ThaiPublica > เกาะกระแส > แอร์พอร์ตลิงก์ปรับโฉม 4 ขบวน ขนได้เพิ่ม 10,000 คนต่อวัน ย่นเวลารอรถเหลือ 10 นาที – เตรียมแยกตัวจาก ร.ฟ.ท.

แอร์พอร์ตลิงก์ปรับโฉม 4 ขบวน ขนได้เพิ่ม 10,000 คนต่อวัน ย่นเวลารอรถเหลือ 10 นาที – เตรียมแยกตัวจาก ร.ฟ.ท.

6 ตุลาคม 2016


thaipublica ปรับโฉมแอร์พอร์ตลิงก์

เมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2559 รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดโครงการปรับปรุงภายในรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ รูปแบบรถไฟฟ้าด่วน (express line) 4 ขบวน และได้นำรถไฟฟ้าฯ ขบวนแรกที่ปรับเปลี่ยนภายในให้มีที่นั่งผู้โดยสารและราวจับเพิ่มขึ้นออกให้บริการในวันแรก โดยการปรับปรุงภายในดังกล่าวจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการรองรับจำนวนผู้โดยสารเพิ่มได้เฉลี่ยกว่า 10,500 คนต่อวัน ขณะที่อีก 3 ขบวนจะทยอยปรับเปลี่ยนจนแล้วเสร็จครบทั้งสิ้นภายในเดือนธันวาคม 2559

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยภายหลังทดลองใช้บริการรถไฟฟ้าฯ ขบวนใหม่ว่า เดิมทีทางแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ มีรถไฟฟ้า 2 รูปแบบ คือ รถไฟฟ้าที่ให้บริการปกติ (city line) 5 ขบวน และส่วนที่เป็นรถด่วนอีก 4 ขบวน เนื่องจากมีความจุน้อยกว่ารูปแบบปกติ ประกอบกับรถไฟฟ้ารูปแบบรถด่วนได้รับความนิยมน้อย ขณะที่ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นสูงถึง 60,000-70,000 คนต่อวัน เพื่อให้เพียงพอต่อการให้บริการจึงนำรถไฟฟ้าด่วนปรับปรุงให้เป็นรูปแบบปกติทั้งหมด โดยใช้งบประมาณในการปรับปรุงทั้งสิ้น 22 ล้านบาท

“การปรับปรุงทั้งหมดจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปีนี้ รวมทั้งได้ทำการศึกษาและจะดำเนินการปรับความเร็วรถให้สามารถวิ่งได้ในความเร็ว 140 กิโลเมตรต่อชั่วโมง จากเดิมที่ทำความเร็วอยู่ที่ 120 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อปรับให้ระยะห่างต่อเที่ยวสั้นลงเหลือ 10 นาที จากเดิมอยู่ที่ 12 นาที และในอนาคตอาจปรับให้เหลือเพียง 8 นาที” นายออมสินกล่าว

นอกจากนี้ ได้มีการปรับปรุงรางด้วยการเจียรรางเพื่อให้การเดินรถเป็นไปอย่างราบรื่น ไม่ติดขัด เบื้องต้นได้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 50% จากช่วงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิไปครึ่งทาง และจะมีการซ่อมบำรุงใหญ่ (overhaul) สำหรับรถไฟฟ้าทั้ง 9 ขบวนอีกครั้ง โดยขณะนี้ได้ผู้ดำเนินการแล้ว ด้านรถไฟฟ้าขบวนที่เสียผู้รับดำเนินการขอเวลาสะสมอะไหล่เป็นระยะเวลา 6 เดือน เนื่องจากมีชิ้นส่วนที่ต้องสั่งทำ จะเริ่มดำเนินการในเดือนพฤษภาคม 2560

นายออมสินกล่าวถึงแผนฟื้นฟูกิจการ ร.ฟ.ท. ว่า ในส่วนของแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เบื้องต้นปรับปรุงบริการทุกอย่างให้ดีก่อน อนาคตจะต้องแยกกิจการจาก ร.ฟ.ท. ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการแยกบัญชีออกจาก ร.ฟ.ท. หากเสร็จสิ้นจะมีการจัดซื้อขบวนรถไฟฟ้าเพิ่มอีก 7 ขบวน อาจจะมีความเป็นไปได้ที่ในอนาคตจะขยายเวลาให้บริการ

