ThaiPublica > เกาะกระแส > TMB Analytics เผย SME Index เชื่อมั่นรายได้ดีขึ้น สัญญาณ “กำลังซื้อ-การบริโภคเอกชน” ฟื้นตัว แต่กังวลค่าแรงขั้นต่ำกระทบต้นทุนชั่วคราว

TMB Analytics เผย SME Index เชื่อมั่นรายได้ดีขึ้น สัญญาณ “กำลังซื้อ-การบริโภคเอกชน” ฟื้นตัว แต่กังวลค่าแรงขั้นต่ำกระทบต้นทุนชั่วคราว

6 กุมภาพันธ์ 2018


ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกืจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics

เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2561 ดร.เบญจรงค์ สุวรรณคีรี หัวหน้านักวิเคราะห์ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics เปิดเผย “ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการขนาดย่อม-ทีเอ็มบี” ไตรมาสที่ 4 ของปี 2560  จากผู้ประกอบการ 1,108 ราย ว่าความเชื่อมั่นลดลงเล็กน้อยจาก 37.3 เป็น 35.5 จากไตรมาสก่อนหน้า ขณะที่ความเชื่อมั่น 3 เดือนข้างหน้าลดลงจาก 52.4 เป็น 51.9

อย่างไรก็ตาม หากดูในรายละเอียดกลับพบว่า ในส่วนของความเชื่อมั่นด้านรายได้ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมีความเชื่อมั่นปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นในเกือบทุกพื้นที่ เนื่องจากเป็นฤดูเก็บเกี่ยว เป็นช่วงการเดินทางท่องเที่ยวที่มีการเดินทางและจับจ่ายใช้สอยสูง ประกอบกับมาตรการกระตุ้นการจับจ่ายใช้สอยของรัฐฯ ออกมากระตุ้นสร้างบรรยากาศเทศกาลปลายปีให้มีความคึกคักมากขึ้น โดยความเชื่อมั่นด้านรายได้ปรับเพิ่มขึ้นในทุกพื้นที่ ยกเว้นภาคใต้ เนื่องจากราคายางพาราและปาล์มน้ำมันยังอยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ความเชื่อมั่นด้านรายได้ 3 เดือนข้างหน้าก็ปรับตัวเพิ่มขึ้นแข็งแกร่งเกือบทุกภูมิภาคตามทิศทางการฟื้นตัวของเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศ ยกเว้นภาคภาคเหนือและภาคตะวันออกปรับตัวลดลงเล็กน้อยแต่ยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง สะท้อนความเชื่อมั่นด้านรายได้ที่แข็งแกร่ง

“จากการวิเคราะห์กำลังซื้อของเศรษฐกิจในแต่ละจังหวัด พิจารณาจาก 3 ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนกำลังซื้อของเศรษฐกิจภูมิภาค ได้แก่ อัตราค่าแรงขั้นต่ำ รายได้ภาคท่องเที่ยว จากการเปลี่ยนแปลงรายได้ท่องเที่ยวระดับจังหวัดและรายได้เกษตรกร จากคาดการณ์ราคาผลผลิตการเกษตรที่สำคัญคือ ข้าว ยางพารา มันสำปะหลัง อ้อย และปาล์มน้ำมัน พบว่าจังหวัดที่ได้อานิสงส์กำลังซื้อเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นจาก 3 ปัจจัยหลัก 5 จังหวัดแรกในปี 2561 ได้แก่ จังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา กาญจนบุรี ยะลา พัทลุง ซึ่งจะส่งผลให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในพื้นที่กว่า 180,000 กิจการมีโอกาสเติบโตจากเศรษฐกิจในพื้นที่” ดร.เบญจรงค์กล่าว

ดร.เบญจรงค์กล่าวต่อว่า ความมั่นใจด้านรายได้ โดยเฉพาะจากปัจจัยยอดกำลังซื้อสะท้อนว่าในภาพส่วนหนึ่งมีสัญญาณอาจจะทำให้การบริโภคฟื้นตัวในอนาคต หลังจากช่วงที่ผ่านมาจะเห็นว่าการบริโภคโตต่ำกว่าการขยายตัวของเศรษฐกิจ

