ดร.ธนกฤต วรธนัชชากุล
อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด
ตามที่มีข่าวปรากฏตามสื่อมวลชนต่างๆ รวมทั้งในโซเชียลมีเดีย กรณีทันตแพทย์ซึ่งทำสัญญารับทุนไปศึกษาต่อต่างประเทศกับมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งผิดสัญญารับทุน ซึ่งเป็นข่าวโด่งดังที่สังคมให้ความสนใจติดตามอย่างมากเมื่อไม่นานมานี้นั้น มีกรณีที่น่าศึกษาถึงสัญญารับทุนของหน่วยงานรัฐที่เกิดปัญหาต่างๆ ขึ้นมาและได้หารือมายังสำนักงานอัยการสูงสุด และสำนักงานอัยการสูงสุดได้มีคำวินิจฉัยชี้ขาดข้อหารือแล้ว รวมทั้งกรณีที่เป็นคดีพิพาทจนนำไปสู่การวินิจฉัยชี้ขาดคดีของศาลปกครองสูงสุดด้วย บทความนี้จึงจะได้กล่าวถึงแนวคำวินิจฉัยของสำนักงานอัยการสูงสุดที่น่าสนใจเป็นลำดับแรก และจากนั้นจะได้กล่าวถึงแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุดที่น่าสนใจโดยสังเขปเป็นลำดับถัดไป
แนวคำวินิจฉัยของสำนักงานอัยการสูงสุด
1. สัญญารับทุนการศึกษากำหนดว่า เมื่อผู้รับทุนสำเร็จการศึกษามีหน้าที่ต้องเข้ารับราชการชดใช้ทุน หากผิดสัญญาต้องชดใช้เงินทั้งหมดที่ได้รับไปพร้อมดอกเบี้ยนั้น ดอกเบี้ยดังกล่าวเป็นค่าตอบแทนในการใช้เงินทุนจึงต้องคำนวณตั้งแต่วันที่ผู้รับทุนได้รับเงินทุนไปในแต่ละเดือน มิใช่นับแต่วันผิดสัญญาหรือวันที่ผู้ให้ทุนสั่งให้เข้ารับราชการ (คำวินิจฉัยสำนักงานอัยการสูงสุดที่ ห. 28/2540)
2. ผู้รับทุนได้ทำสัญญารับทุนไปศึกษา ณ ต่างประเทศ สำหรับผู้รับทุนที่ยังไม่เป็นข้าราชการ หลังจากผู้รับทุนสำเร็จการศึกษา และยังไม่ได้มีการบรรจุผู้รับทุนเป็นข้าราชการในหน่วยงานเจ้าสังกัด ราชการได้ขยายเวลาให้ผู้รับทุนศึกษาต่อในช่วงที่สองโดยใช้ทุนส่วนตัวศึกษาต่อ เนื่องจากทุนส่วนตัวดังกล่าวไม่ใช่เงินทุนตามสัญญา และคำว่า “ทุน” ตามระเบียบของทางราชการมิได้ขยายความไปถึงเงินทุนส่วนตัวของผู้รับทุนด้วย ดังนั้น ระยะเวลาที่ผู้รับทุนได้ขออนุมัติศึกษาต่อด้วยเงินทุนส่วนตัว จึงไม่ถือเป็นระยะเวลาศึกษาโดยเงินทุนของรัฐบาล จึงไม่อาจคำนวณนับระยะเวลาสำหรับการศึกษาในระยะที่สองดังกล่าวเข้าเป็นระยะเวลาที่ผู้รับทุนต้องรับราชการหรือเข้าทำงานชดใช้ได้ (คำวินิจฉัยสำนักงานอัยการสูงสุดที่ ห. 292/2541)
3. ผลของการเป็นบุคคลล้มละลายตามกฎหมายของประเทศอื่นไม่มีผลเกี่ยวกับทรัพย์สินของลูกหนี้ซึ่งอยู่ในประเทศไทย คุณสมบัติในการเข้ารับราชการ หรือเข้าปฏิบัติงานในรัฐวิสาหกิจ ย่อมต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติตามกฎหมายไทย โดยคุณสมบัติต้องห้ามสำหรับ “บุคคลล้มละลาย” นั้น มีความมุ่งหมายเฉพาะบุคคลสัญชาติไทยที่ตกเป็นบุคคลล้มละลายตามกฎหมายไทยเท่านั้น ผู้รับทุนซึ่งตกเป็นบุคคลล้มละลายตามกฎหมายของต่างประเทศจึงยังคงต้องผูกพันตามสัญญาให้ทุนการศึกษาซึ่งทำกับราชการไทยทุกประการ (คำวินิจฉัยสำนักงานอัยการสูงสุดที่ ห. 32/2542)
