ThaiPublica > คอลัมน์ > คำวินิจฉัยของศาลฎีกา ในคดีที่ 12498/2558 “น้องหมิว” ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

คำวินิจฉัยของศาลฎีกา ในคดีที่ 12498/2558 “น้องหมิว” ชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

21 เมษายน 2016


นายชวเลิศ โสภณวัต
อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาอาวุโส

ตั้งแต่สมัยโบราณ กฎหมายลักษณะพยานหลักฐาน แบ่งออกได้เป็น 2 ระบบ คือ

1. ระบบกล่าวหา

ในระบบนี้ผู้เสียหายจะกล่าวหาฟ้องร้องต่อศาล ว่ามีอีกฝ่ายทำให้ตนเสียหาย ศาลก็จะตั้งลูกขุน (JURY) 12 คน ซึ่งเป็นชาวบ้านธรรมดา มาเป็นผู้นั่งฟังข้อเท็จจริงซึ่งโจทก์และจำเลยนำสืบแล้ววินิจฉัยข้อเท็จจริงว่าจำเลยผิดหรือไม่ ส่วนศาลหรือผู้พิพากษาจะทำหน้าที่ควบคุมการพิจารณาคดีให้ดำเนินไปโดยเรียบร้อย แล้วในที่สุดเมื่อ JURY วินิจฉัยข้อเท็จจริงแล้ว ศาลก็เป็นผู้วินิจฉัยหรือปรับข้อกฎหมายให้เข้ากับข้อเท็จจริงที่ JURY วินิจฉัย

ในระบบนี้ ศาลจะทำตัวเป็นคนกลางอย่างเคร่งครัด ปล่อยให้การนำสืบพิสูจน์ข้อเท็จจริงเป็นภาระหน้าที่ของทนายโจทก์และทนายจำเลยโดยตรง ศาลจะไม่เข้าไปมีบทบาทร่วมด้วย

ระบบนี้มีที่ใช้อยู่ในประเทศอังกฤษและประเทศเครือจักรภพอังกฤษ ต่อมาประเทศสหรัฐอเมริกาได้รับเอาไปใช้ด้วย

2. ระบบไต่สวน

ระบบนี้เกิดขั้นเมื่อคริสต์ศาสนาหยั่งรากอย่างมั่นคงคนมีอิทธิพลเหนือฝ่ายราชอาณาจักรในประเทศภาคพื้นยุโรป แล้วได้มีการจัดตั้งศาลศาสนาคริสต์โรมันคาธอลิคขึ้นเพื่อไต่สวนเอาผิดกับผู้ที่ทางศาลเห็นว่าอาจมีความผิดตามกฎหมายพระ (CANON LAW) อันเป็นกฎ บัญญัติ หรือคำสอน ที่เชื่อถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ เช่น ความผิดฐานเป็นแม่มด มีชู้ คดีที่โด่งดังที่สุดเห็นจะเป็นคดีที่ไต่สวนเอาผิดกับกาลิเลโอที่เผยแพร่การค้นพบของตนที่ว่าโลกกลมและโคจรหมุนรอบดวงอาทิตย์ อันขัดกับคำสอนของศาสนาที่เชื่อถือกันว่าโลกแบนและพระเจ้าเป็นผู้สร้างโลก

ในระบบนี้ พระหรือบาทหลวงจะเป็นผู้ไต่สวนซักถาม รวมทั้งค้นหาข้อเท็จจริงด้วยตนเองเป็นสำคัญ

ยุคฟื้นฟูศิลปวิทยาการทำให้ผู้คนเฉลียวฉลาดมากขึ้น เลิกงมงายและมีความคิดความอ่านที่เป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นและเมื่อผ่านการปฏิวัติใหญ่ในฝรั่งเศสเมื่อปี ค.ศ. 1789 แล้ว นักกฎหมายฝรั่งเศสจึงเป็นชาติแรกที่คิดและนำระบบที่ 3 มาใช้ ซึ่งก็คือ

3. ระบบผสม (THE MIXED SYSTEM)

