคนยุคมิลเลนเนียลหรือเด็กๆ gen Z ที่มีแนวโน้มมีความซื่อสัตย์ต่อคุณค่าของบริษัทมากกว่าคนรุ่นก่อนๆ จึงอาจเรียกได้ว่าคนรุ่นต่อไปหรือคนรุ่นปัจจุบันจะมีบทบาทมากขึ้นในการเรียกร้องความยั่งยืนผ่านการสนับสนุน หรือบอยคอตแบรนด์

“ยังมีอีกหลายประเด็นนอกเหนือ 5 ประเด็นข้างต้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสิทธิมนุษยชนที่เมื่อก่อนจับต้องยากเหลือเกิน แต่วันนี้เริ่มคืบคลานเป็นปัญหาที่เคาะประตูบ้านเข้ามา การวิจัยและพัฒนาไปไกลขึ้น ทำให้เราอาจมีโอกาสได้เห็นเนื้อปลูกจากการผลิตเนื้อสัตว์แทนเนื้อสัตว์ปัจจุบันในอีกไม่กี่ปี บล็อกเชนเองก็ถูกนำมาใช้แก้ไขปัญหาด้านความยั่งยืนเช่นกัน ซึ่งนักลงทุนก็เป็นอีกหนึ่งฝ่ายที่จะกดดันให้ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้มาเร็วขึ้น ผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ของการธนาคารก็จะสนับสนุนเรื่องนี้มากขึ้น รวมไปถึงต้นทุนที่แท้จริงของคาร์บอน ที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ได้ประกาศ carbon tax ไปแล้วเมื่อเดืนมีนาคมที่ผ่านมา เรื่องนี้ต้องจับตาต่อไปว่าต้นทุนที่แท้จริงของ climate change และคาร์บอนจะส่งผลต่อธุรกิจอย่างไร” ภัทราพร กล่าว