ThaiPublica > คอลัมน์ > บทวิเคราะห์คำพิพากษาศาลฎีกาคดีทางการแพทย์น้องหมิว โดยอดีตตุลาการและปรมาจารย์กฎหมายมหาชน

บทวิเคราะห์คำพิพากษาศาลฎีกาคดีทางการแพทย์น้องหมิว โดยอดีตตุลาการและปรมาจารย์กฎหมายมหาชน

21 เมษายน 2016


ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์
คณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2559 มีการจัดประชุมสัมมนาหลักกฎหมายการแพทย์ เรื่องกรณีศึกษาคดีแพทย์รักษาน้องหมิว ซึ่งศาลฎีกาได้วินิจฉัยฎีกาที่ 12498/2558 เนื่องจากศาลตัดสินให้แพทย์ชดใช้เงินให้พ่อแม่ของน้องหมิวที่เป็นวัณโรคแล้วพิการเพราะวัณโรคขึ้นสมอง ซึ่งจัดโดยสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแหงประเทศไทย (สผพท.) สมาคมพิทักษ์สิทธิข้าราชการ สหภาพพยาบาลแห่งประเทศไทย ณ ห้องประชุมไพจิตร ปวะบุตร ชั้น 9 อาคารสำนักปลัดกระทรวงสาธารณสุข ในส่วนของการวิพากษ์วิจารณ์ประเด็นกฎหมายนั้น ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ อดีตเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา กรรมการสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ กรรมการสภามหาวิทยาลัยผู้ทรงคุณวุฒิสภามหาวิทยาลัยมหิดล และนายชวเลิศ โสภณวัต อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาอาวุโส ได้มาให้ความรู้และวิพากษ์ประเด็นทางกฎหมายที่น่าสนใจไว้ดังนี้

ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ที่มาภาพ :http://www.manager.co.th
ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ที่มาภาพ :http://www.manager.co.th

ศาสตราจารย์ ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ได้วิพากษ์ว่า

1. การวิพากษ์คำพิพากษาศาลฎีกานั้นเป็นสิ่งที่ทำได้ และควรทำ เพื่อให้กระบวนการยุติธรรมเกิดการพัฒนาปรับปรุงและโปร่งใสมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่พัฒนาแล้ว การวิจารณ์คำพิพากษานั้นเป็นสิ่งที่ทำกันเป็นประจำและสืบหาด้วยว่าใครเป็นผู้พิพากษาคดีนั้นๆ สืบประวัติผู้พิพากษาคนนั้นอย่างละเอียดลออกันทีเดียว เพราะคำพิพากษานั้นสะท้อนทัศนะ ความคิด โลกทัศน์ของตุลาการผู้เขียนคำพิพากษาคดีนั้นๆ เป็นเรื่องดีที่สังคมจะได้เรียนรู้ที่จะวิพากษ์วิจารณ์คำพิพากษาด้วยหลักวิชาการอย่างตรงไปตรงมาด้วยความสุจริตใจ ไม่ใช่เรื่องการหมิ่นศาลแต่อย่างใด แต่ทำให้ศาลได้เรียนรู้และได้พัฒนามากขึ้นด้วย

ดังนั้น จำเป็นต้องดูว่าเราวิพากษ์วิจารณ์การตัดสินของผู้พิพากษาคนใด ไม่ได้วิพากษ์ “ศาลฎีกา” ให้ไปดูว่าผู้พิพากษาสามคนนี้เป็นใคร วิเคราะห์ว่าการตัดสินครั้งนี้ผู้พิพากษา 3 คนนี้ เป็นอย่างไร ให้ไปลองอ่านฎีกาที่ 12498/2558 และอ่านเพิ่มเติมคำพิพากษาศาลชั้นต้น

2. คดีทางการแพทย์ไม่ใช่คดีคุ้มครองผู้บริโภค ขัดเจตนารมณ์ในการร่าง พ.ร.บ. วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ซึ่งระบุไว้ในหมายเหตุว่า