ระบบนี้เป็นการเอาข้อดีของระบบที่ 1 และระบบที่ 2 มาผสมใช้ ในระบบนี้ การค้นหาความจริงของศาลไม่จำกัดอยู่เพียงพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสู่ ศาลค้นหาความจริงต่างๆ เองด้วยตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ ฝรั่งเศสนำระบบผสมมาใช้เมื่อปี ค.ศ.1807 หลังจากนั้นประเทศอื่นๆ ในยุโรปได้เจริญรอยตามเช่นเดียวกับประเทศต่างๆ อีกมากมายในทวีปอื่นทั่วโลก รวมทั้งไทยด้วย โดยไทยได้นำมาบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งมีผลใช้บังคับในวันเดียวกัน คือ ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2478 เป็นต้นไป ประมวลกฎหมายทั้งสองฉบับมีนักกฎหมายชาวฝรั่งเศสเป็นกำลังสำคัญในการร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ได้นำหลักของระบบผสมตามที่มีการบัญญัติไว้ในประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง (ป.วิ.พ.) มาบัญญัติซ้ำ

หลักที่สำคัญของระบบกล่าวหา คือหลักที่ว่าคู่ความฝ่ายใดกล่าวอ้างข้อเท็จจริงเพื่อสนับสนุนคำคู่ความของตนให้คู่ความฝ่ายนั้นมีภาระการพิสูจน์ข้อเท็จจริงนั้น (ป.วิ.พ. มาตรา 84/1) หลักห้ามมิให้ยอมรับฟังพยานบอกเล่า [ป.วิ.พ. มาตรา 95(2)]

หลักลำดับขั้นตอนในการถามพยานที่ให้คู่ความฝ่ายที่อ้างพยานเป็นผู้ซักถามพยานก่อน เสร็จแล้วคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งจึงถามค้าน หลังจากนั้นคู่ความฝ่ายที่อ้างพยานจึงถามติง (ป.วิ.พ. มาตรา 117)

หลักที่สำคัญของระบบไต่สวน ได้แก่หลักที่ศาลเป็นผู้ถามพยานเอง [ป.วิ.พ. มาตรา 116(1)] หลักที่ไม่ว่าเวลาใดๆ ในระหว่างที่พยานเบิกความ หรือภายหลังที่พยานได้เบิกความแล้ว แต่ก่อนมีคำพิพากษา ให้ศาลมีอำนาจที่จะถามพยานด้วยคำถามใดๆ ตามที่เห็นว่าจำเป็นเพื่อให้คำเบิกความของพยานบริบูรณ์ หรือชัดเจนยิ่งขึ้นหรือเพื่อสอบสวนถึงพฤติการณ์ที่ทำให้พยานเบิกความเช่นนั้น (ป.วิ.พ. มาตรา 240 หรือศาลฎีกา (ป.วิ.พ. มาตรา 247) ที่จะกำหนดประเด็นทำการสืบพยานที่สืบมาแล้วหรือพยานที่เห็นควรสืบต่อไป และพิจารณาคดีเฉกเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น

ปัญหาในการนำระบบผสมมาใช้กับศาลไทย ปัญหาประการแรกก็คือ บรรดาตุลาการของไทยที่ไปศึกษากฎหมาย ณ ต่างประเทศ ส่วนใหญ่ไปศึกษาและสำเร็จเนติบัณฑิตอังกฤษ จนคุ้นเคยกับการสืบพยานตามระบบกล่าวหาของอังกฤษ และอบรมสั่งสอนตุลาการรุ่นหลังตามระบบนี้เรื่อยมา

และประการที่สอง การสืบพยานหลักฐานตามระบบกล่าวหา เป็นภารระของคู่ความที่จะพิสูจน์ข้อเท็จจริงต่อศาล ศาลเพียงแต่นั่งฟังคำเบิกความของพยาน แต่หากศาลจะนำระบบไต่สวนมาใช้ด้วยโดยมีส่วนในการช่วยค้นหาความจริง ก็จะมีภาระเพิ่มขึ้น โดยศาลจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมในการสืบพยาน ต้องตรวจสำนวนให้พร้อมก่อนสืบว่าตนมีข้อสนใจในข้อเท็จจริงใดที่ต้องค้นหาความจริง ในระหว่างที่พยานเบิกความ ตนมีข้อสงสัยใดที่น่าจะถามพยานให้หายสงสัย และเมื่อสืบพยานโจทก์พยานจำเลยเสร็จแล้ว ป.วิ.พ. มาตรา 104 วรรคแรก บัญญัติให้ศาลมีอำนาจเต็มที่ในอันที่จะวินิจฉัยว่าพยานหลักฐานที่คู่ความนำสืบนั้นจะเกี่ยวกับประเด็นและเป็นอันเพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติหรือไม่ แล้วพิพากษาคดีไปตามนั้น แต่หากเห็นว่ายังไม่เพียงพอให้เชื่อฟังเป็นยุติได้ ป.วิ.พ. มาตรา 86 วรรคท้ายก็บัญญัติว่า

