ThaiPublica > เกาะกระแส > “ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูปประเทศไทย” (1): ทำไมต้องปฏิรูปสินทรัพย์ 12 ล้านล้านบาท สมบัติของคนไทย

“ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูปประเทศไทย” (1): ทำไมต้องปฏิรูปสินทรัพย์ 12 ล้านล้านบาท สมบัติของคนไทย

21 กรกฎาคม 2015


เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2558 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเสวนา “ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูปประเทศไทย” โดยมีวิทยากรคือ นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ซึ่งวิทยากรทั้งสามเป็นกรรมการคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ดำเนินรายโดย ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ

เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2558 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเสวนา"ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูปประเทศไทย"โดยมีวิทยากรนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ดำเนินรายโดย ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ
เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2558 คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดเสวนา”ปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ ปฏิรูปประเทศไทย”โดยมีวิทยากรนายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ นายกุลิศ สมบัติศิริ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ ดำเนินรายโดย ดร.อธิภัทร มุทิตาเจริญ

หลังจากที่ใช้เวลากว่า 1 ปีในการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ วันนี้การดำเนินการของคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจได้บรรลุเป้าหมายในระดับหนึ่งที่สามารถกำหนดกรอบกติกาพร้อมร่าง พ.ร.บ.กำกับดูแลและบริหารรัฐวิสาหกิจและหลักทรัพย์ของรัฐ พ.ศ. …. ที่จะนำเสนอคณะรัฐมนตรีในเวลาอีกไม่นานนัก

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวถึงสาเหตุว่าทำไมต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจว่า “วันนี้คุณรพี ผม และคุณกุลิศ เรามาบรรยายเพื่อที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับงานของคณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ที่หนังสือพิมพ์ชอบเรียกว่าซูเปอร์บอร์ด ก็ออกตัวนิดหนึ่งว่าจริงๆ ถ้าจะเรียกว่าซูเปอร์บอร์ด ก็คงจะเป็นซูเปอร์ไวเซอรีบอร์ด เพราะในเนื้อแท้แล้วมันไม่ได้ซูเปอร์ตรงไหน ไม่ได้มีอำนาจพิเศษอะไร แล้วก็ไม่ได้มีใครเป็นซูเปอร์แมนด้วยซ้ำไป”

“คณะกรรมการนโยบายและกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ ถูกตั้งขึ้นมาเมื่อปลายเดือนมิถุนายนปี 2557 ประมาณ 1 เดือนเศษๆ หลังจากที่มีรัฐประหาร ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าทางคณะ คสช. ให้ความสำคัญกับเรื่องการบริหารและการดูแลรัฐวิสาหกิจ ซึ่งถือว่าเป็นกิจการ เป็นตัวสมบัติชิ้นใหญ่ของประเทศ เป็นแหล่งรวมของทรัพยากรทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ เป็นกิจการที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ รวมทั้งเป็นฐานในการที่กิจการเอกชนในวงการต่างๆ จะมาต่อยอด เพื่อสร้างประสิทธิภาพในการแข่งขัน”

บทบาท คนร.

คณะกรรมการ คนร. นี้มีหน้าที่จะกำหนดบทบาทดูแลและก็กำหนดนโยบาย รวมทั้งการที่จะวางโครงสร้าง ปรับโครงสร้าง เพื่อที่จะพัฒนาในระยะยาว ในงานหลักๆ ของ คนร. คณะกรรมการแบ่งเป็นคณะอนุกรรมการ 3 ชุดย่อย