4. การทำหนังสือรับสภาพหนี้กับลูกหนี้ที่เป็นผู้รับทุนที่ผิดสัญญาใช้ทุนแล้วประสงค์จะผ่อนชำระหนี้ย่อมทำได้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 (1) และในเรื่องนี้มีระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยการทำสัญญาและการชดใช้เงินกรณีรับทุน ลาศึกษา ฝึกอบรม ปฏิบัติการวิจัย และปฏิบัติงานในองค์การระหว่างประเทศ พ.ศ. 2548 กำหนดไว้แล้ว พร้อมทั้งได้กำหนดแบบหนังสือรับสภาพหนี้ผ่อนชำระหนี้กรณีผิดสัญญาใช้ทุนไว้ด้วยแล้ว (คำวินิจฉัยสำนักงานอัยการสูงสุดที่ ห. 54/2554)
5. เมื่อผู้รับทุนแจ้งขอยุติการรับทุนการศึกษาและขอยกเลิกสัญญารับทุน โดยอ้างว่า มีปัญหาสุขภาพ ปัญหาสภาพแวดล้อม และภาษาที่ใช้ในการสื่อสารอาจทำให้ไม่สำเร็จการศึกษา พร้อมกับโอนเงินทุนที่ได้รับไปจากมหาวิทยาลัยคืนให้ทั้งหมด จึงเป็นคำเสนอเลิกสัญญารับทุน และมหาวิทยาลัยก็ประสงค์จะยุติการให้ทุนและยกเลิกสัญญาให้ทุนแก่ผู้รับทุน เพื่อจัดสรรเงินทุนการศึกษาให้กับบุคลากรรายอื่น จึงเป็นเรื่องที่มหาวิทยาลัยและผู้รับทุนสามารถตกลงเลิกสัญญากันได้ ดังนั้น หากมหาวิทยาลัยยอมรับการขอยกเลิกสัญญารับทุนของผู้รับทุนและตกลงเลิกสัญญารับทุน ย่อมทำให้สัญญารับทุนไปศึกษาต่อเป็นอันเลิกกันโดยตกลงกัน มิใช่เลิกสัญญาที่เกิดจากการบอกเลิกสัญญา กรณีเช่นนี้ มหาวิทยาลัยจึงไม่มีสิทธิเรียกเบี้ยปรับอันเกิดจากการบอกเลิกสัญญาได้อีก (คำวินิจฉัยสำนักงานอัยการสูงสุดที่ ห. 27/2556)
6. หากหน่วยงานชดใช้ทุนยินยอมให้ข้าราชการผู้อยู่ระหว่างปฏิบัติราชการชดใช้ทุนโอนไปรับราชการยังหน่วยงานอื่นเป็นการเฉพาะราย โดยปฏิบัติตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้และให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติราชการชดใช้ทุนด้วย ย่อมสามารถกระทำได้ ไม่ผิดสัญญารับทุน (คำวินิจฉัยสำนักงานอัยการสูงสุดที่ ห. 129/2547)
7. ตามสัญญารับทุน ก.พ. เพื่อศึกษาวิชาในต่างประเทศ กำหนดให้ผู้รับทุนต้องเข้ารับราชการหรือปฏิบัติงานในส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ ก.พ. หรือสำนักงาน ก.พ. กำหนด และหรือส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐอื่นที่ ก.พ. หรือสำนักงาน ก.พ. เห็นชอบ ดังนั้น ในกรณีมีความจำเป็นที่ผู้รับทุนต้องเปลี่ยนหน่วยงานชดใช้ทุน และได้ลาออกจากราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่ชดใช้ทุนเพื่อไปบรรจุยังส่วนราชการหรือหน่วยงานแห่งใหม่โดยมีระยะเวลาต่อเนื่องกัน การพิจารณาในเรื่องดังกล่าวย่อมเป็นสิทธิของ ก.พ. และสำนักงาน ก.พ. ตามที่กำหนดไว้ในสัญญา หาก ก.พ. หรือสำนักงาน ก.พ. พิจารณาแล้วให้ความเห็นชอบในการเปลี่ยนแปลงหน่วยงานชดใช้ทุน ก็ไม่ถือว่าเป็นการผิดสัญญารับทุน ก.