ThaiPublica > คอลัมน์ > “การให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจ” ตอนที่ ๑ ศาสนา ศรัทธา และ ความเลื่อมใส

“การให้กับการพัฒนาเศรษฐกิจ” ตอนที่ ๑ ศาสนา ศรัทธา และ ความเลื่อมใส

15 มกราคม 2018


พชรพร พนมวัน ณ อยุธยา

“การให้” และช่วยเหลือผู้ยากไร้หรือบริจาคเพื่อสังคมเป็นคำสอนที่ปรากฏอยู่ในทุกศาสนาและความเชื่อท้องถิ่น เป็นวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวของคนหมู่มาก การให้เกิดจาก

    1) ความคิดที่เกิดความรู้สึกร่วมไปกับความลำบาก (empathy)
    2) ความต้องการของสังคมที่จะสร้างกลไกรองรับปัญหาของสังคม (social safety net) โดยแต่ละปัจเจกบุคคล
    3) ความต้องการทำเพื่อเรียกสิ่งตอบแทน เช่น ชื่อเสียงหรือความรู้สึกพึงพอใจ (utility) จากการมีส่วนร่วมในการลดปัญหาต่างๆ ทางสังคมและสิ่งแวดล้อมรอบตัว

แต่ให้แล้วได้อะไร? ให้อย่างไรจึงจะมีผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในระยะยาวมากที่สุด?

ความเชื่อเป็นหนึ่งปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดการทำบุญหรือทำทาน ในตอนที่หนึ่งของบทความนี้ผู้เขียนจะกล่าวถึงผลกระทบที่มาจากการให้ผ่านความเชื่อและความแตกต่างของผลกระทบทางเศรษฐกิจระหว่างรูปแบบการให้ต่างๆ เศรษฐศาสตร์ของศาสนา (Economics of Religion) กำลังเป็นหัวข้อที่นิยมศึกษากันในหมู่นักเศรษฐศาสตร์ที่สนใจปัจจัยทางสังคม เนื่องจากศาสนานั้นมีผลกระทบต่อระบบความคิดและการตัดสินใจในสังคมต่างๆ

เศรษฐศาสตร์ของศาสนาและความศรัทธา

ศาสนาหรือความศรัทธานั้นสามารถนำมาวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ได้หลายวิธี

    1) การพัฒนาโมเดลทางเศรษฐศาสตร์ใหม่ๆ เช่น การกระจายตัวในเชิงภูมิศาสตร์ของตลาดความเชื่อ หรือความสัมพันธ์ระหว่างการพัฒนากับความเชื่อของประชากร

    2) งานวิเคราะห์ในเชิงเศรษฐมิติที่ศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยทางสังคมหรือเศรษฐกิจต่างๆ กับพฤติกรรมทางศาสนา

    3) งานวิจัยใหม่ๆ ในวิชาเศรษฐศาสตร์ที่ใช้ข้อมูลทางประวัติศาสตร์วิเคราะห์และพบว่า ศรัทธาเป็นตัวแปรต้น (independent variable) หรือปัจจัยที่ทำให้สิ่งที่เกี่ยวข้องอยู่ด้วยเกิดการเปลี่ยนแปลง เช่น ราคาสินค้าจะมีผลกระทบต่อจำนวนความต้องการของตลาด

    ในการศึกษาที่ผ่านมาจะมองว่าความศรัทธาเป็นตัวแปรตาม (dependent variable) หรือปัจจัยที่เปลี่ยนแปลงตามสภาพ เช่น จำนวนผู้คนที่นับถือศาสนาในพื้นที่ มีขึ้นอยู่กับปริมาณกิจกรรมทางการเศรษฐกิจของพื้นที่นั้นๆ

    4) การศึกษาศาสนาภายนอกโลกตะวันตก

แม้ว่าวิชาที่เน้นการศึกษาเกี่ยวกับศาสนาจะมีประวัติอันยาวนาน แต่ปรากฏการณ์ที่นักเศรษฐศาสตร์หันมาให้ความสนใจปัจจัยเกี่ยวข้องกับศาสนานั้นเป็นเรื่องที่ใหม่เมื่อเทียบกับการศึกษาเรื่องอื่นๆ

