ThaiPublica > คอลัมน์ > ชาตินิยม VS โลกาภิวัฒน์ …อุดมคติ VS มายาคติ …กรณีการให้เช่าที่ดิน 99 ปี

ชาตินิยม VS โลกาภิวัฒน์ …อุดมคติ VS มายาคติ …กรณีการให้เช่าที่ดิน 99 ปี

2 กุมภาพันธ์ 2016


บรรยง พงษ์พานิช

เวลามีคนพูดว่า “ทรัพย์สมบัติชิ้นสำคัญในประเทศไทย ควรมีเจ้าของสัญชาติไทย ธุรกิจ อุตสาหกรรมสำคัญควรมีผู้ถือหุ้นใหญ่เป็นคนไทย” ก็ดูเหมือนจะเป็นข้อสรุปที่ถูกต้องไปในตัว ใครๆ ก็ดูจะเห็นด้วยไปหมด ถ้าใครจะเห็นแย้งอาจมีคนถามว่า “คนไทยหรือเปล่า?” โดนมองว่าเป็นพวกไม่รักชาติ ไม่รักแผ่นดิน พวกขายชาติ ไปโน่นเลย

จึงไม่น่าแปลกใจเลยว่า ทันทีที่มีการประกาศ จะอนุญาตให้มีการเช่าที่ดินโดยจดทะเบียนผูกพันตามกฎหมายขยายจากเดิมทำได้ 30 ปี เป็น 99 ปี จึงมีเสียงคัดค้านมากมาย โดยกระตุ้นต่อม “รักชาติ” ขึ้นมา หาว่าสิ้นคิด ต้องเอาแผ่นดินถิ่นเกิดไปเร่ขาย

วันนี้ผมจะชวนมาถกกันว่า “ความรักชาติ” อย่างนี้ เป็นอุดมคติหรือมายาคติกันแน่ ในนามแห่งความรักชาติแบบนี้ เป็นประโยชน์ต่อ “ชาติ” (ต้องแปลความหมายของคำนี้ให้ดีนะครับ) โดยส่วนรวมหรือเป็นต้นทุน ใครได้ ใครเสีย

พูดถึงที่ดิน ในทางเศรษฐศาสตร์ ที่ดินนับเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดอันหนึ่งที่ใช้ในการสร้างผลผลิต (มี 5 อย่าง ทุน ที่ดิน แรงงาน เทคโนโลยี และทรัพยากรธรรมชาติ) และหัวใจของเศรษฐศาสตร์ก็คือจะจัดสรรทรัพยากรทั้งหลายอย่างไรจึงจะเกิดผลผลิตที่มากและยั่งยืน รวมทั้งมีการแบ่งสรรผลผลิตที่ได้นั้นอย่างเป็นธรรม (ไม่ได้แปลว่าหารเท่านะครับ) หรือพูดง่ายๆ ก็คือ ทรัพยากรทุกอย่างนั้นควรจะต้องอยู่ในมือของผู้ที่จะเอาไปใช้ให้เกิดประโยชน์ เกิดผลิตผลสูงสุด

แต่แน่นอนครับ คนที่ได้ทรัพยากรไปต้องไม่ได้ประโยชน์จากผลผลิตแต่เพียงผู้เดียว ยังต้องคืนกลับให้ส่วนรวมในรูปต่างๆ เช่น ผ่านระบบภาษี ทั้งภาษีที่อาจเก็บจากการได้มา จากการถือครอง จากการใช้งาน หรือแบ่งจากรายได้ผลกำไร (ภาษีมรดก ภาษีทรัพย์สิน ภาษีโรงเรือน และภาษีเงินได้)

