ThaiPublica > เกาะกระแส > ก้าวให้ถึง Thailand 4.0 ด้วยแนวคิดล่างสู่บน พัฒนาคนคุณภาพ เชื่อมโยงข้อมูล-นวัตกรรม

ก้าวให้ถึง Thailand 4.0 ด้วยแนวคิดล่างสู่บน พัฒนาคนคุณภาพ เชื่อมโยงข้อมูล-นวัตกรรม

6 พฤษภาคม 2018


เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา ชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี จัดเสวนาเรื่อง “ก้าวอย่างไรไปให้ถึง 4.0” ณ ห้องโกมุท ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานใหญ่ สีลม

ผู้ประกอบการธุรกิจจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอี พยายามนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาปรับใช้ในการทำธุรกิจให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น ตามนโยบาย Thailand 4.0 ที่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เร่งผลักดันให้เกิดผลเป็นรูปธรรม สิ่งที่เห็นได้ชัดคือมีเวทีในการสร้างความรู้ความเข้าใจ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับเรื่อง Thailand 4.0 ทั้งจากภาครัฐและเอกชนมากมาย

เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2561 ชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี (BLCSME) ธนาคารกรุงเทพ จัดงานเสวนาเรื่อง “ก้าวอย่างไรไปให้ถึง 4.0” มีวิทยากรที่ประสบความสำเร็จในการทำธุรกิจ มาให้ความรู้และคำแนะนำที่เป็นประโยชน์กับนักธุรกิจที่เป็นสมาชิกชมรมบัวหลวงเอสเอ็มอี

แนวคิดจากล่างสู่บน

นายกมล ชุติพงศ์นาวิน กรรมการผู้จัดการบริษัท เค เอ็ม เอฟ จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนโลหะยานยนต์ กล่าวว่า 4.0 คือการนำนวัตกรรม (innovation) นำบิ๊กดาต้า (big data) มาปรับใช้ในการทำธุรกิจให้มากขึ้น ซึ่งทางบริษัททำมาตั้งแต่เมื่อ 10 ปีที่แล้ว อย่างไรก็ตาม อย่ายึดความสำเร็จจากอดีต เพราะความสำเร็จที่ใช้เมื่อ 10-20 ปีที่แล้ว อาจจะใช้ไม่ได้ในในปัจจุบันหรืออนาคต

ยกตัวอย่างเมื่อเดือนที่แล้ว ธนาคารทุกค่ายออกประกาศเรื่องทรานแซกชันเงินฟรี ยกเลิกค่าธรรมเนียม เป็นเพราะทุกวันนี้ประชาชนสามารถเป็นพนักงานของธนาคารได้ทั้งหมด ธนาคารมีเครื่องมือที่เรียกว่า “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน” ให้ทุกคนเป็นพนักงานธนาคารได้ สามารถกดโอนเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ ธนาคารรับทราบ แล้วส่งข้อมูลไปให้อีกคนหนึ่ง ธนาคารทำเพียงเท่านี้ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องแนวคิดจากล่างสู่บน

แม้กระทั่งอาลีบาบาของแจ็ค หม่า ที่รวยมากในช่วง 10 กว่าปีมานี้ แจ็ค หม่า ไม่ได้รวยจากการซื้อของมารอขาย แต่เขาทำหน้าที่เป็นดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชัน จับคนซื้อกับคนขายมาเจอกัน แล้วก็กินเปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องแนวคิดจากล่างสู่บนไปสู่การปฏิบัติที่ประสบความสำเร็จ

นายกมล ชุติพงศ์นาวิน กรรมการผู้จัดการบริษัท เค เอ็ม เอฟ จำกัด

“top-down เป็น human judgement ตัดสินใจจากตัวบุคคล ซึ่งเป็นการใส่ความรู้สึกเข้าไปด้วย ผมเรียกว่าเป็น “มโน แมนเนจเมนต์” แต่หากเป็น bottom-up จะเป็นเรื่องของ data analysis หรือการวิเคราะห์ข้อมูล เพราะฉะนั้น ยิ่งเรามีข้อมูลจากข้างล่างจำนวนมากในบริษัท ก็จะทำให้รู้ความเป็นไปของบริษัท ความเป็นไปของพนักงาน ว่าเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นเรื่อง self awareness เป็นความตื่นรู้ ความตระหนัก ต่อปัจจัยแวดล้อมในการทำธุรกิจเพื่อให้ไปถึง 4.0” นายกมลกล่าวและว่า

