ThaiPublica > คอลัมน์ > เด็กหงิมหรือเด็กซ่า ใครกันแน่มีความเสี่ยงจากการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมมากกว่า

เด็กหงิมหรือเด็กซ่า ใครกันแน่มีความเสี่ยงจากการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมมากกว่า

22 มิถุนายน 2014


คาสปาร์ พีค
ผู้แทนกองทุนประชากรแห่งสหประชาชาติประจำประเทศไทย
[email protected]

เมื่อพูดถึง “การตั้งครรภ์ในวัยรุ่น” คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงเด็กสาวที่ชอบเที่ยวเตร่ แต่งตัวเปิดเผย ชอบดื่มเหล้าและเที่ยวดึกๆ ดื่นๆ เพราะคนส่วนใหญ่มักจะคิดว่าเด็กสาวที่มีพฤติกรรมอย่างนี้มักมีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน มีแฟนหลายคน และไม่ตั้งใจเรียนหนังสือ หรืออีกนัยหนึ่ง เมื่อเด็กสาวที่ใช้ชีวิตอย่างนี้เกิดตั้งครรภ์ขึ้น ก็ไม่น่าจะเป็นเรื่องประหลาดใจ

ในด้านตรงกันข้าม มีวัยรุ่นหญิงที่เรียบร้อย ตั้งใจเรียน ไม่ดื่มเหล้า และเชื่อฟังเคารพผู้ใหญ่ เวลาที่เธอออกเที่ยวก็อาจจะเป็นเพียงช่วงบ่ายวันเสาร์ที่เธอจูงมือไปดื่มชาไข่มุกในห้างสรรพสินค้ากับเพื่อนชาย

แต่เป็นที่น่าสนใจว่าความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะสถิติแสดงให้เห็นว่า “เด็กเรียบร้อย” มีโอกาสที่จะตั้งครรภ์มากกว่าเด็กที่สังคมเรียกว่า “เด็กซ่า”

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

เมื่อต้นเดือนนี้ผมได้อ่านบทความในหนังสือพิมพ์ผู้จัดการซึ่งมีหัวข้อเรื่องว่า “เด็กหงิมๆ” เสี่ยงกว่า “เด็กซ่า” พบสถิติเด็กหญิงเมืองชาละวันตั้งท้อง-คลอดลูกที่โรงพยาบาลก่อนวัยอันควรเฉียดพันราย แถมอายุน้อยสุดแค่ 12 ปี” ในบทความข่าววันที่ 4 มิถุนายน นพ.บุญชัย ธีระกาญจน์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดพิจิตร กล่าวถึงปัญหาการตั้งครรภ์ก่อนวัยอันควรของวัยรุ่นวัยใสในจังหวัดว่า รอบปีที่ผ่านมามีเด็กหญิงอายุแค่ 12 ปี รวมถึงวัยรุ่นที่อายุต่ำกว่า 20 ปี มีเพศสัมพันธ์และตั้งท้องคลอดลูกในโรงพยาบาลมากถึง 773 คน

นพ.บุญชัยกล่าวว่า เรื่องนี้เป็นปัญหาใหญ่ทั้งจังหวัด คือ เด็กวัยรุ่นวัยใสมีเพศสัมพันธ์จากความไม่รู้ ไม่เข้าใจ ไม่ได้ป้องกัน แต่จะห้ามปรามคงทำได้ยาก ที่ทำได้คือต้องสอนให้รู้จักป้องกันด้วยการสวมถุงยางอนามัย หรือการกินยาคุมกำเนิด ฉีดยาคุม

รายงานข่าวยังได้อ้างถึง นางสุทธยา ผอบเหล็ก หัวหน้ากลุ่มงานส่งเสริมสุขภาพ สสจ.พิจิตร ซึ่งคลุกคลีอยู่กับวัยรุ่นตั้งครรภ์ เธอให้ข้อมูลเสริมว่า เด็กหญิงที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก คือเรียนอยู่ ม.2 พบปี 2554/55 มากถึงร้อยละ 68 มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกที่บ้านเพื่อน บ้านตนเองช่วงพ่อ-แม่ไม่อยู่บ้าน

