ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > อัยการแจงเพิ่มค่าปรับคดี “ฟิลลิป มอร์ริส” เลี่ยงภาษีนำเข้าบุหรี่ เป็น 8 หมื่นล้าน – เร่งจับ 4 ผู้บริหารต่างชาติมาขึ้นศาล

อัยการแจงเพิ่มค่าปรับคดี “ฟิลลิป มอร์ริส” เลี่ยงภาษีนำเข้าบุหรี่ เป็น 8 หมื่นล้าน – เร่งจับ 4 ผู้บริหารต่างชาติมาขึ้นศาล

19 มกราคม 2016


(จากซ้ายไปขวา) ประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกอัยการสูงสุด, เรือโท สมนึก เสียงก้อง โฆษกอัยการสูงสุด และนายชาติพงษ์ จีระพีนธุ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ สำนักงานอัยการสูงสุด
(จากซ้ายไปขวา) ประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษกอัยการสูงสุด, เรือโท สมนึก เสียงก้อง โฆษกอัยการสูงสุด และชาติพงษ์ จีระพันธุ รองอธิบดีอัยการสำนักงานคดีพิเศษ

เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2559 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด (อสส.) เรือโท สมนึก เสียงก้อง โฆษก อสส., นายประยุทธ เพชรคุณ รองโฆษก อสส. และนายชาติพงษ์ จีระพันธุ รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ อสส. ร่วมกันแถลงข่าวชี้แจงกรณีที่พนักงานอัยการ สำนักคดีพิเศษ อสส. เดินทางไปยื่นฟ้องบริษัท ฟิลลิป มอร์ริส (ประเทศไทย) จำกัด กับพวก รวม 8 คน กรณีเลี่ยงภาษีนำเข้าบุหรี่ ต่อศาลอาญา เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2559 ที่ผ่านมา

เรือโท สมนึก กล่าวว่า เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2559 อสส. ได้ยื่นฟ้องบริษัทฟิลลิปมอร์ริสฯ กับพวก รวม 8 คน ต่อศาลอาญา ในฐานความผิดร่วมกันเกี่ยวข้องด้วยประการใดๆ ในการหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงค่าภาษีศุลกากร โดยเจตนาที่จะฉ้อค่าภาษีของรัฐบาลตาม พ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2469 มาตรา 27 มาตรา 115 จัตวา, พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 11) พ.ศ. 2490 มาตรา 3, พ.ร.บ.ศุลกากร (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2543 มาตรา 10, ประมวลกฎหมายอาญา หรือ ป.อาญา มาตรา 83 มาตรา 91, พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา (ฉบับที่ 6) พ.ศ. 2526 มาตรา 4 และ พ.ร.บ.ให้บำเหน็จในการปราบปรามผู้กระทำผิด พ.ศ. 2489 มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 6 มาตรา 7 มาตรา 8 มาตรา 9 อันมีอัตราโทษตามกฎหมายศุลกากรให้ปรับเป็นเงินสี่เท่าของราคารวมค่าอากร หรือจำคุกไม่เกินสิบปี หรือทั้งปรับทั้งจำ

เรือโท สมนึก กล่าวว่า คำฟ้องสรุปได้ว่า บริษัทฟิลลิปมอร์ริสฯ กับพวก ได้ร่วมกันนำเข้าในราชอาณาจักรและสำแดงราคาสินค้าประเภทบุหรี่ ยี่ห้อ Marlboro และยี่ห้อ L&M อันเป็นเท็จ เพื่อหลีกเลี่ยงค่าภาษีศุลกากร เหตุเกิดระหว่างเดือนกรกฎาคม 2546 – เดือนมิถุนายน 2549 โดยมีความผิดทั้งสิ้น 272 กระทง รวมราคาของสินค้า (บุหรี่) บวกราคาอากรที่หลีกเลี่ยงเป็นเงินทั้งสิ้น 20,210.20 ล้านบาท

“ศาลอาญามีคำสั่งประทับรับฟ้องและนัดพร้อม วันที่ 25 เมษายน 2559 เวลา 09.00 น. โดยจำเลยที่ 1 บริษัทฟิลลิปมอร์ริสฯ เป็นนิติบุคคลให้ทราบนัด ส่วนจำเลยที่ 2-8 ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาสัญชาติไทย ให้ปล่อยตัวชั่วคราวโดยมีประกัน จำเลยทุกคนแถลงต่อศาลประสงค์จะต่อสู้คดี แต่จะยื่นคำให้การในภายหลัง ทั้งนี้ เหตุที่ อสส. ยื่นฟ้องในวันที่ 18 มกราคม 2559 ทั้งที่เดิมนัดไว้ว่าจะยื่นฟ้องในวันที่ 19 มกราคม 2559 ก็เนื่องมาจากผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมีความพร้อมตรงกัน” โฆษก อสส. กล่าว

