ThaiPublica > เกาะกระแส > TMB Analytics ประเมินสินค้าส่งออกแนวโน้มดีขึ้นในครึ่งปีหลัง 2563

TMB Analytics ประเมินสินค้าส่งออกแนวโน้มดีขึ้นในครึ่งปีหลัง 2563

24 สิงหาคม 2020


ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) ประเมินทิศทางการส่งออกสินค้าในครึ่งปีหลัง 2563 จะฟื้นตัวจากกลุ่มสินค้าอาหาร อาหารสัตว์ ผักผลไม้ ยารักษาโรคและเครื่องมือแพทย์ เครื่องดื่ม พลังงาน เคมีภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน สินค้าอุปโภค เครื่องจักรกล สินค้าเกษตร ซึ่งมีสัดส่วน 3 ใน 4 ของมูลค่าส่งออกรวม แนะผู้ประกอบการเร่งปรับปรุงมาตรฐานสินค้าไปพร้อมกับเสริมศักยภาพการผลิต หาตลาดใหม่เป็นทางเลือก และแนะภาครัฐใช้โอกาสนี้ช่วยเจรจาเปิดตลาดสินค้า อำนวยความสะดวกทางการค้าและเสาะหาตลาด ช่องทางในการกระจายสินค้าของผู้ประกอบการไทย ช่วยให้การส่งออกฟื้นตัวกลับมาได้อย่างแข็งแกร่ง

ในครึ่งปีแรก 2563 สถานการณ์การส่งออกของไทยที่ไม่รวมสินค้ารายการพิเศษ (ทองและอาวุธ) ลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนถึง 11.9% โดยลดลงมากที่สุดในไตรมาส 2 ถึง 20.9% สาเหตุเกิดจากการระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัวลงต่อเนื่องมาถึงในครึ่งปีหลัง 2563 แม้ว่าสถานการณ์โควิด-19 แนวโน้มจะคลี่คลายในหลายประเทศ แต่ยังมีอีกหลายประเทศที่ต้องต่อสู้กับการระบาดอยู่ ทั้งนี้จากการคาดการณ์ของ IMF เศรษฐกิจโลกปีนี้จะหดตัวลงไป 4.9% แม้ว่าจะมีปัจจัยบวกจากตลาดจีนที่ฟื้นตัวอย่างชัดเจนหลังการระบาดตั้งแต่ไตรมาส 2 เป็นต้นมา แต่การส่งออกไทยครึ่งปีหลัง 2563 ก็ยังมีแนวโน้มชะลอตัวจากปีก่อน

TMB Analytics ทำการวิเคราะห์แนวโน้มการส่งออกสินค้าไทยในช่วงครึ่งปีหลัง 2563 โดยประเมินจากปัจจัยลักษณะสินค้าและทิศทางการฟื้นตัวของอุปสงค์ ซึ่งได้แก่ ความจำเป็นของลักษณะสินค้าบริโภค นโยบายปลดล็อกประเทศในโครงสร้างตลาดส่งออก ภาวะตลาดส่งออกก่อนเกิดการระบาด ฯลฯ ซึ่งจากการประเมินแบ่งการฟื้นตัวของการส่งอออกได้ 3 กลุ่ม ดังนี้

กลุ่มหนึ่ง : สินค้าที่คาดว่าจะเติบโตในช่วงโควิด-19 ได้แก่ อาหาร อาหารสัตว์ ผักผลไม้ ยารักษาโรคและเครื่องมือแพทย์ สินค้ากลุ่มนี้ล้วนเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นต่อผู้บริโภค ส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกี่ยวข้องกับภาคเกษตร เช่น ข้าว อาหารแปรรูป อาหารสำเร็จรูป รวมทั้งอาหารสัตว์เลี้ยง ซึ่งประเทศไทยมีความสามารถในการผลิตเพื่อรองรับความต้องการในตลาดได้อีกมาก รวมทั้งมีปัจจัยหนุนจากกำลังซื้อในตลาดจีนที่ฟื้นตัวแล้ว แม้ว่าจะมีความเสี่ยงจากปัญหาวัตถุดิบที่ถูกกระทบจากภัยแล้งและการแข่งขันสูงในตลาดโลก โดยสินค้ากลุ่มนี้ในครึ่งปีแรก ส่งออกเพิ่มขึ้น 7.5% yoy มีมูลค่าส่งออกรวม 1.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 12.7% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมด

กลุ่มสอง : สินค้าที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงไตรมาสสุดท้ายของปี 2563 ได้แก่ เครื่องดื่ม พลังงาน เคมีภัณฑ์ บรรจุภัณฑ์ เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน สินค้าอุปโภค เครื่องจักรกล สินค้าเกษตร สินค้าในกลุ่มนี้จะได้อานิสงส์จากการฟื้นตัวเศรษฐกิจหลังคลายล็อกดาวน์และการใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ ระดับราคาน้ำมันดิบที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นหลังลดลงมากในช่วงเดือนมีนาคม-

พฤษภาคม ช่วยพยุงในเรื่องของราคาสินค้า โดยสินค้ากลุ่มนี้ในครึ่งปีแรก ส่งออกลดลง -9.2% yoy มีมูลค่าส่งออกรวม 6.3 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 61.8% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมด

กลุ่มสาม : สินค้าที่คาดว่าจะเริ่มฟื้นตัวในช่วงปี 2564 ได้แก่ ยานยนต์และชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์เหล็ก เครื่องแต่งกายและเครื่องประด้บ สินค้ากลุ่มนี้จะฟื้นตัวช้า เนื่องจากกำลังซื้อที่หดหายจากทั่วโลกกระทบต่อสินค้าที่มีความอ่อนไหวต่อรายได้ เป็นสินค้าที่มีต้นทุนสูงกว่าคู่แข่งต่างประเทศทำให้เสียเปรียบและเป็นสินค้าที่มีแนวโน้มถูกผลกระทบจากการกีดกันการค้าทางตรงและทางอ้อมหรือไม่ได้สิทธิประโยชน์ทางการค้า โดยสินค้ากลุ่มนี้ในครึ่งปีแรก ส่งออกลดลง -24.2% yoy มีมูลค่าส่งออกรวม 2.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็น 25.5% ของมูลค่าส่งออกสินค้าทั้งหมด

จากผลการประเมินแนวโน้มสินค้าส่งออกข้างต้น จะเห็นได้ว่าสินค้าส่งออกมีแนวโน้มที่เติบโตและฟื้นตัวในปี 2563 มีสัดส่วนถึง 74.5% หมายถึงว่าผู้ประกอบการไทยมีโอกาสขยายการส่งออกได้ในครึ่งปีหลัง 2563 ทั้งนี้นอกจากผลกระทบของสถานการณ์โควิด-19 แล้ว สถานการณ์การค้าโลกจึงเป็นเรื่องที่ต้องจับตา ไม่ว่าจะเป็นสงครามทางการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน นโยบายการกีดกันทางการค้า การแข่งขันทางด้านราคาที่จะมีมากขึ้น เมื่อระดับการผลิตของแต่ละประเทศกลับมาเหมือนเดิม รวมไปถึงเรื่องอัตราแลกเปลี่ยนที่ผันผวน

ดังนั้น ผู้ประกอบการส่งออกไทยจำเป็นต้องเร่งปรับตัวมากขึ้นเพื่อรักษาตลาด ประคองธุรกิจเพื่อรอการฟื้นตัว เช่น การเสาะหาตลาดใหม่เพื่อลดกระจุกตัวของตลาด การเพิ่มช่องทางการจำหน่ายและกระจายสินค้า การพัฒนาศักยภาพในการผลิต การมีมาตรฐานคุณภาพสินค้าให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลและเพิ่มสินค้าใหม่ตามวิถีชีวิตใหม่ (new normal) และสามารถบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยภาครัฐสามารถมีส่วนช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการมีศักยภาพด้านการตลาดให้มากขึ้น ด้วยการหาช่องทางการกระจายสินค้าเพิ่มเติม การประสานงานและเจรจาการค้าเพื่อเปิดตลาดเพิ่ม และอำนวยความสะดวกทางการค้าให้กับผู้ประกอบการไทย