ThaiPublica > คอลัมน์ > In the Basement จักรวาลภายในห้องใต้ดินอันลี้ลับและศักดิ์สิทธิ์

In the Basement จักรวาลภายในห้องใต้ดินอันลี้ลับและศักดิ์สิทธิ์

30 กรกฎาคม 2016


1721955

OPEN InTheBasement_KeyArt_1080wide

อุลริช ไซเดิล เป็นผู้กำกับสารคดีผู้คร่ำหวอดในออสเตรียมาตั้งแต่ปี 1980 มีผลงานทั้งหนังสั้น, สารคดีทีวี และสารคดีฟอร์มใหญ่มาแล้วมากมาย เช่น Import Export (2007), Jesus, You Know (2003), State of the Nation: Austria in Six Chapters (2002) แต่ผลงานของเขาที่ทำให้ทั่วโลกรู้จักกลับไม่ใช่สารคดี แต่คือหนังฟิกชัน (fiction) ไตรภาคชุด Paradise ที่ฉายแยกภาคใน 3 เวทีเก่าแก่ที่สุดของโลก เริ่มด้วย Paradise: Love (2012) ที่ได้เข้าสายประกวด Palme d’Or ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ ด้วยเรื่องของหญิงออสเตรียวัย 50 เดินทางไปเคนยาเพื่อระเริงทัวร์เซ็กซ์อันเป็นธุรกิจใหม่ของที่นั่น ตามด้วยในปีเดียวกัน Paradise: Faith (2012) ที่คว้ารางวัล Special Jury Prize จากเทศกาลหนังเมืองเวนิส ที่ว่าด้วยหญิงวัยกลางคนผู้อุทิศชีวิตให้กับการเผยแผ่ศาสนาและปวารณาว่าชีวิตนี้จะไม่รักใครนอกจากเยซูคริสต์ ก่อนจะปิดท้ายด้วย Paradise: Hope (2013) หนังที่เข้าชิงรางวัลหมีทองในเทศกาลหนังเมืองเบอร์ลิน อันเกี่ยวกับสาวรุ่นหุ่นอวบอัดผู้ใช้เวลาว่างช่วงหยุดยาวไปกับค่ายลดน้ำหนัก ก่อนที่หนังจะค่อยๆ เฉลยว่า หญิงในเรื่องแรกเป็นแม่ของสองหญิงพี่น้องใน 2 เรื่องหลัง

1 paradise trilogy

กระทั่งในปี 2014 ไซเดิลกลับสู่หนังสารคดีอีกครั้ง เกี่ยวกับห้องใต้ดินที่ทั้งดูหดหู่ ตลกเสียดสี และชวนขนลุกในบางที ผสมผสานเรื่องจริงและเรื่องแต่งใน In The Basement (2014) หนังที่เปิดตัวนอกสายประกวดในเทศกาลหนังเมืองเวนิส

ก่อนจะเข้าเรื่องคงต้องย้อนไปถึงคดีอื้อฉาวของออสเตรียในปี 2008 เมื่อมีหญิงสาวนามว่าอลิซาเบธให้การกับตำรวจว่าเธอถูกพ่อแท้ๆ ของตน ซึ่งก็คือ โจเซฟ ฟริตเซิล จับขังไว้ในห้องใต้ดินมาตลอด 24 ปีเต็ม ทั้งถูกทารุณกรรมและข่มขืนต่างๆ นานา รวมถึงอีกคดีในปี 2005 เมื่อนาตาชา คัมปุช วัย 17 ปี หลบหนีออกมาแจ้งตำรวจว่า เธอถูกลักพาตัวไปตั้งแต่อายุ 10 ขวบ โดยนายวูล์ฟแกง พริโกลพิล ได้กักขังเธอไว้ในห้องใต้ดินตลอดมา กลายเป็นสองคดีสะเทือนขวัญที่ถูกกักขังใน “ห้องใต้ดิน”