แต่ที่น่าสนใจมากกว่าก็คือ นางสุทธยากล่าวว่า “เด็กหญิงที่ตั้งท้องคลอดลูกจะเป็นเด็กเรียนที่มีคะแนนเรียนดี ซึ่งอ่อนต่อโลก และอ่อนต่อสังคม เรียกกันว่า “เด็กหงิมๆ” ส่วนพวกเรียนไม่เก่ง แต่เป็นเด็กซ่า เด็กแสบ กลับรู้จักป้องกันตัวเองไม่ให้ตั้งท้อง”

พอถึงตรงนี้ หลายคนคงฉุกคิดว่า เดี๋ยวก่อน ถ้าอย่างนั้นแล้ว เด็กเรียบร้อยมักมีความเสี่ยงจากการตั้งครรภ์ที่ไม่พร้อมกว่าเด็กที่สังคมเรียกว่าเป็นเด็กซ่า เป็นไปได้อย่างไรกัน

ทุกการเกิดมีควาหมาย-UNFPA

ก่อนที่จะตอบคำถามนั้น ลองมาดูตัวเลขอีกตัวหนึ่งก่อน ในประเทศสหรัฐอเมริกา สมัยที่นายจอร์จ บุช จากพรรครีพับลิกันเป็นประธานาธิบดี รัฐบาลสหรัฐฯ ได้สนับสนุนโครงการส่งเสริมให้วัยรุ่นรักษา “ความบริสุทธิ์” ก่อนแต่งงาน โดยคิดว่าการไม่สอนวัยรุ่นเรื่องถุงยางอนามัยซึ่งสามารถป้องกันการตั้งครรภ์และโรคติดต่อทางเพศต่างๆ และการสอนให้วัยรุ่นไม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงานจะเป็นการแก้ปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น

ในขณะนี้ก็ยังมีกลุ่มสังคมที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานอยู่ แต่ในความเป็นจริงนั้นคนที่อยู่ในกลุ่มสังคมที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานนั้นกลับมีอัตราการติดโรคจากเพศสัมพันธ์ที่คล้ายคลึงกันกับคนทั่วๆ ไป นอกเหนือไปจากนั้น รายงานจากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ยังพบว่า คนในกลุ่มนี้มักจะใช้อุปกรณ์คุมกำเนิดน้อยกว่าหรือไม่ใช้อุปกรณ์คุมกำเนิดอย่างสม่ำเสมอ ยกตัวอย่างเช่น ร้อยละ 34 ของคนทั่วไปที่มีเพศสัมพันธ์จะใช้ถุงยางอย่างสม่ำเสมอเทียบกับร้อยละ 24 ของกลุ่มที่ให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน รายงานการศึกษานี้แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการรับข้อมูลเกี่ยวกับถุงยางอนามัยและการคุมกำเนิดในรูปแบบอื่น

สถาบันกุทท์มาเชอร์ (Guttmacher Institute) พบว่าร้อยละ 86 ของการลดลงของการตั้งครรภ์ในวัยรุ่นที่สหรัฐอเมริกาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ถึง 2545 เป็นผลมาจากการที่วัยรุ่นใช้เครื่องมืออุปกรณ์การคุมกำเนิดอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น มีเพียงแค่ร้อยละ 14 เท่านั้นที่เป็นผลมาจากการที่วัยรุ่นเลื่อนการมีเพศสัมพันธ์ให้ช้าลง คนหนุ่มสาวที่ตั้งใจไม่มีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงาน และไม่สามารถเข้าถึงถุงยางอนามัยได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่น่าจะเกิดขึ้น หรืออีกนัยหนึ่งก็คือการละเลยเป็นวิธีการที่ไม่ดีในการทำให้เยาวชนปลอดภัยจากความเสี่ยงต่างๆ