“เหตุผลในการประกาศใช้พระราชบัญญัติฉบับนี้คือ โดยที่ปัจจุบันระบบเศรษฐกิจมีการ ขยายตัวอย่างรวดเร็ว และมีการนําความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตสินค้าและบริการมากขึ้น ในขณะที่ผู้บริโภคส่วนใหญ่ยังขาดความรู้ในเรื่องของคุณภาพสินค้าหรือบริการ ตลอดจนเทคนิคการตลาดของผู้ประกอบธุรกิจ ทั้งยังขาดอํานาจต่อรองในการเข้าทําสัญญาเพื่อให้ได้มาซึ่งสินค้าหรือบริการ ทําให้ผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบอยู่เสมอ นอกจากนี้เมื่อเกิดข้อพิพาทขึ้นกระบวนการในการเรียกร้องค่าเสียหายต้องใช้เวลานานและสร้างความยุ่งยากให้แก่ผู้บริโภคที่จะต้องพิสูจน์ถึงข้อเท็จจริงต่างๆ ซึ่งไม่อยู่ในความรู้เห็นของตนเอง อีกทั้งต้องเสียค่าใช้จ่ายในการดําเนินคดีสูง ผู้บริโภคจึงตกอยู่ในฐานะที่เสียเปรียบจนบางครั้งนําไปสู่การใช้วิธีการที่รุนแรงและก่อให้เกิดการเผชิญหน้าระหว่างผู้ประกอบธุรกิจกับกลุ่มผู้บริโภคที่ไม่ได้รับความเป็นธรรม อันส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ สมควรให้มีระบบวิธีพิจารณาคดีที่เอื้อต่อการใช้สิทธิเรียกร้องของผู้บริโภค เพื่อให้ผู้บริโภคที่ได้รับความเสียหายได้รับการแก้ไขเยียวยาด้วยความรวดเร็ว ประหยัด และมีประสิทธิภาพ อันเป็นการคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค ขณะเดียวกัน เป็นการส่งเสริมให้ผู้ประกอบธุรกิจหันมาให้ความสําคัญต่อการพัฒนาคุณภาพของสินค้าและบริการให้ดียิ่งขึ้น จึงจําเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้”

ทั้งนี้ ศ. ดร.อมร จันทรสมบูรณ์ ได้แสดงความคิดเห็นว่า คดีทางการแพทย์นั้นไม่ควรเป็นคดีที่พิจารณาอย่างคดีผู้บริโภค เพราะแพทย์เป็นวิชาชีพที่มีกฎหมายเฉพาะในการกำกับดูแลด้านจริยธรรม จรรยาบรรณ อยู่แล้ว การใช้ดุลพินิจในการวินิจฉัยคดี จึงต้องใช้บุคคลที่มีความรู้ทางการแพทย์ที่เป็นกลาง ไม่ใช่บุคคลธรรมดา ซึ่งประเทศไทยหลายครั้งก็ไม่เป็นไปตามแนวทางนี้แต่อย่างใด

3. แม้จะใช้วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคก็ตาม แต่โดยปกติเมื่อศาลชั้นต้นตัดสินมาแล้ว ศาลอุทธรณ์พิพากษายืน และโดยปกติคดีผู้บริโภคนั้นจะถือว่าสิ้นสุดที่ศาลอุทธรณ์ คำถามที่ศาลฎีกาต้องตอบคือ ถ้าทั้งสองศาลยกฟ้องแล้ว ใครอนุญาตให้ฎีกา เพราะเหตุผลใด เป็นเรื่องที่ไม่ปกติและให้เหตุผลว่าอย่างไรจึงรับพิจารณาในชั้นศาลฎีกา

