ThaiPublica > เกาะกระแส > นายกฯ แจงประชารัฐไม่เอื้อเจ้าสัว ชี้ “สนธิ” ไม่ทำอย่าพูด – มติครม.จัดงบ 125 ล้านซื้อเรือ 54 ลำชดเชยชาวประมงIUU

นายกฯ แจงประชารัฐไม่เอื้อเจ้าสัว ชี้ “สนธิ” ไม่ทำอย่าพูด – มติครม.จัดงบ 125 ล้านซื้อเรือ 54 ลำชดเชยชาวประมงIUU

3 พฤษภาคม 2016


พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th
พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่มาภาพ : www.thaigov.go.th

เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2559 ที่ทำเนียบรัฐบาล มีการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยมี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธาน

นายกฯ แจงประชารัฐไม่เอื้อเจ้าสัว ชี้ สนธิไม่ทำอย่าพูด

ภายหลังการประชุม พล.อ. ประยุทธ์ ได้ให้สัมภาษณ์สื่อถึงกรณีนายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการและอดีตแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แสดงความเห็นต่อโครงการประชารัฐ ว่าเป็นโครงการเอื้อประโยชน์ต่อบรรดาลูกหลานเจ้าสัว ว่า ตนไม่สนใจ เพราะทำในสิ่งที่ดี คนที่ไม่เคยทำแค่คิดและพูดนั้นง่ายเกินไป เพราะคนพูดไม่ได้เจอปัญหา

พล.อ. ประยุทธ์ ชี้แจงว่า โครงการประชารัฐในส่วนของ Startup Thailand ที่นำภาคเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการรายใหญ่เข้ามาช่วยเหลือนั้น เป็นการช่วยขับเคลื่อนโครงการเท่านั้น ส่วนผลประโยชน์ทั้งหมดกลับสู่ประชาชน ไม่ได้ให้เขาเข้ามายึดกิจการแต่อย่างใด เงินที่ได้ไม่ได้เอาไปแบ่งปันผลประโยชน์ แต่ใช้เป็นค่าใช้จ่ายในส่วนค่าจ้างเจ้าหน้าที่ ส่วนเงินที่เหลือจะนำเข้ากองทุนเพื่อนำไปใช้จ่ายและขยายการดำเนินการสู่พื้นที่อื่นๆ การประกาศวิสัยทัศน์ดังกล่าวเป็นการดำเนินการที่ดีที่สุดในการช่วยเหลือกลุ่ม SMEs ที่มีอยู่กว่า 2.6 แสนราย ในส่วนของ SMEs ขนาดเล็ก ที่นำปัญญาประดิษฐ์มาประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งรัฐบาลสนับสนุนงบประมาณในการดำเนินธุรกิจเพื่อให้ธุรกิจสามารถดำเนินได้ด้วยตนเอง และเป็นการคืนกำไรให้สังคม สร้างธุรกิจให้คนรุ่นใหม่ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0

“ผมยังไม่ก้าวก่ายงานของท่านเลย หนังสือพิมพ์หรืออะไรของท่านเขียนในเชิงสร้างความขัดแย้ง ยังไม่เคยว่าเลย ฉะนั้น อย่ามายุ่งกับผม แม้แต่คนที่มาช่วยโครงการสตาร์ทอัพ เขาจะมาฮุบอย่างไร บอกวิธีการฮุบมาสิ ผมจะไม่ฉลาดพอที่จะให้เขาฮุบเหรอ เขามาช่วยขับเคลื่อน ร่วมตั้งบริษัทและมีผลกำไรหรือเปล่า ผลกำไรอยู่ที่ไหนดูตรงนี้ โครงการประชารัฐไม่ว่าจะเป็นบริษัทใหญ่หรืออย่างไรนั้นเพื่อเอาประโยชน์มาสู่ประชาชน เพราะประชาชนเป็นหุ้นส่วนใหญ่ เงินที่ได้กลับมาไม่ได้แบ่งปันผลประโยชน์ แต่เอามาเป็นค่าแรงค่าจ้างเจ้าหน้าที่ ที่เหลือผลักเข้าสู่กองทุน นำไปใช้ขยายที่อื่นมันผิดตรงไหน”

