ThaiPublica > คอลัมน์ > ไขปริศนาผลิตภาพของไทย ด้วยกุญแจข้อมูลจุลภาค

ไขปริศนาผลิตภาพของไทย ด้วยกุญแจข้อมูลจุลภาค

1 กันยายน 2017


อาชว์ ปวีณวัฒน์ [email protected] มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ฐิติมา ชูเชิด [email protected] นครินทร์ อมเรศ [email protected] ธนาคารแห่งประเทศไทย

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของบทความที่จะนำเสนอในการสัมมนาทางวิชาการประจำปี 2560 ของธนาคารแห่งประเทศไทยในหัวข้อ “เศรษฐกิจ คิดใหม่”
ในวันที่ 18-19 กันยายน 2560 (รายละเอียดที่นี่)

ที่มาภาพ : https://www.pier.or.th/wp-content/uploads/2017/08/shutterstock_548589673.jpg

งานวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์การพัฒนาที่ผ่านมาชี้ว่า ความแตกต่างด้านผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity: TFP) ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วและกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาเป็นปัจจัยสำคัญในการอธิบายความแตกต่างของรายได้เฉลี่ยต่อคนของประเทศในสองกลุ่มนี้ ซึ่งเป็นตัวชี้วัดความสามารถในการผลิตสินค้าและบริการที่ประชากรหนึ่งคนในประเทศนั้นๆ ผลิตได้ ดังนั้น ความเข้าใจเกี่ยวกับผลิตภาพการผลิตรวมจึงมีความสำคัญต่อพัฒนาการทางเศรษฐกิจของประเทศหนึ่งๆ ให้เติบโตโดยมีความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้นควบคู่ไปกับการยกระดับรายได้ของประชากรในประเทศ

นอกจากนี้ เมื่อย้อนกลับมามองที่ประเทศไทยจะพบว่า การที่ประเทศต้องประสบกับวิกฤติเศรษฐกิจและการเงินปี พ.ศ. 2540 มีผลทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี พ.ศ. 2541 ลดลงถึงร้อยละ 7.6 เมื่อเทียบกับอัตราการเติบโตเฉลี่ยในช่วงก่อนวิกฤติที่ประมาณร้อยละ 7 และถึงแม้ว่าในเวลาต่อมา เศรษฐกิจไทยจะฟื้นจากวิกฤติครั้งนั้นมาได้ แต่อัตราการเติบโตของผลิตภาพการผลิตรวมในระยะหลังกลับมีแนวโน้มลดลงเกือบเท่าตัว เมื่อเทียบกับช่วงก่อนวิกฤติที่เฉลี่ยร้อยละ 1.92 ต่อปี เหลือเพียงเฉลี่ยร้อยละ 0.92 ต่อปี

งานวิจัยที่ผ่านมาชี้ว่า ปัญหาการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพ (resource misallocation) เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ระดับผลิตภาพการผลิตรวมต่ำกว่าที่ควรจะเป็น และปัญหาดังกล่าวมีความสำคัญอย่างยิ่งในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา รวมถึงประเทศไทย ดังนั้น งานวิจัยชิ้นนี้จึงมุ่งศึกษาระดับผลิตภาพการผลิตรวมและประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรในภาคการผลิตของไทยโดยใช้ข้อมูลระดับโรงงาน และระดับร้านค้าจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งครอบคลุมระยะเวลาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2539 – 2556

การศึกษาข้อมูลในระดับจุลภาคชี้ให้เห็นว่า

    (1) ประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรของไทยอยู่ในระดับต่ำ เมื่อเทียบกับประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งมักจะถูกนำมาใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศเพราะจัดว่าเป็นประเทศที่มีการจัดสรรทรัพยากรได้ดีที่สุดประเทศหนึ่ง หากประเทศไทยสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรในภาคอุตสาหกรรมให้อยู่ในระดับเดียวกับประเทศสหรัฐอเมริกาได้ จะสามารถเพิ่มระดับผลผลิตจากภาคอุตสาหกรรมได้ถึงร้อยละ 81

    (2) ประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรของภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงเมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า หากใช้ข้อมูลความแตกต่างของผลผลิตต่อคนงานเป็นตัวชี้วัดอย่างง่ายตามรูปที่ 1 จะเห็นได้ชัดว่าความแตกต่างระหว่างผลผลิตต่อคนงานของโรงงานในกลุ่มที่ร้อยละ 10 แรกของจำนวนโรงงานอุตสาหกรรมทั้งหมดในปี พ.ศ. 2554 ปรับเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับปี พ.ศ. 2539 และปี พ.ศ. 2549

    และ (3) ปัญหาการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่เหมาะสมในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทยมีสาเหตุมาจากการบิดเบือนที่สัมพันธ์กับผลิตภาพการผลิตในระดับโรงงาน โดยโรงงานที่มีผลิตภาพสูงจะพบกับข้อจำกัดในการขยายขนาดสูง ทำให้โรงงานที่มีผลิตภาพสูงมีขนาดเล็กกว่าที่ควรจะเป็น ขณะที่โรงงานที่มีผลิตภาพต่ำกลับมีขนาดใหญ่กว่าที่ควรจะเป็น โดยงานวิจัยนี้ได้ตั้งข้อสังเกตว่านโยบายหรือข้อจำกัดที่ขึ้นอยู่กับขนาดของกิจการ เป็นสาเหตุหนึ่งของการบิดเบือนที่มีความสัมพันธ์กับผลิตภาพในระดับโรงงาน ซึ่งนอกจากจะมีผลต่อประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากรในระยะสั้นแล้ว ยังส่งผลต่อขนาดและระดับผลิตภาพของโรงงานในระยะยาวอีกด้วย

สำหรับภาคบริการนั้น ผลการศึกษาในระดับจุลภาคพบว่า ผลผลิตต่อคนงานในภาคบริการมีการกระจายตัวที่ดีขึ้นเห็นได้จากรูปที่ 2 ซึ่งสะท้อนว่า กลุ่มร้านค้าที่มีผลิตภาพต่ำได้ทยอยยกระดับผลิตภาพต่อคนงานให้เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับกลุ่มร้านค้าที่มีผลิตภาพสูงที่ร้อยละ 90 ของจำนวนร้านค้าทั้งหมด โดยส่วนหนึ่งเกิดจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของภาคบริการในช่วงปี พ.ศ. 2546-2556 ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างเต็มที่หลังเกิดวิกฤติการณ์ทางเศรษฐกิจปี พ.ศ. 2540 ประกอบกับเริ่มมีผู้ให้บริการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตมากขึ้นด้วย ส่งผลให้ผู้ประกอบการขนาดเล็กในหลายสาขาสามารถเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตของกิจการได้อย่างต่อเนื่อง เช่น การให้คำปรึกษาทางบัญชี กฎหมาย การตลาด และเทคโนโลยี บริการโฆษณา และการขายสินค้าทางไปรษณีย์

หมายเหตุ: ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

ป้ายคำ :