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม

“ในอนาคตที่แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ จะทำการเชื่อมต่อไปจนถึงท่าอากาศยานดอนเมือง ในเส้นทางช่วงพญาไท-บางซื่อ ได้จัดหาพื้นที่ไว้รองรับแล้ว ต่อไปก็คงเข้าแผน PPP ให้เอกชนร่วมทุน แล้วจึงดำเนินการต่อในส่วนของบางซื่อ-ดอนเมือง และสุดท้ายคือการเชื่อมไปยังอู่ตะเภา” นายออมสินกล่าว

นายประเสริฐ อัตตะนันทน์ กรรมการและรักษาการกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันสถานการณ์ของบริษัทฯ ดีขึ้นตามลำดับ โดยผลประกอบการระหว่างมกราคม-กรกฎาคม 2559 มีรายได้อยู่ที่ 367.32 ล้านบาท ซึ่งคาดว่าในปี 2559 นี้จะสามารถทำรายได้ประมาณ 650 ล้านบาท ส่วนผลประกอบการในปี 2558 อยู่ที่ 594 ล้านบาท ซึ่งในภาพรวมบริษัทฯ โตปีละ 12-13% และคาดว่าในปี 2560 จะสามารถทำรายได้ถึง 700-800 ล้านบาท

สำหรับการใช้บริการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ส่วนใหญ่กว่า 90% เป็นลูกค้าจากชาญเมืองที่ใช้บริการเข้าเมือง มีผู้ใช้บริการที่เป็นนักท่องเที่ยวเพียง 10%

ดังนั้น เพื่อเป็นการรองรับอัตราผู้โดยสารที่เพิ่มสูงขึ้นและสอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่ต้องการให้บริษัทฯ เพิ่มความสามารถในการรองรับผู้โดยาสร จึงได้ดำเนินการโครงการปรับเปลี่ยนโฉมใหม่ภายในขบวนรถไฟฟ้าด่วน 4 ขบวน ซึ่งจะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 340 คนต่อขบวน เพิ่มเป็น 740 คนต่อขบวน หรือเพิ่มขึ้นจากเฉลี่ย 61,500 คนต่อวัน เป็น 72,000 คนต่อวัน หรือคิดเป็นประมาณ 1.8 ล้านคนต่อเดือน

ทั้งนี้ ได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนทีละขบวนเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อการใช้บริการของผู้โดยสาร ส่วนอุปกรณ์ภายในขบวนที่มีการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมนอกจากเก้าอี้นั่งและราวจับ ได้แก่ การเปลี่ยนวัสดุปูพื้น มีการย้ายที่ติดตั้งถังดับเพลิง การเพิ่มพื้นที่ยึดสำหรับรถวีลแชร์ของผู้ทุพพลภาพ รวมถึงอุปกรณ์อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง

“ตอนนี้ทำการปรับเปลี่ยนภายในขบวนรถไฟฟ้าเอ็กซ์เพรสแล้ว 1 ขบวน ซึ่งมีความสะดวกและปลอดภัยตามนโยบายของคณะกรรมการบริษัทอย่างเคร่งครัด โดยผ่านการตรวจสอบมาตรฐานด้านความปลอดภัยถึง 3 ขั้น เริ่มต้นจากวิศวกรควบคุมงานที่มีทั้งวิศวกรชาวไทยและชาวต่างชาติคอยควบคุมการทำงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้การปรับเปลี่ยนและติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ ภายในขบวนรถไฟฟ้าด่วนเป็นไปตามมาตรฐานระดับสากล นอกจากนั้น ทางบริษัทฯ ยังได้จัดตั้งคณะกรรมการประเมินความเสี่ยงและคณะกรรมการระบบบริหารงานความปลอดภัยขึ้นมาตรวจสอบการดำเนินงานปรับเปลี่ยนภายในขบวนรถไฟฟ้าด่วน” นายประเสริฐกล่าว