อนุกรรมการชุดแรก มีหน้าที่แก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจที่ประสบภาวะวิกฤติ ซึ่งในขั้นต้นมีอยู่ 7 แห่ง ประกอบด้วยธุรกิจเกี่ยวกับคมนาคม เช่น การบินไทย การรถไฟ ขสมก. 3 แห่ง ธุรกิจที่เกี่ยวกับโทรคมนาคม 2 แห่ง คือ TOT กับ CAT และที่เป็นสถาบันการเงิน 2 แห่งก็คือธนาคารเอสเอ็มอีและธนาคารอิสลาม ทั้ง 7 แห่ง ประสบปัญหาในการดำเนินงาน มีการขาดทุนค่อนข้างสูง ยังมีภาวะที่จะต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วนอยู่ มีคณะกรรมการที่คอยกำกับแก้ไขอยู่ การดำเนินการแก้ไขของชุดนั้นก็ดำเนินมาตามลำดับ

คณะอนุกรรมการชุดที่ 2 มีหน้าที่ดูยุทธศาสตร์ระยะยาวของรัฐวิสาหกิจโดยรวม ว่ารัฐวิสาหกิจที่เรามีอยู่ 56 แห่ง ควรจะมีการปรับยุทธศาสตร์ใหญ่โดยรวมอย่างไรบ้าง ยกตัวอย่างเช่น ใน 56 แห่งนั้น มีรัฐวิสาหกิจไหนที่มีภารกิจและประกอบภารกิจอย่างที่ควรทำอยู่ ทำแบบเดิมๆ อยู่ อันนั้นก็ควรต่อเนื่องไป รัฐวิสาหกิจกลุ่มไหนที่ควรจะมีการปรับรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบที่ควรจะแยกตัวรัฐวิสาหกิจออก ควรจะแยกบทบาท อันนั้นเป็นกลุ่มหนึ่ง หรือแม้แต่รัฐวิสาหกิจไหนที่อาจจะหมดภารกิจไปแล้ว อาจจะมีแผนที่จะยุบเลิกหรือแปรสภาพไปตามลำดับ รวมไปถึงรัฐวิสาหกิจบางประเภทที่จริงๆ แล้วโดยภารกิจไม่ควรจะเป็นรัฐวิสาหกิจ แต่เนื่องจากตอนจัดตั้งมีเหตุผลบางประการที่ทำให้เขาเป็นรัฐวิสาหกิจ ยกตัวอย่าง การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งจริงๆ ไม่ได้เป็นวิสาหกิจอะไร ไม่มีรายได้อะไร เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นองค์กรสนับสนุน โปรโมทการท่องเที่ยว แต่ไปตั้งเป็นรัฐวิสาหกิจ ทั้งๆ ที่โดยสภาพแล้วน่าจะอยู่ในรูปอื่น อันนั้นคณะกรรมการยุทธศาสตร์ก็จะทำรายงาน แต่ตอนนี้ยังไม่มีข้อสรุปอะไร

คณะอนุกรรมการชุดที่ 3 มี ดร.ประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เป็นประธาน ทำหน้าที่ดูแลเรื่องของการกำกับดูแล ตั้งแต่เรื่องโครงสร้างการบริหารจัดการ โครงสร้างกฎกติกามารยาทที่รัฐวิสาหกิจจะต้องทำ จะต้องดำเนินการ เรื่องของการเปิดเผยข้อมูล เรื่องการปรับโครงสร้างทั้งหมด

ทำไมต้องปฏิรูปสินทรัพย์ 12 ล้านล้าน สมบัติของคนไทย

วันนี้จะมาพูดถึงเรื่องสุดท้ายว่าจากการที่ทำงานกันมา 1 ปี ได้ศึกษาวิจัยมาพอสมควร ทางคนร.รวมไปถึง ครม. ได้อนุมัติหลักการการปฏิรูป สำหรับพวกเราคิดว่าเป็นการปฏิรูปที่ค่อนข้างใหญ่ ซึ่งจะเปลี่ยนโครงสร้างของการดูแลการบริหารจัดการของรัฐวิสาหกิจของประเทศไทย เพื่อที่จะไม่ใช่แก้ปัญหาอย่างเดียว เพื่อที่จะให้การดำเนินการของรัฐวิสาหกิจในระยะต่อไป บรรลุเป้าประสงค์ตามที่ควรจะเป็น

