ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > TMB Analytics เจาะเอสเอ็มอีไทยผ่าน Big Data จ้างงาน 13.4 ล้านคน – รายได้แค่ 10 ล้านล้าน

TMB Analytics เจาะเอสเอ็มอีไทยผ่าน Big Data จ้างงาน 13.4 ล้านคน – รายได้แค่ 10 ล้านล้าน

27 มีนาคม 2017


นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TBM Analytics

เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2560 นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics กล่าวถึงภาพธุรกิจเอสเอ็มอีจากข้อมูล Big Data ในงานแถลงข่าว “ถอดรหัสเศรษฐกิจ เจาะลึกธุรกิจไทยด้วย Big Data” ว่าจากข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย 337,102 บริษัท เป็นธุรกิจเอสเอ็มอี 334,521 ราย หรือประมาณ 99% ของธุรกิจทั้งหมด และจากรายได้รวมของธุรกิจทั่วประเทศไทย 23.3 ล้านล้านบาท มีประมาณ 43% หรือ 10 ล้านล้านบาท ที่เป็นรายได้ของธุรกิจเอสเอ็มอี นอกจากนี้จากการจ้างงานทั้งหมด 13.4 ล้านคน 80% เป็นการจ้างงานของธุรกิจเอสเอ็มอี

“ดังนั้นการลงทุนของเอกชนมีหลายคนรอคอยอยู่จะไม่ฟื้นขึ้นเลย หากธุรกิจเอสเอ็มอีเหล่านี้โตไม่ได้ บริษัทขนาดใหญ่มีเงินเหลือลงทุน แต่กลับไปลงทุนต่างประเทศแทน เขามีทางเลือกในการลงทุนเยอะกว่า ในจังหวะที่การลงทุนยังไม่ชัดเจน เขาก็แบกเงินไปที่อื่น ปีนี้ถามว่าใครจะผลักดันการลงทุนไทย ก็ต้องเอสเอ็มอี เขาไม่มีทางเลือกเยอะขนาดนั้น ส่วนใหญ่ก็ต้องลงทุนในไทย ขณะที่การจ้างงานที่สูงก็จะส่งผลไปยังการบริโภคของเอกชนด้วย เอสเอ็มอีจึงมีความสำคัญทั้งเชิงรายได้ โอกาสการลงทุน การจ้างงาน การบริโภค การกระจายตัวของเศรษฐกิจภูมิภาค” นายนริศกล่าว

หากเจาะลงไปรายประเภทของธุรกิจเอสเอ็มอีพบว่าส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ใน กทม. โดยรายได้ของธุรกิจเอสเอ็มอีในกทม. ประเภทการผลิต การค้า และการบริการ คิดเป็นสัดส่วนที่ 32%, 46% และ 55% ของรายได้ธุรกิจเอสเอ็มอีรวมในแต่ละประเภท ตามลำดับ และหากรวมหัวเมืองใหญ่ๆ ด้วยจะพบว่า ในภาพรวมรายได้ของธุรกิจในกทม.และหัวเมืองคิดเป็น 80% ของรายได้ธุรกิจเอสเอ็มอีทั้งประเทศ

เจาะรายจังหวัดรัฐต้องทำนโยบายที่แตกต่างกัน

นายนริศกล่าวต่อว่าเมื่อวิเคราะห์ลึกลงไป โดยดูในด้านศักยภาพของธุรกิจซึ่งพิจารณาจากแนวโน้มการเติบโตของรายได้และอัตราส่วนกำไรสุทธิ จะสามารถแบ่งธุรกิจ SME ทั้งประเทศออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่

1)กลุ่ม Potential ที่มีศักยภาพในการเติบโต พบว่าเป็นธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการค้าชายแดน ธุรกิจการท่องเที่ยว ตัวอย่างธุรกิจในกลุ่มนี้ ได้แก่ SME ที่อยู่ในจังหวัด จันทบุรี ตาก เชียงราย บึงกาฬ โดยหากได้รับแรงจูงใจในการขยายลงทุน อาทิ สิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานรองรับ ก็จะสามารถผลักดันให้ธุรกิจเติบโตได้อีก

2)กลุ่ม Matured ที่มีผลการดำเนินงานดีต่อเนื่อง พบว่าเป็น SME ที่อยู่ในจังหวัดใหญ่ซึ่งมีประชากรมาก ทำธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐาน หรือการเป็น Hub ของอุตสาหกรรม Hub ของโลจิสติกส์ หรืออีกนัยหนึ่งเป็นธุรกิจที่ได้รับประโยชน์หรือการสนับสนุนจากนโยบายภาครัฐ แม้เป็นกลุ่มที่ไม่น่าเป็นห่วง แต่ถ้ากลุ่มนี้สามารถยกระดับการพัฒนาก้าวไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ได้หรือพัฒนาผลิตภาพการผลิต จะทำให้ธุรกิจเติบโตได้อีกมาก และสามารถช่วยเหลือธุรกิจที่เกี่ยวข้องตลอดซัพพลายเชนให้ดีขึ้นตาม ตัวอย่างธุรกิจในกลุ่มนี้ได้แก่ SME ที่อยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ ชลบุรี ระยอง อุดรธานี สงขลา

