ThaiPublica > Sustainability > Global Issues > Thailand SDGs Forum 2017#3: โรดแมปกระบวนการปลดล็อกสู่เป้าหมาย SDGs – จะบูรณาการความยั่งยืนเข้าไปในธุรกิจอย่างไร

Thailand SDGs Forum 2017#3: โรดแมปกระบวนการปลดล็อกสู่เป้าหมาย SDGs – จะบูรณาการความยั่งยืนเข้าไปในธุรกิจอย่างไร

12 กันยายน 2017


มูลนิธิมั่นพัฒนาและสำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้า จัดงานสัมมนา “Thailand SDGs Forum 2017#3: Positioning Thailand on SDG Map” เมื่อวันพฤหัสที่ 7 กันยายน 2560
ณ ห้องประชุมบอลรูม 2-3 โรงแรมคอนราด กรุงเทพฯ

(ภาพจากขวามาซ้าย) นายชล บุนนาค หัวหน้าโครงการประสานงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน , นายนัท วานิชยางกูร Managing Partner ERM-Siam, Co., Ltd., ดร.อำไพ หรคุณารักษ์ ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ),และนายธีระ ธัญญอนันต์ผล ผู้ดำเนินรายการ

ในงานสัมมนา “Thailand SDGs Forum 2017#3: Positioning Thailand on SDG Map” ได้มีวงเสวนาในหัวข้อ “Shaping Thailand, Unlocking Sustainable Growth” โดยมีวิทยากร ดร.อำไพ หรคุณารักษ์ ผู้อำนวยการด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ), นายนัท วานิชยางกูร Managing Partner ERM-Siam, Co., Ltd., นายชล บุนนาค หัวหน้าโครงการประสานงานการวิจัยเพื่อสนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืน และนายธีระ ธัญญอนันต์ผล เป็นผู้ดำเนินรายการ มีรายละเอียดดังนี้

หัวข้อ “Shaping Thailand, Unlocking Sustainable Growth” เป้าหมายเพื่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลความคืบหน้าในช่วงเวลา 2 ปีที่ผ่านมาหลัง 193 ประเทศทั่วโลก มีฉันทามติร่วมกันในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนในค.ศ.2030 เกิดความตื่นตัวอย่างยิ่งของภาคส่วนต่างๆ ในสังคม ปีนี้เองที่มีรายงานเกี่ยวกับ SDG อาทิ Atlas for Sustainable Developmentของธนาคารโลก รวมถึงข้อมูล งานวิจัยเกี่ยวกับรายงานชิ้นสำคัญของประเทศไทย ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของคำถามและคำตอบที่จะมีความกระจ่างชัดเกี่ยวกับ เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและทิศทางการพัฒนาที่ควรจะปลดล็อคประเทศไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนอย่างแท้จริงในอนาคต

ผู้ดำเนินรายการ: การขับเคลื่อนเรื่อง SDGs ของประเทศไทยเมื่อเทียบกับนานาชาติ ตอนนี้ไปถึงไหน เป็นอย่างไรบ้าง

ชล: หากสะท้อนจากการไปนิวยอร์กมา (งาน HLPF: High-level Political Forum on Sustainable Development ณ สำนักงานใหญ่องค์การสหประชาชาติ นครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา) จะเห็นว่าในระดับโลกให้ความสำคัญใน 2-3 ประเด็น

ประเด็นแรก คือ ให้ความสำคัญกับความเชื่อมโยงกันระหว่างเป้าหมายและเป้าประสงค์ของ SDGs เพราะว่าเป้าหมาย 17 เป้าหมายของ SDGs เป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ ฉะนั้นต้องมองอย่างเชื่อมโยงบูรณาการ ซึ่งแปลว่าในการดำเนินการต้องมีกลไกในการทำงานที่ ข้ามกระทรวง ทบวง กรม ข้ามภาคส่วน จึงจะสามารถบรรลุไปได้

อีกส่วนหนึ่งคือ เรื่องของการใช้ข้อมูล ซึ่งวันนี้ตั้งใจอยากจะโชว์ข้อมูลจากเวิลด์แบงก์และ Sustainable Development Solutions Network ได้ทำข้อมูลที่น่าสนใจ ซึ่งจะนำเสนอในส่วนที่เป็นบริบทของประเทศไทย

จากการจัดอันดับในปี 2016 ประเทศไทยอยู่อันดับที่ 55 มีคะแนนรวม SDGs อยู่ที่ 69.5 และเรามีประสิทธิภาพในแต่ละ Goal ที่มากน้อยแตกต่างกัน

สีเขียวหมายถึงเป้าหมายที่ทำได้ค่อนข้างดีแล้ว เช่น เรื่อง No Poverty เมื่อเทียบกับเส้นความยากจนระดับโลก แทบจะเรียกได้ว่าเราหลุดออกจากความยากจนแร้นแค้น เหลืออีกประมาณ 9% ของประชากรเท่านั้น แต่ส่วนอื่นๆ เช่น ส่วนที่เป็นสีแดง แปลว่าเร่งด่วนมาก ซึ่งวันนี้จะเจาะในประเด็นสีแดง

