ThaiPublica > เกาะกระแส > กิจกรรมเขียนจดหมายรัก(ษ์)สิทธิ “Write For Rights” กำลังใจเพื่อการเปลี่ยนแปลงของผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน “พวกเขาไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง”

กิจกรรมเขียนจดหมายรัก(ษ์)สิทธิ “Write For Rights” กำลังใจเพื่อการเปลี่ยนแปลงของผู้ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน “พวกเขาไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง”

13 ธันวาคม 2015


write4rights02

ในช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนลในประเทศต่างๆ ทั่วโลกได้จัดกิจกรรม “เขียนจดหมายรัก(ษ์)สิทธิ” หรือ “Write For Rights” ขึ้น ซึ่งเป็นโครงการรณรงค์ในช่วงระยะเวลาสองสัปดาห์ โดยมีผู้คนกว่าแสนคนจากหลากหลายประเทศมารวมตัวกัน เพื่อเขียนและส่งจดหมายให้กับบุคคลและชุมชนที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน ทั้งๆ ที่พวกเขาเหล่านั้นไม่เคยรู้จักกันและไม่เคยพบเจอกันมาก่อน รวมถึงส่งจดหมาย อีเมล เอสเอ็มเอส แฟกซ์ โพสข้อความทวีตเตอร์ ฯลฯ เพื่อเรียกร้องและแสดงความไม่พอใจต่อรัฐบาลและผู้มีอำนาจที่กระทำการละเมิดสิทธิมนุษยชน สำหรับปีนี้ได้จัดขึ้นพร้อมกันทั่วโลกในช่วงสัปดาห์สิทธิมนุษยชน ระหว่างวันที่ 4-17 ธันวาคม 2558

ในปี 2557 ที่ผ่านมา กิจกรรมเขียนจดหมายรัก(ษ์)สิทธิจากทั่วโลกถือเป็นการสร้างสถิติใหม่ของกิจกรรมรณรงค์นี้ เพราะพลังจากปลายปากกาของคนธรรมดาในกว่า 200 ประเทศและดินแดน ได้มีข้อความจำนวน 3,245,565 ข้อความถูกส่งออกไปเพื่อร่วมรณรงค์เรียกร้องความยุติธรรมและช่วยเหลือผู้เสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศต่างๆ

นางสาวพรเพ็ญ คงขจรเกียรติ กรรมการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทยกล่าวว่า กิจกรรมเขียนจดหมายรัก(ษ์)สิทธิเป็นกิจกรรมสำคัญที่สะท้อนอัตลักษณ์ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล กล่าวคือการที่บุคคลต่าง ๆ ช่วยเหลือกันและกัน ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม เป็นกิจกรรมที่โดดเด่นและพิเศษ ทำให้คนหลายล้านคนร่วมมือกันทำงานเพื่อให้เกิดความยุติธรรมแก่ผู้ชาย ผู้หญิง และเด็กทั่วโลก

“โครงการรณรงค์ครั้งนี้เป็นการแสดงออกที่ยิ่งใหญ่ของพลังการประท้วงอย่างสงบ ถ้ามีคนพูดเพียงเสียงเดียวอาจถูกทำให้เงียบ แต่ถ้าพูดพร้อมกันหลายพันเสียงน่าจะมีคนได้ยิน”

กิจกรรมเขียนจดหมายรัก(ษ์)สิทธิ เปิดตัวเป็นครั้งแรกเมื่อ 12 ปีที่แล้ว ที่ประเทศโปแลนด์ เมื่อปี 2546 ส่งผลให้นักกิจกรรมจำนวนมากที่เป็นเป้าหมายการรณรงค์ได้รับการปล่อยตัวจากเรือนจำ และอีกหลายคนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ทั้งยังเป็นเหตุให้มีการสอบสวนหลายสิบกรณีที่เป็นการควบคุมตัวโดยพลการและไม่เป็นธรรม หรือเป็นการทรมานและการปฏิบัติมิชอบด้านสิทธิมนุษยชน

ในปี 2558 นักกิจกรรมจากประเทศไทยและทุกมุมโลกจะร่วมกันลงชื่อในจดหมายประท้วงออนไลน์ เขียนจดหมาย จัดกิจกรรม และทวีตข้อความแสดงข้อเรียกร้องต่าง ๆ เช่น

•ร่วมเรียกร้องเสรีภาพให้ “เพียว เพียว อ่อง” และเพื่อนนักศึกษาเมียนมาอีกกว่า 70 คนที่ติดคุกมานาน 9 เดือน จากการประท้วงอย่างสงบเพื่อเรียกร้องเสรีภาพทางวิชาการในประเทศ

•ร่วมเรียกร้องความเป็นธรรมให้กับ “ซูนาร์” นักวาดการ์ตูนชาวมาเลเซียที่ถูกตั้ง 9 ข้อหาและอาจต้องโทษจำคุกสูงสุด 43 ปี หลังทวีตข้อความวิจารณ์การทำงานของศาลและรัฐบาลมาเลเซีย

•ร่วมเรียกร้องความยุติธรรมให้กับ “เยซีเนีย อาร์เมนตา” คุณแม่ลูกสองชาวเม็กซิกันที่ถูกตำรวจลักพาตัว ทรมาน ขู่ฆ่า และข่มขืนเพื่อให้รับสารภาพ เธอติดคุกมา 3 ปีกว่า ส่วนกลุ่มตำรวจที่ก่อเหตุยังคงไม่ได้รับโทษ