ประเด็นนี้ในคำพิพากษาฎีกาควรระบุเหตุผลให้ชัด

4. การเขียนคำพิพากษาฎีกา เขียนยาวเป็นพรืด ไม่มีการเว้นวรรค ไม่มีการจัดประเด็นที่ต้องหักล้างทีละประเด็น ที่สำคัญสุดคือคำพิพากษาฎีกาไม่ได้ให้เหตุผลหักล้างคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ไปทีละประเด็นว่าทำไมผู้พิพากษาจึงพิพากษากลับ คำพิพากษาที่ดีต้องมีเหตุผล และหากฎีกาจะพิพากษากลับจากอุทธรณ์และศาลชั้นต้นแล้วยิ่งต้องให้เหตุผลหักล้างให้ชัดเจนจนครบถ้วนทุกประเด็นว่าประเด็นใดบ้างที่ฎีกาไม่เห็นด้วย ประเด็นใดที่เห็นด้วย

ทั้งนี้การเขียนคำพิพากษาศาลฎีกาของไทยไม่มีรูปแบบ (Format) อย่างที่ควรจะเป็น เวลาคณะกรรมการกฤษฎีกาจะวินิจฉัยข้อกฎหมาย จะต้องเริ่มต้นด้วยว่าประเด็นคืออะไร แต่ละฝ่ายมีวินิจฉัยมาแล้วอย่างไรกันบ้าง และคณะกรรมการกฤษฎีกามีวินิจฉัยว่าอย่างไร ให้เกิดการให้เหตุผลทางกฎหมายที่ชัดเจน

5. ผู้พิพากษาศาลฎีกาในคดีนี้ ใช้ดุลพินิจทางการแพทย์ ซึ่งตนเองไม่มีความเชี่ยวชาญ เช่น ในหน้า 11 นายแพทย์เทพที่เบิกความได้ความว่า เมื่อแพทย์เอกซเรย์โจทก์วันที่ 26 มิถุนายน 2547 และดูฟิล์มในวันรุ่งขึ้นปรากฏว่ามีฝ้าขาวๆ ที่ปอด ควรคิดว่าโจทก์เป็นวัณโรคและควรตรวจเพื่อยืนยันให้แน่ชัดว่าเป็นวัณโรคจริงหรือไม่ แต่ไม่ได้กระทำ

คำว่าควรนี้เป็นดุลพินิจ นักกฎหมายจะใช้ดุลพินิจทางการแพทย์ไม่ได้ แต่ในกรณีนี้พยานโจทก์ที่เป็นหมอนั้น ไม่ใช่ทั้งพยานผู้เชี่ยวชาญ และไม่ใช่ประจักษ์พยาน (พยานที่เห็นเหตุการณ์) ไม่เป็นที่น่าเชื่อถือ แต่ทำไมจึงเชื่อ และคำพิพากษาฎีกาไม่กล่าวถึงพยานผู้เชี่ยวชาญคือ ศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ โล่ห์เลขา ซึ่งเป็นนายกแพทยสภา เป็นกุมารแพทย์เด็กด้านโรคติดเชื้อซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องนี้ แต่อย่างใด แถมคำแถลงข่าวของโฆษกสำนักงานศาลยุติธรรม ยังกล่าวหาว่าพยานจำเลยไม่มีผู้เชี่ยวชาญจากราชวิทยาลัยกุมารแพทย์เสียอีก ผู้พิพากษาต้องไม่ใช้ดุลพินิจในเรื่องที่ตนเองไม่มีความรู้ และต้องพยายามฟังเหตุผลจากผู้ที่มีความรู้เชี่ยวชาญในเรื่องนั้นจริงๆ ไม่ใช่พยานที่ไม่น่าเชื่อถือแต่อย่างใด

ด้านนายชวเลิศ โสภณวัต อดีตผู้พิพากษาศาลฎีกาอาวุโส (ปัจจุบันเกษียณอายุราชการแล้วที่ 70 ปี) ได้แสดงความเห็น (ทั้งในการประชุมและเอกสารทางวิชาการที่ท่านเขียนและนำมาแจก) ไว้ว่า