ในระบบทุนนิยมเสรีโลกาภิวัตน์ปัจจุบัน การเปิดกว้าง เปิดเสรีโดยไม่คำนึงถึงสัญชาตินั้นพิสูจน์แล้วว่า สร้างผลิตผลได้มากกว่าการปิดแคบ การป้องกัน (Protectionism) มากนัก ยกตัวอย่างเรื่องทุน แทบทุกประเทศต่างก็แข่งขันเชื้อเชิญส่งเสริมให้มีการลงทุนข้ามชาติกันอย่างสุดๆ (แม้ประเทศเจริญแล้วก็ยังพยายามแย่งทุนจากชาติอื่น) และเจ้า FDI (Foeign Direct Investment) นี่แหละ ที่เป็นตัวกระจายทั้งทรัพยากร ทั้งเทคโนโลยีไปทั่วโลก เป็นเครื่องมือเพิ่มผลผลิต ลดความแตกต่างเหลื่อมล้ำระหว่างประเทศ เป็นปัจจัยที่สำคัญที่สุดปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจโลกหลังสงครามเติบโตต่อเนื่องดีที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษยชาติ เศรษฐกิจโลกช่วง 1950-2000 เติบโตถึงสิบเท่าตัวในอัตราเฉลี่ย 4.7% ต่อปี (ร้อยปีก่อนหน้านั้นโตแค่ 2.5% ต่อปี) ทำให้ถึงแม้โลกจะแออัดเพราะประชากรเพิ่มถึงสามเท่า แต่ก็มีมาตรฐานชีวิตที่ดีขึ้นมากโดยเฉลี่ย (แน่นอนครับ ปัญหาความเหลื่อมล้ำยังคงมีอยู่ ยังคงท้าทายโลกที่ต้องแก้กันต่อไป)

ประวัติศาสตร์สอนเราว่า ประเทศที่เปิดกว้างรับทุน รับเทคโนโลยี ย่อมมีโอกาสที่จะนำพาความเจริญมากกว่า ลองดูตัวอย่างประเทศที่ปิดบ้างสิครับ จีนยุคเหมา (เจ๋อตุง) สามสิบกว่าปี ความเจริญแทบหยุดชะงัก เพิ่งมาพุ่งทะยานเอาหลังจากเติ้ง เสี่ยวผิง เปิดประเทศสมาทานทุนนิยมในปี 1978 มุ่งให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนจน per capita GDP เพิ่มกว่าสี่สิบเท่าตัวใน37 ปีจาก $185 มาเป็น $7,950 ในปัจจุบัน หรืออย่างเพื่อนบ้านใกล้ชิดเรา เช่น พม่า เวียดนาม ลาว เขมร ก็เหมือนกัน ใช้สังคมชาตินิยมไปแค่ไม่ถึงยี่สิบปี (ยกเว้นพม่าสี่สิบห้าปี) ความเจริญทุกอย่างหยุดชะงัก ปล่อยให้พี่ไทยต้วมเตี้ยมแซงไปจนไม่เห็นฝุ่น (ปี 1960 ไทยจนที่สองรองจากลาวในอาเซียนนะครับ ตอนนี้เรารวยสามเท่าเวียดนาม สี่ห้าเท่าลาวเขมร และหกเท่าพม่า)

cover (2)

สำหรับประเทศไทย เราเป็นทุนนิยมแบบลักปิดลักเปิดตลอดมา คือ ไม่เสรีเต็มที่ ยังเป็นระบบพรรคพวกนิยม (Cronyism) อยู่ไม่น้อย แถมยังมีการเอาอุดมคติ (หรือมายาคติ?) “ชาตินิยม” มาใส่เสริม ยกเอาความภูมิใจที่เป็นประเทศอิสสระรอดพ้นลัทธิล่าอาณานิคมมาได้ …ทางหนึ่งก็เชื้อเชิญรับทุน รับเทคโนโลยี จากทั่วโลก แต่อีกข้างหนึ่งก็ยังสงวนหลายสิ่งหลายอย่างไว้ให้แก่ผู้ถือสัญชาติไทย ให้คนไทยยังได้เปรียบในการแข่งขัน ใส่ Handicap ให้ต่างชาติต้องแบกกระสอบทรายวิ่งแข่ง มีข้อห้ามอุปสรรคมากมาย

