ThaiPublica > เกาะกระแส > “ธรรมดา 32 พิเศษ 100+” แรงบันดาลใจเกินร้อยจากคน 32 ลบ ร่างกายพิการแต่ใจไม่พิการ (ตอนที่2)

“ธรรมดา 32 พิเศษ 100+” แรงบันดาลใจเกินร้อยจากคน 32 ลบ ร่างกายพิการแต่ใจไม่พิการ (ตอนที่2)

26 มกราคม 2016


นักกีฬาคนพิการปิงปอง

เมื่อวันที่ 23 มกราคม 2559 ณ อาคารไซเบอร์เวิลด์ ทาวเวอร์ ชมรมกีฬาเทเบิลเทนนิสคนพิการไทยได้จัดรายการ “ธรรมดา 32 พิเศษ 100+” ทอล์คโชว์ปลุกฝัน สร้างแรงบันดาลใจ จากเหล่าคนที่มีความพิเศษ กับประสบการณ์ชีวิต การต่อสู้ฝ่าฟัน ด้วยหัวใจเกินร้อย ที่คนธรรมดา 32 ต้องยกนิ้วให้ โดยมีผู้ให้แรงบันดาลใจคือ วิจิตรา ใจอ่อน เด็กสาวที่พิการจากเหตุกราดยิงรถนักเรียน สู่นักกีฬาปิงปองคนพิการมือวางอันดับ 6 ของโลก วันชัย ชัยวุฒิ อีกหนึ่งนักกีฬาเทเบิลเทนนิสที่มุ่งมั่นฝึกซ้อมจนสามารถก้าวสู่อันดับ 10 ของโลกในเวลาไม่ถึงปี ณัฐพร ท้าวศรีสกุล – บุสรี วาแวนิ กับกำลังใจที่พลิกชีวิต สานฝันการเป็นนักกีฬาเทเบิลเทนนิสทีมชาติ ไมตรี คงเรือง หัวหน้าทีมปิงปองคนพิการ ที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้คนพิการตลอดมา พล.ร.ต. ประหยัด เทพธรณี คุณพ่อผู้ไม่ยอมแพ้ วรยุทธ กิจกูล นักธุรกิจวีลแชร์ กฤษณะ ไชยรัตน์ – ศรัณย์ รองเรืองกุล 2 แนวคิดสถาปัตยกรรมเพื่อคนพิการ และ นพ.อรรถฤทธิ์ ศฤงคไพบูลย์ – โค้ชปริญญา นนท์สาเกตุ คน 32 ที่สร้างชีวิตใหม่ให้นักกีฬาพิการได้

ร่างกายไม่ใช่ขีดจำกัดในการเดินตามความฝัน ทีมนักกีฬาเทเบิลเทนนิสคนพิการไทย 6 ชีวิต สามารถผ่านการคัดเลือกและเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกคนพิการ (Paralympic Games) ที่เมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ในเดือนกันยายน 2559 นี้ โดย 2 ใน 6 คือผู้ที่มาทอล์คโชว์สร้างแรงบันดาลใจ ส่งแรงบันดาลใจ และนักกีฬาคนอื่นๆที่มาร่วมถ่ายทอดเรื่องราวการก้าวผ่านช่วงเวลาที่ย่ำแย่ที่สุดของชีวิตให้อีกหลายคนที่ท้อแท้ สิ้นหวัง แม้จะพิการร่างกายแต่หัวใจไม่ได้พิการตามไปด้วย พวกเขามีใจเกิน 100 กับทุกก้าวย่างของตัวเอง ที่บางครั้งคนธรรมดา 32 ยังทำเช่นนั้นไม่ได้

ในตอนที่1ผ่านไปกับ 2 มุมมองชีวิต จากวิจิตรา ใจอ่อน และวันชัย ชัยวุฒิ 2 นักกีฬาเทเบิลเทนนิสคนพิการทีมชาติไทย ที่มาร่วมสร้างแรงบันดาลใจในงานทอล์คโชว์ “ธรรมดา 32 พิเศษ 100+”

