ThaiPublica > เกาะกระแส > ทอล์คโชว์ “ธรรมดา 32 พิเศษ 100+” (ตอนที่ 3 ) : พ่อผู้ไม่ยอมแพ้ และนักธรุกิจบนวีลแชร์

ทอล์คโชว์ “ธรรมดา 32 พิเศษ 100+” (ตอนที่ 3 ) : พ่อผู้ไม่ยอมแพ้ และนักธรุกิจบนวีลแชร์

3 กุมภาพันธ์ 2016


ธรรมดา 32 พิเศษ 100+

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2559 ณ อาคารไซเบอร์เวิลด์ ทาวเวอร์ ชมรมกีฬาเทเบิลเทนนิสคนพิการไทยได้จัดรายการ “ธรรมดา 32 พิเศษ 100+” ทอล์คโชว์ปลุกฝัน สร้างแรงบันดาลใจ จากเหล่าคนที่มีความพิเศษ กับประสบการณ์ชีวิต การต่อสู้ฝ่าฟัน ด้วยหัวใจเกินร้อย ที่คนธรรมดา 32 ต้องยกนิ้วให้ โดยมีผู้ให้แรงบันดาลใจคือ วิจิตรา ใจอ่อน เด็กสาวที่พิการจากเหตุกราดยิงรถนักเรียน สู่นักกีฬาปิงปองคนพิการมือวางอันดับ 6 ของโลก วันชัย ชัยวุฒิ อีกหนึ่งนักกีฬาเทเบิลเทนนิสที่มุ่งมั่นฝึกซ้อมจนสามารถก้าวสู่อันดับ 10 ของโลกในเวลาไม่ถึงปี ณัฐพร ท้าวศรีสกุล – บุสรี วาแวนิ กับกำลังใจที่พลิกชีวิต สานฝันการเป็นนักกีฬาเทเบิลเทนนิสทีมชาติ ไมตรี คงเรือง หัวหน้าทีมปิงปองคนพิการ ที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้คนพิการตลอดมา พล.ร.ต. ประหยัด เทพธรณี คุณพ่อผู้ไม่ยอมแพ้ วรยุทธ กิจกูล นักธุรกิจวีลแชร์ กฤษณะ ไชยรัตน์ – ศรัณย์ รองเรืองกุล 2 แนวคิดสถาปัตยกรรมเพื่อคนพิการ และ นพ.อรรถฤทธิ์ ศฤงคไพบูลย์ – โค้ชปริญญา นนท์สาเกตุ คน 32 ที่สร้างชีวิตใหม่ให้นักกีฬาพิการได้

ร่างกายไม่ใช่ขีดจำกัดในการเดินตามความฝัน ทีมนักกีฬาเทเบิลเทนนิสคนพิการไทย 6 ชีวิต สามารถผ่านการคัดเลือกและเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกคนพิการ (Paralympic Games) ที่เมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ในเดือนกันยายน 2559 นี้ โดย 2 ใน 6 คือผู้ที่มาทอล์คโชว์สร้างแรงบันดาลใจ ส่งแรงบันดาลใจ และนักกีฬาคนอื่นๆที่มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวการก้าวผ่านช่วงเวลาที่ย่ำแย่ที่สุดของชีวิตให้อีกหลายคนที่ท้อแท้ สิ้นหวัง แม้จะพิการร่างกายแต่หัวใจไม่ได้พิการตามไปด้วย พวกเขามีใจเกิน 100 กับทุกก้าวย่างของตัวเอง ที่บางครั้งคนธรรมดา 32 ยังทำเช่นนั้นไม่ได้

ใน 2 ตอน ที่ผ่านมาได้เล่าถึง 7 มุมมองชีวิต ในตอนนี้มีอีก 2 มุมมองชีวิต เป็นอีกหนึ่งแรงผลักดันที่สร้างโอกาส และอนาคตให้กับคนพิการ คือ พล.ร.ต. ประหยัด เทพธรณี พ่อผู้เข้มแข็ง ที่แม้ใจสลายเมื่อลูกชายต้องพิการจากอุบัติเหตุ แต่เขาได้ต่อสู้เคียงข้างลูกชายจนสามารถก้าวสู่การเป็นนักกีฬาทีมชาติได้ และ นายวรยุทธ กิจกูล นักธุรกิจบนวีลแชร์ ที่ประสบความสำเร็จในหลากหลายธุรกิจ และพนักงานของเขาส่วนหนึ่งเป็นคนพิการ

