ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Thailand’s Sustainable Business Guide (ตอน 2) ร่วมแบ่งปันประสบการณ์สร้างความยั่งยืน ธุรกิจชนะ สังคมวัฒนา

Thailand’s Sustainable Business Guide (ตอน 2) ร่วมแบ่งปันประสบการณ์สร้างความยั่งยืน ธุรกิจชนะ สังคมวัฒนา

27 มกราคม 2018


การเสวนาหัวข้อ “How to future proof your business in the name of a better world” ในงานเปิดตัวหนังสือ Thailand’s Sustainable Business Guide

ในงานเปิดตัวหนังสือ Thailand’s Sustainable Business Guideได้มีการเสวนาในหัวข้อ “How to future proof your business in the name of a better world” โดยผู้ร่วมเสวนาคือส่วนหนึ่งขององค์กรตัวอย่างในหนังสือเล่มนี้ ได้แก่ ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี นายกฤป โรจนเสถียร ประธานและประธานบริหารบริษัท ชีวาศรม อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลท์ รีสอร์ท จำกัด และ ศ. นพ.เทพ หิมะทองคำ ประธานกรรมการ โรงพยาบาลเทพธารินทร์

ธปท. ยึดยั่งยืนบนความสมดุล

ดร.วิรไท สันติประภพ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยให้ความเห็นจากมุมมองการทำหน้าที่ของธนาคารกลางว่า หน้าที่หลักของธนาคารคือการรักษาเสถียรภาพของระบบเศรษฐกิจ โดยการรักษาเสถียรภาพนั้นต้องคำนึงถึงความสมดุล ความสมเหตุสมผล การมองไกล ขณะเดียวกัน ในอีกด้านหนึ่งการทำหน้าที่ของ ธปท. มีทั้งคนได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ เช่น การปรับดอกเบี้ยขึ้น ผู้กู้ไม่ชอบแค่ผู้ฝากเงินชอบ ค่าเงินบาทแข็งผู้ส่งออกไม่ชอบผู้นำเข้าชอบ ธปท. จึงอยู่ท่ามกลางผลประโยชน์ของคนหลากหลายกลุ่ม แต่ ธปท. มองผลประโยชน์ระยะยาวของส่วนรวมเป็นเรื่องสำคัญ

บทบาทในด้านองค์กรของ ธปท. นั้น ยึดมั่นในค่านิยมหลักขององค์กร หรือ core value ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญ โดยค่านิยมหลักของ ธปท. คือ ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน และโดยที่ทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดของ ธปท. คือ บุคลากร ความน่าเชื่อถือขององค์กรมาจากบุคลากร ดังนั้นต้องให้บุคลากรขององค์กรยึดมั่นในค่านิยมหลัก

โดย ดร.วิรไทอธิบายว่า ยืนตรง หมายถึงการที่ ธปท. ไม่รับความเสี่ยงไม่ว่ากรณณีใด ถ้ามีผู้บริหาร พนักงาน ไปเกี่ยวข้องกับผลประโยชน์ส่วนตัว มีผลประโยชน์ส่วนตัวเข้ามาเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ ธปท. ให้ความสำคัญกับการสร้างมาตรฐานอย่างมาก และมีการลงโทษหากพบการกระทำผิดที่รุนแรงมาก ส่วนมองไกลเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะ ธปท. มีบทบาทในการวางนโยบายชี้นำสังคม ธปท. จึงต้องเท่าทันกับความเปลี่ยนแปลง วิธีการทำงานต้องเท่าทันการเปลี่ยนแปลงซึ่งต้องมีฐานข้อมูลที่ดี มีคนที่มีความรู้ที่เหมาะสม