อันแรกคือเป้าหมายที่ 2 เรื่อง Zero Hunger โดย 2 ตัวชี้วัดที่เป็นปัญหาคือเรื่องของสภาวะแคระแกร็นในประเทศไทยมีประมาณ 16.3% ของประชากรที่อายุต่ำกว่า 5 ปี ส่วนประเทศที่มีภาวะแคระแกร็นจำนวนมาก เช่น อัฟกานิสถาน บุรุนดี หรือ ติมอร์-เลสเต

อีกประเด็นหนึ่งคือเรื่องการจัดการไนโตรเจนอย่างยั่งยืน ซึ่งเกี่ยวข้องกับเรื่องการใช้ปุ๋ย การทำเกษตรกรรม โดยมีการสื่อสาร 2 อย่าง คือ 1. เราใช้ไนโตรเจนมีประสิทธิภาพหรือไม่ 2. ผลผลิตที่ได้จากการใช้ปุ๋ยมากน้อยแค่ไหน เรื่องนี้ประเทศไทยได้คะแนน 0.9% อยู่ในเกณฑ์ที่ไม่ค่อยดี ซึ่งสะท้อนว่าเราอาจใช้ปุ๋ยมากเกินไป ใช้อย่างไม่มีประสิทธิภาพ

ด้านเป้าหมายที่ 3 (Good Health and Well-Being) ซึ่งในประเทศไทย กระทรวงสาธาณสุข ทำได้ดีมากๆ แต่เวลาเราดูในระดับตัวชี้วัด (Indicator) อาจจะมีบางประเด็นที่ต้องพัฒนา ซึ่งมี 2 ประเด็น คือ การเป็นวัณโรค และการตายจากอุบัติเหตุรถยนต์

ในเรื่องวัณโรคพบว่าลดลงอย่างต่อเนื่อง แต่มาคงตัวช่วงปี 2012 โดยปัจจุบันมีอัตราอยู่ที่ 172 รายต่อประชากรแสนคน ส่วนอัตราการตายบนท้องถนนเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ เราติดอยู่ในกลุ่มชั้นนำ รองจากประเทศซิมบับเว เวเนซุเอลา ไลบีเรีย โดยประเทศไทยอยู่ที่ประมาณ 31.7 รายต่อประชากรแสนคน

เป้าหมายที่ 9 (Industry, Innovation and Infrastructure) ซึ่งเกี่ยวข้องกับภาคเศรษฐกิจ มี 2 ตัวหลักๆ คือ สัดส่วนประชากรที่ใช้อินเทอร์เน็ต โดยสถิติปี 2015 อยู่ที่ 39.3% ของประชากร และสัดส่วนงานวิจัยอยู่ที่ 45% ของจีดีพี

ถ้าดูเป็นเทรนด์จะเห็นว่าคนไทยเข้าถึงอินเทอร์เน็ตสูงขึ้นเรื่อยๆ สถิติล่าสุดปี 2016 อยู่ที่ 47.5% ของประชากร ส่วนอัตราส่วนงานวิจัยต่อจีดีพียังอยู่ที่ 0.4% รั้งท้ายมาก และเทียบกันในแถบเอเชียเราก็ยังต่ำกว่าค่อนข้างมาก ถือเป็นความสำคัญเร่งด่วน ส่วนประเทศอย่าง เกาหลีใต้, อิสราเอล, ญี่ปุ่น, สวีเดน, เดนมาร์ก มีสัดส่วนงานวิจัยต่อจีดีพีมากกว่า 4%

ถ้าดูจำนวนนักวิจัย เรามีแนวโน้มที่ดีขึ้น เพิ่มขึ้น ปัจจุบันอยู่ 974 คนต่อประชากรหนึ่งล้านคน แต่ประเทศอย่างอิสราเอล, เดนมาร์ก ฟินแลนด์ เกาหลีใต้ สวีเดน หรือสิงค์โปร์ มีนักวิจัยอยู่ที่เกือบ 8 พันกว่าคนต่อประชกรหนึ่งล้านคน

ถัดมาเป้าหมายที่ 13 เรื่อง Climate Change ยังมี 2 ประเด็นที่เป็นปัญหาของประเทศไทย คือ เรื่องการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ (CO2) อยู่ที่ 4.5 ตัน/คน/ปี เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

อีกประเด็นคือเรื่องความเปราะบางต่อเรื่อง Climate Change ทั้งเรื่องภัยพิบัติ สภาพอากาศ การเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล การสูญเสียผลผลิตด้านการเกษตร ฯลฯ ของเราเรียกว่าอยู่ในเกณฑ์วิกฤติ ได้ 0.2 คะแนน

ในเรื่องป่าไม้ มีเรื่องสัตว์สงวนและอัตราการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ป่า ซึ่งเรื่องการเลี่ยนแปลง พื้นป่าต่อปีค่อนไปในทางสูง ปี 2014 ข้อมูลบอกว่าอยู่ที่ 6.4% ส่วนเรื่องสัตว์สงวนก็มีการ เปลี่ยนแปลงในทางลบ

