ThaiPublica > เกาะกระแส > EIC วิเคราะห์ชิ้นส่วนยานยนต์ไทย โอกาสและลู่ทางลงทุนสู่อุตสาหกรรมยานยนต์โลก

EIC วิเคราะห์ชิ้นส่วนยานยนต์ไทย โอกาสและลู่ทางลงทุนสู่อุตสาหกรรมยานยนต์โลก

9 สิงหาคม 2017


ศูนย์วิจัย EIC ธนาคารไทยพาณิชย์ วิเคราะห์ เรื่อง “ยกระดับชิ้นส่วนยานยนต์ไทย ก้าวไกลสู่อุตสาหกรรมยานยนต์โลก” โดยมองว่าในช่วงปี 2012-2016 การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไทยเติบโตที่ 4% โดยเฉพาะการส่งออกไปยังประเทศผู้ผลิตรถยนต์รายใหม่อย่างอินโดนีเซีย เม็กซิโก อินเดีย แอฟริกาใต้ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ซึ่งในปี 2016 การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ในกลุ่ม powertrain มีการเติบโตสูงสุดที่ 15% จากปีก่อนหน้า รองลงมาคือ ชิ้นส่วนยานยนต์ในกลุ่ม electronics และ body ที่เติบโต 6% เท่ากัน

อีไอซีแนะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยพิจารณาการลงทุนในประเทศที่การผลิตรถยนต์เติบโตแต่มีสัดส่วนผู้ผลิตชิ้นส่วนฯ ต่อค่ายรถยนต์ต่ำ เพื่อคว้าโอกาสทางธุรกิจ รวมถึงพัฒนาสินค้าเพื่อให้สามารถแข่งขันในตลาดเดิมและเพิ่มโอกาสในการทำตลาดกับค่ายรถยนต์รายอื่นๆ

ทั้งนี้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ไทยมีอัตราการเติบโตสูงถึง 4% ซึ่งสูงกว่าความต้องการรถยนต์ของโลกที่ขยายตัวขึ้นกว่า 3% โดยเฉพาะในครึ่งปีแรก 2017 ไทยมีการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์เป็นมูลค่ากว่า 7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เติบโตจากครึ่งปีแรก 2016 ถึง 12% ซึ่งประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย ประกอบไปด้วย กลุ่มผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ของโลกอย่างญี่ปุ่น, สหรัฐฯ และกลุ่มตลาดใหม่อย่างอินโดนีเซีย เม็กซิโก อินเดีย แอฟริกาใต้ ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ที่การขยายตัวของการผลิตรถยนต์ในประเทศสูงแต่ยังไม่สามารถผลิตชิ้นส่วนสำคัญบางประเภทได้ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าจากไทย

ในปี 2016 การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ในกลุ่ม powertrain ที่มีสัดส่วนมากกว่า 40% มีการเติบโตสูงถึง 15% จากปีก่อนหน้า ส่วนในกลุ่ม electronics และ body มีการเติบโตอยู่ที่ 6% เท่ากัน และกลุ่ม suspension มีการเติบโตอยู่ที่ 4% เมื่อพิจารณาการส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ตามประเภทสินค้าพบว่าชิ้นส่วนยานยนต์ในกลุ่ม powertrain อย่างชุดเกียร์มีการส่งออกในช่วงปี 2012-2016 เพิ่มขึ้นกว่า 60% โดยเฉลี่ยต่อปี รองลงมาเป็นการส่งออกเครื่องยนต์ดีเซลที่มีการเติบโตกว่า 13% โดยเฉพาะในปี 2016 การส่งออกชุดเกียร์และเครื่องยนต์ดีเซลมีมูลค่าการส่งออกกว่า 2.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

นอกจากนี้ ชิ้นส่วนยานยนต์ในกลุ่ม electronics, suspension และ body ที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ ชุดจอ LCD, ชุดเบรก และชุดแต่งตัวถังรถยนต์ ที่เติบโตกว่า 15%, 12% และ 5% ตามลำดับ ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าชิ้นส่วนยานยนต์ที่มีการส่งออกเพิ่มขึ้นทั้งหมดเป็นกลุ่มชิ้นส่วนที่มีมูลค่าเพิ่มสูง สะท้อนถึงความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยที่มีบทบาทสำคัญต่ออุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ในภูมิภาค

