ThaiPublica > คอลัมน์ > ดีใจแทนชาวนาจังครับ

ดีใจแทนชาวนาจังครับ

3 พฤศจิกายน 2016


บรรยง พงษ์พานิช

ข้าวหอมมะลิ ศรีสะเกษ

ราคาข้าวตกต่ำที่สุดในประวัติการณ์ ทุกฝ่าย ทุกส่วน ต่างดูเหมือนจะออกไปพยายามช่วยชาวนากันหมด

รัฐบาลรีบออกมาตรการเร่งด่วน ที่เขาว่าระมัดระวังไม่ให้เสียหาย ไม่ให้โกงกิน เหมือนรัฐบาลที่แล้ว และไม่เรียกว่าจำนำข้าวทุกเมล็ดด้วย มาตรการที่เรียกว่า “จำนำยุ้งฉาง” นี่ผมอ่านแล้วงงๆ ซึ่งผมเข้าใจว่า (ถ้าเข้าใจผิดใครช่วยชี้แจงด้วยนะครับ) ไม่เหมือนกับรัฐบาลที่แล้ว ตรงที่โครงการนั้น ดัน “รับจำนำ” ในราคา 15,000 บาทต่อตัน ขณะที่ราคาตลาดอยู่แค่ 10,000 บาทต่อตัน เลยเท่ากับรับซื้อ ไม่มีใครมาถอน แถมต้องเอามาส่งทุกเม็ด รัฐเลยต้องมีภาระจัดเก็บแล้วเอาไปขาย เลยเกิดเน่าเสีย และมีทุจริตได้ทุกขั้นตอน ขาดทุนเละเทะบานเบอะ

แต่มาคราวนี้ เราให้ตันละ 13,000 บาท แต่ถือว่าจำนำในมูลค่า 9,500 บาท ที่เหลือนอกนั้นให้เป็นค่าเก็บรักษาตันละ 1,500 บาท กับช่วยเหลือให้ฟรี 2,000 บาท ซึ่งก็เลยตั้งสมมติฐานว่าชาวนาทุกคนต้องมาไถ่ข้าวคืน เพราะเวลามาเอาคืนจ่ายแค่ 9,500 บาท ตำ่กว่าราคาตลาดที่อ้างว่าสำรวจมาได้ 11,000 บาทต่อตัน (ก็หวังว่าสำรวจได้ถูกต้องนะครับ)

คุณหมอเมืองสองแคว ท่านที่เคยโจมตีนโยบายเดิม เช้า เที่ยง เย็น (ผมก็โจมตีเหมือนกันนะครับ) รีบออกมาสดุดีนโยบายใหม่ว่าสุดอัจฉริยะ แตกต่างจากนโยบายเดิมโดยสิ้นเชิง ซึ่งผมก็เห็นด้วยแหละครับว่าแตกต่าง แต่จะ “โดยสิ้นเชิง” หรือเปล่าไม่ค่อยแน่ใจ

ผมมีข้อสงสัย (เพราะรู้ไม่ละเอียด) อยากถามผู้รู้อยู่ 2-3 ประเด็น

ประเด็นแรก มองในภาพรวม นี่คือการอุดหนุนตรง (2,000 บาทต่อตัน) บวกกับจ้างให้เก็บให้ชะลอการขาย (1,500 บาทต่อตัน) ถ้าใครไม่ชะลอไม่เก็บ (หรือเก็บแป๊บเดียว) ก็จะได้ค่าอุดหนุนตันละ 3,500 บาท ไปเลยใช่ไหมครับ (เขามีข้อกำหนดต้องเก็บนานเท่าไหร่ไหมครับ) เช่น เอาเข้ายุ้งวันนี้ รับไป 13,000 มะรืนนี้เอา 9,500 มาไถ่ ไปขาย 11,000 ทำให้ได้สุทธิ 14,500 ไปเลย ได้ไหมครับ

ถ้าเป็นอย่างนั้น ผมกลัวว่าสองหมื่นล้านน่าจะไม่พอต้องเพิ่มวงเงินไปเรื่อยๆ จนเป็นแสนล้านจนได้แหละครับ ไม่อย่างนั้นไม่ทั่วถึงแน่เลย

ประเด็นที่สอง ถ้าเก็บข้าวไว้แล้ว ราคาไม่ดีขึ้นหรือแย่ลง หรือข้าวที่เก็บเสื่อมสภาพทำให้ราคาตำ่กว่าตลาด ชาวนาจะยังมีภาระหนี้ข้อผูกมัดที่จะต้องมาไถ่เอาไปขายไหมครับ ระยะเวลาที่ให้นานเท่าใด ถ้าไม่มาจะตามหนี้ไหม อย่างไร สุดท้าย ข้าวที่เหลือ รัฐจะจัดการอย่างไร ภาระขาดทุน (ซึ่งคงต้องขาดทุนแน่)ใครจะรับผิดชอบ