นายกฯ ไม่สนยิ่งลักษณ์โพสต์ข้อความ ย้ำ ไม่เคยละเมิดสิทธิมนุษยชน

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกฯ โพสต์ข้อความเรียกร้องให้นายกฯ รับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหลังจาก คสช. ควบคุมตัว 8 ผู้กระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ว่า ตนไม่ได้อะไร และให้เกียรตินางสาวยิ่งลักษณ์เสมอ เพราะตนไม่ใช่คนรังแกผู้หญิง แต่กรณีดังกล่าวเป็นเรื่องกระบวนการยุติธรรม ขออย่านำเรื่องการแสดงความเห็นไปปนกัน เพราะที่ผ่านมามีการปล่อยปละละเลยจึงต้องใช้อำนาจตรงนี้ ซึ่งเมื่อเข้ากระบวนการยุติธรรมก็ถือว่าจบสิ้น พร้อมย้ำว่าไม่มีการใช้กำลังแต่อย่างใด

“หน้าที่ของผมคือเอาคนเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เข้าสู่กระบวนการของตำรวจ สอบสวน ไม่ได้เหมือนบางคนที่รู้กฎหมายแล้วกลับพูดไม่ให้เกิดความเข้าใจ หาว่าใช้มาตรา 44 เพื่อละเมิดและนำกฎหมายต่างๆ มาพันกัน ซึ่งเป็นคนละเรื่อง มาตรา 44 นี้ใช้ทุกเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการกระทำผิดกฎหมาย เพื่อความรวดเร็ว ป้องกันไม่ให้หนีเตลิดเปิดเปิง แต่การใช้กฎหมายต้องไม่ละเมิดสิทธิมนุษยชน ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ไม่ได้แตะตัวอะไรสักอย่าง เพราะเราระวังอยู่แล้ว สื่อเขียนกันไปกันมาจนต่างชาติงง ดังนั้น คดีของทั้ง 8 คนนี้ ก็ให้สู้กันในกระบวนการยุติธรรม หากคิดว่าไม่ผิด”

ทั้งนี้นายกฯ กล่าวถึงมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ว่า ไม่กลัวเสียชื่อเสียงหรืออย่างไรที่ให้กลุ่มคนที่สร้างความวุ่นวายเข้าไปอยู่ เพราะมีแต่กลุ่มเดิมๆ เคลื่อนไหวมาตั้งแต่ครั้งที่แล้วจนบ้านเมืองบานปลาย แล้วทำไมช่วงก่อนหน้านี้ถึงไม่ทำ ไม่ต่อต้านรัฐบาลก่อนๆ บ้าง ซึ่งตนคิดว่านักศึกษา อาจารย์ส่วนใหญ่ก็ไม่ได้เห็นชอบอยู่แล้ว และพร้อมยอมรับหากเป็นเรื่องถูกต้อง แต่ถ้าผิดต้องเข้ากระบวนการ

เมื่อถามว่า กรณีการจับกุมบุคคลทั้ง 8 นั้นเกี่ยวข้องกับการทำผิด พ.ร.บ.การออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2559 ตามที่นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เข้ายื่นข้อกล่าวหาหรือไม่ พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า กรณีดังกล่าวไม่เกี่ยวกับการทำประชามติ แต่เป็นเรื่องของกฎหมายอาญามาตรา 116 มาตรา 112 ซึ่งหากไม่ผิดก็ไม่มีใครอยากจับกุม ส่วนเรื่องที่นายสมชัยยื่นข้อกล่าวหา หากไม่เห็นด้วยก็ไปทักท้วงกับนายสมชัยเอง

เมื่อถามถึงกรณีที่นายสมชัยออกมาระบุเพิ่มเติมเรื่องข้อปฏิบัติ 6 ข้อทำได้ 8 ข้อทำไม่ได้ ในการแสดงความเห็นประชามติ นายกฯ กล่าวว่า เมื่อกฎหมายออกมาก็รับฟัง และเห็นว่าไม่ได้ขัดแย้งอะไร และไม่มีอะไรต้องตีความเพิ่ม ทั้งนี้ สิ่งที่ตนห้ามคือการรณรงค์ให้รับหรือไม่รับ แต่การอธิบายทำความเข้าใจต้องมีเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแล ทั้งหมดนี้อยู่ที่เจตนาคนทำ ส่วนกรณีที่บอกว่าสามารถรณรงค์ให้รับแต่ต้องมีเหตุผลทางวิชาการ หากระบุอย่างนั้นก็ต้องไปหาเหตุผลมา หากมีปัญหาอะไรก็ให้ไปถาม กกต. เพราะเขาเป็นคนเขียนกฎหมาย

