ThaiPublica > คอลัมน์ > การเงินครัวเรือนชนบท ผ่านสองทศวรรษงานวิจัย Townsend Thai Project

การเงินครัวเรือนชนบท ผ่านสองทศวรรษงานวิจัย Townsend Thai Project

5 เมษายน 2017


กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ [email protected] University of California, San Diego

บทความนี้กลั่นกรองเนื้อหาจากบทความaBRIDGEd ฉบับเต็มเรื่อง “ฐานข้อมูลระดับครัวเรือนแบบตัวอย่างซ้ำเพื่อการพัฒนาองค์ความรู้ด้านเศรษฐกิจและสังคม: Townsend Thai Data”,“บทเรียนจากกองทุนหมู่บ้าน” และ “ข้อจำกัดด้านการกู้ยืมและการตัดสินใจเป็นผู้ประกอบการของครัวเรือนไทย” เผยแพร่ในเว็บไซต์ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

ที่มาภาพ : https://www.pier.or.th/wp-content/uploads/2015/09/stock010.jpg

ภาคครัวเรือนเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจ โดยในทางเศรษฐศาสตร์นั้น “ครัวเรือน” (household) มีบทบาทที่สำคัญ 2 ประการ บทบาทแรก คือ การเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตชนิดต่างๆ เช่น แรงงาน ที่ดิน และทุน โดยครัวเรือนทำหน้าที่ขายปัจจัยการผลิตต่างๆ ให้หน่วยธุรกิจ (firm) ใช้ในการผลิตสินค้าและบริการ ส่วนบทบาทที่สอง คือ การเป็นผู้บริโภคสินค้าและบริการที่ผลิตโดยหน่วยธุรกิจ บทบาททั้งสองของครัวเรือนนี้ ทำให้การศึกษาพฤติกรรมของครัวเรือนเป็นสิ่งจำเป็นต่อการทำความเข้าใจระบบเศรษฐกิจโดยรวม

กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ของครัวเรือนมีทั้งการประกอบอาชีพ การบริโภค การออม การลงทุน หรือการศึกษาเล่าเรียน เป็นต้น ซึ่งพฤติกรรมของครัวเรือนในกิจกรรมดังกล่าวล้วนมีความเกี่ยวข้องกับสถานภาพทางการเงินของครัวเรือน จึงไม่น่าแปลกใจว่าการเงินภาคครัวเรือนนั้นได้รับความสนใจอย่างมากทั้งในวงวิชาการและการกำหนดนโยบาย ซึ่งในมุมมองของการพัฒนาการเศรษฐกิจ การเข้าถึงบริการทางการเงินของครัวเรือนสามารถนำไปสู่การจัดสรรทรัพยากรในระบบเศรษฐกิจที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น อันนำไปสู่ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การลดความเหลื่อมล้ำ และการบรรเทาความยากจนของครัวเรือน

ในขณะเดียวกัน ปัญหาจากการเงินภาคครัวเรือนก็อาจก่อให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจในระดับมหภาคได้เช่นกัน ดังตัวอย่างจากวิกฤติเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2008-2009 ที่เริ่มมาจากปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (subprime mortgage) ในภาคครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม การศึกษาพฤติกรรมทางการเงินของครัวเรือนในทางปฏิบัตินั้นมีความซับซ้อนค่อนข้างมากอันเนื่องมาจากปัจจัยหลายประการ

