ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ยุทธศาสตร์ 3 ปี ก.ล.ต. ปรับระบบนิเวศตลาดทุน เตรียมเข้าประเมิน FSAP เน้น “เชื่อถือได้-แข่งขันได้-เข้าถึง”

ยุทธศาสตร์ 3 ปี ก.ล.ต. ปรับระบบนิเวศตลาดทุน เตรียมเข้าประเมิน FSAP เน้น “เชื่อถือได้-แข่งขันได้-เข้าถึง”

16 มกราคม 2016


นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลาง)และ  นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส ก.ล.ต.(ซ้ายสุด)
นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(กลาง)และ นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส ก.ล.ต.(ซ้ายสุด)

เมื่อวันที่ 14 มกราคม 2558 นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวถึงแผนยุทธศาสตร์ของ ก.ล.ต. 3 ปี ตั้งแต่ 2559-2561 ว่า แผนงานในระยะต่อไป ก.ล.ต. มีแนวคิดที่จะเชื่อมโยงผู้เกี่ยวข้องในตลาดทุนเข้าด้วยกัน แบ่งเป็น 1) ผู้ที่เกี่ยวข้องกับการระดมทุน ได้แก่ บริษัทจดทะเบียน (บจ.) ที่ปรึกษาทางการเงิน (Financial Advisor หรือ FA) ผู้สอบบัญชี ผู้บริหาร บจ. นักลงทุน และ 2) ผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดหลักทรัพย์และธุรกิจตัวกลาง ได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET), บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการลงุทน (บลจ.)

โดยยุทธศาสตร์ดังกล่าวมีเป้าหมายหลักเพื่อปรับ “ระบบนิเวศ” ตลาดทุนของไทยให้ 1) เชื่อถือได้และสร้างความมั่นใจ 2) มีประสิทธิภาพและศักยภาพในการแข่งขัน และ 3) สนับสนุนการเข้าถึงการลงทุนของประชาชน รวมถึงการเข้าถึงทุนสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอี

“เป้าหมายของวันนี้คือ อยากมาทำความเข้าใจว่า ก.ล.ต. กำลังเดินไปทิศทางไหน เรามองประเด็นเหล่านี้เป็นอย่างไร แล้วตั้งใจจะดำเนินการจัดการในรูปแบบใด ซึ่งในภาพรวมที่ผ่านมาเราใช้การกำกับดูแลนำค่อนข้างมาก มีประเด็นอะไรขึ้นมา เราจะออกประกาศกฎระเบียบมา ซึ่งพบว่าหลายๆ เรื่องการออกประกาศมากำกับดูแลมันเป็นแค่ส่วนหนึ่ง หลายๆ เรื่องเป็นเรื่องของการสื่อสาร หลายเรื่องเป็นเรื่องของการใช้สิ่งที่เรียกว่า Softer-side Regulation ในการทำความเข้าใจ เชื่อมโยง โน้มน้าวให้ผู้เกี่ยวข้องเข้าใจว่าเราจะเดินด้วยกันได้อย่างไร ซึ่งจะทำให้การกำกับดูแลมีประสิทธิภาพมากกว่า” นายรพีกล่าว

นายรพีอธิบายต่อถึงมาตรการสำคัญของ ก.ล.ต. ว่า ในส่วนของการสร้างความมั่นใจและเชื่อถือได้ ก.ล.ต. จะต้องปรับสมดุลของระบบนิเวศในตลาดทุน โดยต้องตีโจทย์ให้แตกว่าผู้เกี่ยวข้องในแต่ละประเด็นมีใครบ้าง ระบบนิเวศของเขาเหล่านั้นเป็นอย่างไร แล้วจากระบบนิเวศหรือสภาพแวดล้อมของผู้เกี่ยวข้องแบบนี้ ก.ล.ต. จะต้องใช้น้ำหนักของการกำกับดูแลในรูปแบบไหน อย่างไร ถึงจะแก้ไขประเด็นต่างๆ ได้ตรงจุด

