ThaiPublica > Native Ad > บทความร่วมมือ > Derivative Warrants เครื่องมือลงทุน เพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้น

Derivative Warrants เครื่องมือลงทุน เพื่อผลตอบแทนที่สูงขึ้น

21 เมษายน 2018


ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ทางการเงินการลงทุนได้พัฒนาไปมาก ส่งผลให้นักลงทุนมีทางเลือกที่จะใช้เครื่องมือสำหรับการลงทุนมากมาย ทั้งตราสารการเงิน ตราสารทุน กองทุนรวม ซึ่งแต่ละประเภทก็มีรายละเอียดและความซับซ้อนต่างกัน รวมถึงความเสี่ยง ผลตอบแทน ข้อดีข้อเสียของเครื่องมือแต่ละประเภทก็แตกต่างกัน แต่ความเข้าใจเกี่ยวกับคุณสมบัติเฉพาะตัวของเครื่องมือเหล่านี้ จะมีส่วนช่วยให้นักลงทุนสามารถจัดสรรเงินทุนไปลงทุนได้อย่างเหมาะสมและสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้

Derivative Warrants เป็นตราสารการเงินประเภทหนึ่งที่ได้รับการพัฒนาและเริ่มเป็นที่นิยมในหมู่นักลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ไทยในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากไม่เพียงแต่สร้างผลตอบแทนให้เหมาะสมกับเงินลงทุนที่มีเท่านั้น แต่ยังใช้เป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงได้ และสามารถใช้ลงทุนได้ในทุกภาวะของตลาด

รู้จักตราสารอนุพันธ์ (Derivatives)

ก่อนที่จะรู้จักกับ Derivative Warrants ขอทบทวนความรู้ของนักลงทุนเกี่ยวกับตราสารอนุพันธ์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะได้เข้าใจ Derivative Warrants ที่พัฒนาบนพื้นฐานตราสารอนุพันธ์ได้ง่ายขึ้น

ตราสารอนุพันธ์คือ ตราสารทางการเงินที่มีลักษณะเป็นสัญญา โดยทั่วไปหมายถึงสัญญาที่จะซื้อขายสินค้าหนึ่งอย่างในราคาและปริมาณที่ตกลงกันไว้ โดยที่ตกลงกันวันนี้แล้วไปซื้อขายกันในอนาคตระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ตามระยะเวลาที่ตกลงกัน ประเภทของตราสารอนุพันธ์ แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ๆด้วยกัน คือ

หนึ่ง Forward หรือสัญญาที่จะซื้อจะขายล่วงหน้า เป็นสัญญาในลักษณะที่ตกลงวันนี้ว่าจะซื้อขายสินค้าหนึ่งอย่างในอนาคต ในเวลาที่กำหนด โดยที่เมื่อครบสัญญาผู้ที่จะซื้อก็ต้องนำเงินมาจ่าย เพื่อที่จะซื้อของตามสัญญา ผู้ที่จะขายก็ต้องเอาของมาขายตามที่ตกลงกันไว้ในสัญญา

ยกตัวอย่าง สัญญาจะซื้อจะขายข้าว ผู้ส่งออกได้รับคำสั่งซื้อข้าวมาและจะต้องส่งออกในอีก 3 เดือนข้างหน้าก็ได้ตกลงกับผู้ผลิตข้าว คือ เกษตรกรทำสัญญาวันนี้ว่าในอีก 3 เดือนจะมาซื้อข้าวในราคาที่ตกลงกัน เพื่อที่จะล็อคราคาต้นทุน ในทางตรงข้าม เกษตรกรซึ่งจะเก็บเกี่ยวข้าวในอีก 3 เดือนข้างหน้า รู้ว่าจะขายข้าวได้ในราคาที่เท่าไร ก็ตกลงที่จะขายข้าวให้ผู้ส่งออกข้าววันนี้ในราคาอีก 3 เดือนข้างหน้าตามที่ตกลงกันไว้ เพื่อลดความเสี่ยงของตัวเกษตรกรเอง

สัญญาประเภทนี้ที่มีการซื้อขายในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของไทย (TFEX) เรียกว่า สัญญา Futures

สอง Option หรือสัญญาสิทธิ เป็นสัญญาจะซื้อหรือจะขายสินค้าหนึ่งอย่างระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ตามเวลาที่ตกลงกันไว้ในอนาคตและตกลงจำนวนกับราคาที่จะซื้อหรือขายไว้ แต่มีความแตกต่างจากประเภทแรกคือ ผู้ที่ถือสัญญามีสิทธิตัดสินใจว่าจะใช้สิทธิหรือไม่ กรณีที่ผู้ถือสิทธิตัดสินใจจะใช้สิทธิ ผู้ที่ขายสิทธิก็ต้องรับมอบหรือส่งมอบตามสัญญา

ถ้าเป็นสิทธิในการซื้อ ผู้ที่ถือสัญญาจะตัดสินใจว่าจะใช้สิทธิที่จะซื้อของสินค้านี้ในราคาที่ตกลงกันไว้หรือไม่

ยกตัวอย่างเช่น วันนี้สินค้า 1 ชิ้นมีราคา 100 บาท ทำสัญญาตกลงว่าอีก 3 เดือนมีสิทธิที่จะซื้อสินค้านี้ 1 ชิ้นในราคา 100 บาท เมื่อครบ 3 เดือน ผู้ที่ซื้อสิทธิไว้สามารถตัดสินใจว่าจะซื้อสินค้าชิ้นนี้หรือไม่ หากตัดสินใจใช้สิทธิก็ต้องนำเงินมาจ่าย 100 บาทเพื่อซื้อสินค้าชิ้นนี้มา ผู้ที่ขายสิทธิต้องนำสินค้ามาส่งมอบตามสัญญา