ด้านนายชาติพงษ์ ในฐานะผู้รับผิดชอบสำนวนคดีนี้ กล่าวว่า คดีนี้ในชั้นพนักงานสอบสวนของกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) มีผู้ถูกกล่าวหา 14 คน เป็นนิติบุคคล 1 ราย คือ บริษัทฟิลลิปมอร์ริสฯ เป็นบุคคลธรรมดา ที่ไม่ได้มีสัญชาติไทย 4 คน ซึ่งเป็นผู้บริหารของบริษัทฟิลลิปมอร์ริสฯ และบุคคลธรรมดา สัญชาติไทย อีก 9 คน ซึ่งเป็นลูกจ้างของบริษัทฟิลลิปมอร์ริสฯ

“แต่ อสส. สามารถนำตัวมาส่งฟ้องต่อศาลอาญาได้เพียง 8 คน คือบริษัทฟิลลิปมอร์ริสฯ และลูกจ้างชาวไทยอีก 7 รายเท่านั้น เพราะผู้บริหารชาวต่างชาติทั้ง 4 คน ไม่เคยมาแสดงตัวตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวนของดีเอสไอ ขณะนี้มีการออกหมายจับให้จับกุมตัวมาดำเนินคดี ขณะที่ลูกจ้างชาวไทยอีก 2 คน มี 1 คนเสียชีวิตไปแล้ว และอีก 1 คนคดีหมดอายุความ แต่ถึงจะไม่ได้ตัวผู้บริหารชาวต่างชาติของบริษัทฟิลลิปมอร์ริสฯ ทาง อสส. ก็ยังเชื่อว่า พยานหลักฐานในคดีก็ยังมีเพียงพอที่จะลงโทษผู้กระทำผิดได้” นายชาติพงษ์กล่าว

นายชาติพงษ์กล่าวว่า คดีนี้ นายจุลสิงห์ วสันตสิงห์ สมัยเป็น อสส. ได้มีความเห็นสั่งฟ้องไปตั้งแต่ปี 2556 หลังจากพนักงานอัยการในสำนักคดีพิเศษ อสส. มีความเห็นไม่ส่งฟ้อง ซึ่งแย้งกับความเห็นกับพนักงานสอบสวนของดีเอสไอ จนนายธาริต เพ็งดิษฐ์ อธิบดีดีเอสไอขณะนั้นยื่นหนังสือคัดค้าน และนายจุลสิงห์ต้องมาลงวินิจฉัยเพื่อยุติข้อขัดแย้ง ซึ่งเป็นไปตามกฎหมาย

“แต่เหตุที่ใช้เวลาดำเนินการถึง 3 ปี กว่าจะส่งฟ้องต่อศาลได้ เพราะต้องมีการปรับปรุงตัวเลขค่าปรับใหม่ ทำให้ตัวเลขเพิ่มขึ้นจากเดิม 6.8 หมื่นล้านบาท เป็น 8 หมื่นล้านบาท โดยเป้าหมายของคดีนี้คือการเรียกค่าปรับมากกว่าจำคุกจำเลย ซึ่งหากจำเลยต่อสู้ และศาลพบว่ามีความผิดจริง ก็จะปรับเต็มจำนวน แต่ถ้าจำเลยรับสารภาพหรือให้การเป็นประโยชน์ ก็อาจจะลดโทษลง เช่น ลดโทษหนึ่งในสาม” นายชาติพงษ์กล่าว

เมื่อถามว่าจะสามารถใช้กฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนเพื่อนำตัวผู้บริหารบริษัทฟิลลิปมอร์ริสฯ ทั้ง 4 คน ที่ยังหลบหนีอยู่มาดำเนินคดีได้หรือไม่ นายชาติพงษ์กล่าวว่า คงเป็นเรื่องยาก เพราะการใช้กฎหมายส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดนมีองค์ประกอบมาก คือต้องรู้ถิ่นพำนักของบุคคลดังกล่าวก่อน จากนั้นให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ช่วยประสาน และต้องพิจารณาจากเงื่อนไขอย่างน้อย 3 เงื่อนไข คือ 1. ฐานความผิดระหว่างสองประเทศต้องตรงกัน 2. ไม่เป็นคดีที่มีมูลเหตุจูงใจทางการเมือง และ 3. หากเป็นการขอให้ประเทศนั้นๆ ส่งตัวพลเมืองของประเทศตัวเองมาให้ ก็ยากที่จะได้รับการตอบสนอง

เมื่อถามถึงอายุความคดีนี้ นายชาติพงษ์กล่าวว่า คดีนี้มีอัตราโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ซึ่งตาม ป.อาญา อายุความจะอยู่ที่ 15 ปี หมายความว่าคดีจะเริ่มหมดอายุความตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2561 – เดือนมิถุนายน 2564 แต่ทั้งนี้ ไม่รวมถึงจำเลยทั้ง 8 คนที่ส่งฟ้องไปแล้ว เพราะจะถูกหยุดนับอายุความตามกฎหมาย