ประเด็นสุดท้ายเรื่องเป้าหมายที่ 16 (Peace Justice and Strong Institution) ซึ่งเป็นเรื่องเร่งด่วนเช่นกัน เรามีปัญหาเรื่องอาชญากรรม มีปัญหาเรื่องจำนวนคนในคุก และปัญหาคอร์รัปชัน

เรื่องการฆาตกรรม ฟังในข่าวอาจจะดูมีจำนวนมาก แต่พบว่ามีแนวโน้มลดลง โดยปี 2014 มีอัตราการฆาตกรรมอยู่ที่ 3.9 ต่อแสนคน ส่วนเรื่องจำนวนประชากรในคุก โดยเฉลี่ยประเทศไทยมีประชากรอยู่ในคุก 461 คนต่อประชากรหนึ่งแสนคน

ขณะที่เรื่องคอร์รัปชัน ในปี 2016 ประเทศไทยมีเปอร์เซ็นต์ของบริษัทที่อย่างน้อยถูกเรียกให้จ่ายสินบนอยู่ที่ 9.9% ของบริษัทที่ประสบเหตุการณ์นี้ และเหตุการณ์ที่ถูกคาดหวังว่าจะต้องให้ของขวัญกับเจ้าพนักงานอยู่ที่ประมาณ 8.5% ซึ่งนี่คือข้อมูลภาพรวมเกี่ยวกับประเด็นที่เร่งด่วนในเมืองไทยที่ต้องแก้ไข

ผู้ดำเนินรายการ: จะเห็นว่ามีทั้งตัวชี้วัดที่มีแนวโน้มดีและตัวชี้วัดที่น่าเป็นห่วง ซึ่งในส่วนที่น่าเป็นห่วงติดล็อกเรื่องอะไรในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

ชล: เท่าที่พบจากการทำงานของภาครัฐและภาคส่วนต่างๆ จะเห็นว่า บางประเด็นที่มีหน่วยงานดูแลชัดเจนจะทำงานได้ค่อนข้างดี แต่บางประเด็นที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันระหว่างหลายหน่วยงาน จะเป็นประเด็นที่ค่อนข้างติดขัดพอสมควร

ยกตัวอย่างเช่น ประเด็นลดการตายจากอุบัติเหตุบนท้องถนน เกี่ยวพันกับหลายส่วน ทั้งกระทรวงคมนาคม กรมตำรวจ หรืออีกหลายกรมในกระทรวงคมนาคม ฉะนั้น เมื่อต้องทำงานร่วมกัน เรามักจะติดปัญหาเรื่องการเชื่อมประสานกันมากกว่า

โรดแมปบริบทแบบไทยๆ

ผู้ดำเนินรายการ: อาจารย์อำไพมองภาพ SDGs ที่ผ่านมาอย่างไร รวมถึงมีอะไรที่ต้องทบทวนในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา

อำไพ: จะขออนุญาตย้อนหลังว่า 2 ปีที่แล้วในบริบทโลกมีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นใหญ่ๆ 4 เหตุการณ์ที่สหประชาชาติถือเป็นเรื่องสำคัญ เรื่องแรกคือเมื่อต้นปี 2558 ในเดือนมีนาคม มีการตกลงเกี่ยวกับเรื่อง “กรอบการดำเนินงานเซนได” เพื่อลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมามีเรื่องภัยพิบัติเกิดขึ้นส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ต่อมนุษยชาติจำนวนมาก

ถัดมาในเดือนกรกฎาคม มีการตกลงเกี่ยวกับวาระ “ปฏิบัติการแอดดิสอาบาบา” ว่าด้วยการระดมทุนเพื่อการพัฒนา ถัดมาในเดือนกันยายนมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ซึ่งคือที่มาของ SDGs

และเมื่อปลายปี 2558 ก็พูดถึงเรื่อง “ข้อตกลงปารีส” (Paris Agreement) ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ ซึ่งก็สำคัญมาก เพราะกระทบกับชีวิตทุกคนที่อาศัยบนโลกนี้

ทั้ง 4 เหตุการณ์ใหญ่นี้มีเป้าหมายอย่างเดียวกัน คือต้องการที่จะพาโลกไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นบริบทโลก ซึ่งเรียกได้ว่ากำหนดสถานของเราในขณะนี้ ว่าทำไมเราถึงจะต้องมีข้อกังวลหรือจะต้องขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน

เมื่อกลับมาดูบริบทประเทศไทย ทั้ง 4 เรื่องนี้สหประชาชาติถือเป็นเรื่องสำคัญ ประเทศไทยก็รับมาทำในบทของเรา ซึ่งจะต้องแปลงในส่วนบริบทโลกเข้าสู่บริบทไทย กลไกสำคัญที่เกี่ยวข้องกับ SDGs เรามีการตั้งคณะกรรมการเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (กพย.) มีท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีการตั้งอนุกรรมการขึ้นมา 3 ชุด เพื่อดูแลเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยเน้นเรื่อง SDGs