หรือหากราคาสินค้าชิ้นนี้ปรับขึ้นเป็น 110 บาท ผู้ที่ซื้อสิทธิจะตัดสินใจซื้อเพราะจ่ายเงินน้อยกว่าเพียงแค่ 100 บาท แต่หากราคาสินค้าตกลงไปที่ 90 บาท ก็ไม่จำเป็นต้องใช้สิทธิที่จะซื้อสินค้าราคา 100 บาทตามที่ตกลงกันไว้ เพราะสามารถไปซื้อในตลาดได้ในราคาที่ถูกกว่า

สัญญาอนุพันธ์ประเภทนี้เรียกว่า สิทธิ ในตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้าของไทย (TFEX) เรียกเหมือนกันว่า Options

  • ราคาของสิทธิ
  • จะเห็นได้ว่าผู้ที่ถือสิทธิได้เปรียบ สิทธินี้จึงมีมูลค่า เพราะฉะนั้นในวันแรกที่ตกลงกันว่าจะขายสิทธิให้ ก็มีการจ่ายค่าสิทธิ จากตัวอย่างด้านบนมีสิทธิที่จะซื้อสินค้าในราคา 100 บาท ผู้ที่ต้องการจะได้สิทธินี้จ่ายเงิน 5 บาท เพื่อซื้อสิทธิที่จะได้ใช้สิทธิซื้อของชิ้นนี้ในราคา 100 บาท ผู้ขายสิทธิก็ได้เงิน 5 บาท ราคา 5 บาทนี้เป็นราคาของสิทธิ ผู้ที่ซื้อสิทธิต้องจ่ายเงินให้คนขายสิทธิ เพื่อให้ได้สิทธิไป แต่ผู้ซื้อสิทธิต้องไปดูราคาสินค้าในอนาคตว่าจะเป็นเท่าไรและจะตัดสินใจในอนาคตว่าจะใช้สิทธิหรือไม่ เมื่อถึงเวลาที่กำหนด

  • ปัจจัยที่มีผลต่อราคาสิทธิ
  • คือ ราคาของสินค้าอ้างอิงที่จะเปลี่ยนแปลงไป ตัวอย่างเช่น A จ่ายเงินให้ B จำนวน 5 บาท เพื่อซื้อสิทธิที่จะซื้อหุ้น PP ซึ่งเป็นสินค้าอ้างอิงในราคา 50 บาท ต่อมาราคาหุ้น PP เพิ่มขึ้นเป็น 60 บาท ราคาของสิทธิก็ต้องเพิ่มขึ้น ตัวอย่างเช่น เพิ่มขึ้นเป็น 15 บาท เพราะโอกาสที่จะได้กำไรจากสิทธิเพิ่มขึ้น ราคาของสิทธิซึ่งจัดเป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งก็เปลี่ยนแปลงไป

  • สิทธิซื้อขายเปลี่ยนมือได้
  • สิทธินี้สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนมือกันได้อย่างในตลาด โดยที่สิทธิจะซื้อขายบน 2 ปัจจัย ซึ่งปัจจัยแรกเป็นปัจจัยที่มีผลต่อราคาหรือมูลค่าของสิทธิ คือ ราคาสินค้าที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนปัจจัยที่สอง คือ ความต้องการและปริมาณในตลาด (Demand & Supply)

    จากตัวอย่างด้านบน ต่อมา C ต้องการที่จะซื้อสิทธิต่อจาก A ก็ขึ้นอยู่กับ A ว่าจะขายสิทธิให้หรือไม่ ถ้าขายจะขายในราคาเท่าไร หากสิทธินี้มีปริมาณซื้อขายในตลาดไม่มาก และราคาหุ้น PP ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็น 60 บาท A อาจจะขายให้ C ในราคาที่สูงขึ้นมากจากราคา 5 บาทที่ซื้อมา เช่นอาจจะขายในราคา 16 บาท เป็นต้น

    ลักษณะของอนุพันธ์

  • เป็นสัญญาที่มีสินค้าอ้างอิง
  • เมื่อเรารู้แล้วว่า Forwards, Futures, Options เป็นอนุพันธ์ที่มีลักษณะเป็นสัญญาที่จะซื้อหรือขายสินค้าในราคาและปริมาณที่ตกลงกันไว้ ซึ่งต้องมีสินค้ามารองรับการทำสัญญานั้น สินค้าที่ผู้ซื้อและผู้ขายได้ตกลงกันไว้เรียกว่า สินค้าอ้างอิง โดยที่สัญญาจะกำหนดลักษณะของสินค้าอ้างอิงไว้อย่างละเอียดและชัดเจน โดยทั่วไปแบ่งอนุพันธ์ตามสินค้าอ้างอิงออกเป็น 2 กลุ่มหลัก คือ หนึ่ง อนุพันธ์สินค้าโภคภัณฑ์ สินค้าอ้างอิงจะเป็นสินค้าเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพด กาแฟ หรือสินค้าด้านพลังงาน เช่น น้ำมัน ก๊าซ หรือโลหะ เช่น อลูมิเนียม ทอง ดีบุก เป็นต้น สอง อนุพันธ์ทางการเงิน สินค้าอ้างอิงจะเป็นตราสารทุน เช่น หุ้น ดัชนีราคาหุ้น หรือตราสารหนี้ เช่น พันธบัตรรัฐบาล หรือเงินตราต่างประเทศ เช่น ดอลลาร์สหรัฐ เป็นต้น

