ThaiPublica > เกาะกระแส > เฟซบุ๊กปรับ News Feed ลดโพสต์จากธุรกิจ แบรนด์ต่างๆ และสื่อ

เฟซบุ๊กปรับ News Feed ลดโพสต์จากธุรกิจ แบรนด์ต่างๆ และสื่อ

13 มกราคม 2018


ที่มาภาพ : http://time.com/5100245/facebook-newsfeed-update-posts-friends-family/

เฟซบุ๊กประกาศปรับนโยบายใหญ่ของปี ด้วยการเปลี่ยน News Feed ให้เพิ่มการแสดงโพสต์ (Post) เรื่องราวที่มีความหมายจากเพื่อน (Friend) และสมาชิกในครอบครัวมากขึ้น และลดการโพสต์ของผู้ประกอบการธุรกิจและสื่อลง

ในการให้สัมภาษณ์กับนิวยอร์กไทมส์ เมื่อต้นสัปดาห์ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอ เฟซบุ๊ก เปิดเผยว่า การปรับเปลี่ยนนโยบายนี้ เป็นความตั้งใจที่จะให้เรื่องราวความสัมพันธ์ที่เต็มไปด้วยความหมายจากการโพสต์มีการสื่อถึงกันมากขึ้น ทั้งนี้ เฟซบุ๊กได้ศึกษาข้อมูลการโพสต์มาระยะหนึ่งแล้ว เพื่อกลั่นกรองว่าเนื้อหาการโพสต์แบบไหนที่กดดันหรือทำร้ายผู้ใช้

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก กล่าวว่า เฟซบุ๊กต้องการที่จะลดเนื้อหาประเภท passive content ไม่ว่าจะเป็น วิดีโอหรือบทความ เพราะเป็นเนื้อหาประเภทต้องการทราบสถานะ ความคิด ข้อมูล ของผู้อ่านผู้ชม แทนที่ผู้อ่านหรือผู้ชมจะได้อ่านบทความหรือชมวีดีโออย่างสบายใจ ซึ่งจะทำให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กใช้เวลาในเฟซบุ๊กได้อย่างเหมาะสม

เฟซบุ๊กซึ่งมีสมาชิกกว่า 2 พันล้านราย จะให้ความสำคัญกับโพสต์ที่เพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวแชร์หรือแสดงความเห็น (comment) มากขึ้น และจะลดโพสต์จากผู้ประกอบการธุรกิจกับสื่อให้น้อยลง

นโยบายใหม่นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของ News Feed ในรอบปีของเฟซบุ๊ก โดยที่ในอีก 2-3 สัปดาห์หน้านี้ผู้ใช้เฟซบุ๊กจะเห็นวิดีโอและข่าวที่แชร์จากสำนักข่าวน้อยลง แต่จะเห็นโพสต์จากเพื่อน หรือโพสต์ที่เพื่อนเข้ามามีปฏิสัมพันธ์มากขึ้น หรือการอัปเดตสถานะแล้วมีเพื่อนมากดไลค์หรือแสดงความเห็น

การปรับเปลี่ยนครั้งนี้ก่อให้เกิดคำถามตามมาว่า ผู้ใช้เฟซบุ๊กอาจจะได้เห็นแต่ content ที่มีความเห็นที่ตอกย้ำแนวคิดของตัวเอง หากมีปฏิสัมพันธ์บ่อยครั้งกับโพสต์หรือวิดีโอที่สะท้อนมุมมองเดียวกับเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัว และอาจจะมีข่าวปลอมเต็มหน้าเฟซบุ๊กหากเพื่อนหรือสมาชิกในครอบครัวแชร์หรือโพสต์ลิงก์ข่าวที่มีถูกต้องมาและมีการคอมเมนต์กันกว้างขวางต่อเนื่อง โพสต์นั้นก็จะยังคงอยู่บนหน้าเฟซบุ๊กต่อไปอีกอย่างถาวร