เริ่มต้นเลยคือทำไมเราถึงจะต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ 56 แห่ง ที่ดำเนินการอยู่ทุกวันนี้ ทำไมถึงต้องปฏิรูป เวลาเราจะมีเป้าหมายการปฏิรูปอะไรสักอย่าง เราต้องถามก่อนว่าทำไมต้องปฏิรูปและเป้าหมายของการปฏิรูปคืออะไร คำว่าการปฏิรูปที่เราตะโกนก้องถนนตั้งแต่ปลายปี 2556 จริงๆ มันหมายถึงอะไร

นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)
นายบรรยง พงษ์พานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน)

ทำไมต้องปฏิรูปรัฐวิสาหกิจ

อันแรกคือรัฐวิสาหกิจมีขนาดใหญ่มาก ในทางเศรษฐศาสตร์ รัฐวิสาหกิจเป็นกลุ่มที่ใช้ทรัพยากรทางเศรษฐกิจของประเทศมากที่สุดกลุ่มหนึ่ง ในช่วง 10 ปี จากปี 2546 ถึง 2556 ในแง่ของสินทรัพย์ขยายตัวจาก 4.5–4.6 ล้านล้านบาท เป็น 11.8 ล้านล้านบาท ขยายตัวเกือบ 3 เท่า ในขณะที่ระบบเศรษฐกิจที่ผ่านมา ขยายตัวแค่ 5-6% ที่ Nominal Rate นะ แต่รัฐวิสาหกิจขยายตัวเกือบ 3 เท่า

ความหมายของมันคือ ทรัพยากรทางเศรษฐกิจไหลเข้าไปสู่การบริหารภายใต้อำนาจรัฐมากขึ้นๆ เรื่อยๆ ถ้ามองมันก็เป็นการสวนกระแสของหลักการของโลก โดยเฉพาะปัจจุบันค่อนข้างจะพิสูจน์ว่าการบริหารภายใต้ระบบบริหารโดยศูนย์กลางไม่ประสบผลสำเร็จ 30 กว่าประเทศที่เคยให้รัฐทำทุกอย่างก็ออกมาจากสังคมนิยมเป็นทุนนิยมแบบที่เราทราบๆ อยู่ แต่ของเรามันดูเหมือนจะสวนทาง รัฐวิสาหกิจใหญ่ขึ้นๆ ในอัตราที่สูงกว่าอัตราการขยายตัวของภาคเอกชนค่อนข้างมาก

อันที่ 2 รายได้ของรัฐวิสาหกิจทั้ง 56 แห่ง เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ปี 2546 รัฐวิสาหกิจทั้งหมดมีรายได้อยู่ 1.5 ล้านล้านบาท แต่ปี 2556 เรามีรายได้ ตัวเลขเดิม แต่เปลี่ยนเป็น 5.1 ล้านล้านบาท จะเห็นว่ามากกว่า 300% ที่รัฐวิสาหกิจมีบทบาทมากขึ้นในระบบเศรษฐกิจ ซึ่งรายได้นี้พอๆ กับรายจ่ายบวกกับงบลงทุนของรัฐบาล อันนี้เป็นการสะท้อนให้เห็นว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจไปอยู่ใต้อำนาจรัฐมากขึ้นๆ

เงินลงทุนก็เหมือนกัน ประเทศไทยมีเงินลงทุนประมาณปีละ 7 แสนล้านบาท ในอดีต 7 แสนล้านนี่ก็เป็นการลงทุนของรัฐ ครึ่งหนึ่ง 3.5 แสนล้านบาท เป็นการลงทุนโดยรัฐวิสาหกิจ อีก 3.5 แสนล้านเป็นการลงทุนโดยหน่วยงานอื่นของรัฐ