ประเด็นที่สาม ในแง่การดำเนินการ จะตรวจสอบจำนวนและคุณภาพข้าวที่จะจำนำยุ้งฉางอย่างไร ใช้หน่วยงานไหนดำเนินการ ควบคุมการทุจริตรั่วไหลได้อย่างไร ทั้งหมดรวมไปถึงการดำเนินการภายหลังที่อาจมีชาวนาไม่มาไถ่ถอนด้วย

จริงๆ ผมเห็นด้วยนะครับ ว่านโยบายนี้ดีกว่า “จำนำข้าว” รัฐบาลที่แล้ว แต่ก็ยังมีความเสี่ยงไม่น้อย และรัฐก็ยังต้องเข้าไปดำเนินการอยู่มาก ทำให้มีต้นทุนสูงและมีโอกาสรั่วไหลอยู่ ซึ่งถ้าถามผม หากอยากจะช่วย (ซึ่งควรเป็นระยะสั้นเท่านั้น) ใช้นโยบาย “ประกันราคา” แจกเงินไปตรงๆ จะดีกว่า ต้นทุนดำเนินการต่ำ โอกาสรั่วไหลน้อยกว่า

เรื่องนี้ อีกไม่นานคงเห็นผล ได้คำตอบว่าผมกังวลเกินไปหรือเปล่า ก็หวังว่าราคาตลาดโลกจะดีขึ้น (ซึ่งคงต้องภาวนา) และโครงการผ่านพ้นด้วยดี ชาวนาได้ทั้งเงินอุดหนุนทั้งขายข้าวได้ราคา และ ป.ป.ช. (คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) เขาก็ยังไม่ได้เตือนมา คงไม่มีใครต้องรับผิดอะไรในวันหน้านะครับ

หันมาภาคเอกชน ภาคประชาสังคมบ้าง ต่างก็เสนอความช่วยเหลือกันอุตลุด บ้างให้ความคิดคำแนะนำ บ้างก็ให้ใช้พื้นที่ฟรีๆ ให้สถานที่วางขาย ส่งเสริมช่องทางให้ผู้บริโภคซื้อตรง ซึ่งผมติดตามดู (ถ้าตามไม่ครบขอโทษด้วยนะครับ) ส่วนใหญ่พยายามให้ชาวนาลุกขึ้นมารวมตัวทำธุรกิจครบวงจรด้วยตนเอง นัยว่ากลไกเอกชนที่มีอยู่ ทั้งโรงสี พ่อค้าคนกลาง ทั้งระบบจัดจำหน่าย เป็นกลไกที่ห่วยและชั่ว ไม่มีประสิทธิภาพ หรือไม่ก็เอารัดเอาเปรียบเกินไป เอากำไรไปเกินควร เลยดูเหมือนว่าทุกคนเลยสนับสนุนให้รวมตัวกันปลูกเอง เกี่ยวเอง เก็บเอง สีเอง บรรจุเอง สร้างมูลค่าเพิ่มเอง สร้างแบรนด์เอง ทำการตลาดเอง จัดจำหน่ายเอง เอาให้โรงสี พ่อค้าเดิมๆ เจ๊งกันไปให้เข็ด ไหนๆ ก็รวยมามากมานานแล้ว โดยทุกฝ่ายก็เฮโลกันเข้ามาเสนอช่วยนั่นช่วยนี่กันใหญ่ เป็นกระแสร้อนแรงในยามที่กำลังอยากทำความดีกัน

ในฐานะที่เรียนเศรษฐศาสตร์มาบ้าง ผมก็เลยอดไม่ได้ที่จะขอตั้งข้อสังเกตอีกแล้ว เพราะถ้าทำอย่างนั้นมันดันขัดกับหลักหลายๆ อย่าง ขัดกับ David Ricardo ที่ว่าด้วย comparative advantage ที่ส่งเสริมให้แต่ละคนทำสิ่งที่ตัวทำได้ดีที่สุด ขัดกับหลักการค้าเสรีที่ส่งเสริมให้มีการแข่งขันกับเชื่อในกลไกตลาด (มันฟังดูไปตรงกับหลัก small is beautiful ของ Schumacher น่ะครับ แต่ผมกลัวว่าชาวนาไทยจะได้ Small ตลอดกาล ไม่ได้ลืมตาอ้าปากเสียที)