  • เป็นสัญญาที่มีราคาซื้อขายที่ตกลงกันไว้ล่วงหน้า
  • นอกจากผู้ซื้อและผู้ขายได้ตกลงจะซื้อจะขายสินค้ากันไว้ตามสัญญาแล้ว ยังต้องกำหนดราคาในวันแรกไว้เลยว่าจะซื้อจะขายในราคาเท่าไร สำหรับสัญญา Forward หรือ Futures เรียกว่า ราคาซื้อขายล่วงหน้า หรือสำหรับสัญญา Option เรียกว่า ราคาใช้สิทธิ

  • เป็นสัญญาที่มีอายุจำกัด
  • โดยอนุพันธ์เป็นสัญญาจะซื้อหรือจะขายสินค้าหนึ่งอย่างระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย ตามเวลาที่ตกลงกันไว้ ดังนั้นอนุพันธ์จึงเป็นสัญญาที่มีกำหนดเวลาชัดเจน เช่น 1 เดือน 3 เดือน เป็นต้น การปฏิบัติตามสัญญาจะต้องกระทำภายในระยะเวลาที่กำหนด เช่น จากตัวอย่างด้านบนที่ให้สิทธิซื้อสินค้าภายใน 3 เดือน ผู้ซื้อสัญญาสิทธิต้องใช้สิทธิภายในระยะเวลาดังกล่าว เมื่อพ้นกำหนดแล้ว สัญญาจะหมดอายุและสิทธิของผู้ซื้อสัญญาจะหมดไปด้วย

    Derivative Warrants

    Derivative Warrants (DW) คือ ใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ เป็นสัญญาสิทธิประเภทหนึ่งที่อ้างอิงกับหลักทรัพย์ ที่ผู้ออกให้สิทธิกับผู้ซื้อในการซื้อหรือขายหลักทรัพย์อ้างอิงในอนาคตที่ราคา จำนวน และ เวลาที่กำหนดไว้ โดยที่ราคานั้นหมายถึงราคาใช้สิทธิ จำนวนหมายถึงอัตราใช้สิทธิ

    ทั้งนี้ผู้ออกสัญญาเป็นบุคคลที่จะต้องขออนุญาตในการทำธุรกิจในการออกใบสำคัญแสดงสิทธิอนุพันธ์ โดยจะต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่จะเข้ามาตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ออก รวมไปถึงระบบปฏิบัติงาน กระบวนการทำงาน และความเสี่ยงของผู้ออก

  • ผู้ออก DW (Issuer)
  • ผู้ออก DW ส่วนใหญ่เป็นบริษัทหลักทรัพย์ ซึ่งจะเป็นผู้กำหนดรายละเอียดของเงื่อนไข DW ไว้ในข้อกำหนดสิทธิของ DW ที่เสนอขายต่อผู้ลงทุน ได้แก่ ราคาใช้สิทธิ ระยะเวลาใช้สิทธิ อัตราใช้สิทธิ เหตุการณ์ที่จะมีการปรับราคาและอัตราใช้สิทธิ เงื่อนไขในการทำหน้าที่ของผู้ดูแลสภาพคล่อง เป็นต้น

  • กระบวนการออก DW
  • การออก DW ปัจจุบัน ใช้กระบวนการ Direct Listing เมื่อผู้ออกได้รับอนุญาตจากสำนักงาน ก.ล.ต.ให้ออก DW แล้วก็ขออนุญาตจดทะเบียนเพื่อเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ โดยยังไม่ต้องเสนอขายให้กับนักลงทุน แต่ในการเปิดซื้อขายวันแรกผู้ออกจะเป็นผู้เริ่มเสนอซื้อเสนอขาย DW ในตลาด นักลงทุนที่ต้องการซื้อก็สามารถเข้ามาซื้อในตลาดได้ หรือซื้อแล้วจะขายในตลาดเลยก็ได้ ดังนั้น สรุปได้ว่า DW มีการซื้อขายเหมือนหลักทรัพย์ทั่วไปที่นักลงทุนคุ้นเคยอยู่แล้วนั่นเอง

    กระบวนการ Direct Listing เป็น กระบวนการที่ช่วยลดความเสี่ยงให้กับนักลงทุนเพราะไม่ต้องผ่านขั้นตอนการกระจาย DW ในตลาดครั้งแรก เนื่องจากราคาของ DW อ้างอิงกับปัจจัยหลายตัว โดยปัจจัยหลักคือ ราคาหุ้น ต่างจากการกระจายหุ้นแบบ IPO ที่เมื่อซื้อแล้วต้องรอเวลาเข้าซื้อขาย ปกติหากใช้วิธีการขาย DW แบบเดียวกับ IPO นักลงทุนก็จะมีความเสี่ยง เพราะหากซื้อสิทธิในการซื้อหุ้นแล้วราคาหุ้นลดต่ำลง สิทธิที่ซื้อมาก็จะมีราคาต่ำลงด้วย แต่กระบวนการ Direct Listing นักลงทุนที่ซื้อขายวันนี้ด้วยหวังว่าราคาหุ้นจะปรับขึ้นและมีกำไร แต่ปรากฎว่าราคาหุ้นลดลงและราคา DW ก็ลดลงด้วย นักลงทุนก็สามารถขาย DW นี้ออกได้เลย