นายกฯ ยัน ป.ป.ช. ยังไม่รื้อคดีสลายชุมนุม 51

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เตรียมรื้อคดีสลายการชุมนุม ปี พ.ศ. 2551 ว่า กรณีดังกล่าวยังไม่ใช่การรื้อฟื้นคดี แต่เป็นการยื่นหนังสือจากผู้ถูกกล่าวหาให้พิจารณาทบทวนมติเรื่องดังกล่าว ซึ่งผู้ถูกกล่าวหาทุกคนสามารถขอทบทวนมติได้ทั้งสิ้น กลุ่มที่เห็นต่างก็สามารถทำได้เช่นกัน เนื่องจากกฎหมายให้สิทธิ์ไว้ ส่วน ป.ป.ช. จะตัดสินใจอย่างไรนั้น หากยังไม่มีการตั้งคณะกรรมการเข้าศึกษาทบทวนคดี ก็แสดงว่ายังไม่ได้นำคดีขึ้นมาพิจารณาใหม่แต่อย่างใด ทั้งนี้ ตนไม่ได้มองว่าเป็นเรื่องของอคติ แต่สิ่งใดที่ควรทำหรือไม่ควรทำก็ให้ไปพิจารณาดำเนินการ

เมื่อถามต่อถึงกรณีศาลยกฟ้องคดีอุ้มฆ่านักธุรกิจซาอุดีอาระเบียนั้นจะกระทบถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับซาอุดีอาระเบียหรือไม่ นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า ทุกอย่างเป็นไปตามกระบวนการยุติธรรมและตามหลักฐาน ซึ่งตนเคารพคำตัดสินของศาล ทั้งนี้เป็นหน้าที่ของไทยต่อไปที่ต้องทำความเข้าใจกับทางซาอุดีอาระเบียในเรื่องนี้ให้ชัดเจน

ทวงสัญญา”สุขุมพันธุ์” กรณีแผงลอยยึดทางจักรยานจตุจักร

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีช่องทางจักรยานที่สวนจตุจักรถูกยึดเป็นที่ขายของและที่จอดรถยนต์ว่า กรณีดังกล่าวไม่ใช่การที่นโยบายการจัดระเบียบของรัฐบาลปฏิบัติไม่ต่อเนื่อง ส่วนนี้เป็นหน้าที่ของหน่วยงานที่รับผิดชอบแล้ว ซึ่งคือ กทม. ตนไม่สามารถจะนำทหารไปเฝ้าพื้นที่ดังกล่าวได้ตลอด

“ผมจัดไปแล้วไม่รู้จักจัดกันต่อหรืออย่างไร ทำแล้วก็ดีอยู่แค่ 3 วัน 5 วัน พอไปทำตรงอื่นกลับมาอีกแล้ว แทนที่จะปลูกจิตสำนึกคนว่ารัฐบาลและ คสช. จัดให้แล้ว ควรจะแบ่งเบาภาระจะได้ไปทำอย่างอื่น ฝากไว้ด้วยหน่วยงานไหนรับผิดชอบเขตไหนไม่รู้ เดี๋ยวผมจะแจ้ง ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ผู้ว่าฯ กทม. เนื่องจากรับปากผมแล้วว่าจะทำทุกอย่างสนองนโยบายรัฐบาลถ้าสั่งไป ถ้าไม่ได้ก็ลงโทษไปเขตไหนก็ว่าไป” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

สำหรับการใช้มาตรา 44 ยึดคืนที่ดินผิดกฎหมาย นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า เรื่องนี้จะต้องตรวจสอบให้ดี เพราะเกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน และผู้ที่ทำผิดบางคนก็เสียชีวิตไปแล้ว ดังนั้น จะต้องไปดูว่าสำนักงานปฎิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ สปก. มีการออกโฉนดมาได้อย่างไร พร้อมยอมรับว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน เพราะบางคนซื้อที่ดินไปโดยไม่รู้ว่าผิดกฎหมายก็มี