พ. แต่อย่างใด (คำวินิจฉัยสำนักงานอัยการสูงสุดที่ ห. 103/2556) และในกรณีที่มีการเปลี่ยนหน่วยงานชดใช้ทุนโดยได้มีการลาออกจากหน่วยงานเดิมดังกล่าว และผู้รับทุนได้จัดทำสัญญาผ่อนผันตามระเบียบกระทรวงการคลังกับหน่วยงานแห่งใหม่ที่ผู้รับทุนขอเปลี่ยนให้เป็นหน่วยงานที่จะชดใช้ทุนและปฏิบัติงานที่หน่วยงานดังกล่าว โดย ก.พ. หรือสำนักงาน ก.พ. ได้ให้ความเห็นชอบแล้ว ซึ่งสัญญาผ่อนผันดังกล่าวได้กำหนดรายละเอียดและเงื่อนไขของสัญญาไว้ในทำนองเดียวกับสัญญารับทุน ก.พ. เพื่อศึกษาวิชาในต่างประเทศ และได้มีการกำหนดเพิ่มเติมในอีกหลายประเด็น ถือได้ว่ากรณีดังกล่าวเป็นการแปลงหนี้ใหม่ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 349 เนื่องจากมีการเปลี่ยนตัวเจ้าหนี้และเงื่อนไขการชำระหนี้ ซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้ มีผลให้หนี้เดิมตามสัญญารับทุน ก.พ. เพื่อศึกษาวิชาในต่างประเทศระงับสิ้นไป และผู้รับทุนต้องผูกพันถือปฏิบัติตามสัญญาผ่อนผันฉบับใหม่ โดยข้อกำหนดและเงื่อนไขต่างๆ ตามสัญญารับทุนเดิมยังคงมีผลใช้บังคับอยู่เท่าที่มิได้ขัดแย้งกับสัญญาผ่อนผันฉบับใหม่ และให้เป็นส่วนหนึ่งของสัญญาดังกล่าว (คำวินิจฉัยสำนักงานอัยการสูงสุดที่ ห. 146/2556)
8. การทำหนังสือรับสภาพหนี้ของผู้รับทุน เพื่อรับสภาพหนี้ตามสัญญารับทุน หากเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ที่ทำขึ้นเมื่อสิทธิเรียกร้องตามสัญญารับทุนดังกล่าวขาดอายุความหรือพ้นระยะเวลาฟ้องคดีปกครองแล้ว ไม่ถือเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ ซึ่งจะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 193/14 แต่เป็นหลักฐานรับสภาพความรับผิดตามมาตรา 193/28 วรรคสอง ซึ่งมีผลทำให้สิทธิเรียกร้องที่เกิดขึ้นจากการรับสภาพความรับผิดมีกำหนดอายุความ 2 ปี ตั้งแต่วันทำบันทึกข้อตกลงตามมาตรา 193/35 (คำวินิจฉัยสำนักงานอัยการสูงสุดที่ ห. 120/2557)
แนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด
1. สัญญาให้ทุนข้าราชการ บุคลากร หรือเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานทางปกครอง ไปศึกษาหรือฝึกอบรม ในประเทศ หรือ ณ ต่างประเทศ และมีข้อสัญญาให้บุคคลดังกล่าวต้องกลับมารับราชการหรือปฏิบัติงานในหน่วยงานต้นสังกัดเดิม เมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ภายในระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในสัญญา (สัญญารับทุน) เป็นสัญญาทางปกครอง ตามนิยามในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ซึ่งกำหนดว่า “สัญญาทางปกครอง” หมายความรวมถึง สัญญาที่คู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครองหรือเป็นบุคคลซึ่งกระทำการแทนรัฐ และมีลักษณะเป็นสัญญาสัมปทาน สัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ หรือจัดให้มีสิ่งสาธารณูปโภคหรือแสวงประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ การฟ้องคดีกรณีผิดสัญญารับทุนจึงต้องฟ้องต่อศาลปกครอง ไม่สามารถฟ้องต่อศาลแพ่งได้ ซึ่งมีแนวคำวินิจฉัยของศาลปกครองสูงสุด ที่ได้ให้เหตุผลของการที่สัญญารับทุนเป็นสัญญาทางปกครองไว้โดยสรุป ดังนี้