เพราะครอบครัวคือ พลัง

พล.ร.ต. ประหยัด เริ่มต้นเรื่องราวด้วยความภูมิใจว่า ครอบครัวผมมี 4 คน ผมมีลูก 2 คน ลูกชายคนโตรับราชการทหารตามรอยผู้เป็นพ่อ และลูกชายคนเล็กเมื่อเรียนจบก็สามารถเข้าทำงานในบริษัทที่คิดว่ามีความมั่นคงที่สุดในปี 2540 ปีนั้นบริษัทนี้รับพนักงานเพียง 2 คน นิพนธ์ เทพธรณี เป็น 1 ใน 2 คนที่ได้ทำงานในบริษัทนี้ ครอบครัวเรามีความสุขมาก แต่เขาก็ต้องยอมรับว่าทุกสิ่งทุกอย่างเปลี่ยนไปตามกาล

“วันที่ 6 ธันวาคม 2540 ขณะนั้นผมกำลังเรียนอยู่ที่สถาบันวิชาการทหารเรือชั้นสูง ผมได้รับข่าวว่าขณะที่นิพนธ์เดินคุมงานก่อสร้างของบริษัทดังกล่าวอยู่ มีรถเครนยกเหล็กยาวประมาณ 20 เมตร ขึ้นจากพื้นดิน เมื่อเหล็กถูกยกสูงขึ้นได้แกว่งมาโดนระหว่างศีรษะและกระดูกสันหลังของเขาอย่างแรง และนิพนธ์ก็ล้มลงไป มารู้สึกตัวอีกครั้งที่โรงพยาบาล

วันหนึ่งหลังจากเข้ารักษาพยาบาลได้ 7-8 วัน คุณหมอผู้รักษาบอกกับผมและภรรยาว่าลูกชายคุณไม่มีโอกาสเดินได้อีกแล้ว เนื่องจากการกระแทกอย่างแรงนั้นทำให้ประสาทไขสันหลังเคลื่อน จนเส้นประสาทขาดทั้งหมด ตั้งแต่ราวนมลงไปจนถึงเท้าไม่มีความรู้สึกจนถึงปัจจุบันนี้

เขาเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง คุณหมอบอกอย่างนั้น พอดีนิพนธ์ได้ยินคำพูดของคุณหมอ เขาจึงถามคุณแม่เขาว่าเขาจะไม่มีโอกาสเดินได้อีกแล้วหรือ แม่เขาก็ก้มหน้าน้ำตาไหลไม่มีคำตอบ ผมมองหน้าเขาแล้วผมก็เดินออกไปร้องไห้หน้าห้องคนไข้ ผมรู้ว่าวันนั้นเขาเสียใจมาก”

พล.ร.ต. ประหยัด เทพธรณี
พล.ร.ต. ประหยัด เทพธรณี

พล.ร.ต. ประหยัด กล่าวอย่างเด็ดเดี่ยวในฐานะผู้เป็นพ่อว่า ตนไม่เคยท้อ ไม่เคยหวั่นไหว และไม่เคยบ่นว่าเหนื่อยกับสิ่งที่ทำ แม้สุขภาพร่างกายของลูกชายคนเล็กเปลี่ยนไปไม่เหมือนเดิม และมีปัญหาต่างๆ ที่เขาและคนในครอบครัวที่เหลือต้องเป็นแรงผลักดันให้นิพนธ์ก้าวข้ามปัญหาเหล่านั้นไปให้ได้ โดยใช้ “น้ำมือ น้ำใจ และน้ำคำ”

อันดับแรกคือ “น้ำมือ” เพื่อจะให้เขาเห็นว่า แม้เขาจะเจ็บป่วยอย่างไรก็แล้วแต่ ปัญหาในชีวิตประจำวันตั้งแต่ตื่นเช้าสระผม ล้างหน้าแปรงฟัน ใส่เสื้อผ้า ใส่รองเท้า ต้องมีคนช่วยตลอด และคนช่วยที่เป็นยาแก้อย่างดีที่สุด บุคคลที่ให้ความอบอุ่นแก่เขาดีที่สุดคือคนในครอบครัว