“เมื่อศาลเห็นว่าเพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมเป็นการจำเป็นที่จะต้องนำพยานหลักฐานอื่นอันเกี่ยวกับประเด็นในคดีมาสืบเพิ่มเติม ให้ศาลทำการสืบพยานหลักฐานต่อไป ซึ่งอาจรวมทั้งการที่จะเรียกพยานที่สืบแล้วมาสืบใหม่ด้วย โดยไม่ต้องมีฝ่ายใดร้องขอ”

นอกจากนี้ ป.วิ.พ. มาตรา 99 วรรคแรกยังบัญญัติว่า “ถ้าศาลเห็นว่า จำเป็นที่จะต้องตรวจบุคคล วัตถุสถานที่หรือตั้งผู้เชี่ยวชาญ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 129 และ 130 เมื่อศาลเห็นสมควร ไม่ว่าการพิจารณาคดีจะอยู่ในชั้นใด ให้ศาลมีอำนาจออกคำสั่งกำหนดการตรวจหรือการแต่งตั้งผู้เชี่ยวชาญเช่นว่านั้นได้”

และเมื่อคดีขึ้นสู่ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ศาลอุทธรณ์ [ป.วิ.พ. มาตรา240(2)] หรือศาลฎีกา (ป.วิ.พ. มาตรา 247) ก็มีอำนาจที่จะสืบพยานและอำนาจอื่นๆ ตามระบบไต่สวนเช่นเดียวกับศาลชั้นต้น ท่านศาสตราจารย์ จิตติ ติงศภัทิย์ เคยเล่าให้ผู้เขียนฟังว่ามีคดีอาญาอยู่เรื่องหนึ่ง จำเลยถูกฟ้องว่ามีเฮโรอีนไว้ในครอบครองโดยมิได้รับอนุญาต คดีขึ้นมาสู่ศาลฎีกาโดยมิได้มีการตรวจสอบพิสูจน์ของกลางมาก่อนว่าใช่เฮโรอีนจริงหรือไม่ ศาลฎีกามีคำสั่งให้ส่งของกลางไปให้ผู้ชำนาญการพิเศษตรวจ

ปัญหาสองประการข้างต้นทำให้ผู้พิพากษาส่วนมากไม่เคยคิดที่จะนำวิธีการตามระบบไต่สวนมาใช้ทั้งที่การร่วมค้นหาความจริงโดยศาลเป็นการยังความจริงให้ปรากฏและยังความยุติธรรมให้เกิดขึ้น โดยความยุติธรรมที่ได้จากการค้นหาความจริงและชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานทั้งปวงโดยละเอียดทุกแง่ทุกมุมอย่างมีเหตุผลเช่นนี้ของศาลย่อมทำให้ความยุติธรรมตามกฎหมายหรือตามคำพิพากษาของศาล สอดคล้องกับความยุติธรรมตามความเป็นจริง อันเป็นสิ่งที่ทุกคนพึงปรารถนา น่าเสียดายที่คำพิพากศาลฎีกาที่ 12498/2558 วินิจฉัยตามระบบกล่าวหาล้วนๆ และจึงผิดพลาดไม่ชอบด้วยกฎหมายหลายประการ

ที่มาภาพ : http://bigdalaw.com/wp-content/uploads/2013/07/Wilkes-Barre-Medical-Malpractice-620x240.jpg
ที่มาภาพ : http://bigdalaw.com/wp-content/uploads/2013/07/Wilkes-Barre-Medical-Malpractice-620×240.jpg

