ตราสารหนี้
ตราสารหนี้เป็นตราสารทางการเงินที่ใช้เป็นเครื่องมือในการระดมทุน โดยผู้ออกตราสารหนี้จะมีสถานะเป็น “ลูกหนี้” ที่กู้ยืมเงินจาก “เจ้าหนี้” หรือผู้ซื้อตราสารหนี้ที่มักจะเรียกกันว่า “ผู้ลงทุน” ในการออกตราสารหนี้จะมีการกำหนดอายุ วันชำระดอกเบี้ยและเงินต้น รวมถึงอัตราดอกเบี้ย (Coupon) ที่จะจ่ายให้ผู้ลงทุนตั้งแต่เวลาที่ออกตราสารหนี้ ตราสารหนี้ยังมีสภาพคล่องสามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ โดยในประเทศไทยการซื้อขายจะผ่านตลาดตราสารหนี้ที่เป็นการซื้อขายโดยตรงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายหรือที่เรียกว่า Over-the-Counter
ตราสารหนี้สามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท เช่น
• ตราสารหนี้ภาครัฐ หมายถึง ตราสารหนี้ที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง หรือหน่วยงานภาครัฐ เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ รัฐวิสาหกิจเป็นผู้ออก ได้แก่
– พันธบัตร (Bond) ซึ่งจะมีชื่อเรียกตามผู้ออก เช่น พันธบัตรรัฐบาล พันธบัตรธนาคารแห่งประเทศ หรือพันธบัตรการไฟฟ้าฝ่ายผลิต พันธบัตรรัฐวิสาหกิจบางแห่งได้รับการค้ำประกันจากรัฐบาลเพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ
– ตั๋วเงินคลัง (Treasury Bill) รัฐบาลโดยกระทรวงการคลัง เป็นผู้ออก
• ตราสารหนี้ภาคเอกชน หมายถึง ตราสารหนี้ที่ออกโดยภาคเอกชนเพื่อระดมทุนไปใช้ในการดำเนินธุรกิจ แต่ต้องผ่านการควบคุมของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้แก่
– หุ้นกู้ (Debenture)
– ตั๋วแลกเงิน (Bill of Exchange: B/E)
ในต่างประเทศ Bond ใช้เรียกทั้งพันธบัตรรัฐบาลและหุ้นกู้เอกชน และบางกรณีใช้คำว่า Debenture
• ตราสารหนี้ระยะยาว หมายถึง ตราสารหนี้ที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป ซึ่งตราสารหนี้ที่จัดอยู่ในกลุ่มตราสารหนี้ระยะยาวได้แก่ พันธบัตร หุ้นกู้
• ตราสารหนี้ระยะสั้น หมายถึง ตราสารหนี้ที่มีอายุไม่เกินหรือเท่ากับ 1 ปี ได้แก่
– ตั๋วเงินคลังที่รัฐบาลโดยกระทรวงการคลังเป็นผู้ออก เพื่อกู้ยืมเงินระยะสั้น
– B/E อยู่ในกลุ่มตราสารหนี้ระยะสั้น เพราะโดยปกติมีอายุไม่เกิน 270 วัน อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีบริษัทเอกชนออก B/E ระยะยาวด้วย
• จ่ายดอกเบี้ยคงที่ (Fixed Coupon Bond) โดยจะมีการจ่ายดอกเบี้ยคงที่ตามงวดที่กำหนดไว้แต่แรก ซึ่งมักจะกำหนดไว้ที่ปีละ 2 ครั้ง หรือทุก 6 เดือน
• กำหนดอัตราดอกเบี้ยเป็นศูนย์ (Zero-Coupon Bond) จะไม่มีการจ่ายดอกเบี้ยระหว่างงวด โดยมักขายที่ราคาคิดลด (Discount Price) และผู้ลงทุนจะได้รับเงินต้นพร้อมดอกเบี้ยคืนเมื่อครบกำหนดอายุ
