ThaiPublica > เกาะกระแส > งานวิจัยเผย กสทช.เลือกปฏิบัติกำกับ “วิทยุชุมชน” พ่วงขอใบอนุญาตยุ่งยาก ทำเหลือ 188 สถานี – จี้เร่งเรียกคืนคลื่นจากวิทยุ FM มาจัดสรรใหม่

งานวิจัยเผย กสทช.เลือกปฏิบัติกำกับ “วิทยุชุมชน” พ่วงขอใบอนุญาตยุ่งยาก ทำเหลือ 188 สถานี – จี้เร่งเรียกคืนคลื่นจากวิทยุ FM มาจัดสรรใหม่

22 มิถุนายน 2015


580622nbtcwatch
น.ส.ศริณทิพย์ หมั้นทรัพย์ นักวิจัย NBTC Policy Watch ขณะนำเสนอผลวิจัยเกี่ยวกับการกำกับดูแลวิทยุชุมชนของ กสทช.

เมื่อวันที่ 19 มิ.ย.2558 ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โครงการติดตามนโยบายสื่อและโทรคมนาคม (NBTC Policy Watch) ได้นัดแถลงผลการวิจัยเกี่ยวกับการกำกับดูแลการประกอบกิจการวิทยุชุมชนของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) พร้อมจัดงานเสวนาอนาคตของวิทยุชุมชนไทย

น.ส.ศริณทิพย์ หมั้นทรัพย์ นักวิจัยโครงการ NBTC Policy Watch ได้เปิดเผยผลวิจัยในหัวข้อ “กระบวนการอนุญาตทดลองประกอบกิจการกระจายเสียงบริหารชุมชนของ กสทช.” ซึ่งมีเนื้อหา 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.ภาพจริงของวิทยุชุมชนในไทย 2.การกำกับดูแลผ่านกระบวนการอนุญาตทดลองประกอบกิจการของ กสทช. และ 3.ประสบการณ์ในต่างประเทศ

น.ส.ศริณทิพย์ กล่าวว่า โดยทั่วไปดูเหมือนวิทยุชุมชนไทยจะเข้มแข็ง ยิ่งหลังจากมีรัฐธรรมนูญ ปี 2540 ทำให้มีวิทยุชุมชนเกิดขึ้นมากมาก จนรัฐต้องเข้ามาจัดระเบียบ โดยสมัยนั้นวิทยุชุมชนสามารถโฆษณาได้ชั่วโมงละ 6 นาที ทำให้มีผู้ประกอบการลงมาทำมากมาย เพราะการโฆษณาผ่านวิทยุระดับชาติเดิม หรือวิทยุ FM จำนวน 524 สถานี มีข้อจำกัดมากมาย กระทั่งเมื่อมีรัฐประหาร ในปี 2549 ก็เริ่มมีการปิดวิทยุชุมชนไปบ้าง และเมื่อมีรัฐธรรมนูญ ปี 2550 กับ พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ.2551 ที่รับรองสถานะของวิทยุชุมชน ขณะที่ กสทช.เปิดให้เข้ามาขอใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการ ก็มีวิทยุชุมชนประเภทต่างๆ เข้ามาขอใบอนุญาตกว่า 6.6 พันสถานี เป็นการนำสิ่งที่เคยอยู่ใต้ดินให้มาอยู่บนดิน คู่ขนานไปในเวลาเดียกวัน คือวิทยุ FM จะต้องแจ้งเหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่นมา แล้ว กสทช.จะพิจารณาให้เสร็จซึ่งตามกำหนด คือภายในสิ้นปี 2558 นี้ ว่าจะคืนใดมาจัดสรรใหม่บ้าง”

เปิด 4 ปัญหาการกำกับดูแลวิทยุชุมชนของ กสทช.

น.ส.ศริณทิพย์ กล่าวว่า ปัญหาในการกำกับดูแลวิทยุชุมชมโดย กสทช.ที่ผ่านมา

– การเลือกปฏิบัติของ กสทช. เพราะในขณะที่วิทยุ FM ออกอากาศต่อได้ เพียงแค่แจ้งเหตุแห่งความจำเป็นในการถือครองคลื่น วิทยุชุมชนถ้าจะขอใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการที่มีอายุเพียง 1 ปี กลับมีมีการกำหนดมาตรฐานทางเทคนิค กำหนดให้ต้องนำเครื่องส่งสัญญาณไปตรวจสอบก่อนขอใบอนุญาตใหม่ทุกปี นอกจากนี้ ยังต้องเสียค่าธรรมเนียมรายปี ซึ่งวิทยุเอฟเอ็มไม่ต้องเสีย

