ThaiPublica > คอลัมน์ > Icarus การกล่าวร้ายของคนขายชาติ

Icarus การกล่าวร้ายของคนขายชาติ

31 มีนาคม 2018


1721955

“เราขออุทิศรางวัลนี้แด่ ดร.กริกอรี ร็อดเชนคอฟ วิสเซิลโบลเวอร์ผู้ไร้ความกลัว ผู้ซึ่งตอนนี้มีชีวิตอยู่บนอันตรายอันใหญ่หลวง เราหวังว่า Icarus จะช่วยปลุกให้ผู้คนตาสว่างเกี่ยวกับ…รัสเซีย แต่ไม่เพียงเท่านั้น เกี่ยวกับความสำคัญในการจะบอกความจริงด้วย นับจากนี้และตลอดไป” คือคำประกาศของไบรอัน โฟเกล ผู้กำกับสารคดีเรื่องนี้ Icarus (2017) ที่เพิ่งคว้ารางวัลออสการ์สาขาสารคดียอดเยี่ยมปีล่าสุดมาได้

บนเวทีออสการ์ปีนี้ดุเดือดหนักมาก เพราะมีตั้งแต่สารคดีล่าสุดของผู้กำกับที่เคยชิงออสการ์มาก่อนแล้วอย่าง Abacus: Small Enough to Jail ว่าด้วยธนาคารที่เป็นธุรกิจครอบครัวของชาวจีนโพ้นทะเลในแมนฮัตตัน, หนังรางวัลคานส์เกี่ยวกับศิลปินรุ่นเก๋า อานเญส วาร์ดา ที่หันมาจับมือกับศิลปินต่างวัยตระเวนสร้างงานศิลปะด้วยกัน ใน Faces Places , Last Men in Aleppo สารคดีว่าด้วยกลุ่มอาสาสมัคร White Helmets ที่อุทิศตนเพื่อช่วยผู้ประสบภัยในซีเรีย ซึ่งมีดราม่าเล็กๆ เมื่อผู้กำกับชาวซีเรียนถูกปฎิเสธวีซ่าตามนโยบายของทรัมป์ ใน ‘คำสั่งของฝ่ายบริหารที่ 13780’ (Executive Order 13780) ทำให้ไม่สามารถไปร่วมงานออสการ์ได้ และ Strong Island ที่ว่าด้วยคดีฉาวต้นยุค 90 เมื่อครูผิวสีซึ่งเป็นพี่ชายของผู้กำกับหนังเรื่องนี้ด้วยถูกคนขาวฆ่าตาย และศาลที่มีแต่ลูกขุนผิวขาวก็กลับตัดสินให้คดีนี้พลิกไป

ออสการ์ปีนี้ประเด็นหลากหลายกินกันไม่ลง เรื่องไหนได้ก็ไม่มีข้อกังขาทั้งสิ้น และถึงแม้ว่า Icarus จะเป็นผลงานของผู้กำกับมือใหม่ที่เพิ่งเคยหันมาจับงานสารคดีเป็นครั้งแรก (หลังจากเคยแป้กจากการกำกับหนังโรแมนติกคอมิดี ที่ดัดแปลงจากละครนอกบรอดเวย์ของตัวเองอย่าง Jewtopia) แต่ความโดดเด่นก็มาจากมุมมองของคนตัวเล็กๆ ที่กล้าลุกขึ้นต่อกรกับยักษ์ใหญ่ระดับรัสเซีย โดยเฉพาะในแวดวงกีฬาโอลิมปิก