  • สินค้าอ้างอิงของ DW
  • DW เป็นอนุพันธ์ทางการเงิน มีสินค้าอ้างอิงคือ หุ้น และดัชนีหลักทรัพย์

  • การรับมอบและส่งมอบ มี 2 ลักษณะ
  • แบบแรกเป็นการส่งมอบรับมอบจริง ตัวอย่างเช่น ซื้อสิทธิที่จะซื้อหุ้น ABC ที่ราคา 100 บาทเมื่อถึงเวลาที่กำหนด หุ้น ABC ในตลาดปรับขึ้นไปอยูที่ 120 บาทผู้ลงทุนขอใช้สิทธิก็นำเงิน 100 บาทมาจ่ายให้กับผู้ขายสิทธิผู้ขายก็นำหุ้น ABC มาส่งมอบ ผู้ลงทุนก็รับมอบหุ้น ABC ไป เมื่อได้รับหุ้นมาแล้ว ผู้ลงทุนสามารถนำหุ้น ABC ไปขายในตลาดที่ราคา 120 บาทได้กำไร 20 บาท

    แบบที่สอง ชำระเป็นเงินสดส่วนต่าง สามารถทำได้คือ ผู้ออกหรือผู้ขาย จะจ่ายค่ากำไรส่วนต่างให้กับผู้ซื้อสิทธิ โดยที่ผู้ซื้อสิทธิไม่ต้องนำเงินมาจ่ายค่าหุ้น ตัวอย่างเช่น ผู้ออกหรือผู้ขายสัญญาว่าจะขายหุ้นในราคา 100 บาทให้ผู้ซื้อ แต่เมื่อราคาหุ้นขึ้นไปที่ 120 บาท ผู้ออกหรือผู้ขายก็บอกผู้ซื้อว่า ไม่ต้องนำเงินมาจ่ายค่าหุ้น แต่ผู้ออกหรือผู้ขายจ่ายค่าส่วนต่างของราคาหุ้นให้เลย ซึ่งสำหรับผู้ซื้อไม่มีความแตกต่าง เพราะทางแรกต้องมีเงิน 100 บาทก็สามารถนำเงินไปซื้อหุ้นได้ในราคา 100 บาท แต่หากได้ส่วนต่างอีก 20 บาท เมื่อรวมกับเงินที่มี 100 บาทเป็น 120 บาทก็นำเงินนี้ไปซื้อหุ้นในราคา 120 บาทได้เช่นกัน

    สำหรับ DW ในไทยทั้งหมดเป็นการชำระด้วยเงินสดส่วนต่าง โดยเทียบราคาหุ้นในวันซื้อขายสุดท้ายกับราคาใช้สิทธิ ในกรณีที่มีกำไรส่วนต่าง ผู้ออกก็ชำระส่วนต่างของราคาหุ้นกับราคาใช้สิทธิแก่ผู้ลงทุน

  • ประเภทของ DW แบ่งตามสิทธิในการซื้อขาย แบ่งออกเป็น 2 ประเภท
  • Call warrant ให้สิทธิในการซื้อ ที่จะซื้อสินค้าอ้างอิงในอนาคต ตามราคา จำนวน ระยะเวลาและเงื่อนไขในการใช้สิทธิตามที่ผู้ออกกำหนด ตัวอย่างเช่น ซื้อ Call warrant บนหุ้น XYZ เป็น DW ที่ให้สิทธิผู้ลงทุนว่าจะซื้อหุ้น XYZ ในราคา 50 บาทในอีก 3 เดือน เมื่อครบ 3 เดือนหุ้น XYZ ราคาปรับขึ้นไปที่ 60 บาทในตลาด ผู้ซื้อก็ตัดสินใจใช้สิทธิซื้อหุ้นในราคา 50 บาท เพราะราคาถูกกว่าในตลาด แต่หากหุ้น XYZ ราคาลดลงมาที่ 40 บาท ผู้ซื้อสามารถเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิก็ได้

    Put warrant ให้สิทธิในการขาย ที่จะขายสินค้าอ้างอิงในอนาคต ตามราคา จำนวน ระยะเวลาและเงื่อนไขในการใช้สิทธิตามที่ผู้ออกกำหนด

    Put warrant ตรงข้ามกับ Call warrant โดยผู้ซื้อ Put DWมีสิทธิตัดสินใจว่าจะขายหุ้นให้กับผู้ออกหรือไม่ จากตัวอย่างเดียวกัน ขาย Put warrant บนหุ้น XYZ เป็น DW ที่ให้สิทธิผู้ลงทุนว่าจะขายหุ้น XYZ ในราคา 50 บาทในอีก 3 เดือน เมื่อครบ 3 เดือนหุ้น XYZ ราคาปรับขึ้นไปที่ 60 บาทในตลาด ผู้ลงทุนมีสิทธิที่จะไม่ขายหุ้นให้ผู้ออกในราคา 50 บาท เพราะขายในตลาดได้กำไรมากกว่า แต่หากราคาหุ้นลดลงไปที่ 40 บาท ผู้ลงทุนก็สามารถตัดสินใจขายหุ้นให้ตามสิทธิเพราะขายได้ในราคา 50 บาท เป็นต้นราคาของสิทธิที่ผู้ซื้อสิทธิต้องจ่ายเงินเพื่อแลกกับสิทธิที่จะซื้อสินค้านั้นเรียกว่า Premium

