ThaiPublica > เกาะกระแส > ทีมไทยชนะประกวด “Grants4Apps Singapore” นวัตกรรมช่วยผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

ทีมไทยชนะประกวด “Grants4Apps Singapore” นวัตกรรมช่วยผู้ป่วยโรคเรื้อรัง

10 พฤษภาคม 2017


ไบเออร์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ สาขาผู้ประกอบการ (NUS Enterprise) ประกาศผลการประกวด Grants4Apps® Singapore ซึ่งเป็นการประกวดนวัตกรรมแบบระดมแนวคิด (Crowdsourcing) เพื่อช่วยให้ผู้ป่วยสูงวัยที่เป็นโรคเรื้อรังได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง โดยมีผู้สนใจจากทั่วเอเชียแปซิฟิกเข้าร่วมการประกวดทั้งสิ้น 80 ทีม ผู้ชนะการประกวดทั้งสามทีม คือ Pill Pocket จากประเทศไทย Glycoleap และ EyeDEA จากสิงคโปร์

ไบเออร์ได้จัดการประกวด Grants4Apps® Singapore โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ Grants4Apps® ในระดับโลก โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนแนวคิดและนักคิดด้านเทคโนโลยีเพื่อสุขภาพ (health-tech) โดยถือเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาการสร้างเสริมสุขภาพ ตลอดจนกระบวนการด้านยารักษาโรค สำหรับการประกวดรอบแรกระหว่างวันที่ 1 ธันวาคม 2559 ถึง 31 มีนาคม 2560 ในการประชุมหัวข้อ “Transforming Aging with Health Innovation” ที่ผ่านมานั้น ได้รับเกียรติจาก ดร.เอมี คอร์ รัฐมนตรีอาวุโส กระทรวงการสุขภาพ สิงคโปร์ ร่วมในกิจกรรม และมีผู้เข้าร่วมการประกวดจำนวนทั้งสิ้น 80 ทีม จากประเทศสิงคโปร์ ไทย อินเดีย ออสเตรเลีย ไต้หวัน เกาหลีใต้ และฟิลิปปินส์ ทั้งนี้ ยังมีผู้ที่สนใจเข้าร่วมการประกวดจากนอกภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้แก่จากประเทศสหรัฐอเมริกา เข้าร่วมโครงการด้วย

“โครงการ Grants4Apps® ได้พัฒนานวัตกรรมทางเทคโนโลยีและดิจิตอลเพื่อดูแลสุขภาพขึ้นในระดับโลก เราประทับใจอย่างยิ่งกับแนวคิดที่มีหลากหลาย ตลอดจนศักยภาพที่สูงของผู้เข้ารอบสุดท้ายในระดับภูมิภาค ซึ่งในครั้งนี้มุ่งเน้นเกี่ยวกับการปรับปรุงการได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่องในภาวะที่มีจำนวนผู้สูงวัยเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หลายๆ แนวคิดมีศักยภาพที่จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ป่วย แพทย์ ผู้บริโภค ในด้านการให้บริการดูแลสุขภาพถึงบ้าน รวมถึงการปรับปรุงผลการรักษาด้วย เรามีความยินดีอย่างยิ่งที่จะสนับสนุนให้ผู้ชนะได้ต่อยอดแนวคิดนวัตกรรมเหล่านี้” เคมาล มาลิก กรรมการบริหารและหัวหน้าส่วนนวัตกรรมของไบเออร์กล่าวระหว่างการมอบรางวัลให้กับผู้ชนะการประกวด

หลังจากการประเมินโครงการที่เข้าร่วมการประกวดอย่างเข้มข้นแล้วนั้น มีผู้ผ่านเข้าสู่รอบสุดท้ายจำนวนทั้งสิ้น 6 ทีม โดยได้รับการแนะนำและชี้แนะ เพื่อเข้าสู่การประกวดในรอบสุดท้ายเพื่อรับรางวัล ซึ่งพิธีการมอบรางวัลได้จัดขึ้นในงาน Innovfest Unbound ซึ่งเป็นรายการหนึ่งใน Singapore’s Smart Nation Innovations week 2017 ซึ่งนำเสนอการพัฒนานวัตกรรมที่ล้ำหน้าที่สุดในเอเชีย