อนุกรรมการชุดแรก คือชุดการขับเคลื่อน มีโรดแมปและข้อตกลงต่างๆ ชุดที่ 2 จะขับเคลื่อน เกี่ยวกับแนวคิดปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และชุดที่ 3 พูดถึงเรื่องข้อมูลและสถิติ

ทั้งหมดนี้ในการขับเคลื่อน ไม่ได้ทำตามจากในบริบทโลกที่พูดกัน แต่ว่าเราทอนเข้ามาสู่บริบทของไทย โดยอาศัยนโยบาย ยุทธศาสตร์ และแผนปฏิบัติการต่างๆ ในระดับชาติ ซึ่งมีหลายหน่วยงานช่วยกันทำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาครัฐบาล ทั้งด้านการวิจัยและหน่วยงานปฏิบัติ

แต่ในขณะเดียวกัน นอกจากภาครัฐที่รับผิดชอบ ไม่ว่าจะเป็นส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค ยังมีส่วนท้องถิ่น ซึ่งขณะนี้เริ่มมีบทบาทมากขึ้น ที่ท่านรัฐมนตรีพูดถึงเรื่องการลงสู่ชุมชน จังหวัด ตำบล ซึ่งเป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะว่าเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนจะปฏิบัติในระดับชาติหรือภูมิภาคอย่างเดียวคงไม่สำเร็จแน่นอน

รวมทั้งผู้มีบทบาทสำคัญ คือภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ซึ่งภาคเอกชนทราบว่ามีหลาย องค์กรที่ได้เริ่มแล้ว โดยหลังจากที่เรามีกลไก มีหลักการแนวทาง และมีการปฏิบัติ สิ่งที่สำคัญที่สุดซึ่งทาง UNDP ก็เน้นย้ำคือเรื่อง “การติดตามและประเมินผล” ถ้าหากเราจะเดินตามขบวนรถไฟของบริบทโลก ก็คงต้องทำตัวให้สามารถวัดได้ เพื่อจะไปเปรียบเทียบกับเขาได้ ซึ่งมีอยู่ 5 เรื่อง โดยจะกลับมานำเสนอต่อไป

จิ๊กซอว์ภาคเอกชน ยึดกรอบ 4 ข้อ

ผู้ดำเนินรายการ: ข้อมูลของ ดร.อำไพ ทำให้เห็นองค์ประกอบที่แต่ละภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งภาคเอกชนก็ถือเป็นจิ๊กซอว์สำคัญ คุณนัทมีโอกาสได้ให้คำปรึกษาหารือกับองค์กรธุรกิจภาคเอกชน อยากถามว่า 2 ปีที่ผ่านมา ขับเคลื่อนได้จริงหรือไม่ หรือเป็นการทำแค่พิธีกรรม หรือควรทำอะไรได้มากกว่านี้หรือไม่เกี่ยวกับเรื่อง SDGs

นัท: ผมเพิ่งไปประชุมกับลูกค้าของบริษัทในระดับภูมิภาคที่สิงคโปร์ จึงอยากนำบริบทตรงนั้นมาเล่าให้ฟังว่าบริษัทชั้นนำและตัวแทนบริษัทในประเทศไทยเขาทำอะไรกัน โดยเฉพาะ ปัญหาและอุปสรรค

ผมคิดว่าธีมของเราเป็นธีมที่บอกว่า วันนี้คุณทำเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนแล้วมันมีคุณค่า (Value) กับทางธุรกิจหรือไม่ สิ่งหนึ่งที่เราพบไม่ว่าจะทำเซอร์เวย์ในระดับโลกหรือระดับภูมิภาค คนที่ทำงานในเรื่องความยั่งยืนหรือแม้กระทั่งด้านสิ่งแวดล้อม ผมว่าเขาเจอประเด็นความท้าทายอยู่ 3 เรื่องที่ใกล้เคียงกัน

เรื่องแรก คือ งบประมาณเขาลดลงในการทำ เนื่องจากประสิทธิภาพ (Efficiency) ขององค์กรต้องดีขึ้น เรื่องที่สอง คือ ผล (Outcome) ที่เขาต้องทำให้กับองค์กรต้องดีขึ้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการปกป้องคุณค่าขององค์กร การบริหารความเสี่ยง ฯลฯ เรื่องที่สาม คือ คุณต้องซัพพอร์ตธุรกิจมากขึ้น

เพราะฉะนั้น ความท้าทายจริงๆ เวลาเราถามฝ่ายบริหารด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน มีความท้าทายเหมือนกัน คือสามข้อที่ว่านี้