บทบาทอีกด้านหนึ่งของ ธปท. คือ การกำหนดนโยบายเกี่ยวกับภาคการเงิน ที่ต้องมีความยั่งยืน ด้วยการวางนโยบายบนหลักการ 3 ข้อ ข้อแรก คือ ผลิตภาพ เนื่องจากภาคการเงินสถาบันการเงินมีหน้าที่ในการจัดสรรทรัพยากรให้กับบุคคลในระบบเศรษฐกิจ ดังนั้น ภาคการเงินต้องมีประสิทธิภาพสูง ต้องไม่เป็นปัญหา ต้องไม่เป็นต้นทุนให้กับธุรกิจไทย ซึ่งจะเห็นการพัฒนาหลายอย่างที่ ธปท. ได้ทำมา เช่น การพัฒนาระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นสิ่งที่จะเพิ่มผลิตภาพให้กับภาคธุรกิจไทยโดยรวม นอกจากนี้ ธปท. ยังส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมที่จะก่อให้เกิดการแข่งขัน เช่น Fintech ซึ่งในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ธปท. ได้ยกเลิกกฎเกณฑ์หลายด้านเพื่อส่งเสริมให้มีการแข่งขันกันมากขึ้นในภาคการเงิน

ข้อสอง การลดความเหลื่อมล้ำ ด้วยการทำให้ประชาชนในทุกระดับเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างเป็นธรรม ซึ่งหมายถึง ด้วยราคาที่เป็นธรรม ได้รับการคุ้มครองอย่างเป็นธรรม เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ดังจะเห็นการพัฒนาระบบโอนเงินพร้อมเพย์ที่มีค่าธรรมเนียมถูก เพราะต้นทุนการโอนเงินของประเทศสูงเกินควร สำหรับประชาชนบางส่วนค่าธรรมเนียมการโอนเงินเป็นค่าใช้จ่ายที่สูง

ธปท. ยังได้ออกหลักเกณฑ์การให้บริการทางการเงินอย่างเป็นธรรมหรือ market conduct เพราะเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน ภายใต้หลักเกณฑ์นี้ มีการกำกับดูแลสถาบันการเงินอย่างเข้มงวดในการนำเสนอหรือขายผลิตภัณฑ์ทางการเงินตลอดจนมีการดูแลแก้ไขปัญหาให้กับประชาชนผู้ใช้บริการ

นอกจากนี้ เรื่องที่มีความสำคัญมากเช่นกัน คือ การให้ความรู้ทางการเงิน (financial literacy) การบริหารจัดการทางการเงินของคนไทยอยู่ในระดับที่ต่ำมาก และไม่มีหน่วยงานใดรับผิดชอบเรื่องนี้อย่างแท้จริง ทั้งๆ ที่เป็นทักษะชีวิตที่สำคัญ ความยั่งยืนของทุกครัวเรือนอยู่ที่ความมั่นคงทางการเงิน

ข้อสาม เป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดที่ ธปท. ทำในช่วงที่ผ่านมา เป็นหัวใจสำคัญของการทำหน้าที่ของธนาคารกลาง คือ การสร้างภูมิคุ้มกัน ต้องมีการลดจุดเปราะบางต่างๆ ในภาคการเงิน โดยจะเห็นได้ชัดว่าปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ และเมื่อใหญ่ขึ้นก็มีความเปราะบางของหนี้ครัวเรือนมาก เป็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ไม่ได้รับการแก้ไขอย่างจริงจัง ซึ่ง ธปท. ได้ดำเนินการหลายอย่าง เช่น การออกกฎเกณฑ์เพื่อแก้ไขปัญหา เพื่อลดปัญหาหนี้ครัวเรือน โดยได้ประยุกต์ใช้หลักการยั่งยืนในการแก้ไขปัญหา

เพื่อการทำหน้าที่ธนาคารกลางได้อย่างยั่งยืน ธปท. ยังได้เปิดให้บุคลากรได้มีส่วนร่วมในการกำหนดแนวทางการทำหน้าที่ได้อย่างมีประโยชน์และมีประสิทธิภาพ ควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในหลายด้าน จึงเป็นที่มาของหลักการ 5 ข้อ ของการทำงาน ได้แก่ หลักการเปิดใจ คล่องตัว ทันการณ์ มุ่งผลสำเร็จ

ดร.วิรไทกล่าวว่า ความยั่งยืนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ไม่ว่าภาครัฐภาคเอกชน ที่จะเริ่มต้องมองไกล มองกว้าง มองความเชื่อมโยงที่เกิดขึ้นและตระหนักรู้ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นโดยไม่ได้ตั้งใจกับโลกใบนี้ เป็นเรื่องสำคัญ วิทยากรหลายท่านพูดสอดคล้องกันว่า การทำให้เกิดความยั่งยืนเป็นการแก้ปัญหาความเสี่ยงเชิงกลยุทธ์ การสร้างความแตกต่างในการใช้ความยั่งยืนจะทำให้เกิดข้อได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ด้วย