เรามาลองวิเคราะห์กันหน่อยไหมครับว่า ทัศนคติ “ในนามแห่งความรักชาติ” อย่างนี้ มีประโยชน์หรือโทษมากกว่ากัน ใครได้ ใครเสีย อย่างไร

เวลาที่เราพูดถึงทรัพยากรมูลค่าสูง เช่น ที่ดิน หรือธุรกิจสำคัญที่ต้องใช้เงินลงทุนขนาดใหญ่ เช่น ธนาคาร โทรคมนาคม หรืออุตสาหกรรมขนาดใหญ่อื่นๆ ที่มีข้อสงวนไว้สำหรับคนไทย ต้องถามว่า คนไทยที่มีทุนหนา มีศักยภาพหาทุนขนาดใหญ่มาได้ มี “กี่ตระกูลกันวะ?” การกีดกันธุรกิจพวกนี้จากการต้องแข่งขันกับต่างชาติผู้มีประสิทธิภาพสูงกว่า ก็เลยกลายเป็นการปกป้อง “เศรษฐีไม่กี่ตระกูล” ให้ได้สิทธิพิเศษ มีเกราะวิเศษป้องกันไว้ให้ในนามแห่งความรักชาตินี่เอง แถมถ้าไปดูให้ดี “ไม่กี่ตระกูล” นั้น ส่วนใหญ่ก็เพิ่งจะเป็นคนไทยกันไม่นานมานี่เอง ไม่กี่ชั่วอายุคนนี่แหละ (รวมผมด้วยครับ) และในทางเศรษฐศาสตร์ การไม่ต้องแข่งขันเต็มที่ ย่อมทำให้ได้กำไรมากกว่าที่ควร เกิดกำไรส่วนเกินที่ทำให้ความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้นไปอีก แถมกำไรส่วนเกินนี้ก็ย่อมได้มาจากผู้บริโภคซึ่งก็คือ คนไทยส่วนใหญ่นั่นเอง

ยกตัวอย่างธุรกิจธนาคาร (ที่ผมได้ประโยชน์เต็มที่จากการไม่เปิดเสรี) ถ้าเรายอมให้ธนาคารต่างประเทศแข่งขันได้สมบูรณ์ ไม่ใช่ให้เปิดแต่มีข้อจำกัดมากมายมาตลอด เหมือนให้แบกกระสอบทรายวิ่งแข่ง เราอาจมีต้นทุนการเงินตำ่กว่านี้เยอะ เช่น New Zealand ที่มี NIM (อัตราส่วนต่างระหว่างเงินให้กู้กับเงินฝาก) แค่ 1.5% ขณะที่เรามีอยู่ 4.0% แถมตอนเกิดวิกฤติ พวกสาขาธนาคารต่างประเทศ ก็มี NPL แค่ 18% ขณะที่ธนาคารไทยมีเฉลี่ย 45% จนทำให้สังคมต้องแบกหนี้สาธารณะอยู่ตั้ง 1.5 ล้านล้าน เพื่อแก้ไขไงล่ะครับ เสร็จแล้วธนาคารไทยก็รวยปลิ้น กำไรมหาศาล (จนผมต้องอยากเป็นนายธนาคารด้วยเลย)