โดยได้ทำการตรวจสอบความเสี่ยงของอุปกรณ์ใน 3 หัวข้อ คือ

1. การตรวจสอบสภาพที่มองเห็นและสัมผัสได้ (appearance check) ซึ่งผลการตรวจสอบพบว่าไม่มีส่วนมีคม ส่วนที่จะหลุด ตก หล่น และมีการยึดติดด้วยความมั่นคง
2. การประเมินความเสี่ยงทางด้านความปลอดภัย โดยวิธี preliminary hazard analysis พบว่าทุกข้ออยู่ในเกณฑ์ที่ยอมรับความเสี่ยงได้
3. การตรวจสอบคุณสมบัติของวัสดุ พบว่ามีมาตรฐาน railway safety (DIN 5510) ซึ่งเป็นมาตรฐานสำหรับทดสอบวัสดุอปกรณ์ของประเทศเยอรมันนี

thaipublica  dsc_2786

นอกจากนั้น คณะกรรมการประเมินความเสี่ยงและคณะกรรมการระบบบริหารงานความปลอดภัยยังได้ทดสอบระบบการเดินรถ ได้แก่ ทดสอบเบรกห้ามล้อ ทดสอบการจอดตามจุดจอดที่ชานชาลาสถานี และทดสอบความเร็ว ความเร่ง ตาม target speed ซึ่งผลการทดสอบอยู่ในเกณฑ์ผ่านมาตรฐานทุกระบบ

ส่วนขั้นสุดท้ายของการตรวจสอบด้านความปลอดภัย บริษัทฯ ได้ร่วมกับสถานวิจัยเพื่อความเป็นเลิศด้านนวัตกรรมถนนและระบบราง มหาวิทยาลัยนเรศวร ทำการทดสอบขบวนรถไฟฟ้าด่วนด้วยการติดตั้งอุปกรณ์ชุดทดสอบสมรรถนะของขบวนรถไฟฟ้าแล้วนำขึ้นวิ่งทดสอบจริง ซึ่งปรากฏว่าขบวนรถไฟฟ้าด่วนที่ดำเนินการปรับเปลี่ยนภายในนั้นผ่านเกณฑ์มาตรฐานด้านความปลอดภัยที่ความเร็วในการให้บริการในปัจจุบัน และสามารถนำขึ้นให้บริการแก่ผู้โดยสารอย่างเต็มประสิทธิภาพ

ด้านนายอธิพล ศาสตรานรากุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม แอร์พอร์ต เรล ลิงก์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ปริมาณรถที่ให้บริการในแต่ละวันมีการเพิ่มรอบพิเศษในช่วงเวลาเร่งด่วน คือ 8.00-10.00 น. และ 16.00-19.00 น. ผู้โดยสารที่ใช้บริการรอเพียง 6 นาทีเท่านั้นในช่วงเวลาดังกล่าว

“จำนวนรถไฟฟ้าที่บริษัทฯ​ มีอยู่ จริงๆ ก็มีศักยภาพพอที่จะทำการวิ่ง 24 ชั่วโมง แต่ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับการประเมินความคุ้มค่าในการให้บริการในช่วงกลางคืนและนโยบายของรัฐบาลด้วย ทั้งนี้ ที่ผ่านมาบริษัทฯ ได้ทำการปรับปรุงการให้บริการตามข้อแนะนำของผู้โดยสารอยู่ตลอด เช่น เพิ่มบันไดเลื่อน และลิฟต์ทั้ง 7 สถานี ปัจจุบันมีให้บริการทั้งหมด 137 ตัว จัดทำป้ายบอกทางต่างๆ เพิ่มเติม และได้ทำการติดตั้งพัดลมเพิ่มตามสถานีต่างๆ ที่มีปัญหาด้านการถ่ายเทอากาศ ซึ่งในอนาคตจะปรับเป็นระบบระบายอากาศทุกสถานี” นายอธิพลกล่าว

นายอธิพลกล่าวต่อกรณีคำถามสังคมที่ต้องการให้เอกชนบริหารกิจการรถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์ ว่า กรณีนี้เดิมทีรัฐบาลก็ต้องการให้เป็นเช่นนั้น แต่เมื่อเห็นว่าบริษัทฯ ยังสามารถแก้ปัญหาและควบคุมสถานการณ์ได้ ทางออกที่เป็นไปได้ตอนนี้คือ ให้การบริหารงานของบริษัทฯ แยกออกจาก ร.ฟ.ท. เพื่อให้ง่ายต่อการใช้จ่ายงบประมาณ เป็นแหล่งผลิตบุคลากรด้านระบบราง ที่ในอนาคตจะทำการเชื่อมโยงกับมหาวิทยาลัยต่างๆ และการจัดทำฐานราคาค่าโดยสารสำหรับระบบรถไฟฟ้าทั้งหมด