ผู้ชนะการประกวด Grants4Apps® Singapore 2017 ได้แก่

Pill Pocket, Thailand

Pill Pocket เป็นการรวมทีมวิศวกรและนักพัฒนาด้านไอทีจากประเทศไทย

ทีมงานได้มีการพัฒนาโซลูชั่นแบบครบวงจร Pill Pocket ซึ่งให้ข้อมูลการรักษาด้วยยาในผู้ป่วยที่มีความดันโลหิตสูง โคเลสเตอรอลในเลือดสูง และมีภาวะโรคเบาหวาน Pill Pocket ประกอบไปด้วยโปรแกรม Chatbot ที่จะเชื่อมต่อไปยังการบริการเภสัชกรส่วนตัวอื่นๆ เช่น การตอบคำถามเกี่ยวกับสุขภาพและการรักษาในแบบเรียลไทม์ทันที การช่วยเหลือในการเติมยาและจัดส่งยาที่บ้าน แม้กระทั่งการติดตามดูแลรักษาต่อเนื่องโดยไม่มีค่าใช้จ่าย นอกจากนี้ยังมีส่วนประกอบที่เป็นการบันทึกประวัติสุขภาพแบบอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งทำหน้าที่ในการแจ้งเตือนในการรักษาและติดตามสุขภาพของผู้ใช้ได้ด้วย

ด้วยระยะเวลาการทำงานเกือบ 9 เดือน ขณะนี้ ได้มีการพัฒนาและเปิดตัวต้นแบบโดยให้บริการกับผู้ใช้จำนวน 16 ราย สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ติดตามได้ที่www.pillpocket.me

นายริอาซ บัคช ผู้จัดการทั่วไปกลุ่มธุรกิจฟาร์มาซูติคอล บริษัท ไบเออร์ไทย จำกัด กล่าวว่า “กลุ่มธุรกิจฟาร์มาซูติคอล ของไบเออร์ ให้ความสำคัญกับการผลักดันนวัตกรรมที่สร้างคุณภาพชีวิตที่ดี หลายปีมานี้ เราคิดค้น ทบทวน และมองหากลยุทธ์ ตลอดจนนวัตกรรมใหม่ๆ บนความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยมุ่งมั่นสร้างการพัฒนาอย่างยั่งยืนโดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยาและวิทยาศาสตร์เพื่อชีวิต โดยมี Grants4Apps เป็นหนึ่งในโครงการสำคัญ สำหรับปีนี้ ขอแสดงความยินดีกับทีม Pill Pocket จากประเทศไทยที่สามารถเป็นหนึ่งในผู้ชนะบนเวทีนานาชาติเป็นครั้งแรกด้วย”

Glycoleap by Holmusk, Singapore

Holmusk คือ บริษัทนวัตกรรมและวิเคราะห์ข้อมูลด้านสุขภาพในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งประกอบด้วยทีมหลากหลายสาขาวิชา เช่น แพทย์ นักโภชนาการ นักวิทยาการคอมพิวเตอร์ นักออกแบบหน้าเว็บไซต์ นักพัฒนาเว็บไซต์ และนักวิทยาศาสตร์ด้านข้อมูล

บริษัท Holmusk ได้พัฒนา Glycoleap ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่ง่ายต่อการใช้งาน เพื่อให้นักโภชนาการใช้ติดตามพฤติกรรมการรับประทานอาหารของผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน การวัดระดับกลูโคส ความหนักของกิจกรรมที่ทำ น้ำหนัก และการได้รับยาอย่างต่อเนื่องในแต่ละวัน จากการตรวจสอบระดับไกลโคเจน (Glycogen) ในแต่ละวันของผู้ป่วย นักโภชนาการสามารถตรวจสอบได้ว่าผู้ป่วยลืมรับยาหรือไม่ ด้วยการใช้เทคโนโลยีและการตรวจสอบพฤติกรรมของผู้ป่วย ทีมงานมีเป้าหมายที่จะลดปัญหาการไม่รับยาอย่างต่อเนื่องของผู้ป่วย ซึ่งสาเหตุหลักมาจากปัจจัยทางจิตเวชและแรงจูงใจ รวมถึงการขาดความรู้เกี่ยวกับความรุนแรงของผลกระทบที่จะตามมา