  • สัญลักษณ์ของ DW
  • DW จะมีสัญลักษณ์ในการซื้อขายเฉพาะ ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยกำหนดเกณฑ์ในการตั้งชื่อย่อของ DW ไว้ โดยให้มี 12 หลัก ประกอบด้วย ชื่อสินค้าอ้างอิง 4 หลัก รหัสผู้ออก 2 หลัก ประเภทสิทธิ 1 หลัก รหัสปี ค.ศ. และเดือนของวันที่ซื้อขายวันสุดท้าย 4 หลัก รหัสรุ่น 1 หลัก เช่น UUUUNNCYYMMA

      UUUU หมายถึงชื่อหุ้นอ้างอิง โดยมีความยาวได้มากที่สุด 4 ตัวอักษร ถ้าเกินต้องตัดออก
      NN หมายถึงผู้ออก DW โดยใช้เลขรหัสสมาชิกของโบรกเกอร์ เช่น 06 คือ ภัทร
      C หมายถึงประเภทของ DW โดย C หมายถึง Call DW, P หมายถึง Put DW
      YYMM หมายถึงชื่อย่อของปี ค.ศ. และเดือนของวันที่ซื้อขายวันสุดท้าย
      A หมายถึงรุ่นที่ออก (Series) โดยใช้สัญลักษณ์ A-Z
  • ปัจจัยที่มีผลต่อราคา DW
  • ปัจจัยที่มีผลต่อราคาของ DW จะส่งผลต่อกำไรหรือขาดทุนของผู้ลงทุน ซึ่งหลายปัจจัยที่เป็นข้อกำหนดของ DW เอง และบางปัจจัยที่เป็นปัจจัยจากตลาดซึ่งทั้งหมดมีด้วยกัน 7 ปัจจัย ได้แก่

    I.ปัจจัยที่เป็นข้อกำหนดของ DW ปัจจัยเหล่านี้ถึงแม้จะมีผลต่อราคา DW แต่มีความเสี่ยงน้อยเพราะเป็นปัจจัยที่ถูกกำหนดไว้ล่วงหน้าแล้ว

    1.ราคาใช้สิทธิ เช่น กำหนดราคาใช้สิทธิที่ 100 บาท หรือ 50 บาท โดยราคาใช้สิทธิที่สูงขึ้นจะทำให้ราคา Call DW ถูกลง แต่จะทำให้ราคา Put DW สูงขึ้น

    2.อัตราใช้สิทธิ เช่น ซื้อ 10 DW เทียบเท่ากับการซื้อหุ้น 1 หุ้น อัตราการใช้สิทธิเป็นเครื่องมือในการปรับราคา DW ให้สูงหรือต่ำตามที่ผู้ออกต้องการในการออกแบบผลิตภัณฑ์

    3.อายุของ DW DW ที่มีอายุยาวจะมีมูลค่าสูงขึ้น เพราะผู้ถือ DW ได้เปรียบตรงที่มีสิทธิในการตัดสินใจยาว โอกาสที่จะได้กำไรก็มีสูงขึ้น

    II.ปัจจัยที่มีผลต่อราคาซึ่งไม่ใช่ปัจจัยที่กำหนด มีผลต่อราคาแตกต่างกัน ในที่นี้จะเริ่มจากปัจจัยที่มีผลน้อย

    4.อัตราดอกเบี้ย อัตราดอกเบี้ยมีผลต่อ DW ยกตัวอย่างเช่น ผู้ลงทุนสามารถลงทุนหุ้นได้ 2 วิธี วิธีแรก

    ใช้เงิน 100 บาทไปซื้อหุ้น 1 หุ้น วิธีที่สองใช้เงิน 5 บาทซื้อ DW 1 ตัว และเก็บเงินไว้ 95 บาท ทั้งสองวิธีการจะคล้ายกัน เพราะหากราคาหุ้นขึ้นจะได้กำไรทั้งจากราคาหุ้นที่ขึ้นและราคาของ DW ที่สูงขึ้นด้วย หากหุ้นตกจะขาดทุนทั้งจากการซื้อหุ้นและซื้อ DW แต่ต่างกันตรงวิธีที่สองเงินที่เหลืออีก 95 บาทยังได้ดอกเบี้ย ยิ่งดอกเบี้ยสูงขึ้นเท่าไร วิธีที่สองจะได้ประโยชน์มากขึ้นเท่านั้น

    เพื่อให้ประโยชน์เท่ากันกับวิธีแรก ราคาของ DW อาจจะแพงขึ้นได้ เพราะดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นจะชดเชยต้นทุนจากการที่ราคา DW แพงขึ้น แต่ปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยไม่สูงนัก ผลของดอกเบี้ยต่อ DW จึงไม่ได้สูงมากนัก

    5.เงินปันผล เมื่อเปรียบเทียบการซื้อ Call DW กับการซื้อหุ้นแล้ว การซื้อ Call DW ไม่ได้เงินปันผล แต่การซื้อหุ้นได้เงินปันผล ผู้ลงทุนที่ซื้อ Call DW อาจจะบอกว่าเสียเปรียบ เพราะหากหุ้นอ้างอิงของ Call DW จ่ายปันผล เงินปันผลนั้นจะมีผลให้มูลค่า Call DW ลดลง

    ดังนั้นแนวปฏิบัติของ DW ที่จดทะเบียนซื้อขายในไทย ผู้ออกจะโอนผลประโยชน์ของเงินปันผล คืนให้กับผู้ซื้อ DW ผ่านการปรับสิทธิ เช่น ปรับให้ราคาใช้สิทธิของ Call DW ลดต่ำลงและปรับอัตราการใช้สิทธิเพิ่มสูงขึ้นเพื่อประโยชน์ของผู้ถือ DW