3)กลุ่ม Challenged ที่กำลังเผชิญกับกับดักการเติบโต พบว่าเป็นธุรกิจทางการเกษตร และมักเป็นกิจการที่อยู่ในจังหวัดเล็ก ประชากรน้อย เป็นเมืองทางผ่าน ตัวอย่างธุรกิจในกลุ่มนี้ได้แก่ SME ที่อยู่ในจังหวัดสกลนคร ร้อยเอ็ด ปัจจัยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจของกลุ่มนี้ คงต้องใช้การพัฒนาธุรกิจทั้งห่วงโซ่การผลิตจากกลุ่มจังหวัดเพื่อนบ้านที่มีศักยภาพ

“ฉะนั้น กลุ่มแรกเขาต้องการแค่คนไปลงทุน เขาทำธุรกิจได้ดีอยู่แล้ว ถ้าลงทุนเพิ่ม เขากำไรแน่ๆ ไปได้โดยไม่ต้องพึ่งเงินภาครัฐ ส่วนกลุ่มที่สอง คือ กลุ่มที่เติบโตแล้ว มั่นคงแล้ว เรียกว่ามีทรัพยากรพร้อมที่ทำให้บริษัทเติบโต ตอบรับนโยบายยกระดับศักยภาพของรัฐบาล ส่วนกลุ่มสุดท้ายคือมีศักยภาพต่ำกว่าที่ควรจะเป็นแล้ว เหล่านี้ต้องการการสนับสนุนจากรัฐบาลมากกว่ากลุ่มอื่น จริงๆกลุ่ม” นายนริศ กล่าว

กังวลนโยบายทรัมป์ทำไม่ได้จริง ดึงตลาดเงินผันผวน

นายนริศกล่าวถึงปัจจัยเศรษฐกิจด้านอื่นๆ ว่า ยังคงรักษาการฟื้นตัวในระดับปานกลาง โดยขยายตัวได้ 3.3% ซึ่งมีปัจจัยขับเคลื่อนหลักมาจากการลงทุนภาครัฐและภาคการท่องเที่ยว ซึ่งในปีนี้คาดว่าการลงทุนภาครัฐจะเพิ่มขึ้นถึง 15% มาจากการลงทุนเมกะโปรเจกต์ประมาณ 2.4 แสนล้านบาท และงบพัฒนา 18 กลุ่มจังหวัด วงเงินกว่า 7.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งการลงทุนภาครัฐมีส่วนช่วยฟื้นการลงทุนภาคเอกชนให้ขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะในหมวดการก่อสร้าง แต่โดยรวมการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้ยังกลับมาได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะในกลุ่ม SME โดยคาดว่าเติบโตได้ 2% เพิ่มขึ้นไม่มากจากที่โต 0.5% ในปีที่ผ่านมา ซึ่งที่มาของการเติบโตยังคงเป็นตลาดเอเชีย โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV และอาเซียน-5 

สำหรับเครื่องยนต์หลักอีกด้านคือภาคการท่องเที่ยว ในปีนี้คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะแตะที่ 35 ล้านคน โดยนักท่องเที่ยวจีนที่ลดลงจากการปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายเมื่อปลายปีที่ผ่านมากลับสู่ภาวะปกติ รวมทั้งนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆขย ายตัวได้ดี  ในส่วนของการบริโภคภาคเอกชน มีแนวโน้มขยายตัวแต่ยังไม่เป็นอัตราเร่ง สิ่งที่มีความชัดเจนมากขึ้นคือ การกลับมาของการบริโภคสินค้าคงทน หนุนด้วยภาระหนี้โครงการรถยนต์คันแรกทยอยหมดลงและรายได้ภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้น

ส่วนเศรษฐกิจโลกว่าเป็นปีแห่งความผันผวน แม้เศรษฐกิจหลักมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่เติบโตดี หนุนด้วยตลาดแรงงานที่แข็งแกร่งและภาคการผลิตที่ขยายตัว นำไปสู่การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ต่อเนื่อง ตลาดการเงินโลกเตรียมรับแรงกดดันจากการไหลกลับของเงินทุน สภาพคล่องตึงตัว ค่าเงินดอลลาร์แข็ง บอนด์ยีลด์ปรับสูงขึ้น หมดยุคดอกเบี้ยต่ำ อย่างไรก็ดี สหรัฐฯ ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของทรัมป์ ซึ่งสุดท้ายอยู่ที่สภาคองเกรสว่าจะเห็นชอบให้ทำได้ในขอบเขตแค่ไหน

ด้านยูโรโซน เศรษฐกิจมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้นจากปีก่อนมาก แต่ยังถูกกดดันด้วยความเสี่ยงทางการเมืองที่ร้อนแรงจากการเลือกตั้งของประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะการเลือกตั้งของฝรั่งเศสในเดือนพฤษภาคมว่าจะเกิดปรากฏการณ์ Frexit  เป็นโดมิโนตาม Brexit หรือไม่ ส่วนเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง และคาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายกีดกันการค้าของทรัมป์อย่างรุนแรงในปีนี้