วิเคราะห์คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12498/2558

คดีนี้(คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12498/2558) เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2559 สำนักงานศาลยุติธรรมได้ออกข่าวแจกสื่อมวลชน เรื่องโฆษกศาลฯ ตอบข้อกังขาศ.นพ.สมศักดิ์ โล่ห์เลขา นายกแพทยสภา ความตอนหนึ่งว่า “คดีนี้เป็นคดีเกี่ยวกับความรับผิดทางการแพทย์ อันเป็นข้อเท็จจริงที่อยู่ในความรู้เห็นของฝ่ายแพทย์ผู้ทำการรักษา ฯลฯ ผู้ป่วยหรือโจทก์เพียงแต่พิสูจน์ว่ามีความเสียหายเกิดขึ้นระหว่างไปรับการรักษาจากแพทย์ก็เพียงพอแล้ว ส่วนฝ่ายจำเลยหรือแพทย์ผู้ทำการรักษามีหน้าที่พิสูจน์ว่าตนมิได้ประมาทเลินเล่อ ทำให้โจทก์หรือผู้ป่วยได้รับความเสียหาย ตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีบริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 29 ดังจะเห็นจากคำวินิจฉัยของศาลฎีกาได้หยิบยกของคำเบิกความของพยานฝ่ายจำเลย คือนายแพทย์ฐิติกร ตรีเจริญ แพทย์เวรเจ้าของไข้และแพทย์หญิงนุชนาฎ ภูริพันธ์ภิญโญ แพทย์เวรรับช่วงต่อจากนายแพทย์ฐิติกร ขึ้นมาพิจารณาตามภาระการพิสูจน์ของกฎหมาย แล้วให้ดุลยพินิจชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานคู่ความทั้งสองฝ่ายว่า คู่ความฝ่ายใดมีน้ำหนักดีกว่ากัน ฝ่ายนั้นก็เป็นฝ่ายชนะคดี”

และอีกตอนหนึ่งว่า “ข้อที่ศาสตราจารย์นายแพทย์สมศักดิ์ ผู้วิพากษ์กล่าวว่า ผู้พิพากษาไม่มีความรู้ทางการแพทย์และไม่รู้ข้อจำกัดของแพทย์และสถานบริการนั้น ขอเรียนว่าตามหลักวิชาพยานหลักฐาน เป็นหน้าที่ของคู่ความจะต้องนำพยานหลักฐานเข้าสืบตามภาระการพิสูจน์ ซึ่งคดีนี้ฝ่ายจำเลยนำเฉพาะนายแพทย์ฐิติกรและแพทย์หญิงนุชนาฎกับศาสตราจารย์นายแพทย์สมศักดิ์ ผู้วิพากษ์ เป็นพยานเข้าเบิกความเท่านั้น ไม่มีพยานผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นคนกลางเป็นต้นว่าพยานแพทย์ประจำราชวิทยาลัยรังสีแพทย์แห่งประเทศไทยและราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย มาเบิกความเพื่อแสดงขั้นตอนอาการเจ็บป่วยของโจทก์ ตลอดจนวิธีการรักษาโดยลำดับตามมารฐานวิชาชีพแพทย์ให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ ”

คำพิพากษาของศาลฎีกาคดีนี้มีทั้งหมด 15 หน้า ศาลฯ เพียงแต่ย่อฟ้องย่อคำให้การ แต่ไม่มีการย่อการพิจารณาโจทก์นำสืบว่าอย่างไร จำเลยนำสืบว่าอย่างไร ผู้เขียนพยายามอ่านคำพิพากษาหลายรอบ ไม่พบเลยว่ามีการเอ่ยถึงชื่อศาสตราจารย์นายแพทย์สมศักดิ์ จึงไม่สามารถทราบได้ว่าฝ่ายจำเลยได้อ้างและนำนายแพทย์สมศักดิ์เข้าเบิกความเป็นพยานด้วยในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ เพิ่งมาทราบต่อเมื่อได้อ่านพบใน Social Media ที่กุมารแพทย์ท่านหนึ่งออกมาโพสต์ข้อความ ความตอนหนึ่งว่า