นายกฯ ยินดี “จิ้งจอกสยาม” เผยดีกว่าซื้อทีมประสบความสำเร็จแล้วขายต่อ

พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงกรณีทีมฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ ได้เป็นแชมป์พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ประจำฤดูกาล 2015-2016 ว่า ตนขอแสดงความยินดีกับทีมเลสเตอร์ วันนี้ก็เป็นทีมจิ้งจอกสยาม กีฬาทุกประเภทที่เป็นของคนไทย หรือที่มีคนไทยไปร่วมเล่นด้วย ตนก็ยินดีด้วยทั้งสิ้น เพราะไปในนามของประเทศไทย ทั้งนี้ตนเห็นถึงความก้าวหน้า จากความพยายามจนสามารถก้าวขึ้นมาเป็นทีมที่ประสบความสำเร็จได้

“ก็น่าจะดีกว่าไปซื้อทีมที่ประสบความสำเร็จแล้วไปขายต่อ” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

นอกจากนี้ นายกฯ กล่าวถึงเหตุการณ์กลุ่มวัยรุ่นรุมทำร้ายนักท่องเที่ยวชาวอังกฤษว่า ตนทราบอยู่แล้วว่ากรณีดังกล่าวเป็นการทำลายภาพลักษณ์การท่องเที่ยวของไทย ซึ่งได้รับทราบจากเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วว่าได้เร่งติดตามจับกลุ่มวัยรุ่นที่ยังหลบหนีอยู่ ส่วนกรณีที่มีผู้นำคลิปจากกล้องวงจรปิดของเทศบาลเมืองหัวหินที่เป็นข้อมูลในสำนวนของตำรวจออกไปเผยแพร่นั้น ผู้ที่นำไปเผยแพร่จะต้องถูกดำเนินคดีเพราะมีส่วนในการสร้างความเสียหายให้เกิดขึ้นกับประเทศ โดยเฉพาะบทบัญญัติตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แม้จะมีเจตนาดี แต่ก็ต้องเคารพกฎหมายเช่นกัน

วันเสรีพภาพสื่อ นายกฯ ขอเลิกบิดเบือนข้อมูล

เนื่องจากวันที่ 3 พฤษภาคม เป็นวันเสรีภาพสื่อมวลชนโลก พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวถึงการทำงานของสื่อมวลชนไทยว่า ตนมีทั้งเรื่องที่พอใจและไม่พอใจการทำงานของสื่อ แต่ก็อดทน เพราะสื่อคือผู้ที่ต้องสร้างการรับรู้ให้สังคมโดยรวมโดยไม่บิดเบือนข้อมูลข้อเท็จจริง ด้วยความเข้าใจในบริบทของสังคม ข้อกฎหมาย และเรียนรู้อดีต ด้านข้อเสนอของสมาคมนักข่าว นักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยที่ให้ยกเลิกคำสั่ง คสช. บางฉบับที่เกี่ยวข้องกับการทำหน้าที่สื่อมวลชน ตนจะนำไปพิจารณา พร้อมย้อนถามว่าขณะนี้สื่อคิดว่าไม่มีเสรีภาพเพียงพอหรือไม่

“ผมต้องการให้สื่อทำหน้าที่โดยไม่บิดเบือน การวิพากษ์วิจารณ์ต้องอยู่บนพื้นฐานข้อมูลที่มีข้อเท็จจริง และต้องนึกถึงผลกระทบจากการแสดงความเห็นของตนเองที่มีต่อการแก้ปัญหาต่างๆ เช่น การแก้ปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ต้องคำนึงถึงทุกภาคส่วน ทั้งในส่วนของประชาชนและเจ้าหน้าที่ และที่สำคัญ ต้องไม่ขยายความให้กับผู้ที่ไม่ทำตามกฎหมาย” พล.อ. ประยุทธ์ กล่าว

นอกจากนี้ มีวาระ ครม. อื่นๆ ที่สำคัญ สรุปได้ดังนี้

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี  ที่มาภาพ : http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/231214_krit_1/231214krit1-52657.html
พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
ที่มาภาพ: http://www.thaigov.go.th/th/media-centre/231214_krit_1/231214krit1-52657.html