    6.ราคาหุ้น เป็นปัจจัยแรกที่ผู้ลงทุนส่วนใหญ่ใช้ในการพิจารณาซื้อขาย DW เพราะราคา DW จะถูกกว่าการเข้าไปซื้อหุ้นโดยตรง
    โดยในกรณี Call DW ราคาหุ้นที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้มูลค่า Call DW เพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย เพราะผู้ซื้อ Call DW ซื้อสิทธิที่จะซื้อหุ้นในราคาใช้สิทธิที่ถูกกำหนดไว้ ในเมื่อราคาหุ้นที่ใช้อ้างอิงเพิ่มสูงขึ้นไปเรื่อยๆ โอกาสที่จะได้รับกำไรจากการใช้สิทธิก็มากขึ้นด้วย ราคา Call DW ก็จะเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย

    ตรงกันข้ามหากราคาหุ้นลดต่ำลง โอกาสที่จะใช้สิทธิแล้วได้รับกำไรจะน้อยลง มีโอกาสที่จะขาดทุนมากขึ้น ดังนั้นราคาหุ้นที่ลดต่ำลง ราคา Call DW จะลดต่ำลงด้วย สำหรับผู้ลงทุนจะขาดทุนเฉพาะส่วนของเงินที่ลงทุนใน DW ไม่ได้ขาดทุนจากราคาที่หุ้นตกเพราะไม่ใช้สิทธิ

    Put DW จะตรงกันข้าม หากราคาหุ้นตก Put DW จะมีราคาสูงขึ้น เพราะ put คือสิทธิที่จะขายในราคาที่กำหนดไว้ ยิ่งราคาหุ้นตกมากเท่าไร ผู้ลงทุนที่มี Put DW ก็จะได้ประโยชน์จากการที่ขายในราคาที่สูงกว่า แต่หากหุ้นขึ้น ราคา Put DW จะลดลงต่ำลง โดยลดต่ำลงได้มากที่สุดคือ ศูนย์

    7. ความผันผวนของราคาหุ้น มีผลค่อนข้างมากต่อราคา DW เพราะแสดงถึงความน่าจะเป็นของโอกาสที่จะได้กำไร เนื่องจาก DW คือ สิทธิ หมายความว่า ผู้ถือ warrant จะได้ประโยชน์หากหุ้นเปลี่ยนแปลงไปได้มากพอจนเกินราคาใช้สิทธิ เช่น Call DW หากหุ้นขึ้นสูงกว่าราคาใช้สิทธิผู้ลงทุนก็จะมีกำไร แต่หากหุ้นตกต่ำกว่าราคาใช้สิทธิ ผู้ลงทุนไม่ขาดทุน จากราคาหุ้น แต่ขาดทุนอย่างมากเท่ากับราคา DW

    หุ้นที่มีความผันผวนสูง มีโอกาสที่ราคาหุ้นจะแกว่งขึ้นไปสูงกว่าราคาใช้สิทธิ ความน่าจะเป็นที่ผู้ลงทุนใน DW ได้ผลตอบแทนมากกว่า เมื่อเทียบกับหุ้นที่มีความผันผวนน้อย ดังนั้นความผันผวนที่สูงขึ้นจะมีผลให้ราคา DW สูงตามไปด้วย แต่สำหรับ DW ในประเทศไทย ผู้ออกส่วนใหญ่จะกำหนดความผันผวนที่ใช้ในการกำหนดราคา DW ที่จะขายและมักจะไม่ปรับเปลี่ยนค่าความผันผวนที่กำหนดไว้

    ประโยชน์ของการลงทุนใน DW

  • ใช้เงินลงทุนน้อยกว่าการลงทุนโดยตรงบนหุ้นอ้างอิง แต่ให้ผลเสมือนกับการลงทุนในหุ้นอ้างอิง
  • การเข้าไปลงทุนใน DW ผู้ลงทุนสามารถ Leverage ได้ คือ ใช้เงินลงทุนจำนวนน้อย ไปลงทุนใน DWแทนที่จะลงทุนในหุ้นอ้างอิงที่มีมูลค่าสูง แต่มีโอกาสได้ผลตอบแทนเสมือนการลงทุนในหุ้นอ้างอิง

    ตัวอย่างเช่น เปรียบเทียบเงินลงทุนของหุ้น ABC และ ABC06C1806A โดยกำหนดให้ ABC ราคาหุ้นละ 100 บาท ABC06C1806A ราคาหน่วยละ 1 บาท และมีอัตราใช้สิทธิ 10 DW ต่อ 1 หุ้นอ้างอิง

    ในสัดส่วนการลงทุนที่เท่ากัน จากตารางจะเห็นได้ว่าผู้ลงทุนใช้เงินลงทุนซื้อ DW เพียง 1,000 บาท ในขณะที่ผู้ลงทุนต้องใช้เงินลงทุนในการซื้อหุ้น ถึง 10,000 บาท

  • ทำกำไรได้มากแม้หุ้นอ้างอิงจะเปลี่ยนแปลงไปเพียงเล็กน้อย (Gearing)
  • DW ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการลงทุนในหุ้นอ้างอิงโดยตรง เนื่องจากจะมีการเปลี่ยนแปลงของราคามากกว่าราคาสินค้าอ้างอิง ผู้ลงทุนจึงสามารถทำกำไรได้มากแม้หุ้นอ้างอิงจะเปลี่ยนแปลงไปเพียงเล็กน้อย(Gearing)

