สฤณี อาชวานันทกุล
ตอนที่แล้วพูดถึงแนวคิด open data และ open government ผ่านดัชนี Open Government Index (OGI) ของโครงการ World Justice Project (WJP) และทิ้งท้ายด้วยคำถามบางข้อที่โครงการสุ่มถามประชาชนในแต่ละประเทศ เพื่อนำมาคิดคะแนนและจัดอันดับ
บางคนคงสงสัยว่า ทำไมโครงการ OGI ถึงสุ่มถามประชาชนคนธรรมดาด้วยคำถามเชิงทัศนคติอย่าง “คุณเคยไม่ไปขอข้อมูลจากราชการ เพราะไม่รู้ว่าขอได้หรือไม่?” “คุณเคยไม่ไปขอข้อมูลจากราชการ เพราะคิดว่าจะถูกปฏิเสธหรือไม่?” ทำไมไม่ไปถามผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องกับการเปิดข้อมูลของรัฐ และผู้เชี่ยวชาญด้าน open data?
คำตอบสั้นๆ คือ “รูปธรรม” ของระดับ “รัฐเปิด” ย่อมต้องวัดจากประชาชน ต่อให้รัฐเปิดข้อมูลมากมาย แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าเปิดแล้ว ยังไม่อยากไปขอข้อมูลเพราะเชื่อว่า ขอไปก็ไม่ได้ หรือต้องเสียเวลาเสียเงินเสียทองมากมายกว่าจะได้ข้อมูลมา – สถานการณ์เช่นนี้ย่อมแปลว่า รัฐยังไม่ได้ “เปิด” มากพอ ยังไม่ได้ใช้ความพยายามมากพอในการเพิ่มพลังของประชาชน
การเปิดข้อมูลเป็นสาธารณะช่วยยกระดับความโปร่งใสและขจัดคอรัปชั่นได้อย่างไร? ลองมาดูตัวอย่างจากประเทศอังกฤษกัน
ในปี 2009 เกิดกรณีอื้อฉาวในอังกฤษเกี่ยวกับการเบิกค่าใช้จ่ายชนิดผิดกฎหรือบิดเบือนกฎของสมาชิกสภา ทั้งสภาล่างและสภาสูงจำนวนมาก ลุกลามจนกลายเป็น “วิกฤตการเมือง” ที่ใหญ่ที่สุดในอังกฤษในรอบครึ่งศตวรรษ ส่งผลให้เกิดมหกรรมสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรตบเท้าลาออก ถูกไล่ออก ประกาศเกษียณอายุก่อนกำหนด ขอโทษต่อประชาชน ถูกฟ้องและศาลพิพากษาจำคุก หรือคืนเงินภาษีประชาชน นานหลายเดือนติดต่อกัน และส่งผลให้เกิดกระแสความไม่พอใจอย่างกว้างขวางในสังคม ก่อเกิดเป็นเสียงเรียกร้องการปฏิรูปการเมืองที่ลงลึกและกว้างขวาง ส่งผลให้มีกฎหมายและกฎกติกาใหม่ๆ ซึ่งทำให้อังกฤษมีระดับ “รัฐเปิด” สูงกว่าในอดีตมาก
เรื่องราวเริ่มต้นอย่างธรรมดาตั้งแต่ต้นปี ค.ศ. 2008 เมื่อนักข่าวพยายามทำข่าวเกี่ยวกับการเบิกเงินชดเชยค่าใช้จ่ายต่างๆ ของสมาชิกสภา “ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน” รวมถึงค่าเดินทาง ค่าโรงแรม ฯลฯ และค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการซื้อบ้านหลังที่สอง (ซึ่งหลายคนก็ข้องใจว่า “เกี่ยวข้อง” กับการทำหน้าที่สมาชิกสภาอย่างไร)
