ThaiPublica > เกาะกระแส > สภาวิศวกรทดสอบวิศวกรจีนรถไฟไทย-จีนรุ่นแรก 77 คน สอบผ่านเกณฑ์ – แจงต่อไปหากไม่มี ม.44 ต้องสอบใบอนุญาตตามกฎหมาย

สภาวิศวกรทดสอบวิศวกรจีนรถไฟไทย-จีนรุ่นแรก 77 คน สอบผ่านเกณฑ์ – แจงต่อไปหากไม่มี ม.44 ต้องสอบใบอนุญาตตามกฎหมาย

9 ตุลาคม 2017


ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการ สภาวิศวกร

เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2560 ศ.ดร.อมร พิมานมาศ เลขาธิการ สภาวิศวกร แถลงผลการดำเนินงานอบรมและทดสอบวิศวกรจีนที่จะเข้ามาปฏิบัติงานในโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ว่าการอบรมและทดสอบวิศวกรจีนในโครงการดังกล่าวเป็นไปตามคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 30/2560 โดยมีวิศวกรจีนที่จะเข้ารับการอบรมและทดสอบโดยสภาวิศวกรไทย จำนวน 400 คนโดยประมาณ ประกอบด้วยวิศวกรระดับ Professor professional, Senior professional และระดับ Professional ครอบคลุมสาขาวิศวกรรมโยธา ไฟฟ้า เครื่องกล และอื่นๆ

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ในการเจรจาได้มีข้อตกลงว่าส่วนของระบบอาณัติสัญญาณหรือระบบที่เกี่ยวข้องกับรถไฟความเร็วสูง วิศวกรจีนจะเป็นผู้ออกแบบ รวมไปถึงคุมงานก่อสร้างและรวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร อย่างไรก็ตาม การเจรจาดังกล่าวไปขัดต่อพระราชบัญญัติวิศวกร พ.ศ. 2542 และพระราชบัญญัติสถาปนิก พ.ศ. 2543 ซึ่งกำหนดให้วิศวกรและสถาปนิกที่ดำเนินงานในประเทศไทยต้องได้รับใบอนุญาต โดยผู้รับใบอนุญาตแบบทั่วไปมีข้อกำหนดว่าต้องมีสัญชาติไทย เนื่องจากประเด็นเรื่องความปลอดภัยของการก่อสร้างที่เกี่ยวพันกับชีวิตและทรัพย์ของผู้คนจำนวนมาก ให้สามารถติดตามตรวจสอบได้ ทั้งนี้สภาวิศวกรได้เปิดช่องสำหรับวิศวกรที่มีสัญชาติอื่นให้สามารถเข้ามาดำเนินงานได้ เพื่อส่งเสริมการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางวิศวกรรมจากวิศวกรต่างประเทศ โดยให้ขอใบอนุฐาตเป็นภาคีวิศวกรพิเศษ ซึ่งจะมีระยะเวลา 5 ปีและสามารถต่ออายุได้ ปัจจุบันมีการออกใบอนุญาตดังกล่าวแก่วิศวกรต่างชาติไปแล้วกว่า 180 ราย

“เรื่องที่เราต้องกำหนดให้วิศวกรต้องมีสัญชาติไทยเป็นประเด็นเรื่องความปลอดภัยเป็นหลัก เพราะหากให้ต่างชาติเข้ามาโดยเสรีแล้วสร้างความเสียหายขึ้นมา เราไม่สามารถติดตามกลับไปนำมาตัวมารับโทษทางกฎหมายได้ แต่เราก็เข้าใจว่าประเด็นเรื่องถ่ายทอดเทคโนโลยีจากวิศวกรต่างชาติที่อาจจะเชี่ยวชาญกว่าในบางเรื่องก็มีความสำคัญ เราก็เปิดช่องให้มารับใบอนุญาตเป็นภาคีวิศวกรพิเศษได้ นี่คือหลักการเรื่องใบอนุญาตวิศวกร ส่วนระยะต่อไปถ้าไม่มีคำสั่งอะไรเพิ่มเติมก็ต้องปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องคือต้องขอใบอนุญาตตามขั้นตอน” ศ. ดร.อมร กล่าว