    Gearing หรือ อัตราทด เป็นค่าที่บ่งบอกว่าราคา DW จะเปลี่ยนแปลงกี่ % ถ้าราคาหุ้นอ้างอิงเปลี่ยนแปลงไป 1% ใช้บอกจำนวน DW ที่ผู้ลงทุนสามารถซื้อได้ด้วยเงินลงทุนจำนวนหนึ่งเมื่อเทียบกับการซื้อหุ้นอ้างอิง เช่น gearing ของ call warrant อยู่ที่ 4 เท่า หมายความว่า หากหุ้นอ้างอิงราคาเพิ่มขึ้น 1% ราคา call warrant จะปรับขึ้น 4% แสดงให้เห็นว่าด้วยเงินที่มีจำกัด หากลงทุนใน call warrant ก็มีโอกาสที่จะได้ผลตอบแทนจากการซื้อ call warrant มากกว่าการลงทุนในหุ้นถึง 4 เท่า เช่น มีเงิน 100 บาท ลงทุนในหุ้น A ราคาหุ้นปรับขึ้น 5% จะได้กำไร 5% จากเงิน 100 บาท แต่หากใช้เงินไปซื้อ DW เมื่อราคาหุ้นเพิ่มขึ้น 5% จะได้กำไร 20%

    ปัจจุบันผู้ออก DW ในตลาดหลักทรัพย์ไทย มีแนวปฏิบัติด้วยการจัดทำตารางแสดงอายุคงเหลือของ DW การเปลี่ยนแปลงของ DW ที่ซื้อขายและการเปลี่ยนแปลงของหุ้นอ้างอิงไว้ให้นักลงทุนได้ใช้อย่างสะดวก

  • จำกัดผลขาดทุนแต่สามารถทำกำไรได้ไม่จำกัด
  • ผลตอบแทนของการซื้อขาย DW ก็เหมือนกับการลงทุนในหลักทรัพย์ทั่วไป หากผู้ลงทุนซื้อขาย DW ก่อนหมดอายุ ก็จะขายได้ที่ราคาต่ำสุดเท่ากับมูลค่าที่แท้จริงของ DW นั้น แต่หากผู้ลงทุนถือไว้จนครบอายุสัญญาโดยไม่ใช้สิทธิเลย ราคาของ DW จะเท่ากับศูนย์ ผู้ลงทุนจะขาดทุนเท่ากับจำนวนเงินที่ลงทุนใน DW ซึ่งหากเปรียบเทียบกับการลงทุนในหุ้นโดยตรง ผู้ลงทุนจะมีผลขาดทุนเพิ่มขึ้นตามราคาหุ้นอ้างอิงที่ลดลง

    ตัวอย่างเช่น สมมุติมีเงิน 100 บาท หุ้นราคา 100 บาท Call DW ราคา 5 บาท ราคาใช้สิทธิ 100 บาท อัตราใช้สิทธิ 1 DW ต่อ 1 หุ้น ระยะเวลาใช้สิทธิ 1 เดือน

    กรณีแรก แบ่งเงิน 5 บาทไปซื้อ Call DW 1 ตัว ต่อมา 1 เดือนผ่านไป ราคาหุ้นตกเหลือ 80 บาท ย่อมส่งผลให้ราคา call warrant ตกลงกลายเป็นศูนย์ ในกรณีนี้เท่ากับว่าผู้ลงทุนขาดทุนเพียง 5 บาท แต่หากเทียบกับการซื้อหุ้นโดยตรงแล้ว ผู้ลงทุนจะขาดทุนถึง 20 บาท

    กรณีที่สอง ผู้ลงทุนมีมุมมองว่าหุ้นจะปรับขึ้น ใช้เงินทั้งหมด 100 บาทซื้อ call warrant ได้ 20 ตัว หากราคาหุ้นตก ผู้ลงทุนก็ขาดทุนทั้งจำนวนแต่จำกัดที่ 100 บาท แต่หากหุ้นขึ้นผู้ลงทุนจะได้กำไรมากกว่าเงินที่ลงทุนไปเมื่อเทียบกับหุ้น

    กรณีหลังนี้ ผู้ลงทุน leverage เพราะใช้เงินที่มีน้อยไปลงทุนในการลงทุนที่มีมูลค่าสูงหรือ leverage 20 เท่า เหมือนกับไปลงทุนในมูลค่า 2,000 บาท การลงทุนแบบนี้จะได้กำไรมากเสมือนลงทุนในหุ้น 2,000 บาท โดยใช้เงินเพียง 100 บาท หากถือจนครบกำหนดอายุแล้ว ราคาหุ้นอ้างอิงเพิ่มขึ้นจาก 100 บาทเป็น 120 บาท ผู้ลงทุนมีต้นทุน Call DW ตัวละ 5 บาท ดังนั้นจะกำไร 15 บาทต่อ DW รวมทั้งหมดมีกำไรถึง 300 บาท

  • ไม่ถูกเรียกหลักประกันเพิ่มเติม
  • DW เป็นหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ เงินลงทุนที่ลงทุนไปแล้วเกิดการขาดทุนไม่มีความเสี่ยงที่ต้องจะเติมเงินเพิ่มเข้าไปเหมือนตราสารอนุพันธ์อื่น เช่น Futures