หลังจากที่ขอข้อมูลผ่านกฎหมายข้อมูลข่าวสาร และคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารอนุมัติให้รัฐเปิดข้อมูล รัฐสภาก็โต้แย้งคำสั่งทันที ไปฟ้องศาลโดยอ้างว่ามัน “คุกคามความเป็นส่วนตัวอย่างไม่ชอบด้วยกฎหมาย” ต่อมาในเดือนพฤษภาคมปีเดียวกัน ศาลสูงตัดสินให้เปิดรายละเอียดการเบิกค่าใช้จ่ายตามคำสั่งของคณะกรรมการข้อมูลข่าวสารของสมาชิกสภารายคน ซึ่งละเอียดถึงขั้น ‘ใบเสร็จ’ แต่ละรายการ
ในเมื่อมีคำตัดสินของศาล สภาก็ไม่อาจบิดพลิ้วได้อีก ปีต่อมาคือ 2009 รัฐสภาก็ประกาศว่าจะเปิดรายละเอียดโดยลบข้อมูลบางรายการที่มองว่า “อ่อนไหว” ออก ในเดือนกรกฎาคม 2009
แต่ก่อนที่รัฐสภาจะทันได้เปิดข้อมูล (ที่เซ็นเซอร์ข้อมูลบางรายการ) ก็มี “ผู้หวังดี” ส่งข้อมูลฉบับเต็มที่ไม่ถูกเซ็นเซอร์ไปยัง เดอะ เดลี่ เทเลกราฟ (The Daily Telegraph) สื่อยักษ์ใหญ่ในอังกฤษ เทเลกราฟเริ่มทยอยตีพิมพ์ข้อมูลดังกล่าวเป็นตอนๆ ตั้งแต่ต้นเดือนพฤษภาคม 2009
ข่าวเจาะเอ็กซ์คลูซีฟซีรีส์นี้ทำให้ชาวอังกฤษได้ถึง ‘บางอ้อ’ พร้อมกันเป็นครั้งแรกว่า สมาชิกสภาหลายสิบคน จากทุกพรรคการเมืองรวมถึงพรรครัฐบาลและ ‘คณะรัฐมนตรีเงา’ ของพรรคฝ่ายค้านนั้น จงใจบิดเบือน หลบเลี่ยง และฉวยโอกาสใช้ระบบการเบิกค่าใช้จ่ายเพื่อประโยชน์ส่วนตนขนาดไหน
ท่ามกลางกระแสความโกรธแค้นที่ลุกฮือขึ้นเรื่อยๆ รัฐบาลก็ ‘แก้เกม’ (บางคนบอกว่า ‘แก้เก้อ’ มากกว่า) ด้วยการเผยแพร่รายละเอียดการเบิกค่าใช้จ่ายและเงินชดเชยระหว่างปี 2004 ถึง 2008 บนเว็บไซต์ทางการของรัฐสภา ในวันที่ 18 มิถุนายน 2009 โดยเซ็นเซอร์รายละเอียดบางอย่าง อย่างเช่นที่อยู่ (รวมถึงที่อยู่ ‘บ้านหลังที่สอง’ ของสมาชิกสภาบางราย ซึ่งประชาชนข้องใจว่าเบิกเงินรัฐไปซื้อได้อย่างไร) และไม่เปิดเผยรายละเอียดของค่าใช้จ่ายที่สมาชิกสภาขอเบิก แต่ไม่ได้รับอนุมัติให้เบิก รวมถึงไม่เปิดเผยข้อมูลการติดต่อระหว่างสมาชิกสภากับสำนักงานด้านนี้ของสภา
การยกเว้นข้อมูลเหล่านี้ย่อมทำให้ประชาชนที่โกรธแค้นอยู่แล้วยิ่งโกรธกว่าเดิม คนจำนวนมากก่นด่าว่ารัฐสภามีเจตนาที่จะปิดบังข้อมูล อ้างเรื่องความลับโดยไม่ชอบธรรม หลายคนมองว่า การฉกฉวยโอกาสและหลบเลี่ยงกฎกติกาที่เลวร้ายที่สุดของ ส.ส. หลายคน จะไม่มีวันถูกเปิดเผยได้เลยถ้าหากมีแต่ข้อมูลที่รัฐบาลเปิดเอง