ต่อไปเป็นเรื่องราวของ “ณัฐพร ท้าวศรีสกุล – บุสรี วาแวนิ” กับกำลังใจที่พลิกชีวิต สานฝันการเป็นนักกีฬาเทเบิลเทนนิสทีมชาติ และ “ไมตรี คงเรือง” หัวหน้าทีมปิงปองคนพิการ ที่ต่อสู้เรียกร้องสิทธิให้คนพิการตลอดมา

2 พี่น้องต่างที่มา กับแรงบันดาลใจเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่

ณัฐพร ท้าวศรีสกุล นักกีฬาเทเบิลเทนนินคนพิการ
ณัฐพร ท้าวศรีสกุล นักกีฬาเทเบิลเทนนินคนพิการ
บุสรี วาแวนิ เด็กชายผู้เป็นเหยื่อเหตุความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
บุสรี วาแวนิ เด็กชายผู้เป็นเหยื่อเหตุความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

เหตุการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่พลิกชีวิตเด็กอายุ 14 อย่าง บุสรี วาแวนิ ให้เก็บตัวเงียบอยู่ในบ้านนานกว่า 2 ปี ขณะที่อีกฟากหนึ่ง ณัฐพร ท้าวศรีสกุล ที่ทั้งเคยได้รับโอกาสและเคยเกือบจะทิ้งโอกาส เพราะติดยาเสพติด แต่เมื่อคิดได้เขากลับมามีฝันอีกครั้ง มุ่งมั่นที่จะติดทีมชาติ พร้อมกับจูงมือบุสรีออกจากห้องสี่เหลี่ยมเพื่อตามฝันไปด้วยกัน

ณัฐพรกล่าวว่า ตนเองไม่ใช่นักกีฬาที่โด่ดเด่นและโด่งดังเหมือนเพื่อนๆ พี่ๆ นักกีฬาคนอื่น ซึ่งตนก็มีช่วงเวลาที่เลวร้ายและรู้สึกแย่ที่สุดในชีวิต คือ การที่ให้ยาเสพติดเข้ามาในชีวิต

“ตอนนั้นผมอยากลอง เพื่อนชวนผมก็ลอง ผมอยากรู้ว่ายาเสพติดที่ผมเสพมันจะเป็นอย่างไร แล้วผมก็เพลิดเพลิน เคลิ้มไปกับมัน พอยาที่ผมเสพหมด ผมก็ต้องนำเงินไปซื้อ แล้วเงินจากไหนที่จะเอาไปซื้อ ตอนนั้นผมได้เงินจาการขายลอตเตอรี่ โดยได้เงินทุนจากเพื่อน คือ วันชัย ชัยวุฒิ ที่เป็นนักกีฬาด้วยกัน พอผมขายได้ผมก็มีเงินในมือ พอมีเงินในมือผมก็นำเงินไปซื้อยาเสพติด จนไม่ได้คำนึงว่าเงินที่ขายลอตเตอรี่คือเงินทุนและกำไรที่เราต้องใช้จ่าย พอเงินหมดผมก็ไม่มีเงินที่จะคืนเพื่อน

ผมเคยไม่มีเงินแม้แต่จะกินข้าว เพราะติดยา ผมเคยขอข้าววัดกิน ผมเคยคิดที่จะขอทาน แล้วทำไมผมไม่ขอเงินทางบ้าน เพราะผมกลัวทางบ้านรู้ ทุกวันนี้แม่ผมยังไม่รู้ว่าผมเคยใช้ยาเสพติด มันทำให้รู้สึกว่าทำไมชีวิตผมถึงไร้ค่าได้มากขนาดนี้” ณัฐพรกล่าว

ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2555 บุสรีเล่าว่า “วันนั้นผมไปอ่านคัมภีร์อัลกุรอานที่มัสยิดกับเพื่อน พออ่านเสร็จขณะผมเดินไปซื้อขนมกับเพื่อน พอถึงหน้าร้านก็ได้ยินเสียงดัง ปัง!!! ขึ้นมา ก็รู้สึกว่าท่อนล่างของผมไม่มีความรู้สึกเลย รู้สึกว่ามันหายไปเลย”