    แนวทางตัดสินใจเทรด DW

  • ดูต้นทุนการถือครองจากมูลค่าตามเวลาต่อวัน (Time Decay Per Day)
  • มูลค่าตามเวลาต่อวันหมายถึงมูลค่าของ DW ที่จะลดลงไปเมื่อการถือครองผ่านไป 1 วัน มูลค่าที่ลดลงทุกวันจึงเป็นต้นทุนของผู้ซื้อ DW ลักษณะคล้ายการกู้เงินที่แต่ละวันมีการคิดดอกเบี้ย ยิ่ง DW อายุเหลือไม่มาก Time Decay ก็จะสูง ดังนั้นเมื่อเวลาผ่านไปมูลค่า DW จะลดต่ำลงเพราะโอกาสที่ผู้ลงทุนจะใช้สิทธิได้และได้กำไรลดลงเรื่อยๆ หรือความน่าจะเป็นที่จะได้ผลตอบแทนน้อยลงนั่นเอง

  • ยึดความคุ้มค่ามากกว่าเปรียบเทียบราคา
  • การตัดสินใจลงทุนใน DW ไม่ควรอยู่บนพื้นฐานการเปรียบเทียบราคาว่าถูกหรือแพงเพียงอย่างเดียว และการมองในแง่ราคาแพงหรือถูกอย่างเดียวอาจจะไม่ถูกต้องนัก เพราะแม้ผู้ออกตั้งราคาในระดับที่ความผันผวนสูงแต่ก็รับซื้อคืนในราคาความผันผวนที่สูงเช่นกัน เนื่องจากผู้ออกเองจะรักษาค่าความผันผวนที่ใช้กำหนดราคาเสนอซื้อเสนอขาย เพื่อให้ผู้ลงทุนมีโอกาสได้ทำผลตอบแทนตามที่คาดหวัง ผู้ลงทุนจึงควรตัดสินใจบนโอกาสที่จะทำกำไรได้จากการนำเงินมาลงทุน และความคุ้มค่าของการลงทุนมากกว่าความถูกหรือแพง

    ผลตอบแทนจากการลงทุนใน DW

    เนื่องจาก DW เป็นหลักทรัพย์ประเภทหนึ่งที่มีการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ผลตอบแทนก็เหมือนกับการลงทุนในหลักทรัพย์ทั่วไป แต่หากผู้ลงทุนขาย DW ในวันซื้อขายวันสุดท้าย ก็จะขายได้ที่ราคาเท่ากับมูลค่าที่แท้จริงของ DW นั้น

    DW เป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกออกแบบมาให้เหมาะสมที่จะใช้เป็นเครื่องมือหาผลตอบแทนระยะสั้น ผู้ลงทุนไม่จำเป็นที่จะต้องถือ DW ยาวจนครบอายุสัญญา เนื่องจากต้นทุนของผู้ซื้อ DW มีมูลค่าที่ลดลงทุกวัน หากผู้ลงทุนพอใจกับกำไรที่ได้จากราคา DW ก็ขายออกได้เลย เช่น ซื้อ Call DW ของหุ้น A ไว้ที่ราคา 5 บาท ซึ่งให้สิทธิที่จะซื้อหุ้น A ได้ในราคา 100 บาท อัตราการใช้สิทธิ 1 DW ต่อ 1 หุ้น หากราคาหุ้น A ปรับเพิ่มเป็น 120 บาท ราคาของ Call DW ก็จะปรับขึ้นตาม ผู้ลงทุนก็สามารถขาย Call DW นั้นออกได้ โดยเลือกที่จะไม่ใช้สิทธิ เพื่อทำกำไรจากราคาของ Call DW ในทางกลับกัน หากราคาหุ้นลดลงเหลือ 80 บาท ราคาของ Call DW ก็ลดลงตาม ผู้ลงทุนก็จะขาดทุนจากการขาย Call DW ได้

    ในทางปฏิบัติ ผู้ลงทุนไม่ควรถือ DW จนครบกำหนดอายุสัญญา ด้วยเหตุผลดังนี้

    1.หาก DW มีสถานะ Out of the money ราคาของ DW เมื่อปล่อยครบอายุสัญญาจะมีมูลค่าเท่ากับศูนย์ ซึ่งจะทำให้ผู้ลงทุนขาดทุนเท่ากับจำนวนเงินที่ลงทุนใน DW ในขณะที่หากผู้ลงทุนขาย DW บนกระดานในวันครบอายุสัญญา ผู้ลงทุนจะสามารถขายได้ที่ราคาไม่ต่ำไปกว่ามูลค่าที่แท้จริงของ DW

    2.หาก DW มีสถานะ In the money ในวันครบอายุสัญญาผู้ลงทุนจะได้รับเงินสดส่วนต่าง แต่จะถือเป็นรายได้ที่ต้องเสียภาษี และการรับเงินสดส่วนต่างนั้นจะต้องรอดำเนินการถึง 8 วันทำการ ในขณะที่ผู้ลงทุนที่ซื้อขายบนกระดาน รายได้จะไม่ถูกนำมาคิดภาษีและจะได้รับเงินสดภายใน 2 วันทำการ

    DW เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ใช้ในการลงทุนเพื่อช่วยให้นักลงทุนมีทางเลือกที่จะหาประโยชน์จากการลงทุนได้มากขึ้นกว่าการลงทุนในหุ้นปกติ ขณะเดียวกันก็มีความเสี่ยงไม่น้อย สำหรับผู้ที่สนใจจะเข้าไปลงทุน DW นอกจากควรที่จะรู้วัตถุประสงค์ของการลงทุนของตัวเองแล้ว เงินที่จะนำมาลงทุนต้องมีเพียงพอเพื่อที่จะรับความเสี่ยงจากผลขาดทุนที่อาจเกิดขึ้นได้ด้วย

    ซีรีส์ Financial Literacy สนับสนุนโดยกลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

    ป้ายคำ :