ThaiPublica > คอลัมน์ > กฎหมาย+บล็อกเชน: สู่ยุค “สัญญาอัจฉริยะ” (smart contract)

กฎหมาย+บล็อกเชน: สู่ยุค “สัญญาอัจฉริยะ” (smart contract)

29 สิงหาคม 2016


สฤณี อาชวานันทกุล

หลายตอนที่ผ่านมาผู้เขียนพูดถึงโอกาสของเทคโนโลยี “บล็อกเชน” (blockchain) ที่จะปฏิวัติวงการต่างๆ นอกเหนือแวดวงการเงินซึ่งเป็นบ่อเกิดของมัน

ในเมื่อบล็อกเชนช่วยสร้างและรักษา “ความไว้วางใจ” ระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่ตกลงทำธุรกรรมกัน รวมถึงความไว้วางใจของประชาชนที่มีต่อ “รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์” ในทางที่โปร่งใส รวดเร็ว และมีราคาถูกกว่าอดีตหลายเท่า จึงไม่มีเหตุผลทางเทคนิคใดๆ ที่ปิดกั้นการนำบล็อกเชนมาใช้กับวงการที่ “ความไว้วางใจ” เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุด

นั่นคือ กฎหมายและการบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะสัญญาระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกัน และระหว่างเอกชนกับรัฐ

บล็อกเชนทำให้แนวคิด “สัญญาอัจฉริยะ” หรือ smart contract ไม่ได้อยู่แต่ในจินตนาการอีกต่อไป แต่มีผู้ทดลองและทำจริงนำร่องไปแล้วหลายโครงการ

“สัญญาอัจฉริยะ” หมายถึง ข้อตกลงต่างๆ ซึ่งถูก “ฝัง” ไว้ในโค้ดคอมพิวเตอร์ และโค้ดนั้นจะจัดการตามข้อตกลงโดยอัตโนมัติ ทันทีที่เกิดเหตุการณ์ตามเงื่อนไขในสัญญา

ยกตัวอย่างเช่น การโอนเงินจ่ายค่าลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์อัตโนมัติ-ทันทีที่จำนวนผู้ใช้แตะระดับที่ตกลงกับเจ้าของลิขสิทธิ์ซอฟต์แวร์ไว้ล่วงหน้า การโอนเงินจ่ายค่าโฆษณาบนเว็บโดยอัตโนมัติ-ทันทีที่จำนวนคนดูแตะระดับที่ตกลงกับเจ้าของเว็บไว้ล่วงหน้า การโอนคูปองส่วนลดราคาสินค้ามาให้ลูกค้าอัตโนมัติ-ทันทีที่ถึงวันที่ใช้คูปองนั้นได้ (เช่น วันสิ้นเดือน)

หรือแม้แต่การโอนเงินจ่ายค่าบทความ-ทันทีและทุกครั้งที่จำนวนผู้อ่านบทความ(บนเว็บ)แตะระดับที่ตกลงกับนักเขียนไว้ล่วงหน้า (เช่น โอนจ่าย X บาท ทุกครั้งที่โค้ดบันทึกว่าบทความนี้มีคนอ่านอีก Y คนแล้ว)

ตราบใดที่คู่สัญญาทุกฝ่ายตกลงกันได้ (ซึ่งการบังคับใช้กฎหมายเรื่อง “สัญญาที่เป็นธรรม” ก็จะยังคงมีความสำคัญอยู่ ส่วนนี้แปลงเป็นดิจิทัลหรือบล็อกเชนไม่ได้) “สัญญาอัจฉริยะ” ก็จะถูกโค้ดและบริหารจัดการอัตโนมัติด้วยโค้ดคอมพิวเตอร์ล้วนๆ บนบล็อกเชน

ขจัดความเสี่ยงที่ใครจะถูกชักดาบ ฉ้อโกง หรือบิดเบือนสัญญา อีกทั้งยังขจัดความวุ่นวายยุ่งยากของการ “ตีความ” เนื้อหาในสัญญา (ข้อพิพาทหลายครั้งไปถึงศาล และศาลก็ปวดหัว ก็เพราะคู่สัญญาสองฝ่ายต่างตีความสัญญาคนละแบบ)

เพราะทุกอย่างกลายเป็นเรื่องที่คอมพิวเตอร์ของคู่สัญญาคุยกันเอง ทำธุรกรรมกันเองผ่านโค้ด

Ethereum อธิบาย smart contract ที่มาภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=lVcgl8t9LIQ
Ethereum อธิบาย smart contract ที่มาภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=lVcgl8t9LIQ

คนที่อยู่ฝั่ง “ซื้อ” ก็สบายใจ เพราะโค้ดจะโอนเงินก็ต่อเมื่อตัวเองได้งานที่ว่าจ้างมาจริงๆ ส่วนคนที่อยู่ฝั่ง “ขาย” ก็สบายใจเช่นกัน เพราะไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงที่จะทำงานฟรี หรือได้เงินน้อยกว่าที่ควรจะได้ (เช่น นักเขียนจำนวนไม่น้อยวันนี้เสียรู้และเสียเปรียบสำนักพิมพ์ที่อ้างว่า ขายได้แค่สองร้อยเล่ม ทั้งที่ขายไปแล้วสองพันเล่ม)