“ผมชอบคำที่อยู่บนหน้าปกหนังสือนี้มากที่ว่า “How to future proof your business in the name of a better world” แสดงให้เห็นการทำตาม sustainability เป็น win-win ไม่ใช่เป็นการทำในลักษณะเสียสละ ธุรกิจที่ทำเรื่อง sustainability จะได้ประโยชน์ คือเป็น future proof ของธุรกิจ และหากทำให้โลกนี้ดีขึ้นด้วย คือธุรกิจก็ชนะและสังคมวัฒนา”

เอสซีจี…ความยั่งยืนเริ่มที่ผู้บริหาร

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า ผู้บริหารองค์กรต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนก่อน เพราะเมื่อผู้บริหารให้ความสำคัญ ทุกคนในองค์กรจะมองเห็น แน่นอนว่าสำหรับองค์กรที่แสวงหากำไร ผลตอบแทนจากการลงทุนย่อมเป็นที่ต้องการ แต่สำหรับเอสซีจี ก่อนที่จะลงทุน ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของพนักงาน ของคู่ธุรกิจ และสิ่งแวดล้อมเป็นอันดับแรก โดยก่อนที่จะลงทุนทุกโรงงานต้องมีระบบการดูแลความปลอดภัยให้กับพนักงาน พนักงานทุกคนมีความมั่นใจว่าเมื่อเข้ามาทำงานมีความปลอดภัยกลับออกจากสถานที่ทำงานได้ นอกจากความปลอดภัยแล้ว ต้องมีระบบที่จะไม่ปล่อยของเสียออกจากโรงงาน ซึ่งเอสซีจีไม่ยอมให้มีข้อผิดพลาดนี้เกิดขึ้นแม้แต่เล็กน้อย เพราะหากมีความผิดพลาดเกิดขึ้น สะื้อนว่าไม่ให้ความสำคัญ

นายรุ่งโรจน์กล่าวว่า องค์กรต้องมี commitment ตรงนี้ก่อนถึงจะไปในเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนได้ ถ้าไม่ได้ให้ความสำคัญ ก็จะไม่เป็นองค์กรที่มีจิตวิญญานเรื่องของการพัฒนาที่ยั่งยืน ยกตัวอย่างปี 2554 ที่น้ำท่วม เอสซีจีตัดสินใจย้ายออฟฟิศไปภาคตะวันออก เพราะรู้สึกว่ากรุงเทพฯ ไม่ปลอดภัยที่จะทำงาน องค์กรไม่สามารถรับประกันความปลอดภัยในการทำงานของพนักงานได้ จึงได้ย้ายบุคลากรทั้งหมด 7,000 คนรวมทั้งคู่ธุรกิจ กระจายไปชลบุรี บางแสน อยุธยา

ในช่วงน้ำท่วม ผู้บริหารและพนักงานได้ร่วมกันเป็นอาสาสมัครทำหน้าที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วม ซึ่งส่งผลให้ได้รับความไว้วางใจจากพนักงานว่าองค์กร ผู้บริหาร ให้ความสำคัญตรงนี้จริงจัง ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญที่สุดขององค์กรที่คิดว่าจะเริ่มทำการพัฒนายั่งยืน

“การทำให้องค์กรเดินหน้า ก้าวไปข้างหน้า การพัฒนา การมีนวัตกรรม เป็นเรื่องสำคัญ ต้องมีการนำเทคโนโลยีมาช่วยองค์กรในการพัฒนา และการมีนวัตกรรมก็เป็นการสร้างความผูกพันกับพนักงาน เป็นการสร้างความยั่งยืนในระยะยาว”