ด้วยระยะเวลาการทำงานในช่วง 2 ปี ขณะนี้ ได้มีการพัฒนาต้นแบบขึ้น และปัจจุบันมีผู้จ่ายเงินเพื่อใช้งานแอพพลิเคชั่นนี้แล้วจำนวน 25 ราย ทีมงานจึงดำเนินการพัฒนาโครงการวิจัยร่วมกับ SingHealth และ Duke-NUS เพื่อแสดงให้เห็นถึงประสิทธิภาพของแอพพลิเคชั่นดังกล่าว ทีมพัฒนากำลังมุ่งเน้นไปที่ผู้ป่วยโรคเบาหวานในประเทศสิงคโปร์และมาเลเซีย สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ติดตามได้ที่ เว็บไซต์ glycoleap.com และholmusk.com

EyeDEA, Singapore

EyeDEA ประกอบด้วยทีมหลากหลายสาขาวิชา เช่น จักษุแพทย์ พยาบาล เภสัชกร และนักศึกษาแพทย์ ภาควิชาจักษุวิทยา จากระบบกิจการสุขภาพของมหาวิทยาลัยแห่งชาติ (National University Health System) นักพัฒนาโปรแกรม และวิศวกรซอฟต์แวร์ แห่งมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ รวมถึงความร่วมมือจากผู้ประกอบการ

ทีมงานได้มีการพัฒนาผสมผสานระหว่างรูปแบบของบัตรและอุปกรณ์ที่สวมใส่ได้ ที่ช่วยปรับปรุงรูปแบบการใช้ยาหยอดตาของผู้ป่วยสูงวัยที่เป็นโรคต้อหิน (glaucoma) บัตรบันทึกประวัติการใช้ยาส่วนตัวที่ขนาดเท่ากระเป๋าใส่เงินนี้ ช่วยเพิ่มความเข้าใจให้แก่ผู้ป่วยและยังช่วยเตือนความจำในการรับยาให้กับผู้ป่วยได้ โดยสามารถสวมใส่ไปตามที่ต่างๆ ได้ โดยจะแจ้งเตือนและติดตามการใช้ยาหยอดตาของผู้ป่วยโรคต้อหิน ข้อมูลดังกล่าวยังสามารถถูกส่งไปยังแพทย์และผู้ดูแลผู้ป่วยโดยอัตโนมัติได้ด้วย อุปกรณ์นี้ทำขึ้นเพื่อให้ผู้ป่วยสูงวัยที่เป็นโรคต้อหินในประเทศสิงคโปร์ ซึ่งโดยปกติแล้วไม่มีสมาร์ทโฟนและมีความบกพร่องในการมองเห็นซึ่งเป็นข้อจำกัดในการใช้งานผ่านแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือซึ่งตัวอักษรมักมีขนาดเล็ก

ด้วยระยะเวลาการทำงาน 1 ปีแล้วนี้ ปัจจุบัน อยู่ระหว่างการทดลองใช้อุปกรณ์ต้นแบบกับผู้ป่วยสูงวัยที่เป็นโรคต้อหินจากโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยแห่งชาติ ซึ่งต้องใช้ยาหยอดตา 3 ชนิด อุปกรณ์ดังกล่าวมีศักยภาพในการใช้กับผู้ป่วยสูงวัยที่ต้องกินยาเพื่อรักษาโรคเรื้อรังอื่นๆ (เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง ฯลฯ) ได้ด้วย

ผู้เข้ารอบทีมอื่นที่ได้นำเสนอสุดท้ายนี้ ได้แก่

Pill-e, Singapore

Pill-e ประกอบด้วยทีมหลากหลายสาขาวิชา เช่น วิศวกรด้านไอที นักออกแบบและนักเขียนโปรแกรม เภสัชกร และทีมงานที่มีความรู้เกี่ยวกับวิทยาการหุ่นยนต์ และความเชี่ยวชาญด้านการวิเคราะห์ข้อมูลและการเงิน

ทีมพัฒนา Pill-e ได้คิดค้น “กล่องยาอัจฉริยะ” ซึ่งสามารถจ่ายาให้กับผู้สูงอายุเมื่อถึงเวลารับยาตามเวลาที่กำหนด โซลูชั่นนี้ ประกอบด้วย การรวมกล่องบรรจุยา เข้ากับ แอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งทำให้ง่ายและสะดวกสำหรับผู้ที่ดูแลผู้ป่วยและผู้ป่วยเองในการควบคุมการรับยาในชีวิตประจำวัน การแสดงข้อมูลแบบดิจิตอลทำให้สามารถติดตามปริมาณยาที่จ่ายออกไป และมีกลไกล็อคที่จะไม่ให้รับยาอย่างไม่ถูกต้อง จากความแตกต่างไปจากกล่องบรรจุยาโดยทั่วไปเนื่องจากมีระบบฟังก์ชั่นดิจิตอลนี้ Pill-e ยังมีราคาที่สามารถซื้อหาได้ และเป็นทางเลือกที่สะดวกในการจ่ายยา การพัฒนา Pill-e นั้น อ้างอิงมาจากผลการสำรวจในประเทศสิงคโปร์ อินเดีย และจีน

ด้วยระยะเวลาการทำงาน 3 เดือนแล้วนี้ ได้มีการพัฒนาต้นแบบขึ้น และมีแผนที่จะปรับปรุงอุปกรณ์ไปสู่ต้นแบบที่สามารถทำงานได้อย่างแบบเต็มรูปแบบ สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ติดตามได้ที่ https://pillenus.wixsite.com/home

Onward Health, India

Onward Health คือ บริษัทสตาร์ทอัพที่ตั้งอยู่ในประเทศอินเดีย ทีมงานมีประสบการณ์ในการทำงานด้านการดูแลสุขภาพในประเทศอินเดียและทั่วโลกมาอย่างยาวนาน และยังมีประวัติด้านการเขียนโปรแกรม การออกแบบซอฟต์แวร์ และโซลูชั่นด้านเทคโนโลยีอย่างดี

ทีมงานได้มีการพัฒนาแอพพลิเคชั่นเพื่อสื่อสารแบบสองทาง เพื่อให้ผู้ป่วยหลังการผ่าตัดปฎิบัติตามคำแนะนำของแพทย์ และยังกระตุ้นให้แพทย์ติดตามการรับยาอย่างต่อเนื่องและสภาวะสุขภาพของผู้ป่วยแบบเรียลไทม์ไปพร้อมๆ กัน แอพพลิเคชั่นยังช่วยจัดการการย้ายผู้ป่วยจากการดูแลรักษาที่โรงพยาบาล ไปยังการดูแลรักษาแบบผู้ป่วยนอกและการดูแลรักษาผู้ป่วยที่บ้าน โดยมุ่งเน้นการพักฟื้นของผู้ป่วยและการมีส่วนร่วมระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น แพทย์ และผู้ดูแลผู้ป่วย

ด้วยระยะเวลาการทำงานไม่ถึง 1 ปี ขณะนี้ได้มีการทดสอบต้นแบบในโรงพยาบาล 3 แห่ง กับผู้ป่วยหลังผ่าตัดประมาณ 75 รายต่อสัปดาห์

Intemed by SMJ Engineering, USA

SMJ Engineering คือ บริษัทด้านวิศวกรรมในประเทศสหรัฐอเมริกา ที่มีประสบการณ์มากกว่า 30 ปี ซึ่งทางบริษัทได้มีการจดทะเบียนสิทธิบัตรสำหรับการนำใช้งานในระดับอุตสาหกรรมแล้วจำนวนมาก

