ThaiPublica > คอลัมน์ > เพื่อพระเจ้า เพื่อชาติ เพื่อประชาชน? Tell Spring Not to Come This Year

เพื่อพระเจ้า เพื่อชาติ เพื่อประชาชน? Tell Spring Not to Come This Year

16 เมษายน 2016


1721955

open

หนึ่งในคำถามโลกแตกเกี่ยวกับหนังสารคดี คือ มีความเป็นจริงมากน้อยแค่ไหน ข้อมูลต่างๆ ที่เรารับรู้ทั้งทางภาพและเสียงมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ เราจะรู้ได้อย่างไรว่าพวกเขาไม่โกหก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสิ่งที่พวกเขาพูดถูกถ่ายทอดผ่านกล้อง ซึ่งทำให้บ่อยครั้งผู้ที่ถูกถ่ายมักจะแสดงมุมมองโอ้อวดหรือบอกความจริงไม่ครบ แล้วไหนหนังยังต้องผ่านขั้นตอนการตัดต่อและผ่านทัศนคติหรืออคติจากผู้ตัวกำกับอีก กว่าจะกลายเป็นสารคดีสักเรื่องให้เราได้ดู ก็ไม่รู้ว่ายังเหลือข้อเท็จจริงอยู่แค่ไหน เช่นเดียวกันกับสารคดีกลางสมรภูมิรบเรื่องนี้ Tell Spring Not to Come This Year (2015) ของ ซาอีด ทาจิ ฟารัวกี และไมเคิล แม็คอีวอย

หนังเปิดเรื่องด้วยข้อความข่าวว่า “ในปี 2014 ศูนย์บัญชาการกองกำลังสนับสนุนความมั่นคงระหว่างประเทศของนาโต (International Security Assistance Force – ISAF) จะถูกส่งมอบให้กองทัพแห่งชาติอัฟกัน (Afghan National Army – ANA) เป็นผู้ดูแลความปลอดภัยตามแนวปฏิรูปใหม่” ซึ่งหมายความว่า แต่เดิม จากที่เคยมีแต่ทหารอเมริกันเพ่นพ่านอยู่ในอัฟกานิสถาน แต่หลังจากปี 2014 เป็นต้นไป ทหารอัฟกันจะกลับเข้ามาควบคุมดูแลพื้นที่ของประเทศตัวเอง สารคดีเรื่องนี้จึงตามติดกองพันที่ 3 3/215 ของ ANA ในช่วงปีแรกของนโยบายใหม่นี้ ในย่าน เกอเรสฮ์ค มณฑลเฮลมานด์ ซึ่งกองกำลังนี้เคยได้รับการฝึกฝนจากพวกนาโตเป็นเวลา 5 ปีก่อนหน้านั้นแล้ว

1

ฟารัวกีเล่าว่า “เมื่อผมจะทำประเด็นใหญ่อย่างสงครามในอัฟกานิสถาน ผมต้องมั่นใจว่าจะไม่ไปย่ำซ้ำรอยสารคดีแนวเดียวกันที่คนอื่นๆ ทำๆ กันมาแล้ว และมันต้องเป็นหนังที่เปิดให้ผู้คนได้ถกเถียงกัน โปรเจกต์นี้จึงเกิดขึ้นหลังจากผมได้คุยอีเมลกับไมเคิล (ผู้กำกับร่วม) ที่เข้าไปขลุกอยู่กับกองทัพอัฟกันก่อนแล้วเกือบปี เราทั้งคู่ต่างรู้ว่าภาพกองทัพอัฟกันนั้นดูรุนแรงเกินกว่าคนดูจะทำความเข้าใจได้ และสิ่งที่เราต้องการจะทำไม่ใช่แค่การจับภาพเหตุการณ์ในสมรภูมิรบเท่านั้น แต่ต้องการทำความเข้าใจกับทหารกลุ่มนี้ว่าพวกเขาเป็นใคร เพื่อดึงเอาประเด็นทางการเมือง เศรษฐศาสตร์ และยุทธวิธี ออกมาตีแผ่ให้คนดูได้ถกเถียงกัน ให้ทหารเหล่านี้นำเสนอภาพจากมุมของพวกเขาเอง เพื่อให้เห็นผลพวงจากการรุกล้ำของกองทัพสหรัฐฯ และเพื่อให้เห็นว่าที่ชาวอัฟกันต้องมาเสี่ยงตายในสนามรบก็เพียงเพราะอยากจะมีชีวิตรอด…ในสงครามที่พวกเขาไม่ได้เป็นคนก่อขึ้น”