ศ. ดร. อมร กล่าวต่อว่า การจัดอบรมและทดสอบวิศวกรจีนแบ่งออกเป็น 4 รุ่น ดังนี้ รุ่นที่ 1 วันที่ 22-25 กันยายน 2560 รุ่นที่ 2 วันที่ 12-15 ตุลาคม รุ่นที่ 3 วันที่ 27-30 ตุลาคม และรุ่นที่ 4 วันที่  10-13 พฤศจิกายน โดยทั้ง 4 รุ่นจัดที่นครเทียนจิน ประเทศจีน โดยหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบวิศวกรจีนมิได้เป็นการอบรมเรื่องรถไฟความเร็วสูงแต่เป็นการอบรมความรู้ในเรื่องที่วิศวกรจีนจำเป็นต้องรู้ก่อนเข้ามาปฏิบัติงานในประเทศไทย ทั้งในเรื่องข้อกฎหมาย และสภาพท้องที่ (local conditions) ของประเทศไทย เช่น สภาพทางธรณีวิทยา ชั้นดิน ลุ่มน้ำ และน้ำท่วม ตลอดจนภัยพิบัติทางธรรมชาติ เช่น แผ่นดินไหวและลมพายุในประเทศไทย ซึ่งเป็นข้อมูลพื้นฐานที่จำเป็นต่อการออกแบบและก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูง

ส่วนการอบรมและทดสอบวิศวกรจีนรุ่นที่ 1 ระหว่างวันที่ 22-25 กันยายน ที่ผ่านมานั้น มีวิศวกรจีนเข้ารับการอบรมและทดสอบจำนวน 77 คน ในส่วนของการทดสอบนั้นประกอบด้วยข้อสอบ 2 ชุด โดยชุดที่ 1 เกี่ยวข้องกับกฎหมายและจรรยาบรรณ มี 50 ข้อ เกณฑ์ผ่านพิจารณาที่ 60% หรือ 30 ข้อ ส่วนข้อสอบชุดที่ 2 เกี่ยวข้องกับด้านเทคนิคและสภาพท้องที่ของประเทศไทย มี 100 ข้อ เกณฑ์ผ่าน 60% หรือ 60 ข้อ โดยสภามิได้ทดสอบความรู้ทางวิศวกรรม เนื่องจากจีนมีความรู้เกี่ยวกับวิศวกรรมรถไฟความเร็วสูงมากกว่า

สำหรับผลการทดสอบวิศวกรจีน 77 คนในรุ่นที่ 1 นั้น ศ. ดร.อมร พิมานมาศ เปิดเผยว่า วิศวกรจีนทั้ง 77 คนผ่านการทดสอบข้อสอบชุดที่ 1 และ ชุดที่ 2 ทั้ง 77 คน โดยข้อสอบชุดที่ 1 คะแนนต่ำสุด 39 คะแนน สูงสุด 48 คะแนน และคะแนนเฉลี่ย 44 คะแนน ซึ่งผ่านเกณฑ์ 30 คะแนนทุกคน และสำหรับข้อสอบชุดที่ 2 คะแนนต่ำสุด 76 คะแนน สูงสุด 89 คะแนน และคะแนนเฉลี่ย 82 คะแนน ซึ่งผ่านเกณฑ์ 60 คะแนนทุกคน จากนี้ไป สภาวิศวกรจะออกใบรับรองผ่านการอบรมและทดสอบความรู้ให้แก่วิศวกรจีนในรุ่นที่ 1 นี้ เพื่อให้สามารถเข้ามาทำงานในประเทศไทยได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายต่อไป