อย่างไรก็ตาม ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนของผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอีลดลงอย่างต่อเนื่อง ทั้งความเชื่อมั่นด้านต้นทุนปัจจุบัน และความเชื่อมั่นด้านต้นทุน 3 เดือนข้างหน้า และเมื่อพิจารณารายภูมิภาคพบว่า ความเชื่อมั่นด้านต้นทุนของธุรกิจเอสเอ็มอีลดลงในทุกพื้นที่ สะท้อนให้เห็นว่าเอสเอ็มอีพบกับความท้าทายในการบริหารจัดการต้นทุน โดยเฉพาะราคาน้ำมัน พลังงาน และค่าจ้างที่ได้ปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นต้นทุนหลักของธุรกิจเอสเอ็มอี ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลด้านต้นทุนมากขึ้น

“ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีได้ทราบข่าวการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำมาระยะหนึ่งแล้ว จึงได้มีการพยายามปรับตัวมาอยู่เรื่อยๆ นอกจากนั้นยังมีบางส่วนที่จ่ายค่าจ้างสูงกว่าอัตราค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ก่อน เป็นผลให้อัตราค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำใหม่จึงกระทบกับผลกำไรของธุรกิจเอสเอ็มอีในวงจำกัด โดยเอสเอ็มอีภาคบริการนับเป็นกลุ่มที่มีสัดส่วนต้นทุนแรงงานต่อต้นทุนรวมสูงที่สุด อาจได้รับผลกระทบทำให้มีผลกำไรลดลงประมาณ 1% จากค่าแรงที่ปรับขึ้น” ดร.เบญจรงค์กล่าว

ดร.เบญจรงค์สรุปว่า จากภาพที่ออกมา ภาคเอสเอ็มอีของไทยคงผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว ต่อไปน่าจะเห็นการฟื้นตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในมุมมองของธนาคารก็เห็นการชะลอตัวของหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้หรือเอ็นพีแอล และคาดว่าจะทยอยลดลงได้ทั้งระบบ ขณะที่ค่าแรงที่ปรับตัวขึ้นครั้งนี้ว่าน้อยกว่าครั้งอื่นๆ คือเพียง 3% จึงทำให้ไม่กระทบต่อกำไรของธุรกิจมากนักและจะค่อยๆ ลดผลกระทบในครึ่งหลังของปี ประกอบกับมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐที่บรรเทาการขึ้นค่าจ้างแรงงานที่จะทยอยออกมาเพิ่มเติมยิ่งลดผลกระทบของการขึ้นค่าแรงมากกว่าที่ประเมิน

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปรับตัวด้วยการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการทำธุรกิจเพื่อลดต้นทุนของกิจการ ซึ่งไม่ขึ้นอยู่กับประเภทกับกิจการ เช่น การเข้าสู่ตลาดออนไลน์เพื่อเข้าถึงลูกค้าด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าการขยายสาขา การใช้ระบบไอทีช่วยบริหารจัดการสินค้าคงคลังให้มีประสิทธิภาพ การเชื่อมต่อธุรกรรมกับคู่ค้าผ่านระบบออนไลน์เพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการบริหาร ซึ่งนอกจากจะลดต้นทุนแรงงานและการบริหารจัดการได้แล้ว ยังทำให้ธุรกิจสามารถบริหารได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น

“ความก้าวหน้าในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล เปิดโอกาสในการดำเนินธุรกิจให้แก่ธุรกิจเอสเอ็มอีได้ อีกทั้งความเชื่อมั่นทางรายได้ที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องเป็นโอกาสให้ภาครัฐสามารถใช้จุดแข็งในฐานะคนกลางที่มีข้อมูลทางธุรกิจจำนวนมากเป็นผู้ช่วยเชื่อมโยงจับคู่ธุรกิจเพื่อเพิ่มโอกาสทางธุรกิจเอสเอ็มอี ในประเทศและยังสามารถสนับสนุนให้ธุรกิจเอสเอ็มอีเชื่อมกับห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนอีกส่วนหนึ่งด้วย” ดร.เบญจรงค์กล่าว