เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2559 นายนริศ สถาผลเดชา ผู้อำนวยการอาวุโส ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics กล่าวถึงเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี 2559 ว่าจะเป็นลักษณะ “เศรษฐกิจไทยสโลว์ไลฟ์ เศรษฐกิจโลกสโลว์เว่อร์” โดยเศรษฐกิจไทยมีแรงส่งที่ดีขึ้นแต่ไม่เพียงพอ โดยเฉพาะการส่งออกที่ได้รับผลกระทบจากภาวะการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน และจะไม่มีทางกลับไปเติบโตได้เหมือนเดิมอีกแล้ว
นายนริศเล่าย้อนแนวโน้มการค้าโลกที่เปลี่ยนแปลงไปว่า ตั้งแต่ปี 2543-2550 เพิ่มขึ้นจากประมาณ 6 ล้านล้านบาท เป็น 15 ล้านล้านบาท ก่อนจะหดตัวในช่วงวิกฤติในปี 2551 เหลือเพียง 10 ล้านล้านบาทและค่อยๆ ฟื้นตัวกลับไปที่ระดับ 15 ล้านล้านบาทในปี 2554 และทรงตัวที่ระดับนี้จนถึงปัจจุบัน โดยเหตุผลหลักที่การค้าไม่เติบโตอีกต่อไปเนื่องจากหลายประเทศเปลี่ยน “โมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจ” หลังจากวิกฤติเป็นการผลิตภาคบริการ จากเดิมที่เน้นการผลิตภาคอุตสาหกรรม ทำให้ปริมาณสินค้าและการค้าลดลงในที่สุด สะท้อนชัดเจนจากองค์ประกอบของการส่งออกที่หดตัวของไทย ล่าสุดในเดือนมกราคม 2559 หดตัวไป -8.9% เป็นการหดตัวด้านปริมาณสินค้าถึง -6.1% เป็นการหดตัวด้านราคา-2.8% (คลิกที่ภาพเพื่อขยาย)
“เราเห็นว่าเศรษฐกิจโลกมันสโลว์เว่อร์หลังจากวิกฤติ แล้วพอมาดูภาพการค้าโลก การนำเข้าและส่งออกทั้งโลกหลังวิกฤติ จะเห็นว่าการค้าที่เติบโตได้ตลอดทุกปี มันกลายเป็นโลกที่เราคิดว่าเคยเป็นแล้ว พอหลังวิกฤติมันเกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างหนักในระบบการค้าโลกและระบบการผลิตโลก จนทำให้การค้าโลกหดตัวอย่างต่อเนื่อง ตรงนี้ต้องบอกเลยว่ามันเป็นภาพที่ค่อนข้างชัดว่าการค้าโลกจะไม่กลับมาเหมือนเดิมอีกต่อไป” นายนริศกล่าว
ปรับโมเดลโฟกัสการค้าชายแดน CLMV
นายนริศกล่าวต่อไปว่า ถึงแม้โครงการการค้าโลกโดยรวม จะเปลี่ยนแปลงไปและไม่มีวันกลับมาเหมือนเดิม แต่หากเจาะลงไปในรายละเอียดจะพบว่ามีคู่ค้าและอุตสาหกรรมบางประเภทที่ยังสามารถเติบโตต่อไปได้ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา และเวียดนาม) และควรเพิ่มสัดส่วนมากขึ้น ตัวอย่างเช่น เครื่องจักรอุตสาหกรรม ส่งออกไปเวียดนาม โต 9%, เครื่องจักรเกษตรกรรม ส่งออกไปยังกัมพูชา โต 22%, รถยนต์ ส่งออกไปยังเวียดนาม โต 74%, เครื่องดื่มให้กำลังงาน ส่งออกไปเวียดนาม โต 25%, น้ำตาล ส่งออกไปเมียนมา 263%, ผักและผลไม้ ส่งออกไปยังเวียดนาม โต 7%, มือถือ ส่งออกไปยังเมียนมา โต 20% เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม ด้วยสัดส่วนการส่งออกของไทยไปยังกลุ่มประเทศ CLMV เป็นเพียง 10% ของการส่งออกรวม ถึงแม้ในภาพรวมการส่งออกในกลุ่มประเทศนี้จะดีขึ้น แต่ยังไม่สามารถพึ่งพาเป็นเครื่องจักรของการเติบโต หรือ “Engine of Growth” ในการพัฒนาเศรษฐกิจได้เหมือนกับสมัยก่อน แต่สามารถเป็นแรงส่งให้กับเศรษฐกิจได้ค่อนข้างดีตัวหนึ่ง
นายนริศกล่าวต่อว่าแนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจใหม่ของไทย มี 3 ปัจจัยหลักที่ต้องดำเนินการไปพร้อมกัน 1) เริ่มต้นจากการโฟกัสสินค้าส่งออกให้ตรงความต้องการของกลุ่มประเทศ CLMV 2) รัฐบาลจะต้องสร้าง “เขตเศรษฐกิจพิเศษ” หรือ “ซูเปอร์คลัสเตอร์” มารองรับการค้าตามชายแดน และ 3) เอกชนเข้ามาลงทุน หลังจากเห็นโอกาสการค้าขายและตลาดในเขตเศรษฐกิจพิเศษของรัฐบาล
“โครงสร้างการส่งออกต้องใช้เวลาในการปรับตัวบ้าง อยู่ดีๆ จะให้ไปปรับคู่ค้าเลยคงทำไม่ได้ แต่ต้องมองโอกาสใหม่ๆ ในกลุ่มประเทศที่พอไปได้ ส่วนจะเรียกว่าเป็นเครื่องจักรของการเติบโตแบบอดีตคงยาก ผมว่าการส่งออกจะยังไม่เป็นสถานะแบบนั้น แบบที่ในอดีตเคยเป็น ถ้าทำได้ก็อาจจะเป็นแค่แรงส่งที่ดีได้ คือเครื่องยนต์กลับมาติดใหม่ละ ส่วนเครื่องจักรในระยะข้างหน้า มองว่าต้องผลักดันการลงทุนในประเทศและการบริโภคในประเทศก่อน เพราะเราไปพึ่งส่งออกตอนนี้ไม่ใช่แล้ว มันไม่ได้ชะลอเป็นชั่วคราว มันเปลี่ยนโครงสร้างไปเลย การค้ามันน้อยลง” นายนริศกล่าว
ดูเพิ่มเติมเศรษฐกิจไทยสโลว์ไลฟ์ เศรษฐกิจโลกสโลว์เวอร์