ThaiPublica > คอลัมน์ > ประชาชน ประชานิยม และประชารัฐ (จบ)

ประชาชน ประชานิยม และประชารัฐ (จบ)

14 มีนาคม 2016


สฤณี อาชวานันทกุล

ตลอดสี่ตอนที่ผ่านมา ผู้เขียนพยายามสำรวจแนวคิดและรูปธรรมเรื่อง “นโยบายประชานิยม” ทั้งในสากลและในประเทศไทย และสำรวจข้อเสนอต่างๆ ที่จะช่วยวางกติกาการใช้เงิน เสริมกลไกการตรวจสอบของสภา และตีกรอบความเสียหายจากนโยบายประชานิยมแย่ๆ โดยไม่ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของรัฐบาลในการดำเนินนโยบายเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชน หรือสิทธิเสรีภาพของนักการเมืองในการหาเสียงเรียกคะแนนนิยม

ผู้เขียนปิดท้ายด้วยข้อสังเกตในตอนที่แล้วว่า ร่างรัฐธรรมนูญ 2559 ฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ นั้น “ไม่พอดี” อย่างรุนแรง ยกตัวอย่างเช่น ห้ามไม่ให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา และ กรรมาธิการ “มีส่วนไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมในการใช้งบประมาณ” ทั้งที่รัฐมนตรีทั้งคณะย่อมเป็น ส.ส. โดยตำแหน่ง การเขียนแบบนี้แปลว่ารัฐมนตรีจะไม่สามารถเสนอคำขอเพิ่มงบประมาณให้กับหน่วยงานต่างๆ ได้เลย ทั้งที่เป็นอำนาจอันชอบธรรมของรัฐบาลหรือฝ่ายบริหาร

ผู้เขียนเห็นว่า เนื้อหาทำนองนี้ ยังไม่นับการนิรโทษกรรมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทุกกรณีตั้งแต่อดีต ปัจจุบัน ยันอนาคต ส่งสัญญาณชัดเจนว่าผู้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ไม่ใว้ใจนักการเมือง ไม่ใว้ใจประชาชนในการตรวจสอบนักการเมือง และวาดภาพนโยบายประชานิยมว่าน่าจะต้อง “เลว” ค่อนข้างแน่ ฉะนั้นจึงหาวิธีมัดมือชกรัฐบาลตั้งแต่ต้น

วิธีคิดที่ปรากฎในเนื้อหานี้ขัดแย้งกับข้อเท็จจริงที่ว่า นโยบายประชานิยมบางนโยบายอาจ “ดี” ก็ได้ เพราะสร้างประโยชน์มากกว่าเม็ดเงินงบประมาณที่ใช้หลายเท่า ตัวอย่างนโยบายในอดีตของรัฐบาลก่อนๆ ที่ผู้เขียนเห็นว่า “ดี” ในแง่นี้ ถ้าดูภาพรวม ได้แก่ โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค โครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการเบี้ยยังชีพคนชรา และโครงการอินเทอร์เน็ตชุมชน เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ในเมื่อวันนี้ฝ่ายผู้กุมอำนาจรัฐดูจะมีอคติกับคำว่า “ประชานิยม” จึงไม่น่าแปลกใจที่จะมีการโหมประโคม “ประชารัฐ” ว่าเป็นสิ่งที่ “ดีกว่า” ประชานิยม

วันที่ 20 กันยายน 2558 ยุทธศาสตร์ “ประชารัฐ” ปรากฎครั้งแรกต่อสาธารณะในเวที “สานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” ที่ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี และมี ศ.นพ.ประเวศ วะสี กับ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ขึ้นอธิบายเรื่องประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก

เวที “สานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” วันที่ 20 กันยายน 2558
เวที “สานพลังประชารัฐเพื่อเศรษฐกิจฐานราก” วันที่ 20 กันยายน 2558