สัญญาให้ทุนข้าราชการ บุคลากร หรือเจ้าหน้าที่ในหน่วยงานทางปกครอง ไปศึกษาหรือฝึกอบรม ในประเทศ หรือ ณ ต่างประเทศ และมีข้อสัญญาให้บุคคลดังกล่าวต้องกลับมารับราชการหรือปฏิบัติงานในหน่วยงานต้นสังกัดเดิมเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว ภายในระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในสัญญาดังกล่าว โดยการปฏิบัติหน้าที่ของบุคคลดังกล่าวเป็นการดำเนินการของรัฐตามอำนาจหน้าที่ของหน่วยงานทางปกครองที่มีหน้าที่ต้องจัดให้มีบริการสาธารณะ เมื่อสัญญาดังกล่าวมีคู่สัญญาอย่างน้อยฝ่ายหนึ่งเป็นหน่วยงานทางปกครอง และมีวัตถุประสงค์อันเป็นสัญญาที่ให้จัดทำบริการสาธารณะ สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครองตามนิยามในมาตรา 3 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ 115/2546, 218/ 2548, 217/2549, 236/2549)
สัญญาลาไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ ระหว่างสถาบันราชภัฏกับข้าราชการผู้ลาศึกษา มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ลาศึกษากลับมารับราชการในสถาบันราชภัฏภายหลังจากสำเร็จการศึกษาแล้ว จึงมีวัตถุประสงค์แห่งสัญญาเป็นการดำเนินการตามหน้าที่ของรัฐในการจัดการศึกษาแก่ประชาชนทั่วไปอันเป็นการจัดทำบริการสาธารณะโดยตรง นอกจากนั้น ในข้อสัญญายังให้อำนาจหน่วยงานทางปกครองซึ่งเป็นคู่สัญญาสามารถใช้ดุลยพินิจในการระงับการให้ทุนหรือเงินเดือนหรือเงินอื่นใด รวมทั้งการเรียกตัวผู้ลาศึกษาให้กลับประเทศได้ ตลอดจนให้ส่วนราชการหักหนี้ที่ผู้ลาศึกษาจะต้องชำระตามสัญญาจากเงินบำเหน็จบำนาญและหรือเงินอื่นใดที่ผู้ศึกษาได้รับจากทางราชการอันเป็นข้อกำหนดที่แสดงถึงเอกสิทธิ์พิเศษของรัฐที่ไม่พบในสัญญาทางแพ่งทั่วไป สัญญาดังกล่าวจึงเป็นสัญญาทางปกครอง (คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ ๑๑๔/ ๒๕๔๖, ๖๓๖ /๒๕๔๖, ๗/๒๕๔๗, ๖๗/๒๕๔๗)
2. สัญญาค้ำประกัน
สัญญาค้ำประกันสัญญารับทุนเพื่อศึกษา แม้จะเป็นเอกเทศสัญญาที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ แต่ก็เป็นสัญญาอุปกรณ์ของสัญญาเพื่อรับทุนการศึกษาอันเป็นสัญญาทางปกครองซึ่งอยู่ในเขตอำนาจของศาลปกครอง ประกอบกับการวินิจฉัยตามสัญญาค้ำประกันจะต้องวินิจฉัยเกี่ยวกับสัญญารับทุนเพื่อการศึกษาอันเป็นสัญญาหลักเสียก่อน ดังนั้น เมื่อศาลปกครองมีอำนาจรับคำฟ้อง ในประเด็นที่ฟ้องเกี่ยวกับการผิดสัญญารับทุนเพื่อการศึกษาอันเป็นสัญญาหลักไว้พิจารณา ศาลปกครองย่อมมีอำนาจพิจารณาในประเด็นที่ผู้ค้ำประกันผิดสัญญาค้ำประกันอันเป็นสัญญาอุปกรณ์ด้วย (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ 67/2547, 162/2551, 240/2551)
3. ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 กำหนดอายุความฟ้องคดี เป็นไปตามมาตรา 51 ซึ่งกำหนดอายุความการฟ้องคดีสัญญาทางปกครองให้ยื่นฟ้องภายในห้าปี นับแต่วันที่รู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดี แต่ไม่เกินสิบปีนับแต่วันที่มีเหตุแห่งการฟ้องคดี
การที่มหาวิทยาลัยฟ้องขอให้ข้าราชการรับผิดชดใช้เงินตามสัญญาของข้าราชการที่ไปศึกษาหรือฝึกอบรม ณ ต่างประเทศ กรณีผิดสัญญาเนื่องจากได้ขอลาออกจากราชการก่อนครบกำหนดระยะเวลาตามสัญญานั้น เมื่อนับตั้งแต่วันที่ 22 ธันวาคม 2544 อันเป็นวันที่มหาวิทยาลัยมีคำสั่งอนุญาตให้ข้าราชการผู้ผิดสัญญาลาออกจากราชการ ซึ่งถือว่าเป็นวันที่ผู้ฟ้องคดีรู้หรือควรรู้ถึงเหตุแห่งการฟ้องคดีนี้ จนถึงวันที่ผู้ฟ้องคดียื่นฟ้องคดีต่อศาลเมื่อวันที่ 8 สิงหาคม 2546 แล้ว ยังไม่พ้นกำหนดระยะเวลาการฟ้องคดีตามมาตรา 51 แห่งพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองฯ (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2551 (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ 137/2555)
4. การที่หน่วยงานทางปกครองกำหนดให้ผู้รับทุนการศึกษาชดใช้ค่าเสียหายหากไม่กลับมารับราชการตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญาหรือผิดสัญญารับทุนการศึกษา ถือว่าค่าเสียหายดังกล่าวเป็นเบี้ยปรับ หากสูงเกินส่วน ศาลสามารถลดได้ตามมาตรา 383 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
(1) กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่าเบี้ยปรับไม่สูงเกินส่วน
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 เป็นฝ่ายประพฤติผิดสัญญาและมีหน้าที่ต้องรับผิดชดใช้เงินตามสัญญาที่กำหนด สำหรับเงินเบี้ยปรับนั้นถือเป็นเงินค่าทดแทนความเสียหายที่ได้กำหนดไว้ล่วงหน้าและที่กำหนดไว้สูงถึงสองเท่าก็เพื่อเป็นหลักประกันและป้องปรามมิให้ผู้รับทุนกระทำผิดสัญญา เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ปฏิบัติราชการชดใช้ทุนไม่ครบกำหนดเวลาตามสัญญาทำให้ผู้ฟ้องคดีต้องสูญเสียงบประมาณค่าใช้จ่าย ในการศึกษาและสูญเสียโอกาสที่จะได้มาซึ่งบุคลากรในการให้บริการทางด้านสาธารณสุขแก่ประชาชน นอกจากนั้น หากมีการลดเบี้ยปรับให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 อาจส่งผลให้ผู้ที่กำลังปฏิบัติราชการชดใช้ทุนอยู่จงใจกระทำผิดสัญญาแล้วมาฟ้องคดีต่อศาลเพื่อขอให้ลดเบี้ยปรับ ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้ทางราชการได้รับความเสียหาย ดังนั้น จำนวนเบี้ยปรับตามสัญญาที่กำหนดไว้ 2 เท่า