ThaiPublica > เกาะกระแส > “สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” รัฐไทยกับการพัฒนาเศรษฐกิจ (จบ ) : ธุรกิจต้องเปลี่ยนจาก lobby groups เป็นหุ้นส่วนเพื่อนวตกรรม

“สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์” รัฐไทยกับการพัฒนาเศรษฐกิจ (จบ ) : ธุรกิจต้องเปลี่ยนจาก lobby groups เป็นหุ้นส่วนเพื่อนวตกรรม

27 พฤศจิกายน 2015


ต่อจากตอนที่ 2

ทีดีอาร์ไอ24

ผมได้พูดมา 2-3 ประเด็น และพูดถึงการพัฒนาแปลว่าอะไรในความหมายแคบ ซึ่งก็มีความเกี่ยวข้อกับการที่เราจะก้าวเข้าไปสู่ประเทศพัฒนาแล้ว จะต้องมีการทำวิจัย พัฒนา กับพัฒนาทักษะแรงงานจึงจะสามารถเติบโตได้อย่างราบรื่น เท่าเทียม ไม่เบียดเบียนสิ่งแวดล้อมและแรงงาน

ต่อมาได้พูดถึงข้อจำกัดของภาครัฐ ยกกรณีศึกษาภาคเอกชน ที่มีส่วนร่วมในการฝึกทักษะแรงงาน และเรื่องของการวิจัยและพัฒนา ส่วนประเด็นสุดท้ายที่อยากจะพูดถึงในวันนี้คือ ด้านเศรษฐศาสตร์การเมือง เพราะเหตุใด การยกระดับการผลิตหรือความสามารถของประเทศจึงเกิดขึ้นได้ยากเหลือเกิน

ตามที่ยกตัวอย่างให้เห็นว่า ในมุมหนึ่ง การย้ายคนจากภาคเกษตรมาสู่ภาคอุตสาหกรรมเป็นของที่เธอทำได้ง่ายแต่เราทำให้ตลอด ของเช่นนั้นทำได้อีกแล้ว เหลือแต่การยกระดับการผลิต ทำให้คนทุกคนเก่งขึ้นในประเทศ ซึ่งเป็นสิ่งที่ควรทำ

ผมจะพยายามคิดในเชิงเศรษฐศาสตร์การเมือง ว่าเหตุใดรัฐบาลไหนๆ ไม่ค่อยสนใจยกระดับการผลิตสักเท่าไร ประเด็นก็ไม่ง่ายตรงไปตรงมา การยกระดับการผลิตนั้นใช้เวลานาน การลงทุนด้านการศึกษานั้น ต้องใช้เวลากว่า 10 ปี การลงทุนสร้างนวัตกรรม เช่น การวิจัยและพัฒนา ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 4-5 ปี โดยช่วงแรกนั้นยังไม่ได้รับผลตอบแทนที่จับต้องได้กลับมา

แต่ข้อจำกัดของรัฐก็คือ รัฐบาลอายุสั้น ในระบบการเมืองแบบรัฐสภาอย่างไทย รัฐบาลแต่ละรัฐบาลจะมีอายุสูงสุดไม่เกิน 4 ปี ต้องมีการเลือกตั้งกันใหม่ ถ้าได้รัฐบาลที่มีอายุต่อเนื่องได้ยาว เราก็อาจจะคิดเรื่องนี้ได้ แต่ถ้าเราไปดูอายุเฉลี่ยจริงของรัฐบาล ใน 10 ปีที่ผ่านมา อายุเฉลี่ยจริงของรัฐบาลไทย เมื่อหยุดตามตัวนายกรัฐมนตรีมีอายุเฉลี่ย 1.5 ปีเท่านั้นและเมื่อหยุดตามตัวรัฐมนตรีจะยิ่งมีอายุสั้นกว่านั้น เนื่องจาก ปลัดกระทรวงมีการปรับคณะรัฐมนตรี นายกไม่เปลี่ยนแต่รัฐมนตรีเปลี่ยน เอาแค่นั้นเรื่องนี้ก็ตอบได้อย่างตรงไปตรงมาว่าถ้าฝ่ายการเมืองอยากจะได้รับความนิยมจากประชาชนแต่ต้องทำ นโยบายที่เห็นผลใน 5 ปีหรือ 10 ปี ซึ่งเป็นสิ่งที่ใครๆก็รู้ว่าต้องทำแต่ก็ไม่มีใครอยากทำแต่ก็ไม่มีใครอยากทำ เพราะระยะเวลายาวเกินกว่าอายุของรัฐบาล การเมืองไม่อยากลงทุนในสิ่งที่ไม่เห็นผลในเร็ววัน นี่คือโจทย์ใหญ่ นั่นก็คือการยกระดับความสามารถของประเทศไม่ได้เป็นเพียงปัญหาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับการเมืองและโครงสร้างทางการเมืองของไทยด้วย

และประเทศต่างๆ ในโลกยกระดับการผลิตมาได้อย่างไร เพราะหลายประเทศก็น่าจะเจอกับปัญหาเดียวกัน อย่างที่ได้เรียนแล้ว มีเพียง 13 ประเทศที่พ้นจากกับดักรายได้ปานกลางออกมาเป็นประเทศพัฒนาแล้ว