• กำหนดอัตราดอกเบี้ยลอยตัว (Floating Rate Bond) จะจ่ายดอกเบี้ยอ้างอิงกับอัตราดอกเบี้ยลอยตัวที่กำหนด เช่น BIBOR หรือ THBFIX เป็นต้น
การระดมทุนด้วยตราสารหนี้
ผู้ออกตราสารหนี้เพื่อระดมทุนสามารถแบ่งออกเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ ภาครัฐบาล และภาคธุรกิจเอกชน การระดมทุนของบริษัทในภาคธุรกิจโดยการออกตราสารหนี้จะมีต้นทุนต่ำกว่าการกู้เงินจากธนาคารเนื่องจากไม่ต้องผ่านตัวกลาง ในช่วงที่ผ่านมาที่อัตราดอกเบี้ยในตลาดอยู่ในระดับต่ำ บริษัทภาคเอกชนไทยจึงหันมาระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้เพิ่มขึ้นอย่างมาก
ในปี 2560 มูลค่าการระดมทุนโดยการออกตราสารหนี้ คิดเป็นร้อยละ 50 ของมูลค่าการกู้ยืมเงินทั้งหมดของภาคเอกชน เปรียบเทียบกับปี 2548 ที่การระดมทุนโดยการออกตราสารหนี้คิดเป็นเพียงร้อยละ 20 เท่านั้น สำหรับการซื้อหรือลงทุนในตราสารหนี้จากบริษัทที่ระดมทุนโดยตรง ในลักษณะนี้จะเรียกว่าการซื้อขายหรือการลงทุนตราสารหนี้ใน “ตลาดแรก” หรือ Primary Market ทั้งนี้ ผู้ออกตราสารหนี้สามารถเสนอขายได้ทั้งขายประชาชนทั่วไป ขายให้กับนักลงทุนแบบเฉพาะเจาะจง หรือนักลงทุนสถาบันตามคำจำกัดความที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย หรือสำนักงาน ก.ล.ต.
รายงานประจำปี 2560 ของสมาคมตลาดตราสารหนี้ไทยเปิดเผยว่า มูลค่าการระดมทุนด้วยการออกตราสารหนี้ในตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสูงถึง 9.08 ล้านล้านบาท โดยเป็นการออกพันธบัตรของธนาคารแห่งประเทศไทยถึง 5.89 ล้านล้านบาท รองลงมาคือ ตราสารหนี้ภาคเอกชน (corporate bond) มูลค่า 1.58 ล้านล้านบาท โดยแบ่งเป็นหุ้นกู้ระยะยาว 7.81 แสนล้านบาท และหุ้นกู้ระยะสั้นรวมตั๋วแลกเงิน 7.98 แสนล้านบาท ทั้งนี้ ในปี 2560 มูลค่าการออกพันธบัตรรัฐบาลอยู่ที่ 7.07 แสนล้านบาท พันธบัตรรัฐวิสาหกิจอยู่ที่ 1.56 แสนล้านบาท และตราสารหนี้ที่ออกโดยสถาบันต่างประเทศ 2 หมื่นล้านบาท
การระดมทุนด้วยตราสารหนี้มีข้อดีดังนี้
• สามารถกำหนดจำนวนเงินและระยะเวลาการใช้เงินให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดที่จะได้รับในอนาคตของผู้ออก ทำให้สามารถบริหารจัดการให้สอดคล้องกันได้ ตัวอย่างเช่น ระยะเวลาการออก สามารถแบ่งย่อยได้ ไม่ว่าจะเป็น 1 ปี 3 ปี หรือ 5 ปี ขึ้นอยู่กับการคาดการณ์กระแสเงินสดของธุรกิจที่บริษัทจะได้ ว่าเป็นช่วงใด หรืออาจจะเลือกเป็นระดมทุนครั้งเดียว แต่ทยอยจ่ายคืนเงินต้นได้ (Amortization)