ผมไม่ได้ขัดขวางการตั้งระบบสหกรณ์หรือระบบคลัสเตอร์นะครับ แต่การจะทำให้มีประสิทธิภาพมันต้องใช้เวลา ต้องวางรากฐานพัฒนาให้ดี (ซึ่งพิสูจน์แล้วว่าภาครัฐทำไม่ได้) ต้องทำอย่างจริงจังแบบมืออาชีพ ไม่ใช่แบบสมัครเล่นเฮๆ กันชั่วครั้งชั่วคราว อีกอย่าง พวกทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่มีอยู่ ที่ลงทุนไว้แล้ว จะเอาไปทำอะไร โรงสีทันสมัยที่ผลิตข้าวคุณภาพ เครื่องควบคุมคุณภาพ เครื่องบรรจุภัณฑ์ กลไกการตลาด การกระจาย การจำหน่าย การส่งออก ที่ลงทุนพัฒนามาหลายสิบปี (แต่ก็ปั่นป่วนไปไม่น้อยจากนโยบายที่แล้ว) จะรื้อทิ้งเลยหรืออย่างไร ต้องคิดให้ถี่ถ้วนนะครับ

สำหรับผมแล้ว ถ้าคิดว่าตลาดไม่ดี เอารัดเอาเปรียบ ก็ต้องสร้างกลไกเพิ่ม สร้างกติกาให้มีแข่งขันมากขึ้น ไม่ใช่ไปรื้อตลาดทิ้ง อย่างของที่เขาให้ฟรีๆ ตอนนี้ นั่นก็ทรัพยากรทั้งนั้นนะครับ ต้องถามว่า จะให้ฟรีตลอดกาลหรือเปล่า และต้นทุนค่าเสียโอกาสคืออะไร

อย่างตอนนี้ก็เห็นมีการรับบริจาคเงินช่วยชาวนา ทำให้นึกไปถึงตอนมหาภัยสึนามิเมื่อ 12 ปีก่อน คนไทยน้ำใจสุดยอด เฉพาะเงินบริจาคที่สำนักนายกฯ ได้ตั้ง 1,200 ล้านบาท สี่ปีท่านใช้ไปแค่ 300 ล้านบาท เหลือบานเบอะ เดือดร้อนท่านรองนายกฯสมัยนั้น ต้องเสนอสร้างอนุสรณ์สถานหกร้อยกว่าล้าน ดีที่หลายฝ่ายทัดทานเลยเสียแค่ค่าออกแบบไปไม่กี่สิบล้าน ที่เหลือโอนไปกองทุนอื่น ไม่ได้ใช้ตามวัตถุประสงค์คนบริจาค

อย่างผม ก็พยายามสำรวจตัวเองว่าจะช่วยอะไรได้ ทำงานแบงก์ อยากให้กู้ชาวนาบ้างก็ไม่เคยทำ ไม่มีข้อมูล ไม่มีระบบรองรับ ขืนทำไปแบงก์ชาติคงเขกกบาล และผู้ถือหุ้นก็คงไล่ออก ส่วนตัวก็ตั้งใจจะซื้อข้าวมากขึ้น ไปสำรวจในครัวก็ดันมีสต็อกล้นเกือบไม่มีที่เก็บ ได้มาเป็นของกำนัลทั้งตามเทศกาลต่างๆ ทั้งจากเพื่อนไฮโซที่แห่กันไปทำนาหาประสบการณ์ชีวิต นี่หมอก็ดันสั่งให้ลดข้าวเพราะน้ำหนักเกิน เลยได้แต่เอาใจช่วย

เดี๋ยวจะโดนหาว่า ผมเป็นคนขวางโลก ใครเขาจะทำอะไรก็ทัดทานไปเสียทั้งหมด จริงๆ แล้วผมไม่ขัดขวางเรื่องอะไรเลยนะครับ การช่วยระยะสั้นนั้นก็เห็นด้วยว่าต้องมี เอกชนจะช่วยก็อนุโมทนา ที่เขียนไว้ก็เพื่ออยากให้ยอมรับความจริงว่า ในระยะยาวนั้น มีทางเดียวที่จะช่วยชาวนาได้คือ ให้เขาเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มผลิตภาพ สร้างมูลค่าเพิ่ม ลดต้นทุนให้แข่งกับโลกได้ ซึ่งถ้าทำไม่ได้ วิธีที่จะช่วยชาวนาได้ดีที่สุดก็คือ “ช่วยให้เขาเลิกทำนา” แหละครับ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanichวันที่ 3 พฤศจิกายน 2559