ใครที่คุ้นเคยกับความคิดของ “หมอประเวศ” หรืองานของมูลนิธิสัมมาชีพ ซึ่งหมอประเวศเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการก่อตั้ง น่าจะมองออกว่า “ประชารัฐ” มิได้เป็นเพียงวาทกรรมสวยหรู แต่เป็นยุทธศาสตร์ที่หมอประเวศและมูลนิธิสัมมาชีพพยายามผลักดันมาแล้วนับสิบปี ตามอุดมการณ์ที่ว่า ชุมชน เอ็นจีโอ และธุรกิจ ควรมาจับมือกันสร้าง “สัมมาชีพเต็มพื้นที่”

แนวคิดนี้เดิมทีไม่มีรัฐเป็นพระเอก แต่เมื่อถูกหยิบมาใช้ภายใต้ระบอบเผด็จการทหาร ในภาวะที่เศรษฐกิจซบเซาอย่างต่อเนื่อง ประชารัฐแบบหมอประเวศจึงถูก ดร.สมคิด หยิบมาขัดสีฉวีวรรณ แปลงโฉมเป็นประชารัฐแบบใหม่ที่มี “รัฐ” กับ “เอกชน” เป็นพระเอก

ดังสะท้อนจากโครงสร้างของ “คณะกรรมการภาครัฐและเอกชนเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ” 12 ชุด ซึ่งประกาศเมื่อปลายปี 2558 ทุกคณะมีรายชื่อหัวหน้าคณะทำงานภาคเอกชน ทำงานประกบกับรัฐมนตรี

คณะกรรมการ "ประชารัฐ" ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ที่มาภาพ: http://www.obec.go.th/news/69289
คณะกรรมการ “ประชารัฐ” ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ ที่มาภาพ: http://www.obec.go.th/news/69289

แกนนำรัฐบาลยืนยันว่า คณะกรรมการเหล่านี้จะดำเนินการในลักษณะ “หุ้นส่วน” ระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน หรือ “ประชารัฐ” เน้นการขับเคลื่อนผ่านการปฏิบัติจริง ครอบคลุม 4 เสาหลัก ได้แก่ 1. ธรรมาภิบาล 2. นวัตกรรมและผลิตภาพ 3. การพัฒนาทุนมนุษย์ และ 4. การมีส่วนร่วมในความมั่งคั่ง (inclusive economy)

มูลนิธิชีววิถี (Biothai) ตั้งข้อสังเกตว่า ประชารัฐ “มีจำนวนกรรมการรวมทั้งสิ้นมากกว่า 200 คน โดยในจำนวนนั้นมาจากภาคเอกชนถึง 73% และหากรวมกรรมการจากภาคเอกชนและภาครัฐแล้วจะมีสัดส่วนรวมกันถึง 95% โดยกลุ่มทุนยักษ์ใหญ่ของประเทศ เช่น เครือเจริญโภคภัณฑ์ เครือซิเมนต์ไทย ไทยเบฟ เข้าไปมีบทบาทในกรรมการชุดต่างๆ เกือบทุกชุด”

พูดง่ายๆ คือ แม้ว่าจะมีคำว่า “ประชา” ใน “ประชารัฐ” ตัวแทนภาคประชาชนกลับมีสัดส่วนเพียง 5% เท่านั้น ซึ่งหลายคนก็ตั้งข้อสังเกตว่า เป็น “เอ็นจีโอชนชั้นนำ” คือมีเส้นสายกับภาครัฐ มิใช่ “เอ็นจีโอรากหญ้า” ที่บางครั้งขัดแย้งกับกลุ่มทุนที่พวกเขามองว่าสร้างความเดือดร้อนให้กับชุมชน หรือแสวงประโยชน์เกินเลยจากฐานทรัพยากร โดยที่รัฐก็เอาใจ

สัดส่วนกรรมการ "ประชารัฐ" ชุดต่างๆ ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/biothai.net/posts/1013049758733545:0
สัดส่วนกรรมการ “ประชารัฐ” ชุดต่างๆ ที่มาภาพ: https://www.facebook.com/biothai.net/posts/1013049758733545:0