• สามารถออกตราสารหนี้ในเงินสกุลต่างประเทศได้ โดยเฉพาะบริษัทที่มีรายรับเป็นเงินตราต่างประเทศ เป็นการป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนในตัวเอง (Natural Hedge) เช่น บริษัทส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ มีรายรับเป็นเงินตราต่างประเทศ ก็สามารถออกตราสารหนี้เพื่อกู้เงินสกุลเงินตราต่างประเทศได้ ตราสารหนี้ที่ออกในสกุลเงินต่างประเทศ มักเรียกกันว่า หุ้นกู้สกุลเงินดอลลาร์
Spread คือ ราคาหรือผลตอบแทนที่ผู้ออกตราสารหนี้จะต้องจ่ายเพิ่มขึ้นจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล ส่วนต่างที่จะบวกเพิ่มเข้าไปในตราสารหนี้แต่ละรุ่นจะแตกต่างกัน ซึ่งจะสอดคล้องกับแนวคิดเรื่อง High Risk High Return กล่าวคือ เมื่อตราสารหนี้มีความเสี่ยงสูงขึ้นก็จะต้องให้ผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นเพื่อชดเชยความเสี่ยง ผลตอบแทนที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นหมายถึง Spread ที่ต้องเพิ่มขึ้นนั่นเอง ปัจจัยหลักๆ ที่มีผลต่อการกำหนด Spread ได้แก่
ความน่าเชื่อถือของผู้ออกสะท้อนความสามารถในการชำระหนี้ของผู้ออกที่เป็นผู้กู้ยืมเงิน นโยบายการบริหารและสถานะการเงินของบริษัทหรือผู้ออกแต่ละรายแตกต่างกัน จึงมีความน่าเชื่อถือแตกต่างกัน Spread ที่บวกเพิ่มขึ้นจากพันธบัตรรัฐบาลจะสูงขึ้นเมื่อความน่าเชื่อถือของผู้ออกต่ำ เพื่อชดเชยความเสี่ยงที่ผู้ออกจะผิดนัดชำระหนี้ โดยส่วนใหญ่อันดับความน่าเชื่อถือจะแบ่งออกเป็นระดับ เช่น AAA หมายถึงอันดับความน่าเชื่อถือที่สูงสุด มีความเสี่ยงต่ำที่สุดที่ไม่ชำระดอกเบี้ยและคืนเงินต้น ส่วนใหญ่จะให้กับประเทศ หรือกับบริษัทขนาดใหญ่
บริษัทเอกชน ไม่ว่าขนาดใหญ่หรือขนาดเล็กสามารถใช้ตราสารหนี้เป็นเครื่องมือในการระดมทุนได้ทั้งนั้น แต่ควรมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ เพราะหากไม่มีการจัดอันดับในฐานะที่เป็นบริษัทเอกชน ต้นทุนการออกตราสารหนี้อาจจะแพง ยกเว้นว่าต้องการที่จะออกขายในวงจำกัด อย่างไรก็ตาม บริษัทเอกชนที่ไม่เคยออกตราสารหนี้มาก่อน แม้จะมีอันดับความน่าเชื่อถือที่ดีแต่ผู้ลงทุนไม่รู้จัก ก็อาจจะต้องให้ Spread ที่สูงกว่า เช่นเดียวกับบริษัทที่มีอันดับความน่าเชื่อถือต่ำ Spread จะกว้างขึ้น เพื่อจูงใจให้คนเข้ามาซื้อ แม้แต่บริษัทที่ประชาชนรู้จักอยู่แล้ว แต่ยังไม่เคยมีการจัดอันดับความน่าเชื่อถือมาก่อนและต้องการที่จะออกตราสารหนี้ ก็ควรที่จะมีการวิเคราะห์สถานะการเงินและประเมินความน่าเชื่อถือ เพื่อให้ต้นทุนการระดมทุนนั้นสอดคล้องกับฐานะของผู้ออก