อย่างที่เราทราบ ตามแผนตั้งแต่รัฐบาลที่ผ่านมาจะลงทุนเมกะโปรเจกต์ จะลงทุนในคมนาคมใหม่ ก็อยู่ภายใต้รัฐวิสาหกิจเป็นส่วนใหญ่ด้วยซ้ำไป ถ้ามองไปในอนาคต รัฐวิสาหกิจอาจะมีเงินลงทุนปีละ 5-6 แสนล้านบาท ซึ่งอันนี้ยืนยันอีกว่าทรัพยากรทั้งหลายที่รัฐวิสาหกิจดูแลอยู่เป็นทรัพยากรใหญ่ของประเทศ

“ทีนี้ เมื่อรัฐวิสาหกิจมีขนาดใหญ่ขึ้นๆ และมีบทบาทมากขึ้นๆ ในระบบเศรษฐกิจ ต้องถามว่าแล้วผลของการเอาทรัพยากรจำนวนมากไปใช้ มันใช้งานอย่างมีประสิทธิภาพไหม”

ทำไมต้องแปรรูป

กำไรปีละ 3 แสนล้าน มากหรือน้อย การลงทุนคุ้มค่าหรือไม่

มี 2 คำถาม ที่เป็นหลักสำคัญและเป็นหัวใจของการปฏิรูปครั้งนี้ก็คือ มีประสิทธิภาพไหมและโปร่งใสไหม โปร่งใสหมายความว่าไม่มีการรั่วไหล เป็นการทำสิ่งที่ควรทำ ในมูลค่าที่ควรทำ

ก่อนลงรายละเอียด ทุกๆ ปีเวลาเราได้ยินเขาประกาศว่ารัฐวิสาหกิจโดยรวมมีกำไร 3 แสนล้านบาท ถ้าฟังเฉยๆ เรารู้สึกว่ามันเยอะ มันดูดี แต่ลองนึกถึงว่า เอาทรัพย์สมบัติ 12 ล้านล้านบาท ไปทำกำไรได้ 3 แสนล้านบาท มันเป็นอัตราที่แย่ขนาดไหน ไม่ถึง 3%

ถ้าใครตามข่าวประธานาธิบดีจีน สี จิ้นผิง มีวาระสำคัญอันหนึ่งก็คือการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจเหมือนกัน เนื่องจากรัฐวิสาหกิจของจีนมีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์(ROA) รัฐวิสาหกิจจะดู ROA เป็นหลัก ของจีนลดถอยลงเรื่อยๆ จากเกือบ 9% ต่อปีลงมาจนปัจจุบันไม่ถึง 7% ต่อปี สี จิ้นผิง บอกว่าเป็นอัตราที่รับไม่ได้แล้ว ต้องมีการปฏิรูปใหญ่ ขณะที่ของเราไม่เคยถึง 3% เลย เราก็ประกาศกำไรปีละแค่ 3 แสนล้านบาท มันฟังดูดี สามารถจะจ่ายปันผลเป็นรายได้ให้รัฐปีละกว่า 1 แสนล้าน มันก็ฟังดูดี แต่ลองนึกภาพกลับว่าสินทรัพย์ 12 ล้านล้านบาท ได้ผลตอบแทนแค่นี้

พอลงไปดูรายละเอียด ที่น่าเป็นห่วง อันนี้เป็นการวิเคราะห์ของ TDRI พบว่ารัฐวิสาหกิจที่ทำกำไรส่วนใหญ่จะเป็นรัฐวิสาหกิจที่ผูกขาด มีสภาพของการผูกขาด ใครเรียนเศรษฐศาสตร์จะรู้ว่าถ้าผูกขาดแล้วมีกำไรไม่ได้แปลว่าเก่งเลย ถ้าผูกขาดแล้วมันก็ควรจะกำไร ดังนั้น รัฐวิสาหกิจที่มีกำไรในประเทศไทย มักจะมีลักษณะผูกขาดหรือมีการผูกขาดบางส่วนอยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น รัฐวิสาหกิจที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานทางไฟฟ้า เป็นการผูกขาดเต็มที่ รัฐวิสาหกิจที่เป็นลักษณะผูกขาดตามธรรมชาติ เช่น ท่าเรือ ท่าอากาศยาน ก็มีกำไรที่ค่อนข้างดี ปตท. ก็เป็นรัฐวิสาหกิจที่แข่งขันบางส่วน แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่ามีบางส่วน โดยเฉพาะธุรกิจก๊าซที่มีลักษณะผูกขาดหรือใกล้ผูกขาดอยู่ไม่น้อย จะมีกำไรเยอะ

