ThaiPublica > คอลัมน์ > ความเกลียดความไม่เเน่นอนของคนเรา: ambiguity aversion

ความเกลียดความไม่เเน่นอนของคนเรา: ambiguity aversion

21 กรกฎาคม 2017


ณัฐวุฒิ เผ่าทวี
www.powdthavee.co.uk

สมมติว่าในเหยือก (ที่คุณไม่สามารถมองเห็นข้างในได้) มีลูกบอลสีแดงอยู่ 30 ลูก และลูกบอลสีเหลืองรวมกับลูกบอลสีดำอยู่อีก 60 ลูก (แต่คุณไม่รู้ว่าในจำนวนลูกบอล 60 ลูกนี้มีกี่ลูกที่สีเหลืองและมีกี่ลูกที่สีดำ) ลูกบอลในเหยือกทั้งหมดถูกเขย่าให้ปนกัน — พูดอีกอย่างก็คือไม่มีใครรู้เลยว่าถ้าเราเอามือล้วงเข้าไปหยิบลูกบอลลูกหนึ่งออกมานั้นมันจะมีสีอะไร

สมมติว่าคุณมีตัวเลือกที่มีความเสี่ยงอยู่สองตัวเลือกนั่นก็คือ

ตัวเลือกที่ 1: คุณจะได้เงิน 10,000 บาททันทีถ้าคุณล้วงมือเข้าไปในเหยือกแล้วหยิบลูกบอลสีแดงออกมา

ตัวเลือกที่ 2: คุณจะได้เงิน 10,000 บาททันทีถ้าคุณล้วงมือเข้าไปในเหยือกแล้วหยิบลูกบอลสีดำออกมา

คุณจะเลือกตัวเลือกอะไรระหว่างตัวเลือกที่ 1 กับตัวเลือกที่ 2


เอาใหม่นะครับ สมมติว่า แทนที่เรามีตัวเลือกที่ 1 และ 2 ข้างบน เรากลับมีตัวเลือกที่ 3 และ 4 ข้างล่างนี้แทน (ทุกตัวเลือกยังมาจากการล้วงเอาลูกบอลจากเหยือกเดียวกันข้างบนที่ยังมีลูกบอลทั้งหมดอยู่ 90 ลูกนะครับ)

ตัวเลือกที่ 3: คุณจะได้เงิน 10,000 บาททันทีถ้าคุณล้วงมือเข้าไปในเหยือกแล้วหยิบลูกบอลสีแดงหรือลูกบอลสีเหลืองก็ได้ออกมา

ตัวเลือกที่ 4: คุณจะได้เงิน 10,000 บาททันทีถ้าคุณล้วงมือเข้าไปในเหยือกแล้วหยิบลูกบอลสีดำหรือลูกบอลสีเหลืองก็ได้ออกมา

คุณจะเลือกตัวเลือกอะไรระหว่างตัวเลือกที่ 3 และตัวเลือกที่ 4

ถ้าพูดกันตามหลักของ “ความเสี่ยงและความเป็นไปได้” แล้วล่ะก็ คุณควรจะเลือกตัวเลือกที่ 1 แทนตัวเลือกที่ 2 ก็ต่อเมื่อคุณแน่ใจว่าในเหยือกนั้นมีลูกบอลสีแดงมากกว่าลูกบอลสีดำจริงๆ (ซึ่งคุณไม่สามารถแน่ใจได้จริงๆ เพราะคุณไม่รู้ว่าในเหยือกนั้นมีลูกบอลสีดำกี่ลูก)

เช่นเดียวกัน คุณควรจะเลือกตัวเลือกที่ 3 แทนตัวเลือกที่ 4 ก็ต่อเมื่อคุณแน่ใจจริงๆ ว่าในเหยือกนั้นมีลูกบอลสีแดงและลูกบอลสีเหลืองมากกว่าลูกบอลสีดำและลูกบอลสีเหลืองจริงๆ (ซึ่งคุณไม่สามารถแน่ใจได้จริงๆ เช่นกัน)

ซึ่งหมายความว่า ถ้าคุณเลือกตัวเลือกที่ 1 แทนตัวเลือกที่ 2 คุณก็ควรจะเลือกตัวเลือกที่ 3 แทนตัวเลือกที่ 4 ทั้งนี้ก็เป็นเพราะว่าถ้าคุณคิดว่าโอกาสที่จะล้วงได้ลูกบอลสีแดงนั้นมีมากกว่าโอกาสที่นะได้สีดำ (เพราะคุณคิดว่ามีลูกบอลสีแดงมากกว่าลูกบอลสีดำ) คุณก็ควรจะคิดว่าโอกาสที่คุณจะล้วงได้ลูกบอลสีแดงหรือสีเหลืองมีมากกว่าการที่คุณจะล้วงได้ลูกบอลสีดำหรือสีเหลืองเช่นเดียวกัน

และในทางกลับกัน ถ้าคุณเลือกตัวเลือกที่ 2 แทนตัวเลือกที่ 1 คุณก็ควรจะเลือกตัวแทนที่ 4 แทนตัวเลือกที่ 3

แต่ถ้าคุณเหมือนคนอื่นๆ ทั่วไปล่ะก็ คุณคงจะเลือกตัวเลือกที่ 1 แทนตัวเลือกที่ 2 และเลือกตัวเลือกที่ 4 แทนตัวเลือกที่ 3 (มากกว่าตัวเลือกที่ 4 แทนตัวเลือกที่ 3)

เราเรียกคำถามทางด้านความคิดว่า Ellsberg Paradox นะครับ

คำถามก็คือ ทำไม inconsistency หรือความไม่ลงรอยกันในการตัดสินใจจึงเกิดขึ้นสำหรับคนส่วนใหญ่กัน

Inconsistency ในการตัดสินใจระหว่างสองตัวเลือกที่จริงๆ แล้วเหมือนๆ กัน (นั่นก็คือ 1 กับ 3 และ 2 กับ 4) เกิดขึ้นเพราะว่าคุณมีข้อมูลที่ค่อนข้างเด่นชัดในความเป็นไปได้ของตัวเลือก 1 กับ 4

จะให้พูดอีกอย่างก็คือ คนเราเกลียดความไม่ชัดเจนนะครับ ถึงแม้ว่าโอกาสที่จะได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่าจากตัวเลือกที่ไม่ค่อยชัดเจนอาจจะดีกว่าก็ตาม

เราเรียกอคติทางด้านความคิดนี้ว่า “ambiguity aversion” หรือการเกลียดความไม่แน่นอนของคนเรา

และ ambiguity aversion นี้นี่เองเป็นตัวอธิบายว่าทำไมคนเราส่วนใหญ่ชอบ “settle” หรือเลือกที่จะลงเอยในสิ่งหรือคนหรืองานที่เรารู้จักดี ถึงแม้ว่าเราอาจจะไม่มีความสุขกับมันมาก นั่นก็เป็นเพราะว่าตัวเลือกอื่นที่อาจจะดีกว่าที่เราเป็นอยู่ก็ได้มีความไม่ชัดเจน (หรือความไม่แน่นอนก็ได้) เข้ามาเกี่ยวข้อง

พูดง่ายๆ ก็คือ “Better the devil you know than the devil you don’t”

เอาคนไม่ดีที่เรารู้จักดี ดีกว่าเอาคนไม่ดีที่เราไม่รู้จัก