อาการของเขาเป็นตายเท่ากันจึงถูกส่งตัวมาจากโรงพยาบาลยะลามารักษาตัวที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ที่มีเครื่องมือพร้อมกว่า จากนั้นจึงกลับมาพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลยะลาอีก 2-3 เดือน ก่อนจะต้องรับรู้ว่าตนเองจะไม่สามารถเดินและตามฝันด้วยการเป็นนักฟุตบอลได้อีก

“ทันทีที่รู้ว่าตัวเองต้องมาพิการตลอดชีวิต ตอนนั้นผมรับไม่ได้กับสิ่งที่เกิดขึ้น รับไม่ได้กับที่ตัวเองต้องมาพิการ จะไม่ได้เล่นฟุตบอลตลอดชีวิต เพราะว่าผมรักฟุตบอลเป็นชีวิตจิตใจ ผมเตะฟุตบอลทุกวัน เมื่อก่อนผมมีความฝันอยากจะเป็นนักฟุตบอล แต่ก็ต้องจบความฝันลง ช่วงนั้นผมแย่มาก ผมท้อ ท้อมากๆ

ผมไม่ออกจากบ้านเป็นเวลา 2 ปีกว่า ผมอายที่ผมต้องมาพิการ ผมรู้สึกเหมือนตัวเองไม่มีค่า ผมอยู่แต่ในบ้านเล่นคอมพิวเตอร์ ดูบอล ดูหนัง พยายามหาอะไรทำเพื่อจะไม่ได้คิดถึงความพิการของตัวเอง เมื่อก่อนผมคิดนะครับว่า ผมจะอยู่ในบ้านหลังนี้จนกว่าผมจะสิ้นลมหายใจ” บุสรีกล่าว

สปอตไลท์ฉายลงมาที่ ณัฐพร เขากล่าวว่า สิ่งที่มาเปลี่ยนชีวิตตนคือประสบการณ์ที่ผ่านมา เพราะรู้ว่าจะต้องลำบากถ้ายังเป็นเหมือนเดิม จึงเริ่มต้นที่จะกลับมาตีปิงปองอีกครั้ง

“เพราะผมอยากจะมีชีวิตที่ดีขึ้น อยากจะมีอนาคต อยากจะติดทีมชาติ เพื่อครอบครัว เพื่อสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเอง และให้ทางบ้านรู้ว่าแม้เราพิการเราก็ทำได้ อาจจะได้มากกว่าคนอื่นเสียด้วยซ้ำ แม้วันนี้ตัวผมจะไม่มีเหรียญทอง หรือว่าไม่ได้ติดอันดับโลก แต่ผมก็จะใช้ชีวิตแบบนี้ ตีปิงปอง อยู่กับเพื่อนๆ พี่ๆ ให้มีความสุข” ณัฐพรกล่าว

ด้านบุสรี บอกเล่าจุดเปลี่ยนอีกครั้งของตนว่า มาจาก “โครงการสานฝันฮีโร่” เข้ามารับตัวผู้ประสบเหตุจาก 3 จังหวัดชายแดนใต้ ไปพบกับนักกีฬาเพื่อสร้างแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตที่กรุงเทพฯ

“…ตอนแรกผมบอกพ่อไปว่าผมไม่ไป ผมอาย ผมอายที่จะมีคนมองมาที่ผม แต่พ่อกับแม่ก็พยายามพูดให้ผมไปให้ได้ ผมจำไม่ได้ว่าพ่อพูดอะไรไปบ้าง แต่มันก็ทำให้ผมตัดสินใจไปกรุงเทพฯ พอมากรุงเทพฯ ก็ได้มาลองเล่นกีฬาทั้งยิงธนู ยิงปืน แบตบินตัน และปิงปอง ได้ลองทั้งหมดก็รู้สึกว่าชอบปิงปองมากที่สุด เพราะว่ามันเหมาะกับเรา คิดว่าเราน่าจะเล่นได้ดีที่สุด และได้พบกับพี่ๆ ที่เข้ามาให้กำลังใจ เข้ามาพูดคุยซักถาม และเขาก็ได้ขอเฟซบุ๊กของผมไป