“ก่อนอื่นต้องขอชี้แจงว่า ตามปกติ วัณโรคในเด็กเป็นโรคที่วิจัยและดูแลโดยกุมารแพทย์ และระดับที่เหนือกว่ากุมารแพทย์ทั่วไปคือกุมารแพทย์โรคติดเชื้อ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญโดยตรงกับโรคนี้ที่สุดแล้ว”

อาจารย์สมศักดิ์เป็นทั้งประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และเป็นอดีตนายกสมาคมโรคติดเชื้อในเด็กแห่งประเทศไทย แค่นี้ยังถือว่าเป็นพยานที่ไม่มีน้ำหนักเพียงพออีกเหรอครับ

ขณะที่พยานฝ่ายโจทก์ที่ศาลให้น้ำหนัก ซึ่งเป็นแพทย์ด้านศัลยกรรมความงาม (คือสายงานแทบไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการดูแลผู้ป่วยวัณโรคเด็ก) พยานได้ฟันธงว่าเคสนี้ต้องนึกถึงวัณโรคแต่แรก และต้องส่งฟิล์มให้รังสีแพทย์อ่านและบอกว่าผู้ป่วยคงพิการเพราะได้รับการรักษาวัณโรคล่าช้า (ตามคำพิพากษาหน้า 11-12) (คือผมสงสัยว่าแพทย์ที่มาฟันธงย้อนหลังเมื่อทราบผลแล้วเช่นนี้ แตกต่างจากอาจารย์ใบ้หวยตอนที่หวยออกแล้วอย่างไร) เมื่อพิจารณาประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยวัณโรคเด็ก การศึกษาวิจัย ตลอดจนความเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติในเรื่องโรคติดเชื้อของอาจารย์สมศักดิ์เทียบกับพยานโจทก์แล้ว ทำไมจึงมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่า”

จากนี้ จึงวิเคราะห์คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12498/2558 ให้ดังนี้

ประการแรก แพทย์ที่มาเบิกความเป็นพยานโจทก์เป็นพยานประเภทใด เพราะตาม ป.วิ.พ. มาตรา 95 บัญญติว่า ห้ามมิให้ยอมรับฟังพยานบุคคลใดเว้นแต่พยานประเภทแรก คือ เป็นผู้ที่ได้เห็นได้ยิน หรือทราบข้อความเกี่ยวในเรื่องที่จะให้การเป็นพยานนั้นมาด้วยตนเองโดยตรงหรือที่เรียกกันว่า ประจักษ์ พยานซึ่งในคดีนี้ได้แก่พยานปากนายแพทย์ฐิติกรและแพทย์หญิงนุชนาฎ พยานประเภทที่สองคือพยานที่มีบทบัญญัติแห่งกฎหมายโดยชัดแจ้งให้เบิกความและศาลยอมรับฟังได้ หรือที่เรียกกันว่าพยานความเห็นหรือพยานผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งตาม ป.วิ.พ. มาตรา 98 กล่าวว่า เป็นบุคคลที่มีความรู้เชี่ยวชาญในเรื่องใดหรือการใด และซึ่งความเห็นของพยานอาจเป็นประโยชน์ในการวินิฉัยชี้ขาดข้อความในประเด็น ซึ่งในคดีนี้ ได้แก่ พยานปากนายแพทย์สมศักดิ์ และพยานประเภทที่สาม คือพยานที่มีคำสั่งของศาลว่าให้เป็นอย่างอื่นทั้งที่ไม่ใช่พยานสองประเภทข้างต้น

ในยามที่เป็นพยานโจทก์ปากที่เป็นแพทย์เข้าเบิกความนั้น ก่อนเริ่มต้นเบิกความ ศาลและทนายจำเลยยังไม่ทราบว่าพยานจะเบิกความด้วยข้อความอะไรบ้าง คำเบิกความแสดงถึงความเป็นประจักษ์พยานหรือพยานผู้เชี่ยวชาญหรือไม่ ซึ่งหากศาลสงสัยและสอบถามก่อน ก็จะทราบว่าพยานปากนี้เป็นพยานบอกเล่า อันกฎหมายห้ามมิให้ยอมรับฟังและจะไม่อนุญาตให้เข้าเบิกความ แต่เมื่อคดีล่วงเลยจนมาสู่ศาลฎีกาแล้วหากศาลฎีกาเฉลียวใจและคิดได้ถึง ป.วิ.พ. มาตรา 95 แล้ว ก็คงต้องวินิจฉัยไม่ยอมรับฟังคำเบิกความของพยานปากนี้