ทีดีอาร์ไอ20

ทีดีอาร์ไอ 21

ขอยกตัวอย่าง 4 ตัวอย่าง ในเอเชีย ประเทศที่เป็นต้นแบบการพัฒนาก็คือญี่ปุ่น ญี่ปุ่นแพ้สงครามโลกยับเยิน ถูกระเบิดปรมาณู หลังจากนั้น เผชิญกับภัยจากสงครามเย็น รัฐบาลญี่ปุ่นส่งของได้พรรคเดียวมาเป็นเวลานาน เป็นพรรคเสรีประชาธิปไตย ปกครองกว่า 50 ปีภายหลังสงครามโลก มีการเปลี่ยนรัฐบาลบ้าง แต่สุดท้ายก็กลับมาเป็นพรรคเสรีประชาธิปไตย มั่นคงแต่มีแรงกดดันนอกประเทศกับความไม่มั่นคงและภัยคุกคามภายนอก ภายใต้โครงสร้างแบบนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นได้ประกาศยกระดับประเทศให้เป็นประเทศรายได้สูง เพิ่มรายได้ประเทศเป็น 2 เท่าภายใน 10 ปี ในยุคที่นานมาแล้ว เช่น ยุคของนายกฯ ทานากะ เป็นต้น

เกาหลีใต้มีภัยคุกคามจากเกาหลีเหนือในช่วงสงครามเย็น ขณะนั้นมี นายปาร์ค จุนฮี เป็น ประธานาธิบดี ซึ่งไม่ได้อยู่ในระบบการเมืองที่เป็นประชาธิปไตย ใช้ธุรกิจขนาดใหญ่และภาครัฐในการยกระดับความสามารถในการแข่งขัน ทำให้เกาหลีใต้เข้ามาเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้ภายในชั่วอายุคนเดียว ซึ่งเป็นประวัติที่น่าตื่นตาตื่นใจยิ่งกว่าญี่ปุ่นเสียอีก

ไต้หวันเป็นประเทศที่มีนวัตกรรมอีกประเทศหนึ่งในเอเชีย เปลี่ยนผ่านมาในรัฐบาลก๊กมินตั๋ง ก้าวเข้าสู่ประเทศรายได้สูงจากรัฐบาลพรรคเดียวมาเป็นเวลานานเช่นเดียวกัน ซึ่งมีการเมืองรัฐสภาเกิดมาในช่วงหลังเพียงไม่กี่ปี ภัยคุกคามจากข้างนอกก็คือภัยคุกคามจากจีน

อิสราเอลเป็นประเทศที่อยู่นอกเอเชียตะวันออก เป็นประเทศที่มีภัยคุกคามรอบทิศจากโลกอาหรับ เป็นประเทศที่มีบริษัทที่เรียกว่า startup company ซึ่งเป็นบริษัทเกิดใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูง มากที่สุดเป็นอันดับ 2 รองจากสหรัฐอเมริกา มีบริษัทไปจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ของอเมริกาเป็นจำนวนมากมาย พัฒนาเทคโนโลยีด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเทคโนโลยีทางด้านความปลอดภัย เทคโนโลยีด้านยา และอื่นๆ อีกมากมาย

มีลักษณะร่วมกัน 2 อย่าง คือ 1. รัฐบาลมั่นคงพอสมควร 2. มีภัยคุกคามจากความไม่มั่นคงภายนอกที่กดดัน ในประเทศเหล่านี้ต้องสร้างความสามารถของประเทศให้สามารถสู้กับภัยคุกคามได้ นั่นก็คือ ถ้าจะสู้กับภัยคุกคามทางด้านความมั่นคงก็ต้องมีความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจในการไปต่อกรด้วย ประเทศเหล่านี้มีน้อยมากที่จะพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้โดยไม่มีปัจจัยกดดันจากภายนอก

ประเทศไทยถือเป็นประเทศโชคดีที่โชคร้าย มีคนไทยอยู่ดีกินดีมีความเป็นอยู่สุขสบายกันมา มีภัยคุกคามมาเรื่อยๆ แต่ไม่รุนแรงจนทำให้ความอยู่รอดของประเทศต้องถูกตั้งคำถาม เพราะฉะนั้น จึงมีการพัฒนาแบบเรื่อยๆ มาโดยตลอด ไม่ได้มีแรงกดดันให้ยกระดับอย่างรวดเร็ว

คำถามสำคัญก็คือ ประเทศต่างๆ มีเส้นทางการพัฒนา ที่แตกต่างกันและยากที่ประเทศไทยจะมีสภาพแวดล้อมเหมือนประเทศอื่น แล้วประเทศไทยก็ก้าวสู่ความเป็นประชาธิปไตยมาแล้ว แม้จะยังลุ่มๆ ดอนๆ อยู่ก็ตาม จากประชาธิปไตยไปสู่ความไม่เป็นประชาธิปไตยอยู่บ้าง แต่ในไม่ช้าก็คงจะกลับมาเป็นประชาธิปไตย

คำถามสำคัญก็คือ เราจะยกระดับการผลิตในประเทศไทยโดยที่ประเทศไทยไม่ได้มีภัยคุกคามจากภายนอกที่รุนแรง แต่ความคุกคามที่เกิดขึ้นแน่นอนจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ เป็นสิ่งที่พยากรณ์ได้ แต่จะเกิดขึ้นอย่างช้าภายในเวลา 10 ปี ซึ่งไม่ทำให้คนเกิดความรู้สึกตื่นตัว แล้วเราจะยกระดับการผลิตโดยไม่มีภัยคุกคามได้อย่างไร มีแนวคิดจากศาสตราจารย์วิก โดนเนอร์ แห่งมหาวิทยาลัยแอมโมรี่ สหรัฐอเมริกา การยกระดับการผลิตได้นั้นจะต้องมีทั้งด้าน Demand และ Supply โดยด้าน Demand ก็คือมีความต้องการในการยกระดับการผลิต เช่น ภาคธุรกิจเองต้องยกระดับการผลิตกิจการของตน ต้องรวมตัวกันเรียกร้องมาตรการของรัฐในการยกระดับการผลิต ไม่ใช่เรียกร้องให้รัฐกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะสั้นไปเรื่อยๆ แต่ให้รัฐทำนโยบายระยะยาว เช่น เรื่องกำลังคน เรื่องการวิจัยและพัฒนา

ในขณะเดียวกันด้าน Supply รัฐต้องมีความสามารถในการตอบสนองข้อเรียกร้องได้ด้วย รัฐต้องสามารถประสานผลประโยชน์ของกลุ่มธุรกิจต่างๆ ซึ่งมีความหลากหลาย ต้องสามารถประสานความร่วมมือในหน่วยราชการต่างๆ เช่น กระทรวงต่างๆ ต้องทำงานด้วยกันได้ ต้องมีกลไกในการติดตามมาตรการยกระดับความสามารถการแข่งขัน ซึ่งเป็นความสามารถที่เราอาจจะเรียกในภาษาเศรษฐศาสตร์การพัฒนาว่าเป็น “ความสามารถด้านสถาบัน” แต่ในวงการเศรษฐศาสตร์จะสนใจความสามารถด้านสถาบันในความหมายแคบๆ ก็คือ การที่รัฐสามารถปกป้องกรรมสิทธิ์เอกชน เราสามารถบังคับสัญญา (Contracts) ให้เป็นไปตามสิทธิ์ต่างๆ (Property Rights)

แต่เมื่อพัฒนาผลจากประเทศยากจนมาสู่ประเทศรายได้ปานกลางแล้ว รัฐต้องการความสามารถในเชิงกลไกสถาบันอีกแบบหนึ่ง ก็คือต้องประสานความร่วมมือ ประสานประโยชน์ และติดตามมาตรการต่างๆ ได้

ตัวอย่างของการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 12 นั้นจะเห็นว่า คุณภาพของการประสานความร่วมมือหรือประสานผลประโยชน์ของรัฐไทยไม่สูง จึงเห็นแผนที่ไม่มีความชัดเจน ยิ่งฟังความเห็นมากเท่าไหร่ยิ่งได้แผนที่แตกปลายออกไปมากขึ้น เพราะว่าทักษะความสามารถในการประสานความต้องการที่แตกต่างกันของประชาชนไม่มี ฉันไม่มีความสามารถในการติดตามมาตรการต่างๆ ภายใต้เงื่อนไขแบบนี้ ภายใต้ความสามารถของรัฐที่ยังไม่ดี ประเทศไทยจะก้าวพ้นจากประเทศรายได้ปานกลางไปสู่ประเทศพัฒนาแล้วได้อย่างไร โจทย์คือจะต้องสร้าง Demand พร้อมกับสร้าง Supply โจทย์นี้เป็นโจทย์ใหญ่ และจะเป็นหัวข้อวิจัยที่อยากจะชักชวนให้นักวิชาการมาช่วยกันทำวิจัยต่อเนื่อง

ทีดีอาร์ไอ23

แต่ในส่วนที่ผมจะเสนอแนวความคิดเบื้องต้น ผมคิดว่าอย่างน้อยสิ่งที่ควรสร้างก่อนคือส่วนของความต้องการในการยกระดับการผลิตของสังคม (Demand) การยกระดับการผลิตคือส่วนที่เป็นหัวใจของการพัฒนา การยกระดับการผลิตใช้เวลามากแต่รัฐบาลอายุสั้น จึงมีความจำเป็นต้องสร้างความต้องการของธุรกิจซึ่งมีความต่อเนื่อง แม้ว่ารัฐบาลจะไม่ต่อเนื่องแต่หากทุกรัฐบาลเห็นว่าความต้องการของภาคการผลิต เช่น ภาคธุรกิจเองมีความต้องการที่ชัดเจนและต่อเนื่อง สุดท้ายรัฐบาลก็ต้องปรับนโยบายมาตามความต้องการนั้น

สิ่งที่ผมเสนอให้มีการทำก็คือภาคธุรกิจควรมีการรวมตัวกันในกลุ่มธุรกิจ เพื่อยกระดับ เพื่อสร้างหุ้นส่วนเพื่อนวัตกรรม (Partnership for Innovation) โดยรวมเอาบริษัทขนาดใหญ่ที่ทำวิจัยและพัฒนา SMEs และ startup company ที่ต้องการวิจัยพัฒนาและต้องการทักษะแรงงานระดับสูงรวมทั้งฝ่ายวิชาการเข้าไปร่วมด้วย รวมกันเป็นหุ้นส่วนเพื่อการทำนวัตกรรม การทำแบบนี้เป็นโมเดลที่เรียกว่า ทำเวทีของการกำหนดนโยบายด้านการยกระดับการพัฒนา (Policy Forum) ให้ความคิดตกผลึก มีความชัดเจน หากความคิดของคนที่เกี่ยวข้องตกผลึกชัดเจน เวลาจะเขียนแผนต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นแผ่นที่ 12 หรือแผน 13 หรือแผนยุทธศาสตร์ของภาครัฐ แนวความคิดก็จะออกมาเป็นอย่างที่มันเป็น และภาคธุรกิจควรจะมีส่วนร่วมในเรื่องที่ธุรกิจมีผลประโยชน์เกี่ยวข้องโดยตรงมากขึ้น โดยเฉพาะการยกระดับการผลิต เช่น เรื่องการฝึกทักษะแรงงาน ขวัญใจยึดโมเดลของต่างประเทศมากขึ้น ควรจะเป็นของเยอรมนีที่หอการค้าและสภาอุตสาหกรรมเป็นตัวหลักในการทำอาชีวศึกษาแบบทวิภาคีให้เกิดขึ้น ทำให้ภาครัฐเป็นฝ่ายหนุนเสริม ไม่ใช่รอภาครัฐเป็นผู้นำ เพราะว่าขีดความสามารถของภาครัฐนั้นตกต่ำมากเกินกว่าที่จะเป็นผู้นำได้ เพราะฉะนั้น ภาคธุรกิจต้องเป็นผู้นำในการสร้างสินค้าสาธารณะ ซึ่งภาคธุรกิจเองก็จะได้ประโยชน์ด้วย

ธุรกิจต้องเปลี่ยนบทบาทจากการเป็น lobby groups เป็นกลุ่มผลประโยชน์ที่จะเอาผลประโยชน์เฉพาะหน้า เช่น ต่ออายุ LDF RMF มาตรการกระตุ้นอสังหาริมทรัพย์ แต่ต้องรวมตัวกันเพื่อให้รัฐยกระดับความสามารถทางการผลิตในระยะยาว นี่คือบทบาทของภาคธุรกิจที่ควรจะเกิดขึ้น รวมตัวกันเป็นหุ้นส่วนเพื่อนวัตกรรมและรับบทบาทภาระหน้าที่บางอย่างของภาครัฐ ที่รัฐหมดความสามารถกระทำได้ ให้รัฐไปยืนในแถวสองในการอุดหนุนการคลัง

โมเดลแบบนี้ผมขอเรียกว่า Public Private Partnership หรือว่า PPP เพื่อการพัฒนาประเทศ PPP ไม่ควรจะถูกจำกัดอยู่เฉพาะโมเดลของการทำโครงสร้างพื้นฐาน เช่น จะสร้างรถไฟจะพัฒนาระบบรางต่างๆ PPP ควรไปทำเรื่องที่มีความสำคัญอย่างยิ่งที่เป็นหัวใจของการพัฒนา คือ กำลังคน และถ้าทำสำเร็จ จะเป็นตัวอย่างกับเรื่องอื่น ซึ่งภาครัฐจะสามารถร่วมกับ องค์กรประชาสังคมต่างๆในการร่วมกันลงทุนทางสังคม รายการแก้ไขปัญหาทางสังคมต่างๆ อากาศเองทุกวันนี้ก็มีขีดความสามารถในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้น้อยลงเรื่อยๆ

ส่วนของการสร้างนวัตกรรม ผมคิดว่าอย่างแรกเลยคือทำภาคีหุ้นส่วนเพื่อการพัฒนา เพื่อนวัตกรรม ถ้าจะทำก็คือทำให้นวัตกรรมกลายเป็นกระแสหลักของการพัฒนาประเทศให้ได้

สิ่งที่ผมเลือกหัวข้อการยกระดับการผลิต และการสร้างรัฐมา 1 หัวข้อในวันนี้ทั้งๆ ที่ทางผู้จัดให้หัวข้อที่กว้างกว่านี้ คือ เรื่อง “รัฐไทยกับการพัฒนาเศรษฐกิจ” เห็นว่า เรื่องนวัตกรรมเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ แต่เรื่องนี้ก็ได้รับความสนใจน้อยเกินไป จากทั้งผู้กำหนดนโยบาย จากทั้งวงการวิชาการ ในวงการวิชาเศรษฐศาสตร์เรื่องของการสร้างนวัตกรรมเป็นเรื่องที่ได้รับความสนใจน้อยมากจนน่าแปลกประหลาดอย่างยิ่ง

ในวิชาเศรษฐศาสตร์เองพูดถึงการผลิตและปัจจัยการผลิตก็คือทุน แรงงาน และเทคโนโลยี แต่วิธีการศึกษาเทคโนโลยีในทางเศรษฐศาสตร์ การเจริญเติบโต (Growth Theory) เทคโนโลยี ความสามารถในการสร้างนวัตกรรมเป็นเศษเหลือของสิ่งที่อธิบายไม่ได้ เมื่อตัดทุนและแรงงานออกไปแล้ว นั่นก็คือ ภาคเศรษฐกิจโต 5% แต่พบว่าเกิดจากแรงงานเติบโต 2% จากทุน 1% ก็แปลว่า เหลือส่วนของเทคโนโลยีเพียง 2% โดย 2% นั้นอยู่ในกล่องดำซึ่งดำมืดมากกว่ากล่องดำของนักบินด้วยซ้ำ จนไม่รู้ว่าคืออะไร

ผมคิดว่าเป็นความบกพร่องและความอับจนของวิชาเศรษฐศาสตร์ ที่ควรจะต้องไปไกลมากกว่าการศึกษาเรื่องของการสร้างนวัตกรรม ในความหมายที่มีความเข้าใจน้อย ดูแต่ตัวเลขแล้วไม่เห็นความเป็นจริง ผมเห็นวิชาเศรษฐศาสตร์ห่างไกลจากความเป็นจริงในการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ เศรษฐศาสตร์ในเชิงวิชาการของปริญญาเอก เศรษฐศาสตร์ที่เน้นคณิตศาสตร์ คนเข้าใจคณิตศาสตร์แต่ไม่เข้าใจเศรษฐกิจ และไม่เข้าใจอย่างอื่นที่ไปไกลกว่าเศรษฐกิจ ซึ่งถ้าหากนักเศรษฐศาสตร์ไม่เข้าใจเศรษฐกิจแล้ว จะเข้าใจสังคมหรือการเมืองได้อย่างไร นี่เป็นสิ่งที่ผมคิดว่าเป็นความท้าทายของทั้งประชาคมนโยบายและประชาคมวิชาการ

ทีดีอาร์ไอ22

คำถาม-คำตอบ

ถาม : แนวความคิดเรื่องอาชีวทวิภาคีนี้มีการนำไปขยายผลบ้างไหม แล้วมีการเสนอแนะความสำเร็จนี้ต่อหน่วยงานรัฐหรือไม่

เรื่องแนวความคิดของอาชีวทวิภาคี จริงๆ มีกรณีที่สำเร็จไม่ใช่แค่ 2 ตัวอย่างนี้ แต่มีอีกจำนวนมากในประเทศไทย ยกตัวอย่างเช่น อุตสาหกรรมกลุ่มบริษัทยานยนต์ของญี่ปุ่นกับอาชีวศึกษาทั้งของรัฐและเอกชนจับมือกันทำทวิภาคี การทำอย่างนั้นทำได้ และรัฐบาลปัจจุบันกำลังเพิ่มการผลิตทวิภาคีมากขึ้น

ถาม: แนวความคิดเรื่องอาชีวทวิภาคีนี้มีการนำไปขยายผลบ้างไหม แล้วมีการเสนอแนะความสำเร็จนี้ต่อหน่วยงานรัฐหรือไม่

ตัวเลขคนในทวิภาคีประเทศไทยก้าวกระโดดนะครับ ตอนที่ผมศึกษาเรื่องนี้ในช่วงกลางปี 2558 นี้เอง มีนักศึกษาอาชีวะของไทยอยู่ในทวิภาคีประมาณ 5% เมื่อได้มีการพูดในที่ต่างๆ ผมก็บอกว่าตัวเลขนี้ต่ำเกินไป น่าจะมีการเพิ่มขึ้น ทางกรมอาชีวะ คือสำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา ให้ข้อมูลมาว่า ทุกวันนี้มีจำนวนเพิ่มขึ้นกว่าที่ผมพูดถึงเป็นจำนวนมาก อยู่ที่ประมาณ 10% ทำให้ผมตกใจอีกแบบหนึ่งว่า ถ้าเพิ่มขึ้นได้อย่างรวดเร็วในเวลา 1-2 ปีนั้น คุณภาพจะยังได้ตามเกณฑ์หรือไม่ ซึ่งก็นำมาสู่จุดที่ผมพยายามจะนำเสนอ คือ อาชีวศึกษาทวิภาคีนั้นมีประโยชน์ แต่ว่าทำยาก เพราะแต่ละฝ่ายมีต้นทุนที่ภาษาเศรษฐศาสตร์เรียกว่า “ต้นทุนทางธุรกรรม” ในการต้องติดต่อสูงมากๆ

ตัวอย่างคือ หากผมเป็นสถานศึกษา ผมต้องวิ่งหาโรงงาน เช่น กรณีที่วิทยาลัยเทคนิคมีนบุรีนั้นร่วมกับเอกชนประมาณ 100 แห่ง ฉะนั้น กว่าจะได้ 100 แห่ง คืออาจารย์ที่รับผิดชอบจะต้องวิ่งไปเยี่ยมโรงงาน 100 แห่งที่อยู่ละแวกนั้น และโรงงานแต่ละแห่งไม่ได้รับแต่ที่เทคนิคมีนบุรีที่เดียว บางโรงงานอาจรับเด็กจากหลายสถาบัน ก็ต้องวิ่งกันอุตลุดเช่นกัน ต่างฝ่ายต่างต้องกรองกันและกัน และหากแต่ละฝ่ายเตรียมตัวกันไม่ดีระบบนี้จะเสียได้ง่ายมาก ต่อไปอาชีวทวิภาคีก็จะเสีย

ผมจึงมีความเป็นห่วงว่า พอมีการก้าวกระโดดเพิ่มขึ้นในรัฐบาลปัจจุบัน ถ้าไม่มีกลไกในการรับประกันคุณภาพ ของดีๆ ทำไม่ดีในที่สุดก็อาจจะเสียได้ หมดความน่าเชื่อถือ ผมจึงคิดว่าต้องมีองค์กรตัวกลางที่ช่วยทำ โดยแนวคิดองค์กรตัวกลางนี้จะช่วยลดต้นทุนทางธุรกรรมในการติดต่อกันระหว่างรัฐกับเอกชนอย่างมาก ก็ได้มีการเสนอแนวความนี้ไป แต่เรื่องแบบนี้ผมไม่แน่ใจว่าผู้กำหนดนโยบายจะเข้าใจเหมือนที่ผมเข้าใจหรือไม่ เรื่องการศึกษานี้ออกจะเป็นเรื่องที่แปลกพอสมควร ทุกคนจะคิดว่าตัวเองมีความเข้าใจ เพราะทุกคนเคยผ่านโรงเรียนมาแล้ว ก็จะคิดว่าสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะเหมือนๆ กับสถานการณ์ที่มีประสบการณ์ส่วนตัว ซึ่งต้องใช้เวลาในการสื่อสารพอสมควร

นอกจากสื่อสารกับภาครัฐแล้ว ก็ต้องสื่อสารกับผู้นำในภาคธุรกิจเอกชนด้วย ซึ่งผมไม่คิดว่าโมเดลแบบนี้จะปฏิบัติได้สำเร็จภายใต้กลไกภาครัฐที่เป็นอยู่ปัจจุบัน ดังนั้น ต้องขายไอเดียให้ไปถึงผู้นำฝั่งธุรกิจด้วย หากผู้นำฝั่งธุรกิจให้การสนับสนุน และพร้อมที่จะลงมาทำจริงๆ โอกาสที่สำเร็จจึงจะเกิดขึ้น

ถาม: เกิดอะไรขึ้นกับภาครัฐ ทำไมภาครัฐอ่อนแอลงไปมาก

ถ้าศึกษาประวัติศาสตร์ด้านการเมือง แต่ละประเทศนั้นเกิดปรากฏการณ์ขึ้นคล้ายๆ กันในระดับที่ต่างกัน คือ ภาครัฐในหลายๆ ประเทศเกิดความเสื่อมลง (Political Decay) ด้วยเหตุผลหลายๆ อย่าง แต่ละที่อาจมีเหตุผลไม่เหมือนกัน บางที่อาจเกิดจากการมีกฎระเบียบหยุมหยิมจำนวนมาก ทำให้กฎระเบียบเหล่านั้นบีดรัดจนทำให้ภาคธุรกิจหรือภาคประชาชนขยับตัวไม่ได้ อาทิ รัฐจัดการศึกษาเองก็ไม่สำเร็จ แต่ก็ห้ามภาคธุรกิจ เอกชนจัดการศึกษาแข่งกับภาครัฐ อาจไม่ใช่การห้ามโดยตรง แต่เป็นการให้เงินอุดหนุนที่ไม่สมน้ำสมเนื้อ ไม่ให้เกิดการแข่งขันอย่างเท่าเทียมกัน

ประการต่อมาคือ ระบบเล่นพรรคเล่นพวก ซึ่งมีทุกที่ แต่ความรุนแรงในแต่ละที่มีความแตกต่างกัน การพัฒนารัฐสมัยใหม่ หลายประเทศได้พยายามขจัดการเล่นพรรคเล่นพวกออกไป อาทิ ในจีน ที่มีการใช้วิธีการสอบจอหงวน เพื่อให้เกิดการเลือกคนโดยไม่มีระบบเส้นสาย แต่ครู่เดียวก็กลับไปสู่ระบบเส้นสายได้ และต้องมีการปฏิรูปอีกเป็นระยะๆ

รัฐไทยยังไม่มีการก้าวพ้นจากจุดนี้เลย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่ภาครัฐจะเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ที่เรานึกถึงบุคลากรในภาครัฐที่ดี กลุ่มเทคโนแครตแบบอาจารย์ป๋วย ที่พวกเราคิดว่านอกจากจะมีความซื่อสัตย์สุจริต แล้วยังมีขีดความสามารถสูงด้วย แต่หลังจากนี้เรานึกออกไหมว่าจะเป็นใคร นี่คือการเสื่อมลงของภาครัฐ ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับในช่วงหลังที่ระบอบการเมืองเน้นความภักดีของข้าราชการต่อฝ่ายการเมือง ไม่ได้เน้นความสามารถ (Merit System) จากความขัดแย้งทางการเมือง เมื่อมีการเปลี่ยนมือ ก็เกิดความไม่ไว้ใจข้าราชการที่เคยได้รับการเลื่อนตำแหน่งจากรัฐบาลก่อนหน้า ดังนั้น ความขัดแย้งทางการเมืองจึงเป็นส่วนหนึ่งที่เร่งให้ระบบราชการเสื่อมลงไปด้วย

หากนี่คือ New normal ผมไม่คิดว่าเป็นปัญหาที่จะแก้ได้ง่าย โจทย์ที่คิดว่าจะเหมาะกว่า คือ หากภาครัฐมีแนวโน้มเป็นเช่นนี้เรื่อยไป เราจะอยู่กับภาครัฐได้อย่างไร เพื่อให้ประเทศพัฒนาต่อไปได้ การปฏิรูปภาครัฐเป็นสิ่งที่ไม่ควรทิ้ง แต่ไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่าย หลายประเทศที่ทำแล้วสำเร็จ มักจะทำในช่วงภาวะพิเศษ

ตัวอย่าง เกาหลีใต้ เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในปี 2540 ที่เกาหลีโดนร่างแหด้วย รัฐบาลเกาหลีได้ปฏิรูปภาครัฐขนานใหญ่ แล้วทำให้ประเทศฟื้นตัวมาได้ ตัวอย่าง การพิจารณากฎหมายในเกาหลี 40,000 ฉบับ แล้วมีการยกเลิกไปครึ่งหนึ่ง นี่คือตัวอย่างที่กฎระเบียบรุงรัง ต้องถูกยกเลิกไป ซึ่งหากยกเลิกในภาวะปกติ จะถูกต่อต้านจากคนที่ได้ประโยชน์ คือ ราชการ การปฏิรูปจึงเกิดในช่วงภาวะพิเศษของประเทศ

คนมักบอกว่า “อย่าปล่อยให้วิกฤติสูญเปล่า” ซึ่งวิกฤติในประเทศไทยคนตระหนักหรือยังว่าเป็นวิกฤติ และจะสูญเปล่าหรือไม่ ทุกๆ คนต้องช่วยกันคิด

ถาม: ในบางกิจการเราทำได้ดีกว่าประเทศอื่น ยกตัวอย่าง ประเทศไทยถือเป็นแหล่งอาหารที่สำคัญของโลก ซึ่งมีไม่กี่แหล่ง หากทุกอย่างมุ่งไปอุตสาหกรรมหมด คนยังคงต้องกิน เราจึงควรกลับมาค้นตัวเองก่อนไหมว่าสิ่งไหนที่เราเก่ง แล้วจึงค่อยๆ พัฒนาจากจุดนั้น

ในภาคการผลิตที่ผมพูดนั้นไม่ได้หมายถึงอุตสาหกรรมการผลิตเพียงอย่างเดียว แต่หมายถึงภาคอื่นๆ ที่ไม่ใช่การเงิน ไม่ใช่พวกแบงก์ แต่เป็นส่วนที่ผลิตของออกมา คือ เกษตร อุตสาหกรรม และบริการ ซึ่งแต่ละส่วนมีความต่างกัน เป็นส่วนที่ต้องวิจัยเพิ่มอีกมาก

โจทย์เรื่องนโยบายอุตสาหกรรมที่จะตอบว่าประเทศไทยควรจะเลือกเข้าไปอยู่ส่วนไหนของสาขาการผลิต จากในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และบริการ เราจะเลือกจุดไหน

ประเทศที่พัฒนามาตามตัวอย่างที่ผมยกมา จากประเทศที่พ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง ส่วนใหญ่ล้วนเป็นประเทศที่มีนโยบายอุตสาหกรรมค่อนข้างชัดเจนทั้งสิ้น คือ เลือกโฟกัสในเซกเตอร์ที่ตนเองเก่ง เช่น ญี่ปุ่น มียานยนต์ และเมื่อก่อนเคยเก่งเรื่องอิเล็กทรอนิกส์ด้วย แต่ตอนหลังถูกเกาหลีแซงไป ซึ่งเกาหลีก็เป็นเจ้าอิเล็กทรอนิกส์ ไต้หวันทำอิเล็กทรอนิกส์แบบรับจ้าง อิสราเอลมีอุตสาหกรรมความมั่นคง คอมพิวเตอร์ และยา ซึ่งไม่มีใครทำได้ทุกอย่าง

แต่มาตกที่ตรงนี้ ถ้ารัฐบาลไม่มั่นคง และรัฐมีความสามารถในการจัดการได้ต่ำ นโยบายอุตสาหกรรมจะเกิดขึ้นไม่ได้ ประเทศไทยจึงไม่สามารถกำหนดนโยบายอุตสาหกรรมได้ เพราะขีดความสามารถของรัฐไม่พอ ยกตัวอย่างการทำแผนพัฒนาเศรษฐกิจ ในการรวมความเห็นของฝ่ายต่างๆ ให้มีความคล้ายกันได้ว่าเราควรจะเดินไปทางไหน ซึ่งจะมีทรัพยากรจากรัฐเทลงไปจำนวนมาก แล้วคนจะไม่ตีกัน เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการประสานประโยชน์จากภาครัฐสูงมาก ซึ่งประเทศไทยยังทำแบบนี้ไม่ได้

ตัวอย่างเกาหลีใต้ เขามีแผนชัดเจนว่าจะทำด้านอุตสาหกรรมชัดเจน อาทิ อยากจะทำดาวเทียม เขาก็ส่งคนไปเรียนต่างประเทศ สมมติว่า 20 คน ดาวเทียมมีองค์ประกอบทางเทคโนโลยี 10 ด้าน ส่งไปคนละ 2 ด้าน กลับมาทำดาวเทียมได้ 1 ลูกเลย คนไทยส่งคนไปเรียนทุนต่างๆ มี 5 ทุนการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แต่กลับมาแล้วต่างคนต่างไป เพราะไม่รู้ว่าประเทศไทยมีทิศทางไปทางไหน โจทย์นี้จึงเป็นโจทย์ที่สำคัญมาก แต่ผมไม่คิดว่าความสามารถภาครัฐไทยจะทำได้ ผมคิดว่าความสามารถภาครัฐไทยที่ทำได้คือ รอเอกชนว่าเอกชนเลือกทำตัวไหน แล้วหนุนเสริมตัวนั้น

ซึ่งบางเรื่องรัฐเก่งกว่านี้จะไปได้มากกว่านี้ แต่หากรัฐเก่งเท่านี้แล้วคิดจะทำนโยบายอุตสาหกรรม เราจะเป็นเหมือนมาเลเซีย มาเลเซียอยากเก่งเรื่องรถยนต์ สุดท้ายรถยนต์มาเลเซียได้รับการคุ้มครองจากรัฐเยอะมาก ผลาญเงินภาษีประชาชนไปจำนวนมาก แต่สุดท้ายรถยนต์มาเลเซียคือรถมิตซูบิชิมาติดตราโปรตอนแล้วออกไปวิ่งเท่านั้น การจะส่งออกไปขายต่างประเทศก็ต้องได้รับการอุดหนุนจากรัฐมหาศาล และทุกวันนี้ก็ยังแข่งไม่ได้ มีตัวอย่างความล้มเหลวมากกว่าความสำเร็จในรัฐที่ขีดความสามารถไม่สูง

ประเทศไทยจะไปทางไหน ผมคิดว่าเราจะต้องให้ภาคธุรกิจเลือกกันเองว่าจะไปทางไหน เนื่องจากไทยมีผู้ประกอบการที่เป็น Supplyer ในระดับที่ 1 ที่เป็นผู้ผลิตชิ้นส่วนส่งให้ผู้ประกอบรถยนต์โดยตรง มี 4-5 บริษัทที่ขีดความสามารถดีๆ และมีบางบริษัทที่รู้ว่าอยู่ในอุตสาหกรรมรถยนต์แล้วทำไม่ได้แล้ว ทำไปก็หมดตัวเพราะเทคโนโลยีไปเร็ว การแข่งขันสูง ต้องลดราคาตลอดเวลา เขาก็ย้ายไปผลิตในอุตสาหกรรมเครื่องจักรการเกษตร และปรากฏว่าเป็นการแทงหวยที่ถูก เพราะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังต้องมีการทำการเกษตรเยอะ และต้องใช้เครื่องจักรการเกษตรอีกมาก อีกทั้งเครื่องจักรเกษตรไม่มีการเปลี่ยนรุ่นเร็วเหมือนรถยนต์ แต่ช่องทางความสำเร็จแบบนี้จะหาจากที่ไหน ไม่ใช่การคิดจากข้างบน แต่ต้องเกิดจากการทดลองและค้นพบจากคนที่ทำเอง และรัฐให้การส่งเสริมที่เหมาะสม

ถาม: ความสุขมวลรวมประชาชาติที่มีการพูดถึงกันมาก ตัวนี้สามารถนำมาปรับใช้กับข้อบกพร่องของอัตราการโตของจีดีพีได้หรือไม่

ความสุขมวลรวมก็เป็นเรื่องที่มีความสำคัญ ซึ่งตามแนวคิดของภูฏานตามจริงแล้วไม่ได้มีดัชนีอะไรจริงๆ ดั่งที่เราเข้าใจกัน แต่ในทางวิชาการหากจะเอาเรื่องความสุขผนวกไปกับการพัฒนาประเทศแปลว่าอะไร ก็มีเศรษฐศาสตร์ที่เป็นเศรษฐศาสตร์พฤติกรรม (Behavioral Economics) ที่ศึกษาเรื่องความสุข ว่าคนเรามีความสุขจากเรื่องอะไร

โดยรวมๆ อย่างแรก ต้องมีความมั่งคั่งทางวัตถุอยู่พอสมควร ไม่ให้อดอยาก ฉะนั้น เรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจที่ผมพูดในวันนี้ ตอนนี้เรายังไม่ถึงขั้นเดือดร้อนกัน เราจึงไม่รู้ว่าเดือดร้อนเป็นอย่างไร เพราะเราผ่านรุ่นที่ประเทศไทยอยู่ในความยากจนมาแล้ว แต่ในอีก 10 ปี ข้างหน้าทรัพยากรจะไม่พอใช้ ทรัพยากรที่ว่านี้คือทรัพยากรที่จับต้องได้ คือเรื่องเงินนี่แหละครับ

ฉะนั้น อันดับแรก ความมั่งคั่งทางวัตถุเป็นเรื่องจำเป็น แต่จะมีความสุขเพิ่มขึ้นช้าลงเรื่อยๆ เมื่อความมั่งคั่งเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เหมือนกับหลักเศรษฐศาสตร์เรียกว่าเป็นเส้นโค้งความสุข มีขาขึ้นขาลง คือความสุขจะเพิ่มขึ้นตามระดับรายได้ เมื่อรายได้สูงขึ้น ความสุขเพิ่ม แต่จะช้าลงๆ และเมื่อถึงจุดหนึ่ง เช่น เงินเดือน 10,000 เหรียญ กับ 20,000 เหรียญ แทบไม่ต่างกันมาก คือต้องเพิ่มรายได้อีกมาก ความสุขจะเพิ่มขึ้น

เรื่องที่สำคัญอีกเรื่องในเศรษฐศาสตร์ความสุขที่บอกเราคือ เรื่องของการเปรียบเทียบ ซึ่งมี 2 ระนาบ เราเปรียบเทียบว่าเราดีกว่าอดีตมากขนาดไหน จะเป็นเส้นชี้ว่าชีวิตเราดีขึ้นหรือไม่ เพราะฉะนั้น ประเทศที่ตกในภาวะเศรษฐกิจถดถอยจะมีความสุขน้อย เพราะคนมองไปข้างหน้าไม่เห็นอนาคต และเราดีกว่าเพื่อนบ้านหรือคนที่เราเปรียบเทียบด้วยขนาดไหน คือเราเปรียบเทียบกับคนข้างๆ เรา ไม่เปรียบเทียบกับคนไกลๆ เรา ฉะนั้น ความเท่าเทียมกันในสังคมจะทำให้คนมีความสุข

ผมก็คิดว่า หลักที่ถ้าเราจะเอาทั้งมีความมั่งคั่งด้านวัตถุและมีความเท่าเทียมกันพอสมควร แล้วทำให้ทุกคนมีความสุขได้ สุดท้ายแล้วก็หนีไม่พ้นหลักที่พูดกัน ที่พูดในวันนี้ ที่อยู่ในแผนสภาพัฒน์ฯ อยู่ตรงนั้นหมด เพียงแต่วิธีพูดวิธีแสดงออกแต่ละคนอาจให้คุณค่าแต่ละตัวไม่ค่อยเท่ากัน และวิธีจะไปสู่จุดที่ทุกคนได้รับสิ่งที่ตัวเองอยากจะได้ได้ แปลว่าต้องมีความสามารถ (Efficiency) จึงจะทำให้ของก้อนเดียวตอบสนองต่อทุกคนได้ ฉะนั้นทักษะแรงงานจึงจำเป็น การกระจายรายได้จะดีคนจะมีความสุขเยอะ ทักษะแรงงานจะต้องมี ตรงนี้จะมีผลตอบแทนเยอะ