งานวิชาการที่เก่าแก่ที่สุดของวิชาเศรษฐศาสตร์ที่มีการนำศรัทธาหรือศาสนามาวิเคราะห์ คือ งานของบิดาของวิชาเศรษฐศาสตร์ อดัม สมิท ใน The Wealth of Nations และ Theory of Moral Sentiments โดยสมิทกล่าวถึง บทบาทของการแข่งขันในเชิงตลาดและสถาบันทางศาสนาคริสต์ (competition and church) โดยเฉพาะเรื่องบทบาทของสถาบันศาสนาในการให้บริการสังคม และความเป็นกลางของศาสนา ทุกวันนี้มุมมองของการแข่งขันในเชิงตลาดระหว่างความเชื่อต่างๆ ยังเป็นหลักทฤษฏีสำคัญที่จะทำให้เข้าใจสถานการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นโดยมีการอ้างเหตุผลทางความเชื่อ และงานบริการสังคมต่างๆ ที่สถาบันทางความเชื่อทำ เช่น การสร้างโรงเรียน การพัฒนาชนบท หรือการช่วยเหลือผู้คน

ศาสนา ศรัทธา และ ความเลื่อมใส” (Sasana, Religion, and Religiosity)

คำว่า ศรัทธา หรือ รีลิเจียน (Religion) หากแปลจากภาษาอังกฤษแบบเผินๆ จะแปลว่า “ศาสนา” แต่ความหมายของ “ศาสนา” ตามบาลีและสันสฤตตมีความหมายว่า “หลักคำสอน” หรือ “การปฏิบัติ” ซึ่งต่างจากคำว่า “รีลิเจียน” ที่มีรากคำที่มาจากแนวความเชื่อในศาสนาที่นับถืออำนาจของพระเจ้าในการกำหนดแนวทางความเป็นไปต่างๆ ดังนั้น คำว่ารีลิเจียนจึงมีนัยของการเป็นผู้ซึ่งผูกมัดตนเองและยอมศิโรราบต่ออำนาจศักดิ์สิทธิ์ด้วย

ในเชิงการลงทุนหรือการให้ทางศาสนาและศรัทธา คือการสร้างศาสนสถานหรืออาคารในการประกอบกิจกรรมทางศาสนา หรือสร้างวัตถุที่เกี่ยวข้องกับศาสนา

ความเลื่อมใส (Religiosity) นั้นมีความหมายในเชิงการศึกษาและปฏิบัติตนตามศาสนา บุคคลที่มีความเลื่อมใสในศาสนาหรือรีลิเจียนไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลที่เลือกลงทุนในศาสนาและศรัทธา แต่เป็นผู้ซึ่งปฏบัติตามคำสอนเป็นหลักในชีวิต

เมื่อการลงทุนในศรัทธาเป็นตัวถ่วงเศรษฐกิจ?

กลไกทางเศรษฐศาสตร์สามารถมองกิจกรรมต่างๆ เป็นการ “ลงทุน” เมื่อสังคมเลือกที่จะลงทุนกับความเชื่อ แม้ไม่มีเรื่องของเงินเข้ามาเกี่ยวข้องก็มีเรื่องอื่นๆ เช่น เวลาและแรงงาน เป็นต้น งานวิจัยของ Robert Barro และ Rachel McCleary นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดัง ได้ปลุกกระแสการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างศาสนาและผลกระทบทางเศรษฐกิจอีกครั้ง โดยวิเคราะห์ข้อมูลความเชื่อและการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ จากข้อมูลการสำรวจเกี่ยวกับจำนวนผู้เชื่อในศาสนาจากทั่วโลก มีปัจจัย เช่น ความเชื่อในโลกหลังความตาย การเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนา และกิจกรรมการสวดหรือภาวนาในชีวิตส่วนตัว งานวิจัยพบความสัมพันธ์ระหว่างความเลื่อมใสกับการพัฒนาเศรษฐกิจ ความโปร่งใสของสถาบันรัฐ และการผสมระหว่างการประพฤติตนตามความเชื่อ ผู้เขียนทั้งสองพบความสัมพันธ์เบาบางระหว่างการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจ (economic growth) กับความเชื่อในคำสอนทางศาสนา