ศปมผ. เผยใช้งบ 125.88 ล้าน ซื้อเรือ 54 ลำ เพื่อจมทำปะการัง

พล.ร.ท. จุมพล ลุมพิกานนท์ รองเสนาธิการทหารเรือ ในฐานะโฆษกศูนย์บัญชาการแก้ไขการทำการประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ได้รายงานความคืบหน้าตามมติคณะรัฐบาล ในการให้ความช่วยเหลือดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากมาตรการแก้ไขปัญหาประมงผิดกฎหมาย ว่า จากมติ ครม. เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2558 อนุมัติงบวงเงิน สำหรับซื้อเรือประมง ที่มีอาชญาบัตรเครื่องมือผิดประเภท (ประเภทอวนรุน) เพื่อนำไปจมทำปะการังเทียม ขณะนี้ได้ดำเนินการตรวจสอบและพบเรือประมงที่อยู่ในหลักเกณฑ์รับซื้อในระยะแรกจำนวน 54 ลำ โดยจะใช้งบประมาณจำนวน 125.88 ล้านบาท เบื้องต้นเจ้าของเรือประมงจะได้รับเงินชดเชยร้อยละ 30 และอีกร้อยละ 70 จะได้รับภายหลังจากการจมเรือ

“คณะกรรมการที่จัดตั้งขึ้นได้มีการสำรวจและพบว่าอยู่ในสภาพดี สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในราชการกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งจำนวน 3 ลำ สำหรับที่เหลืออีก 51 ลำ กรมประมง ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีความเชี่ยวชาญการทำปะการังเทียมอยู่แล้วจะนำไปจมเพื่อทำปะการังเทียม โดยจะปฏิบัติการในพื้นที่บริเวณอ่าวไทย จ. สมุทรสาคร สุราษฎร์ธานี และปัตตานี มีค่าใช้จ่าย 6.14 ล้านบาท ซึ่งการรับซื้อเรือประมงที่ผิดกฎหมายช่วยลดจำนวนเรือประมงให้เหมาะสมกับทรัพยากรทางทะเล” พล.ร.ท. จุมพล กล่าว

รับทราบแผนการดำเนินการทางกฎหมายในช่วง 1 ปี

พล.ต. สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบแผนงานของรัฐบาลในการเสนอร่างกฎหมาย และการผลักดันกฎหมายฉบับต่างๆ ในระหว่างรัฐบาลชุดนี้ คือปี 2557-2560 ดังนี้

กฎหมายที่ต้องเร่งปรับปรุง ผลักดันได้แก่ 1. กฎหมายล้าสมัย ไม่ทันเหตุการณ์ ต้องปรับปรุง 2. กฎหมายที่ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม พัฒนาสังคม ต้องผลักดัน 3. กฎหมายที่ส่งเสริมการค้าการลงทุน ส่งผลต่อการลงทุน ให้สอดคล้องกับหลักการ ช่วยส่งเสริมขีดความสามารถทางการแข่งขัน ให้เร่งดำเนินการ

ปัจจุบันตั้งแต่รัฐบาลชุดนี้เข้าบริหารราชการแผ่นดิน มีพระราชบัญญัติที่ประกาศใช้บังคับเป็นกฎหมายแล้วจำนวน 151 ฉบับ แบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนที่ 1 กฎหมายที่จำเป็นต้องมีกฎหมายรอง มี 56 ฉบับ (ส่วนนี้แยกย่อยต่อเป็น ออกกฎหมายรองเสร็จแล้ว 29 ฉบับ กับกำลังออกกฎหมายรองตามมา 27 ฉบับ) ส่วนที่ 2 กฎหมายที่ไม่จำเป็นต้องมีกฎหมายรอง เพราะสมบูรณ์แล้ว 95 ฉบับ

นอกจากนั้น ในที่ประชุม นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีด้านกฎหมาย ในฐานะรองประธานกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 3 สรุปถึงกฎหมายสำคัญ ที่ต้องเร่งดำเนินการ อาทิ ร่าง พ.ร.บ.เขตเศรษฐกิจพิเศษ, ร่าง พ.ร.บ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ, ร่าง พ.ร.บ.มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา และ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขประมวลวิธีพิจารณาความอาญา