ณ วันที่เขียนอยู่นี้ เวลาผ่านไปยังไม่ถึง 3 เดือน นับจากวันที่กรรมการเข้ารับตำแหน่ง คงเร็วเกินไปที่จะประเมินผลงาน หรือแม้แต่จะมองว่า “ประชารัฐ” แตกต่างจาก “ประชานิยม” หรือไม่อย่างไร ถ้าไม่นับวาทกรรมต่างๆ ของรัฐบาลซึ่งโหมประโคมผ่านสื่อต่างๆ อยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี ผู้เขียนคิดว่ามีคำถามสำคัญอย่างน้อยสามข้อที่ควรถาม และควรใช้เป็นกรอบตั้งต้นในการประเมินประชารัฐในอนาคต

1. ประชาชนจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่า “ประชารัฐ” จะไม่กลายเป็นเวทีที่รัฐเอื้อประโยชน์โดยตรงให้กับเอกชนบริษัทใดบริษัทหนึ่ง (ซึ่งก็น่าจะเป็นบริษัทที่เข้าไปมีตำแหน่งในคณะกรรมการ) โดยไม่ผ่านกลไกตลาด หรือการประมูลอย่างที่ควรเป็น

เราไม่ควรลืมว่า “คอร์รัปชันเชิงนโยบาย” คือสาเหตุหนึ่งที่ประชาชนจำนวนมากออกมาเดินขบวนประท้วงขับไล่รัฐบาลในอดีต การทำงานของคณะกรรมการประชารัฐจะป้องกันคอร์รัปชั่นแบบนี้ได้อย่างไร ในเมื่อรัฐจับมือกับเอกชนเฉพาะรายตั้งแต่ต้น?

ผู้เขียนมองว่า โครงสร้างการทำงานของ “ประชารัฐ” นอกจากจะเอื้อต่อการเกิดคอร์รัปชันเชิงนโยบายแล้ว ยังสุ่มเสี่ยงว่าจะเปิดโอกาสให้เจ้าสัวหรือนักธุรกิจใหญ่มาอวดกิจกรรม “ซีเอสอาร์” ของบริษัท หรือไม่ก็ใช้ช่องทางดำเนินธุรกิจของตัวเอง ออกมาตรการลดแลกแจกแถมเพื่อเอาใจประชาชน ได้ทั้งเงินคือรายได้เพิ่มหรือขยายฐานลูกค้า ได้ทั้งกล่องคือคำชม

2. ในเมื่อธุรกิจเข้ามาสนิทชิดเชื้อกับรัฐอย่างเป็นทางการ เราจะคาดหวังได้อย่างไรว่า รัฐและเอกชนจะส่งเสริมสนับสนุนการปฏิรูปเพื่อแก้ “ปัญหาโครงสร้าง” ทั้งหลายที่ภาคธุรกิจมีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง ตั้งแต่การใช้อำนาจเหนือตลาดได้เพราะกฎหมายป้องกันการผูกขาดยังเป็น “เสือกระดาษ” กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อม แรงงาน และผู้บริโภคที่ยังหย่อนยานกว่ามาตรฐานสากลในหลายมิติ ฯลฯ

ปลาย่อมมองไม่เห็นน้ำฉันใด นักธุรกิจย่อมมองไม่เห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ตนมีส่วนก่อฉันนั้น

3. คณะกรรมการ “ประชารัฐ” ประกาศว่าจะทำงานเพื่อขับเคลื่อนประเทศไปสู่ความ “มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน” โดยอยากสร้างเศรษฐกิจที่ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม หรือ inclusive economy แต่ทว่าที่ผ่านมา คสช. ได้ใช้อำนาจเผด็จการตามมาตรา 44 กระทำการหลายอย่างที่คัดง้างหรือขัดขวางแนวทางนี้อย่างชัดเจน เช่น ประกาศ คสช. ฉบับที่ 3/2559 และ 4/2559 ยกเว้นการใช้กฎหมายผังเมืองในเขตเศรษฐกิจพิเศษและบางกิจการ อาทิ โรงไฟฟ้า หรือ ฉบับที่ 9/2559 ยกเว้นให้โครงการของรัฐบางประเภทสามารถดำเนินการจัดหาเอกชนมาดำเนินการได้ ก่อนที่รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) จะได้รับความเห็นชอบ

คำถามคือ คณะกรรมการ “ประชารัฐ” มีจุดยืนอย่างไรต่อการใช้อำนาจเช่นนี้ของ คสช. และจะดำเนินการอย่างไร?

ป้ายคำ :