ThaiPublica > เกาะกระแส > เกาะกระแสเศรษฐกิจ > ธปท. ปรับลดจีดีพี 5 ไตรมาสต่อเนื่องกันจากโต 5.5% เหลือ 2.7%– ชี้มาตรการกระตุ้นศก.ใหม่ช่วยแค่ 0.1%

ธปท. ปรับลดจีดีพี 5 ไตรมาสต่อเนื่องกันจากโต 5.5% เหลือ 2.7%– ชี้มาตรการกระตุ้นศก.ใหม่ช่วยแค่ 0.1%

25 กันยายน 2015


นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)
นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)

เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2558 นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในฐานะเลขานุการ คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) แถลงรายงานนโยบายการเงิน ฉบับเดือนกันยายน 2558 ปรับลดจีดีพีจาก 3.0% เหลือเพียง 2.7% ลดลง 0.3%

โดยนายเมธีกล่าวว่า เศรษฐกิจไทยยังมีความเสี่ยงที่จะขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณการ ซึ่งจะมีการปรับจีดีพีอีกครั้งในการประชุมเดือนธันวาคม อย่างไรก็ตาม คาดว่าจีดีพีครึ่งปีหลังของปี 2558 จะขยายตัว 2.5% ขณะที่ครึ่งปีแรกขยายตัว 2.9% และหากพิจารณาจีดีพีรายไตรมาสแล้วพบว่าครึ่งปีหลังมีการขยายตัวมากกว่าครึ่งปีแรก โดย ธปท. มองว่าเป็นสัญญาณฟื้นตัวอย่างช้าๆ ของเศรษฐกิจไทย แต่ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะเห็นการฟื้นตัวชัดเจนเมื่อไร เนื่องจากยังมีความเสี่ยงด้านลบที่จีดีพีจะขยายตัวต่ำอยู่มากและต้องติดตามในระยะต่อไป

ทั้งนี้ นายเมธีได้ให้เหตุผลของการปรับลดประมาณครั้งนี้ว่า มีน้ำหนักมาจากปัจจัยต่างประเทศเป็นหลัก โดยเศรษฐกิจและตลาดการเงินโลกมีความไม่แน่นอนและผันผวนเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความกังวลต่อการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมไปถึงประสิทธิผลของมาตรการดูแลตลาดการเงินและกระตุ้นเศรษฐกิจของทางการจีน หรือความไม่แน่นอนของการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือเฟด ที่ยังชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายต่อไป หลังจากที่ถูกคาดการณ์ว่าจะขึ้นดอกเบี้ยในการประชุมครั้งที่ผ่านมาในเดือนกันยายน 2558 ซึ่ง ธปท. คาดว่ากระทบเศรษฐกิจไทยไม่มาก ตลาดคงไม่ผันผวนมาก เนื่องจากมีการรับรู้เรื่องนี้มานานแล้ว และ ธปท. ยังมีเครื่องมือดูแลความผันผวนของการไหลเข้าและออกของเงินทุนเคลื่อนย้ายได้ดี

ส่วนการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน จะส่งผลให้เศรษฐกิจในเอเชียและประเทศคู่ค้าที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ไปยังจีน ซึ่งรวมไปถึงประเทศไทย มีแนวโน้มเติบโตต่ำลง และเมื่อรวมการส่งออกสินค้าบางประเภทของไทยที่มีแนวโน้มต่ำลงตามราคาน้ำมันและอำนาจต่อรองราคาของประเทศคู่ค้า ทำให้ธปท. ปรับประมาณการส่งออกปีนี้ติดลบ -5% จากเดิมติดลบ -1.5% ส่วนปี 2559 การส่งออกจะเริ่มกลับมาดีขึ้นเล็กน้อย โดยขยายตัว 1.2% ลดลงจากที่เคยคาดการณ์ว่าโต 2.5%

สำหรับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล 3 มาตรการ ประกอบด้วยมาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับหมู่บ้าน มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ระดับตำบล และมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็ก มองว่าจะมีผลต่อการกระตุ้นจีดีพีเพียง 0.1% เท่านั้น ขณะที่มาตรการสินเชื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี คาดว่าจะยังไม่เห็นผลในปีนี้ เพราะว่าต้องมีกระบวนการอนุมัติสินเชื่อต่างๆ และคาดว่าจะเห็นผลชัดเจนในปี 2559

ขณะที่การเบิกจ่ายภาครัฐ ด้านงบลงทุนในไตรมาสที่ 2 ของปี 2558 สูงเกินคาด และมีแนวโน้มทำได้ดีต่อเนื่อง จากการเร่งรัดก่อหนี้ผูกพันและการใช้จ่ายตามมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนภาครัฐในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการกองทุนหมู่บ้าน โครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน (พีพีพี) ซึ่งหากทำได้ดีต่อเนื่องและได้ผลเกินคาดจะช่วยสร้างความมั่นใจให้กับการลงทุนของภาคธุรกิจและเอกชน ซึ่งปัจจุบันยังอ่อนแรง เนื่องจากความเชื่อมั่นของธุรกิจและผู้บริโภคยังไม่ฟื้นและกำลังการผลิตยังเหลืออยู่มาก โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการส่งออก