พร้อมกันนั้นยังแสดงความเห็นต่อเรื่องการเสนอ การตรวจพิจารณา การขอความเห็น ดังนี้

  1. การยกร่างกฎหมายจากฝั่งรัฐบาล ที่ปกติให้กระทรวงเป็นผู้ร่างกฎหมาย แล้วพอเข้า ครม. ก็จะมีข้อติติง ไปแก้ที่ส่วนกฤษฎีกา ทางกฤษฎีกาจึงเสนอว่า ให้กระทรวงมาเล่าจุดประสงค์ของกฎหมายนั้นให้ฟังเลย และกฤษฎีกาจะเป็นผู้ร่างกฎหมายเอง เพื่อความรวดเร็วและตรงประเด็น
  2. เรื่องใดที่ดำเนินการด้านบริหารได้ ก็ไม่ต้องออกเป็นกฎหมาย
  3. ให้ลดจำนวนกฎหมายออกไปเพราะบางเรื่องมี พ.ร.บ. อำนวยความสะดวกรองรับ
  4. การกำหนดคณะกรรมการหรืออนุกรรมการ นายกฯ รู้ก็พอ ไม่จำเป็นต้องโปรดเกล้า
  5. ให้ประชาชนติดต่อส่วนภูมิภาคได้ ประชาชนไม่ต้องเดินทางมาส่วนกลาง
  6. ในการเขียนกฎหมายของกระทรวง บางเรื่องที่เกี่ยวกับสนธิสัญญาระหว่างประเทศ ต้องพิจารณาให้ดีไม่ให้ขัดแย้ง เช่น ส่วนที่ระบุสัญชาติไทย จะไปขัดกับกฎหมายอาเซียน คือต้องไม่กีดกันสัญชาติอื่น และการจัดลำดับความสำคัญ กระทรวงต้องแจ้งกฤษฎีกา เพื่อให้รู้ว่าเรื่องใดสำคัญและเร่งด่วน
  7. กฎหมายบางฉบับที่เกี่ยวข้องกับหลายกระทรวง ต้องหารือกันก่อนที่จะเสนอไปกฤษฎีกา

นับเวลาการครองยศตำรวจใหม่

ครม. มีมติเห็นชอบให้แก้ไขปรับปรุงระยะเวลาการครองยศของผู้ร่วมโครงการปรับเปลี่ยนกำลังพล จากเดิม “การนับจำนวนปีการครองยศเพื่อสิทธิประโยชน์สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการนับเต็มปี (วันชนวัน) เว้นแต่ในปีแรกของการครองยศปัจจุบันถึง 1 ตุลาคมของปีนั้นมีระยะเวลาครองยศไม่น้อยกว่า 8 เดือน ให้นับเป็น 1 ปี” เป็น “การนับจำนวนปีการครองยศเพื่อสิทธิประโยชน์สำหรับผู้เข้าร่วมโครงการในปีแรกที่ได้รับการแต่งตั้งในวาระการแต่งตั้งประจำปี ไม่ว่าคำสั่งนั้นมีผลบังคับใช้เมื่อใด ให้นับระยะเวลาครองยศปัจจุบันถึง 1 ตุลาคมของปีนั้น เป็น 1 ปี ส่วนการแต่งตั้งนอกวาระประจำปีให้นับระยะเวลาการครองยศปัจจุบันถึง 1 ตุลาคมไม่น้อยกว่า 8 เดือน เป็น 1 ปี” ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่โครงการปรับเปลี่ยนกำลังพล รุ่นที่ 16 (ปีงบประมาณ พ.ศ. 2559) เป็นต้นไป

เพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวให้กองอาสารักษาดินแดน

ครม. มีมติเห็นชอบในหลักการการปรับเงินพิ่มค่าครองชีพชั่วคราวและปรับเพิ่มอัตราเงินค่าเบี้ยเลี้ยงสนามของสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน ดังนี้ 1. อัตราเดิม คือ ค่าตอบแทนเดือนละ 12,285 บาท เปลี่ยนเป็น  13,285 บาท 2. ได้รับเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราวเดือนละ 1,500 บาท เปลี่ยนเป็น 2,000 บาท 3. ถ้าจำนวนเงินที่ได้รับดังกล่าว ต้องได้มากกว่า 9,000 บาท ถ้าไม่ถึงให้ได้รับเพิ่มในส่วนเงินเพิ่มการครองชีพชั่วคราว  เปลี่ยนเป็น รวมแล้วต้องมากกว่า 10,000 บาท 4. เงินค่าเบี้ยเลี้ยงภาคสนาม เดิม 120 บาท/วัน/คน เปลี่ยนเป็น 200 บาท/วัน/คน

เห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สถานพยาบาล กรณีฉุกเฉินปฏิเสธการรักษาไม่ได้