2

ฟารัวกีเล่าต่อว่า “ความที่ไมเคิลขลุกอยู่กับทหารเหล่านี้มานาน ตอนเข้าไปถ่ายทำ เราจึงไม่ใช่คนแปลกหน้า พวกเขาไว้ใจเรา ทำให้การถ่ายทำง่ายขึ้นมาก แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังต้องใช้เวลาเกือบปีกว่าจะได้ภาพอย่างใกล้ชิด ผมตั้งคำถามอย่างอ่อนน้อมและสงสัยเท่าที่จะถามได้ ผมว่าคนทำหนังส่วนใหญ่มีอีโกมากเกินไป อวดดีและพยายามจะบังคับทิศทางของหนังเกินไป จนลืมมองว่าทหารเหล่านี้ก็เป็นมนุษย์ด้วยเช่นกัน พวกเขาไม่ใช่แค่ตัวละครในผลงานของผมเท่านั้น ผมไม่ต้องการจะใส่อคติและการหยามเหยียดพวกเขาลงไปในภาพ ผมไม่ประดิดประดอยแต่ละซีน แต่นำเสนอเท่าที่เห็นตรงหน้า คำถามของผมเป็นเพียงเรื่องทั่วไปในชีวิตมนุษย์ และผมเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกภารกิจของพวกเขาในแต่ละวัน แสดงให้พวกเขาเห็นถึงความเคารพ เพื่อให้ชัดเจนว่าผมไม่ได้กำลังจะทำหนังโฆษณาชวนเชื่อ และไม่ใช่แค่จ้องจะเข้าไปฉกฉวยโมเมนต์สำคัญๆ ของชีวิตพวกเขาไปยัดใส่ลงในหนังเท่านั้น แต่เหมือนพวกเรามาช่วยกันถ่ายทอดเหตุการณ์สำคัญนี้ร่วมกันมากกว่า ทำให้พวกเขาเปิดใจได้อย่างปลอดภัย”

3

และนี่คือกลวิธีในการถ่ายทอดความจริงของสารคดีเรื่องนี้ ซึ่งมีฉากหน้าราวกับจะเป็นหนังเชิดชูทหาร ไปคอยตามติดการลาดตระเวนของกองพันกลุ่มนี้ โดยหนังแทบจะไม่ได้ให้รายละเอียดว่าทหารแต่ละนายชื่ออะไรหรือมียศอะไรบ้าง เป็นเพียงภาพเหตุการณ์ในแต่ละวัน แทรกสอดด้วยคำสัมภาษณ์ของทหารแต่ละคน ทั้งพลทหารและผู้บัญชาการ เช่น ทหารคนหนึ่งเล่าว่า “ผมอยากจะเรียนวรรณกรรมในมหาวิทยาลัยคาบูล แต่สอบไม่ติด ตกงานเตะฝุ่นอยู่สองปี แล้วผมก็โชคดีได้มาเป็นทหาร” ส่วนอีกคนก็เล่าว่า “ผมไม่สนใจหรอกเรื่องร่ำเรียนหาความรู้ ผมแค่อยากจะมีชีวิตทันสมัยสุขสบาย ที่ผมมาเข้ากองทัพเพราะผมถูกปลูกฝังมาว่าผมต้องรับใช้ชาติ และก็เพราะผมจนด้วยไง”