ความสัมพันธ์ระหว่างจีดีพีกับความเชื่อในนรก
ที่มาภาพ : https://wol.iza.org/articles/the-rise-of-secularism-and-its-economic-consequences/long

โดยรวมแล้วความเชื่อเรื่องศาสนา เช่น ความเชื่อเรื่องโลกหลังความตาย (ความเกรงกลัวการกระทำผิด) นั้นเป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจดีเพราะทำให้พฤติกรรมของผู้ศรัทธาในศาสนานั้นมีความโปร่งใสและลดค่าเสียหายในตลาดที่เกิดจากความพยายามบิดเบือนกลไกตลาด เช่น ความพยายามสร้างตลาดผูกขาดหรือโกงระบบเพื่อประโยชน์ของตน เศรษฐกิจนั้นมักจะโตตามศรัทธามากกว่า การปฏิบัติตนตามธรรมเนียมทางศาสนาหรือการสร้างคำจำกัดความในศาสนาตามหมู่คณะ เช่น การบริจาคเพื่อสร้างศาสนสถานตามกระแสสังคม

ทั้งนี้ การศึกษาพบว่า การเข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนสถานบ่อยๆ นั้นมีผลกระทบในเชิงลบต่อการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว เพราะเป็นการนำเวลาและทุนทรัพย์ไปลงทุนในภาคศาสนา (religion sector) ซึ่งมีโครงสร้างเป็นสถาบันที่ส่งผลต่อการกระจายตัวทางเศรษฐกิจต่ำ

ในทางกลับกัน มีนักเศรษฐศาสตร์บางพวกมองว่า เศรษฐกิจกับริลิเจียนนั้นเป็นสิ่งที่ขัดกัน โดยเฉพาะในประเทศที่รีลิเจียนมีเป็นอุปสรรคต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมหรือส่งเสริมให้มีการสร้างอัตลักษณ์ที่แบ่งพรรคพวก จะทำให้การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจน้อยลงและเสื่อมถอยในระยะยาว หรือ หากเป็นประเทศที่เศรษฐกิจเติบโตไวประชากรก็มักจะหันหลังให้กับความเชื่อโดยรวม เพราะความเชื่อไม่สามารถปรับตัวตามสภาวะการเปลี่ยนแปลงรอบสังคมได้ นักเศรษฐศาสตร์กลุ่มนี้มองว่าความเชื่อมีผลต่อเศรษฐกิจในด้านดีน้อยมากถ้ามีก็มีแต่ความสัมพันธ์ในเชิงลบ

แต่หากเชื่อตาม Barro และ McCleary จะมองว่าแม้ว่าศรัทธานั้นเป็นเรื่องดีแต่การนำทุนทางเวลาและทรัพย์สินไปลงกับสถาบันทางศาสนานั้นมีผลลบต่อความมั่นคงของเศรษฐกิจในระยะยาว

บทเรียนจากประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยุคโบราณ

ข้อสรุปของ Barro และ McCleary เรื่องความสัมพันธ์ของศาสนากับเศรษฐกิจนั้น สามารถโยงเข้ากับเหตุผลการล่มสลายของรัฐพุกามได้ไม่ยาก งานศึกษาของนักประวัติศาสตร์เมียนมาร์ Micheal Aung-Thwin, G.H Luce และ Than Thin ได้ให้ข้อสรุปไว้ว่าพุกามนั้นขยายการผลิตผลทางเกษตรกรรมใน Kyaukse ที่เป็นเสมือนอู่ข้าวอู่น้ำของพุกาม ด้วยระบบการบริจาคที่ดินพร้อมไพร่กับทาสวัดให้กับวัดต่างๆ เนื่องจากวัดและไพร่ที่ทำงานให้กับวัดนั้นไม่ต้องเสียภาษี และวัดมักจะกระจายผลผลิตส่วนเกินของวัดคืนสู่ชุมชนโดยรอบ