สักพักพี่เขา (ณัฐพร) ก็ได้มาถามว่า ทำไมไม่ใช้รูปโปรไฟล์เป็นรูปตัวเอง ผมก็ตอบพี่เขาไปว่า ผมอายครับพี่ ผมไม่อยากให้ใครมาเห็นผม ตอนนั้นผมใช้โปรไฟล์เป็นรูปของณเดชน์ (คูกิมิยะ, ดารานักแสดง) ซึ่งพี่เขาก็บอกว่า ไม่ต้องอายเราเป็นแบบนี้แล้ว เรากลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้ เราต้องอยู่กับมันให้ได้ แล้วก็ยอมรับในสิ่งที่เราเป็น” บุสรีกล่าว

เมื่อกลับบ้านตนจึงตั้งใจว่าจะทำในสิ่งที่ณัฐพรพูดให้ได้ โดยเริ่มจากการเปลี่ยนรูปโปรไฟล์เป็นรูปตัวเอง ซึ่งได้รับคอมเมนต์ตอบจากณัฐพรว่า “มันต้องอย่างนี้สิไอ้น้อง มันเป็นการเริ่มต้นที่ดี” จากนั้น ทั้งคู่ก็ได้ติดต่อกันมาตลอด โดยณัฐพรได้ให้กำลังใจ ให้คำปรึกษาด้านการเล่นปิงปอง การช่วยเหลือตัวเอง แก่บุสรี

“ตอนนี้ผมก็ช่วยเหลือตัวเองได้เกือบทุกอย่างแล้ว ได้ไปสมัครเรียน และได้ไปซ้อมกีฬาที่สถาบันการพลศึกษา วิทยาเขตยะลา และพี่เขาก็ได้ทำให้ผมมีความฝันว่าจะเป็นนักกีฬาปิงปองทีมชาติเหมือนพี่เขา”

บุสรีกล่าวทิ้งท้ายว่า พี่เขาก็ทำให้ผมเปลี่ยนเป็นคนใหม่ กล้าที่จะออกไปเผชิญกับสังคม ซึ่งเมื่อก่อนผมไม่กล้าแม้แต่จะออกไปหน้าประตูบ้าน แต่ตอนนี้ผมไปไหนมาไหนก็ได้โดยไม่อายใคร ผมต้องขอบคุณพี่ณัฐมากๆ พี่ณัฐได้ให้ชีวิตใหม่ ขอบคุณจริงๆ ครับ

ณัฐพร ท้าวศรีสกุล นักกีฬาเทเบิลเทนนินคนพิการ และบุสรี วาแวนิ เด็กชายผู้เป็นเหยื่อเหตุความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ซ้ายไปขาว)
ณัฐพร ท้าวศรีสกุล นักกีฬาเทเบิลเทนนินคนพิการ และบุสรี วาแวนิ เด็กชายผู้เป็นเหยื่อเหตุความรุนแรงใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ (ซ้ายไปขาว)

ด้านณัฐพรกล่าวว่า “ตัวผมเองก็ไม่คิดว่าจะมอบอะไรให้กับใครได้ ซึ่งตัวผมเองก็รู้สึกดีที่สิ่งที่ผมพูดกับน้องทำให้น้องลุกขึ้นได้ เพราะผมคิดว่าตัวน้องเองทำไมต้องมาอยู่แต่ห้องสี่เหลี่ยมตั้ง 2 ปีกว่า สังคมข้างนอกมันมีอะไรมากมายกว่าห้องสี่เหลี่ยมที่น้องอยู่ ผมดีใจที่น้องสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ เพราะตอนที่น้องมาแม่น้องบอกว่าน้องไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้แม้กระทั่งกินข้าว อาบน้ำ เข้าห้องน้ำ ผมภูมิใจที่ทราบว่าตอนนี้น้องสามารถอาบน้ำเอง กินข้าวเองได้แล้ว และน้องเองก็ออกกำลังกาย มีร่างกายที่แข็งแรง เพราะหากน้องไม่ทำ กีฬาปิงปองต้องใช้แรง ก็อาจเล่นไม่ได้