เฟซบุ๊กได้รับการวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักและถูกตั้งคำถามเกี่ยวกับระบบอัลกอริทึม (algorithms) ที่ตั้งโปรแกรมให้นำเสนอแต่ข่าวที่ทำให้เกิดความเข้าใจและข้อมูลที่ไม่ครบถ้วนในหน้า News Feed ซึ่งมีผลต่อการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี พ.ศ. 2016 ที่ผ่านมา และการหักเหของการเมืองในหลายประเทศ และในปีก่อนเฟซบุ๊กยังได้เปิดเผยว่า หน่วยงานรัสเซียได้ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กในการกระจายข่าวที่สร้างความแตกแยก โพสต์ที่จุดกระแสรวมทั้งโฆษณาเพื่อการสร้างอิทธิพลต่อผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ครั้งที่ผ่านมา

ประเด็นนี้ส่งผลให้เฟซบุ๊กถูกกระแสกดดันจากฝ่ายกฎหมายอย่างหนัก และพยายามที่จะเค้นบริษัทเกี่ยวกับอิทธิพลในปีที่ผ่านมา โดยในสัปดาห์หน้าเฟซบุ๊กจะต้องเข้าให้ปากคำต่อรัฐสภาอีกครั้งพร้อมกับ Twitter และ YouTube ในประเด็นการโฆษณาชวนเชื่อ

ทางด้าน เดวิด กินส์เบิร์ก จากฝ่ายวิจัยของเฟซบุ๊ก เปิดเผยว่า จุดประสงค์หลักของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ไม่ได้มีเป้าหมายด้านปริมาณ แต่เฟซบุ๊กต้องการให้ทุกคนมีมุมมองในเชิงบวกมากกว่าเชิงลบหลังจากที่เข้ามาหน้าเฟซบุ๊กแล้ว เพราะเมื่อคนผูกพันกับคนก็จะมีความใกล้ชิดกัน ทำให้มีความหมายมากขึ้นมี การเติมเต็มให้กันและกัน

ผลสะท้อนของการปรับเปลี่ยนหน้า News Feed ของเฟซบุ๊กรั้งนี้ค่อนข้างกระจายในวงกว้าง เพราะทั้งสำนักพิมพ์ องค์กรที่แสวงหากำไร ธุรกิจขนาดเล็ก และอีกหลายๆ กลุ่ม ต่างพึ่งพาโซเชียลเน็ตเวิร์กในการเข้าถึงคน ดังนั้น การที่เฟซบุ๊กลดโพสต์ลงก็จะได้รับผลกระทบ

อดัม มอสเซรี ฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์ของเฟซบุ๊ก ที่ดูแล News Feed ยอมรับว่า แน่นอนว่าย่อมมีความกังวลจากพันธมิตรและสำนักพิมพ์ ซึ่งมักจะขัดข้องใจต่อการปรับเปลี่ยนสิ่งที่แสดงบนเครือข่ายเฟซบุ๊กเสมอ และอาจจะมีผลเชิงธุรกิจต่อเฟซบุ๊ก

ที่ผ่านมาบริษัทได้พยายามเชิญชวนให้ผู้ใช้เฟซบุ๊กใช้เวลาบนเครือข่ายโซเชียลให้นานขึ้น แต่ News Feed ใหม่มีคอนเทนต์แตกต่างออกไป คอนเทนต์ที่จะทำให้เกิดปรากฎการณ์แบบไวรัล (viral) น้อยลง อาจจะทำให้คนหันไปใช้เวลากับอย่างอื่นมากขึ้น ซึ่งมาร์กยอมรับว่า เป็นสิ่งที่เฟซบุ๊กคาดไว้อยู่แล้ว แต่หากคนรู้สึกดีกับกับการใช้โซเชียลเน็ตเวิร์ก ธุรกิจก็จะได้ประโยชน์