อันที่จริง ความที่มันยังเป็นเรื่องใหม่มาก คำว่า “สัญญาอัจฉริยะ” หรือ smart contract นั้น วันนี้ยังถูกใช้ในสองความหมายที่คล้ายคลึงกัน แต่ไม่เหมือนกันทีเดียวนัก

ความหมายแรกก็คล้ายกับที่ผู้เขียนนิยามด้านบน – โค้ดคอมพิวเตอร์ซึ่งฝังข้อตกลง(อะไรก็ตามแต่)เอาไว้ และโค้ดนั้นถูกจัดเก็บ ยืนยันความถูกต้อง บริหารจัดการและทำตามเงื่อนไขในข้อตกลง บนบล็อกเชน (ซึ่งบล็อกเชนนั้นก็ต้องถูกออกแบบมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ)

“สัญญาอัจฉริยะ” ความหมายที่สอง หมายถึงสัญญาแบบด้านบนที่มีผลบังคับใช้ตามกฎหมาย สามารถใช้แทนสัญญาแบบดั้งเดิม (ที่เป็นกระดาษ) ได้ 100 เปอร์เซ็นต์

ผู้เชี่ยวชาญจำนวนมากมองว่า สัญญาอัจฉริยะในความหมายแรกนั้นนำมาใช้จริงไม่ยาก เพราะอยู่ที่ประเด็นทางเทคนิคเป็นหลัก เช่น “ภาษา” ของโค้ดคอมพิวเตอร์นั้นยืดหยุ่นมากพอหรือเปล่าที่จะสาธยายเงื่อนไขและข้อตกลงต่างๆ ในโลกจริง เพื่อจะได้บริหารสัญญาอัตโนมัติ บล็อกเชนที่จะรองรับสัญญาอัจฉริยะนั้นมั่นคงปลอดภัยเพียงพอแล้วหรือยัง ฯลฯ

แต่สัญญาอัจฉริยะในความหมายที่สองนั้นเกิดได้ยากกว่ากันมาก เพราะขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ มากมายนอกเหนือจากประเด็นทางเทคนิคหรือเทคโนโลยี เช่น สถาบันที่เกี่ยวกับกฎหมายในสังคม (อาทิ ศาล ตำรวจ อัยการ) ยอมรับสัญญาอัจฉริยะหรือไม่ นักธุรกิจเชื่อมั่นในเทคโนโลยีหรือเปล่า ฝ่ายนิติบัญญัติ (ซึ่งต้องออกกฎหมายรองรับให้สัญญาอัจฉริยะถูกต้องตามกฎหมาย)

ถ้าหากสถาบันต่างๆ เหล่านี้ไม่ยอมรับ สัญญาอัจฉริยะอย่างมากก็เป็นได้แค่โค้ดเจ๋งๆ แต่ใช้จริงไม่ได้ เพราะไม่มีผลทางกฎหมาย

วิวัฒนาการของ "สัญญา" ที่มาภาพ: http://forklog.net/wp-content/uploads/2015/10/Copy-of-Smart-contract-evolution.png
วิวัฒนาการของ “สัญญา” ที่มาภาพ: http://forklog.net/wp-content/uploads/2015/10/Copy-of-Smart-contract-evolution.png

แน่นอนว่า ถ้าจะให้สัญญาอัจฉริยะใช้ “แทนที่” สัญญากระดาษได้จริงๆ “ภาษา” ของโค้ดคอมพิวเตอร์ก็จะต้องดีพอที่จะคำนึงถึงฉากทัศน์ (scenarios) หรือความเป็นไปได้ทั้งหมดทุกประการที่อาจเกิดขึ้นจากข้อตกลง รวมถึงบทลงโทษต่างๆ ของการละเมิดสัญญา (บางชนิดที่อาจเกิดกรณีละเมิด เพราะธุรกรรมบางส่วนเกิดนอกโลกดิจิทัล) ด้วย

(กรณีนี้อาจคล้ายกับการนำเงื่อนไขเรื่องค่าเสียหายหรือเบี้ยปรับที่ตกลงกันล่วงหน้า – liquidated damages – หรือเลตเตอร์ออฟเครดิตในโลกของธุรกรรมกระดาษ มาเขียนเป็นโค้ดคอมพิวเตอร์)

ผู้เชี่ยวชาญด้านไอทีบางคนมองว่า บล็อกเชนประกอบกับความก้าวหน้าของวงการ “ปัญญาประดิษฐ์” หรือ artificial intelligence (AI) จะทำให้อีกไม่นาน “กฎหมายเชิงอัลกอริธึม” ที่จัดการตัวเองและบังคับใช้เอง (self-enforcing algorithmic law) อาจเข้ามาแทนที่ “กฎหมายดั้งเดิม” (traditional law) ที่เราคุ้นเคยกัน

อย่างไรก็ดี คงไม่ใช่ว่าข้อตกลงทุกรูปแบบจะสามารถแปลงเป็นอัตโนมัติได้หมด และข้อพิพาทที่สลับซับซ้อนมากก็ยังคงต้องใช้ “คน” จัดการ นั่นแปลว่าสุดท้ายเราก็คงยังต้องมีระบบยุติธรรมแบบเดิมๆ คู่ขนานไปกับระบบกฎหมายอัจฉริยะ

เพียงแต่ศาลที่เป็นมนุษย์อาจปล่อยให้สัญญาอัจฉริยะจัดการกับกรณีทั่วไป รอตัดสินกรณียากๆ ที่โค้ดคอมพิวเตอร์จนปัญญาเท่านั้น.