ในครอบครัวผมมี 4 คน เขาพิการไปแล้วก็เหลือ 3 คน ผมบอกคนในครอบครัวเลยว่าทุกคนต้องช่วยกัน และต้องไม่ถือว่าเป็นภาระ แต่เป็นหน้าที่ที่เราจะต้องช่วยเหลือเขา ผมพูดเลยว่าในครอบครัวผมไม่เคยมีใครบ่นว่าถ้าทำเรื่องแบบนี้ให้แก่นิพนธ์แล้วเป็นภาระ ไม่มีเลยครับ ครอบครัวผมทำได้ ทำให้เขาเห็นว่าไม่ว่าเขาจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ ความอบอุ่นในครอบครัวยังมีอยู่เหมือนเดิม เราทำเช่นนั้นมาตลอด

ต่อมาคือ “น้ำคำ” ผมบอกคนในครอบครัวว่านิพนธ์ได้รับอุบัติเหตุจนถึงขั้นพิการในครั้งนี้เขาเจ็บช้ำพอแล้ว เราอย่าไปพูดซ้ำเติมให้เขาต้องช้ำไปอีก มันเป็นเรื่องของสายสัมพันธ์ที่เมื่อมนุษย์ทุกคนเกิดมาแล้วมารู้จักกัน มาอยู่ด้วยกันเป็นครอบครัวเดียวกัน ความสัมพันธ์ต่างๆ นั้นเกิดจากความสัมพันธ์ตั้งแต่เบื้องหลังปางก่อนมาแล้วมาเจอกันในครั้งนี้ เราจะต้องร่วมรับกันไปด้วยกัน ให้เขาเห็นว่าเราทุกคนเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ครอบครัวเรายังเป็นครอบครัวที่รักกัน อบอุ่นเหมือนเดิมทุกอย่าง

และ “น้ำใจ” เพราะจากคนปกติเปลี่ยนมาเป็นคนพิการเขาก็รู้ตัวว่าเขามีปมด้อยอยู่แล้วเพราะฉะนั้นเราจะไม่ให้เขาได้รับปมอีก โดยการที่ครอบครัวเราไปไหนไปด้วยกัน สุดสัปดาห์จะไปเที่ยวที่ไหน เชียงราย ภูเก็ต พวกเราที่มีร่างกายที่ดีไปไหนผมก็พานิพนธ์ไปทุกที่ที่เราสามารถไปเที่ยวได้ เพื่อให้เขาเห็นว่าถึงแม้เขาจะไม่สามารถเดินเองได้ต้องนั่งรถเข็นแต่เขาสามารถไปได้ทุกที่ที่เราสามารถไปถึง คนปกติไปถึงไหนได้เขาก็สามารถไปถึงได้เหมือนกัน เราก็ทำแบบนี้มาตลอด และในเดือนหน้า (กุมภาพันธ์ 2558) เราจะไปประเทศอินเดียด้วยกัน ซึ่งวัตถุประสงค์ที่แท้จริงของผมเป็นเช่นนี้ครับ อินเดียมีคนเยอะ และคนที่ทุกข์ทรมานกว่าเรายังมีอีกเยอะยังอยู่กันได้ เราเป็นแบบนี้ปกติธรรมดา เขาก็สามารถอยู่ได้”

ยอดคุณพ่อผู้นี้กล่าวต่อไปว่า สิ่งสำคัญอีกสิ่งคือการให้นิพนธ์ลูกชายได้ค้นหาตัวเอง ว่าเขาต้องการอะไร และอะไรที่จะทำให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ซึ่งนิพนธ์ก็บอกว่าเขาชอบเรียนคอมพิวเตอร์ ตนจึงสนับสนุนให้เขาไปเรียน เพื่ออีกหนึ่งหนทางให้ลูกชายได้ลบปมในใจ และอยู่ในสังคมได้อย่างปกติ