2 Im_Keller_1-_Ulrich_Seidl-m8gsotqa95vwj9l5f5arpyw0oiao6u83znaakh6mfc

ไซเดิลเล่าว่า “จริงๆ แล้วคดีเหล่านี้ไม่เชิงอยู่ในความสนใจของผมตอนที่ทำหนังเรื่องนี้ ไอเดียสำหรับโปรเจกต์มาจากความหลงใหลในความจริงที่ซุกซ่อนอยู่ในห้องใต้ดิน และผู้คนชอบที่จะไปหลบซุกอยู่ใต้นั้น พื้นที่ส่วนตัวที่ปรกติแล้วไม่เปิดเผยให้คนนอกได้เห็น แต่ข้างใต้นั้นพวกเขามีเสรีภาพในการจะทำอะไรก็ได้ที่พวกเขาอยากจะทำ ข้างใต้นั้นมันคือจักรวาลของพวกเขา ผมไม่ต้องการจะตัดสิน ผมแค่อยากจะโชว์ให้เห็นถึงความเป็นจริงมากกว่า”

ไซเดิลสำรวจ “ห้องใต้ดินอันศักดิ์สิทธิ์” ของบรรดาชนชั้นกลางในออสเตรีย โปรเจกต์ In the Basement แม้จะไม่เกี่ยวข้องใดๆ กับคดีที่ว่ามาเลย แต่แน่นอนว่าหลายๆ บทวิจารณ์เกี่ยวกับสารคดีเรื่องนี้ล้วนหยิบยกคดีเหล่านั้นมาเป็นส่วนประกอบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เมื่อสารคดีเรื่องนี้กำลังพูดถึงห้องใต้ดินในประเทศออสเตรีย

3 InTheBasement-720x340

การเปิดเผยห้องใต้ดินสุดลี้ลับเหล่านี้อาจส่งผลต่อความรู้สึกของคนดูไปต่างๆ นานา บ้างอาจจะเฉยๆ บ้างอาจจะยี้ๆ บางคนอาจจะหรี่ตาตั้งคำถาม และบางคนอาจจะตาค้างตะลึงอึ้งไปหลายนาที

หนังไม่ได้อธิบายอะไรมากมาย ไม่แม้แต่จะบอกชื่อเสียงเรียงนามว่าใครเป็นใครอย่างสารคดีตามขนบทั่วไป เป็นเพียงการตัดสลับห้องใต้ดินหลากหลายผู้คนที่ให้บรรยากาศแตกต่างกันไป อาจจะดูรื่นรมย์ในทีแรกด้วยเสียงดนตรีอะไรสักอย่าง, ดูพิลึกพิลั่นด้วยการร้องโอเปราแปลกๆ, มีบางห้องใต้ดินตกแต่งแน่นเต็มด้วยเขาสัตว์, มีของบางบ้านทำเป็นสระว่ายน้ำเล็กๆ, หญิงชราคุยกับตุ๊กตาทารกราวกับลูก, แบบสยิวกิ้วก็มีคู่รักที่ชอบเซ็กซ์ SM แบบนายทาส และประกอบกิจกามราวกับพิธีศักดิ์สิทธิ์, รวมถึงกลุ่มคนรักชาติและหวนรำลึกถึงอุดมการณ์แบบนาซี ฯลฯ

ไซเดิลไม่วิพากษ์วิจารณ์ เป็นเพียงการไปสำรวจดำดิ่งสู่ห้องหับลี้ลับต่างๆ ที่ทั้งชวนช็อกฉงนฉงาย และแสนจะศักดิ์สิทธิ์ ส่วนตัว แต่การไม่บอกอะไรเลยกลับยิ่งเปิดกว้างให้คนดูได้ขบคิดว่า ทำไมพวกเขาจึงทำสิ่งเหล่านี้

4 seidl1

ความแปร่งประหลาดในสารคดีเรื่องนี้ที่ทั้งทำให้ผู้คนหัวเราะหนักมาก ด้วยจังหวะการทิ้งภาพที่บางคราวทำให้คนสงสัย อย่างหญิงชราที่ซุกเด็กทารกเอาไว้ในกล่อง เป็นภาพชวนช็อกเมื่อตุ๊กตานั้นเหมือนทารกเอามากๆ จนคนดูอาจจะรู้สึกดูแคลน ปนขำๆ เมื่อเธอเริ่มพยายามจะพูดคุยกับตุ๊กตานั้น แต่เมื่อฉากนั้นเริ่มเนิ่นนาน ความหดหู่เศร้าสร้อยก็คืบคลานเข้ามาแทนที่