ผมมีโอกาสได้เห็นการทำเซอร์เวย์ทั่วโลกของ ERM ที่ทำกับบริษัทข้ามชาติประมาณ 50 บริษัท แล้วเราก็ทำเซอร์เวย์กับกลุ่มบริษัทในอาเซียน พบว่าจริงๆ แล้วเราไม่น้อยหน้าเขาเลย หลายบริษัทในอาซียนที่เป็นบริษัทชั้นนำมีการกำหนดเป้าหมายด้านความยั่งยืน และมีการทำเรื่อง Value Creation Goal และ Target ที่ชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ปัญหาคือเรื่อง “การปฏิบัติ” (Execution) เหมือนกัน ถามว่าทำไมปัญหาคือเรื่องนี้ เช่น บางบริษัทที่ทำการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ที่สิงคโปร์ เป็นบริษัทที่โปรโมทและมีการนำ SDGs และเรื่องความยั่งยืนเข้ามาใช้อย่างจริงจัง

เขาบอกว่า คุณรู้ไหมว่าการได้โอกาสเข้าไปพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในสิงคโปร์มันยากแค่ไหน เพราะว่าพื้นที่ในสิงคโปร์มันน้อย เพราะฉะนั้น อะไรคือความได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive Advantage) ที่บริษัทจะต้องมี เขาก็พูดถึง Sustainable Land Development หรือ Sustainable Design ที่ต้องรวมเข้าไปใน Leading Package ของเขา เพื่อจะชนะคู่แข่ง ซึ่งเขาทำได้ดีมาก

อีกบริษัทหนึ่งให้ข้อคิดที่ดีว่า แม้กระทั่งบริษัทใหญ่ๆ เวลาจะทำเรื่องสิ่งที่ดีๆ ที่เขาอยากจะทำเรื่องของความยั่งยืน หรือเรื่องอะไรก็แล้วแต่ จริงๆแล้วไม่ได้ง่ายเสมอไป และสุดท้ายมันมาติดตรงที่ผลตอบแทนทางการเงิน (Financial Returns) พูดง่ายๆ คือ กรณีธุรกิจที่บอกว่าทำเรื่องนี้แล้วดี ที่เป็นเรื่องของ “เงิน” หรือประเด็นความเสี่ยง เป็นปัจจัยสำคัญ

และตัวอย่างสุดท้ายมีคนแชร์ว่า วันนี้จริงๆ คนที่ขับเคลื่อนเรื่อง SDGs ว่าเป็นแพลตฟอร์มในการพูดคุยกันหรือแม้กระทั่งการพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นแพลตฟอร์มในการพูดคุยคือ Financial Community หรือนักลงทุน

แต่ก็เช่นเดียวกัน เวลาไปทำโรดโชว์ นักลงทุนแต่ละประเทศหรือแต่ละภูมิภาค ไม่ได้ต้องการ เรื่องนี้เหมือนกันหมด นักลงทุนบางรายก็ยังมองในเรื่องผลตอบแทนทางเศรษฐกิจหรือผลตอบแทนทางการเงินเป็นสำคัญเหมือนกัน

ธีมหลักๆ ในส่วนที่สอง เป็นเรื่องของการ “บูรณาการ” (Integration) พูดง่ายๆ ว่าถ้าการพัฒนาอย่างยั่งยืนจะทำให้เกิดคุณค่ากับธุรกิจได้ ประเด็นคือเราจะบูรณาการเรื่องนี้เข้าไปในธุรกิจได้อย่างไร

มีโมเดล (ดูภาพประกอบ) ที่เราทำขึ้นมาจากการทำสำรวจ แล้วสรุปมาว่ามี 4 ขั้น ขั้นแรก คือ โฟกัสในเรื่อง “การปฏิบัติตาม” (Compliance), ขั้นที่ 2 คือโฟกัสในพื้นที่ที่เขารับผิดชอบอยู่ ยกตัวอย่างเช่น รับผิดชอบเรื่องความยั่งยืน ก็จะโฟกัสในเรื่องธุรกิจ เรื่องสังคม และสิ่งแวดล้อม ขั้นที่ 3 คือ ทำอย่างไรให้การดำเนินงานของเราได้ Value ด้วย และขั้นสุดท้ายคือ ทำอย่างไรให้เกิดผลลัพท์ทางธุรกิจด้วย (Business Outcomes) นี่คือผลจากการสำรวจระดับโลกที่เราทำ

หลายบริษัทยังอยู่ในขั้นที่ 3 ก็คือเอาเรื่องนี้ไปช่วยผลักดันในมิติที่ทำให้เกิดประสิทธิภาพดีขึ้น เกิดผลผลิตที่ดีขึ้นในองค์กร แล้วเราก็ถามว่าในอนาคตจะเป็นอย่างไร พูดง่ายๆ ว่าอยากจะไปที่ Sustainable Value Creation

นั่นหมายความว่า ถ้าเราจะเคลื่อนจากขั้นที่ 2 คือโฟกัสใน Outcome ของฟังก์ชันที่เราอยู่ ออกไปในมิติให้คุณค่ากับธุรกิจมากขึ้น การบูรณาการระหว่างคนที่ทำงานเรื่องการพัฒนาความยั่งยืนกับฟังก์ชันอื่นๆ ในองค์กรต้องดีขึ้น มันก็กลายเป็นความท้าทายว่า เราจะทำให้การบูรณาการนั้นดีขึ้นได้อย่างไร