นวัตกรรมด้านความปลอดภัยเป็นสิ่งที่ผูกพันเอสซีจีกับพนักงาน เอสซีจีมีกฎเรื่องการขับขี่ปลอดภัย มีการติดตั้งระบบ GPS กับรถบริษัท มีการวางกติกาความเร็ว การห้ามจอดรถริมถนน เพราะการจอดรถริถนนเป็นต้นตอของการเกิดอุบัติเหตุมากที่สุด มีการทำข้อตกลงกับคู่ค้าเพื่อใช้สถานที่คู่ค้าเป็นที่จอดรถ ซึ่งการจอดรถก็มีการกำหนดกระบวนการจอดเพื่อความปลอดภัย

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี นายกฤป โรจนเสถียร ประธานและประธานบริหารบริษัท ชีวาศรม อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลท์ รีสอร์ท จำกัด และ ศ. นพ.เทพ หิมะทองคำ ประธานกรรมการ โรงพยาบาลเทพธารินทร์ (จากซ้ายไปขวา)

ชีวาศรมปลูกฝังความยั่งยืนใน DNA

นายกฤป โรจนเสถียร ประธานและประธานบริหารบริษัท ชีวาศรม อินเตอร์เนชั่นแนล เฮลท์ รีสอร์ท จำกัด กล่าวว่า ความยั่งยืนอยู่ใน DNA ของชีวาศรมมาตั้งแต่ก่อตั้ง ความยั่งยืนที่ชีวาศรมมองเป็นทิศทางที่ธุรกิจเดินหน้าต่อไป และมองเห็นว่า เพื่อการดำเนินไปอย่างมีดุลยภาพ ชีวาศรมจึงมีธุรกิจไม่เกิน 6 แห่งเท่านั้น ไม่ขยายจำนวนมากว่านี้ เพื่อรักษาคุณภาพ เลือกคุณภาพมากกว่าเลือกการขาย

“การส่งมอบบริการที่มีคุณภาพเป็นสิ่งสำคัญกว่าการทำยอดขาย นี่คือที่มาของนโยบายความยั่งยืนความริเริ่มด้านความยั่งยืนต่างๆ ของขีวาศรม รวมทั้งสิ่งที่จะดำเนินต่อไป”

นายกฤปกล่าวว่า ชีวาศรมมีระบบบำบัดน้ำเสีย ไม่ปล่อยน้ำเสียออกไปข้างนอก 100% เป็นนโยบายที่ยึดมา 12 ปีแล้ว และมีผลดีต่อผลการดำเนินงานประหยัดค่าใช้จ่าย เนื่องจากการบำบัด 100% หมายความว่าในปริมาณน้ำเดียวกันนั้นสามารถใช้น้ำนั้นถึงสองครั้ง เทียบแล้วประหยัดไปเท่าตัว โดยประมาณว่าแต่ละวันใช้นำ 120 ลูกบาศก์เมตร คิดราคาต่อวันที่เป็นราคาปัจจุบัน 1,400 กว่าบาท สามารถประหยัดได้ราวปีละ 5 แสนบาท

ส่วนการติดตั้งพลังแสงอาทิตย์สามารถประหยัดก๊าซหุงต้มไป 50% พลังงานไฟฟ้าในการรักษาระดับความร้อนหลังจากหุงต้มแล้วอีกประหยัดได้อีก 20% ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยนระบบทำความเย็นของทั้งรีสอร์ทจาก air-cool เป็น water-cool รวมไปถึงการเปลี่ยนหลอดไฟฟ้าเป็นหลอดไฟแบบ LED ซึ่งประหยัดค่าไฟฟ้าได้อีก 26%

ในภาวะที่ต้นทุนพลังงานมีการเพิ่มขึ้น การปรับเปลี่ยนเป็นการบริหารความเสี่ยงในตัวเองในอนาคต เพราะพลังงานที่มาจาก fossil fuel ร่อยหรอลงทุกวัน ซึ่งในหนังสือ Thailand’s Sustainable Business Guide ก็ ระบุไว้ว่าพลังงานสำรองของประเทศไทยทั้งก๊าซธรรมชาติ (natural gas) และก๊าซธรรมชาติเหลว (condensate) จะสูญสิ้นใน 10 ปี ดังนั้นจึงควรมองไปข้างหน้าและแสวงหาพลังงานทดแทน การที่ธุรกิจจะไปพึ่งพาวัตถุดิบแหล่งต่างประเทศมากมายค่อนข้างจะมีความเสี่ยง จึงควรทำให้อนาคตมีความมั่นคงมากกว่านี้

