วรากรณ์ สามโกเศศ
ภาษาเป็นสิ่งที่ไม่อยู่นิ่ง เปลี่ยนแปลงพัฒนาอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะมีการเกิดของศัพท์ใหม่ๆ ในทุกภาษาเพื่อให้สามารถระบายความรู้สึกได้อย่างตรงใจและตรงกับสถานการณ์ น่าเสียดายที่ภาษาไทยไม่มีใครรวบรวมเก็บไว้เป็นหมวดหมู่ทั้งความหมายและที่มาข้ามเวลา ต่างไปจากภาษาอังกฤษที่มีการทำกันมายาวนาน วันนี้มีศัพท์อังกฤษอยู่คำหนึ่งที่แพร่หลายอย่างมาก โดยเฉพาะในอินเทอร์เน็ต ถ้าเราไม่เข้าใจความหมายของมันก็อ่านสิ่งที่เขาเขียนไม่รู้เรื่อง ความหมายของมันมีนัยยะที่น่าสนใจทางสังคมอยู่ไม่น้อย
ก่อนที่จะถึงคำนี้ขอกล่าวถึงคำใหม่อื่นๆ ที่มีการใช้กันแพร่หลายจนมีการเอาไปใส่ไว้ใน Oxford Dictionaries Online (ODO) ซึ่งเป็นการรวมคำทันสมัยไว้ให้ผู้คนใช้ประโยชน์ แต่จะยังไม่นำไปใส่ไว้ใน Oxford English Dictionary (OED) ซึ่งคลาสสิกสุดๆ ถ้าหากได้นำมาใส่ไว้ใน OED แล้วจะไม่มีวันเอาออกถึงแม้ว่าจะตกยุคไปแล้วก็ตาม
คำแรกก็คือ phablet ซึ่งมาจากการผสมคำของ phone กับ tablet คำนี้หมายถึง smartphones ที่มีจอขนาดใหญ่
คำที่สองคือ digital detox หมายถึงช่วงเวลาซึ่งคนคนหนึ่งไม่ใช้เครื่องมืออิเล็กทรอนิกส์ใดๆ ไม่ว่าคอมพิวเตอร์หรือสมาร์ทโฟน โดยถือกันว่าเป็นโอกาสที่จะลดความเครียด หรือลดปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นในสังคม เรียกว่า “การปลีกวิเวกดิจิทัล”
คำที่สาม FoMO ซึ่งมาจาก fear of missing out คือ กลัวว่าจะตกข่าวหรือเสียโอกาส หรือ ไม่รู้ ไม่ได้ดู ไม่เห็นเหตุการณ์อย่างต่างไปจากคนอื่นๆ FoMO เป็นสิ่งที่สร้างความวิตกกังวลให้แก่คนบางคนในสมัยปัจจุบันได้
คำที่สี่ ที่คนไทยรู้จักเพราะกรุงเทพฯ ได้กลายเป็นอันดับหนึ่งของโลกที่มีสิ่งนี้ นั่นก็คือ street food ซึ่งหมายถึงอาหารที่ขายริมถนน หรือสถานที่สาธารณะเพื่อการบริโภคกันตรงนั้นเลย
คำอื่นๆ ที่น่าสนใจ ได้แก่ Frankenfood หมายถึงอาหารที่มี GMO เป็นวัตถุดิบโดยมาจาก Frankenstein บวก food หรือ Grrrl เป็นคำนามหมายถึงผู้หญิงอายุน้อยที่อิสระ เข้มแข็ง และไปทางก้าวร้าว โดยเฉพาะมีทัศนคติต่อเพศชายในทางลบ (ผสม Grrrr กับ Girl)
sexting หมายถึงการส่งภาพอุจาดทางเพศอย่างชัดแจ้งผ่านสมาร์ทโฟน มาจากการผสม sex กับ texting ซึ่งหมายถึงการส่งข้อความหรือรูปภาพทางอินเทอร์เน็ต
คราวนี้มาถึงคำที่เป็นพระเอกของเราคือคำว่า meh (ออกเสียงว่า “แม่ะ “) เป็นคำอุทานซึ่งหมายถึงคำที่พูดออกมาด้วยอารมณ์ต่างๆ เพื่อแสดงออกถึงความรู้สึกที่เกิดขึ้นในขณะนั้น เช่น ดีใจ โกรธ เสียใจ เป็นต้น อย่างไรก็ดี ในกรณีนี้แสดงออกถึงอารมณ์ที่ยากจะบรรยาย
