เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2559 ณ อาคารไซเบอร์เวิลด์ ทาวเวอร์ ชมรมกีฬาเทเบิลเทนนิสคนพิการไทยได้จัดรายการ “ธรรมดา 32 พิเศษ 100+” ทอล์คโชว์ปลุกฝัน สร้างแรงบันดาลใจ จากเหล่าคนที่มีความพิเศษ กับประสบการณ์ชีวิต การต่อสู้ฝ่าฟัน ด้วยหัวใจเกินร้อย ที่คนธรรมดา 32 ต้องยกนิ้วให้ โดยมีผู้ให้แรงบันดาลใจคือ วิจิตรา ใจอ่อน เด็กสาวที่พิการจากเหตุกราดยิงรถนักเรียน สู่นักกีฬาปิงปองคนพิการมือวางอันดับ 6 ของโลก วันชัย ชัยวุฒิ อีกหนึ่งนักกีฬาเทเบิลเทนนิสที่มุ่งมั่นฝึกซ้อมจนสามารถก้าวสู่อันดับ 10 ของโลกในเวลาไม่ถึงปี ณัฐพร ท้าวศรีสกุล – บุสรี วาแวนิ กับกำลังใจที่พลิกชีวิต สานฝันการเป็นนักกีฬาเทเบิลเทนนิสทีมชาติ ไมตรี คงเรือง หัวหน้าทีมปิงปองคนพิการ ที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้คนพิการตลอดมา พล.ร.ต. ประหยัด เทพธรณี คุณพ่อผู้ไม่ยอมแพ้ วรยุทธ กิจกูล นักธุรกิจวีลแชร์ กฤษณะ ไชยรัตน์ – ศรัณย์ รองเรืองกุล 2 แนวคิดสถาปัตยกรรมเพื่อคนพิการ และ นพ.อรรถฤทธิ์ ศฤงคไพบูลย์ – โค้ชปริญญา นนท์สาเกตุ คน 32 ที่สร้างชีวิตใหม่ให้นักกีฬาพิการได้
ร่างกายไม่ใช่ขีดจำกัดในการเดินตามความฝัน ทีมนักกีฬาเทเบิลเทนนิสคนพิการไทย 6 ชีวิต สามารถผ่านการคัดเลือกและเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกคนพิการ (Paralympic Games) ที่เมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ในเดือนกันยายน 2559 นี้ โดย 2 ใน 6 คือผู้ที่มาทอล์คโชว์สร้างแรงบันดาลใจ ส่งแรงบันดาลใจ และนักกีฬาคนอื่นๆที่มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวการก้าวผ่านช่วงเวลาที่ย่ำแย่ที่สุดของชีวิตให้อีกหลายคนที่ท้อแท้ สิ้นหวัง แม้จะพิการร่างกายแต่หัวใจไม่ได้พิการตามไปด้วย พวกเขามีใจเกิน 100 กับทุกก้าวย่างของตัวเอง ที่บางครั้งคนธรรมดา 32 ยังทำเช่นนั้นไม่ได้
ในตอนที่ 3 เป็น 2 แรงบันดาลจากพ่อผู้ไม่ยอมแพ้และนักธุรกิจบนวิลแชร์ ตอนสุดท้ายสำหรับทอล์คโชว์สร้างแรงบันดาลใจ กับ ศรัณย์ รองเรืองกุล และกฤษณะ ไชยรัตน์ 2 มุมมอง 2 แนวคิดด้านสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรกับทุกชีวิต ไม่ว่าจะเด็ก คนเจ็บป่วย ผู้สูงอายุ หรือคนพิการ ก็สามารถดำรงชีวิตได้อย่างสะดวกสบาย
Universal Design ต้องเป็นมิตรกับทุกชีวิต
จากเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 ศรันย์ รองเรืองกุล ต้องเริ่มต้นธุรกิจโรงแรมของครอบครัวใหม่ที่เขาหลัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ซึ่งเขากล่าวว่า ในวิกฤติครั้งนี้ทำให้ตนมีโอกาสฟื้นฟูธุรกิจของครอบครัว ได้ออกแบบโรงแรมใหม่
“Universal Design คำคำนี้ไม่ได้อยู่ดีๆ โผล่ขึ้นมาเพราะว่าผมเป็นสถาปนิก มารู้จักคำนี้เมื่อตอนเริ่มบูรณะโรงแรม ออกแบบใหม่ ก่อสร้างไปแล้วได้ระดับหนึ่ง บังเอิญองค์กรคนพิการสากลเข้าไปทำการสัมนาเพื่อชักจูงให้ผู้ประกอบการบริเวณเขาหลักได้รู้จักคำว่า Universal Design และ Value of Tourism คือ การท่องเที่ยวแบบไร้อุปสรรคสำหรับคนทุกคน
หลังจากที่ได้ฟังสัมนาในครั้งนั้น ในฐานะที่ตัวเองเป็นสถาปนิก ก็เข้าใจว่าจะต้องกลับบ้านไปแก้ไข กลับไปก็นั่งวิเคราะห์แบบตัวเองว่า สิ่งที่เคยทำมาในอดีต กับสิ่งที่เราออกแบบใหม่ กับโรงแรมที่จะสร้างใหม่ มันตอบโจทย์หรือยัง เพราะว่าหลังจากวิเคราะห์ สิ่งที่ได้เห็นเลยคือ ลูกค้า เพราะกลุ่มลูกค้าหลักของเขาหลักก่อนหน้านี้คือกลุ่มสแกนดิเนเวียที่เขามาแบบครอบครัวใหญ่ มาตั้งแต่ลูกเขายังแบเบาะ ซึ่งเขาจะพากลุ่มเด็กกับคุณแม่ ทำให้ต้องพี่งรถเข็นเด็ก นี่เป็นสิ่งแรกที่ผมมองเห็น
และผมได้คีย์เวิร์ดอีกคำหนึ่งคือ อย่าออกแบบให้เป็นแบบโรงพยาบาล เพราะโรงพยาบาลเขามีผู้ช่วยพยาบาล เมื่อไม่สบายไปถึงโรงพยาบาลก็มีคนพร้อมช่วยเราเต็มที่ แต่ในมุมมองปกติ มุมมองนักท่องเที่ยว เขาไม่มีผู้ช่วยมาด้วย วิธีที่ดีที่สุดเลยคือ ออกแบบให้ลูกค้าสามารถช่วยเหลือตนเองได้ในเบื้องต้นให้ได้มากที่สุด หากเขาไปไม่ได้จริงๆ เราจึงเข้าไปช่วยเหลือ นี่คือคำที่ผมได้มา Universal Design และอย่าออกแบบให้เหมือนโรงพยาบาล
ศรัณย์ระบุว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวที่มาเป็นครอบครัวนั้นแบ่งได้เป็น 3 เจเนอเรชัน ตั้งแต่รุ่นปู่ย่า รุ่นพ่อแม่ และเด็กๆ ซึ่งพ่อแม่ของลูกค้าบางรายมีอายุ 80-90 ปี บางคนใช้ไม้เท้า บางคนใช้วอล์กเกอร์ และแบบดั้งเดิมของโรงแรมไม่เอื้ออำนวย ซึ่ง Universal Design ในทางวิชาการมีความหมายกว้างขวางมาก เพราะมันรวมทุกอย่าง จริงๆ แล้วคำว่า Non Handicapping Environment (NHE) เป็นสถานที่ปราศจากการพิการ คือสถานที่ไม่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหว มีความสำคัญมาก