“หากมีข้อมูล พนักงานจะไม่ได้ทำงานบนพื้นฐานที่มีปัญหา แต่จะทำงานบนพื้นฐานที่เห็นปัญหาที่จะเกิดขึ้น ซึ่งขึ้นอยู่กับว่าข้อมูลของเรา ระบบของเรา สามารถเห็นปัญหาไปได้ไกลแค่ไหน วันนี้ผมสามารถเห็นปัญหาของบริษัทได้ล่วงหน้า 3 วัน จากข้อมูลจากข้างล่างขึ้นมาข้างบน และเมื่อทำงานแล้วเห็นปัญหา มนุษย์จะใช้ความคิดในการแก้ เพราะความคิดเป็นสิ่งเดียวที่จะพัฒนาการมนุษย์ต่อไปได้ ถามว่าอะไรจะเป็นเครื่องมือที่ทำให้มนุษย์คิดได้ ถ้าไม่ใช่ข้อมูล ดิจิทัล ที่มาจากการประมวลผล”

นายกมลยังกล่าวว่า หากบริษัทยังไม่ได้มองสิ่งที่อยู่ข้างล่างสุดขององค์กร จะพัฒนาองค์กรได้ลำบาก และอยู่ยาก ซึ่งคนที่สำคัญที่สุดคือคนที่อยู่ข้างบนสุดขององค์กร หากยังไม่เปลี่ยนวิธีคิดและทำอย่างเดิม ก็ไม่ต้องพูดถึงคนที่อยู่ข้างล่างจำนวนมาก แต่หากคนข้างบนเปลี่ยนหนึ่งคน คนข้างล่าง 600 คนก็เปลี่ยนได้ ซึ่งเป็นการบริหารงานจากข้างล่างขึ้นข้างบน ไม่ได้สั่งจากบนลงล่าง

ยกระดับพัฒนาคุณภาพคน

ดร.พยุง ศักดาสาวิตร ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย จำกัด

ดร.พยุง ศักดาสาวิตร ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ไทย ออโต ทูลส์ แอนด์ ดาย จำกัด ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ เห็นว่า รัฐบาลต้องการให้ประเทศไทยเหมือนประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ที่อยากจะเปลี่ยนจากประเทศรายได้ปานกลางมาเป็นประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งปัจจุบันรายได้ประเทศไทยเฉลี่ยต่อคนต่อเดือนอยู่ที่ประมาณ 17,000 บาท ถือว่ายังติดกับดักประเทศรายได้ปานกลาง

ขณะที่ประเทศญี่ปุ่นมีรายได้ต่อคนต่อเดือนประมาณ 1 แสนบาท หรือเกาหลีประมาณ 7 หมื่นบาท  แต่หากจะทำให้มีรายได้สูงมีการระบุว่าต้องมีรายได้ประมาณ 4 หมื่นบาทต่อคนต่อเดือน ซึ่งแสดงว่าระบบในการผลิตต้องเป็นระบบออโตเมชันค่อนข้างมากไปแล้ว หรือมีระบบเอไอ (AI: Artificial Intelligence) เข้ามาช่วย เพื่อจะทำให้ได้ปริมาณงานที่เร็วขึ้น

อย่างไรก็ตาม การพัฒนาคนก็ยังเป็นเรื่องที่สำคัญ ยกตัวอย่างบริษัทไทย ออโต้ ทูลส์ ต้องทำธุรกิจแข่งกับบริษัทจากประเทศญี่ปุ่นตลอดเวลา หากไม่มีคนที่มีคุณภาพเทียบเท่าคนญี่ปุ่น ก็ทำงานแข่งกับเขาไม่ได้ บริษัททำแผนพัฒนากำลังคนเป็นเวลา 5 ปี ตั้งแต่ปี 2548-2552 เพื่อพัฒนาคนให้มีคุณภาพขึ้นมา โดยเน้นการพัฒนาคนด้านช่างเทคนิคและวิศวกร

“ประเทศไทยมีนโยบายจะเป็น Thailand 4.0 แต่ถ้าคุณภาพของคนไม่ได้ ก็ไปถึงไม่ได้ เพราะว่าเทคโนโลยีถ้าไม่มีเรายังซื้อได้ แต่ถ้ามีคนที่มีคุณภาพ ก็จะสร้างเทคโนโลยีได้ ดังนั้น จะทำอย่างไรที่จะพัฒนาคนให้มีคุณภาพขึ้นมาให้ได้” 

รู้จักตัวเอง มองเห็นอนาคต

นายชาธิป ตั้งกุลไพศาล กรรมการผู้จัดการบริษัท เฟล็กซ์โซ กราฟิก จำกัด

นายชาธิป ตั้งกุลไพศาล กรรมการผู้จัดการบริษัท เฟล็กซ์โซ กราฟิก จำกัด ผู้ออกแบบและผลิตแม่พิมพ์สำเร็จรูป กล่าวว่า ปัจจุบันมีคนพูดจำนวนมากว่า 4.0 คืออะไร แต่ส่วนตัวมองว่า 4.0 คือการรู้จักตนเอง รู้ว่าธุรกิจของเราในอนาคตจะเป็นอย่างไร ทุกวันนี้ตลาดประเทศจีน ญี่ปุ่น หรือยุโรป เป็นผู้นำเทรนด์ตลาดของไทยทุกอย่าง ดังนั้น เพียงแค่ไปประเทศเหล่านี้แล้วดูว่าเขาต้องการอะไร กำลังทำอะไร และอนาคตจะเป็นอย่างไร เราก็จะรู้ตัวเองว่าจะก้าวไปอย่างไร ในทิศทางแบบไหน