“ถ้าดู ROA คุณเชื่อไหมว่ารัฐวิสาหกิจที่มีสูงสุดในเมืองไทยอันหนึ่งก็คือ การท่าอากาศยานแห่งประเทศไทย (ทอท.) สาเหตุที่สูงมากและดูเหมือนว่ามันมีกำไรดี แต่ค่อนข้างโชคดีที่ตัว A: Asset หรือสินทรัพย์ที่ใช้ค่อนข้างจะต่ำกับเงินลงทุนของสนามบินสุวรรณภูมิไม่มีค่าที่ดินเลย เพราะรัฐบาลเวนคืนไว้ 40 กว่าปีแล้ว ถ้าเทียบกับท่าอากาศยานต่างประเทศที่ต้องถมทะเล ต้นทุนที่ดินของเราจะถูกกว่าเยอะแยะ ทำให้ A เราต่ำ”

แต่ที่สำคัญที่ทำให้ผลประกอบการของ ทอท. ดี หุ้นขึ้นเยอะแยะ ถามว่ามีประสิทธิภาพไหม แต่ผมอยากจะบอกหลายคน อาจจะยังไม่รู้ว่าค่าบริการที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิคิดกับผู้โดยสาร เรียกว่า Passenger Service Charge ท่านรู้ไหมครับว่าขึ้นเครื่องบินไปต่างประเทศที จ่าย 27 เหรียญสหรัฐต่อเที่ยว หรือประมาณ 800 กว่าบาท ที่จ่ายให้ ทอท. นั้นเป็นอัตราที่สูงเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชีย รองจากสนามบินนาริตะที่คิด 29 เหรียญสหรัฐ สนามบินอินชอนคิด 24 เหรียญสหรัฐ เชฟล็อกก้ก ฮ่องกง 23 เหรียญสหรัฐ สนามบินชางฮี 21 เหรียญสหรัฐ ของเราคิดสูงที่สุดในเอเชียรองจากญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นค่าครองชีพเขาแพงกว่าเราเยอะ

ขณะที่การบริการเป็นอย่างไร วันที่สนามบินสุวรรณภูมิเปิด ถูกจัดอันดับโดย SKYTRAX ว่าเป็นสนามบินอันดับที่ 17 ของโลก เป็นสนามบินใหม่ นี่ผ่านมา 10 ปี แล้วเราก็พัฒนาต่อมาจนเป็นอันดับที่ 47 ของโลก ดีขึ้น 1 อันดับ ปีที่แล้วอยู่ที่ 48 ของโลก อันดับไหลลงมาตลอดในช่วง 10 ปี

เปรียบเทียบกรณีรถไฟ

ทีนี้มาดูรัฐวิสาหกิจที่แข่งขันกับเอกชนบ้าง เราจะพบว่าทุกแห่งที่ต้องแข่งกับเอกชน จะมีผลประกอบการแย่กว่าเอกชนหรือไม่ก็ขาดทุนไปเลย เช่น การบินไทย ทศท. กสท ซึ่งแข่งกันเอกชน ทั้งๆ ที่แข่งอย่างได้เปรียบ ก็ยังมีปัญหา รฟท. หลายคนอาจจะบอกว่า รฟท. ผูกขาด แต่จริงๆ รฟท. แข่งกับระบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นรถบรรทุก รถบัส แม้แต่สายการบินต้นทุนต่ำ ก็เห็นผลอยู่