โดยโรงแรมที่ออกแบบใหม่นั้น ทางเดินและทางเชื่อมอาคารใช้ทางลาดเข้ามาแทนบันได โดยเขามองในแง่ที่ว่ารถเข็นต้องไปได้ทั้งหมดตั้งแต่ล็อบบี้ ลานจอดรถ ไปถึงสระว่ายน้ำ ที่สามารถนำรถเข็นลงสระได้ก็ทำเป็นบันไดทางลาดไว้ และมีวีลแชร์สำหรับเปลี่ยนลงสระได้ ทำให้ลูกค้าที่ต้องนั่งรถเข็นสามารถลงเล่นน้ำได้
เขากล่าวต่อไปว่า แม้ตนจะเตรียมโรงแรมให้ เตรียมสถานที่ตัวเองให้สะดวกสบายสำหรับคนพิการแค่ไหน แต่ถ้าภายนอกยังมีขีดจำกัด การท่องเที่ยวแบบไร้อุปสรรคทั้งมวลของประเทศไทยคงเกิดขึ้นไม่ได้ ถ้าออกจากโรงแรมผมแล้วไปเจออุปสรรคบนท้องถนน ทางเท้าไม่ได้มาตรฐาน ออกไปข้างนอกแล้วไม่สามารถเข้าร้านอาหารหรือห้องน้ำภายนอกโรงแรมได้ การท่องเที่ยวแบบไร้อุปสรรคก็ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ เพราะฉะนั้น ปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อมถือว่าเป็นปัญหาใหญ่
“แม้ว่ากฎหมายเกี่ยวกับอาคารที่ต้องเอื้อต่อคนพิการ และคนชราจะมีบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2548 ซึ่งมีบังคับมาแล้ว 10 ปี แต่เนื่องจากกฎหมายไม่บังคับย้อนหลังทำให้อาคารที่สร้างมาก่อนหน้านี้ไม่จำเป็นจะต้องทำ ผมใช้คำว่า ‘ไม่จำเป็น’ นะครับ แต่ว่าจำเป็นหรือไม่ต้องช่วยกันวิเคราะห์ว่า จริงๆ แล้วอาคารสถานที่นั้นจำเป็นแค่ไหน เมื่อเขาไม่ต้องทำจึงมีอาคารสถานที่ในประเทศไทยที่ยังไม่อำนวยความสะดวก การขึ้นลงการเข้าอาคารส่วนใหญ่ยังคงเป็นอุปสรรค
สำหรับการคมนาคมก็มีความสำคัญ หากการคมนาคมไม่สะดวกทั้งหมดตั้งแต่รถ รถไฟ เรือ เครื่องบิน หากไม่สะดวกทั้งหมดการที่จะออกไปหาประสบการณ์ภายนอกก็ลำบาก จึงอยากเชิญชวนบางท่านในฐานะผู้ประกอบการ บางอย่างเราอาจไม่ต้องทำตามกฎหมาย ซึ่งตามจริงๆ แล้วโรงแรมผมไม่ต้องทำก็ได้ เพราะโรงแรมผมสร้างก่อนกฎหมายบังคับใช้ และในการทำห้องพักของโรงแรมผมก็ทำเกินกฎหมาย ซึ่งปกติผู้ประกอบการหรือไม่ก็สถาปนิกจะทำภายใต้กฎหมายเท่านั้น ซึ่งผมคิดว่ากฎหมายนี้ต้องมีการเปลี่ยนแปลง
แล้วเราทำเพื่ออะไร ทำเพื่อให้สังคมได้ใช้ชีวิตร่วมกันทุกระดับโดยไม่มีข้อขัดขวาง ตัวผมเองที่ทำทั้งหมดก็ไม่คิดว่าตัวเองจะได้ใช้ สุดท้ายผมประสบอุบัติเหตุต้องนั่งรถเข็นอยู่ 1 เดือน ใช้ชีวิตอยู่ในโรงแรมตัวเองทำงานได้ตามปกติ หากมีโอกาสก็อยากขอให้ทุกท่านที่มีกำลังพอ ลองทบทวนอาคารสถานที่ของตนเองว่าดีพร้อมหรือยัง”