บริษัทเล็กหรือบริษัทใหญ่ที่ Credit Rating เดียวกัน มีโอกาสที่ Spread จะเท่ากันหรือไม่เท่ากันก็ได้ ขึ้นอยู่กับความต้องการที่จะซื้อและปริมาณที่จะขาย ยกตัวอย่าง เช่น บริษัทใหญ่ที่ Credit Rating ไม่มีการเปลี่ยนแปลง มีการออกตราสารหนี้ในปริมาณมากและออกขายหลายครั้งแล้ว ผู้ลงทุนที่เคยลงทุนหรือผู้ลงทุนที่ถือครองอยู่แล้วอาจจะไม่ให้ความสนใจอีก ดังนั้น Spread อาจจะเพิ่มขึ้นเพื่อจูงใจ ขณะเดียวกันเมื่อเทียบกับบริษัทเล็กที่ไม่เคยออกตราสารหนี้มาก่อนและมี Credit Rating เท่ากับบริษัทใหญ่ เมื่อเสนอขายตราสารหนี้ก็อาจจะมีโอกาสได้ต้นทุนที่เท่ากับหรือต่ำกว่าบริษัทใหญ่ก็ได้ เนื่องจากเป็นสินค้าใหม่
อายุของตราสารที่มีระยะยาวขึ้น โดยปกติ Spread จะกว้างขึ้นด้วย เพื่อชดเชยความเสี่ยงให้กับผู้ซื้อหรือผู้ลงทุน เพราะระยะการถือครองที่ยาวขึ้นก็ทำให้โอกาสที่จะไม่ได้รับการชำระดอกเบี้ยและเงินต้นเพิ่มสูงขึ้นได้เช่นกัน
สภาพคล่องหมายถึงความยากง่ายในการหาผู้ซื้อหรือผู้ขายตราสารหนี้ในราคาและอัตราผลตอบแทนที่เราต้องการ ตราสารหนี้สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนมือได้ เมื่อผู้ลงทุนซื้อตราสารหนี้ไปแล้ว ในกรณีที่ผู้ลงทุนต้องการขายออกสามารถขายในตลาดรองได้ หากเป็นตราสารหนี้ที่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือที่ดี หรือพันธบัตรรัฐบาล การซื้อขายแลกเปลี่ยนมือในตลาดรองอาจจะทำได้ง่ายกว่า ตราสารหนี้นั้นก็อาจจะไม่ต้องกำหนด Spread เพิ่มขึ้นจากอัตราอ้างอิงมากนัก แต่หากเป็นตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับหรือเป็นตราสารหนี้ของบริษัทเอกชนซึ่งไม่เป็นรู้จักนัก Spread ก็อาจจะสูงได้เพื่อชดเชยความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
การลงทุนในตราสารหนี้
ตราสารหนี้เป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับผู้ลงทุนที่ต้องการลงทุนเพื่อกระจายการลงทุนจากสินทรัพย์อื่นและคาดหวังผลตอบแทนที่สูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เนื่องด้วยตราสารหนี้มีคุณสมบัติที่สำคัญ คือ สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือได้ เมื่อผู้ลงทุนที่ถือตราสารหนี้ที่ได้ซื้อจากบริษัทผู้ออกตราสารหนี้ในตลาดแรกมาแล้ว มีความต้องการจะขายตราสารหนี้ดังกล่าวสามารถทำได้โดยการขายในตลาดรอง (Secondary Market) โดยการซื้อขายจะเป็นลักษณะแบบ Over-the-Counter ที่เป็นการต่อรองโดยตรงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย ตราสารหนี้ไทยยังเป็นที่ต้องการของผู้ลงทุนต่างชาติด้วย ในปีที่ผ่านมามีเงินลงทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไทยสุทธิถึง 220,000 ล้านบาท