เขาเล่าว่าเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว ยังไม่มีคำว่า 4.0  ได้ไปร่วมลงทุนทำธุรกิจแม่พิมพ์กับพาร์ทเนอร์ในประเทศจีนในแต่ละพื้นที่ 15 สาขา แต่เพียง 2 ปีธุรกิจที่ลงทุนก็เจ๊งเกือบหมด แต่มีอยู่สาขาเดียวที่ไม่เจ๊ง จึงเข้าไปดูวิธีการขายของสาขานี้ว่าเป็นอย่างไร

“จำได้ว่าผู้จัดการสาขานี้มาคุยกับเราจะขายของทางออนไลน์ เราก็หัวเราะแล้วบอกว่าธุรกิจแม่พิมพ์จะไปขายทางออนไลน์ได้ยังไง ลูกค้าต้องเดินมาดูว่ามันพิมพ์ยังไง แบบเป็นยังไง แล้วขายของออนไลน์ จีนใหญ่มโหฬาร ประเทศไทยเล็กกว่าตั้งเยอะ ยังทำไม่ได้เลย จะส่งของยังไง แต่เขาพูดเรื่องขายของออนไลน์ตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว ไม่ได้พูดคำว่า 4.0 เลย แต่วิธีคิดเขาคือ คนอื่นขายเท่าไหร่ เขาขายต่ำกว่า 30% เพราะ 30% นั้นคือค่าแรงที่มันโอเวอร์ เขาแค่ไปคุยกับโรงงานทั่วประเทศจีน คุยกับลูกค้าว่าซื้อมาทางออนไลน์ แล้วไปคุยกับเจ้าของ ส่งออเดอร์มาทางออนไลน์ เราผลิตให้คุณคืนนี้ พรุ่งนี้เช้าคุณจ่ายเงิน แล้วเราส่งของให้คุณภายใน 2 วัน และคุณได้ลดราคาไป 30% ถ้าทุกวันเขาลดได้ 30% เขาลดต้นทุนได้มหาศาล แล้วเขาไม่ต้องไปกังวลว่าฝ่ายจัดซื้อจะไปมีนอกมีใน ไม่โปร่งใสหรือเปล่า เพราะมันซื้อขายทางออนไลน์ กลายเป็นสาขานี้สาขาเดียวที่รอด”

นายชาธิป กล่าวต่อว่า “10 กว่าปีที่แล้วเราจึงได้เรียนรู้ว่า 4.0 ที่พูดถึงมันคืออะไร แต่ตอนนั้นไม่มีใครพูดถึง แต่เรารู้แล้วว่าสิ่งนี้มันต้องเกิดขึ้นทั่วโลกแน่ๆ ในเมื่อเราคิดว่าจีนเป็นประเทศที่ควรจะล้าหลังกว่าเรา แต่มันไปได้ ตอนนั้นยังไม่มีใครู้จักอาลีบาบา  แต่มันไปได้ ครั้งนั้นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่เราเรียนรู้ ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ผมไปต่างประเทศตลอด ไปยุโรป ไปจีน ไปญี่ปุ่น เพื่อไปดูว่าเขาทำอะไร และทำอย่างไร”

นวัตกรรมเชื่อมโยงข้อมูล

นายกุลโชค โพธิ์พัฒนชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ ไอ เทคโนโลยี จำกัด ผู้ผลิตเครื่องจักรกลในประเทศไทย มองว่า 4.0 คือการนำนวัตกรรมมาเชื่อมโยงข้อมูลทางกายภาพกับข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ให้ไปด้วยกัน หากสามารถจัดโครงสร้างพื้นฐานของบริษัทให้ข้อมูลทั้ง 2 นี้คู่กันได้ จะเป็นการเตรียมตัวรองรับเข้าสู่ 4.0 ได้ง่ายขึ้น ส่วนเรื่องเอไอ ส่วนตัวมองว่าไม่ใช่เรื่องใหม่ เป็นเรื่องที่มีมา 20-30 ปีแล้ว แต่เพิ่งมาสุกงอมในปัจจุบัน เพราะเทคโนโลยีหลายอย่างมีความพร้อมมากขึ้น

นายกุลโชค โพธิ์พัฒนชัย กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ ไอ เทคโนโลยี จำกัด