    ปัจจัยประการแรก เกิดจากการนิยามความหมายของคำว่า “ครัวเรือน” ซึ่งในทางทฤษฎีเศรษฐศาสตร์นั้นประกอบด้วยบุคคลหรือกลุ่มบุคคลที่มีการตัดสินใจร่วมกันในการจัดสรรทรัพยากร แต่ในทางปฏิบัติ การนิยามครัวเรือนสำหรับการจัดเก็บข้อมูลทำได้ยากและมีความไม่ชัดเจน เช่น บุคคลใดบ้างที่อาศัยอยู่ร่วมกันในเคหะสถานที่สมควรจะนับอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน หรือในทางตรงกันข้าม บุคคลในครอบครัวเดียวกันที่อาศัยอยู่ในต่างพื้นที่แต่มีการปรึกษาและตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ร่วมกันนั้นสมควรที่จะนับอยู่ในครัวเรือนเดียวกันหรือไม่ ปัญหาดังกล่าวสามารถพบเห็นได้ทั่วไปในสังคมที่มีครอบครัวแบบขยาย (extended family) หรือสังคมที่มีการย้ายถิ่นฐานสูงโดยเฉพาะสังคมที่มีประชากรย้ายจากชนบทเข้าสู่ตัวเมืองในขณะที่สมาชิกครอบครัวยังมีการเกื้อหนุนค้ำจุนและพึ่งพากันผ่านเงินช่วยเหลือ (transfer and remittance) หรือเงินให้กู้ยืม (loan) ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในกรณีดังกล่าว การเก็บข้อมูลทางการเงินของครัวเรือนจึงต้องมีการจัดทำอย่างเป็นระบบ การนิยามครัวเรือนและธุรกรรมการเงินต่างๆ จะต้องสอดคล้องกับการนำข้อมูลไปใช้วิเคราะห์พฤติกรรมของครัวเรือนโดยหลักการทางเศรษฐศาสตร์

    ปัจจัยประการที่สอง ที่ทำให้การศึกษาการเงินภาคครัวเรือนทำได้ยากเกิดจากการที่ในโลกของความเป็นจริงนั้น บุคคลหรือครอบครัวหนึ่งๆ ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่ของครัวเรือนในการจัดหาปัจจัยการผลิตและบริโภคผลผลิตเท่านั้น แต่ยังทำหน้าที่เป็นหน่วยธุรกิจในการผลิตของระบบเศรษฐกิจทั้งในภาคการเกษตร (farm) และนอกภาคเกษตร (non-farm) อีกด้วย ดังนั้น ข้อมูลสินทรัพย์ หนี้สิน รายรับ และรายจ่ายต่างๆ จึงไม่สามารถแยกได้ชัดเจนว่ามาจากวัตถุประสงค์เพื่อการบริโภคหรือการผลิต เช่น บางครัวเรือนอาจใช้สิ่งปลูกสร้างเป็นทั้งบ้านพักอาศัย โรงเก็บวัตถุดิบ และร้านค้า หรือบางครัวเรือนอาจใช้เงินที่กู้ยืมมาเพื่อวัตถุประสงค์ทางธุรกิจไปซื้อสินค้าเพื่อการบริโภค ดังนั้น การวิเคราะห์พฤติกรรมของครัวเรือนจึงไม่สามารถแยกพฤติกรรมการบริโภคออกจากพฤติกรรมการผลิตได้ ความซับซ้อนดังกล่าวเป็นปัญหาที่พบเห็นได้ทั่วไปในประเทศกำลังพัฒนาที่กิจกรรมการผลิตจำนวนมากยังอยู่ในภาคนอกระบบ (informal sector) และวิสาหกิจครัวเรือน (household enterprises) มีบทบาทสำคัญในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในกรณีดังกล่าวอีกเช่นกัน

    ปัจจัยประการสุดท้าย ที่ทำให้การศึกษาการเงินภาคครัวเรือนมีความยุ่งยากเกิดจากการที่พฤติกรรมทางการเงิน นั้นมีองค์ประกอบทางด้านเวลาเข้ามาเกี่ยวข้อง การศึกษาการเงินภาคครัวเรือนจึงจำเป็นต้องมีการจัดเก็บข้อมูลซ้ำต่อเนื่อง ครอบคลุมช่วงเวลาที่ยาวนาน และมีความละเอียดเพียงพอ เพื่อให้นักวิจัยและผู้กำหนดนโยบายสามารถวิเคราะห์สถานภาพทางการเงิน ผลตอบแทน สภาพคล่อง และความเสี่ยงของครัวเรือนได้