1. กฎหมายลักษณะพยานในสมัยโบราณมีสองระบบคือ ระบบกล่าวหา และระบบไต่สวน ส่วนนักกฎหมายฝรั่งเศสได้นำระบบที่สามมาใช้คือระบบผสม ซึ่งเป็นการนำระบบกล่าวหากับระบบไต่สวนมารวมกัน การค้นหาความจริงของศาลไม่จำกัดอยู่เพียงพยานหลักฐานที่คู่ความนำมาสู่ ศาลค้นหาความจริงต่างๆ เองด้วยตามที่กฎหมายให้อำนาจไว้ สำหรับ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. 2551 ได้นำหลักของระบบผสมตามที่มีการบัญญัติไว้ในประมวลวิธีพิจารณาความแพ่งมาบัญญัติใช้ซ้ำ

หากระบบกล่าวหาไม่มีหลักฐานพอให้เชื่อถือได้ ผู้พิพากษาสามารถใช้ระบบไต่สวนได้ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง

2. คำพิพากษาของศาลฎีกาคดีนี้มีทั้งหมด 15 หน้า ศาลเพียงแต่ย่อคำฟ้อง ย่อคำให้การ แต่ไม่มีการย่อการพิจารณาโจทก์นำสืบว่าอย่างไร จำเลยนำสืบว่าอย่างไร พยายามอ่านคำพิพากษาหลายรอบ ไม่พบเลยว่ามีการเอ่ยถึงชื่อศาสตราจารย์ นายแพทย์สมศักดิ์ จึงไม่สามารถทราบได้ว่าฝ่ายจำเลยได้อ้างและนำนายแพทย์สมศักดิ์เข้าเบิกความเป็นพยานด้วยในฐานะพยานผู้เชี่ยวชาญ เพิ่งมาทราบต่อเมื่อได้อ่านพบใน Social Media

อาจารย์สมศักดิ์ เป็นทั้งประธานราชวิทยาลัยกุมารแพทย์แห่งประเทศไทย และเป็นอดีตนายกสมาคมโรคติดเชื้อเด็กแห่งประเทศไทย และของเอเชีย รวมทั้งระดับโลกด้วย แค่นี้ยังถือว่าเป็นพยานที่ไม่มีน้ำหนักพอเพียงอีกหรือ

ขณะที่พยานฝ่ายโจทก์ที่ผู้พิพากษาศาลฎีกาให้น้ำหนัก เป็นเพียงแพทย์ศัลยกรรมความงาม ซึ่งเป็นสายงานที่แทบไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการดูแลผู้ป่วยวัณโรคเด็ก พยานได้ฟันธงว่าเคสนี้ต้องนึกถึงวัณโรคแต่แรก และต้องส่งฟิล์มให้รังสีแพทย์อ่านและบอกว่าผู้ป่วยคงพิการเพราะได้รับการรักษาวัณโรคล่าช้า (ดูคำพิพากษาหน้า 11-12) แพทย์ที่มาฟันธงย้อนหลังเช่นนี้เมื่อทราบผลแล้ว แตกต่างจากอาจารย์ใบ้หวยตอนที่หวยออกแล้วอย่างไร เมื่อพิจารณาประสบการณ์การดูแลผู้ป่วยวัณโรค การศึกษาวิจัย ตลอดจนความเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติในเรื่องโรคติดเชื้อของอาจารย์สมศักดิ์เทียบกับพยานโจทก์แล้ว ทำไมจึงมีความน่าเชื่อถือน้อยกว่า ผู้พิพากษาศาลฎีกาต้องให้เหตุผลด้วย

