ThaiPublica > คอลัมน์ > ปัญหากฎหมายที่เกิดจากการเล่น Pokemon Go

ปัญหากฎหมายที่เกิดจากการเล่น Pokemon Go

9 สิงหาคม 2016


ทพพล น้อยปัญญา

ที่มาภาพ :  ที่มาภาพ : http://www.pokemongo.com/
ที่มาภาพ : ที่มาภาพ : http://www.pokemongo.com/

เกม Pokemon Go เปิดให้คนไทยเล่นแล้วเมื่อวันอาทิตย์ที่ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา วันเดียวกับวันลงประชามติของคนไทย

เห็นจะไม่ต้องบอกนะครับว่าเกมนี้ฮิตขนาดไหน เป็นข่าวไปทั่วโลกทุกแห่งที่เปิดให้เล่นเกมได้

ลักษณะสำคัญของเกม Pokemon Go คือสิ่งที่เรียกว่า Augmented Reality หรือ AR เป็นการเอาสิ่งที่อยู่ในโลกเสมือนจริงมาใส่บนโลกที่เป็นความจริง คือเวลาเราเล่นเกมโดยผ่านโทรศัพท์มือถือ ภาพที่เราเห็นในขณะนั้นจะเป็นภาพจริงของสถานที่นั้นเหมือนกับที่เราเปิดกล้องถ่ายรูปขึ้นถ่าย แต่จะมีรูป pokemon (และ monster ต่าง ๆ)เข้ามาให้เราเล่นเป็นภาพเสมือนจริง ดังนั้น การเล่นเกม Pokemon Go จึงไม่ใช่เกมแบบนั่งอยู่กับที่แล้วก็เล่นได้ เพราะผู้เล่นเกมจะให้ต้องออกติดตามและจับตัว pokemon ไปในสถานที่ต่าง ๆ ด้วย ใกล้บ้างไกลบ้าง ซึ่งก็ทำให้เกิดปัญหาตามมาไม่น้อย

เกมนี้ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก ได้รับการดาวน์โหลดไปแล้วไม่ต่ำกว่า 100 ล้านครั้ง แต่ก็มีบางประเทศสั่งห้ามเล่นเหมือนกันด้วยเหตุผลที่ต่างกัน เช่น

ประเทศซาอุดิอาระเบียได้มีคำสั่งเมื่อ 15 ปีก่อนแล้วว่า เกม Pokemon (สมัยที่เป็นเกมธรรมดา) นั้นต้องห้าม (Un-Islamic) เมื่อมาเป็นเกมแบบใหม่บนมือถือจึงต้องห้ามต่อไป

ล่าสุด ก็มีข่าวว่าประธานาธิบดีปูตินของรัสเซียจะทำการแบนเกม Pokemon Go จากรัสเซีย เพราะเกมนี้เกี่ยวพันกับ CIA และการโจรกรรมข้อมูล

เกม Pokemon Go นอกจากจะเป็นเกมที่เล่นสนุกแล้ว ก็ก่อให้เกิดปัญหากฎหมายตามมาไม่น้อยทีเดียว

เรื่องแรกเป็นเรื่องเกี่ยวกับสิทธิส่วนบุคคลหรือ privacy อย่างที่ประเทศออสเตรเลียมีข่าวว่า คณะกรรมการเรื่องสิทธิส่วนบุคคล (Privacy Committee) สั่งสอบเกม Pokemon Go เพราะในการติดตั้งเกมดังกล่าวผู้จะเล่นต้องเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวหลายประการแก่ผู้พัฒนาเกมคือ บริษัท Niantic Labs ซึ่งข้อมูลดังกล่าวมีลักษณะเกินเลยไปจากการเก็บข้อมูลทั่วไป อาจเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลได้

เรื่องสิทธิส่วนบุคคลนี้เป็นเรื่องสำคัญในกฎหมายของต่างประเทศ การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลถือว่ามีความผิดตามกฎหมาย แต่ในบ้านเรามีเรื่องนี้กลับดูเฉย ๆ อาจจะเป็นเพราะว่าความที่ไม่มีกฎหมายโดยชัดเจนส่วนหนึ่ง กับการที่คนไทยไม่ค่อยสนใจเรื่องนี้อีกส่วนหนึ่ง การละเมิดสิทธิส่วนบุคคลจึงไม่ค่อยมีความหมายในประเทศไทย

การสมัครเล่นเกม Pokemon Go ทำได้โดยการสมัครผ่าน google และ Pokémon Trainer Club Accounts โดยเฉพาะการสมัครผ่าน google นั้น ผู้สมัครได้ยอมให้ผู้พัฒนาโปรแกรมของเกม Pokemon Go เข้าถึงข้อมูลต่าง ๆ ใน google ได้ ซึ่งรวมทั้ง gmail ด้วย ดังนั้น ผู้เล่นซึ่งใช้ gmail ในการทำธุรกิจต่าง ๆ ด้วยก็จะต้องระวัง เพราะผู้พัฒนาโปรแกรมสามารถเข้าถึงข้อมูลในส่วนนี้ได้ด้วย