ส่วนต่างดอกเบี้ยที่ระบบต้องจ่ายเกินกว่าที่ควรอยู่ 2.5% ต่อปีนั้น จากระบบ 15 ล้านล้าน คิดเป็นเงิน 375,000 ล้านบาทต่อปี เพื่อให้ได้ชื่อว่า “ธนาคารส่วนใหญ่เป็นของคนไทย” ขอถามว่าใครจ่ายครับ ไม่คนฝากได้รับน้อยกว่าที่ควร (ซึ่งทำให้การออมตำ่กว่าที่ควร) คนกู้ก็ต้องจ่ายสูงกว่าที่ควร ซึ่งก็ต้องผลักภาระไปในราคาสินค้าให้ผู้บริโภค (ถ้าเป็น Non-tradables) แต่ถ้าเป็น Tradables (สินค้าที่ import-exportได้) ไม่สามารถผลักภาระราคาได้ ก็ต้องไปกดค่าแรง กดวัตถุดิบ เห็นไหมครับ ต้นทุนปกป้องธนาคารไทยสูงแค่ไหน ใครรับไปบ้าง

แทบทุกอุตสาหกรรม ถ้ามีการระบุว่าผู้ถือหุ้นใหญ่ต้องเป็นคนไทย แต่ถ้าเราไม่มีเทคโนโลยี ไม่มีประสบการณ์ความสามารถ ก็จำเป็นต้องให้ต่างชาติมาเป็นผู้ลงทุนหลัก แต่ต้องมีคนไทยถือหุ้นครึ่งหนึ่ง (ต่างชาติมักมีนอมินีได้เล็กน้อยที่เราทำปิดตามาตลอด) อย่างนี้ก็เท่ากับทำให้คนไทย (บางกลุ่ม) ได้เป็นกาฝาก “Free Rider” กล่าวคือได้โอกาสได้ประโยชน์โดยไม่ต้องมีคุณค่า ทีนี้ ผู้ลงทุนต่างชาติแทนที่จะต้องการผลตอบแทนมาตรฐาน ก็เลยต้องเพิ่มผลตอบแทนของโครงการ (เพราะต้องแบ่งให้กับคนไทย free rider ครึ่งหนึ่ง) เช่น เดิมต้องการ 12% ก็เลยต้องเพิ่มเป็น 20% ซึ่งจะทำอย่างนั้นได้ก็ต้องขายสินค้า บริการ ราคาแพงขึ้น หรือไม่ก็ไปกดค่าจ้าง ค่าแรง ค่าวัตถุดิบท้องถิ่น หรือไม่อย่างนั้น ก็ไม่มีการลงทุน ทั้งๆ ที่โดยลำพังถ้าไม่มี free rider ประเทศไทยมีศักยภาพที่น่าลงทุน

อย่างที่ดินกับอสังหาริมทรัพย์ก็เหมือนกัน ถ้าต่างชาติเข้าซื้อ ถือครอง ผมอยากถามว่ามันจะยกหนีไปไหนได้ ยังไงก็ต้องอยู่ที่นี่ ภายใต้กฎหมายไทย เรายังมี Sovereignty ทุกประการ จะออกกฎเวนคืนยึดคืนก็ยังได้เลย (แต่ต้องคำนึงถึงผลกระทบที่จะตามมาด้วยนะครับ) นี่พอเราห้าม ก็เลยมีนายทุนไทย มีเจ้าสัว ไม่กี่รายคอยกว้านซื้อ ผมนึกไม่ออกว่าบริษัทต่างชาติจะแตกต่างเลวร้ายมากไปกว่าเจ้าสัวทั้งหลายอย่างไร สู้ให้เข้ามาช่วยไล่ซื้อ ชาวบ้านคนขายยังได้ราคาดีขึ้นซะอีก ถ้ากลัวว่าชาวบ้านจะสูญเสียที่ทำกิน ต้องออกมาตรการห้ามอย่างทัดเทียม ไม่ว่าไทยว่าเทศ เหมือนกันหมด ถึงจะได้ผล ไม่งั้นก็หวานคอแร้งท่านเจ้าสัวเท่านั้น