“มันเป็นปมด้อยของเขาครับ แต่ก่อนเขาเคยเป็นคนปกติ ต่อมาเขากลายเป็นคนพิการเขาไม่กล้าเข้าสังคม ผมทำยังไงครับ ผมเป็นหัวหน้าหน่วยงานมีลูกน้องอยู่ใต้บังคับบัญชาประมาณ 500 คน ตอนเช้า ผมแต่งเครื่องแบบเต็มยศ และเข็นรถเข็นเขาไปยังที่ทำงาน ให้เขาได้เข้าไปสัมผัสกับเจ้าหน้าที่ต่างๆ ทุกแผนกทุกกอง อยู่ตรงนั้นประมาณ 3 ปี สุดท้ายเขาก็สามารถเข้าสู่สังคมได้อย่างปกติ เขาสามารถเข็นรถเข็นไปไหนมาไหนเองได้ เพราะความเคยชินจากที่เคยไปอยู่ในที่ทำงานของผม

หลังจากได้เรียนคอมพิวเตอร์แล้วความเปลี่ยนแปลงในชีวิตของเขาก็เป็นไปในทางบวก เขาได้เป็นครูสอนที่ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาผู้พิการ สอนคอมพิวเตอร์ให้กับผู้พิการด้วยกัน ตรงนี้คือจุดเปลี่ยน”

ธรรมดา 32 พิเศษ 100+

จากที่นิพนธ์เริ่มเข้าสังคมได้ดีขึ้น ได้ทำกิจกรรมร่วมกับคนพิการอื่นๆ นั่นเป็นการเปิดโอกาสให้เขาสัมผัสโลกของกีฬา กระตุ้นให้เขาอยากออกกำลังกาย อยากเล่นกีฬาบ้าง แต่ผลสืบเนื่องจากอุบัติเหตุในครั้งนั้นได้ทำลายเส้นประสาทของนิพนธ์ ทำให้ความดันของเขาต่ำกว่าคนปกติทั่วไป มีอาการเป็นลมอยู่ตลอด และรับรู้สภาพอากาศผิดเพี้ยน อากาศที่คนทั่วไปบอกว่าร้อนนิพนธ์ก็จะบอกว่าเย็น ขณะที่อากาศเย็นเขาจะบอกว่าร้อน ซึ่ง พล.ร.ต. ประหยัด ก็เป็นผู้ที่คอยดูแลช่วยเหลือและให้การสนับสนุนเต็มที่เช่นเดิม โดยเริ่มจากการเล่นเปตอง

“แต่เนื่องจากเขากล้ามเนื้ออ่อนแรง ลูกเปตองหนัก ทำให้เขายกไม่ได้จึงเปลี่ยนมาเล่นแบดมินตัน ก็ไม่ไหวอีก ผลสุดท้าย มูลนิธิที่เขาไปอยู่คือมูลนิธิส่งเสริมและพัฒนาผู้พิการมีรั้วติดกับสมาคมกีฬาคนพิการก็มีสนามเล่นปิงปองนิพนธ์ก็ไปหัดเล่นปิงปอง และก็มีเพื่อนฝูงหลายคนที่เห็นว่าควรจะส่งเสริม เพราะเมื่อไปตรวจร่างกายแล้วเขามีร่างกายอยู่ในระดับที่ต่ำสุด ซึ่งเขาก็เล่นได้เป็นอย่างดี

หลังจากเล่นได้ 6 เดือน เขาได้รับคัดเลือกให้เป็นนักปิงปองทีมชาติไทยให้ไปเก็บตัวอยู่ที่การกีฬาแห่งประเทศไทย ปัญหาที่เกิดขึ้นอีกคือการเดินทางจากที่พักมาถึงสนามซ้อมซึ่งห่างกันประมาณ 1 กิโลเมตร แต่ละวันเขาต้องเข็นรถตัวเองมาที่สนามซ้อมทุกวัน เขาก็เป็นลมบ่อยๆ และในสนามซ้อมก็ร้อนอบอ้าวมากแต่นิพนธ์ก็ใจสู้ เขาซ้อมประมาณ 6 เดือน ผมไปดูแลเขาวันเว้นวัน

หลังจากเก็บตัวเขาก็ได้ไปแข่งขันที่ต่างประเทศ 3 ครั้งเขาก็ติดอันดับ 42 ของโลก และขยับขึ้นมาเป็นอันดับที่ 37 และครั้งสุดท้ายไปแข่งที่สิงคโปร์เมื่อเดือนธันวาคม 2558 มาเขาได้เหรียญทองและเหรียญทองแดง ผมก็ตามไปช่วยเหลือเขาตลอดเวลา คือสภาพร่างกายเขายังเหมือนเดิมไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เพียงแต่มีสมรรถภาพที่ดีขึ้น เป็นลมน้อยลง”