ทหารอีกคนเล่าว่า “ที่นี่เปลี่ยนไปมาก เมื่อก่อนไม่มีทหารมาอยู่แถวนี้หรอก ตอนที่รู้ว่าพวกทหารอเมริกันจะเข้ามาประจำการในอัฟกานิสถาน ผมดีใจสุดๆ เลย เพราะคิดว่าพวกเขาจะเข้ามาช่วยเหลือเรา แต่พอรู้ว่าพวกนั้นทำอะไรกับเราบ้าง ผมก็เริ่มเกลียดพวกเขาเข้าไส้ พวกเขามีถนนส่วนตัวที่ถ้ามีใครผ่านเข้าไปก็จะถูกขู่ยิง น่าแปลกที่ผมไม่ยักจะเห็นสัญญาณความปลอดภัย หรือสันติสุขเกิดขึ้นในประเทศนี้เลย ทั้งที่มีทหารอยู่เต็มเมือง” แล้วทันใดนั้นหนังก็ตัดไปภาพภารกิจลาดตระเวน ทหารทุกคนสอดส่องทุกสิ่งรอบๆ ตัวอย่างหวาดระแวง ขณะที่ทหารพวกนี้พล่ามบอกว่าพวกเขาทำเพื่อประชาชน แต่ภาพที่เห็นกลับเป็นการตรวจค้นประชาชนในพื้นที่อย่างเข้มงวด จับกุมด้วยการผูกตาและมัดมือ คุมขังด้วยความระแวงว่าชาวบ้านจะเป็นไส้ศึก แถมขู่ติดตลกแต่ขำไม่ออกว่าถ้าชาวบ้านไม่สารภาพความจริงจะถูกจับลากไปกับรถฮัมวี หรือไม่ก็จับแขวนคอเพื่อไว้สำหรับเป็นเป้าซ้อมยิง

4

ผบ. นายหนึ่งเล่าว่า “บางทีก็ต้องมีการลงโทษบ้าง ก็เหมือนเวลาครูตีนักเรียน เหมือนความสัมพันธ์ระหว่างพระเจ้ากับผู้รับใช้ของพระองค์นั่นแหละ ก็ที่ผมบูชาพระเจ้าก็เพราะเกรงกลัวพระองค์ไง การเป็น ผบ. ก็เหมือนเป็นพ่อทางจิตวิญญาณนั่นแหละ ถ้าเราไม่โกรธลูกบ้าง เราจะนำทางลูกได้อย่างไร”

แต่ก็ใช่ว่าหนังจะให้เห็นแต่ภาพความหวาดระแวงและวางอำนาจของฝ่ายทหารเท่านั้น เมื่อครึ่งหลังหนังพาคนดูเข้ายังแนวปะทะ ฝ่าดงกระสุน และหลบระเบิดเสี่ยงๆ ที่มีทหารบางคนต้องสังเวยชีวิต…เพื่อชาติ

5

หนังปิดท้ายด้วยความเรียบง่าย เป็นรายชื่อผู้เสียชีวิตทั้งหมดในระหว่างการถ่ายทำ ซึ่งปรากฏชื่อทหาร 31 นายขึ้นมาก่อน แล้วแทรกอีกหนึ่งบรรทัดสั้นๆ แต่ทรงพลังว่า “และชาวบ้านอีกมากมายนับไม่ถ้วน”

สิ่งเหล่านี้ถูกร้อยเรียงและคัดสรรมาอย่างดี มีแง่มุมให้ขบคิดรอบด้านอย่างแหลมคม ทั้งฝั่งทหารอัฟกัน ทหารอเมริกัน และชาวบ้านตาดำๆ ละแวกนั้น เปิดโอกาสให้ค้นหาความจริงอันซับซ้อน ทำให้หนังเรื่องนี้คว้ารางวัลไปมากมาย เช่น ภาพยนตร์ชนะเลิศขวัญใจผู้ชม และรางวัลสิทธิมนุษยชนจากแอมเนสตี ในเทศกาลหนังเบอร์ลิน, สารคดียอดเยี่ยม และรางวัลซาบีน มาห์มัด (สำหรับหนังที่มีความกล้าหาญและท้าทาย) จากเทศกาลหนังนานาชาติเอเชียใต้ โมเซอิค ในอินเดีย, ชนะเลิศรางวัลขวัญใจกรรมการ จาก ด็อกคูเมนตา เมืองมาดริด