3. ทั้งนี้แพทย์ที่มาเบิกความเป็นพยานโจทก์เป็นพยานประเภทใด ตามประมวลวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา 95 บัญญัติว่า ห้ามมิให้ยอมรับฟังพยานบุคคลใดเว้นแต่ 1) ประจักษ์พยานซึ่งคือผู้ที่เห็นหรืออยู่ในเหตุการณ์โดยตรงในคดีนี้คือนายแพทย์ฐิติกรและแพทย์หญิงนุชนาฎ 2) พยานผู้เชี่ยวชาญ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา 98 เป็นบุคคลผู้มีความรู้เชี่ยวชาญในเรื่องใดและการใด และซึ่งความเห็นของพยานอาจเป็นประโยชน์ในการวินิจฉัยชี้ขาดข้อความในประเด็น ซึ่งในคดีนี้คือพยานปากนายแพทย์สมศักดิ์ คำถามคือ นายแพทย์คนที่เป็นพยานของโจทก์อยู่ในประเภทประจักษ์พยาน หรือ พยานผู้เชี่ยวชาญหรือไม่

4. ผู้พิพากษามีหน้าที่ต้องชั่งน้ำหนักพยาน ว่าพยานคนใดมีน้ำหนักมากกว่ากัน หากศาลฎีกาไม่ทราบก็ควรต้องสอบถามซักถามจนกว่าจะกระจ่าง กรณีนี้ศาลฎีกากลับไม่ให้น้ำหนักโดยไม่ยอมกล่าวถึงแม้แต่น้อยเลยว่า นายแพทย์สมศักดิ์เป็นผู้เชี่ยวชาญ เบิกความว่าอย่างไร มีเหตุผลน่าเชื่อถือมากน้อยเพียงใด ศาลฎีกานำเอาคำเบิกความของนายแพทย์สมศักดิ์ไปทิ้งไว้ทั้งหมดที่ตรงไหน เหตุใดจึงไม่กล่าวถึงและไม่มีการนำมาวินิจฉัยเปรียบเทียบชั่งน้ำหนักกับพยานหลักฐานของฝ่ายโจทก์ด้วย

5. การที่โฆษกศาลแถลงโดยอ่างแต่ภาระหน้าที่ของคู่ความตาม พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภคมาตรา 29 อันเป็นหลักการของระบบกล่าวหา คำถามจึงมีว่า หากศาลฎีกามีความสงสัยในคำเบิกความของนายแพทย์สมศักดิ์ เหตุใดศาลฎีกาจึงไม่ค้นหาความจริงตามหลักการของระบบไต่สวน ซึ่งกฎหมายบัญญัติให้อำนาจไว้ในมาตรา 36 และ 37 โดยมาตรา 36 บัญญัติว่า ศาลอาจขอให้ผู้ทรงคุณวุฒิหรือผู้เชี่ยวชาญมาให้ความเห็นเพื่อประกอบการพิจารณาพิพากษาคดีได้ หากศาลฎีกาดำเนินการตามมาตรา 36 ผลของคดีก็คงต่างจากที่ปรากฏ

ท่านอาจารย์ชวเลิศ โสภณวัต ยังได้กล่าวว่า ศาลจะคงความยุติธรรมได้นั้น มาจาก 4 องค์ประกอบ หนึ่ง คือ ฝ่ายโจทก์หรือจำเลยต้องทำถูกต้องตามกฎหมายอย่างแน่นอน สอง ทนายความต้องเก่ง มีความสามารถในการต่อสู้คดี แม่นหลักกฎหมาย สาม พยานผู้เชี่ยวชาญหรือประจักษ์พยาน ต้องเก่ง ต้องมีความรู้จริง และหลักฐานอื่นๆ ต้องแม่นยำ และ สี่ ผู้พิพากษา ต้องดี ทำงานดี รอบคอบด้วย จึงจะทำให้ความยุติธรรมเกิดขึ้นได้ จะขาดองค์ประกอบใดองค์ประกอบหนึ่งไปไม่ได้เลย

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 12498/2558