นโยบายการ “บริจาค” ให้วัดนั้นเปรียบได้เหมือนนโยบายการลดภาษีกระตุ้นกิจกรรมการใช้จ่าย ผลคือประชากรหรือไพร่ทั่วไปย้ายเข้าไปรวมตัวกันในบริเวณวัดต่างๆเพื่อความสะดวกในการทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งรัฐจะสามารถเกณฑ์แรงงานที่ย้ายตามความเจริญมาอยู่ในบริเวณของวัดมาเป็นทหารได้แล้วคนเหล่านี้ยังต้องเสียภาษีให้กับรัฐอีกด้วย เมื่อชนชั้นนำของพุกามเห็นความสำเร็จของการเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากผลผลิตทางการเกษตรในสภาวะปลอดภาษี (หากไม่นับปัจจัยเรื่องความเชื่อเรื่องการทำบุญ) ก็พากันบริจาคที่ดินเข้าวัดและผลักดันการขยายพื้นที่การเกษตรออกไปเพื่อรวบรวมคนและปัจจัยการผลิตมากขึ้น มีการลงทุนในระบบ ฝาย การสร้างระบบชลประทาน อ่างเก็บน้ำและเขื่อน ซึ่งส่งผลให้ผลิตผลทางการเกษตรขยายตัวเข้าไปอีก

รัฐพุกามเลี้ยงการเจริญเติบโตอย่างได้ต่อเนื่องเป็นเวลาราวสองร้อยปี ก็เริ่มเกิดปัญหาจากนโยบายทางเศรษฐกิจดังกล่าว ในระยะเวลาสองร้อยกว่าปีพุกามได้บริจาคที่ดินทำการเกษตรและแรงงานให้กับวัดเป็นจำนวนถึง 937,500 ไร่ เท่ากับ 60% ของที่ดินการผลิตทางการเกษตรทั้งหมดของรัฐพุกาม ในระยะยาวเมื่อเก็บภาษีได้ไม่พอเพียงต่อการขยายตัวและความต้องการทางสาธารณูประโภค รัฐจึงอ่อนแอจนไม่สามารถดูแลระบบการเกษตรที่สร้างไว้และรักษาอำนาจทางการทหาร

ด้วยปัจจัยทางภูมิศาสตร์พุกามเป็นรัฐที่ไม่ถือว่าเป็นศูนย์กลางทางการค้าในยุคโบราณกับตลาดภายนอก แม้ว่าจะมีการส่งออกของมีค่าเช่นไข่มุกและของมีค่าออกสู่การค้าในอ่าวเบนกัลกับยูนานแต่ไม่มีหลักฐานว่ากิจกรรมทางการค้านั้นเป็นกิจกรรมที่สำคัญของเศรษฐกิจพุกาม แม้ว่าจะมีความพยายามที่จะจัดระเบียบโดยยึดที่ดินวัดคืนแต่อัตราการบริจาคก็ยังมากว่าส่วนที่ดินซึ่งรัฐสามารถเก็บภาษีได้

นอกจากนี้ยังเกิดกระแสต่อต้านจากฝ่ายอำนาจต่างๆอีกทั้งขุนนางได้อาศัยความวุ่นวายทางการเมืองยึดที่ดินมาเป็นของตนเอง เมื่อพุกามอ่อนแอก็เริ่มถูกรุกรานและต่อต้านจากอำนาจภายนอกเช่น มอญ ไท และ มองโกล ส่งผลทำให้ล่มสลายในที่สุด

มุมมองของอุตสาหกรรมทางวัฒนธรรม

เมืองกับมรดกทางวัฒนธรรมที่เป็นศาสนสถาน ทำอย่างไรที่จะสร้างเมืองที่น่าอยู่? ที่มาภาพ: https://www.wmf.org/sites/default/files/styles/project_gallery_full_size/public/projects/gallery/MMR-Yangon-Sule-Pagoda-with.jpg?itok=0kElEbvz