ผมเคยได้รับโอกาสจากพี่ๆ และเพื่อนๆ ตอนผมมีเวลาที่แย่ ผมก็ยินดีที่ได้เป็นจุดเริ่มต้นให้น้องหรือว่าคนอื่นๆ ที่เป็นแบบน้อง ก็ยินดีที่ได้ให้กำลังใจ อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ ที่พูดออกไป แต่ถ้าทำให้น้องหรือเพื่อนๆ ที่ท้ออยู่ดีขึ้นมาได้ผมก็จะทำ ขอบคุณน้องบีที่ให้ผมเป็นแรงบันดาลใจ และต้องขอขอบคุณเพื่อนๆ พี่ๆ ทุกคนด้วยครับ”

หัวหน้าทีมปิงปองคนพิการ แต่หัวใจไม่เคยพิการ

ไมตรี คงเรือง เริ่มต้นการทอล์กของเขาว่า หากจะย้อนกลับไปเมื่อ 16-17 ปีที่ผ่านมา (ปี 2542) ที่ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันมหกรรมกีฬา “เฟสปิกเกมส์” ตนคิดว่านี่คือจุดสำคัญ ที่เป็นห้วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงมุมมองและทัศนคติของคนในสังคมที่มองมายังคนพิการ

“ก่อนหน้านั้น สังคมหรือคนทั่วไปมองคนพิการด้วยสายตาที่ว่าคนพิการยังไม่มีศักยภาพ คนพิการยังไม่มีความสามารถพอที่จะออกมาอยู่ร่วมในสังคมได้ คนพิการต้องได้รับการสงเคราะห์ ต้องอยู่ที่บ้าน บางครั้งพวกเราออกไปเดินตามท้องถนน สายตาที่สังคมมองมาเป็นสายตาแห่งความสงสารและความเวทนา มันบาดลึก เจ็บลึกถึงขั้วหัวใจเลย

แต่หลังจากการแข่งขันเฟสปิกเกมส์จบไป มีพี่น้องคนพิการจำนวนมากได้ออกมาเล่นกีฬา และออกมาพัฒนาศักยภาพด้านร่างกายและจิตใจ ขณะเดียวกันสังคมก็เริ่มเปลี่ยน สังคมมีมุมมอง และทัศนคติที่เป็นเชิงบวกมากขึ้น โดยมองเรื่องของคนพิการว่าเป็นเรื่องของบุคคลที่จะสามารถพัฒนาศักยภาพได้ มองว่าคนพิการมีความสามารถ และที่สำคัญคือเริ่มมองด้วยสายตาที่ให้โอกาส”

ไมตรีกล่าวว่า ตนได้ใช้โอกาสในช่วงนั้น ที่ตนจบ ม.6 พอดีไปสมัครเรียนต่อที่มหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษม โดยได้รับโควตาพิเศษ คือ โควตานักกีฬาคนพิการ ซึ่งเป็นนิสิตของมหาวิทยาลัยราชภัฏจันทรเกษมคนแรกที่ได้รับโควตานี้

“เขารับผมเป็นนักศึกษา เท่ากับว่าสังคมและมหาวิทยาลัยเริ่มให้โอกาสผมแล้ว สิ่งที่ผมต้องทำคือผมต้องไปเรียนทุกวันแล้วเรียนให้จบ ผมใช้ไม้ค้ำยัน 2 ข้างไปเรียน ขึ้นรถเมล์สาย 104 ที่ห้าแยกปากเกร็ด แล้วต่อรถเมล์สาย 126 ที่แยกเกษตรกว่าจะถึงมหาวิทยาลัย ผมต้องรวบไม้ค้ำยัน 2 ข้างมาไว้ที่มือหนึ่ง หาจังหวะที่รถเมล์มาหยุด ใช้มืออีกมือหนึ่งคว้าราวบันไดเพื่อที่จะโหนตัวเองขึ้นบันไดสูงๆ ของรถเมล์ เป็นรถเมล์สภาพเก่าๆ อ้อ มันไม่ใช่สภาพเก่าหรอกเพราะปัจจุบันเขาก็ยังใช้อยู่เลย มันเป็นอะไรที่ต้องพูดกันต่อไปแม้สัก 100 ปีก็ต้องพูดเรื่องนี้