ไอเดียตั้งต้นของสารคดีเรื่องนี้เริ่มต้นจากเรื่องขี้ประติ๋วมากๆ เมื่อตัวผู้กำกับซึ่งเป็นนักปั่นจักรยานสมัครเล่นด้วยเกิดรู้สึกผิดหวังในตัวไอดอลของเขา แลนซ์ อาร์มสตรอง นักปั่นมืออาชีพคนดังเจ้าของแชมป์ตูร์เดอฟร็องซ์ หลายสมัย ซึ่งต่อมาออกมายอมรับว่าใช้สารกระตุ้น ส่งผลให้ถูกริบรางวัลคืนทั้งหมด ความผิดหวังนี้ทำให้ผู้กำกับไบรอันตั้งคำถามว่า “เกิดอะไรขึ้นกับกระบวนการทดสอบสารกระตุ้นในวงการกีฬา” เมื่อปรากฏว่าแลนซ์ผ่านการทดสอบมาได้ทุกครั้ง

ไบรอันจึงลงมือทำการใหญ่ด้วยการเอาตัวเองเข้าไปผ่านระบบการตรวจสอบสารกระตุ้นที่ว่านี้ โดยไปสมัครแข่งขันปั่นจักรยานสมัครเล่นรายการใหญ่ แล้วทดลองใช้สารกระตุ้นด้วยตัวเอง ติดต่อผู้เชี่ยวชาญหลายต่อหลายคนมาช่วยวางโปรแกรมการใช้ยา เพื่อไม่ให้ระบบการตรวจสอบตรวจพบสารกระตุ้นที่เขาใช้ และหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญที่ว่าก็คือ ดร.กริกอรี ร็อคเชนคอฟ ผู้อำนวยการศูนย์ตรวจหาสารกระตุ้นในรัสเซีย Russian Anti-Doping Agency (RUSADA) หนึ่งในแล็บทดลองที่ดีที่สุดของโลก แต่แท้จริงแล้วกลับอยู่ในขบวนการช่วยเหลือนักกีฬารัสเซียให้รอดการตรวจสอบยาโด๊ป

ขณะที่การทดลองของไบรอันกำลังดำเนินไป ข่าวอื้อฉาวของรัสเซียก็กลายเป็นประเด็นใหญ่ในแวดวงกีฬา โดยเฉพาะในโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2014 ที่ปีนั้นรัสเซียเป็นเจ้าภาพ แล้วเมื่อถูกจับได้ ทางการกลับโบ้ยว่าการโด๊ปยานี้ไม่ได้เป็นฝีมือของรัฐ แต่ทำกันเป็นส่วนตัวโดยฝืมือของ ดร.กริกอรีเอง อันเป็นจุดพลิกผันที่กริกอรีต้องหันกลับมาต่อกรกับรัฐบาลของตัวเอง และแน่นอนว่างานนี้รัสเซียไม่มีทางอยู่เฉย จากเรื่องเล็กๆ ก็ลุกพรึ่บลามเลยไปกันใหญ่จนเกิดเหตุการณ์คาดไม่ถึงกับคนสนิทใกล้ตัวรอบข้างของกริกอรีมากมาย กลายเป็นสารคดีแฉกลโกงบนเวทีโอลิมปิกที่แม้แต่ตัวผู้กำกับก็ไม่สามารถรู้ล่วงหน้าได้ว่าหนังตัวเองจะมาไกลสุดกู่ได้ขนาดนี้

“เรากำลังเล่นเกมอันตรายที่สุดในวงการกีฬา พวกเขาพร้อมจ่ายไม่อั้นเพื่อให้พวกเราหายไป เพราะไม่เพียงเราจะทำลายอนาคตของพวกเขา…แต่เรายังทำลายอดีตของพวกเขาที่สั่งสมเกียรติยศมาช้านานด้วย แล้วไหนจะจอมวายร้ายที่ยังไม่ถูกพูดถึงอีก พวกเขาจะฆ่าใครก็ได้ เขาเป็นเคจีบี อันตรายมากๆ สุดยอดแห่งการไร้คุณธรรม” ดร.กริกอรีเล่าด้วยสีหน้าหวาดระแวง

