ThaiPublica > คอลัมน์ > “เครื่องมือคิด” ให้มีความสุข

“เครื่องมือคิด” ให้มีความสุข

29 ธันวาคม 2017


วรากรณ์ สามโกเศศ

ใครๆ ก็อยากมี “ชีวิตที่มีความสุข” บ้างก็แสวงหาจากคำสอนของศาสนา บ้างจากนักปราชญ์ บ้างจากพ่อแม่และผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นนับตั้งแต่มนุษย์มีปัญญาคิดและรู้จักแสวงหาเมื่อไม่ต่ำกว่า 2,500 ปี ก่อนหรือมากกว่านั้น ทุกชั่วคนก็พยายามหาคำตอบสูตรสำเร็จ แต่ก็ไม่สำเร็จเพราะชีวิตมนุษย์ซับซ้อนมากจนไม่มีคำตอบเดียว สำหรับศตวรรษใหม่ที่ 21 มีการพูดถึงกันมากในเรื่องการมีวิธีการต่างๆ ที่จะทำให้มี “ชีวิตที่ดี” คำถามที่สำคัญก็คือ “ชีวิตที่ดี” จะเป็น “ชีวิตที่มีความสุข” ด้วยหรือไม่

“ชีวิตที่ดี” หมายถึงชีวิตที่มีความกินดีอยู่ดี มีมาตรฐานการครองชีพที่สูง ฯลฯ ส่วน “ชีวิตที่มีความสุข” ก็คือมีชีวิตที่มีความมั่นคงในชีวิตด้วยการดำเนินไปอย่างยั่งยืนและมีความสุข ฯลฯ

หากสมมติว่าเรามี “ชีวิตที่ดี” แล้ว คำถามที่ตามมาก็คือแล้วทำอย่างไรจึงจะเป็น “ชีวิตที่มีความสุข” คำตอบของคำถามนี้กว้างขวางไม่มีขอบเขต มีปัจจัยต่างๆ ประกอบมากมาย อย่างไรก็ดี ถ้าเราจะเน้นลงไปที่ตัวเราเองเพื่อให้มีชีวิตที่มีความสุขแล้ว เราจะต้องมีชุดของเครื่องมือด้านความคิด (mental toolkit) ซึ่งประกอบด้วยหลายวิธีการ เพื่อที่จะทำให้เราเข้าใจโลก และสามารถทำให้ตัวเองมีความสุขได้

มีนักคิด นักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ โดยเฉพาะด้านจิตวิทยา และล่าสุดนักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมจำนวนมากในรอบ 200 ปี ที่ผ่านมา ที่เสนอหลากหลายเครื่องมือด้านความคิดเพื่อเอามาจัดการกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตเพื่อให้มี “ชีวิตที่มีความสุข”

เครื่องมือด้านความคิดที่กล่าวมานี้อาจถือได้ว่าเป็น “ระบบปฏิบัติการสำหรับชีวิต” ซึ่งไม่ใช่เพื่อการหาเงินหรือเพื่อการหาความรู้ ถ้าอุปมาก็เหมือนกับเป็นเครื่องมือซึ่งอยู่ในกล่องประจำกายเพื่อเอาไว้ปฏิบัติการให้เกิดความสุขในชีวิต

เครื่องมือเหล่านี้มิได้มาจากจินตนาการ หากมาจากหลักฐานเชิงประจักษ์ของสิ่งที่เกิดขึ้นในอดีต จากการค้นพบทางวิทยาศาสตร์ และมีการทดลองปฏิบัติจริง Rolf Dobelli ได้นำเสนอเครื่องมือทางความคิดจำนวนมากเพื่อการมีชีวิตที่ดีไว้ในหนังสือชื่อ The Art of the Good Life (2017)

ผู้เขียนขอยกบางตัวอย่างเพื่อให้เห็นชัดเจนว่าการมีเครื่องมือคิดดังกล่าวไว้ข้างกายแล้วจะทำให้ชีวิตมีความสุขขึ้น Mental Accounting (บัญชีทางความคิด) คือสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลคนล่าสุดสาขาเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม Richard Thaler ได้เสนอไว้

Mental Accounting คือ สถานการณ์ที่สมองมนุษย์คล้ายกับมีสองลิ้นชักในเรื่องการได้รับเงิน ลิ้นชักแรกบรรจุเงินที่มาจากการต้องออกแรงตรากตรำหาเงิน กับลิ้นชักที่สองใส่เงินที่ได้มาอย่างง่ายดายกว่า เช่น จากการมีคนให้ จากความบังเอิญ จากการมีโชค ฯลฯ

สำหรับเงินที่ในลิ้นชักแรก มนุษย์จะใช้จ่ายอย่างระมัดระวังกว่าเงินที่อยู่ในลิ้นชักที่สอง การสุรุ่ยสุร่ายมักเกิดจากการใช้เงินจากลิ้นชักนี้จนทำให้สูญเปล่าไปอย่างน่าเสียดาย (หาคนถูกลอตเตอรีที่รวยอย่างยั่งยืนได้ยากกว่าหาคนอื่นที่อ้างว่าเป็นเจ้าของสลากเดียวกัน) มนุษย์ที่แก้ไขปัญหานี้ได้ก็จะย้ายเงินในสองลิ้นชักในสมองมารวมกันก่อนใช้จ่าย พูดง่ายๆ ก็คือมนุษย์กระทำต่อเงินที่ได้รับมาแตกต่างกัน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่ามนุษย์สามารถคิดแยกแยะและโยกย้ายได้ตามใจต้องการ ส่วนจะรู้ตัวว่าเหมาะสมหรือไม่นั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง

ถ้าเราเอา Mental Accounting มาประยุกต์ ก็จะทำให้เรามีชีวิตที่มีความสุขได้ถึงแม้เราจะประสบสถานการณ์ที่เป็นลบก็ตาม ตัวอย่างเช่น ถ้าเราทำกระเป๋าสตางค์หายในประเทศยากจน และได้ทุกอย่างกลับคืนมายกเว้นเงินสด ถ้าเราคิดเสียว่ามันเป็นเงินบริจาคให้คนยากจนซึ่งทุกปีก็ต้องบริจาคให้สาธารณกุศลอยู่แล้วจำนวนหนึ่ง ดังนั้นในปีนี้ก็จงบริจาคให้น้อยลงโดยเอายอดเงินหายนี้ไปหักลบ การมีเครื่องมือคิดเช่นนี้ก็จะทำให้เรามีความสุขได้กับสถานการณ์ที่ไม่พึงประสงค์

การถูกปรับจากการทำผิดกฎจราจร การถูกคดโกงเอาเปรียบบ้าง การสูญหายของของมีค่า การถูกโก่งราคาในบางครั้ง ฯลฯ สามารถเอามาประยุกต์ในลักษณะคล้ายกันได้อย่างทำให้ชีวิตมีความสุข

การจ่ายภาษีก็เหมือนกัน หากคิดว่ามีรายได้อีกหลายลักษณะที่เราไม่ได้จ่ายภาษีเลย เช่น มีกำไรจากขายหุ้น มูลค่าบ้านและที่ดินสูงขึ้น มูลค่าหุ้นในมือสูงขึ้น ฯลฯ ดังนั้นการต้องจ่ายภาษีตามกฎหมายเป็นเรื่องสูญเสียที่ไม่ใหญ่โต คิดแล้วเป็นอัตราภาษีจริงที่ต่ำมาก การคิดเช่นนี้ก็จะทำให้เกิดความสุขขึ้นได้ ประเด็นคืออย่างไรเสียก็ต้องจ่ายภาษี เราจะทำให้มันเป็นสิ่งที่เป็นทุกข์หรือสุขสำหรับเราก็อยู่ที่ใจเป็นที่ตั้ง

เมื่อไปเที่ยวกับครอบครัวก็ควรจ่ายเงินค่าโรงแรมเต็มก่อนที่จะเข้าพัก รวมทั้งค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่สามารถจ่ายก่อนได้ มิฉะนั้นจะเกิดความไม่เป็นสุขเมื่อต้องจ่ายเงินก้อนใหญ่ตอนท้ายของการท่องเที่ยว นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบลอีกคนหนึ่งคือ Daniel Kahneman เรียกปรากฏการณ์นี้ว่า peak-end rule กล่าวคือเรามักจำได้แต่ตอนสนุกสุดกับตอนสุดท้ายของฮอลิเดย์ ส่วนอื่นๆ นั้นเราลืมหมด หากจ่ายไปเสียเลยแต่แรกก็จะช่วยทำให้การท่องเที่ยวครั้งนี้มีความสุขมากขึ้น

peak-end rule ใช้ได้กับการสำรวจความเห็นผู้ประกอบธุรกิจโดยเฉพาะรายย่อยว่าธุรกิจการค้าเป็นอย่างไร ซึ่งเป็นงานอดิเรกในทุกโอกาสของผู้เขียน ทำให้ได้รับคำตอบเกือบทุกครั้งว่า “มันไม่ดีเหมือนเมื่อก่อน” หากถามว่าเมื่อก่อนคือเมื่อใด ก็มักไม่ได้คำตอบ รู้แต่ว่าปัจจุบันเทียบกับอดีตไม่ได้ ผู้เขียนไม่เคยพบคนใดตอบว่าธุรกิจปัจจุบันนั้นดีกว่าที่เคยผ่านมาทั้งหมด ใจของเขานั้นชอบที่จะเอาไปเปรียบเทียบกับตอนที่ดีที่สุดเสมอ

สิ่งที่เกิดขึ้นภายนอกนั้นเราทำอะไรกับมันไม่ได้ สิ่งที่เราทำได้ก็คือการควบคุมความคิดของเราที่จะทำให้เรามีความสุขหรือความทุกข์ คิวรับบริการที่ยาวหรือการจราจรติดขัดทำให้ความดันของท่านสูงขึ้น พร้อมกับการหลั่งของฮอร์โมนที่ไม่เป็นมงคลอันเกิดจากความเครียด (มีชื่อว่า cortisol) ลองคิดดูว่าถ้าสิ่งเหล่านี้ไม่มีผลต่อตัวท่านเลย ชีวิตที่จะสั้นเข้า 1 ปีก็ไม่เกิด ดังนั้นมันแสนคุ้มระหว่างเวลา 1 ปี กับเวลาที่เสียไปเล็กน้อย

บางคนอาจบอกว่ามันเป็นวิธีคิดที่หลอกลวง ใช่ครับมันเป็นการจงใจหลอกตัวเองด้วยการตีความเพื่อให้เรามีความสุขขึ้น และนี่คือเครื่องมือที่เป็นประโยชน์

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” นสพ.กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันอังคารที่ 19 ธ.ค. 2560