ผมก็ประสบความสำเร็จเรียนจนจบ เพราะมีโอกาส 2 สิ่งที่สังคมให้พวกเราไว้ชัดเจน และผมคิดว่าเป็นหัวใจหลักของการพัฒนา สิ่งแรก คือ การศึกษา เพราะการศึกษาพัฒนาคน คนพัฒนาชาติ สิ่งนี้ยังใช้ได้เสมอ มีกฎหมายส่งเสริมการศึกษาสำหรับคนพิการให้ได้เรียนฟรีจนจบปริญญาตรี ทำให้มีพี่น้องคนพิการหลายคนได้ออกมาใช้ชีวิต พัฒนาตนเอง สามารถเรียนและพัฒนาความคิด จนสามารถทำงานได้

เรื่องที่สองที่สังคมให้โอกาสกับพวกเราก็คือ เรื่องการจ้างงานคนพิการ ซึ่งปัจจุบันมีกฎหมายจ้างงานคนพิการ โดยให้บริษัท หรือองค์กรต่างๆ ที่มีพนักงาน 100 คน จะต้องรับคนพิการเข้าทำงานอย่างน้อย 1 คน นี่คือสังคมให้โอกาสทางการศึกษาแล้ว สังคมก็ให้ที่ยืนให้เรามีรายได้ ให้เราสามารถที่จะเลี้ยงตัวเองอยู่ได้ในสังคม เมื่อสังคมเริ่มให้โอกาส สังคมมีทิศทางที่ดีขึ้น ก็หันกลับมามองที่คนพิการเอง มองที่พวกเราว่าเรามีการเตรียมตัวอย่างไรที่จะฉกฉวย ที่จะคว้าโอกาสให้ได้”

ไมตรี คงเรือง หัวหน้าทีมปิงปองคนพิการ ผู้ต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิคนพิการในสังคมไทย
ไมตรี คงเรือง หัวหน้าทีมปิงปองคนพิการ ผู้ต่อสู้เรียกร้องเพื่อสิทธิคนพิการในสังคมไทย

อย่างไรก็ตาม วันชัยระบุว่า โอกาสที่ได้รับก็ยังมีข้อจำกัดจากอุปสรรคเรื่องการเดินทางสำหรับคนพิการ ทำให้มีคนพิการอีกจำนวนไม่น้อยที่พยายามจะใช้โอกาสนี้ แต่แค่จะเข็นรถวีลแชร์ออกจากหน้าประตูบ้านก็ไม่รู้ว่าจะเดินทางไปโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัยอย่างไร ซึ่งเรื่องการขนส่งมวลชนและสถาปัตยกรรมที่เป็นมิตรต่อทุกชีวิตคือสิ่งที่เราต้องผลักดันให้เกิดผลต่อไป

เขากล่าวต่อไปว่า สิ่งที่จะทำให้คนพิการอยู่ในสังคมได้อย่างปกติสุข ตามความเห็นของตนเองมี 2 เรื่องที่สำคัญ “เรื่องแรก คือ เราต้องยอมรับในสิ่งที่เราเป็น เราต้องยอมรับว่า ‘เราเป็นคนพิการ’ เรามีบางส่วนของชีวิตใช้ได้ไม่เต็มร้อยเหมือนของคนอื่น ยอมรับเพื่อที่เราจะได้ก้าวผ่าน ไม่ไปจมปลัก หรือยึดติดกับสิ่งเหล่านั้น เมื่อเราก้าวผ่านได้ เราก็จะมองเห็นทางที่จะไปสู่เป้าหมายได้ และอีกประการที่คนพิการต้องเตรียมพร้อม นั่นคือ การเตรียมตัวที่จะอยู่ในสังคม ผมยกตัวอย่างคุณขวด (วันชัย ชัยวุฒิ) เขามีสภาพร่างกายที่แย่กว่าหลายๆ คน แต่เขาไม่ได้มองที่ร่างกายของเขา เขามองข้ามไป เขาตื่นตี 5 ทุกวันเพื่อซ้อมกีฬา เขาทำในสิ่งที่คนอื่นไม่ทำ เขาจึงเป็นมือวางอันดับ 10 ของโลกในปัจจุบันนี้ นั่นเป็นเพราะเขารู้ตัวเองและเรียนรู้ที่จะปรับตัว”