ก็ถามเขาว่าอะไรเป็นปัจจัยที่ทำให้บูรณาการกันไม่ได้ โดยถาม 2 คำถามว่าอะไรเป็นปัจจัยสำคัญ? กับอีกคำถามว่าปัจจัยไหนที่ที่ทำยาก? ซึ่งปัจจัยที่สำคัญและทำยากคือ จะทำอย่างไรให้ธุรกิจหรือผู้บริหารเห็นในเรื่องของ Business Value จากการทำเรื่องความยั่งยืน

ในฐานะที่ปรึกษาเองก็ยาก อยากจะขอว่าจริงๆ มหาวิทยาลัยมีบทบาทเยอะมาก แล้วผมเห็นในหลายประเทศที่เขาผลักดันเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง มีชุมชนของมหาวิทยาลัยที่มาทำในเรื่อง Business Case ที่ทำให้มันชัดขึ้นว่าธุรกิจเขาจะได้ประโยชน์อะไรจากการทำเรื่องนี้

สุดท้ายคือ ในฐานะที่คนที่เป็นผู้นำ ที่ขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนขององค์กร คิดว่าอะไรคือความท้าทาย และต้องเปลี่ยนตัวเองอย่างไร? คำตอบก็คือ ทักษะของเขาต้องเปลี่ยนใน 3 ส่วน ถ้าจะบูรณาการในองค์กรให้ดีขึ้น 1. Business Acumen พวกเขาต้องมีความรู้ในธุรกิจให้ดีกว่านี้ ไม่อย่างนั้นก็จะเป็น Sustainability Focus แต่ไม่เข้าใจว่าจริงๆ ธุรกิจต้องการอะไร

2. ความเป็นผู้นำ (Leadership) ในตัวพวกเขาเอง อย่าลืมว่าคนสายนี้หลักๆ มาจาก Technical Skill เพราะฉะนั้นการที่จะมีอิทธิพลต่อผู้นำต่างๆ ในฟังก์ชันอื่นได้ Leadership by Influence เป็นเรื่องสำคัญ

3. วิธีการทำงานร่วมกัน (Collaborative Approach) ในที่นี้คือ ร่วมมือกับคนข้างในองค์กร พูดง่ายๆ ว่าคุณจะโน้มน้าวใจเขาอย่างไร

ในส่วนสุดท้ายเป็นเรื่องของ “เทคโนโลยี” ผลสำรวจออกมาไม่เยอะ ในภูมิภาคอาจยังไม่เห็นชัดเจนมากนัก แต่เขามองว่าเทคโนโลยีเป็นกุญแจอันหนึ่งที่สำคัญ แล้วการที่จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงวันนี้เราคงอยู่กับ Transaction Data ไม่ได้ ก็คือข้อมูล 200 กว่าตัว ตัวชี้วัดที่เราใส่ไปในรายงานการพัฒนาอย่างยั่งยืน แต่ไม่มีการเอาไปใช้งานเท่าไหร่ เพราะฉะนั้นคำตอบก็คือ จะทำยังไงให้เกิดการวิเคราะห์ ทำให้เกิด Business Context แล้วเอาข้อมูลนั้นมาใช้จริงๆ

ดังนั้นที่ ERM คุยกับลูกค้ามาทั่วโลก หลักๆ สรุปได้ 4 ข้อ คือ 1. เรื่องของความยั่งยืนไม่ใช่การบริหารความเสี่ยง แต่เป็นการสร้างมูลค่า หลายองค์กรยังทำเรื่องนี้เป็นการบริหารความเสี่ยงอยู่ 2. จะทำให้เกิดมูลค่าได้ คนที่ทำเรื่องความยั่งยืนต้องบูรณาการกับธุรกิจให้ได้ 3. ใช้ Data Analytics ใช้ “Big Data” ให้เป็น และ 4. คือ Partnership กับองค์กร (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม)

กระบวนการปลดล็อกอุปสรรค

ผู้ดำเนินรายการ: มาถึงช่วงนี้จะเน้นว่าจะทำอย่างไรเพื่อปลดล็อกสิ่งต่างๆ ที่ผ่านมา ในช่วงแรกอาจารย์อำไพบอกว่ามี 5 เรื่องที่ต้องปลดล็อก มีอะไรบ้าง และต้องดำเนินการอย่างไร

อำไพ: จะเห็นได้ว่าเรื่อง SDGs ในประเทศไทยอยู่ในร่องในรอยและเริ่มลงสู่การปฏิบัติแล้ว ซึ่งคงต้องเป็นเรื่องที่ต้องรีบทำและร่วมมือกันทำ เพราะว่าแนวคิดหลักๆ ของการพัฒนาที่ยั่งยืนมองเดี่ยวๆ ไม่ได้ ทุกอย่างต้องเชื่อมสัมพันธ์กันหมด