ครม. มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติสถานพยาบาล (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. โดยมีสาระสำคัญ คือ 1. เป็นการแก้ไขให้สถานพยาบาลภาครัฐต้องมีมาตรฐานหรือผ่านการรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานที่กำหนด เพื่อให้การบริการของสถานพยาบาลภาครัฐและเอกชนเป็นมาตรฐานเดียวกัน 2. เพิ่มเติมหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการโฆษณาสถานพยาบาล ไม่ให้บอกเล่าความพิเศษจนเกินเลย 3. กำหนดหลักเกณฑ์ประเภทผู้ป่วยฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาพยาบาลฉุกฉิน โดยสถานพยาบาลจะปฏิเสธการรักษาไม่ได้

โดยร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว เป็นการส่งเสริมและสนับสนุนระบบคุ้มครองประชาชนด้านสุขภาพ ทั้งนี้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้วตามที่กระทรวงสาธารณสุขเสนอ และส่งให้คณะกรรมการประสานงานสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาก่อนเสนอสภานิติบัญญัติแห่งชาติต่อไป

อนุมัติงบ 243 ล้านบาท ซ่อมบำรุงทางหลวง

ครม. มีมติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการเพิ่มเติมภายใต้กรอบโครงการเงินกู้เพื่อการพัฒนาระบบบริหารทรัพยากรน้ำและระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน พ.ศ. 2558 ภายในกรอบวงเงิน ซึ่งมีกรอบวงเงินรวม 78,000 ล้านบาท โดยกรมทางหลวงชนบทได้รับอนุมัติจำนวน 25,000 ล้านบาท แล้วเมื่อดำเนินการไปจนเสร็จ ในพื้นที่ 21 จังหวัด เช่น เชียงใหม่ บุรีรัมย์ เป็นต้น เหลืองบ 571 ล้านบาท และขอใช้งบส่วนที่เหลือต่อเป็นส่วนของงบประมาณบำรุงรักษาทางหลวง ซึ่ง ครม. อนุมัติงบจำนวน 243.77 ล้านบาท และส่วนที่เหลือกันไว้เป็นค่าเงินชดเชยค่างานก่อสร้าง หรือค่าเค

พร้อมกันนั้น ที่ประชุม ครม. ยังมีมติรับทราบการดำเนินการโครงการก่อสร้างทางกลับรถต่างระดับบนทางหลวงหมายเลข 402 จังหวัดภูเก็ต วงเงิน 200 ล้านบาท ที่ได้ไปประชุมรับฟังความคิดเห็นประชาชนแล้ว

ปรับงบก่อสร้างทางหลวงชุมพร-ระนองใหม่

ครม. มีมติรับทราบการก่อหนี้ผูกพันงบประมาณข้ามปี รายการก่อสร้างทางหลวงหมายเลข 10 เส้นทางชุมพร-ระนอง ระยะทาง 32.45 กิโลเมตร ในวงเงิน 1,310 ล้านบาท จากเดิมที่เคยมีมติเห็นชอบเมื่อเดือนตุลาคม 2558 ในวงเงิน 1,563 ล้านบาท โดยก่อนหน้านี้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีได้สั่งให้กลับไปทบทวนรายละเอียดเพราะราคาสูงเกินไป หลังจากนั้น สำนักงบประมาณและกรมทางหลวงกลับไปทบทวนจึงได้ที่ 1,310.59 ล้านบาท และเมื่อมีการประกวดราคาอี-บิดดิ้งแล้วจบที่ 1,310.2 ล้านบาท

“นายกฯ ยังตั้งข้อสังเกตอีกประการว่า เมื่อมีการเปิดประมูล พบว่า ราคาที่ประกวดได้จะห่างจากราคากลางเล็กน้อย ทำให้เป็นข้อสงสัยว่า ทำไมผู้ประกวดราคาถึงให้ราคาที่ใกล้เคียงราคากลางมาก มีการรู้เห็นเป็นใจ และมาบิดราคาใกล้ราคากลางหรือไม่ จึงได้สั่งการให้รัฐมนตรีทุกกระทรวงจะต้องคำนึงถึงหลักเกณฑ์ หากพบมีการรู้เห็นเป็นใจเรื่องราคากลางจะต้องถูกลงโทษ” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว

อนุมัติใช้เงินต้นกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ 2,467 ล้านบาท