การลงทุนในตราสารหนี้สามารถเรียกอีกอย่างได้ว่าการลงทุนในตราสารที่ให้รายได้ประจำ (Fixed-Income Instruments) เนื่องจากผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนดอกเบี้ย (Coupon) ที่แน่นอนจากตราสารหนี้ และได้รับอย่างสม่ำเสมอตามระยะเวลาที่กำหนด ผู้ลงทุนสามารถลงทุนในตราสารหนี้ด้วยการซื้อในตลาดแรก (Primary Market) ซึ่งหมายถึง การซื้อตราสารหนี้เป็นครั้งแรกจากผู้ออกโดยตรง หรือซื้อในตลาดรอง (Secondary Market) ซึ่งคือการเข้าไปซื้อจากผู้ที่ได้ถือครองตราสารหนี้ที่ออกมาแล้ว แต่ต้องเป็นตราสารหนี้ที่กำหนดให้สามารถซื้อขายเปลี่ยนมือในตลาดตราสารหนี้ได้
การลงทุนในตราสารหนี้ ผู้ลงทุนต้องมีความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง โดยสิ่งที่ต้องรู้จักและเข้าใจคือผลตอบแทนจากการลงทุนในตราสารหนี้ ซึ่งมีสองแบบ
หนึ่ง ผลตอบแทนในรูปอัตราดอกเบี้ย (Coupon) ที่กำหนดไว้ตั้งแต่แรกเมื่อออกตราสารหนี้ ซึ่งผู้ออกจะจ่ายดอกเบี้ยตามอัตราที่กำหนด ตามเวลาที่ระบุไว้ เมื่อถือตราสารไปจนครบอายุไถ่ถอน ผู้ลงทุนได้จะรับเงินต้นคืนพร้อมดอกเบี้ยงวดสุดท้าย
สอง กำไรจากส่วนต่างของราคา ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อผู้ลงทุนขายตราสารหนี้ที่ถืออยู่ออกไป ก่อนที่จะครบอายุ ซึ่งการทำกำไรจากส่วนต่างของราคานั้นผู้ลงทุนควรรู้จักและเข้าใจราคาของตราสารหนี้ก่อน ตราสารหนี้ก็เหมือนกับหุ้นที่ต้องมีมูลค่าที่ตราไว้ (Par value หรือราคาเริ่มต้น) หรือเรียกสั้นๆ ว่าพาร์ (Par) โดยปกติตราสารหนี้ในประเทศไทยจะกำหนดราคาพาร์ที่ 1,000 บาท ซึ่งเป็นราคาที่มักจะใช้ในการซื้อขายตราสารหนี้ในตลาดแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไปราคาตราสารหนี้สามารถเปลี่ยนแปลงได้ตามอัตราดอกเบี้ยของตลาดในขณะนั้น ตัวอย่างเช่น หุ้นกู้ A มีกำหนดจ่ายดอกเบี้ย 5% ทุก 6 เดือน เมื่อเวลาผ่านไป 6 เดือนอัตราดอกเบี้ยในตลาดกลับลดลงมาอยู่ที่ 3% ราคาหุ้นกู้ A จะสูงขึ้นกว่า 1,000 บาท เพราะผู้ซื้อเต็มใจที่จ่ายมากกว่า 1,000 บาทเพื่อให้ได้ดอกเบี้ยที่ 5% ซึ่งราคาที่สูงขึ้นนี้ยังเป็นการชดเชยให้กับผู้ที่ถือครองหุ้นกู้ A มาก่อนด้วย ในทางกลับกัน หากเวลาผ่านไป 6 เดือน อัตราดอกเบี้ยในตลาดเพิ่มขึ้นเป็น 6% ราคาหุ้นกู้ A จะลดลงต่ำกว่า 1,000 บาท เพราะให้ผลตอบแทนดอกเบี้ยต่ำกว่าอัตราดอกเบี้ยในตลาด ผู้ขายยอมขายในราคาที่ต่ำกว่าราคาพาร์ เพื่อชดเชยให้กับผู้ซื้อที่ต้องถือตราสารหนี้ที่ให้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าราคาตลาด
การลงทุนในตราสารหนี้มีความเสี่ยงน้อยกว่าการซื้อหุ้นเพราะผู้ลงทุนมีสถานะเป็นเจ้าหนี้ มีสถานะทางกฎหมายสูงกว่าผู้ถือหุ้น กรณีที่บริษัทปิดกิจการยังขายทรัพย์สินนำเงินมาเฉลี่ยคืนเจ้าหนี้ก่อนเจ้าของ อีกทั้งการเป็นผู้ถือหุ้นเมื่อบริษัทปิดกิจการ มูลค่าหุ้นเท่ากับศูนย์ การลงทุนก็สูญ