– การขอใบอนุญาตทดลองประกอบสำหรับวิทยุชุมชนจะต้องใช้เอกสารจำนวนมาก สถานีละ 50-60 หน้าเป็นอย่างน้อย เอกสารบางอย่างต้องดาวน์โหลดจากเว็บไซต์ของ กสทช. ซึ่งผู้ที่ดำเนินการส่วนใหญ่เป็นชาวบ้านมักจะเข้าไม่ถึง เป็นอุปสรรคที่เกิดจากความเลื่อมล้ำทางดิจิทัล

– การแยกประเภทคำขอใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการ เป็น 3 ประเภท คือ ธุรกิจ บริการสาธารณะและชุมชนเป็นเรื่องดี แต่ กสช.กลับรวมสถานที่ในการยื่นคำขอเป็นที่เดียวกัน ทำให้เวลาวิทยุชุมชนไปขอความแนะนำ มักจะไม่ได้รับความร่วมมือ หรือการสนับสนุนที่ดีพอจากเจ้าหน้าที่ของ กสทช.

– มาตรฐานในการตรวจสอบอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น เครื่องส่ง ยังใช้มาตรฐานเดียวกัน ทั้งที่วิทยุชุมชุนแต่ละประเภท มีความแตกต่างกัน ชุมชนอาจไม่ได้ต้องการกำลังส่งมากเท่าธุรกิจ และค่าใช้จ่ายในการซ่อมเครื่องส่งก่อนนำไปตรวจยังสูงอยู่ การซ่อมแต่ละครั้งต้องใช้เงิน 3-5 หมื่นบาท

“ผลของการเปิดให้ขอใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการ จากผู้ยื่นคำขอ 6.6 พันสถานี กสทช.ใช้เวลาตรวจ 2 ปี และมีได้รับใบอนุญาตไปแล้วกว่า 5 พันสถานี โดยเป็นวิทยุชุมชนกว่า 500 สถานี แต่เมื่อคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาทำให้กระบวนการต่างๆ หยุดลง ยิ่งมีคำสั่ง คสช.ที่ 79/2557 ที่ให้วิทยุต่างๆ ต้องยุติการออกอากาศและไปแจ้งข้อออกอากาศใหม่ โดยต้องทำเอ็มโอยูกับ กสทช. ซึ่งจะต้องมีค่าใช้จ่าย โดยเฉพาะค่าตรวจซ่อมเครื่อส่ง ผลก็คือนับแต่ คสช. เข้ามา มีวิทยุชุมชนกลับมาออกอากาศได้เพียง 188 สถานีเท่านั้น”

แนะหาวิธีอุ้มจริงจัง – ต้องทำงานร่วมกับชุมชน

น.ส.ศริณทิพย์ กล่าวว่า ข้อเสนอของผู้วิจัยเพื่อให้วิทยุชุมชนซึ่งเกิดขึ้นมาเพื่อให้ประชาชนได้มีช่องทางในการออกเสียงอย่างแท้จริง ยังสามารถออกอากาศได้ต่อไป มี 4 ข้อ

  1. ต้องเร่งนำคลื่นความถี่จากวิทยุ FM มาจัดสรรให้กับวิทยุรายใหม่ๆ
  2. ให้ กสทช.จัดโครงสร้างสำนักงานตามประเภทกิจการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ บริการสาธารณธ หรือชุมชน เพื่อจะได้ให้คำแนะนำหรือช่วยเหลือได้ตรงจุด
  3. ขณะนี้ผ่านการใช้ใบอนุญาตประกอบกิจการมา 3 ปีเศษแล้ว ถึงเวลาแล้วหรือยังที่จะประเมินผลให้สามารถออกเป็นใบอนุญาตที่แท้จริงได้แทน
  4. กสทช.ควรส่งเสริมวิทยุชุมชนอย่างจริงจัง

สำหรับโมเดลการกำกับดูแลวิทยุชุมชนในต่างประเทศ น.ส.ศริณทิพย์ กล่าวว่า ได้ไปศึกษา 2 ประเทศ คืออังกฤษและออสเตรเลีย สิ่งที่ทั้ง 2 ประเทศมีเหมือนกัน คือมีกฎหมายรองรับสถานะ มีองค์กรกำกับดูแล และมีการสนับสนุนจากสมาชิกอย่างจริงจัง สิ่งที่น่าสนใจ โดยเฉพาะในอังกฤษ มีองค์กรคล้าย กสทช.ที่เรียกว่า Ofcom การออกใบอนุญาตเขาจะทำเป็น 2 ขั้น คือให้ใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการก่อน เพื่อดูว่ามีศักยภาพเพียงพอหรือไม่ ถ้าทำได้ก็จะออกใบอนุญาตจริงๆ ใหม่ มีระยะเวลา 5 ปี สามารถยื่นขอต่ออายุได้ โดยจะต้องยื่นก่อนหมดอายุ 2 ปี เพราะ Ofcom จะไปประเมินร่วมกับผู้ประกอบการและชุมชนว่าไหวหรือไม่ ต้องการการสนับสนุนอะไรหรือไม่