ด้านอัตราเงินเฟ้อทั่วไปติดลบ 0.9% เป็นผลมาจากต้นทุนราคาน้ำมันต่ำและราคาสินค้ายังมีแนวโน้มทรงตัว ซึ่งคาดว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะติดลบต่อเนื่องทั้งปี แต่ความเสี่ยงในเรื่องเงินฝืดยังค่อนข้างต่ำ ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 1.2% ส่วนในปี 2559 เงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ 1% และเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ 0.8%

คาดการณ์จีดีพี
เมื่อย้อนกลับไปดูตั้งแต่ต้นปี 2558 พบว่าก่อนหน้านี้ ธปท. เคยให้เหตุผลในการปรับลดประมาณการเศรษฐกิจครั้งแรกของปี 2558 ในรายงานนโยบายการเงิน เดือนมีนาคม ที่ผ่านมา ว่าเกิดจากตัวเลขเศรษฐกิจของไตรมาส 4 ปี 2557 ต่ำกว่าคาด, การใช้จ่ายภายในประเทศทั้งเอกชนและภาครัฐที่ลดลง และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคและนักธุรกิจที่ชะลอลงในช่วง 2 เดือนแรกของปี ทำให้แรงส่งไปยังเศรษฐกิจลดลง

นอกจากนี้ ยังแสดงความกังวลว่าการลงทุนและใช้จ่ายภาครัฐจะยังคงล่าช้าอยู่ เนื่องจากหน่วยราชการไม่สามารถเพิ่มประสิทธิภาพได้ทัน รวมไปถึงการปรับค่างานก่อสร้างตามราคาน้ำมันที่ลดลงและการขาดแคลนแรงงาน ทำให้การลงทุนบางส่วนล่าช้าออกไป และส่งผลให้การลงทุนของเอกชนล่าช้าออกไปอีกด้วย

ทั้งนี้ ธปท. ยังคาดว่าเศรษฐกิจในครึ่งปีหลังน่าจะฟื้นตัวได้ เป็นผลจากภาครัฐที่เร่งใช้จ่ายลงทุนมากขึ้น โดยเฉพาะมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบสอง ไม่ว่าจะเป็นโครงการบริหารจัดการน้ำหรือแผนพัฒนาระบบขนส่งทางถนนระยะเร่งด่วน

ขณะที่ปัจจัยการส่งออก ณ เวลานั้น ธปท. ยังไม่แสดงความกังวลอย่างชัดเจนว่าจะเป็นปัจจัยหลักที่ฉุดเศรษฐกิจลงเหมือนกับการประมาณการในเดือนกันยายน 2558 นี้ โดยครั้งนั้นได้ปรับลดลงเล็กน้อยจาก 1% เป็น 0.8% โดยให้เหตุผลว่าเศรษฐกิจคู่ค้าขยายตัวต่ำกว่าที่คาด โดยเฉพาะประเทศจีนที่กำลังปฏิรูปเศรษฐกิจและเอเชียที่ชะลอตามการส่งออกไปยังประเทศจีนและประเทศผู้ส่งออกน้ำมันลดลง ราคาสินค้าส่งออกตกต่ำลงตามราคาน้ำมันโลก

“ตัวเลขที่ออกมายังถือว่าต่ำกว่าศักยภาพอยู่บ้าง และเข้าใจว่าอาจจะต่ำกว่าศักยภาพมาระยะหนึ่งแล้ว ประเด็นก็คือว่า การปล่อยให้เศรษฐกิจต่ำกว่าศักยภาพนานๆ มันจะกระทบต่อตัวศักยภาพด้วย ดังนั้น สิ่งสำคัญคือต้องเน้นเรื่องการลงทุน โดยให้ภาครัฐนำก่อน แล้วให้เอกชนตามมา” นายเมธีกล่าวในการแถลงข่าวเมื่อเดือนมีนาคม 2558

ขณะที่ต่อมา ในการประมารการในรายงานนโยบายการเงิน เดือนมิถุนายน 2558 ธปท. ได้แสดงความกังวลมากขึ้นต่อภาคการส่งออกของไทย โดยคาดว่าการส่งออกของไทยทั้งปีจะติดลบที่ -1.5% ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องจากเศรษฐกิจโลกที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนและเอเชีย รวมถึงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลกที่ประเทศคู่ค้าหลักอย่างจีนมีแนวโน้มพึ่งพาการนำเข้าสินค้าจากไทยและอาเซียนลดลง ขณะเดียวกัน ส่งผลให้การค้าภายในภูมิภาคและการลงทุนภาคเอกชนลดลงตามไปด้วย เนื่องจากประเทศกลุ่มอาเซียนพึ่งพาการค้าภายในภูมิภาคค่อนข้างมาก

ในทางกลับกัน ประมาณการล่าสุด แม้การใช้จ่ายภาครัฐได้กลับมาขยายตัวได้ดีอีกครั้ง โดยเฉพาะโครงการลงทุน เช่นเดียวกับการท่องเที่ยวที่ขยายตัวดีต่อเนื่อง แต่ไม่สามารถชดเชยการชะลอตัวของภาคส่งออกได้