ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธนาคารโลกเผยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว แม้ยังต่ำสุดในภูมิภาค – ชี้ “ดิจิทัล” ไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง

ธนาคารโลกเผยเศรษฐกิจไทยฟื้นตัว แม้ยังต่ำสุดในภูมิภาค – ชี้ “ดิจิทัล” ไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง

9 ธันวาคม 2016


ธนาคารโลก และ ทีดีอาร์ไอ จัดงานสัมมนาร่วมกันในหัวข้อ “แนวโน้มเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกและประเทศไทยใน ปี 2560”
ธนาคารโลก และ ทีดีอาร์ไอ จัดงานสัมมนาร่วมกันในหัวข้อ “แนวโน้มเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกและประเทศไทยใน ปี 2560”

เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2559 ธนาคารโลก และ ทีดีอาร์ไอ จัดงานสัมมนาร่วมกันในหัวข้อ “แนวโน้มเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกและประเทศไทยใน ปี 2560” โดย ดร.สุเดียร์ เชตตี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเซียตะวันออกและแปซิฟิก กลุ่มธนาคารโลก นำเสนอ “แนวโน้มการพัฒนาเศรษฐกิจของเอเซียตะวันออกในปี 2560” ว่าเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียตะวันออกยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและนำหน้าภูมิภาคอื่นในโลก โดยประเทศไทยถือว่าเติบโตต่ำสุดที่ประมาณ 3% อย่างไรก็ตาม ไทยมีแนวโน้มที่ปรับเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เทียบกับประเทศอื่นๆ จะมีแนวโน้มจะค่อนข้างคงที่กว่า โดยการเติบโตดังกล่าวได้รับแรงสนับสนุนสำคัญจากการใช้นโยบายการคลังแบบขาดดุลอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงการผ่อนปรนนโยบายการเงินในระยะเวลาที่ผ่านมา นอกจากนี้ ภาวะเงินเฟ้อ ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ และการลงทุนภาครัฐ ยังถือว่าต่ำและอ่อนแออยู่ในช่วงที่ผ่านมา

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่าจีนจะค่อยๆ ชะลอตัวลง แต่โดยรวมจะยังเติบโตได้ 6.7%, 6.5% และ 6.3% ในปี 2559, 2560 และ 2561 ตามลำดับ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคโดยรวมจะเติบโตอย่างคงที่ที่ 4.8%, 5% และ 5.1% ในปี 2559, 2560 และ 2561 ตามลำดับ และส่งผลให้โดยรวมทั้งภูมิภาค รวมจีน จะเติบโตได้ 5.8% ในปี 2559 และ 5.7% ในปี 2560-2561

ชี้ความเสี่ยง “โลกไม่โต-ตลาดเงินปั่นป่วน-ภาวะหนี้สูง”

ทั้งนี้ รายงานได้คาดการณ์ว่าอุปสงค์ภายในภูมิภาคจะยังคงเข็มแข็ง การที่ราคาสินค้ายังคงต่ำจะเป็นประโยชน์แก่ประเทศผู้นำเข้าสินค้าและทำให้เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่อไปอีก อย่างไรก็ตาม ภูมิภาคยังคงเผชิญกับความเสี่ยงอีกหลายประการ

1) การชะลอตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก จะส่งผลต่อการเติบโตประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย เนื่องจากการค้าของโลกจะชะลอตัวลงตามด้วยเช่นกัน โดยธนาคารโลกได้คาดการณ์ว่าการชะลอตัวลงของสหรัฐอเมริกา 1% จะกระทบกับเศรษฐกิจประเทศอื่นๆ และเศรษฐกิจโลกได้มากถึง 2% ในระยะเวลา 2 ปีถัดไป นอกจากนี้ ตั้งแต่ช่วงหลังวิกฤติ โลกได้เผชิญปรากฏการณ์ใหม่ที่การค้าโลกลดลงอย่างเห็นได้ชัด ทั้งจำนวนการค้าและการกีดกันทางการค้า ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อเศรษฐกิจโลกโดยรวมเช่นกัน