พล.ร.ต. ประหยัด กล่าวถึงลูกชายอย่างภาคภูมิใจว่า “เขาเป็นคนพิการที่อยู่ในระดับต่ำสุดคือระดับ 1 แต่ศักยภาพของเขาสามารถทำให้ธงชาติไทยขึ้นสู่เสาธง ให้คนต่างชาติได้เห็นให้ได้รู้จักเพลงชาติไทย จากเมื่อ 18 ปีที่แล้วเราเศร้า ผมเหนื่อยแต่ผมก็ดีใจ เพื่อนฝูงนักกีฬาก็มีความสุขและเมื่อพวกเรากลับมาถึงประเทศไทย พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ท่านกล่าวว่าท่านภูมิใจที่นักกีฬาคนพิการไปชนะเลิศ เขามีความสุขและทุกคนจะมีความสุขร่วมไปกับเขาด้วยไหมครับ ที่คนพิการของคนไทยแสดงศักยภาพให้คนต่างชาติได้เห็น

แต่กว่าที่พวกเขาจะทำให้ทุกคนมีความสุขได้ต้องมีสิ่งสนับสนุน อันดับแรก คือ ผู้ใกล้ชิด ซึ่งคนในครอบครัวเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะให้กำลังใจเขา ไม่ว่าเขาจะเกิดมาแล้วเป็นคนพิการหรือได้รับความพิการในภายหลัง เขาได้รับความกระทบกระเทือนทางจิตใจสูงอยู่แล้ว เราอย่าไปซ้ำเติมเขา เราควรจะช่วยเหลือเขาต่อไป ขอบคุณชมรมเทเบิลเทนนิสคนพิการไทย ขอบคุณคนไทยทุกคนที่มีน้ำใจทำให้นิพนธ์สามารถลุกขึ้นสู้อย่างมีความภาคภูมิใจ ขอบคุณครับ”

“วรยุทธ” นักธุรกิจบนวีลแชร์

วรยุทธ กิจกูล
วรยุทธ กิจกูล

วรยุทธกล่าวถึงช่วงเวลาที่ชีวิตพลิกผันให้เขาต้องมานั่งวีลแชร์ตลอดชีวิตว่า หลังจากแต่งงานกับภรรยาซึ่งเป็นพยาบาลอยู่ที่โรงพยาบาลศิริราช และเริ่มธุรกิจเคมีเกษตรที่ อ.บ้านแพ้ว จ.สมุทรสาคร เพียง 8 เดือนต่อมา เขาถูกลอบยิง 3 นัด ซึ่งกระสุน 1 นัดถูกเข้าที่กระดูกสันหลังทำให้เขาเป็นอัมพาตครึ่งท่อน เขาเคยหมดหวังในชีวิตจนถึงขั้นคิดสั้น

“ผมเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาลอยู่ปีกว่า ระหว่างที่เข้าไปแรกๆ ยังมีความหวังว่าสักวันหนึ่งเราคงกลับมาเดินได้ปกติ แต่ยิ่งรอก็ยิ่งท้อแท้ ระหว่างที่นอนอยู่โรงพยาบาลก็มีพรรคพวกเพื่อนฝูงมาเยี่ยม ซึ่งเราก็แอบได้ยินคำพูดนึ่งที่ทำให้คิดมาก คือ ‘ถ้าเป็นแบบนี้ ตายเสียดีกว่า’ พอหลังจากรักษาจนโรงพยาบาลเขาไล่ออกเพราะว่าไม่สามารถรักษาให้หายได้ก็กลับมาอยู่ที่บ้าน