หลังจากที่รัฐบาลเผชิญกับเสียงเรียกร้องและความโกรธเกรี้ยวของประชาชน สุดท้ายก็ต้องจำนนต่อแรงกดดัน ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนค่าชดเชยที่เกี่ยวข้องกับ ‘บ้านหลังที่สอง’ ระหว่างปี 2004-2008 นำโดยอดีตข้าราชการระดับสูง คณะกรรมการเฉพาะกิจนี้ตีพิมพ์เผยแพร่ผลการตรวจสอบในเดือนตุลาคม 2009 หลังจากที่เปิดสภารอบใหม่ สมาชิกสภาแต่ละคนก็ได้รับจดหมายที่ระบุว่า จะต้องคืนค่าใช้จ่ายที่ขอเบิกมากน้อยหรือไม่เพียงใด
ต่อมาในปี ค.ศ. 2010 ส.ส. หลายคนถูกฟ้องในข้อหาตกแต่งบัญชีค่าใช้จ่าย ทุกคนสู้คดี แต่สุดท้ายก็ถูกศาลตัดสินจำคุก ในจำนวนนี้ เดวิด เชเทอร์ (David Chaytor) ส.ส. พรรคแรงงานถูกจำคุก 18 ปี ในข้อหาตกแต่งบัญชีและขอเบิกค่าใช้จ่ายที่ไม่ควรได้เบิกจำนวน £20,000 ส่วน เอลเลียต มอร์ลีย์ (Elliot Morley) ก็ถูกจำคุก 16 ปี ในข้อหาเบิกค่าใช้จ่าย £16,000 ไปผ่อนสินเชื่อบ้านที่ไม่มีอยู่จริง
ส่วน มาร์กาเร็ต มอแรน (Margaret Moran) สมาชิกสภาขุนนางหรือสภาสูง ใช้เงินภาษีประชาชนกว่า £22,000 ในการซ่อมแซมบ้านแฟน และเบิก ‘ค่าเดินทาง’ สำหรับการขับรถกว่า 50,000 กิโลเมตร ทั้งที่เขตของเธออยู่ห่างจากบ้านในลอนดอนเพียงไม่ถึง 60 กิโลเมตร ถูกตัดสินว่า ‘มีสติไม่สมประกอบบริบูรณ์’ พอที่จะขึ้นศาล
พ้นไปจากเรื่องฟ้องร้องในศาล สมาชิกสภาจำนวนมากออกมาขอโทษประชาชน คืนเงินที่เบิกเกินหรือเบิกโดยไม่สมควรได้เบิก บางคนประกาศไม่ลงเลือกตั้ง อีกหลายคนถูกหัวหน้าพรรคกดดันให้ไม่ลงเลือกตั้งในปี 2010
ในปี 2010 องค์กรอิสระใหม่หมาด ชื่อ Independent Parliamentary Standards Authority (IPSA – เว็บไซต์ www.parliamentarystandards.org.uk) ถูกจัดตั้งโดยกฎหมายใหม่ มีหน้าที่ติดตามตรวจสอบค่าใช้จ่ายของสมาชิกสภา และเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณะทุกปี
เรื่องราวที่เกิดขึ้นในอังกฤษบอกอะไรเราบ้าง?
จุดเริ่มต้นมาจากสื่อมวลชนมืออาชีพที่ ‘เจาะ’ ประเด็นสาธารณะเก่ง ไม่ใช่ใช้แต่วิธีมักง่ายอย่างเช่นเอาไมค์ไปจ่อปาก และเป็นลำโพงขยายเสียงให้รัฐ
ประชาชนเองในฐานะพลเมืองก็เป็นเดือดเป็นร้อนที่ได้เห็นข้อมูล ตั้งคำถามกับ ส.ส. ในฐานะตัวแทนประชาชน และ ‘กัดติด’ ไม่ปล่อย
สุดท้าย สมาชิกสภาเองเมื่อถูกแฉหลายคนก็ยอมรับโดยดุษณี ไม่ข่มขู่ว่าจะฟ้องร้องใครหรือแก้ตัวว่าไม่ได้ทำอะไรผิด ไปดูงานนะไม่ได้ไปเที่ยว ฯลฯ
ก่อเกิดกระแสหนุนการปฏิรูปจนนำมาซึ่งกฎกติกาใหม่ ทำให้ “รัฐเปิด” มากกว่าเดิมได้ในที่สุด.