ไม่มีคนพิการ มีแต่สถานที่ที่พิการ
กฤษณะ ไชยรัตน์ เริ่มต้นแบบติดตลกก่อนเข้าประเด็นโครงการที่เขาสนับสนุนอยู่ว่า หัวข้องานธรรมดา 32 พิเศษ 100+ ผมก็เข้าใจว่าผมก็อยู่กลุ่มหลังกลุ่มพิเศษ 100+ ทั้งที่อยากอยู่กลุ่มแรกมากว่า มี 32 ก็พอแล้ว ไม่ต้องถึง 100+ แต่ชีวิตก็พลิกผันไม่แน่ไม่นอน จากเมื่อก่อน 32 ตอนนี้ก็มาเป็น 100+
จากสภาพร่างกายที่เปลี่ยนไปทำให้เขาเข้าใจวิถีชีวิตของคนพิการมากขึ้น เขากล่าวว่า “เมื่อก่อนไม่เคยสนใจว่าคนที่นั่งวีลแชร์ คนตาบอด คนหูหนวก คนพิการนั้นเขาอยู่อย่างไร เขากินอย่างไร เขาเป็นอย่างไร อย่างมากผมก็เหมือนคนไทยปกติที่เห็นแล้วอดสงสารจนต้องบริจาคทานไม่ได้ ก็ให้เงิน 5 บาท 20 บาทตามอารมณ์ ก็เห็นแบบนั้น กับอีกแบบก็คือขายลอตเตอรี่ คือขายหวย
นี่คือสิ่งที่ผมรับรู้มา 2 อย่าง ผมคิดว่าทุกท่านก็คงจะคล้ายๆ ผม จนวันหนึ่งผมก็ไม่คิดเลยว่าผมจะต้องไปขายหวยแล้วหรือนี่ และคำว่า ‘คนพิการ’ เป็นคำที่รู้สึกแย่มากสำหรับผม เพราะผมรับรู้มาว่ามันหมายถึงการง่อยเปลี้ยเสียขา ช่วยเหลือตัวเองไม่ได้ เป็นภาระคนอื่น ต้องคอยช่วยเหลือบริจาคทาน คอยซื้อหวยเขา ผมเลยรู้สึกแอนตี้คำนี้มาโดยปริยาย
พอวันหนึ่งชีวิตพลิกผันต้องมานั่งวีลแชร์เสียเองผมก็ทำใจอยู่นานพอสมควร ตั้งแต่อยู่โรงพยาบาล ปกติก่อนหน้านั้นเดินได้ ถอยหลังไปก่อนปี 2540 ผมก็ถือว่าสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงใช้ได้ แม้จะผอมไปบ้างแต่ไม่เคยล้มหมอนนอนเสื่อ พอวันหนึ่งต้องมากลายเป็นคนที่เราเคยรู้สึกไม่ดีแล้วหรือนี่
สังกัดที่ผมอยู่ตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันคือสถานีข่าวเนชั่น คุณสุทธิชัย หยุ่น และพี่ๆ บรรณาธิการทั้งหลาย ก็เชียร์ผมมาตลอดให้ออกไปทำรายการตามปกติเลย ผมว่ามีส่วนมากนะที่ทำให้ผมไม่ท้อถอยหรือขาดความมั่นใจมากกว่าที่เป็นอยู่
สมัยก่อนหากไม่จำเป็นคอขาดบาดตายผมจะไม่ไปที่ไหน เพราะผมรู้สึกว่ามันไปลำบากเหลือเกิน มันพิการเหลือเกิน จะหยิบจะจับจะทำอะไรก็ไม่ปกติ มันเป็นภาระคนอื่น เราไม่สบายใจ ไม่สะดวกใจ นอกจากไปที่ทำงาน แต่ด้วยการออกพื้นที่ทำงานก็เป็นตัวบังคับผมกลายๆ ทำให้ผมต้องมาเห็นรับรู้สภาพปัญหาที่ทำให้ผมมารู้ในเวลาต่อมา”