วงกลม 3 วงของการพัฒนาที่ยั่งยืน คือ เรื่องสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม จะเห็นได้ว่าเกี่ยวสัมพันธ์กัน เพราะฉะนั้นทุกฝ่ายต้องทำงานประสานกัน ถึงจะไปสู่เป้าหมายที่ทั่วโลกยอมรับและพวกเราก็ยอมรับ

ในส่วนล็อก 5 ตัวที่ดิฉันมองว่าประเทศไทยต้องช่วยกันปลดล็อก อย่างแรก คือ “การคิดเป็นระบบ” ยกตัวอย่างเคยมีคำกล่าวว่า สอนให้เขาตกปลาจะทำให้เขามีปลากินไปตลอดชีวิต มากกว่าให้ปลาเขาตัวเดียว

ประโยชน์ของการคิดเป็นระบบคือ แทนที่เราจะคิดแต่ละแท่ง แต่จะต้องอาศัยกลไกที่เรียกว่าช่วยให้ทั้งภาครัฐ เอกชน และประชาสังคมทำงานร่วมกัน แล้วแต่ละฝ่าย ยกตัวอย่างเช่น ภาคเอกชน เห็นตัวอย่างที่ดีมากจากแต่ละบริษัท แต่มีความเป็นไปได้ไหมที่จะทำร่วมกันเพื่อที่จะลดค่าใช้จ่าย และเพิ่มมูลค่า (value) ในการที่จะทำให้ผลงานดีขึ้น

ล็อกตัวที่สองคือ “ความชัดเจนของงานที่จะทำ” เรื่องนี้จะเห็นว่ามีคณะอนุกรรมการอยู่ 3 ชุด ชุดแรกจะกำหนดโรดแมป ชุดที่ 2 จะกำหนดว่าบริบทประเทศไทยจะขับเคลื่อนอย่างไร เพราะเท่าที่คุยกับฝ่ายที่ทำเรื่องข้อมูล ก็ค่อนข้างจะสับสนว่าข้อมูลตัวไหนที่จะต้องเก็บ ถ้าหากเราจะวัดว่าเราก้าวหน้าแค่ไหน เรื่องนี้ต้องให้ความสำคัญ

ล็อกตัวที่ 3 คือ “ความเชื่อมโยง” อย่างที่อาจารย์ชลนำเรียนถึงเป้าหมายเร่งด่วนต่างๆ เนื่องจากตั้งแต่เริ่มต้นทำงานเรื่อง SDGs ทางสหประชาชาติพยายามออกแบบให้เกี่ยวข้องกัน

ยกตัวอย่างเช่น เป้าหมายที่ 13 เรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเห็นว่าเป้าประสงค์ส่วนใหญ่จะพูดถึงเรื่องการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จนกระทั่งมีหลายคนถามว่าทำไมไม่สนใจเรื่องการลดคาร์บอนไดออกไซด์

จริงๆ เป้าหมายที่ 13 เน้นเรื่องของการปรับตัวรองรับ แต่ในเป้าหมายอื่นๆ ได้พูดถึงเรื่องการลดคาร์บอนไดออกไซด์ ยกตัวอย่างเช่น เป้าหมายที่ 7 พูดเรื่องการลดพลังงาน แม้กระทั่งเป้าหมายที่ 8 พูดเรื่องแรงงาน เป้าหมายที่ 9 พูดเรื่องอุตสาหกรรม เหล่านี้เป็นเป้าที่แฝงอยู่ แล้วดีไซน์ให้แต่ละเป้าประสงค์หรือตัวชี้วัดสามารถจะสะท้อนกันได้

ฉะนั้น เวลาเราทำงานก็ต้องคิดเช่นกันว่า เราสามารถทำได้ในเรื่องของเป้าที่ 13 แต่ก็ต้องคิดเผื่อไปว่าเป้าอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับเรื่องผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับสภาพภูมิอากาศเป็นอย่างไรบ้าง เพื่อช่วยให้การขับเคลื่อนการพัฒนาที่ยั่งยืนมากขึ้น

ล็อกที่ 4 คือ “การปฏิวัติการจัดการข้อมูล” เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันเป็นสังคมข้อมูลแล้ว แต่ข้อมูลส่วนใหญ่ที่มีอยู่จะทำอย่างไรจะใช้ข้อมูลเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีของมนุษยชาติ รวมถึงระบบนิเวศด้วย และต้องมีมาตรฐานตกลงให้ชัดเจนว่าข้อมูลตัวไหนจะใช้ในการชี้วัดสำหรับการก้าวเดินไปมากแค่ไหน

และล็อกสุดท้ายคือ “การระดมทุนเพื่อการพัฒนา” เรื่องนี้สหประชาชาติให้ความสำคัญ ตั้งเป็นวาระพิเศษ มีเรื่อง Financing for Development แต่ยังไม่มีการพูดคุยกันในประเทศไทย เพราะแนวคิดเดิมคือ ประเทศพัฒนาเอาเงินช่วยเหลือ หรือเงิน ODA (Official Development Assistance) มาช่วยเหลือประเทศกำลังพัฒนา