“ที่ธนาคารโลกให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจของประเทศพัฒนาแล้ว เพราะว่าการประเมินพื้นฐาน หรือ base-case ที่ใช้ในการคาดการณ์จีดีพีขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจของประเทศเหล่านี้ ซึ่งตอนนี้เราคาดการณ์ว่าทั้งสหรัฐอเมริกา ยุโรป และญี่ปุ่น จะยังคงเติบโตต่อไปเหมือนเดิม แต่หากเศรษฐกิจเหล่านี้เติบโตต่ำลงก็จะกระทบกับการค้าของโลก รวมไปถึงเศรษฐกิจโลกโดยรวมด้วย” ดร.สุเดียร์กล่าว

2) ความปั่นป่วนในตลาดการเงิน จากการขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด จะทำให้เกิดการไหลของเงินทุนและอัตราแลกเปลี่ยน และส่งผลต่อจำนวนหนี้ในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ เนื่องจากภูมิภาคนี้มีจำนวนหนี้ในสกุลดอลลาร์สหรัฐเป็นสัดส่วนตั้งแต่ 40-90% ของหนี้สาธารณะต่างประเทศทั้งหมด ขณะที่จำนวนหนี้ระยะสั้นต่างประเทศในภูมิภาคนี้อยู่ในระดับสูงตั้งแต่ 10-50%

3) ภาวะหนี้ภายในที่สูง (high domestic leverage) โดยระยะ 5 ปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ 2554-2558 สินเชื่อของเอกชนเพิ่มขึ้นจากประมาณ 100% ของจีดีพีเป็นเกือบ 125% โดยประเทศไทยเพิ่มขึ้นจากประมาณ 125% ของจีดีพีเป็นมากกว่า 150%

ดร.สุเดียร์กล่าวต่อไปถึงประเด็นความยากจนในภูมิภาคว่า อัตราความยากจนได้ลดลงจาก 15 ปีที่แล้วอย่างมาก โดยในปี 2545 มีจำนวนคนจน (มีรายได้น้อยกว่า 3.1 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน) มากกว่า 50% ของประชากรในภูมิภาค ขณะที่ในปี 2558 มีจำนวนเพียง 12.1% อย่างไรก็ตาม หากนับเป็นคนยังถือว่ายังมีจำนวนมากโดยมีจำนวน 251 ล้านคน นอกจากนี้ หากดูในรายละเอียดจะพบว่า แม้คนส่วนใหญ่จะหลุดพ้นจากความยากจนแล้ว แต่ส่วนใหญ่ที่คิดเป็น 70% ของประชากรทั้งหมดยังไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มชนชั้นกลางของโลก (global middle class) ซึ่งนิยามไว้ว่าต้องมีรายได้มากกว่า 15 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน โดยประมาณ 30% มีรายได้อยู่ระหว่าง 3.10-5.50 ดอลลาร์สหรัฐต่อวัน ซึ่งจัดเป็นกลุ่มเสี่ยง (vulnerable) และอีก 40% จัดอยู่ในกลุ่มมีความมั่นคงทางฐานะและสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ในขั้นพื้นฐาน (economically secure)

ดร.สุเดียร์ เชตตี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเซียตะวันออกและแปซิฟิก กลุ่มธนาคารโลก
ดร.สุเดียร์ เชตตี้ หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ประจำภูมิภาคเอเซียตะวันออกและแปซิฟิก กลุ่มธนาคารโลก

แนะไทยไม่ใช่แค่เลือกลงทุน ต้องวางแผนและปฏิบัติด้วย

ดร.สุเดียร์กล่าวสรุปว่า ความเสี่ยงต่างๆ เหล่านี้จะต้องจัดการให้ลดลงในภูมิภาค โดยเฉพาะในห้วงเวลาที่เศรษฐกิจยังคงดำเนินต่อไปได้บนพื้นฐานความมีเสถียรภาพของเศรษฐกิจการเงินที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน โดยจะต้องตัดสินใจในทันทีที่จะลดความเสี่ยงทางการเงินและต้องสร้างหรือรักษากันชนทางการคลังของประเทศ เพื่อรองรับเงื่อนไขทางการเงินในอนาคตที่กำลังจะเข้มงวดขึ้นในอนาคต