ลองยกตัวอย่างสะท้อนในรายละเอียดเพื่อเปรียบเทียบกับเอกชน ซึ่งเรารู้ดีว่าธุรกิจโทรคมนาคมเป็นธุรกิจที่เราเปิดใหม่ มีการแข่งขันมาตั้งแต่ต้นทศวรรษที่ 90 ผ่านมา 20 กว่าปี ที่เราเปิดให้เอกชนเข้ามามีบทบาท การเปิดนี้ก็เป็นเจตนาอีกอย่างคือขายสัมปทานให้กับเอกชน คือการแบ่งให้เช่าการผูกขาด ในทางเศรษฐศาสตร์มันมีความหมายแค่นั้น แล้วฝ่ายเอกชนต้องแบกค่าเช่าการผูกขาดมาทำกิจการแข่ง พอมันนานๆ เข้าผลก็อย่างที่เห็น

ขอเปรียบเทียบ อย่างเช่น องค์การโทรศัพท์หรือ TOT มีคนอยู่ 2.2 หมื่นคน ขณะที่ AIS มีคนอยู่ 1 หมื่นคน ผลการประกอบการ TOT มีรายได้น้อยกว่า AIS ประมาณ 5 เท่า แปลว่าอะไร แปลว่าผลิตภาพต่อหัวต่างกัน 12 เท่า ซึ่งไม่น่าจะเป็นไปได้ คนที่ประกอบธุรกิจเดียวกันแล้วมีความสามารถในการผลิตต่างกัน 12 เท่า มันต้องมีอะไรผิดสักอย่าง ไม่ใช่คนผิดอย่างเดียว โดยโครงสร้างโดยรูปแบบมันต้องมีอะไรที่ผิดสักอย่าง พอไปดูค่าใช้จ่ายพนักงาน TOT ได้เฉลี่ยคนละ 8 แสนบาทต่อปี ขณะที่ AIS ให้ประมาณเฉลี่ย 5 แสนกว่าบาท ไม่ถึง 6 แสนบาท ค่าใช้จ่ายต่อพนักงานของ TOT สูงกว่า ขณะที่รายได้ต่างกันถึง 5 เท่ากว่า เป็นเรื่องสะท้อนให้เห็น

สายการบินก็เหมือนกัน ผมเคยเป็นกรรมการการบินไทย ผมไม่ได้คิดว่าการบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจที่ผู้บริหารแย่ที่สุดในประเทศไทย แต่บังเอิญเขาเป็น 1) อุตสาหกรรมที่ต้องแข่งกับโลก และคนที่แข่งกับการบินไทยเขาเก่งที่สุดในโลกอีกทั้งนั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นฮ่องกง สิงคโปร์ ตะวันออกกลางอีก 3 เจ้า ซึ่งแข่งกับเราเต็มที่ เป็นพวกที่เก่งที่สุดในโลกทั้งนั้นเลย

2) แต่เดิมสิทธิพิเศษที่เคยได้จากใบอนุญาตการบินหมดไป เพราะเราเปิดเสรีการบินมาได้ 10 ปีแล้ว จริงๆ การเปิดเสรีการบินดีกับประเทศไทย ดีกับผู้บริโภค ดีกับทุกคน แต่ไม่ดีกับการบินไทย ถ้าเราไม่เปิดเสรีการบิน ไม่รู้ว่าจะมีนักท่องเที่ยวถึง 25 ล้านคนหรือไม่ เพราะเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เรามีนักท่องเที่ยว 10-12 ล้านคน การที่เปิดเสรีการบินทำให้ต้นทุนและการเข้าถึงของนักท่องเที่ยวมันดีขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเองสามารถเดินทางไปไหนด้วยต้นทุนที่ถูกลง ถ้าไม่เปิดเสรีการบิน จะต้องบินไปกลับเชียงใหม่ 6,000 บาท แบบ 10 ปีที่แล้ว เดี๋ยวนี้ไม่มีใครจ่ายขนาดนั้น มันดีกับประเทศแน่นอนที่สุด แต่ไม่ดีกับรัฐวิสาหกิจแห่งนี้ เดิมสิทธิพิเศษที่เขาเคยมี การคุ้มครองที่เคยมีบนต้นทุนของผู้ใช้บริการ มันหายไป แล้วเขาไม่ได้ปรับตัวตามนั้น