ประโยชน์สำคัญของการเปิดเสรีอีกอย่างก็คือ โอกาสที่คนไทยจะได้ทำงาน เรียนรู้งาน เรียนรู้เทคโนโลยี และได้รับผลตอบแทนในระดับสากล เคยมีงานวิจัยเรื่องการเพิ่ม productivity ในภาคอุตสาหกรรม ก็ชัดเจนว่าปรากโว่า อุตสาหกรรมของต่างชาติในประเทศไทย เพิ่มมากกว่าของคนไทยถึง 4 เท่าตัว

ผลพลอยเสียอีกอย่างหนึ่งของการไม่เปิดเสรี ก็คือ ธรรมดาเงินไม่มีสัญชาติ ย่อมแสวงหาผลตอบแทนที่ดีกว่า แล้วทำให้ทุกอย่างมีดุลยภาพ แต่พอเราไปออกกฎขวางไว้ เลยทำให้ผลตอบแทนในการลงทุนเราสูงกว่าปกติ ซึ่งในที่สุดก็คือต้นทุนเพิ่ม ศักยภาพลด นอกจากนั้น พอเราไปกัน บริษัทต่างชาติที่ดีๆ ก็เลยเข้ามาไม่ได้เพราะเขามี CG ต้องเคารพกฎหมาย แต่ต่างชาติที่ชั่ว ไม่เคารพกฎ เช่น คุณหยิน คุณปิน ย่อมเข้าได้ ในรูปแบบต่างๆ เราเลยกีดกันได้แต่คนดี

ถึงตอนนี้ก็คงไม่ต้องสรุปนะครับ ว่าผมมีความเห็นอย่างไรในการยอมให้มีการเช่าที่ดินระยะยาว โดยสามารถจดทะเบียนเป็นผลผูกพันระยะยาวได้ ความจริงผมคิดว่าเราควรเปิดให้ถือครองได้โดยเสรีเหมือนอย่างประเทศพัฒนาแล้วทั้งหลายเลยด้วยซ้ำ รวมทั้งแก้กฎหมาย พ.ร.บ.ประกอบธุรกิจคนต่างด้าว (ที่ผมเรียกว่า “พ.ร.บ.กีดกันผู้มีประสิทธิภาพ”) ให้เปิดกว้างมากขึ้น สงวนเฉพาะอาชีพที่ควรสงวนจริงๆ รวมทั้งไม่ควรเปิดให้เช่าที่ดินยาวเฉพาะในเขตเศรษฐกิจพิเศษเท่านั้น ถ้าเปิดควรเปิดทั่วไปเลย เพราะชัดแจ้งว่านี่เป็นการเพิ่มมูลค่าให้สินทรัพย์ ถ้าให้มีคนมีอำนาจที่จะขีดว่าที่ไหน บริเวณใด ควรจะได้รับสิทธิมีมูลค่าเพิ่มขึ้น ก็ย่อมยากที่จะทำอย่างเป็นธรรม และจะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการนำอำนาจนั้นไปเป็นสินค้าคอร์รัปชัน