ทั้งนี้ ศ. ดร.อมร กล่าวเพิ่มเติมว่า การทดสอบดังกล่าวจะออกเป็นเพียงใบรับรองอาศัยอำนาจทางกฎหมายตามคำสั่ง คสช. จำนวน 400 ราย ขณะที่การก่อสร้างในระยะต่อไปหากต้องใช้วิศวกรจากต่างประเทศ สภาฯ ได้เจรจาว่าต้องมาขอใบอนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมายที่มีอยู่ ซึ่งจะมีการทดสอบความรู้ทางวิศวกรรมเพิ่มเติม โดยต้องเข้าใจว่าในส่วนของวิศวกรรมที่เกี่ยวข้องกับรถไฟความเร็วสูง วิศวกรจีนมีประสบการณ์มากกว่า 20,000 กิโลเมตร ดังนั้นการทดสอบความรู้ดังกล่าวไม่น่าจะมีปัญหาแต่อย่างใด แต่เป็นเพียงขั้นตอนหรือประเด็นทางกฎหมายเท่านั้น

อนึ่งที่มาของการอบรมและทดสอบวิศวกรจีนที่จะเข้ามาปฏิบัติงานในโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมานั้น ก่อนหน้านี้ รัฐบาลได้มีแนวคิดว่าจะใช้ม.44 ปลดล็อคประเด็นปัญหาของรถไฟไทยจีน หลังจากมีความล่าช้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2560 ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยขณะไปเยือนญี่ปุ่นในช่วงวันที่ 5-8 มิถุนายน 2560 เพื่อหารือชวนเอกชนมาลงทุนไทย ก่อนที่ต่อมาเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2560 ดร.สมคิด ร่วมกับนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีส่าการกระทรวงคมนาคม แถลงย้ำถึงแนวคิดดังกล่าวว่าพร้อมที่จะนำเสนอในการประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในวันรุ่งขึ้น ขณะไปตรวจราชการ ณ กระทรวงคมนาคม และต่อมาในวันที่ 13 มิถุนายน 2560 ครม.ได้เห็นชอบกรอบแนวทางดังกล่าวและประกาศเป็นคำสั่งคสช.ในอีก 2 วันถัดมา

อย่างไรก็ตาม ต่อมาเมื่อวันที่ 16 มิถุนายน 2560 วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยในพระราชูปถัมภ์ (วสท.) ได้เริ่มออกมาคัดค้านคำสั่งดังกล่าวโดยให้เหตุผลว่าการใช้มาตรา 44 เร่งรัดโครงการฯนี้ ละเมิดข้อกฎหมายไทยหลายเรื่อง โดยเฉพาะการยกเว้นการสอบใบอนุญาต ก่อนเข้าทำงานในไทยของวิศวกรจีน อาจส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของประชาชน เนื่องจากขาดความรู้ความเข้าใจในสภาพแวดล้อมของไทย การใช้ ม.44 เป็นเรื่องไม่จำเป็น และเสียงบประมาณ โดยไม่ได้รับผลประโยชน์ใดๆ จากจีน และเชื่อว่าวิศวกรไทยมีศักยภาพไม่ด้อยกว่าวิศวกรต่างชาติ รัฐบาลควรเปิดโอกาสให้คนไทยร่วมเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ

ต่อมารัฐบาลได้ตอบสนองอย่างรวดเร็วหลังจากที่กระแสต่อต้านเริ่มขยายวงกว้างขึ้น โดยในวันที่ 19 มิถุนายน 2560 ช่วงเย็น นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีได้เชิญวสท. รวมไปถึงสภาวิศวกรและสภาสถาปนิกในฐานะผู้ออกใบอนุญาตเข้าหารือ ก่อนจะทำความเข้าใจกันและได้ข้อสรุปว่าให้วิศวกรจีนสามารถทำงานได้โดยต้องมาอบรมในประเด็นกฎหมาย จรรยาบรรณ และสภาพภูมิประเทศดังกล่าว

หมายเหตุ : แก้ไขล่าสุด 10 ตุลาคม 2560