บริษัทได้มีการพัฒนาภาชนะบรรจุยา InteMed โดยการฝังชิปหน่วยความจำ และมีการเข้ารหัสเลขประจำตัว เพื่อระบุการรักษา โปรแกรมตารางการใช้ยา การสั่งซื้อยาใหม่ การแจ้งและการจ่ายยา แบบอัตโนมัติ รวมถึงสร้างบันทึกการรับยาด้วยระบบดิจิตัล เพื่อติดตามปฏิกิริยาต่อยา ข้อมูลใบสั่งแพทย์ และป้องกันการใช้ยาปลอม InterMed รวบรวมข้อมูลไว้บนสมาร์ทโฟนหรืออุปกรณ์สื่อสาร เชื่อมต่อเข้ากับเครื่องสั่งยาอัตโนมัติที่ร้านขายยา เพื่อการจัดยาด้วยระบบดิจิตอล โดยผู้เชี่ยวชาญด้านการดูแลสุขภาพ

ด้วยระยะเวลาการทำงาน 1 ปีครึ่ง ในขณะนี้ ได้มีการพัฒนาต้นแบบและอยู่ระหว่างรอการอนุมัติสิทธิบัตร สำหรับข้อมูลเพิ่มเติม ติดตามได้ที่www.intemed.net

คณะกรรมการประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิจากไบเออร์ NUS Enterprise และภาคอุตสาหกรรม ซึ่งได้ประเมินโครงการที่ร่วมการประกวดโดยตัดสินจากความเป็นต้นแบบและการนำมาใช้ได้จริง ทีมต่างๆ ควรสามารถนำเสนอแนวคิดนวัตกรรมที่จะสามารถทำให้เกิดขึ้นได้จริงภายในเวลาประมาณหกเดือน เพื่อให้สามมรถปรับปรุงการรักษาอย่างต่อเนื่องในผู้ป่วยสูงวัยที่เป็นโรคเรื้อรังได้ทั้งนี้ไม่มีข้อจำกัดในเรื่องของแพลตฟอร์ม ระบบปฏิบัติการ และ/หรือ เทคโนโลยีที่ใช้

“NUS Enterprise มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้ร่วมมือกับไบเออร์ใน Grants4Apps® Singapore ซึ่งมุ่งเน้นการได้รับการรักษาอย่างต่อเนื่อง เราประทับใจอย่างยิ่งกับคุณภาพของผู้เข้าร่วมการประกวด และเชื่อว่าแนวคิดตลอดจนนวัตกรรม ที่ได้นำเสนอในวันนี้จะช่วยแก้ปัญหาสังคม ทั้งในสิงคโปร์ ในภูมิภาค และอื่นๆ ต่อไป” ลิลี่ ชาน หัวหน้าคณะผู้บริหาร NUS Entreprise หนึ่งในกรรมการผู้ตัดสิน “Grants4Apps® Singapore” จาก NUS Entreprise กล่าว

แต่ละทีมที่ชนะการประกวดจะได้เงินรางวัลมูลค่า 10,000 เหรียญสิงคโปร์ และได้รับโอกาสในการได้รับคำแนะนำ รวมถึงการร่วมกับเครือข่ายไบเออร์ มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ ตลอดจนพันธมิตรในอุตสาหกรรมนี้ ในระดับภูมิภาคและระดับโลก นอกจากนี้ยังจะได้รับการบ่มเพาะ ซึ่งจัดโดย NUS Enterprise และได้เข้าสู่โครงการส่งเสริมธุรกิจแบบเร่งรัด Modern Aging ซึ่งจัดโดย ACCESS Health international ร่วมกับ NUS Enterprise ด้วย ทีมเหล่านี้อาจได้รับการคัดเลือกเข้าสู่โครงการ Grants4Apps® และ Grants4Apps® Accelerator ในระดับโลก ซึ่งให้โอกาสด้านเงินทุนสนับสนุน การรับคำแนะนำจากผู้บริหารของไบเออร์ รวมถึงเครือข่ายผู้ประกอบการในระดับนานาชาติ และ co-working space ที่ตั้งอยู่ในสำนักงานใหญ่ของกลุ่มธุรกิจฟาร์มาซูติคอลของไบเออร์ ณ กรุงเบอร์ลิน เยอรมนี ด้วย