แต่แนวคิดใหม่ปัจจุบันนี้ก็คือ ทำอย่างไรที่ประเทศกำลังพัฒนาจะช่วยกันเอง ร่วมมือกัน ภาคเอกชนจะช่วยลงทุนกันได้อย่างไร ยกตัวอย่างในข้อตกลงปารีส มีการตั้งกองทุนภูมิอากาศสีเขียว (Green Economy Fund)

ดังนั้น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าติดตามและจับตาเป็นอย่างยิ่ง เพราะโมเดลนี้ซับซ้อน เพราะไม่ใช่เฉพาะเรื่องเงินช่วยเหลือ แต่เป็นเรื่อง Investment Model ที่ต้องการนวัตกรรมเป็นอย่างสูง ซึ่งภาคเอกชนสามารถช่วยได้อย่างยิ่งว่า ทำอย่างไรถึงจะได้ทุนมาช่วยเรื่องการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยที่ไม่ต้องสูญเสียการหากำไร อย่างไรก็ตาม ใน 5 ล็อกนี้สัมพันธ์กัน และหลายฝ่ายต้องช่วยกันปลดล็อกถึงจะสำเร็จ

ผู้ดำเนินรายการ: คุณนัทครับ เรื่องก้าวต่อไปในอนาคต

นัท: ผมฝากไว้ 3 ข้อสั้นๆ ว่า 1. หากเปรียบเทียบประเทศไทยกับที่อื่นหรือประเทศอื่น ส่วนใหญ่จะค่อนข้างอายที่จะบอกว่าทำดี หรือทำอะไรได้ดี หรือทำอะไรไปแล้วบ้าง ฉะนั้น ต้อง Advocate 2. ผมอยากจะฝาก เช่น ภาคเทคโนโลยี วันนี้คุณสามารถเข้าไปช่วยในเรื่อง สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society) หรือเศรษฐกิจหมุนเวียนได้ (Circular Economy)

3. อีกหนึ่งกุญแจที่สำคัญ คือ Financial Sector อย่างสิงคโปร์เขาประกาศเลยว่า เขาให้ทุนเลย ในเรื่องของ Green Bond หรือในเรื่อง Sustainable Finance และสุดท้ายฝากถึงมหาวิทยาลัยว่าจะทำอย่างไรให้มีหลักสูตรเรื่องนี้ขึ้นมา ให้มีงานวิจัยที่มาช่วยนักธุรกิจตัดสินใจหน่อยว่าจะนำมาใช้เรื่องอะไรดี

ผู้ดำเนินรายการ: เป้าหมายเร่งด่วนมีอะไรบ้าง เชิญอาจารย์ชลครับ

ชล: ผมคิดว่าเราต้องปลดล็อกเรื่อง “ความรู้” ก่อน ความเข้าใจเรื่อง SDGs ผมคิดว่าค่อนข้างน้อยมากในเมืองไทย ปัจจุบันในโลกมีองค์ความรู้และเครื่องมือสำหรับหลายภาค ส่วน แต่เรายังไม่เคยปลดล็อกมาใช้กัน

สอง คือ การปลดล็อกเรื่องการขับเคลื่อน มี 3 ประเด็นย่อย 1. เรายังไม่เคยคุยกันจริงๆ ว่าอนาคตที่เราอยากจะเห็นเมืองไทยที่เกิดจาก SDGs บริบทเป็นอย่างไร หน้าตาเป็นแบบไหน เราพูดถึงการขับเคลื่อน แต่เราเคลื่อนไปทางไหน 2. เราต้องปลดล็อกให้ SDGs ไม่เป็นเรื่องของภาครัฐ ภาครัฐต้องมีบทบาทเป็นผู้สนับสนุนบ้าง ให้ภาคเอกชนเป็นผู้นำ ให้ภาคประชาสังคมเป็นผู้นำ ให้ชุมชนเป็นผู้นำ แล้วระดมทรัพยากรมาให้คนเหล่านี้ และประเด็นสุดท้ายที่เป็นตัวล็อกที่สำคัญ คือ การให้ความสำคัญกับ “ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” (Stakeholder) ที่ควรจะถูกให้ความสำคัญจริงๆ ปัจจุบันเรามองผู้มีส่วนได้ส่วนเสียแค่ 3-4 กลุ่ม ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาควิชาการ แต่ในยูเอ็นเขาให้ความสำคัญกับ “กลุ่มคนเล็กคนน้อย” ด้วย รวมถึงคนพื้นเมือง แรงงาน ผู้หญิง เด็ก คนชรา คนพิการ สิ่งเหล่านี้เราไม่ค่อยมีการพูดถึงในวง SDGs ประเทศไทย

ดังนั้น เวลาเรามอง SDGs 17 เป้าหมาย ต้องมาโยงกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่สำคัญด้วย เราถึงจะเห็นภาพชัดขึ้นว่า เรากำลังทำให้คนที่มักจะถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง ไม่ถูกทิ้งไว้เบื้องหลัง (ดูรายละเอียดเพิ่มเติม)