“โมเดลนี้เป็นสิ่งที่น่าจะกลับมาใช้กับไทย เพราะมีขั้นตอนการทำงานร่วมกันระหว่างองค์กรกำกับกับชุมชน เพราะเขามีวิธีคิดว่าต้องมีวิทยุชุมชน แต่ของไทยไม่รู้มีแนวคิดนี้หรือไม่ ถ้าจะให้มี ก็ต้องหาทางที่ให้วิทยุชุมชนไทยอยู่ได้”

(อ่านงานวิจัย “กระบวนการอนุญาตทดลองประกอบกิจการกระจายเสียงบริการชุมชน ของ กสทช.” ฉบับสมบูรณ์)

580622communityradio
ที่มาภาพประกอบ : www.posttoday.com/%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B9%84%E0%B8%A5%E0%B8%9F%E0%B9%8C/371658

กสทช.เร่งเรียกคืนคลื่นวิทยุ FM มาจัดสรรใหม่

จากนั้นเป็นการเสวนาในหัวข้อ “อนาคตวิทยุชุมชนไทยภายใต้การกำกับดูแลของ กสทช. : รุ่ง หรือ ร่วง ?”

น.ส.มณีรัตน์ กำจรกิจการ ผู้อำนวยการสำนักการอนุญาตการประกอบกิจการกระจายเสียง กสทช. กล่าวว่า เหตุที่ต้องให้วิทยุชุมชนมาขึ้นทะเบียน เพราะก่อนหน้านี้เราไม่รู้เขาเป็นใครบ้าง และดูว่ามีวิทยุชุมชนแท้ๆ กี่ราย ซึ่ง 3-4 ปีที่ผ่านมา มันเริ่มบีบและคั้นให้เหลือเฉพาะตัวจริง เพราะคนที่ก่อนหน้านี้เคยขอประเภทชุมชน ก็เปลี่ยนไปเป็นธุรกิจและบริการสาธารณะจำนวนมาก ปัญหาเรื่องเอกสาร กสทช.ได้ส่งทีมไปตามชุมชุนต่างๆ เพื่อให้คำแนะนำ ยอมรับว่ายังขาดคนทำงานในส่วนภูมิภาค เพราะเราอยู่ในส่วนกลาง หลังจากนี้จะพยายามให้คนลงพื้นที่ในชุมชนมากขึ้น

“กสทช.มีแผนการสนับสนุนวิทยุชุมชน โดยคำนวณว่า 1 สถานีควรจะมีค่าใช้จ่ายเท่าไร โดยแบ่งเป็น 2 ส่วน 1.เงินลงทุน โดยเฉพาะเครื่องส่ง ก็คุยกันว่าจะสนับสนุนได้แค่ไหน ยังไม่ได้ข้อสรุป แต่ส่วนตัวเห็นว่าควรจะสนับสนุนเป็นตัวเครื่องส่งเลยจะดีกว่าตัวเงินที่จะมีปัญหามาก โดยเครื่องส่งที่เราดูไว้ก็มีราคาตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน และ 2.ค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแอร์ ก็คุยกันว่า กสทช.จะช่วยได้เท่าไร ก็ได้ตุ๊กตามาจำนวนหนึ่ง”

ส่วนความคืบหน้าในการขอคืนคลื่นความถี่จากวิทยุ FM จำนวน 524 สถานี น.ส.มณีรัตน์ กล่าวว่า ตามแผนแม่บทให้เวลา 5 ปี หรือจนถึงปี 2561 แต่ กสทช.ตั้งเป้าไว้ว่าภายในเดือนกรกฎาคม 2558 จะสรุปว่า มีคลื่น FM ใด ที่ไม่มีความจำเป็นต้องถือครองคลื่นไว้ โดยหลักคือพวกที่ให้สัมปทาน เมื่อสัมปทานหมด แล้วไม่ได้ทำเอง จะถือว่าไม่มีความจำเป็น ต้องคืนคลื่นมาจัดสรรใหม่ แต่ยอมรับว่ามีวิทยุ FM หลายคลื่นที่ยังซับซ้อนอยู่

น.ส.มณีรัตน์ กล่าวสรุปว่า สิ่งที่จะบอกว่า วิทยุชุมชนจะรุ่งหรือร่วง 1.อยู่สถานีหรือผู้ประกอบการ ว่ายังคงเจตนารมณ์จะเดินหน้าต่อหรือไม่ 2.องค์กรกำกับต้องพยายามสร้างความเข้าใจ เพื่อแก้ปัญหาให้ดีที่สุด 3.กสทช.ต้องหาวิธีทำอย่างไรให้วิทยุชุมชนต่างๆ ได้รับการสนับสนุนให้เดินต่อไปได้