ขณะที่การเพิ่มประสิทธิภาพและศักยภาพในการแข่งขัน ประการแรก ก.ล.ต. จะต้องยกระดับกฎเกณฑ์ให้เข้าสู่มาตรฐานสากลมากขึ้น โดยคำนึงถึงต้นทุนของการทำธุรกิจและการคุ้มครองประชาชนไปพร้อมๆ กัน ประการที่สอง จะต้องให้น้ำหนักกับการดำเนินนโยบายในอนุภูมิภาคแม่น้ำโขง (GMS) เพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา ก.ล.ต. ได้ออกระเบียบที่เกี่ยวข้องจนเรียกว่าครบทั้งหมดแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผลิตภัณฑ์ตราสารหนี้ ตราสารทุน กองทุน การจดทะเบียนบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น และประการสุดท้าย จะต้องเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของตัวกลางทางการเงินต่างๆ รวมถึงความหลากหลายของผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน

รับการประเมิน FSAP 2561-2562

นายรพีกล่าวต่อว่าสุดท้าย การเข้าถึงตลาดทุนของประชาชน ประการแรก ก.ล.ต. จะต้องดูแลกองทุนสำหรับเลี้ยงชีพ ซึ่งปัจจุบันมีสมาชิก 2 ล้านคนเศษ สินทรัพย์ 9 แสนล้านบาท และอยู่ในความดูแลของ ก.ล.ต. ในระดับหนึ่ง ให้ตอบโจทย์การลงทุนเพื่อการเกษียณที่เพียงพอ เพื่อรองรับสังคมผู้สูงอายุที่จะเกิดขึ้นในอนาคตอันใกล้ ประการที่สอง จะต้องสนับสนุนการใช้เทคโนโลยีด้านการเงิน หรือ FinTech ที่จะเข้ามาทดแทนตัวกลางทางการเงินมากขึ้นเรื่อยๆ ในปัจจุบัน และประการสุดท้าย คือ หาทางสนับสนุนการเข้าถึงเงินทุนของธุรกิจเอสเอ็มอีผ่านตลาดทุนมากขึ้น เพื่อช่วยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีไม่ต้องพึ่งพาแต่ธนาคารพาณิชย์เพียงแหล่งเดียว

โดยภายในปี 2561-2562 ประเทศไทยจะเข้าสู่การประเมินภาพรวม “ภาคการเงิน” ของไทย หรือ Financial Sector Assessment Program (FSAP) ของธนาคารโลกและกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟ ซึ่งจะประเมินทั้งธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และ ก.ล.ต. โดยจะประเมินทั้งมาตรการหลักเกณฑ์การกำกับดูแล ประกอบกับการดำเนินบังคับใช้หลักเกณฑ์ดังกล่าวว่ามีประสิทธิภาพมากแค่ไหน ซึ่งในกรณีของไทยถ้าสามารถผ่านการประเมินได้ จะมีผลช่วยดึงดูดและสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุนได้อย่างมาก

“ตัว FSAP เป็นเหมือนแรงกดดันของเรา เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สิงคโปร์และมาเลเซีย ต่างได้เข้ารับการประเมินแล้วมีมาตรฐานค่อนข้างดี ดังนั้น การที่ไทยสามารถผ่านการประเมินในระดับเดียวกับประเทศอื่นๆ แสดงว่าภาคการเงินของเรามีมาตรฐานเหมือนประเทศอื่นๆ นะ ตรงนี้จะช่วยดึงดูดนักลงทุนต่างชาติได้ดีขึ้น โดยเฉพาะในภาวะที่เราต้องพึ่งพานักลงทุนต่างชาติมากแบบนี้” นายรพีกล่าว