สำหรับประเทศไทยนั้น หนึ่งในข้อมูลที่มีการจัดเก็บอย่างเป็นระบบ มีความละเอียด และมีความต่อเนื่องที่ค่อนข้างยาว คือชุดข้อมูลจากโครงการวิจัย Townsend Thai Project ซึ่งโครงการดังกล่าวได้มีการจัดเก็บข้อมูลครัวเรือนในประเทศไทยหลายชุด โดยทำการเก็บข้อมูลซ้ำทั้งรายเดือนและรายปีจากครัวเรือนเดิมในกลุ่มตัวอย่างซึ่งประกอบด้วยครัวเรือนทั้งในชนบทและชุมชนเมืองในหลายจังหวัด (aBRIDGEd no.14/2015) การจัดเก็บข้อมูลชุดแรกในโครงการได้เริ่มขึ้นในเดือนพฤษภาคม 2540 ดังนั้น ในเดือนพฤษภาคม 2560 นี้ โครงการ Townsend Thai Project จะมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์ ซึ่งในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา ได้มีงานวิจัยหลายชิ้นโดยนักวิจัยหลายท่านที่ใช้ข้อมูลจากโครงการดังกล่าวในการศึกษาแง่มุมต่างๆ ของการเงินครัวเรือนชนบทในประเทศไทย ซึ่งผลการศึกษาจากงานวิจัยหลายชิ้นได้บ่งชี้ถึงข้อจำกัดทางการเงินในหลายๆ ด้านที่ครัวเรือนในชนบทไทยประสบ

    1. ข้อจำกัดในการบริหารสภาพคล่องและการกระจายความเสี่ยง ครัวเรือนหลายแห่งมีสินทรัพย์ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของสินทรัพย์ถาวร (fixed asset) เช่น เครื่องจักร ยานพาหนะ และที่ดิน ซึ่งมีสภาพคล่องต่ำ และสินค้าคงคลัง (inventory) ที่รวมถึงผลผลิตทางการเกษตรซึ่งมีความผันผวนของราคาค่อนข้างสูง ยิ่งไปกว่านั้น ถึงแม้ว่าข้อมูลจากชุดโครงการวิจัยจะไม่สามารถนำมาประเมินมูลค่าของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ (intangible assets) แต่เราสามารถอนุมานได้ว่าปัญหาการบริหารสภาพคล่องและการกระจายความเสี่ยงสำหรับครัวเรือนที่สินทรัพย์ส่วนใหญ่อยู่ในรูปของสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ เช่น ทุนมนุษย์ (human capital) นั้น ยิ่งมีความสำคัญมากเนื่องจากสินทรัพย์ดังกล่าวไม่สามารถนำมาขายเป็นเงินสดหรือแลกเปลี่ยนเป็นสินทรัพย์อื่นได้

    2. ข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินเพื่อการลงทุนในธุรกิจ ครัวเรือนหลายแห่ง โดยเฉพาะครัวเรือนที่มีฐานะยากจน ประสบปัญหาในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนซึ่งมีผลทำให้ครัวเรือนดังกล่าวไม่สามารถรวบรวมทุนเพื่อเริ่มธุรกิจหรือขยายกิจการได้แม้ว่าครัวเรือนนั้นจะมีความสามารถในการผลิตและผลตอบแทนการลงทุนที่สูงก็ตาม (aBRIDGEd no.1/2017)

    3. ข้อจำกัดในการเข้าถึงอาชีพที่มีความเสี่ยงของรายได้ต่ำ การวิเคราะห์ข้อมูลจากโครงการวิจัยพบว่ารายได้ของหลายครัวเรือนมีความผันผวนค่อนข้างสูง ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความเสี่ยงทางการเงินที่ครัวเรือนชนบทในประเทศไทยเผชิญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ครัวเรือนที่มีฐานะยากจนซึ่งมักจะมีแนวโน้มที่มีความผันผวนของรายได้สูงกว่าครัวเรือนที่มีฐานะดีกว่า ยิ่งไปกว่านั้น อาชีพที่รายได้มีความผันผวนสูงก็ไม่ได้ให้ผลตอบแทนเพื่อชดเชยความเสี่ยง (risk premium) ที่สูงเพียงพอ ครัวเรือนที่มีฐานะยากจนหลายครัวเรือนจึงตกอยู่ในสภาพที่ต้องประกอบอาชีพที่มีความเสี่ยงสูงแต่ผลตอบแทนต่ำ