“ผมชอบแบบนั้นนะ ผมชอบเวลาที่ผู้คนขบขันกับสิ่งที่เห็น สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับคนดูของผมคือ พวกเขาไม่เคยหัวเราะหรือร้องไห้ไปพร้อมๆ กัน ผมไม่เคยอ่อยเหยื่อให้คนดูมีจังหวะตั้งตัวว่า เอาล่ะ เดี๋ยวฉากต่อไปคนดูจะต้องขำล่ะนะ แต่จังหวะของผมคือ บางคนอาจจะขำโคตร แต่บางคนอาจจะรู้สึกว่าภาพที่เห็นนี่มันช่างโคตรจะรบกวนจิตใจเลย เพราะบางคนอาจจะรู้สึกว่าสิ่งที่เห็นนี่มันไม่น่าตลกเลยสักนิด ส่วนตัวผมคิดว่าชีวิตมันเป็นเรื่องน่าหัวร่อ และเป็นเรื่องเสียดสีในเวลาเดียวกัน ดังนั้น ทำไมเราถึงไม่หัวเราะให้กับมัน แต่ถ้าเมื่อไรก็ตามที่คนดูเอาแต่หัวเราะให้กับสิ่งที่เห็นบนจอหนัง นั่นคือปัญหาแล้วล่ะ เพราะความเป็นจริงชีวิตคนเราก็ไม่ได้แตกต่างกัน คนเรามีความหมกมุ่นอย่างใดอย่างหนึ่งเหมือนๆ กัน เพียงแต่สิ่งเหล่านั้นจะถูกเปิดเผยหรือขุดหลุมฝังเอาไว้ลึกๆ ก็เท่านั้นเอง” ไซเดิลให้ความเห็น

5 in-the-basement-5-credit-strand-releasing

หนังของเขามักจะถูกตั้งคำถามว่าทำไมจึงสามารถตีแผ่ภาพส่วนตัวออกมาได้ ซึ่งไซเดิลบอกว่า “ผมใช้เวลากับผู้คนเหล่านี้มากพอที่จะรู้จักพวกเขา สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ สร้างความสัมพันธ์ ผมใส่พวกเขาลงไปในหนังในแบบที่พวกเขาเป็น โดยไม่ไปตัดสินหรือก้าวก่ายชีวิตพวกเขา มันเป็นพรสวรรค์ของผมเลยล่ะในการจะทำให้ผู้คนประทับใจในตัวผม เพราะว่าผมแคร์ผู้คนเหล่านั้นจริงๆ เช่นกัน เมื่อคนดูได้ดูหนังผม ผมไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้ให้ออกมาตลกขบขัน แต่ต้องการให้ผู้คนแคร์กันและกัน คนเหล่านี้ สิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศผม ออสเตรีย มีผู้คนที่คล้ายๆ กันรอบๆ ตัวคุณ การให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ต่อคนรอบข้าง คือวิธีทำหนังสารคดีที่ดี”

6 inthebasementmantubahitlerportraitcenteredgood

“แต่แน่นอนว่าบางครั้งก็ต้องอาศัยโชคช่วยด้วย อย่างชายคนหนึ่งที่ผมเผอิญเจอบนถนน เขาสร้างห้องลับของเขาที่เก็บสะสมข้าวของเกี่ยวกับนาซีเอาไว้” แต่ความลับที่น่าตะลึงคือ ฉากนี้เป็นการจัดฉากขึ้นมา “แน่นอนว่าผู้ชายคนนี้มีตัวตนจริง และเขามีงานอดิเรกแบบในหนังคือชอบเป่าแตรวง แต่ของสะสมเกี่ยวกับนาซีในห้องใต้ดินของเขาเป็นการจัดฉากขึ้นมาทั้งสิ้น แม้แต่ฉากที่ถ่ายทำแบบแฮนด์เฮลด์ ทุกจังหวะถูกออกแบบให้เขาเป็นตัวละครเดินเข้ามาในฉากอย่างจงใจ มันคือการผสมผสานระหว่างเรื่องจริงและเรื่องสมมติ ผมหยิบจับวัตถุเหล่านี้มาผสมกับความเป็นจริง จนสุดท้ายมันไม่ใช่แค่ทำหนังสารคดี แต่มันยังเป็นหนังที่เล่าเรื่องภายในห้องใต้ดินอีกชั้นหนึ่งด้วย”

ความท้าทายสำหรับคนดูคือเราจะแยกไม่ออกเลยว่าฉากไหนบ้างเป็นเรื่องจริง ฉากไหนเป็นเรื่องแต่งขึ้น ซึ่งเมื่อถามเขา ไซเดิลตอบว่า “เดาดูสิ!”

7 (1)