การปรับ News Feed ของเฟซบุ๊กไม่ใช่เรื่องใหม่ ที่ผ่านมามีการทดลองปรับเปลี่ยนหลายครั้ง และก่อนหน้านี้ได้เคยประกาศไว้แล้วว่าจะให้ความสำคัญกับโพสต์จากเพื่อนและครอบครัวของผู้ใช้เฟซบุ๊กมากขึ้น และล่าสุดก็นโยบายว่าให้ความสำคัญกับโพสต์ที่สร้างปฏิสัมพันธ์ เช่น อาจจะเน้นคอมเมนต์ยาวๆ ใต้ภาพจากสมาชิกในครอบครัว มากกว่าวิดีโอที่ไม่ค่อยมีการคอมเมนต์

เฟซบุ๊กได้ทำการวิจัยและทำงานร่วมกับสถาบันการศึกษานานหลายเดือนเพื่อประเมินผลกระทบจากการให้บริการ ซึ่งผลลัพธ์ที่ได้คือ มีการวิจารณ์จากนักการเมือง นักวิชาการ สื่อ และวงการอื่นว่า เฟซบุ๊กมีความรับผิดชอบต่อสิ่งที่แสดงผลให้กับผู้ใช้ไม่มากเท่าที่ควร

ดังจะเห็นได้จาก หลังการเลือกตั้งปี 2016 ที่ในช่วงแรกๆ นั้นมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ไม่สนใจต่อความวิตกต่อผลของเฟซบุ๊ก หรือ Facebook effect ต่อผลการเลือกตั้ง แม้มีบุคคลภายนอกชี้ให้เห็นมีการสร้างข่าวเท็จในหน้าเฟซบุ๊กโจมตีฮิลลารี คลินตัน ซึ่งมาร์กยอมรับภายหลังว่า ไม่ได้ไตร่ตรองและไม่ไยดีต่อความกังวลที่เกิดขึ้น และไม่นานมานี้ได้ส่งสัญญาณว่าจะมีการปรับเปลี่ยนการแสดงผลบนเฟซบุ๊ก

จากการทำงานร่วมกับนักวิจัยอื่นได้ผลสรุปที่ Passive Content โดยจากการสำรวจผู้ใช้เฟซบุ๊ก พบว่าคอนเทนต์ที่เกี่ยวข้องกับเพื่อนและสมาชิกในครอบครัว มีน้อยมาก และคอนเทนต์จากธุรกิจ สำนักพิมพ์และสื่อมีมากขึ้น

เวลาบนเฟซบุ๊กเป็นเวลาที่คุ้มค่า

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก โพสต์ เฟซบุ๊กของตัวเองถึงเป้าหมายในปี 2018 ว่า จะทำให้การใช้เวลาบนเฟซบุ๊กเป็นเวลาที่คุ้มค่าอย่างแท้จริง และยังกล่าวด้วยว่า กระแสคอนเทนต์ที่มีมหาศาลนี้ทำให้เฟซบุ๊กตระหนักถึงสิ่งที่ต้องทำ นั่นคือ การช่วยให้คนสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน ดังนั้นจึงต้องมีการปรับเปลี่ยน

โพสต์ของมาร์ค ซักเกอร์เบิร์ก ทีมาภาพ:
https://www.facebook.com/zuck/posts/10104413015393571

เฟซบุ๊กสร้างขึ้นเพื่อให้คนมีความเชื่อมถึงกันและดึงให้เฟซบุ๊กกับคนทั่วไปใกล้ชิดกัน และคนคือสิ่งที่เฟซบุ๊กให้ความสำคัญ นี่คือเหตุผลที่เฟซบุ๊กจัดให้เพื่อนและครอบครัวเป็นศูนย์กลางของประสบการณ์ ผลการวิจัยได้แสดงให้เห็นแล้วว่าการกระชับความสัมพันธ์ให้เข้มแข็งจะช่วยให้ชีวิตดีขึ้นและมีความสุข

เมื่อเร็วๆ นี้เฟซบุ๊กได้รับข้อเสนอแนะว่า Public Content หรือเนื้อหาสาธารณะ ซึ่งเป็นโพสต์จากธุรกิจ แบรนด์ต่างๆ รวมทั้งสื่อ มีมากจนทำให้โพสต์ส่วนตัวที่มีความหมายและเป็นสิ่งที่เชื่อมโยงคนไว้ด้วยกันนั้นหายไป