การรถไฟ คงไม่ต้องพูดว่าประเทศไทยมีรถไฟครั้งแรกพร้อมๆ กับญี่ปุ่นเลย เมื่อ 60 ปีที่แล้วก็เหมือนๆ กัน มาตอนนี้มันต่างกันขนาดไหน นี่เขาจะเอาที่ดินบึงมักกะสัน 12 ไร่ ไปทำพิพิธภัณฑ์รถไฟ ผมยังบอกว่าไม่ต้องทำเลยมันวิ่งอยู่เต็มไปหมดประเทศอยู่

สรุปปัญหารัฐวิสาหกิจ คือ อย่างแรก มีขนาดใหญ่มาก สำคัญมาก ถ้ามองในแง่ทรัพยากรเศรษฐกิจ 12 ล้านล้านบาท เกือบเท่ากับจีพีดีของประเทศ

อย่างที่ 2 รัฐวิสาหกิจประกอบกิจการที่ 1) สำคัญต่อการดำรงชีวิตของประชาชนโดยทั่วไปอยู่แล้ว เพราะว่ามันเป็นบริการสาธารณะที่สำคัญ นอกจากนั้น สิ่งที่รัฐวิสาหกิจทำก็เป็นพื้นฐานที่สำคัญของระบบเศรษฐกิจที่ภาคเอกชนต้องต่อยอดจากนั้น

เพราะฉะนั้น มันมีความสำคัญมาก เมื่อทรัพยากรขนาดใหญ่เอาไปใช้แล้วประกอบกิจการที่สำคัญเป็นพื้นฐานของทั้งมวล มันต้องทำอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น ถ้าไม่เช่นนั้นศักยภาพของประเทศจะมีปัญหา

รัฐวิสาหกิจไม่สามารถแข่งขันได้

โดยความเห็นส่วนตัวที่เรากำลังกังวลกันมากว่าประเทศไทยติดกับดักศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจมันต่ำเตี้ยถอยลงๆ จนปัจจุบันจีพีดีเหลือ 3% กว่าๆ ต่อปี เป็นอัตราสำหรับประเทศกำลังพัฒนา เรารับไม่ได้สำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างเรา ที่มาได้ครึ่งทางของการพัฒนา ถ้าเราโต 3% กว่าต่อปี เราจะใช้เวลาอีก 30 ปีกว่าจะก้าวพ้นกับดักการพัฒนานี้ มีข้อแม้อีกว่าต้องไม่เลื่อนระดับการพัฒนาจากรายได้ต่อหัว 12,000 ดอลลาร์สหรัฐในมูลค่าที่แท้จริงของปัจจุบันด้วย อันนั้นใช้อีก 30 ปี ขณะที่มาเลเซียวางไว้ที่จะก้าวข้ามในอีก 4 ปี จีน 10-12 ปี ประเทศไทยพัฒนาก่อนเขาตั้งนาน คงรับอัตราแบบนี้ไม่ได้

ซึ่งตัวรัฐวิสาหกิจ ถ้ามองในแง่ทรัพย์สินของรัฐ โดยบัญชีรัฐมีทรัพย์สินอยู่ 24 ล้านล้านบาท อยู่ที่รัฐวิสาหกิจครึ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้น การที่จะบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพและที่สำคัญคือไม่ให้รั่วไหล เพราะการรั่วไหลเป็นวงจรอุบาทว์ ถ้าบริหารแล้วรั่วไหล การจะทำให้รั่วไหลได้ มันต้องกลับมาที่ทำให้ไม่มีประสิทธิภาพ คือเวลาเราเสียหาย เราเสียหายมากกว่าที่เขาโกงไปเยอะ มันเหมือนคอร์รัปชันอื่นๆ เพราะว่ากว่าจะโกงได้มันต้องทำให้ไม่มีประสิทธิภาพ ทำให้รั่วไหลได้ โจทย์ทั้งหมดมันเลยเป็นที่มาว่า ทำอย่างไรเราถึงจะปรับได้ นี่คือสาเหตุทั้งหมด