ไม่ได้เป็นเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนตามมาตรา 383 วรรคหนึ่ง แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ดังนั้น ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 และผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2 ในฐานะผู้ค้ำประกันจึงมีหน้าที่ต้องร่วมกันชดใช้เงินแก่ผู้ฟ้องคดี (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ 207/2553)
ผู้ฟ้องคดีบิดพลิ้วไม่ยอมเข้าปฏิบัติหน้าที่ในสังกัดของผู้ถูกฟ้องคดีตามข้อผูกพันที่มีอยู่ ในสัญญาการรับทุน ผู้ถูกฟ้องคดีย่อมสูญเสียบุคลากรที่ได้สร้างขึ้นมาและสูญเสียเวลาที่จะต้องจัดหาผู้รับทุนรายอื่นไปศึกษาแทน ซึ่งส่งผลกระทบต่อแผนพัฒนาบุคลากรของผู้ถูกฟ้องคดีที่กำหนดไว้ ความเสียหายที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับจากการที่ผู้ฟ้องคดีประพฤติผิดสัญญาเป็นความเสียหายที่ไม่อาจคำนวณเป็นเงินได้เมื่อได้คำนึงถึงทางได้ทางเสียทุกอย่างของผู้ถูกฟ้องคดี ไม่ใช่แค่เพียงทางได้ทางเสียเฉพาะแต่ทางทรัพย์สินเท่านั้น โดยตลอดแล้ว เห็นได้ว่า เงินเบี้ยปรับจำนวนสองเท่าของเงินทุนการศึกษาที่ผู้ถูกฟ้องคดีได้รับจากผู้ฟ้องคดีมิได้สูงเกินส่วนอันสมควรที่จะลดลง (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ 80/2556)
ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ผิดสัญญารับทุนจึงมีหนังสือขอลาออกจากการเป็นนักเรียนทุนรัฐบาลโดยขอชดใช้เป็นเงินทดแทนแก่รัฐบาล เนื่องจากมีโครงการที่จะแต่งงานกับบุคคลซึ่งมิได้มีสัญชาติไทยและตั้งรกรากอยู่ ณ สหรัฐอเมริกา การกระทำของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงเป็นการจงใจฝ่าฝืนกระทำผิดสัญญา จึงไม่มีเหตุผลที่จะลดเบี้ยปรับให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ตามมาตรา 383 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ 83/2553)
(2) กรณีที่ศาลปกครองสูงสุดเห็นสมควรลดเบี้ยปรับ
เมื่อผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 ได้รับการวินิจฉัยจากจิตแพทย์แล้วว่าป่วยเป็นโรคโรคซึมเศร้าชนิดเรื้อรัง โดยมีอาการป่วยมาประมาณ 5 ปี และน่าจะมีผลกระทบต่อการตัดสินใจต่อการเรียน ดังนั้น อาการป่วยของผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1 จึงอาจเป็นเหตุให้ไม่สามารถปฏิบัติตามสัญญาได้ และไม่ปรากฏว่าผู้ฟ้องคดีได้รับความเสียหายเป็นพิเศษประการหนึ่งประการใดถึงขนาดจะต้องได้รับการชดใช้เงินทุนคืนเพิ่มอีกหนึ่งเท่า จึงมีเหตุอันสมควรที่ศาลจะพิจารณาลดเบี้ยปรับให้แก่ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองได้ โดยให้ลดค่าปรับที่เรียกเก็บลง คงเหลือเรียกเก็บค่าปรับเพียงร้อยละ 10 ของค่าปรับที่เรียกทั้งหมด (คำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดที่ 4/2553)