ถ้าเปรียบเทียบกับหนังระทึกขวัญดีๆ สักเรื่อง Icarus ก็ระทึกไม่แพ้กัน แต่ที่โหดเหี้ยมกว่านั้นคือบรรดาหายนะที่เกิดขึ้นแก่ผู้คนในเรื่อง พวกเขาไม่ใช่แค่ตัวละคร แต่เป็นคนเป็นๆ จริงๆ ที่มีเลือดเนื้อลมหายใจ และครอบครัวที่รอคอยพวกเขาอยู่ เหนือไปกว่านั้น ความซับซ้อนของกลโกงที่มีเครือข่ายโยงใยไปมากมาย กลับถูกอธิบายให้เข้าใจได้ง่ายๆ ด้วยกลวิธีแบบสารคดี โดยใช้แอนนิเมชั่นมาช่วยเล่าเรื่องได้อย่างทะลุปรุโปร่ง ที่โยงทุกอย่างกลับไปยังผู้ชักใยตัวใหญ่เบื้องหลัง ซึ่งก็คือ วลาดิเมียร์ ปูติน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันที่ดำรงตำแหน่งต่างๆ ด้านความมั่นคงของรัสเซียมายาวนานเกือบสองทศวรรษ ผู้เป็นอดีตเคจีบีมานานถึงกว่า 15 ปี และที่ตื่นตะลึงเหลือเชื่อเมื่อเกมกีฬามีผลกระทบอย่างมากต่อเกมการเมือง หนึ่งในสิ่งที่ปูตินทำคือการประกาศสงครามกับยูเครนหลังจากคว้าชัยในโอลิมปิกอย่างถล่มทะลาย ที่ ดร.กริกอรีบอกไว้ในเรื่องว่า “ถ้ารัสเซียได้เหรียญทองน้อยกว่านี้ ปูตินคงไม่อาจหาญถึงขั้นนี้”

แต่กระนั้น ก็ใช่ว่า Icarus จะตั้งหน้าตั้งตาเปิดโปงรัสเซียแต่ฝ่ายเดียว เมื่อหนังเริ่มต้นด้วยคดีของแลนซ์ อาร์มสตรอง นักกีฬาชาวอเมริกัน ก็บอกเป็นนัยได้ว่าวงการกีฬาของอเมริกาเองก็เน่าบูดไม่แพ้กัน ไม่เท่านั้น เมื่อตัว ดร.กริกอรีตัดสินใจจะเข้าไปขอความช่วยเหลือจากทางการสหรัฐฯ เขาและไบรอันผู้กำกับก็รู้ดีว่ารัฐบาลอเมริกาก็มีผู้ที่ไม่เห็นด้วยต่อการกระทำของพวกเขาด้วยเช่นกัน เมื่อสิ่งนี้ขัดผลประโยชน์และกระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขั้นร้ายแรง รวมถึงอาจมีสายลับเคจีบีที่แทรกซึมเข้ามาอยู่ภายในหน่วยงานสหรัฐฯ ด้วยก็เป็นได้ พวกเขาจึงต้องวางแผนอย่างเป็นระบบรัดกุมในการจะรอดเงื้อมมือภัยใกล้ตัวที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างไม่คาดคิดด้วย