พออยู่ที่บ้านก็มีความรู้สึกรันทดใจมาก นอนอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมรอเวลาว่าเมื่อไรจะค่ำ เมื่อไรจะสว่าง ชีวิตไม่มีอะไรเลย ทำให้คิดมาก รู้สึกว่าตัวเองเป็นภาระกับพ่อแม่ ญาติพี่น้อง และภรรยาที่ตัดสินใจลาออกจากงานมาดูแล มาพยาบาลเรา ซึ่งสภาพของคนที่เป็นอัมพาตครึ่งท่อนนั้นสูญเสีย 100% ช่วงครึ่งล่าง ฉะนั้น เรื่องระบบขับถ่าย อุจจาระ ปัสสาวะ ไม่สามารถดูแลตัวเองได้เลยต้องพึ่งภรรยาตลอด พ่อแม่ก็ต้องดูแลให้กำลังใจ ก็มีความคิดว่าอยากจะไปเกิดใหม่ เพื่อภรรยาที่อยู่ในอายุเพียง 26 ปี จะได้มีอนาคตใหม่ และพ่อแม่จะได้หมดภาระ

วันหนึ่งผมได้ตัดสินใจคิดหาวิธีฆ่าตัวตายให้สบายๆ ในวินาทีที่ผมพร้อมแล้ว แต่ผมกลับคิดว่า แล้วถ้าเกิดเราไม่ไปเกิดใหม่ หรือถ้าเกิดมาจริงๆ เราจะเกิดมาครบ 32 หรือเปล่า มันอาจจะแย่กว่านี้ก็ได้ จึงเกิดความคิดว่าจะใช้ร่างกายที่มีอยู่ลองสู้ดูสักตั้ง ว่ามันจะเป็นอย่างไร ให้มีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถดูแลภรรยา สามารถทำให้คุณพ่อคุณแม่ภูมิใจในตัวเรา

หลังจากที่เขาได้สติ เขาเล่าว่า ตัวเองตัดสินใจคิดใหม่ จึงเริ่มหาธุรกิจที่จะทำ โดยเริ่มธุรกิจแรก คือ เปิดร้านตัดผม และตนเองทำหน้าที่เป็นผู้จัดการดูแลร้าน เปิดร้านได้ประมาณ 7 ปี เขาก็ได้เข้าทำงานที่สมาคมคนพิการแห่งประเทศไทย ซึ่งเขากล่าวว่า ที่นั่นเสมือนเป็นประตูทำให้รู้จักการเข้าสังคมรู้จักพบปะผู้คน ทำให้เกิดความคิดที่อยากจะทำธุรกิจเพิ่ม คือ โรงพิมพ์

“สมัยนั้นคนพิการส่วนใหญ่จะแค่ขายลอตเตอรี่ จากความคิดที่จะช่วยเหลือคนพิการผมจึงเปิดโรงพิมพ์คนพิการ ผมมีความคิดว่าเราจะเอาจุดอ่อนที่สุดของเรา ที่เรานั่งวีลแชร์ เป็นจุดแข่งขันในตลาดให้ได้ จากการจุดประกายตรงนั้นผมตัดสินใจโดยหาบริษัทขายเครื่องพิมพ์จากสมุดหน้าเหลือง ซึ่งผมรู้สึกว่าเครื่องพิมพ์ของเยอรมันดีที่สุด ผมก็เรียกพนักงานขายของไฮเดลเบิร์กและโลแลน

เนื่องจากผมไม่รู้อะไรเลย ผมจึงมีเงื่อนไขพ่วงท้ายว่า คนที่ขายเครื่องให้ผมจะต้องหาช่างพิมพ์ให้ผมด้วย และช่างพิมพ์คนนี้จะต้องอยู่ถึง 6 เดือน หากอยู่ไม่ครบผมจะไม่จ่ายเงินค่าเครื่อง หลังจาก 6 เดือนผมจะรับผิดชอบเอง ซึ่งไฮเดลเบิร์กเขาบอกว่าผิดจรรยาบรรณ แต่โลแลนเขาบอกว่าเขาอยากทำ สรุปจึงเลือกโลแลน เป็นเครื่องพิมพ์ตัวแรก อย่างที่ผมบอก ผมต้องใช้จุดอ่อนของผมเป็นจุดแข็ง

การตลาด ณ ตอนนั้นผมสามารถขับรถด้วยตนเองได้ ผมขับรถหาลูกค้า ลูกค้าของผมก็จะเป็นตึกที่มีที่จอดรถมีลิฟต์ให้ขึ้นไปหา ก็จะเป็นบริษัทใหญ่ๆ ลูกค้าที่เราได้มาก็เพราะผมมีจุดอ่อนที่สุดคือจุดแข็ง ก็คือวีลแชร์”