“ดังนั้น จะรุ่งหรือร่วง จึงเป็นความร่วมมือ 2 ฝ่าย ระหว่าง กสทช.กับสถานี” ผู้อำนวยการสำนักการอนุญาตการประกอบกิจการกระจายเสียง กสทช.กล่าว

ขาลงวิทยุชุมชน – รายใหม่เกิดยากถ้ารัฐไม่สนับสนุน

นายวิชาญ อุ่นอก เลขาธิการสหพันธ์วิทยุชุมชนแห่งชาติ กล่าวว่า การต่อสู้เรี่องวิทยุชุมชนมีมา 15 ปีแล้ว ตอนแรกกฎหมายก็เขียนว่าห้ามโฆษณา ดังนั้นการจะอยู่ได้ต้องได้รับการสนับสนุน ที่ผ่านมา วิทยุชุมชนก็ดิ้นรนทุกทางเพื่อหาเงินเข้าสถานี ซึ่งโดยปกติจะมีค่าใช้จ่ายราว 2,000-20,000 บาท/เดือน ทั้งค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าแอร์ เมื่อไม่มีการสนับสนุนที่เป็นจริง ก็เริ่มมีวิทยุชุมชนถามตัวเองว่าจะทำกันไปเพื่ออะไร ยิ่งหลังเกิด คสช.ขึ้น วิทยุชุมชนที่กลับมาออกอากาศได้ก็มีเพียง 200 สถานีเท่านั้น

การจัดระเบียบโดยไม่สนับสนุนอะไรเลย ทำให้วิทยุชุมชน แม้แต่รุ่นแรกๆ ก็ไปกันเยอะ ผมจึงเสนอว่าถ้าจะให้อยู่ได้ 1.ต้องทำให้เขาเข้าถึงกระบวนการออกใบอนุญาตมากกว่านี้ 2.การสนับสนุนต้องมีมากขึ้น เพราะที่ผ่านมา 15 ปี ไม่มีเลย และ 3.การกำกับดูแลจะต้องจริงจังมากกว่านี้ เพื่อล้างภาพลักษณ์ว่าวิทยุชุมชน เป็นวิทยุการเมืองหรือวิทยุขายของ ส่วนตัวเห็นด้วยกับการกำกับดูแลร่วม (co-regulation)

“ต้องยอมรับว่าช่วงนี้เป็นขาลงของวิทยุชุมชน วิทยุรายใหม่แค่ 1 นิติบุคคล บางทีเป็นเจ้าของ 10-20 สถานี เพราะกฏหมายไม่ได้กำหนดเพดานไว้ว่าให้ถือได้เท่าไร ทำให้วิทยุชุมชนรายใหม่แทบไม่มี เพราะคลื่นไม่เหลือ แล้วยังไม่มีการเอาคลื่น FM คืนมาจัดสรรใหม่”

นายวิชาญ กล่าวว่า เรื่องการส่งเสริม ตนเน้นเรื่องตัวเงิน เพราะเป็นปัจจัยสำคัญว่าจะรุ่งหรือร่วง ที่ผ่านมาเราหวังกับกองทุน กสทช. แต่เขียนคำขอไปเป็นหลักล้าน ช่วงแรกเขาก็ไม่ให้ เพราะบอกว่าคุณได้แค่ใบอนุญาตทดลองประกอบกิจการเท่านั้น ยังไม่ได้ใบอนุญาตจริงๆ แม้ช่วงหลังจะเปลี่ยนคำอธิบายว่าเดี๋ยวจะพิจารณาให้ แต่สุดท้ายก็ยังไม่มีเงินมาถึงวิทยุชุมชนเลย จึงอยากให้มีกำลังเสริมเข้ามาเร็วขึ้น ไม่เช่นนั้นหลายสถานีจะต้องปิดตัว ทั้งนี้ วิทยุชุมชนแต่ละที่ก็ต้องการการสนับสนุนที่แตกต่างกัน ถ้าอยู่ในชนบทอาจจะไม่กี่พัน ถ้าอยู่ในตัวเมืองอาจจะหมื่นต้นๆ จึงควรวางกรอบให้ชัดว่าจะสนับสนุนเท่าไร

“วิทยุรายใหม่ 3 ประเภท ถ้าปล่อยให้วิ่งในลู่เดียวกัน สุดท้ายวิทยุชุมชนจะถูกเบียดตกขอบสนาม เพราะหารายได้ไม่ได้ ผมคิดว่ายังมีหลายคนอาจทำวิทยุชุมชนแต่ไม่รู้จะเริ่มอย่างไร จึงอยากให้ กสทช.กำหนดวิธีการสนับสนุนที่ชัดเจน” นายวิชาญกล่าว