ความจริงในปัจจุบัน การเช่าที่ดินระยะยาวเกินกว่าสามสิบปีนั้นสามารถทำได้อยู่แล้ว แต่มันมีความไม่แน่นอนทางกฎหมาย เพราะไม่สามารถไปจดทะเบียนกับทางการได้เกินกว่า 30 ปี ยกตัวอย่างเช่น ถ้าต้องการเช่าเก้าสิบปี ก็ต้องทำสัญญากันสามช่วง โดยช่วงแรก 30 ปีเอาไปจดทะเบียนบันทึกหลังโฉนดได้ แล้วต้องทำสัญญาระบุว่า เมื่อครบสามสิบปีจะเอาไปจดทะเบียนให้เช่าต่ออีกสามสิบปี และเมื่อครบหกสิบปีก็จะเอาไปจดทะเบียนอีกที แต่การทำอย่างนั้นมันมีความไม่แน่นอนสูง เพราะมันเป็นการผูกพันกันระหว่างคู่สัญญาที่ไม่มีทางการมารับรอง ถ้าคู่สัญญาฝ่ายใดไม่รับผิดชอบ ก็จะต้องไปฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายกันเองไม่ผูกพันบุคคลที่สาม เช่น ถ้าเจ้าของที่ดินเสียชีวิต แล้วทายาทเอาไปขายโอนให้คนอื่น เมื่อครบสามสิบปีผู้เช่าก็จะเสียสิทธิ์เช่า ต้องไปฟ้องร้องเรียกคืนจากเจ้าของเดิมหรือทายาท ซึ่งทำให้เกิดความเสี่ยงความไม่แน่นอน ทำให้ไม่มีใครกล้าจ่ายเงินล่วงหน้าในราคาที่สมควร ทำให้การลงทุนระยะยาวที่ต้องการดำเนินการมากกว่าสามสิบปีไม่เกิด ทำให้ค่าเช่าที่ดินได้น้อยกว่าที่ควร ซึ่งย่อมส่งผลให้มูลค่าทางเศรษฐกิจของทรัพยากรที่ดินลดลงและมีสภาพคล่องตำ่กว่าที่ควร กิจกรรมทางเศรษฐกิจการลงทุนที่ควรเกิดหลายอย่างก็จะหายไปด้วย

ปกติเจ้าของที่ดินนั้นมีทางเลือกเกี่ยวกับที่ดินของตนอยู่ 4 ทางเลือก คือ จะใช้งานเอง จะให้เช่าระยะสั้น จะให้เช่าระยะยาว หรือขายไป (ซึ่งเท่ากับให้เช่าตลอดกาล) การที่เราจำกัดให้เช่าได้แค่สามสิบปีเท่ากับจำกัดลดทางเลือก ลดความยืดหยุ่นในการใช้ทรัพยากรไป ซึ่งก็คือทำให้ทรัพยากรเสื่อมค่าลงนั่นเอง ลองคิดดูว่า ถ้าเจ้าของที่ดินมีความต้องการเงินมากกว่าค่าเช่าสามสิบปีจะให้ได้ เขาก็เลยจำเป็นต้องขายเพราะไม่มีทางเลือกอื่นให้ การยอมให้เช่าที่ดินได้เก้าสิบเก้าปีนั้นเป็นการเพิ่มทางเลือก เพิ่มความยืดหยุ่นเท่านั้น เจ้าของที่เป็นผู้ตัดสินใจในที่สุดอยู่แล้ว จะให้เช่าสามปี สิบปี สามสิบปี ห้าสิบปี เจ็ดสิบปีก็ได้ทั้งนั้น

การที่มีผู้เอาเรื่องเช่าที่ดินนี้ไปเทียบกับการที่อังกฤษเช่าเกาะฮ่องกง กับการที่โปรตุเกศเช่ามาเก๊า ยิ่งเป็น “คนละเรื่องเดียวกัน” เลยทีเดียว เพราะนั่นมันเป็นสัญญาที่ได้สิทธิ์ปกครอง ได้สิทธิ์ออกกฎหมาย ได้ Sovereignty ไปด้วยเลย ไม่ใช่สัญญาเช่าเฉพาะที่ดินอย่างที่เราจะทำ

สรุปว่า ผมเห็นด้วยกับการขยายอายุการเช่าที่ดินที่ดำเนินอยู่ กับอยากเรียกร้องให้เป็นมากกว่านั้นอีกด้วย ไม่ว่าการไม่จำกัดเขตจำกัดบริเวณ ตลอดไปจนเปิดเสรีการถือครองไปเลย รวมทั้งเปิดเสรีการดำเนินธุรกิจอื่นๆ เกือบทั้งหมด และผมก็มั่นใจด้วยว่าเป็นความเห็นที่ยังเต็มไปด้วยความรักชาติรักแผ่นดินครับ

หมายเหตุ: ตีพิมพ์ครั้งแรก เฟซบุ๊ก Banyong Pongpanichวันที่ 31 มกราคม 2559