    4. ข้อจำกัดในการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ช่วยลดความผันผวนของการบริโภค งานวิจัยจาก Townsend Thai Project พบว่า การบริโภคของครัวเรือนมีความผันผวนน้อยกว่าความผันผวนของรายได้ ซึ่งความผันผวนที่ลดลงเป็นผลมาจากการช่วยเหลือกันเองระหว่างเครือญาติในรูปแบบของเงินช่วยเหลือหรือเงินให้กู้ เช่น ครัวเรือนที่ประสบปัญหารายได้ตกต่ำชั่วครั้งชั่วคราวจะได้รับความช่วยเหลือจากครัวเรือนที่มีรายได้ดีกว่าในช่วงเวลาเดียวกัน การช่วยเหลือดังกล่าวมีลักษณะต่างตอบแทน และสะท้อนให้เห็นถึงบทบาทของเครือข่ายทางครอบครัวและสังคม (family and social networks) ในการประกันและกระจายความเสี่ยงระหว่างครัวเรือน

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าครัวเรือนในชนบทไทยจะสามารถลดความเสี่ยงของการบริโภคส่วนหนึ่งโดยผ่านการช่วยเหลือเกื้อกูลกันระหว่างเครือญาติและเพื่อนฝูงได้นั้น ความสามารถดังกล่าวมีขีดจำกัด หลายครัวเรือนยังคงประสบกับความเสี่ยงอื่นๆ ที่ไม่สามารถลดทอนลงได้จากการช่วยเหลือระหว่างกันเอง เช่น ความเสี่ยงจากนาล่ม นาแล้ง หรือราคาผลผลิตตกต่ำ ซึ่งมีผลกระทบต่อครัวเรือนส่วนใหญ่ในท้องถิ่นพร้อมๆ กัน

ดังนั้น การจะลดความเสี่ยงดังกล่าวจำเป็นต้องพึ่งพาเครื่องมือทางการเงินอื่นๆ นอกเหนือจากระบบการเงินในท้องถิ่น เช่น การกู้ยืมจากสถาบันการเงิน ซึ่งผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากโครงการวิจัยพบว่าการบริโภคของครัวเรือนที่มีฐานะยากจนมีความผันผวนสูงกว่าของครัวเรือนที่มีฐานะดีกว่า อันบ่งชี้ถึงข้อจำกัดของครัวเรือนยากจนในการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ช่วยลดความผันผวนของการบริโภค

ถึงแม้ว่าข้อมูลจาก Townsend Thai Project จะมาจากกลุ่มตัวอย่างที่จำกัด แต่ผลการวิจัยที่ยกตัวอย่างข้างต้นชี้ให้เห็นว่า ครัวเรือนในชนบทไทยโดยเฉพาะอย่างยิ่งครัวเรือนที่มีฐานะยากจนนั้นเผชิญข้อจำกัดทางการเงินในหลายด้าน การลดข้อจำกัดดังกล่าวจะสามารถบรรเทาความยากจนและลดความผันผวนของการบริโภคของครัวเรือนได้

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากครัวเรือนในประเทศไทยมีความหลากหลาย การกำหนดนโยบายเพื่อช่วยลดข้อจำกัดทางการเงินต่างๆ จึงต้องออกแบบและนำไปใช้ด้วยความระมัดระวังเพื่อให้นโยบายส่งผลถึงประชากรกลุ่มเป้าหมายได้อย่างมีประสิทธิผลที่สุด มิฉะนั้นประโยชน์ที่ได้อาจจะไม่คุ้มต่อต้นทุนของนโยบาย ตัวอย่างเช่น ผลการวิจัยเรื่องนโยบายกองทุนหมู่บ้านโดยใช้ข้อมูลจาก Townsend Thai Project โดย Joseph Kaboski และ Robert Townsend พบว่าถึงแม้ว่ากองทุนหมู่บ้านจะช่วยลดข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนของหลายครัวเรือน แต่โครงการดังกล่าวไม่ได้ส่งผลให้ครัวเรือนจำนวนมากลงทุนเริ่มธุรกิจใหม่ หรือขยายกิจการที่มีอยู่แล้ว (aBRIDGEd no.1/2016) ดังนั้น โครงการดังกล่าวจะมีประสิทธิผลมากขึ้นหากมีการออกแบบนโยบายที่ตรงกับกลุ่มเป้าหมาย ตัวอย่างดังกล่าวตอกย้ำถึงประโยชน์และความจำเป็นในการศึกษาการเงินภาคครัวเรือนในประเทศไทยให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นต่อไป

หมายเหตุ:ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์