ครม. มีมติเห็นชอบนำเงินต้นกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศมาใช้ดำเนินการ ตั้งแต่ปีงบประมาณ 2559 จำนวน 2,467 ล้านบาท ภายหลังส่งคืนเป็นรายได้แผ่นดิน โดยคณะกรรมการบริหารกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเป็นผู้พิจารณาอนุมัติแผนงานและจัดสรรเงิน เนื่องจากการแข่งขันทางการค้าทวีความรุนแรงและมีปัจจัยท้าทายทางเศรษฐกิจการค้าเพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ สถานะเงินกองทุนส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ วันที่ 31 มกราคม 2559 มีดังนี้

  1. เงินสดและเงินฝากธนาคารคงเหลือ (4,298 ล้านบาท) หักเงินกันไว้เบิกจ่ายเหลื่อมปี แผนงานปี 2559 และภาระหนี้สิน อาทิ ภาษีหัก ณ ที่จ่าย เงินค้ำประกันสัญญา ฯลฯ (1,562 ล้านบาท)
  2. ประมาณการคงเหลือ (2,736 ล้านบาท) หักส่งคืนกระทรวงคลังเป็นรายได้แผ่นดิน (269 ล้านบาท)

รวมสถานีรถไฟฟ้าสีม่วงส่วนต่อขยายเตาปูนบางซื่อเข้ากับสายสีน้ำเงิน

ครม. มีมติเห็นชอบรวมการเดินรถไฟฟ้าสายสีม่วง เตาปูน-บางซื่อ ไว้ในสัมปทานสีน้ำเงินส่วนต่อขยายเป็นสัญญาที่ 5 รวมถึงยกเลิกมติ ครม. เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม 2557 และวันที่ 19 เมษายน 2559 ที่มอบหมายให้คณะกรรมการคัดเลือกเอกชนลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงดำเนินการเจรจากับ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (เอกชน) หรือ BEM

โดยให้ดำเนินการรถไฟฟ้าช่วงเชื่อมต่อ สถานีเตาปูน-บางซื่อ จำนวน 1 สถานี ระยะทาง 1 กิโลเมตร ที่เป็นส่วนต่อขยายออกมาจากรถไฟฟ้าสีม่วง หรือ MRT ไปไว้กับสัมปทานการเดินรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่เป็นส่วนต่อขยายช่วงบางซื่อ-ท่าพระ และหัวลำโพง-บางแค

ทั้งนี้ จะเสนอให้ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายการให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) เพื่อหาเอกชนมาเดินรถสายสีน้ำเงิน ในสัปดาห์หน้า และพิจารณาว่าจะใช้รูปแบบการเจรจากับ BEM ซึ่งเป็นเอกชนรายเดิม หรือว่าประมูลใหม่

ตั้งเป้า ปี 62 กำจัดขยะค้างสะสมได้ 100%

ครม. รับทราบโรดแมปการดำเนินงานตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศ (พ.ศ. 2559-2564) ว่าขณะนี้ได้มีการกำจัดขยะไปแล้วกว่า 20 ล้านตัน คิดเป็น 66% จากขยะทั้งหมด 30 ล้านตัน โดยรัฐบาลตั้งเป้าในปี 2562 จะต้องดำเนินการกำจัดขยะค้างสะสมให้ได้ทั้งหมด ส่วนขยะติดเชื้อและกากอุตสาหกรรม ตั้งเป้ากำจัดให้ได้ 100% ในปี 2563 โดยจะนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาช่วย เช่น การนำไปเผาในโรงงานผลิตปูนซีเมนต์ ผลิตเชื้อเพลิง RDF จากขยะ หรือใช้เตาเผาขยะชีวมวล เป็นต้น และจะต้องดำเนินการคัดแยกขยะจากชุมชนต้นทางให้ได้ 50% ภายในปี 2564

“ตามโรดแมป จะมีแผนลดขยะตั้งแต่ต้นทาง เช่น ผลิตอุปกรณ์ให้ใช้งานได้ระยะเวลานานขึ้น บางสิ่งก็ให้สามารถนำมารีไซเคิลได้ และได้มีการกำหนดการแก้ไขปัญหาจังหวัดตามกลุ่มจังหวัด โดยจัดกลุ่มตามปัจจัยต่างๆ เช่น ปริมาณขยะในแต่ละพื้นที่ ระยะทางการขนขยะจากต้นทางไปยังจุดหมายปลายทาง รวมถึงความเชื่อมโยงของแต่ละจังหวัด” พล.ต. สรรเสริญ กล่าว