กฤษณะกล่าวว่า เมื่อได้มีการพบปะเพื่อนฝูงที่นั่งวีลแชร์ด้วยกัน และได้ชักชวนกันไปเที่ยวที่ประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นอีกหนึ่งตัวจุดประกายให้เขาริเริ่มโครงการ Friendly Desing เพราะสถานที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นถนนหนทาง อาคาร ทางเท้า เอื้ออำนวยต่อคนทุกสภาวะ ทำให้ได้รับรู้ว่า ที่บอกว่าคนพิการนั้นจริงๆ แล้วถูกทำให้พิการโดยการออกแบบที่พิการ โดยสภาพแวดล้อมที่พิการ “คนพิการไม่มี แต่ที่มีอยู่คือปัญหาสภาพแวดล้อมที่พิการ”
“ร้อยวันพันปีไม่เคยไป เพราะอยู่เมืองไทยก็แทบเอาตัวไม่รอดอยู่แล้ว พอไปแล้วผมก็ไปรับรู้ถึงความแตกต่างราวฟ้ากับเหว ระหว่างประเทศหรือสังคมที่ได้ชื่อว่าเจริญแล้ว พัฒนาแล้ว กับประเทศหรือสังคมที่กำลังพัฒนาหรือด้อยพัฒนา
ที่สนามบินนาริตะ ท่านทราบไหมครับ วินาทีแรกที่ผมสัมผัสคือความแตกต่างระหว่างสังคมที่เรียกกันว่าสังคมที่มีอารยสถาปัตย์กับสังคมที่ขาดแคลนอารยสถาปัตย์ นั่นก็คือเรื่องของการจัดทำสิ่งอำนวยความสะดวกหรือการดูแลคนที่เขามีปัญหาด้านต่างๆ อยู่ประเทศไทย ที่สนามบินดอนเมืองก่อนขึ้นเครื่อง ระหว่างงวงช้างและตัวเครื่องบินจะมีช่องก็ได้รับการช่วยเหลือแบบไทยๆ โดยการช่วยยก หนักๆ ก็ถึงขั้นช่วยอุ้มเลย ผมก็จะชินมาก โดยการเดินทางทางเครื่องบินกับทางที่ต้องมีคนยกซ้ายคน ขวาคน แล้วกางขากางแขน
พอถึงนาริตะ ประเทศญี่ปุ่น อย่างแรก เครื่องบินลำเดียวกันแท้ๆ แต่บริการและความเอาใจใส่ต่างออกไป ของเขาครับ ผู้ช่วยเป็นคนสูงอายุ เพราะญี่ปุ่นเขามีนโยบายส่งเสริมการจ้างงานคนสูงวัยที่มีความสมัครใจและยังแข็งแรง ซึ่งผู้ช่วยคนหนึ่งเป็นผู้หญิงเขาจะซื้อแผ่นพับมาวางระว่างงวงช้างและเครื่องบินให้และเข็นเราไป ผมก็รู้สึก เฮ้ย!!! มีอย่างนี่ด้วยหรือนี่ เราไม่เคยได้รับบริการแบบนี้เลย มีทางลาดแบบนี้ด้วยหรือ เข็นแบบนี้ก็ไม่เห็นยุ่งยาก ไม่ต้องไปไหว้วานใครมายกมาแบกเรา
ผมประทับใจห้องน้ำสำหรับวีลแชร์มาก ผมชอบเหลือเกิน มันรู้ได้อย่างไรว่าเราต้องการแบบนี้ พอกลับมาประเทศเรา เอ็งไม่รู้หรือว่าข้าต้องการแบบไหน นี่คือความแตกต่าง แค่ห้องน้ำอย่างเดียว ที่ญี่ปุ่นบริการประดุจญาติสนิท กดปุ่มปุ๊บมีโหมดประหยัดพลังงาน ไฟสว่าง และมีราวจับสะอาดขาว ดีไซน์สวยงาม นี่คือความประทับใจ และผมก็ไปกับมนุษย์ล้อคนอื่นๆ ถ้าอยู่เมืองไทยจะต้องมีคนช่วยยกแล้ว แต่ที่ญี่ปุ่นก็ไปหลายที่หลายแห่งได้เอง และเห็นอย่างหนึ่งที่ญี่ปุ่น เห็น “เบรลล์บล็อก” (braille