ผลกระทบของความเชื่อและกิจกรรมทางศาสนาหรือการลงทุนในศาสนายังคงเป็นเรื่องที่ถูกถกเถียงต่อไป ความเชื่อเป็นส่วนหนึ่งของทุนทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ แม้ว่าการลงทุนในการสร้างศาสนสถานโดยทั่วไปจะส่งผลให้การกระจายตัวทางเศรษฐกิจต่ำ เพราะเอกลักษณ์ของโครงสร้างสถาปัตยกรรมหรือศิลปะทางศาสนาเองนั้นมีความเฉพาะเจาะจงและตอบสนองได้เพียงตลาดทางวัฒนธรรมของผู้นับถือ อธิบายคร่าวๆคือสถาปัตยกรรมวัดไทยสร้างได้เฉพาะสำหรับชาวพุทธที่เป็นคนไทยหากประชากรไทยที่นับถือพุทธแบบไทยไม่เพิ่มขึ้นการบริโภคงานสถาปัตย์ งานช่าง งานศิลปะ ที่มากับวัดไทยก็ไม่ขยายตัว

เมื่อเปรียบเทียบกับการลงทุนในกิจกรรมอื่นซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับวัตถุ เช่นการลงทุนกับศรัทธานั้น สามารถส่งเสริมให้เกิดวิถีปฏิบัติที่เป็นประโยชน์ในระยะยาว เช่นการเกรงกลัวที่ไปลักลอบทรัพย์ ซึ่งได้ว่าเป็นการพัฒนาทรัพยากรทางมนุษย์แบบหนึ่ง ส่งผลให้เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมและมีผลขยายออกมานอกสถาบันศาสนานั้นๆ หรือการสอนให้อ่านคำสอนในภาษาต่างๆ มีผลในระยะยาวต่อทักษะทางด้านภาษาที่ใช้ได้นอกเหนือกิจกรรมทางศาสนา

แต่เมื่อขอบเขตของการลงทุนทางศาสนาไม่สนับสนุนกิจกรรมซึ่งเกี่ยวข้องกับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (สำหรับทางโลกและทางธรรม) และเริ่มเข้าสู่การลงทุนสร้างโครงสร้างและวัตถุที่เน้นความสวยงามเพื่อแสดงอำนาจของผู้สร้าง (monumental effect)เช่น สิ่งก่อสร้างนอกเหนือจากความจำเป็น หรือ วัตถุบูชามีค่า สิ่งเหล่านี้เป็นการลงทุนทางวัฒนธรรมและศิลปะในระยะสั้นโดยเฉพาะอาคารที่มีค่าเสื่อมและค่าดูแลสูง ทำให้ต้นทุนจมไม่เกิดนวัตกรรมทางสังคมหรือเศรษฐกิจ

ทั้งนี้การพัฒนางานศิลปะหรือการสร้างโครงสร้างทางศิลปะและวัฒนธรรมนั้นสามารถมีประโยชน์ในระยะยาวได้หากงานนั้นทำให้เกิดวิถีขึ้นมาใหม่ บางครั้งการพัฒนาโครงสร้างไม่จำเป็นต้องสร้างใหม่โดยเฉพาะในประเทศที่มีสิ่งก่อสร้างโบราณหลายแห่งอย่างประเทศไทยที่มีโบราณสถานเกี่ยวกับศาสนามากมาย การลงทุนสนับสนุนการรื้อฟื้นองค์ความรู้การสร้าง งานช่าง และงานในการบูรณะจึงเป็นการลงทุนในศาสนาที่เกี่ยวข้องกับมรดกทางวัฒนธรรมได้ดีกว่าการสร้างเพิ่ม อีกทั้งมีองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับศาสนาอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีผลต่อการปรับภูมิทัศน์ของเมืองโดยนำศิลปะยุคเก่ามาบูรณาการกับผังเมืองสมัยใหม่ทำให้เมืองน่าอยู่ขึ้น