ยกระดับ “ธรรมาภิบาล-CSR” สู่ทุกกระบวนการ ไม่ทำทีหลัง

สำหรับรายละเอียดของแผนยุทธศาสตร์ด้านการระดมทุน ในส่วนของตัว บจ. หลังจากจดทะเบียน นางวรัชญา ศรีมาจันทร์ ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. ต้องการยกระดับคุณภาพบริษัทจดทะเบียนให้สร้างคุณค่ากิจการให้ยั่งยืน โดยแบ่งเป็น 4 ประเด็น 1) ต้องมีการปฏิบัติต่อผู้ลงทุนอย่างเป็นธรรม ผ่านการปรับปรุงการกำกับดูแลการทำรายการที่เป็นธรรมมากขึ้น เช่น มีเกณฑ์การคำนวณการนับประเด็นต่างๆ ที่ชัดเจนมากขึ้น และผ่านการอำนวยความสะดวกการใช้สิทธิผู้ถือหุ้น เช่น ทำระบบ e-proxy และ e-voting เป็นต้น 2) ผู้ลงทุนต้องมีข้อมูลที่ถูกต้อง เพียงพอ ทันเวลา กับการตัดสินใจลงทุน แบ่งเป็นการพัฒนาคณะกรรมการตรวจสอบ (Auditor Committee) ให้ดีขึ้น, มีการควบคุมบริหารความเสี่ยงจากภายใน และปรับปรุงจำนวนและรูปแบบของการเปิดเผยข้อมูลให้เข้าถึงได้ง่ายขึ้น และ 3) ต้องนำหลักธรรมาภิบาลและ CSR เข้ามาใช้ในทุกกระบวนการของธุรกิจ ต่างจากเดิมที่จะเป็นการจัดทำย้อนหลังหรือไม่ถูกใช้ในทุกกระบวนการ 4) หนุนให้มีแนวปฏิบัติ (Stewardship Code) ของนักลงทุนสถาบันให้คำนึงถึงธรรมาภิบาลของบจ.เมื่อตัดสินใจลงทุนมากขึ้น เพื่อใช้เป็นแรงผลักดันบจ.ให้น้ำหนักกับธรรมภิบาลของบริษัทมากขึ้น

ขณะที่แผนยุทธศาสตร์ด้านการระดมทุน สำหรับผู้เกี่ยวข้องกับ บจ. ก่อนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น FA ผู้สอบบัญชี และผู้บริหาร บจ. นายประกิต บุณยัษฐิติ ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สายระดมทุน ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. ได้วางยุทธศาสตร์ยกระดับในส่วนของ FA ให้เทียบเท่ากับธุรกิจหลักทรัพย์ แบ่งเป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่ 1) สร้างสภาพแวดล้อมและเครื่องมือที่เอื้อต่อการทำ Due Diligence ที่มีคุณภาพ เช่น สร้างการประสานงานระหว่าง FA และผู้สอบบัญชี, จัดการสัมมนาหรือประชุมร่วมกับ ก.ล.ต. ก่อนที่จะเข้ามาจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์, ทบทวนข้อกำหนดและความสัมพันธ์ระหว่าง FA กับธนาคารพาณิชย์ในฐานะ underwriter ไม่ให้ผลประโยชน์ทับซ้อนกัน โดยเฉพาะในกรณีที่บริษัทที่กำลังจดทะเบียนเป็นทั้งลูกหนี้และผู้ได้รับคำแนะนำจาก FA ซึ่งอยู่ในเครือธนาคารเดียวกัน 2) ให้ความสำคัญกับระบบงานของ FA ผ่านมาตรฐานต่างๆ 3) ยกระดับการกำกับดูแล FA ให้เป็นระบบใบอนุญาตต่อไป

ยกระดับคุณภาพข้อมูลทางการเงินก่อนเข้าตลาด

ส่วนบทบาทของผู้สอบบัญชีและผู้บริหาร บจ. ทาง ก.ล.ต. จะให้น้ำหนักกับข้อมูลจากผู้บริหารบริษัทที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็น CEO CFO หรือสมุห์บัญชี มากขึ้น เนื่องจากจะมีความรู้ความเข้าใจในบริษัท ธุรกิจ และสามารถให้ข้อมูลที่มีความถูกต้องกับนักลงทุนได้มากกว่า ต่างจากเดิมที่ในกรณีการจดทะเบียนใหม่ในตลาดหลักทรัพย์ ก.ล.ต. จะเน้นไปที่การตรวจสอบข้อมูลผ่านผู้สอบบัญชีและคณะกรรมการผู้ตรวจสอบมากกว่า ซึ่งอาจจะมีความรู้ความเข้าใจในบริษัทและธุรกิจไม่ดีพอ

ด้านรายละเอียดแผนยุทธศาสตร์ในส่วนที่เกี่ยวกับตลาดหลักทรัพย์และธุรกิจตัวกลาง นางปะราลี สุคนธมาน ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า ในส่วนของตลาดหลักทรัพย์จะแบ่งเป็น 2 ด้าน คือ 1) ยกระดับการกำกับดูแลให้ได้มาตรฐานสากล ผ่านการออกกฎเกณฑ์ให้ได้มาตรฐานตามที่ควรจะเป็น โดย ก.ล.ต. จะใช้การสื่อสารกับสมาชิกร่วมด้วย เพื่อให้มีระยะเวลาตลาดปรับตัว 2) หนุนให้ SET มีศักยภาพเพียงพอที่จะเป็น “ตัวเชื่อม” ของตลาดทุนในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โดยด้านหนึ่งจะเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เกี่ยวข้องภายในประเทศ เพื่อดึงดูดนักลงทุน อีกด้านหนึ่งจะเพิ่มการให้บริการเพื่อการสนับสนุนในระบบงานของประเทศสมาชิกต่างๆ เพื่อให้ตลาดทุนของภูมิภาคเติบโต

ด้านยุทธศาสตร์ของ บล. นางปะราลีกล่าวว่า แบ่งออกเป็น 2 ด้าน 1) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ความหลากหลายของสินค้าและบริการทางเงิน ผ่านการปรับกฎกติกาเกี่ยวกับโครงสร้างใบอนุญาต ทุนจดทะเบียน เกณฑ์การประกอบธุรกิจ ให้ยืดหยุ่นพอรองรับแผนธุรกิจใหม่ๆ ในอนาคตได้, มีการมอบอำนาจแก่ บล. ให้สามารถลงทุนแทนลูกค้าได้ ต่างจากเดิมที่ยังมีข้อจำกัดอยู่ ซึ่งอาจจะไม่ตอบสนองความต้องการของนักลงทุนในปัจจุบัน, สนับสนุนให้มีผู้ให้คำปรึกษาทางการเงินอิสระมากขึ้น เพื่อช่วยเพิ่มข้อมูลคุณภาพในตลาดทุนมากขึ้น

2) จะนำแนวคิดเรื่องการกำกับดูแลกันเอง (Self-Regulation) มาใช้กำกับดูแล เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการกำกับดูแล เนื่องจากการกำกับดูแลกันเองจะมีความยืดหยุ่น รวดเร็ว และทันต่อการเปลี่ยนแปลงมากกว่าการกำกับโดยตรงจาก ก.ล.ต. อย่างไรก็ตาม มิได้หมายความว่าหลักเกณฑ์การกำกับของ ก.ล.ต. จะมีมาตรฐานที่ลดลง เพียงแต่เป็นการสนับสนุนให้ บล. มีส่วนช่วยกำกับดูแลตลาดทุนเบื้องต้นมากขึ้น

พัฒนา “Product Governance” – หนุน บลจ. ช่วยดันธรรมาภิบาลใน บจ.

ด้านแผนยุทธศาสตร์ของธุรกิจจัดการลงทุนหรือ บลจ. นางดวงมน จึงเสถียรทรัพย์ ผู้ช่วยเลขาธิการ ก.ล.ต. กล่าวว่า เนื่องจาก บลจ. จะเน้นขายผลิตภัณฑ์ต่างๆ ผ่านบริษัทในเครือ ดังนั้น ก.ล.ต. จะให้ความสำคัญกับกระบวนการออกแบบผลิตภัณฑ์ลงทุนตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงความรับผิดชอบหลังการขาย แบ่งเป็น 4 ประเด็น 1) พัฒนาผลิตภัณฑ์ให้มีศักยภาพในการแข่งขันและหลากหลายทัดเทียมกับต่างประเทศ โดยต้องเริ่มตั้งแต่กำหนดกลุ่มเป้าหมายให้เหมาะสม, ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ของผู้ลงทุน, มีการทดสอบผลิตภัณฑ์ว่าตอบโจทย์อย่างแท้จริง 2) ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นมาตรฐานเดียวกันและสอดคล้องกับพฤติกรรมของผู้ลงทุน 3) ต้องมีการให้ความรู้แก่ผู้ลงทุน 4) การเสนอขายผลิตภัณฑ์ จะต้องเพิ่มจำนวนผู้ขายที่มีประสบการณ์และความรู้มากขึ้น รวมถึงต้องมีบริการหลังการขาย นอกจากนี้ จะมีการผลักดันให้ บลจ. ในฐานะผู้ลงทุนสถาบันมีส่วนช่วยให้ บจ. มีธรรมาภิบาลมากขึ้น ด้วยการสนับสนุให้ บลจ. ลงทุนในบริษัทที่มีธรรมาภิบาลที่ดี

(อ่านรายละเอียดทั้งหมด)