ชีวาศรมดำเนินธุรกิจด้วยค่านิยมหลัก คือ wellness สุขภาพที่ดีประกอบกัน 3 ด้าน คือ หนึ่ง wellness ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับชีวาศรม ทั้งลูกค้า พนักงาน คู่ค้า สอง wellness ของสิ่งแวดล้อม สาม wellness ของชุมชน นอกเหนือจากการทำกำไรซึ่งจำเป็นต้องมี โดยชีวาศรมมีแนวทางการดำเนินการให้ค่านิยมมีความสอดคล้องต่างๆ จึงมีการวางนโยบยายที่ชัดเจนขึ้น มีระยะเวลาดำเนินการที่ชัดเจน มีงบประมาณ มีบุคคลาการทรัพยากรต่างๆ สนับสนุน

การดำเนินการแบ่งออกเป็นภายนอกกับภายใน โดยภายในนั้นช่วงแรกเป็นลักษณะการริเริ่มจากข้างบนลงล่าง (top-down initiatives) แต่ต่อมามีการริเริ่มจากข้างล่างขึ้นไป (bottom-up initiatives) เพราะเป็นสิ่งจำเป็นที่ทั้ง top-down และ bottom-up ต้องมีประสานกันเพื่อที่จะขับเคลื่อนองค์กรทั้งในระยะสั้นและระยะยาว เมื่อมีการประสานกันเกิดขึ้น การปฏิบัติในชีวิตประจำวันไม่ต้องคิดอีกว่าเป็นเรื่องความยั่งยืนหรือไม่ เพราะถ้ายังคิดอยู่ก็ไม่ได้ทำจริงจัง ต้องปลูกฝังเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของ DNA ไม่ว่าเป็นเรื่องอะไรก็ตาม

ที่ชีวาศรม นอกจากพนักงานที่เข้ามาใหม่จะรู้เรื่องระบบบำบัดน้ำเสียแล้วยังรับรู้การประหยัดน้ำ มีการปลูกฝังในชีวิตประจำว่าจะประหยัดน้ำอย่างไร เช่น พบเห็นน้ำรั่วซึมต้องแจ้งแผนกช่างเพื่อซ่อม แม้กระทั่งการล้างมือ ปลูกฝังให้อยู่ในพฤติกรรม อยู่ใน DNA

สำหรับการดำเนินการภายนอกองค์กรใช้โมเดลการร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน จัดตั้งชมรมขึ้น ชื่อ ชมรมพิทักษ์หัวหิน ที่ดำเนินกิจกรรมร่วมกันกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียท้องถิ่น ได้แก่ จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เทศบาลเมืองหัวหิน การท่องเที่ยว สถาบันการศึกษา ชุมชน โดยสิ่งที่ชีวาศรมเพิ่งดำเนินการเพื่อส่งมอบให้กับชุมชนคือการสร้างป่าโกงกางขึ้นในบริเวณเชิงเขาไกรลาส ใจกลางเมืองหัวหิน มีพื้นที่ 18 ไร่ เกิดขึ้นจากความร่วมมือของหลายฝ่าย ฝ่ายแรก คือ วัดเขาไกรลาศเจ้าของที่ดิน อนุญาตให้ไปพัฒนาปลูกป่า เทศบาลหัวหินให้ความเห็นนชอบในการที่ดำเนินการ ชุมชนเขาตะเกียบให้การยอมรับ ที่ผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์ การร่วมมือทั้งองค์กรของรัฐ ประชาชน ภาคเอกชน ทำให้เกิดป่าโกงกางขึ้นมาได้ และยังทำให้เกิดระบบนิเวศขึ้นด้วย มีพันธุ์สัตว์น้ำสัตว์บก ชุมชนใช้เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจ นักท่องเที่ยวไปเยี่ยมชม ป่าโกงกางเป็นทั้งปอดและแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติในตัว

ชีวาศรมยังจัดกิจกรรมอีกหลายอย่าง เพื่อกระตุ้นจิตสำนึกต่อสิ่งแวดล้อมและเพื่อระดมทุนสนับสนุนป่าชายเลน รักษาระบบนิเวศผ่านกิจกรรมวิ่งมาราธอน และจัดคอนเสิร์ตพิทักษ์หัวหินทุกปี ซึ่งจัดมาแล้ว 14 ครั้ง เงินที่ได้นำไปพัฒนาป่าเพื่อให้ชุมชนได้เห็นชัดถึงความโปร่งใสของการใช้เงิน

ชีวาศรมเชื่อว่าการปลูกฝังเรื่องการพัฒนาแบบยั่งยืนให้กับคนรุ่นต่อไปเป็นสิ่งสำคัญที่สุด จึงจัดกิจกรรมคัดเลือกเด็กนักเรียนโรงเรียนในพื้นที่จำนวน 50 คนเข้าทัศนศึกษาในป่าโกงกาง ศึกษาระบบนิเวศ ระดมสมองแนวคิดเกี่ยวกับการพัฒนาพื้นที่ของตัวเอง รวมทั้งมีการประเมิน หากเด็กคนใดมีความสามารถโน้มน้าวครอบครัวชุมชนให้ทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เช่น การเก็บขยะเพื่อรีไซเคิล จะได้รับรางวัลเป็นทุนการศึกษา ซึ่งกิจกรรมนี้จัดมาต่อเนื่อง 8 ปีแล้ว

เทพธารินทร์ยกระดับดูแลผู้ป่วย

โรงพยาบาลเทพธารินทร์ ก่อตั้งขึ้นโดย ศ. นพ.เทพ หิมะทองคำ ด้วยจุดประสงค์เพื่อสร้างต้นแบบการดูแลรักษาเบาหวานที่ครบวงจรขึ้นในประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการสอนให้ผู้เป็นเบาหวานดูแลตนเอง เพราะการควบคุมเบาหวานต้องดำเนินไปตลอด 24 ชั่วโมงของชีวิตประจำวัน เพื่อเป้าหมายสูงสุดในการป้องกันโรคแทรกซ้อนของเบาหวาน

ศ. นพ.เทพ หิมะทองคำ ประธานกรรมการ โรงพยาบาลเทพธารินทร์ กล่าวว่า การให้ความสำคัญของความยั่งยืนเริ่มขึ้นจากการที่เห็นโรคต่างๆ เกิดขึ้นโดยไม่สามารถช่วยเหลืออะไรได้ โดยเฉพาะผู้ป่วยเบาหวาน ทำให้เกิดความคิดว่า สิ่งที่ต้องการคือบุคลากรแบบสหวิชาชีพ ที่สามารถช่วยให้คนไข้เกิดความรู้ด้านการดูแลตัวเอง (health literacy) ขึ้น ต้องการที่จะสร้างทีมสหวิชาชีพและยกระดับการดูแลผู้ป่วยให้ดีขึ้น

การสร้างทีมสหวิชาชีพช่วงแรกไม่มีทั้งสถาบันที่สอนด้านนี้โดยตรงและไม่มีความต้องการบุคลากรเลย จึงเป็นการสร้างศูนย์ โดยบุคลากรที่เทพธารินทร์สร้างขึ้นมามี 3 กลุ่ม หนึ่ง diabetics educators ผู้ที่นำมาสอนคนไข้ให้รู้จักวิธีการดูแลตัวเอง สอง dietitian นักกำหนดอาหารเกี่ยวกับโรคแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกี่ยวกับเบาหวาน และสาม คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลเท้า (foot specialist)

บุคลลากรสหวิชาชีพนี้ประเทศไทยไม่มีการผลิตขึ้นมาเลย เทพธารินทร์ได้ริเริ่มสร้าง จนคนไข้เริ่มรู้จักว่ามีคุณค่า ความนิยมเริ่มมากขึ้น จึงมีการนำไปให้สถาบันการศึกษากำหนดเป็นหลักสูตรเพื่อผลิตบุคลากรด้านนี้ ซึ่งทำให้เกิดวิชาชีพนักกำหนดอาหาร และเริ่มกำหนดหลักสูตร educator และผู้เชี่ยวชาญดูแลเท้า