โดยมีข้อเสนอแนะทางนโยบาย ได้แก่ 1) ต้องปรับปรุงการกำกับดูแลทางการเงินด้วยการใช้นโยบาย Micro-Macro Prudential ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เหมาะสม เช่น อัตราส่วนการกู้ยืมต่อมูลค่าสินทรัพย์ค้ำประกัน เป็นต้น 2) รักษาพื้นที่ทางการคลัง รวมถึงเพิ่มช่องทางเก็บรายได้ 3) ประเทศที่เป็นผู้ส่งออกจะต้องปิดช่องว่างการขาดดุลทางงบประมาณ 4) การใช้นโยบายแบบสวนทาง หรือ countercyclical stabilization ยังไม่ใช่ความสำคัญอันดับแรก เนื่องจากการคาดการณ์ภาวะทางเศรษฐกิจที่จะมีเสถียรภาพไปอีกซักระยะ 5) เมื่อมีช่องว่างทางการคลัง ควรเน้นการใช้จ่ายไปกับการขาดดุลในโครงสร้างพื้นฐาน และ 6) ควรเพิ่มประสิทธิภาพในการลงทุนสาธารณะ

สำหรับประเทศไทย ดร.สุเดียร์กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังคงจะเติบโตได้ดีกว่าช่วงที่ผ่านมา โดยมีการบริโภคของเอกชนเป็นแรงขับเคลื่อนหลัก รวมทั้งมีการกำกับดูแลสถานบันการเงินที่ดีขึ้น อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยควรจะต้องเพิ่มการลงทุนในโครงการสาธารณะ รวมไปถึงพยายามดึงเอกชนเข้ามาร่วมลงทุน (Crowd in Private Investment), ต้องเน้นประสิทธิภาพของการลงทุนมากขึ้น และสุดท้าย จะต้องเพิ่มความสะดวกในการทำธุรกิจของต่างชาติที่สนใจมาลงทุนในประเทศ เพื่อดึงดูดการลงทุนโดยตรงให้มากกว่าที่เป็นอยู่

“การลงทุนโครงสร้างไม่ใช่แค่เน้นว่าจะลงทุนอะไรเท่านั้น แต่ยังต้องการการวางแผนที่ดีขึ้นและต้องการการนำไปปฏิบัติที่ดีขึ้นด้วย นอกจากนี้ ผู้ดำเนินนโยบายในภูมิภาคไม่ควรเน้นไปที่การเติบโตทางตัวเลขแบบผิวเผิน อย่างประเทศไทยที่เห็นได้ชัดว่าพยายามจะสร้างการเติบโตมากกว่าระดับที่ควรจะเป็น” ดร.สุเดียร์กล่าว

ดร.สุเดียร์กล่าวถึงนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลในปัจจุบันว่า จากรายงานการพัฒนาโลกปี 2559 (World Developing Report 2016: Digital Dividends) มีหลักฐานชัดเจนว่าการนำดิจิทัลเข้ามาใช้จะสร้างประโยชน์ได้อย่างมากในการพัฒนาประเทศ แต่ในมุมมองทางเศรษฐกิจคำตอบอาจจะไม่เป็นที่น่าพอใจมากนัก เนื่องจากหลายภาคส่วนอาจจะไม่ได้เกี่ยวข้องกับการเป็นดิจิทัลโดยตรง แต่ยังคงต้องคิดและทำในรูปแบบเดิมอยู่ เช่น การศึกษา กฎหมาย ทักษะแรงงาน การกำกับดูแล นโยบายการแข่งขัน เป็นต้น ซึ่งเป็นส่วนที่ยังมีสิ่งที่สำคัญและมีงานต้องทำอีกมากเช่นกัน

“ในมุมมองนี้ การใช้ดิจิทัลไม่ใช่ออกมาบอกว่าเมื่อทุกคนมี smartphone ใช้แล้ว ประเทศจะเติบโต 6% โลกมันซับซ้อนกว่านั้น แต่ข่าวดีคือมันมีศักยภาพที่เห็นได้จากการนำดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้อย่างเหมะสมจะไปช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้ในอีกหลายเรื่อง แต่โดยพื้นฐานในเรื่องเหล่านี้ โชคไม่ดีนักที่โลกก็ยังไม่ได้มีเวทมนตร์ที่จะเพิ่มผลิตภาพได้ทันทีแบบนั้น” ดร.สุเดียร์กล่าว