“ไปเที่ยวมาเป็นไงบ้าง” คำตอบคือ “meh” ซึ่งให้ความหมายที่ยากจะอธิบายได้ง่ายๆ คำสแลงนี้อาจไม่มีความหมายสำหรับคนที่ไม่ใช้มัน แต่สำหรับคนจำนวนมากมันเป็นคำที่บอกอารมณ์เราได้เหมาะเหม็งอย่างโดนใจ ในตัวอย่างข้างต้น meh ซึ่งมีความหมายไปทางลบ หมายถึง “น่าเบื่อ” “งั้นๆ แหละ” “เฉยๆ”
meh ใช้ได้ในหลายโอกาส ถ้าถามว่า “ไปกินข้าวด้วยกันไหม” คำตอบคือ “meh” ก็คือการไม่ตอบรับว่าไปหรือไม่ไป อาจหมายถึง “ไม่มีอารมณ์” หรือ “ไม่อยากตอบ” หรือแสดงออกถึงความไม่ไยดี ความเฉยเมย ความไม่สนใจ ฯลฯ
ถ้านักศึกษาบอกว่าการสอนของคุณ “meh” ก็หมายถึงว่า “ไม่น่าสนใจ” “ไม่มีอะไรเป็นพิเศษ” “น่าเบื่อ” หรืออาจหมายถึงการเฉยเมย ไม่ใยดี ที่จะตอบก็ได้ แต่ไม่ว่าจะหมายความอย่างไร มันก็คือไม่เข้าท่า ถึงเวลาต้องปรับปรุงตัวเองแล้ว
ไม่มีใครรู้อย่างแท้จริงว่า meh มาจากไหน บ้างก็ว่ามาจากภาษา Yiddish ของยิวเพราะคล้ายคลึงกับคำอุทาน “feh” ซึ่งมีความหมายคล้ายกัน โดยปรากฏอยู่ในเพลงที่แต่งในปี 1936
คนเริ่มรู้จักคำนี้และใช้กันบ้างหลังจากมีการใช้คำนี้ในซีรีย์การ์ตูน “The Simpsons” ระหว่างปี 1994 ถึง 2001 ต่อมาก็เริ่มใช้กันกว้างขวางยิ่งขึ้นในยุคอินเทอร์เน็ตเฟื่องฟู ในปี 2009 BBC News Online ใส่ meh ไว้ในรายการ 20 คำซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มคำที่บรรยายสิ่งที่เกิดขึ้นของทศวรรษ 2000 ได้ อย่างดี และนับตั้งแต่นั้นมา meh ก็ปรากฏตัวให้เห็นในอินเทอร์เน็ตที่เป็นภาษาอังกฤษเกือบทุกวันในหลายข้อเขียน
การเป็นที่นิยมของ meh สะท้อนให้เห็นอารมณ์ของคนในยุคปัจจุบัน ที่ความเบื่อหน่าย ความไม่ใยดี ความเฉยเมย ความรู้สึก “งั้นๆ” ครอบครองใจอยู่บ่อยๆ ในคนทุกวัยในแทบทุกประเทศ การเปลี่ยน แปลงที่รวดเร็วของชีวิตจนปรับตัวไม่ทันอันเนื่องมาจากเทคโนโลยีทำให้เกิดความยากในการบรรยายความรู้สึกของตนเอง และหากบรรยายก็มักไปในทางลบ ดังนั้น เมื่อ meh เกิดขึ้น จึงกลายเป็นคำอุทานที่แสดงถึงอารมณ์อันไม่อาจบรรยายได้ง่าย และสะท้อนความยากที่จะเอาใจคนเหล่านี้ที่มีทางเลือกมากมายในการสร้างความสุขให้ตนเอง
ในแต่ละวัน ผู้คนในโลกตะวันตกที่ใช้ภาษาอังกฤษ พูดคำว่า meh กันหลายครั้งเพื่อบรรยายอารมณ์ของตนเอง ในภาษาไทยเรายังไม่มีคลังคำ ที่แสดงออกถึงความรู้สึกเดียวกันได้อย่างดีถึงแม้ว่ามีคนไทยรุ่นใหม่จำนวนมากที่อยู่ในสภาพอารมณ์เดียวกันก็ตาม
การเรียนรู้ด้วยตนเองในโลกที่รายล้อมไปด้วยความรู้ดังเช่นในปัจจุบัน ความรู้สึก “meh” เป็นสิ่งอันตรายเพราะจะทำให้เป็นคนไม่ทันโลก ไม่ทันประเทศไทย 4.0 หรือแม้แต่ 3.0 เองก็เถอะ
ถ้าเอาข้อความที่เพิ่งกล่าวนี้ไปสอนคนรุ่นใหม่ เขาอาจบอกว่า “meh” ก็ได้…..ก็ไม่ว่าอะไร อย่างน้อยก็ดีใจที่เขารู้จักคำนี้
หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก คอลัมน์ “อาหารสมอง” กรุงเทพธุรกิจ อังคาร 14 มี.ค. 2560