เขาสรุปว่าคนพิการสามารถพัฒนาได้เมื่อได้รับวิธีการที่ถูกต้อง และสามารถที่จะอยู่ร่วมในสังคมได้ หากมองกลับไปเมื่อ 36 ปีที่แล้ว ให้ตนเลือกว่าจะเป็นนายไมตรีที่นั่งรถวีลแชร์แล้วมีวันนี้ กับเป็นนายไมตรีที่เดินได้ เตะฟุตบอลได้ แต่ไม่รู้ว่าอีก 36 ปีถัดมาจะอยู่ส่วนไหนของโลกหรือของประเทศไทย เขากล่าวจากใจว่าตนเลือกเป็นนายไมตรีที่นั่งบนรถวีลแชร์แล้วมีวันนี้และอยู่ตรงนี้ เพราะรู้สึกว่า ตนเองไม่มีปัญหาอะไรในการอยู่ร่วมในสังคม และมีความสุขแล้วที่อยู่ร่วมในสังคม ณ วันนี้

“ฟ้าอาจจะให้บางสิ่งบางอย่างแก่เราไม่ครบ ไม่เต็มร้อยเหมือนคนอื่นเขา แต่ผมเชื่อเหลือเกินว่า ฟ้ายังใจดีที่แอบให้ใจที่เข้มแข็ง เข้มแข็งกว่าปกติ ทำให้เราสามารถอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขได้เช่นกัน พวกเรานักเทเบิลเทนนิสคนพิการทีมชาติไทย เรามารวมกันเป็นกลุ่ม รวมกันเป็นชมรมเทเบิลเทนนิสคนพิการไทย เพราะเรามีจุดมุ่งหมาย เรามีเป้าหมาย เรามีเส้นทางในการเดินที่เหมือนกัน

เมื่อต้นปี 2558 เรามีความฝันว่าต้องการอยากไปพาราลิมปิก ที่เมืองรีโอเดจาเนโร ประเทศบราซิล ในปี 2559 คือเป้าหมายของพวกเราทุกคน เรามารวมกัน เรามีเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าการได้ไปพาราลิมปิก ให้ได้ขึ้นรับเหรียญ แล้วกลับบ้านจบ เราต้องการให้นักกีฬาของเรา ไม่ว่า 1 คน 2 คน หรือหลายคนก็ตาม ได้ขึ้นแท่นรางวัลรับเหรียญที่เมืองรีโอฯ เพื่อเขาจะได้เป็นฮีโร่ ฮีโร่ของเราก็เป็นฮีโร่ของประเทศในคนเดียว เขาต้องเป็นนักกีฬาที่มีวินัย และมีน้ำใจนักกีฬา เอาความเป็นไทยไปสู่สายตานักกีฬาอื่นทั่วโลก

และสำคัญมาก เขาต้องเป็นคนดีของสังคม เขาต้องเป็นคนที่ประสบความสำเร็จ แล้วสร้างคุณค่า สร้างแรงบันดาลใจให้พี่น้องคนพิการ เดินออกมาสู่สังคมอย่างมีความสุข ซึ่งนั่นคือคุณค่าความสำเร็จของพวกเรา และผมคิดว่าก็คงเป็นการคุ้มของหน่วยงานที่ลงทุนสนับสนุนพวกเรา วันนี้พี่น้องคนพิการที่ฟังเราอยู่ในทุกที่ได้เวลาที่เราจะมาร่วมกันสร้างพลังใจให้คนพิการมีจิตใจที่เข้มแข็ง ให้คนพิการมีกำลังกายที่ดีที่จะปรับตัวอยู่ร่วมในสังคม สร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมที่ง่าย (ง่ายต่อการใช้ชีวิต)

ในอดีตคนเคยมองคนพิการเป็นภาระ แต่พวกเราทั้งหมดในวันนี้ เรามาร่วมกันสร้าง ทำปัจจุบัน และก้าวไปในอนาคต สร้างพลังให้คนพิการอย่างแท้จริงครับ ขอบคุณครับ”

ติดตามเรื่องราวบันดาลใจจากอีก 7 มุมมองชีวิตได้ในตอนต่อไป