ทั้งหมดที่ทำคือจะตอบโจทย์ ว่าจะทำอย่างไรให้รัฐวิสาหกิจ กลับมาประกอบภารกิจที่ควรทำ ทำอย่างไม่ขาดไม่เกิน ทำอย่างมีประสิทธิภาพ ทำอย่างไม่รั่วไหล ไม่มีการทุจริต และในเมื่อเป็นสมบัติของชาติจะทำอย่างไรให้มีมูลค่าสูงสุด

โครงสร้างรัฐวิสาหกิจ

ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เราต้องวิเคราะห์ถึงสาเหตุกันก่อนว่าทำไมปัจจุบันในโครงสร้างมันถึงมีปัญหา

อันนี้เป็นการศึกษาตามแนวที่สากล รัฐวิสาหกิจมีทุกแห่งในโลก และทุกแห่งเจอปัญหาคล้ายๆ กันกับเรา เพราะว่ามี 1. การแทรกแซงทางการเมือง ทั้งโดยชอบและมิชอบ โดยชอบหมายความว่ารัฐบาลมีหน้าที่ ยกอย่างเช่น เรารู้สึกไม่ผิด ถ้ารัฐบาลอยากให้นั่งรถเมล์ฟรี มันไม่ผิด ไม่ใช่นโยบายโดยไม่ชอบ แต่มันต้องมีวิธีการจัดการ อย่าให้นโยบายถึงแม้ว่าโดยชอบมาทำให้รัฐวิสาหกิจมันอ่อนแอ มันต้องชัด ส่วนที่โดยมิชอบไม่ต้องพูดถึง อยากให้ซื้อรถเมล์แพงๆ ตามที่เอเย่นต์วางไว้ อันนั้นต้องจัดการกันไม่ให้มี

2. การที่มีผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่าย แล้วผู้เกี่ยวข้องหลายฝ่ายมีเป้าหมายไม่ตรงกัน ปกติการดำเนินกิจการรัฐวิสาหกิจจะมี 3 ฝ่าย คือ ฝ่ายกำหนดนโยบาย ฝ่ายกำกับดูแล ไม่ใช่แค่เฉพาะรัฐวิสาหกิจ แต่ต้องกำกับดูแลทั้งอุตสาหกรรม แต่กรณีผูกขาด ก็กำกับรัฐวิสาหกิจนั้น แต่ต้องแยกบทบาทออกไป กำกับดูแลให้มีการบริการประชาชนโดยคุณภาพรับได้ โดยราคาเหมาะสม ไม่มีการใช้อำนาจของการผูกขาดต่างๆ และผู้ดำเนินการคือตัวรัฐวิสาหกิจ เป็นบทบาทที่ทับซ้อนกันอยู่ ซึ่งหลายฝ่ายมีวิธีการที่จะแยกบทบาทแล้วทำให้เกิดความโปร่งใส เกิดการแข่งขันที่เท่าเทียม รัฐวิสาหกิจบางแห่งก็ได้เปรียบในการแข่งขัน บางแห่งก็เสียเปรียบในการแข่งขัน ไม่ได้ Level-playing field ผมยกตัวอย่างหลายคนบอกว่ารัฐวิสาหกิจไม่ได้ได้เปรียบนะ เสียเปรียบก็มี อย่างทำงานองค์การเภสัชแล้วถูกบังคับให้ต้องผลิตยาที่เอกชนไม่ผลิต ทุกอย่างมีวิธีจัดการหมด นี่คือเป้าหมายในการที่จะปฏิรูปในครั้ง
(ตอนที่ 2 นายกุลิศ สมบัติศิริ )

SOE Paper Version -Banyong by thaipublica