ปัจจุบัน วรยุทธเปิดโรงพิมพ์ ชื่อว่า พรรณีการพิมพ์ มาได้ 20 ปีแล้ว (เริ่ม 2539) มีพนักงานที่เป็นคนพิการทางหู 1 คน พิการทางการเคลื่อนไหว 3 คน เขาผ่านอุปสรรคต่างๆ ด้วยวีลแชร์ของเขาเอง และระหว่างนั้นเขามีโอกาสเล่นเป็นนักกีฬาวีลแชร์เทนนิสไปแข่งที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเมื่อไปที่ญี่ปุ่นทำให้เขาพบว่า คุณภาพชีวิตของคนพิการที่ญี่ปุ่นเมื่อ 18 ปีที่แล้วนั้นดีมาก สามารถใช้ชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป เล่นกีฬาได้อย่างสะดวก

ทำให้เมื่อกลับมาเขาคิดที่จะทำบริษัทที่เกี่ยวกับเรื่องการเคลื่อนไหวของคนพิการและวีลแชร์ จึงตั้งบริษัท สยาม นิชชิน จำกัด ขึ้นเป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้า อุปกรณ์เกี่ยวกับการเคลื่อนไหวสำหรับคนพิการ ของแบรนด์ชั้นนำที่ญี่ปุ่น ยุโรป และไต้หวัน โดยบริษัทดังกล่าวรับคนพิการเข้ามาทำงานถึง 60% มีพนักงานพิการทางการเคลื่อนไหว 12 คน ต่อพนักงานทั้งหมด 20 คน

ทอล์คโชว์ ธรรมดา 32

วรยุทธกล่าวว่า บริษัทของเขาเติบโตอย่างรวดเร็วเพราะมีพนักงานที่เป็นมนุษย์ล้อเป็นฝ่ายการตลาดและแนะนำสินค้า ซึ่งก็เหมือนกับว่าเราใช้คนได้ถูก นั่นทำให้เขาได้ขยายธุรกิจเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก เช่น บริษัท วรนารี จำกัด บริษัท เค.สกรีนไลน์ จำกัด ซึ่งเชื่อมโยงกับพรรณีการพิมพ์ เปิดบริษัท วี.เค.เค. บรรจุภัณฑ์ จำกัด ที่ทำเกี่ยวกับเรื่องบรรจุภัณฑ์อยู่ที่ดำเนินสะดวก และทำรีสอร์ทเล็กๆ ที่ดำเนินสะดวก ชื่อ ดำเนินแคร์ รีสอร์ท

“จากความสำเร็จมากมายที่ผมได้รับ ผมกล้าพูดได้ว่า ส่วนหนึ่งมาจากการเป็นมนุษย์ล้อของผม ส่วนหนึ่งมาจากการที่เรารับเพื่อนผู้พิการเข้ามาทำงาน ทุกบริษัทที่ผมทำ ผมผสมผสานระหว่างคนปกติและคนพิการด้วยกัน ระหว่างนั้นจะมีการพูดว่า ‘คนปกติทำได้ พวกเราก็ต้องทำได้’ เวลาผมพูดกับคนปกติผมจะบอกว่า ‘ดูคนพิการอย่างผมสิ เขาทำได้ คุณทำไมจะทำไม่ได้’ ผมเปรียบเทียบอยู่ตลอดเวลาให้เขาเห็นภาพ เพราะเรามีของจริงแสดงให้เขาดู”

ผมมีพนักงานที่เป็นมนุษย์ล้อทั้งทีม แต่เขาก็สามารถทำงานได้ มนุษย์ล้อเหล่านี้อยูในบริษัท สยาม นิชชิน แต่สามารถทำงานได้ 2 จ๊อบ ทำปรินท์ออนดีมานด์และทำงานขายวีลแชร์ได้ด้วย แม้แต่การควบคุมติดตั้งแพลตฟอร์มลิฟต์ที่เขาใหญ่ คนพิการเป็นผู้ควบคุมโดยนั่งเทคโนโลยีวีลแชร์ที่สามารถยืนได้