เมื่อถามว่าทำไมสารคดีเรื่องนี้จึงหยิบเอาชื่อของตัวละครในตำนานกรีกมาเป็นชื่อหนังอย่าง Icarus ไบรอันตอบว่า “ผมรู้สึกว่าเรื่องราวของ แลนซ์ อาร์มสตรอง เปรียบได้กับตำนานกรีกเรื่องอิคารัสปีกหักฝันสลายเมื่อเขาทะเยอทะยานเกินไป ซึ่งก็เหมือนกับนักกีฬาผู้พลาดหวังทั้งหลายนั่นล่ะ แล้วเมื่อเขาถูกจับได้ก็พบว่ามันไม่ใช่วิทยาศาสตร์อะไรเลย แต่เป็นเพราะว่าความทะเยอทะยานของเขาเอง ที่ทำให้เกิดศัตรูรอบข้างมากมาย จุดนี้จึงไม่ได้หมายถึงแลนซ์เพียงคนเดียว แต่หมายถึงรัสเซียด้วยเช่นกัน หรืออาจจะรวมถึง ดร.กริกอรีเองด้วยก็ได้ และนี่คือหัวใจของตำนานเรื่องอิคารัส คุณสามารถติดปีกบินได้ แต่ถ้าคุณบินสูงเกินไปจนเข้าใกล้ดวงอาทิตย์มากเกินไป ปีกของคุณก็จะถูกแผดเผาไหม้เป็นจุณ”

อย่างไรก็ตาม ปฏิบัติการแฉระบือโลกในคราวนี้ไม่ได้เกิดจากสารคดีเรื่องนี้เป็นครั้งแรก เพราะไม่นานก่อนหน้านั้น ARD ช่องทีวีของเยอรมันได้ออกอากาศสารคดีเรื่อง The secrets of doping: how Russia makes its winners (2014) ผลงานของผู้กำกับเยอรมัน ฮาโย เซ็ปเพลต์ ที่คร่ำหวอดติดตามกรณีการโด๊ปยามาตั้งแต่ปี2006 ที่ระบาดไปทั่วทั้งในเยอรมันตะวันออก จีน เคนยา และรัสเซีย อันเป็นประกายแรกที่เปิดโปงเครือข่ายความฉ้อฉลระดับโลกในแวดวงโอลิมปิกได้

เมื่อ ดร.กริกอรีเริ่มปฏิบัติการแฉ รัสเซียก็ยกระดับความผิดร้ายแรงด้วยการอ้างเป็นเหตุความมั่นคงของชาติ ว่าสิ่งที่กริกอรีทำนั้นชั่วช้า “เป็นการกล่าวร้ายของคนขายชาติ” คือคำประณามของปูตินที่ก้องขึ้นระหว่างออกอากาศทั่วรัสเซีย ภรรยาของกริกอรีแอบสไกป์หาสามีว่า “พวกเขากำลังทำให้คุณเป็นปีศาจ” ทางการรัสเซียขุดคุ้ยอดีตอันชั่วร้ายต่างๆ ของกริกอรีออกมา ปลุกปั่นให้ผู้คนทั้งรัสเซียรุมเกลียดชังโกรธแค้นเขา

กริกอรีตอบโต้กลับในสารคดีเรื่องนี้ด้วยประโยคจากในหนังสือ หนึ่ง-เก้า-แปด-สี่ ของ จอร์จ ออร์เวลล์ ว่า ‘แด่อนาคตและอดีต แด่ช่วงเวลาที่ความคิดยังเป็นอิสระ เมื่อความจริงปรากฏและสิ่งที่กระทำไปแล้วมิอาจย้อนคืน…ในช่วงเวลาที่มีแต่ความหลอกลวงทุกหย่อมหญ้า การพูดความสัตย์นับเป็นการลุกขึ้นปฏิวัติ’

เช่นเดียวกับช่วงหนึ่งที่กริกอรีต้องอำลาจากไบรอัน เขาบอกลาว่า “จดจำออร์เวลล์ไว้ แล้วเราจะได้พบกันเมื่อไร้ความมืดมน” (หนังสือของออร์เวลล์ เคยถูกสั่งห้ามอย่างเข้มงวดจนถึงขนาดมีการเผาทำลายในสมัยสหภาพโซเวียต รวมถึงไม่กี่ปีก่อน ถ้ายังจำกันได้ ใครอ่านหนังสือเล่มนี้ในที่สาธารณะพร้อมกับกินแซนด์วิช ก็มีสิทธิ์ถูกรวบตัวได้ง่ายๆ…ในบางประเทศ)