ThaiPublica > เกาะกระแส > ธอส. เดินหน้า Digital Banking ชำระหนี้เงินกู้ได้ทุกที่ทุกเวลา – หนุนบ้านสังคมสูงวัย โครงการ Senior Complex

ธอส. เดินหน้า Digital Banking ชำระหนี้เงินกู้ได้ทุกที่ทุกเวลา – หนุนบ้านสังคมสูงวัย โครงการ Senior Complex

20 กุมภาพันธ์ 2017


นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)
นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.)

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการ ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ในปี 2560 ธอส. เตรียมปรับโครงสร้างองค์กรสู่ Digital Banking โดยจัดทำแผน Transformation to Digital Services สร้างนวัตกรรมผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และช่องทางการให้บริการโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เป็นตัวขับเคลื่อน ลูกค้าสามารถทำธุรกรรมการเงินผ่านดิจิทัล โดยจะพัฒนาไอทีทั้งระบบมาช่วยในการดำเนินธุรกิจ และการวางแผนทรัพยากรโดยรวมให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างสูงสุด

“ที่ต้องเร่งปรับปรุงอย่างเร่งด่วนตอนนี้คือเรื่องระบบการชำระเงินกู้ของธนาคาร เนื่องจากปัจจุบันธนาคารมีสินเชื่อที่อยู่อาศัยคงค้างอยู่ในพอร์ตกว่า 9 แสนล้านบาท ช่วง 3 วันสุดท้ายของทุกๆ เดือน ก็จะมีลูกค้าจำนวนมากนำเงินมาชำระหนี้ที่สาขาของธนาคาร ซึ่งผมเองก็ยอมรับว่าสาขาของธนาคารมีน้อย หายาก ครั้นจะเปิดสาขาในห้างสรรพสินค้าเพิ่ม ค่าเช่าก็แพง เพิ่มจำนวนพนักงาน เพื่อไปนั่งรับชำระหนี้เงินกู้แค่ 3 วัน ก็ยังไม่ใช่วิธีแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ ดังนั้น สิ่งที่จะมาตอบโจทย์ปัญหานี้ได้ คือ เครื่องรับชำระเงินกู้” นายฉัตรชัยกล่าว

นายฉัตรชัยกล่าวว่า เครื่องรับชำระหนี้เงินกู้ (LRM: Loan Repayment Machine) สามารถทำรายการชำระหนี้ได้ครั้งละหลายรายการ ยกตัวอย่าง ลูกค้าคีย์เลขบัญชีเงินกู้ บัญชีเงินกู้ที่ 1 ต้องการชำระหนี้ 5,000 บาท บัญชีเงินกู้ที่ 2 ชำระ 3,000 บาท และบัญชีที่ 3 ต้องการชำระ 700 บาท เครื่อง LRM จะคำนวณยอดเงินค่างวด แยกเป็นเงินต้นและดอกเบี้ยของแต่ละบัญชี และลูกค้าสามารถเลือกที่จะชำระหนี้มากกว่าปกติได้ด้วย จากนั้นเครื่อง LRM ก็จะรวมยอดเงินที่ต้องชำระ ลูกค้าเพียงแต่ใส่เงินเข้าไปที่เครื่อง LRM แล้วกด ENTER หรือ ทำรายการเพียงครั้งเดียว สามารถชำระหนี้เงินกู้ได้ 3 บัญชี เป็นต้น

เครื่องรับชำระหนี้เงินกู้
เครื่องรับชำระหนี้เงินกู้

ส่วนระบบเทคโนโลยีเพื่อการบริการ หรือ “IT Services” นายฉัตรชัยกล่าวว่า ธนาคารจะมุ่งเน้นยกระดับรูปแบบการให้บริการด้วย Mobile Application เพื่อตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ผู้บริโภคในยุคไทยแลนด์ 4.0 ที่ต้องการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ง่าย สะดวก รวดเร็ว และปลอดภัยในทุกที่ทุกเวลา เช่น บริการใบเสร็จรับชำระหนี้เงินกู้แบบอิเล็กทรอนิกส์ (GHB Smart Receipt) บริการจองคิวล่วงหน้า ฝาก ถอน และชำระหนี้เงินกู้ (GHB Smart Queue) และจะมีการส่ง SMS แจ้งเตือนเมื่อใกล้ถึงคิว เพื่อเข้าใช้บริการในช่องพิเศษโดยที่ไม่ต้องกดบัตรคิวรอ (GHB Smart Booth) ซึ่งออกแบบมาสำหรับให้บริการในงานมหกรรมการเงินต่างๆ โดยลูกค้าสามารถดูโปรโมชั่นพิเศษ และจองสิทธิ์ภายในงานได้ผ่านแอปพลิเคชัน