เรื่องสถานที่ ในการเล่นเกม Pokemon Go ผู้เล่นต้องไปตามจับ pokemon ตามสถานที่ต่าง ๆ ที่แผนที่ในเกมจะพาไป อันนี้ออกจะเป็นปัญหามากเพราะเท่าที่ทราบ คนทำเกมเขากำหนดจาก google map จึงไม่มีทางทราบได้ 100% ว่า สถานที่บางแห่งนั้นอาจจะไม่ควรเข้าไป หรือบางแห่งอาจจะเป็นสถานที่ส่วนบุคคล ซึ่งในเรื่องนี้ ผู้เล่นก็ต้องมีความระมัดระวังเช่นกัน โดยเฉพาะสถานที่ที่ส่วนบุคคลนั้น เขามีสิทธิที่จะอยู่ได้โดยไม่ถูกรบกวน ดังนั้น ถ้าหากมีคนเข้าไปโดยเขาไม่อนุญาต หรือมาชุมนุมกันหน้าบ้านเขาเพื่อจะจับตัว pokemon ก็อาจจะมีความผิดฐานบุกรุกหรือรบกวนการอยู่อาศัยโดยปกติของเขาโดยที่ผู้เล่นไม่รู้ตัวได้

เรื่องนี้ นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เองก็ได้ออกข่าวมาแล้วว่า ขณะนี้ กสทช. ได้ประสานงานไปยัง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ในฐานะผู้ถือครองลิขสิทธิ์ทำการตลาด Pokemon Go ในประเทศไทย ให้มาเข้าพบในวันที่ 9 สิงหาคมนี้ เพื่อทำความเข้าใจในการกำหนดสถานที่ต่าง ๆ ในการเล่นเกม เนื่องจากเกม Pokemon Go เป็นเกมที่ผู้เล่นต้องเดินทางเพื่อตามจับ pokemon ในสถานที่ต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งบริเวณห้างสรรพสินค้า วัด โรงเรียน หรือสวนสาธารณะ ดังนั้น กสทช. จึงเห็นว่า ไม่ควรกำหนดสถานที่จับ pokemon ในพื้นที่สำคัญ อาทิ เขตพระราชวัง โรงพยาบาล หรือบริเวณท้องถนน เพราะอาจเป็นอันตรายต่อผู้เล่นเกม ผู้ขับขี่ยานพาหนะ ตลอดจนเพื่อนร่วมทางที่สัญจรบนท้องถนน

เรื่องสุดท้ายก็เกี่ยวข้องกับผู้เป็นลูกจ้างทั้งหลาย ปรากฏเป็นข่าวมากมายในต่างประเทศว่า พวกลูกจ้างเล่นเกม Pokemon Go กันอย่างเพลิดเพลินจนทำให้กิจการงานของนายจ้างต้องเสียงานเสียการ เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ต้องระวังเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าทำงานเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยเช่น ขับรถส่งสินค้า หรือควบคุมเครื่องจักร เพราะเกมนี้ให้หาตัว pokemon บางทีผู้เล่นก็อาจจะติดพันการหานี้ อย่างที่บอกแล้วว่าเกมนี้เป็น AR กับสถานที่จริง ไม่ใช่นั่งเฉย ๆ แล้วก็นะจับ pokemon ได้ ต้องมีการขยับตัวไปจับอยู่ใกล้หรือไกลอีกเรื่องนึง

เพราะฉะนั้นถ้าทำงานเกี่ยวข้องกับเครื่องจักรอยู่ ถ้าเผลอตัวไปไล่จับและทำให้เครื่องจักรขาดผู้ดูแลควบคุมอันอาจก็อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ หรือพวกที่ทำงานด้านการรักษาพยาบาลเช่น หมอหรือพยาบาล ถ้าเล่นเกมนี้อยู่ก็อาจจะถูกเกมดึงความสนใจจากงานที่ทำอยู่ พวกที่นั่งทำงานอยู่กับโต๊ะก็อย่าแอบเล่นจนเพลิน ใช้เวลาจนเสียงานได้ เหล่านี้เป็นผลเสียหายที่เกิดจากการสนใจการเล่นเกมได้ ซึ่งพวกนายจ้างทั้งหลายคงต้องไปพลิกข้อบังคับการทำงาน ว่ามีข้อบังคับข้อไหนที่ห้ามพนักงานเล่นเกมในขณะทำงานหรือเปล่า และถ้าออกประกาศเตือนไว้ก่อนก็คงจะดี

ที่หยิบยกมานี้เป็นเพียงตัวอย่างทางกฎหมายบางเรื่อง จะเห็นว่าเกม Pokemon Go มีปัญหากฎหมายมากมายกว่าที่คิดมากมายทีเดียว