ค่ายรถยนต์มีแนวโน้มให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมชิ้นส่วนยานยนต์ไทยมากขึ้นด้วยการจัดตั้งศูนย์จัดหาชิ้นส่วนและกระจายชิ้นส่วนยานยนต์ไปทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็นการจัดตั้งศูนย์จัดหาชิ้นส่วนและอะไหล่ของ TOYOTA ในปี 2007 ตามมาด้วยการจัดตั้งศูนย์กระจายชิ้นส่วนของ MAZDA ในปี 2015 และศูนย์จัดหาชิ้นส่วนของ BMW ในปี 2016 โดยการเข้ามาลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนานี้ถือได้ว่าเป็นการสนับสนุนให้อุตสาหกรรมยานยนต์ไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยขนาดของห่วงโซ่อุปทานที่มีทั้งผู้ผลิตรถยนต์และผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์มากกว่า 2,000 ราย ซึ่งการขยายตัวของอุตสาหกรรมมีส่วนช่วยผลักดันให้ไทยก้าวมาเป็นผู้ส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์อันดับที่ 15 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกฯ รายใหญ่ที่สุดของภูมิภาคอาเซียนมานานกว่า 10 ปี

อีไอซีมองการขยายตัวในตลาดรถยนต์ของประเทศคู่ค้าเป็นโอกาสที่ดีสำหรับอุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ของไทย โดยเฉพาะกลุ่มคู่ค้าที่เป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหม่อย่าง เม็กซิโก อินเดีย อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ และฟิลิปปินส์ ซึ่งเป็นประเทศที่มีอัตราการเติบโตของการผลิตรถยนต์โดยเฉลี่ยสูงกว่าการเติบโตของการผลิตรถยนต์ของโลก อีกทั้งยังมีสัดส่วนของผู้ผลิตชิ้นส่วนต่อค่ายรถเฉลี่ยต่ำกว่า 50 รายต่อค่ายรถยนต์ ในขณะที่ไทยมีสัดส่วนผู้ผลิตชิ้นส่วนประมาณ 95 รายต่อค่ายรถยนต์ ทำให้ประเทศผู้ผลิตเหล่านี้ยังมีแนวโน้มนำเข้าชิ้นส่วนจากประเทศผู้ผลิตอื่นๆ เช่น ไทย ญี่ปุ่น และเยอรมนี เป็นต้น อย่างไรก็ดี แม้ประเทศคู่ค้าจะมีอัตราการเติบโตต่ำกว่า แต่ด้วยสัดส่วนการส่งออกรวมกันกว่า 30% หากมีการขยายตัวของอุตสาหกรรมการผลิตรถยนต์ของทั้ง 3 ประเทศจะส่งผลให้การส่งออกชิ้นส่วนยานยนต์ของไทยโตตามด้วย

อีไอซีแนะผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ไทยพิจารณาการลงทุนในประเทศที่การผลิตรถยนต์เติบโต แต่มีสัดส่วนผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ต่อค่ายรถยนต์ต่ำ เพื่อคว้าโอกาสทางธุรกิจ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจนมีความพร้อมในระดับหนึ่ง และมีแผนสนับสนุนอุตสาหกรรมยานยนต์ที่ชัดเจนอย่าง เม็กซิโก อินเดีย อินโดนีเซีย แอฟริกาใต้ และฟิลิปปินส์ เพราะมีแนวโน้มที่มีความคุ้มค่าต่อการลงทุน (feasibility of investment) สร้างโรงงานผลิตชิ้นส่วนจากการขยายตัวของการผลิตรถยนต์ของประเทศเหล่านี้ในอนาคต ทั้งนี้ ผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์จะต้องศึกษาเงื่อนไขการลงทุนให้ครบถ้วน เนื่องจากบางประเทศมีข้อตกลงการค้าระหว่างประเทศที่เอื้อต่อการส่งออกสินค้ามากกว่าการเข้าไปลงทุน

นอกจากนี้ ผู้ผลิตชิ้นส่วนควรเน้นการพัฒนาประสิทธิภาพและคุณภาพของสินค้าอย่างต่อเนื่อง เพื่อรักษายอดสั่งซื้อและขยายโอกาสใหม่ๆ จากค่ายรถยนต์หรือประเทศคู่ค้า ซึ่งผู้ผลิตชิ้นส่วนยานยนต์ควรใช้ประโยชน์จากการตั้งศูนย์จัดหาชิ้นส่วนของค่ายรถยนต์ต่างๆ เป็นโอกาสในการขยายการส่งออกสินค้าของตนผ่านค่ายรถยนต์ และการพัฒนาสินค้าจะช่วยเพิ่มโอกาสในการนำเสนอสินค้าแก่บริษัทคู่ค้าหรือค่ายรถยนต์ใหม่ๆ ซึ่งนำไปสู่ยอดสั่งซื้อสินค้าและรายได้ที่เพิ่มขึ้น