ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี (TMB Analytics) เห็นว่าโอกาสที่ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงรุนแรงเนื่องจากการดำเนินนโยบายการเงินที่สวนทางกันของธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักอาจไม่เกิดขึ้นแล้ว เนื่องจากมุมมองของตลาดต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง และเชื่อว่าปัจจัยพื้นฐานจากทั้งในและต่างประเทศ เช่น ภาวะเศรษฐกิจและราคาน้ำมัน จะกดดันให้อัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่าได้มากที่สุดเพียง 36.30 บาทต่อดอลลาร์ และจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อเฟดสามารถกลับมาขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้ในช่วงสิ้นปีนี้เท่านั้น
หากย้อนเวลากลับไปในช่วงปลายปีที่แล้ว จะเห็นได้ว่าตลาดมีมุมมองที่ค่อนข้างดีมากหรืออาจจะดีเกินไปต่อภาพรวมเศรษฐกิจสหรัฐฯ กอปรกับธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) เองก็สามารถขึ้นอัตราดอกเบี้ยได้เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 7 ปี แผนของเฟดที่จะขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 4 ครั้งในปี 2559 สวนทางกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของยูโรโซนและญี่ปุ่นอย่างชัดเจน ส่งผลให้ผู้ค้าเงินส่วนใหญ่มองว่าเงินดอลลาร์สหรัฐมีแนวโน้มแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ ต่อเนื่องในปีนี้เหมือนในปีที่ผ่านมา จึงเก็งกำไรโดยการซื้อเงินดอลลาร์ไว้เป็นจำนวนมาก
แต่เรื่องราวกลับไม่เป็นอย่างที่คิด โดยหลังจากที่ตัวเลขจีดีพี ไตรมาสที่ 4 ของสหรัฐฯ ออกมาว่าขยายตัวได้เพียง 0.7% ประกอบกับการจ้างงานในเดือนมกราคมที่ชะลอตัวลง ส่งผลให้ตลาดเริ่มมีความกังวลกับเศรษฐกิจสหรัฐฯ และตั้งข้อสงสัยว่าเฟดจะสามารถปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายได้จริงหรือไม่ หรือเฟดอาจถึงขั้นต้องปรับลดอัตราดอกเบี้ยหรือเปล่า
เมื่อมุมมองต่อเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดเปลี่ยนแปลงไป จึงไม่แปลกที่จะเกิดการเทขายเงินดอลลาร์ที่เคยถือไว้เพื่อเก็งกำไรเป็นจำนวนมาก และตลาดเริ่มหันไปซื้อเงินสกุลหลักอื่นๆ เช่น ยูโรและเยน ซึ่งถือเป็นสินทรัพย์ที่ปลอดภัยแทน (Safe Haven Assets) ทำให้ตั้งแต่ต้นปี 2559 เงินเยนปรับตัวแข็งค่าไปถึง 6.69% ขณะที่เงินยูโรปรับแข็งค่าขึ้น 3.93% เมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ
ด้านเงินสกุลเอเชีย แม้ว่าเศรษฐกิจในแถบนี้จะยังอยู่ในภาวะชะลอตัว แต่ก็ถือเป็นเป้าหมายของผู้ค้าเงินตราต่างประเทศเช่นกัน นั่นก็เพราะการเก็งกำไรบนเงินดอลลาร์สหรัฐอย่างหนักในช่วงปีที่แล้ว กดให้ค่าเงินของกลุ่มประเทศเหล่านี้อ่อนค่าลงไปค่อนข้างมาก โดยจะเห็นว่าในช่วงปี 2558 ค่าเงินริงกิตอ่อนค่าไปถึง 18.54% เช่นเดียวกับค่าเงินรูเปียและค่าเงินบาทที่อ่อนค่า 10.18% และ 8.81% ตามลำดับ ดังนั้น ค่าเงินในเอเชียจึงมีความน่าสนใจในแง่มูลค่า (Valuation) ที่ราคาปัจจุบันอาจจะต่ำกว่าที่ควรจะเป็น บวกกับตลาดพันธบัตรเอเชียระยะสั้นที่มีกระแสเงินทุนต่างชาติยังไหลเข้ามาลงทุนต่อเนื่อง เพื่อเป็นการพักเงินไว้ชั่วคราว
ศูนย์วิเคราะห์ทีเอ็มบีมองว่า ภาพที่ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าลงอย่างรุนแรงอย่างที่หลายฝ่ายเคยคาดอาจไม่เกิดขึ้นแล้วในปีนี้ ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่าค่าเงินบาทจะไม่อ่อนค่าลงมากมาตั้งแต่แรก ซึ่งค่อนข้างสวนทางกับมุมมองในตลาดส่วนใหญ่ (ค่าเฉลี่ยอัตราแลกเปลี่ยนสิ้นปี 2559 ของนักวิเคราะห์ใน Bloomberg อยู่ที่ระดับ 37 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่สูงสุดอยู่ที่ 40 บาทต่อดอลลาร์) เนื่องจากเราคาดว่าเฟดจะไม่สามารถขึ้นดอกเบี้ยได้ตามแผนที่วางไว้ ซึ่งจะเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้เงินบาทปรับแข็งค่าขึ้นได้ ทั้งนี้ มุมมองของตลาดที่มีต่อการขึ้นดอกเบี้ยของเฟดในปัจจุบันก็สนับสนุนความเชื่อของเรา
ด้านวิกฤติเศรษฐกิจ ศูนย์วิเคราะห์ฯ มองว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันแตกต่างจากในช่วงปี 2551 ซึ่งเกิดจากการขาดสภาพคล่อง แต่ปัญหาในตอนนี้คือการมีสภาพคล่องล้นตลาดขณะที่เศรษฐกิจชะลอตัว โดยเรามองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ จะสามารถกลับมาขึ้นดอกเบี้ยได้ในที่สุด (อย่างน้อย 1 ครั้งในปีนี้) แม้โอกาสจะน้อยลงมากก็ตาม
ดังนั้น ศูนย์วิเคราะห์ฯ ยังมีมุมมองเหมือนเดิมว่า ค่าเงินบาทมีแนวโน้มที่จะอ่อนค่าได้มากที่สุดที่ระดับ 36.30 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ภายในช่วงปลายปี 2559 เท่านั้น อย่างไรก็ดี เรายังต้องติดตามปัจจัยเสี่ยงต่อค่าเงินบาททั้งในขาขึ้นและขาลงอย่างใกล้ชิด โดยปัจจัยที่จะส่งผลให้ค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นได้คือการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีนและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่การขึ้นดอกเบี้ยของเฟด การชะลอตัวของเศรษฐกิจไทย และการลดดอกเบี้ยของ กนง. จะเป็นปัจจัยที่ทำให้ค่าเงินบาทอ่อนค่าได้