ในสองปีที่ผ่านมา วิดีโอและ Public Content รูปแบบอื่นๆ เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วบนเฟซบุ๊ก และมากกว่าโพสต์จากเพื่อนและครอบครัว จึงทำให้สูญเสียความสมดุลใน News Feed ไป และเบี่ยงเบนไปจากสิ่งสำคัญที่เฟซบุ๊กทำ นั่นคือ การช่วยให้คนเชื่อมโยงระหว่างกัน

“เราจึงนับว่าเป็นความรับผิดชอบ ในการที่ทำให้บริการของเราไม่เพียงสนุกที่จะใช้แต่ดีต่อชีวิตความเป็นอยู่อีกด้วย ดังนั้นเราจึงศึกษาแนวโน้มนี้อย่างรอบคอบด้วยการทำความเข้าใจกับงานวิจัยของนักวิชาการและทำการวิจัยของเฟซบุ๊กเองร่วมกับผู้เชี่ยวชาญชั้นนำจากหลายสถาบันการศึกษา”

งานวิจัยได้แสดงให้เห็นว่า เมื่อใช้โซเชียลมีเดียเชื่อมคนที่เราใส่ใจ ก็จะส่งผลดีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเรา เราจะรู้สึกว่ามีความสัมพันธ์กับคนอื่น ไม่เหงา เทียบเคียงได้กับการมีความสุขและสุขภาพดีในระยะยาว ในทางกลับกันการอ่านบทความ เนื้อหา หรือชมวิดีโอ แม้ให้ความบันเทิงให้สาระ แต่ก็ไม่ดีเท่า

“เฟซบุ๊กจึงปรับเปลี่ยนครั้งใหญ่ในการสร้างเฟซบุ๊ก ผมเปลี่ยนเป้าหมายที่ให้กับทีมโปรดักต์ จากที่ช่วยให้คนหาคอนเทนต์ที่มีความหมายเหมือนที่เคยทำ มาเป็นการช่วยในการสร้างปฏิสัมพันธ์ที่มีความหมายระหว่างกัน”

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เล่าว่า ได้เริ่มการเปลี่ยนแปลงนี้มาตั้งแต่ปีที่แล้ว แต่คงต้องใช้เวลาอีกหลายเดือนกว่าเป้าหมายใหม่นี้จะเกิดผล โดยสิ่งแรกที่ผู้ใช้จะเห็นคือ หน้า News Feed ซึ่งจะเป็นโพสต์จาก เพื่อน ครอบครัว และกลุ่มของตัวเองมากขึ้น ขณะเดียวกันจะเห็นโพสต์ ประเภท Public Content เช่น ธุรกิจ แบรนด์ต่างๆ สื่อ น้อยลง และ Public Content ที่เห็นนั้นก็จะมีมาตรฐานเดียวกัน นั่นคือ เสริมสร้างการมีปฏิสัมพันธ์ที่มีความหมายระหว่างคน

มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ทิ้งท้ายว่า เพื่อความชัดเจนจากการปรับเปลี่ยนครั้งนี้ เขาคาดหวังว่า เวลาที่คนจะใช้บนเฟซบุ๊กและวิธีการยัดเยียดจะลดลง แต่เวลาที่ใช้บนเฟซบุ๊กนั้นจะมีคุณค่ามากขึ้น ซึ่งหากเฟซบุ๊กทำในสิ่งที่ถูกต้องแล้ว เชื่อว่าระยะยาวจะมีผลดีต่อบริษัท

ตลอดมาเฟซบุ๊กได้เชื่อมโยงคน มุ่งที่จะดึงคนให้ใกล้ชิดกัน ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว เพื่อน หรือเหตุการณ์สำคัญๆ ของโลก ซึ่งเฟซบุ๊กจะทำให้ให้ดีที่สุดเพื่อให้การใช้เวลาบนเฟซบุ๊กเป็นวลาที่คุ้มค่า