การลงทุนในตราสารหนี้ให้ผลตอบแทนทีดีกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝาก เป็นหนึ่งในทางเลือกของการลงทุน ซึ่งผู้ลงทุนสามารถเลือกได้ว่าจะลงทุนในตราสารหนี้โดยตรง หรือลงทุนในตราสารหนี้ผ่านกองทุนรวม ที่มีผู้จัดการกองทุนทำหน้าที่วิเคราะห์ตราสารหนี้แต่ละตัวแทนผู้ลงทุนอยู่แล้ว และยังเป็นการกระจายความเสี่ยงของการลงทุนอีกด้วย
ผู้ลงทุนควรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตราสารหนี้ในระดับหนึ่ง เพราะส่วนใหญ่แล้วผู้ลงทุนรายย่อย ได้รับการเสนอขายครั้งแรกก็ถือครองยาว และคิดว่าเมื่อครบกำหนดแล้วจะได้เงินที่ลงทุนไปคืนพร้อมดอกเบี้ย แต่การลงทุนทุกประเภทมีความเสี่ยง ดังนั้น การซื้อตราสารหนี้ต้องพิจารณาความเสี่ยงอย่างรอบคอบ ทั้งความเสี่ยงจากอัตราดอกเบี้ยที่อาจจะปรับขึ้นหรือลดลงได้ ความเสี่ยงด้านการผิดนัดชำระ และความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง
นอกจากนี้ ผู้ลงทุนควรพิจารณาผู้ออกด้วย โดยพิจารณาจากอันดับความน่าเชื่อถือ บริษัทที่ออกไม่ควรมีขนาดเล็กเกินไป บริษัทที่จดทะเบียนในตลาดส่วนใหญ่มีการออกตราสารหนี้จำนวนมาก และมีบางบริษัทที่ออกตราสารหนี้เป็นประจำ
เมื่อได้รับการเสนอขายตราสารหนี้ ผู้ลงทุนควรดูรายละเอียดให้ดี เช่น ได้รับการเสนอขายตราสารหนี้ที่จัดอยู่ในกลุ่มตราสารหนี้ระยะสั้นเพราะมีวัตถุประสงค์ที่จะให้ระดมทุนมาใช้ระยะสั้นเท่านั้น แต่กลับมาขายเป็นตราสารหนี้ระยะยาว ซึ่งถือว่าผิดวัตถุประสงค์ รวมไปถึงพิจารณาประเภทของตราสารหนี้ด้วย อย่าลงทุนเพียงเพราะตราสารหนี้นั้นมีอายุสั้น และคิดว่าลงทุนสั้นไม่เสี่ยง เพราะแม้จะมีระยะเวลาลงทุนสั้นแต่หากเป็นตราสารหนี้ที่ไม่มีการจัดอันดับ หรือไม่รู้จักผู้ออก ก็มีความเสี่ยงได้ นอกจากนี้ยังต้องพิจารณากระบวนการขายที่ถูกต้อง เช่น มีการเสนอขายโดยบอกว่าเป็นตราสารหนี้ของธนาคาร ทั้งๆ ที่บางครั้งธนาคารเป็นเพียงตัวแทนจำหน่ายเท่านั้น
ตราสารหนี้เป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์ต่อผู้ออก โดยเฉพาะด้านต้นทุนทางการเงิน และยังมีกระบวนการออกที่ไม่ซับซ้อนเท่ากับตราสารทุน ทำให้การระดมทุนสามารถจัดการได้ตรงกับความต้องการและสอดคล้องกับภาวะตลาด ขณะเดียวกันก็มีประโยชน์ต่อผู้ลงทุน โดยนอกจากจะเป็นการลงทุนที่รักษาเงินต้นแล้วยังได้ผลตอบแทนสม่ำเสมอ ดังนั้น ตราสารหนี้คือ ตราสารการเงินที่สามารถเป็นทางเลือกได้ทั้งการระดมทุนและการลงทุน
ซีรีส์ Financial Literacy สนับสนุนโดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร