
หลังจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดให้เคาะราคาประมูลใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz เพื่อนำไปให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ในระบบ 4G ตั้งแต่วันที่ 11 พฤศจิกายน 2558 เวลา 10.00 น. โดยมีบริษัทเอกชนจำนวน 4 ราย ที่เข้าร่วมประมูล ประกอบด้วย
- บริษัท แจส โมบาย บรอดแบรนด์ จำกัด
- บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด
- บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด
- บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด
ผลการเคาะราคาประมูลเป็นไปอย่างเข้มข้น ใช้เวลาถึง 33 ชั่วโมง ก่อนจะได้ผู้ชนะการประมูล 2 ราย ประกอบด้วย
– ใบอนุญาตที่ 1 คลื่นความถี่ 1710-1725 MHz คู่กับ 1805-1820 MHz ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด ราคาสุดท้ายที่เสนอ 39,792 ล้านบาท
– ใบอนุญาตที่ 2 คลื่นความถี่ 1725-1740 MHz คู่กับ 1820-1835 MHz ผู้ชนะการประมูล คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ราคาสุดท้ายที่เสนอ 40,986 ล้านบาท
ส่วนผู้ไม่ชนะการประมูลประกอบด้วย บริษัท แจส โมบาย บรอดแบนด์ จำกัด ราคาสุดท้ายที่เสนอ คือ 38,996 ล้านบาท สำหรับใบอนุญาตที่ 1 และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ราคาสุดท้ายที่เสนอ 17,504 ล้านบาท สำหรับใบอนุญาตที่ 1
ขั้นตอนต่อไป กรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) จะประชุมเพื่อพิจารณาผลการประมูล ภายใน 1 สัปดาห์ หากไม่พบว่ามีปัญหาอะไร ที่ประชุม กทค. จะลงมติรับรองการผลประชุมคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ครั้งนี้ จากนั้นผู้ชนะการประมูลจะต้องจ่ายค่าประมูลงวดแรก ในอัตรา 50% ของราคาสุดท้ายที่เสนอ จากนั้น กทค. จะนัดวันรับใบอนุญาตต่อไป

TDRI ยันราคาประมูลสูงไม่กระทบค่าบริการ
นายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ได้วิจารณ์สาเหตุที่ราคาประมูลใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz พุ่งสูงถึง 8 หมื่นล้านบาท ว่า เกิดจากการที่มีผู้ประกอบการรายใหม่ อย่าง บริษัทแจสโมบายฯ เข้าร่วมประมูลด้วย กสทช. ไม่จำกัดเพดานการถือครองคลื่นสูงสุดของผู้ประกอบการแต่ละราย และมีการเลื่อนประมูลใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ออกไปอีก 1 เดือน ทำให้ยากที่จะเกิดการสมทบกันระหว่างผู้ประกอบการแต่ละราย
สำหรับข้อสงสัยว่า ราคาประมูลสูงเกินไปหรือไม่ ระบุว่า ในทางวิชาการ หากมีการแข่งขันกันระหว่างผู้ที่มีข้อมูลครบถ้วน ราคาที่ได้จากการประมูลจะเป็น “ราคาที่เหมาะสม” ไม่ใช่ราคาที่สูงหรือต่ำ เพราะไม่มีใครทราบมูลค่าคลื่นที่แท้จริง ในอีกด้านหนึ่งก็สะท้อนว่า กสทช. ตั้งราคาตั้งต้นต่ำเกินไป
ประธานทีดีอาร์ไอกล่าวว่า ส่วนที่หลายฝ่ายกังวลว่า ราคาประมูลที่สูงจะส่งผลกระทบต่อค่าบริการ ขอยืนยันว่ามูลค่าประมูลไม่มีผลต่อค่าบริการ เพราะค่าบริการจะขึ้นอยู่กับความเต็มใจที่จะจ่ายของผู้บริโภค (demand) และการแข่งขันในตลาด (supply) ไม่ได้ขึ้นกับมูลค่าประมูล มูลค่าประมูลเป็นเพียงการแบ่งกำไรของผู้ประกอบการมาให้รัฐเท่านั้น โดยการประมูลใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในวันที่ 15 ธันวาคม 2558 อาจเกิดเหตุการณ์เช่นเดียวกัน หากเปิดให้มีการแข่งขันกันอย่างเต็มที่เช่นการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz
ห่วง 3 เรื่อง – แนะนำเงินประมูลปรับโครงสร้างรัฐวิสาหกิจให้แข่งขันได้
อย่างไรก็ตาม มีข้อควรระวัง 3 เรื่อง สำหรับการประมูล 4G
- อย่าให้มีการล้มการประมูลคลื่น 1800 MHz และอย่าให้มีการล้มหรือเลื่อนการประมูลคลื่น 900 MHz ไม่ว่าจะโดยเกิดจากการฟ้องศาลของรัฐวิสาหกิจ หรือด้วยเหตุอื่น เพราะจะทำให้เกิดการผูกขาดในบริการ 4G และผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของรัฐบาลและ กสทช.
- อย่ายอมให้เกิดบริการนอกระบบใบอนุญาต เช่น การแอบไปทำสัมปทานเพื่อใช้คลื่นของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งจะสร้างการแข่งขันที่ไม่เป็นธรรมระหว่างผู้ประกอบการ
- อย่าอุ้มผู้ประกอบการที่ประมูลคลื่นไป แล้วอ้างว่าขาดทุนในการประกอบการ เช่น ลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาต หรือผ่อนเพลากฎเกณฑ์การกำกับดูแลต่างๆ โดยไม่เหมาะสม
“สิ่งที่รัฐบาลและ กสทช. จะต้องทำหลังจากนี้ ก็คือ คุ้มครองผู้บริโภคในด้านราคาและคุณภาพการบริการให้เป็นไปตามกฎหมายและเงื่อนไขการประมูล กำหนดกติกาที่จะช่วยลดต้นทุนของผู้ประกอบการในลักษณะที่ส่งเสริมการแข่งขัน เช่น การให้ผู้ประกอบการใช้โครงสร้างพื้นฐานร่วมกัน และนำรายได้จากการระมูลบางส่วนไปปรับโครงสร้างและฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจ ตลอดจนเร่งหาพันธมิตรทางธุรกิจให้แก่รัฐวิสาหกิจ เพื่อให้เกิดความสามารถในการแข่งขันในระยะยาว” นายสมเกียรติกล่าว
ศูนย์วิจัยSCB เชื่อประมูลคลื่น 900 ดุเดือดไม่แพ้กัน – “แจสโมบาย” มีโอกาสชนะ
ด้านศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (Economic Intelligence Center : EIC) ได้เผยแพร่บทวิเคราะห์ผลการประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ว่า ราคาประมูลรวมที่สูงกว่าราคาตั้งต้นถึง 154% สะท้อนให้เห็นถึงการแข่งขันของผู้ประกอบการเพื่อขยายโครงข่ายให้รองรับกับความต้องการใช้งานด้านข้อมูลที่เติบโตแบบก้าวกระโดด ซึ่งระหว่างปี 2000-2014 ผู้ใช้บริการมือถือมีความต้องการใช้งานด้านข้อมูลเพิ่มขึ้นกว่า 35% ต่อปี ทั้งนี้ แม้ราคาประมูลที่ค่อนข้างสูงจะส่งผลกระทบบางส่วนต่อผู้ประกอบการ แต่คงไม่มากเท่าการประมูลดิจิทัลทีวี เนื่องจากธุรกิจโทรคมนาคมมีผู้เล่นน้อยราย และแต่ละรายต่างก็มีฐานลูกค้ากลุ่มใหญ่ อีกครั้งมีเงินทุนและสายป่านที่ยาวกว่า
และแม้ผู้ชนะประมูล อย่างบริษัททรูมูฟฯ และบริษัทแอดวานซ์ฯ จะยังเป็นผู้เล่นรายเดิม แต่ต้องจับตาการประมูลใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ที่คาดว่าบริษัทแจสโมบายฯ มีโอกาสสอดแทรกเป็นผู้เล่นรายใหม่ในตลาดได้ เพราะดูมีความต้องการคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz มากกว่า 1800 MHz และอาจทุ่มเม็ดเงินเพื่อก้าวเข้ามาทำธุรกิจในตลาดมือถือ เนื่องจากคลื่นความถี่ที่ต่ำสามารถครอบคลุมพื้นที่ให้บริการได้มากกว่า 2 เท่า และสามารถลดการลงทุนด้านโครงข่ายลงได้กว่า 10 เท่า นอกจากนี้ ยังจะช่วยส่งเสริมธุรกิจอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ของบริษัท และต่อยอดบริการข้อมูลให้ครอบคลุมการใช้งานมากขึ้น
“การประมูลใบอนุญาตคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในวันที่ 15 ธันวาคม 2558 น่าจะมีการแข่งขันเพื่อแย่งชิงคลื่นความถี่จากผู้เล่นรายเดิมอย่างดุเดือด เพื่อรักษาฐานลูกค้าและส่วนแบ่งการตลาดให้ได้มากที่สุด”
ท้ายสุดศูนย์วิจัยฯ ของธนาคารไทยพาณิชย์ มองว่าการประมูล 4 G จะมีส่วนสนับสนุนการเติบโตของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ทั้งเร่งอัตราการใช้ข้อมูลของลูกค้าและเพิ่มรายได้ค่าบริการเฉลี่ยต่อเลขหมาย เห็นได้จากกรณีศึกษาของประเทศเกาหลีใต้ เมื่อบริษัท เอสเค เทเลคอม จำกัด ผู้ให้บริการมือถือรายใหญ่ของเกาหลีใต้เริ่มให้บริการ 4G ทำให้รายได้ค่าบริการเฉลี่ยต่อเลขหมายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องกว่า 14% ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี
“กรณีของประเทศไทย การเข้ามาของเทคโนโลยี 4G จะทำให้รายได้จากการให้บริการข้อมูลของผู้ประกอบการมือถือในปี 2015 มีแนวโน้มเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง 20-25%” บทวิเคราะห์ดังกล่าวระบุ