ผมมาถึงจุดนี้จะมีคำถามถามผมตลอดเวลาว่า หากผมเป็นคนปกติผมจะมาถึงจุดนี้ไหม ผมตอบโดยไม่ลังเล ว่าไม่ได้ ผมมาถึงจุดนี้ได้เพราะผมมีจุดอ่อนที่สุดของผมคือวีลแชร์ แต่ผมสามารถทำให้เป็นจุดแข็งที่สุดได้ เมื่อผมทำได้คู่แข่งก็ไม่สามารถเลียนแบบเราได้ ไม่สามารถมานั่งวีลแชร์แบบเรา

คนพิการอย่างผมสามารถทำงานจนถึงสว่าง เพราะโรงพิมพ์ของผมทำงาน 2 กะ ทำงาน 24 ชั่วโมง พนักงานของผมทำงานแค่กะกลางวันหรือกลางคืนเท่านั้น แต่ผมควบ 2 กะ ผมยังอยู่ได้เลย แล้วเวลางานเร่งๆ ดูคนพิการทำถึงสว่างเขายังอยู่กันได้ เขามีความอดทนสูงมาก จากการจ้างงานคนพิการ เรายังมีผลประโยชน์ทางทรัพย์ ในแง่ที่เราเป็นเจ้าของกิจการ คนพิการเราทำสิ่งอำนวยความสะดวก เช่น ทางลาด ห้องน้ำ หรือลิฟต์ เราสามารถหักภาษีได้ 2 เท่า ค่าใช้จ่ายเงินเดือนเราสามารถหักภาษีเป็นรายจ่ายใช้สอยได้”

ปัจจุบันภาครัฐพยายามสนับสนุนให้มีการจ้างงานคนพิการในอัตราส่วน 100:1 แต่วรยุทธเริ่มต้นรับคนพิการเข้าทำงานทั้งที่บริษัทของเขามีพนักงานเพียง 80 คน แต่จากทั้งหมดมีพนักงานที่เป็นผู้พิการทางการเคลื่อนไหวถึง 20 คน ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่มาก และเขายืนยันว่าคนพิการที่อยู่กับเขามีคุณภาพชีวิตที่ดี สามารถมีรถขับได้ด้วยตนเอง สามารถมีครอบครัว สามารถส่งเงินเลี้ยงทางบ้านได้

“ในสมัยก่อน ถ้าเราพูดถึงลูก หากเราเกิดมาพิการหรือเกิดอุบัติเหตุพิการทุกคนจะตกใจ พ่อแม่จะตกใจ มีความรู้สึกว่าเป็นภาระต้องเลี้ยงดู แต่ปัจจุบัน ถ้าเราให้โอกาสคนพิการ เขาก็กลับเป็นคนที่เลี้ยงดูพ่อแม่พี่น้องเขาได้ พนักงานที่บริษัททั้งหมดส่งเงินกลับบ้านเลี้ยงดูพ่อแม่ได้ ซึ่งทำให้ผมมีความภูมิใจ และมีความสุขทุกครั้งที่นึกถึง

ถ้านึกถึงตอนที่ผมเป็นคนพิการใหม่ๆ นึกถึงคำพูดที่ว่าเป็นแบบนี้ตายดีกว่า ถ้าผมตัดสินใจตายเมื่อ 28 ปีก่อน ผมคงเสียใจตลอดชีวิต เพราะตอนนี้ผมมีทุกสิ่งทุกอย่าง มีครอบครัวที่น่ารัก ผมสามารถมีลูกได้ด้วยเทคโนโลยี ผมสามารถส่งเขาเรียนนานาชาติได้ และตอนนี้เขากำลังจะได้ไปเรียนต่อที่ต่างประเทศ ภรรยาก็มีหน้าที่ดูแลลูกอย่างดี เราก็พยายามคืนความสุขจากที่แกทุกข์ทรมานมากับเรา

สุดท้ายนี้ผมอยากจะฝากกับทุกท่านว่า ลองให้โอกาสกับคนพิการได้สร้างความเปลี่ยนแปลงของตัวเอง เปลี่ยนองค์กรของท่าน และเปลี่ยนแปลงกับสังคม เมื่อท่านลองให้แล้วท่านจะมีความสุขเหมือนกับที่ผมมีความสุข ขอบคุณครับ”