โดยการดูแลเท้าผู้ป่วยเบาหวานได้ดึงมูลนิธิเบาหวานโรคเข้ามาช่วย เพราะในช่วงก่อนหน้านี้แพทย์ไม่ได้ใส่ใจนัก แพทย์ที่ดูแลเท้าโดยเฉพาะก็ไม่มี รวมทั้งยังได้เตรียมบุคลากรให้เป็นนักกายภาพบำบัดไว้ 1,200 คน ส่งผลให้ใน 4 ปีลดการตัดขาคนไข้ในประเทศได้ถึง 80% สูงกว่า 40% ที่ตั้งเป้าหมายไว้ ซึ่งการที่ได้ผลสำเร็จเกินเป้าหมายทำให้หน่วยงานราชการและคนทั่วไปเริ่มเห็นว่าบุคลากรสหวิชาชีพเป็นประโยชน์ในการดูแลโรคไม่ติดต่อ (non-communicable diseases: NCD)

เทพธารินทร์ได้ทำเรื่องนี้มา 33 ปีแล้ว และจากนี้จะดูว่าจะทำอย่างไรจึงจะป้องกันโรคเบาหวานได้ ทั้งนี้ โรคอ้วนเป็นปัญหาอย่างมาก ขณะนี้เราจึงกำลังทำเรื่องการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และต่อไปจะเป็นเรื่องของผู้สูงอายุ

เทพธารินทร์เป็นโรงพยาบาลไม่ใหญ่ มีขนาดเพียง 50 เตียง แต่ในโรงพยาบาลมีกิจกรรมและสถานที่อำนวยความสะดวกในการทำกิจกรรมของคนไข้มาก ทั้งสปา มีห้องพระ มีหลายอย่างที่จะชักชวนให้คนไข้ออกกำลังกายได้อย่างถูกต้อง มีสวนผักออร์แกนิก

นโยบายความยั่งยืนที่มุ่งการป้องกันโรคการดูแลให้กับผู้ป่วยเหมือนจะสวนทางกับการทำธุรกิจโรงพยาบาลที่ต้องทำกำไร ศ. นพ.เทพ กล่าวว่า แน่นอนว่าโรงพยาบาลก็ต้องเลี้ยงตัวเองได้ แต่ไม่ทำกำไรสูงสุด แล้วตั้งมูลนิธิขึ้น ซึ่งมูลนิธิยังไม่เป็นที่รู้จักนัก แต่มีคนไข้รู้จักและเข้าใจถึงแนวทางนี้เข้ามาช่วยในการทำงาน

การทำให้ stakeholder เห็นด้วยกับแนวทางการพัฒนาแบบยั่งยืน โรงพยาบาลเทพธารินทร์เริ่มจากวัฒนธรรมองค์กร ได้แก่ หลัก ETHICS โดย E คือ Execellence, T คือ Teamwork, H คือ Hospitality, I คือ Integrity, C คือ Continious Improvement และ S คือ Social Responsibility

วัฒนธรรมองค์กรทั้งหมดปลูกฝังในบุคลากรของโรงพยาบาลทั้งหมด รวมทั้งมีแนวทางปฏิบัติตามคำสอนของพระบิดาที่ว่า “นึกถึงประโยชน์ของตนเป็นสอง นึกถึงประโยชน์ของสาธารณะเป็นหนึ่ง” แล้วดูแลคนไข้ให้เป็นแบบมนุษย์ และอีกข้อหนึ่งคือ “success is not in the learning but in the application” เป็นสิ่งสำคัญมาก

การทำให้บุคลากรคิดเหมือนกันแล้วผลสำเร็จจะเห็นอย่างชัดเจน ตัวอย่างที่เห็นได้คือ ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง ที่โรงพยาบาลเงินขาดเดือนละ 1 ล้านบาท พนักงาน 400 คนรวมใจกันหาแนวทางที่จะให้โรงพยาบาลอยู่รอดด้วยการตัดเงินเดือนผู้บริหารระดับบนลงมายกเว้นระดับล่าง แทนการเลิกจ้างคนหรือการออกจากงาน ทำให้ผ่านวิกฤติมาได้ เป็นองค์กรที่มีจริยธรรมสูง