ลองมาดูกันที่ประเทศไทย เด็กผู้หญิงที่สังคมไทยให้คำนิยามว่า “ซ่า” กลับมีความเสี่ยงต่อการตั้งครรภ์หรือการติดโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์น้อยกว่าเด็ก “เรียบร้อย” ความจริงก็คือเยาวชนไทยส่วนใหญ่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกตั้งแต่อายุ 13-15 ปีตามการสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขเมื่อปี พ.ศ. 2554 นี่เป็นความจริง และอายุของวัยรุ่นที่มีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกไม่น่าจะมากขึ้นหรือคนที่มีเพศสัมพันธ์ก่อนแต่งงานก็ไม่น่าจะมีจำนวนลดลง

ความแตกต่างก็คือ เยาวชนที่ไม่ปิดบังความจริงที่ว่าพวกเขามีเพศสัมพันธ์ไม่รู้สึกเขินอายที่จะป้องกันตนเอง ในขณะที่เยาวชนที่อายที่จะเปิดเผยเรื่องนี้มีความสามารถในการป้องกันตนเองน้อยกว่า ดังนั้นวัยรุ่นที่ตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจจำนวนมากคือวัยรุ่นที่ยังอยู่ในโรงเรียน และต้องถูกบังคับให้ออกจากโรงเรียนเมื่อพวกเธอตั้งครรภ์ แม้ว่าตามกฎหมายไทย นักเรียนที่ตั้งครรภ์จะต้องศึกษาในโรงเรียนต่อไปได้ แต่พวกเธอรู้สึกอับอาย พ่อแม่ของพวกเธอก็อับอาย และครูก็อับอาย ทุกคนรู้สึกอับอายหมด วัยรุ่นหญิงที่ตั้งครรภ์ต้องรับกรรม อนาคตของเธอต้องถูกทำลาย

เมื่อเร็วๆ นี้กองทุนประชากรแห่งสหประชาติให้นักศึกษาชื่อ ปัณฑ์ชนิต บรรเทา ทำวิดีโอเรื่องวัยรุ่นซื้อถุงยางออกมาเล่าถึงสถานการณ์ต่างๆ ที่เด็กวัยรุ่นต้องเผชิญอย่างสนุกสนาน แต่อีกด้านหนึ่ง เรื่องราวนี้สะท้อนความจริงที่น่าเศร้า

ในขณะที่เยาวชนต้องการมีเพศสัมพันธ์ที่รับผิดชอบ พวกเขาต้องเผชิญกับสายตาจดจ้องของสังคม ไม่ว่าจะเป็นพยาบาลในโรงพยาบาลที่ตั้งคำถามดุๆ เมื่อเด็กสาวอายุ 16 มาขอรับบริการคุมกำเนิด หรือคนขายของในร้านสะดวกซื้อที่มองเยาวชนที่มาซื้อถุงยางด้วยสายตาที่เหยียดหยาม

ด้วยเหตุนี้ เราจึงมีเยาวชนมากมายที่ตั้งครรภ์โดยไม่ตั้งใจ อย่างที่จังหวัดพิจิตร ที่จำนวนเยาวชนร้อยละ 30 กลายเป็นคุณแม่วัยใส หรือจำนวน 773 คุณแม่วัยรุ่นในจังหวัดพิจิตรเมื่อปีที่แล้วจากจำนวนมากกว่า 129,000 คนทั่วประเทศ ถ้าเราคำนวณตามจำนวนนี้ในช่วงชีวิตหนึ่งเราจะมีเด็กจำนวนมากกว่า 2 ล้านคนที่เกิดจากคุณแม่วัยรุ่นที่ไม่พร้อม

เป็นตัวเลขที่น่ากลัว และน่าอับอายว่าเราทุกคนทำให้สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นทั้งๆ ที่มีถุงยางอนามัยและอุปกรณ์การคุมกำเนิดที่สามารถป้องกันได้อย่างง่ายดาย

คุณคิดว่าใครคือผู้ทำให้เกิดปัญหานี้ เด็กซ่า หรือเด็กเรียบร้อย หรือผู้ใหญ่ที่ปิดกั้นโอกาสการเรียนรู้และบริการเรื่องเพศอย่างเพียงพอ