block) ทางเดินสำหรับคนตาบอด มีอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่งทุกที่เลยครับ ทำให้ผมรู้ว่าญี่ปุ่นเป็นที่เป็นมิตรมากๆ สำหรับทุกคนเลย โดยเฉพาะคนวีลแชร์ คนแก่ หรือคนพิการ นี่แหละคือการออกแบบของประเทศชาติหรือบ้านเมืองที่เจริญแล้ว พัฒนาแล้ว และเป็นบ้านเมืองหรือสังคมที่มองเลยจากตัวเองออกไป”
สหรับแนวคิด Friendly Design หรือ อารยสถาปัตย์ ที่เขาริเริ่มบุกเบิกเพื่อพัฒนาสภาพแวดล้อมให้เหมาะสมต่อการใช้ชีวิตของทุกชีวิต โดยเฉพาะคนพิการและคนสูงอายุ ว่าเป็นหลักการออกแบบที่เป็นมิตรกับคนทั้งมวล ซึ่งเป็นหลักการเดียวกับ Universal Design ที่ศรัณย์ได้กล่าวถึงไปก่อนหน้านี้
“ผมเองเป็นผู้ที่ผ่านมา 2 ระบบ คือ ระบบเดินได้และเดินไม่ได้ ซึ่งเมื่อก่อนผมไม่เคยคิด แต่พอได้มานั่งเป็นมนุษย์ล้อ ผมเห็นว่าใครมาทำเรื่องนี้เขาคืออารยชนในความหมายของพวกเรา ผมจึงเรียกทุกที่ทุกหนทุกแห่งที่มี ‘ทางลาด’ ไม่ใช่ ’ทางชัน’ นะครับ สมัยนี้สับสน มาบอกผมว่าพี่ผมมีทางลาดต้อนรับพี่เต็มที่เลย แต่โอ้โห ชัน ถามว่าจะให้ตีลังกาหรืออย่างไร ซึ่งมีเยอะมาก
ส่วนผมที่ว่าจะช่วยสังคมให้ดีขึ้นในการออกแบบสภาพแวดล้อมให้ดี ไม่มีความพิการกับปัญหาสภาพแวดล้อมที่ผ่านมา ผมได้มุ่งเน้นที่เยาวชนที่เป็นเมล็ดพันธุ์ ใน 2-3 ปีที่ผ่านจึงได้จับโครงการ ‘ฑูตอารยสถาปัตย์ พบเมล็ดพันธุ์ใหม่’ ก็ไปตามสถานศึกษา ไปตามมหาวิทยาลัย หลายที่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ผมได้ค้นพบอย่างหนึ่งว่าเวลาพูดหรือบรรยายให้เด็กๆ วัยใสฟังนั้นพูดอย่างเดียวไม่ค่อยมีผลเท่าไรนัก ต้องมีการกิจกรรมร่วม ผมก็นึกถึงเพลงจึงได้ทำเพลงทูตอารยสถปัตย์ออกมา
คืนหนึ่งผมได้แต่งเพลงเองโดยรวบรวมประมวลเรียบเรียงว่าเราต้องการจะสื่อถึงอะไรบ้าง Friendly Design หรือที่คนถามผมเรื่อยๆ ในช่วงที่ผมมารณรงค์ว่าอารยสถาปัตย์คืออะไรกันแน่ ก็นำมาเขียนเป็นเนื้อเพลง แล้วนำทำนองต่างๆ มาผสม แล้วส่งให้คนที่มีความสามารถด้านการเรียบเรียงดนตรีไปทำดนตรี จึงออกมาเป็นเพลงส่วนตัวผมเมื่อสักครู่”
กฤษณะกล่าวต่อไปว่า ล่าสุด เมื่อวันที่ 17 มกราคม 2559 ตนไปทำกิจกรรมเริ่มต้นเมืองต้นแบบอารยสถาปัตย์แห่งแรกของประเทศไทย ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ตะวันออกสู่ AEC ติดเมียวดี ฝั่งเมียนมา ใช้ชื่อว่าโตเกียวโมเดล เพราะได้รับแรงบันดาลใจจากโตเกียว โดยมีท่านอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธาน
“เนื่องจากผู้ว่าราชการจังหวัดตื่นตัวเรื่องนี้ และผู้นำท้องถิ่นก็มีความรู้ระดับหนึ่ง ก็พร้อมที่จะช่วยกันร่วมมือกัน ที่สำคัญเครือข่ายผู้สูงอายุและผู้พิการเขาตื่นตัวเรื่องนี้ จึงเลือก อ.แม่สอดเป็นจุดส่งสัญญาณ เริ่มต้นคิกออฟว่าเราจะขับเคลื่อนเดินหน้าประเทศไทยไปสู่เมืองสมัยใหม่แข่งกับสิงคโปร์ ฮ่องกง หรือญี่ปุ่นในอนาคตให้ได้ โดยการพัฒนาปรับปรุงเรื่องของสิ่งอำนวยความสะดวกที่จำเป็นเบื้องต้นสำหรับผู้สูงอายุผู้พิการ ที่ผมเรียกว่า อารยสถาปัตย์
มีการลงนามบันทึกข้อตกลงของ 20 หน่วยงาน และเริ่มต้นแสดงโมเดลนี้ที่จุดบริการน้ำมัน ปตท. ซึ่งทางผู้บริหารก็มีวิสัยทัศน์ชัดเจนในเรื่องนี้ เพราะทั้งจุดบริการมีการปรับเปลี่ยนเพื่อให้เหมาะสมโดยไม่มีขั้นบันได มีห้องน้ำสำหรับคนพิการ ซึ่งผมคิดว่าสิ่งเหล่านี้สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับโรงแรมที่พัก อาคาร ร้านอาหารได้ ทั่วเมืองไทย และจะเป็นการเพิ่มมูลค่าธุรกิจของท่านให้ลูกค่าได้อีกมากมายมหาศาล เพราะคนแก่และคนพิการในอนาคตจะเพิ่มขึ้น
เนื่องจากโลกยุคปัจจุบันและอนาคตจากนี้ไป คนที่จะได้ประโยชน์โดยตรงคือคน 2 กลุ่มนี้ ซึ่งข้อมูลจากสหประชาติบอกว่าตอนนี้ประชากรผู้สูงอายุในโลกมี 10% แล้ว จากคน 7,000 ล้านคน ก็มีผู้สูงอายุประมาณ 700 ล้านคน และยังมีผู้พิการประเภทต่างๆ อีก 10% ก็คืออีก 700 ล้านคน รวมกันก็เป็น 1,400 ล้านคนแล้ว มากกว่าจีนทั้งประเทศ อย่างนี้จะไม่เรียกว่าเราเป็นมหาอำนาจได้อย่างไร ให้เราเปลี่ยนประเทศได้ ให้เป็นอารยสถาปัตย์
ผมเลยบอกว่า จากนี้ไปหากใครทำธุรกิจเกี่ยวกับ Friendly Design หรืออารยสถาปัตย์ หรือใครที่มีเป้าหมายเหมือนกัน ท่านจะมีความก้าวหน้า เติบโต ยกตัวอย่างคุณวรยุทธได้เลยวันนี้ เพราะเขาทำธุรกิจช่วยเหลือคนอื่น แต่ก็เริ่มจากการช่วยเหลือตัวเองก่อน
ก็อยากจะฝากไว้ว่า เรื่องอารยสถาปัตย์ ที่ผมเรียกว่า Friendly Design หมายถึงการออกแบบที่เป็นมิตรกับคนทุกวัยและเพื่อคนทั้งมวล เป็นเรื่องสำคัญต่อประเทศชาติสังคมไทย และในอนาคตจากนี้ไป และจะสำคัญยิ่งขึ้นๆ ซึ่งอยากให้ทุกคนสนับสนุนโดยเริ่มต้นที่ตึก อาคาร หรือธุรกิจของของแต่ละท่าน เพื่อประเทศชาติของเรา และสังคมของเรา ‘Make it Happen for a Better World’”