แต่นี่ศาลฎีกากลับให้ความเชื่อถือให้น้ำหนักมากกับคำเบิกความของพยานปากนี้ จนถึงกับตัดสินใจให้โจทก์ชนะคดี โดยมิได้กล่าวถึงแม้แต่น้อยเลยว่าฝ่ายจำเลยมีนายแพทย์สมศักดิ์เป็นพยานผู้เชี่ยวชาญเบิกความว่าอย่างไร มีเหตุผลน่าเชื่อถือหรือไม่อย่างไร เมื่อชั่งน้ำหนักเปรียบเทียบกับพยานโจทก์ปากที่เป็นแพทย์แล้วคำเบิกความของผู้ใดมีน้ำหนักน่าเชื่อถือกว่ากัน

ฉะนั้น คำพิพากษาของศาลชั้นต้น และศาลอุทธรณ์ ภาค 1 ที่พิพากษาต้องกันให้ยกฟ้องโจทก์ โดยคงให้น้ำหนักความเชื่อถือแก่คำเบิกความของนายแพทย์สมศักดิ์ จึงชอบแล้ว และประการที่ ๒ การที่โฆษกศาลยุติธรรมแถลงมีข้อความตอนหนึ่งว่า

“ศาลตัดสินตามพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 มาตรา 29 ดังจะเห็นจากคำวินิจฉัยของศาลฎีกาได้หยิบยกคำเบิกความของพยานฝ่ายจำเลย คือนายแพทย์ฐิติกร ตรีเจริญ แพทย์เวรเจ้าของไข้ และแพทย์หญิงนุชนาฎ ภูริพันธ์ภิญโญ แพทย์เวรรับช่วงต่อจากนายแพทย์ฐิติกร ขึ้นมาพิจารณาตามภาระการพิสูจน์ของกฎหมาย แล้วใช้ดุลพินิจ ชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานคู่ความทั้งสองฝ่ายว่า คู่ความฝ่ายใดมีน้ำหนักดีกว่ากัน ฝ่ายนั้นก็เป็นฝ่ายชนะคดี ”

คำถามจึงมีว่า ศาลฎีกาเอาคำเบิกความของนายแพทย์สมศักดิ์ไปไว้ที่ไหน เหตุใดจึงไม่กล่าวถึงและไม่มีการนำมาวินิจฉัยเปรียบเทียบชั่งน้ำหนักกับพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ด้วย

และที่แถลงอีกตอนหนึ่งว่า “ซึ่งคดีนี้ฝ่ายจำเลยนำเฉพาะนายแพทย์ฐิติกร และแพทย์หญิงนุชนาฎ กับศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ ผู้วิพากษ์ เป็นพยานเข้าเบิกความเท่านั้น ไม่มีพยานผู้เชี่ยวชาญที่เกี่ยวข้องซึ่งเป็นคนกลางเป็นต้นว่า…มาเบิกความเพื่อแสดงขั้นตอนอาการเจ็บป่วยของโจทก์ตลอดจนวิธีการรักษาโรคโดยลำดับตามมาตรฐานวิชาชีพแพทย์ ให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือ” นั้น ผู้เขียนเห็นว่าฝ่ายจำเลยได้นำศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านโรคติดเชื้อในเด็กเข้ามาเบิกความเป็นพยานในเรื่องเหล่านี้แล้ว โฆษกศาลอ้างแต่ภาระหน้าที่ของคู่ความตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค มาตรา 29 อันเป็นหลักการของระบบกล่าวหา คำถามจึงมีว่าหากศาลฎีกามีความสงสัยในคำเบิกความของนายแพทย์สมศักดิ์ เหตุใดศาลฎีกาจึงไม่ค้นหาความจริงตามหลักการของระบบไต่สวน ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ตามมาตรา 36 และ 37 โดยมาตรา 36 บัญญัติว่า “ศาลอาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาคดีได้ ฯลฯ ” ซึ่งหากศาลฎีกาดำเนินการตามมาตรา 36 ผลของคดีก็คงต่างจากที่ปรากฏ