ทั้งนี้ลูกค้าสามารถติดต่อกับเจ้าหน้าที่ธนาคารผ่านช่องทาง Line Application เพื่อสอบถามข้อมูลการยื่นขอสินเชื่อบ้าน และฝากเงินกับ ธอส. GHB Smart Loan บริการสำหรับลูกค้าที่ต้องการขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย โดยสามารถพิจารณาวงเงินให้กู้ (Pre-approve) นัดวันยื่นเอกสาร แจ้งสาขาที่จะยื่นกู้ แจ้งสถานะยื่นกู้ ตลอดจนบริการเตือนให้ชำระหนี้เงินกู้รายเดือน GHB Mobile App บริการโอนเงิน การชำระค่าบริการ ชำระเงินกู้ และเป็นช่องทางในการแจ้งข้อมูลข่าวสารของธนาคาร

“แต่อย่างไรก็ตาม แอปพลิเคชันไลน์ของ ธอส. จะไม่ได้ผูกกับบัญชีเงินฝาก เนื่องจากลูกค้าของ ธอส. ส่วนใหญ่เป็นลูกค้ารายย่อย ไม่มีเงินฝากอยู่กับธนาคาร ถามว่าคุ้มหรือไม่ที่จะบังคับให้ลูกค้าเปิดบัญชีเงินฝาก 1 บัญชี เพื่อนำเงินมาฝาก ก่อนวันที่ 31 ของทุกเดือน ตลอด 1 เดือน ทำธุรกรรมเพียง 1 ครั้ง ถามว่าแอปพลิเคชันไลน์ ถ้าไม่ได้ผูกกับบัญชีเงินฝาก แล้วจะผูกอยู่กับอะไร ขณะนี้ธนาคารกำลังทดลองผูกกับบัตรเติมเงินและระบบพร้อมเพย์ ซึ่งอยู่ในช่วงทดลองใช้กับพนักงานของ ธอส. หลักการของบัตรเติมเงินก็คล้ายๆ กับบัญชีเงินฝาก คือ ธนาคารจะทำบัตรเติมเงินแจกให้กับลูกค้านำไปเติมเงินที่ร้านสะดวกซื้อ เพื่อทำการโอนเงินผ่านแอปพลิเคชันไลน์ และคาดว่าระบบนี้จะนำมาใช้กับลูกค้าทั่วไปได้ภายในเดือนมิถุนายน 2560 และลูกค้ารายใดไม่สะดวกวิธีนี้ก็จะโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ การปรับปรุงระบบการชำระเงินครั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าหมายลดจำนวนลูกค้าที่ไปใช้บริการชำระหนี้ที่สาขา 30% ก็ถือว่าประสบความสำเร็จ” นายฉัตรชัยกล่าว

นอกจากนี้ธนาคารยังมีแผนนำ VTM (Video Teller Machine) นำร่องให้บริการลูกค้า ซึ่งตู้ VTM เปรียบเสมือนการมาใช้บริการที่สาขาของธนาคารทั้งในและนอกเวลาทำการ บริการได้ทั้งฝาก-ถอน รับชำระหนี้เงินกู้ รวมถึงให้บริการด้านสินเชื่อ โดยผู้ใช้บริการจะได้พูดคุยกับพนักงานผ่านหน้าจอตู้ VTM รวมถึง LRM (Loan Repayment Machine) เป็นเครื่องรับชำระหนี้เงินกู้ที่สามารถติดตั้งนอกสถานที่ได้ เช่น สถานีรถไฟฟ้า ห้างสรรพสินค้า เพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าของธนาคารในการชำระหนี้เงินกู้ได้ทุกที่ทุกเวลา และลูกค้าสามารถรับใบเสร็จได้ทันที โดยธนาคารให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยมีระบบ Fraud Detection ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ในการตรวจสอบป้องกันการทุจริตและโจรกรรมในโลกไซเบอร์ ซึ่งเทคโนโลยีทั้งหมดนี้สามารถนำไปสู่การเป็น G H Bank Unmanned Branch ได้ต่อไปในอนาคต

พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุ โครงการ Senior Complex

สำหรับผลการดำเนินงาน ณ สิ้นปี 2559 เปรียบเทียบกับปี 2558 ธนาคาร สามารถปล่อยสินเชื่อใหม่ได้ทั้งสิ้น 168,136 ล้านบาท เพิ่มขึ้นประมาณ 7% คิดเป็น 143,041 บัญชี ส่งผลให้ธนาคารมียอดสินเชื่อคงค้างรวมทั้งสิ้น 936,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.58% สินทรัพย์รวม 977,948 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8.63% โดยมียอดเงินฝากรวม 780,787 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 7.48% มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) จำนวน 47,366 ล้านบาท คิดเป็น 5.06% ของยอดสินเชื่อรวม ลดลง 0.39% ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดทำมาตรการช่วยเหลือลูกค้าในรูปแบบต่างๆ เพื่อให้กลับมามีสถานะปกติและยังคงได้มีบ้านเป็นของตนเองเช่นเดิม ส่งผลให้ธนาคารยังคงมีกำไรสุทธิ 9,616 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10.53% ขณะที่อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ยังอยู่ที่ระดับแข็งแกร่งมากที่ 15.19% ซึ่งสูงกว่าอัตราเงินกองทุนขั้นต่ำ 8.50% ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย ส่วนปี 2560 ธนาคารตั้งเป้าหมายในการปล่อยสินเชื่อใหม่ไว้ที่ 178,224 ล้านบาท

นอกจากนี้ แผนงานความร่วมมือกับพันธมิตรผลักดันโครงการนโยบายรัฐตามแนวทางประชารัฐเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตด้านที่อยู่อาศัยให้ผู้มีรายได้น้อย และสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัยให้ผู้สูงอายุ โดยปีนี้จะร่วมมือกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จัดทำโครงการเพื่อสร้างโอกาสให้กลุ่มข้าราชการ ผู้สูงอายุ และผู้มีรายได้น้อยได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง ประกอบด้วย

1. โครงการ Senior Complex ซึ่งจัดสร้างบนที่ราชพัสดุ ต.บางละมุง อ.บางละมุง จ.ชลบุรี ลักษณะอาคารพักอาศัยรวม 632 ยูนิต สูง 8 ชั้น จำนวน 14 อาคาร สำหรับข้าราชการอายุ 55 ปีขึ้นไป โดยส่วนหนึ่งจะจัดทำเป็นสวัสดิการที่พักอาศัยของข้าราชการกรมกิจการผู้สูงอายุ ลักษณะอาคารพักอาศัยรวม สูง 6 ชั้น ประมาณ 400 ยูนิต ซึ่งธนาคารจะร่วมปล่อยสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยเงินกู้พิเศษ ทั้งเพื่อการพัฒนาโครงการ (Pre Finance) และสินเชื่อรายย่อย (Post Finance)

2. โครงการบางแค โดยเป็นอาคารพักอาศัยรวมสำหรับข้าราชการที่เกษียณอายุและผู้ด้อยโอกาส สูงประมาณ 5-8 ชั้น ซึ่งจะก่อสร้างบนที่ราชพัสดุบริเวณบ้านบางแคเดิม

3. โครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยชุมชนแนวคลองลาดพร้าว เป็นการก่อสร้างอาคารพักอาศัยรวมลักษณะบ้านเดี่ยวหรือบ้านแถว ซึ่งถือเป็นโครงการนำร่องจากจำนวนประชาชนที่อาศัยอยู่ในชุมชนตามแนวคลองที่รัฐบาลมีนโยบายให้เข้าร่วมโครงการทั้งหมด 11,004 ครอบครัว โดย ธอส. จะร่วมสมทบให้สินเชื่อเพื่อก่อสร้างอาคารหรือซื้อที่ดินในบางพื้นที่ และให้การสนับสนุนในลักษณะ CSR เพื่อก่อสร้างระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานให้กับชุมชน เป็นต้น

ขณะเดียวกันธนาคารยังพร้อมเดิมหน้าต่อยอดโครงการ ธอส. โรงเรียนการเงิน โดยใช้เทคโนโลยีเพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้มากยิ่งขึ้นในการส่งเสริมความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) เตรียมความพร้อมก่อนการมีบ้านในอนาคต โดยหลังจากเริ่มดำเนินโครงการมาตั้งแต่เดือนมิถุนายน 2559 ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2560 มีประชาชนทั่วประเทศมาลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการแล้วกว่า 16,000 ราย มีผู้ที่เปิดบัญชีเงินฝากตามเงื่อนไขของโครงการแล้วกว่า 1,000 ราย โดยตั้งเป้าหมายว่า ณ สิ้นปี 2560 จะมีผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการกว่า 30,000 ราย