ภายหลังการรณรงค์เมื่อปี 2557 ส่งผลให้มีการสืบสวนการทรมานในประเทศฟิลิปปินส์ โดยตำรวจฟิลิปปินส์ประกาศว่า จดหมายจำนวนมากที่ถูกส่งมาจากองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน (ซึ่งหมายถึงจดหมายจากแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล) ได้กระตุ้นให้มีการสืบสวนการทรมาน “เจเรมี่ คอร์” (Jerrymy Corre) คนขับบรรทุกที่ถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจทรมานให้รับสารภาพในคดีฆาตกรรมตำรวจที่เขาไม่ได้ก่อ ซึ่งเขาถูกต่อย ช็อตไฟฟ้า และขู่เอาชีวิต

“ผมไม่รู้จะขอบคุณอย่างไรดี จดหมายเหล่านี้ทำให้ผมเข้มแข็งขึ้น และยังเปลี่ยนรูปคดีของผมไปเลย นอกจากนี้ยังทำให้ภรรยาของผมเข้มแข็งขึ้นด้วย และทำให้พวกเรารู้ว่า ในการต่อสู้ครั้งนี้เราไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง แต่ยังมีอีกคนอีกจำนวนมากเรียกร้องความยุติธรรมให้พวกเรา” เจไรมี่ คอร์ กล่าว

อีกหนึ่งความสำเร็จคือการเรียกร้องค่าชดเชยในประเทศอินเดีย จากกรณีการรั่วไหลของก๊าซพิษในปี 1984 ที่ชุมชนโบพาล รัฐบาลอินเดียกล่าวว่าจะแก้ไขข้อมูลการเสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บของผู้เรียกร้องค่าเสียหายจากกรณีดังกล่าว ซึ่งถือเป็นความก้าวหน้าสำคัญเพื่อรับประกันว่าบริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้องได้ชดใช้ค่าเสียหายตามความเป็นจริง

นอกจากนั้นกรณีของเชลซี แมนนิ่ง (Chelsea Manning) ผู้เปิดโปงข้อมูลจากสหรัฐฯ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างต้องโทษจำคุกเป็นเวลา 35 ปี จากการเปิดเผยข้อมูลที่เป็นความลับของรัฐบาลผ่านเว็บไซต์ Wikileaks ในปีที่ผ่านมามีการปฏิบัติการเกิดขึ้นกว่า 200,000 ครั้งเพื่อร่วมเรียกร้องให้ปล่อยตัวและสนับสนุนเธอ

“ฉันรู้สึกขอบคุณทุกคนที่ให้การสนับสนุนฉัน ทำให้ฉันยังมีความหวังอยู่ ฉันเข้มแข็งได้เพราะพวกคุณทุกคน” เชลซีกล่าว เธอส่งจดหมายขอบคุณมาจากคุกทหารในรัฐแคนซัสโดยระบุว่าการ์ดและจดหมายเหล่านั้นแทบจะท่วมห้องขังที่เธออยู่ เชลซีได้อ่านจดหมายทุกฉบับ และรู้สึกซาบซึ้งกับข้อความที่ส่งมาให้กำลังใจและถ้อยคำที่แสนอบอุ่นของทุกคน แถมยังบอกอีกว่าถ้าเป็นไปได้เธออยากจะเขียนขอบคุณถึงทุกคนที่ได้มอบความสุขเล็กๆ ให้ แต่เนื่องจากเธอยังถูกจองจำอยู่ในคุกทหารจึงไม่สามารถทำตามที่ต้องการได้ในตอนนี้

“กิจกรรมเขียนจดหมายรัก(ษ์)สิทธิแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า ถ้าประชาชนมีความมุ่งมั่นตั้งใจ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างเป็นรูปธรรม ทุกปีนักกิจกรรมของเราต่างสร้างความเข้มแข็งและให้กำลังใจบุคคลที่ถูกคุกคามด้านสิทธิมนุษยชน ในปี 2558 เรายังคงมุ่งมั่นท้าทายความอยุติธรรมเพื่อที่จะร่วมกันสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อไป” นางสาวพรเพ็ญกล่าว

สำหรับภายในงานยังมีการมอบโปสการ์ดจำนวน 331 ฉบับจากทั่วโลกที่เขียนส่งมาให้กำลังใจ 16 นักศึกษาและนักกิจกรรมเพื่อบอกว่า “การชุมนุมอย่างสงบ ไม่ใช่อาชญากรรม” โดยโปสการ์ดและจดหมายทั้งหมดเดินทางมาจากประเทศอังกฤษ เยอรมนี สวีเดน สวิตเซอร์แลนด์ สาธารณรัฐเช็ก โมร็อคโค เปรู ปารากวัย เวเนซุเอลา ญี่ปุ่น มองโกเลีย อัลจีเรีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ ฮ่องกง รวมถึงหมู่เกาะแฟโรและไต้หวัน

นอกจากจำนวนจดหมายและโปสการ์ดจากต่างประเทศแล้ว ยังมีกำลังใจจากภายในประเทศไทยที่เขียนส่งมาให้แก่ทั้ง 16 คน ทั้งที่พวกเขาต่างไม่เจอพบหน้ากัน แต่ข้อความในโปสการ์ดหลายร้อยฉบับสะท้อนถึงพลังจากปลายปากกาของผู้คนที่ส่งมาให้กำลังใจทั้ง 16 คนว่า “พวกเขาไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง”